ผู้เขียน หัวข้อ: ความทรงจำนอกมิติ : ประชาธิปไตยเชิงลึกกับประชาธิปไตยตัวแทนเก่า  (อ่าน 1440 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


ประชาธิปไตยเชิงลึกกับประชาธิปไตยตัวแทนเก่า

        วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ 3 เดือนกรกฎาคม ซึ่งตรงกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งใหญ่ครั้งสำคัญของประเทศไทย หลังจากที่มีความขัดแย้งทางความคิดมาร่วม 10 ปี ที่ก่อให้เกิดความแตกแยกของคนชาติเดียวกันอย่างชนิดที่ยิ่งใหญ่มาก อาจจะพอๆ กับยุคสมัยที่มีการแยกแบ่งชนชั้นดังเช่นสมัยของความแตกแยกสมัยคอมมิวนิสต์ก็เป็นได้ การกลับมาเขียนเรื่องการเมืองในระบบสังคมที่ผู้เขียนคิดว่าล้าสมัยและไม่ถูกต้อง ถ้าหากดูให้ดีๆ ก็จะเห็นว่าผู้เขียนไม่ได้ทิ้งเรื่องของจิตและจิตวิญญาณ จริงๆ แล้วหากเรามองมนุษย์และสังคมของมนุษย์ที่อยู่ร่วมกับสรรพสิ่งและสรรพปรากฏการณ์ แต่ว่ากันตามความจริงผู้เขียนคิดว่าเป็นไปได้ที่มนุษย์อาจจะเพราะตีความในคริสต์ศาสนาผิด โดยตีความคำว่าอยู่อย่างพึ่งพาอาศัยกัน (dominion) เป็นคำว่า “ปกครอง” ซึ่งมนุษย์ไปตีความว่าปกครองเป็น “ปกครองอย่างนายปกครองข้าทาส” หรือว่านั่นคือ  “จะทำอะไรก็ได้” มนุษย์จึงแยกตัวเองออกจากธรรมชาติแล้วก็กดขี่ข่มเหงธรรมชาติสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะกับสัตว์ทั้งหลาย มนุษย์จึงคิดว่ามนุษย์เป็นพิเศษที่จะทำอะไรกับใครก็ได้ตามปรารถนา ฉะนั้นคำว่าประชาธิปไตยเฉยๆ จึงมีความหมายว่าเพื่อบอกว่ามนุษย์เป็นใหญ่ ใหญ่กว่าสัตว์ทั้งหลาย สิ่งทั้งหลาย  และธรรมชาติทั้งหลาย เราจึงคิดว่าประชาธิปไตยคือความเท่าเทียมกันระหว่างมนุษย์เท่านั้น เพราะฉะนั้นจึงมีสิทธิ์มีเสียงที่จะเลือกใครก็ได้มาเป็นตัวแทนของเรา ซึ่งนิสัยความเคยชินนี้ขัดกับพุทธศาสนาที่บอกว่ามนุษย์มีสูงมีต่ำ มีดำมีขาว  มีรวยมีจน เพราะฉะนั้นการเลือกตัวแทน หรือการเลือกผู้แทนจึงไม่สอดคล้องกันกับพุทธศาสนา พฤติกรรมของมนุษย์ที่ทำกับธรรมชาติ ทำกับสิ่งแวดล้อมและทำกับสัตว์ข้อนี้จึงผิดเพี้ยนไป ซึ่งเป็นไปได้ดังที่คิดว่าเป็นเพราะเราแปลคำว่า  “ปกครองอย่างพึ่งพาอาศัยกัน” (dominion) ของคริสต์ศาสนาผิดไปเป็น  “ปกครอง” แล้วนับเป็นพันๆ ปีต่อไปจากนั้นเราก็ทำผิดมากขึ้น โดยแปลเป็น  “ปกครองอย่างที่คิดจะทำอะไรกับมันก็ได้” เพราะว่ามนุษย์ “ใหญ่” ขึ้นเรื่อยๆ     
                           
       ลักษณะที่เป็นตรงกันข้ามกับที่ว่ามานี้จึงคล้ายคลึงกับประชาธิปไตยเชิงลึก  ซึ่งมองธรรมชาติทุกสิ่งทุกอย่างเป็นหนึ่งเดียวกันโดยไม่มีการแยกแยะว่าเป็นสัตว์ ชีวิต หรือต้นไม้มีคุณค่าต่ำกว่ามนุษย์ อันเป็นการมองทางจิตวิญญาณ      ประชาธิปไตยเชิงลึก (deep democracy) หรือลึกๆ เป็นคำใหม่ที่ผู้เขียนได้ยินมาจากหนังสือที่ขายดีมากๆ ที่อาร์โนลด์ มินเดล เขียนขึ้นมาเมื่อ 2  ปีก่อน อาร์โนลด์ มินเดล นั้น เรียนมาทางฟิสิกส์ แต่จบปริญญาเอกทางจิตวิทยา  คงคิดจะสอนเด็ก (ผู้ใหญ่) ที่ทำปริญญาเอกทางจิตวิทยาโดยไม่คิดว่าฝรั่งที่เมืองนอกก็ต้องการการเปลี่ยนแปลงทางจิตเหมือนกัน เพราะกระแสกำลังมาแรงมากๆ ไม่ใช่ว่าเพียงแต่เมืองไทยที่ตอนนี้คนเข้าวัดทำสมาธิกันมากขึ้น - หนังสือถึงได้ขายดีเกินความคาดหมาย หนังสือเล่มนี้ (Arnold Mindel : Processmind,  2010) เป็นหนังสือซึ่งลูกสาวบุญธรรมของผู้เขียน ภรรยาของคุณวิศิษฐ์ (ใหญ่)  วังวิญญู ส่งมาให้ คุณใหญ่ใช้สอนเด็ก (ผู้ใหญ่) ที่แสวงหาการเปลี่ยนแปลงทางจิตสู่สภาวะจิตวิญญาณ (spirituality) ซึ่ง กำลังมาถึงฝรั่งส่วนใหญ่ภายใน 2-3  ปีนี้ ประชาธิปไตยเชิงลึกหรือลึกๆ คือประชาธิปไตยของโลก ของดาวเคราะห์โลก ซึ่งรวมสรรพสิ่งทั้งหมด รวมธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและรวมสัตว์ทั้งหมด ไม่ใช่เอาแต่ตัวมนุษย์ เอาแต่ประเทศชาติตน เอาแต่สังคมของมนุษย์แยกออกมาต่างหาก เพราะว่าในความจริงที่แท้จริงนั้น ทั้งหมดแยกกันไม่ได้จริงตามที่พุทธศาสนา - ในมายานอวตามังสกสูตร - ว่าไว้ (all is one, one is all)

   เคยเขียนไว้หลายหนลงในไทยโพสต์ว่า ผู้เขียนในช่วงต้นของชีวิตมีอุดมการณ์อันแรงกล้าโดยการมอง “โดยรวมหรือสังคม” เป็นหลักที่พัฒนาจากลัทธิชาตินิยมในวัยรุ่นพร้อมที่จะตายเพื่อประเทศไทย โดยถือธงชาติของไทยนำขบวนการเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศสตอนเป็นเด็กวัยรุ่นต้นๆ จนเข้ามหาวิทยาลัยจุฬาฯ (nationalism) จนกระทั่งอุดมการณ์ได้พัฒนามาเป็นเพื่อมนุษยชาติและสังคมของมนุษย์ (ethnocentrism) ซึ่งพัฒนาเป็นสังคมนิยมเต็มขั้นเมื่อเข้าเรียนแพทย์ที่ในช่วงนั้น - เพราะเรียนหนักมาก - จึงลืมเลือนอุดมการณ์ที่วิวัฒนาการก้าวหน้ามาและคิดเรื่องสังคมมาตลอดเวลา ในขณะที่เด็กส่วนใหญ่เอาแต่เล่น

ประมาณเกือบ 40 ปีแล้วที่ผู้เขียนเริ่มกับเพื่อนๆ มีการประชุมกันก่อตั้งพรรคการเมือง เราที่ส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการมหาวิทยาลัย - ผู้คัดค้านรัฐบาลทหาร - ต่างรู้ดีว่าประเทศไทยไม่เคยมีประชาธิปไตยเลยตลอดประวัติศาสตร์ตั้งประเทศไทยมาร่วม 800 ปีมาแล้ว และเราก็ไม่เคยมีปฏิวัติเลย ยกเว้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งเป็นครั้งแรกครั้งเดียวที่ประเทศไทยมีการปฏิวัติ อ้างว่าเป็นการปฏิวัติโดยราษฎรถึงได้ใช้คำว่า “คณะราษฎร” แต่ที่จริงประกอบด้วยทหารเป็นส่วนใหญ่ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๕ เป็นต้นมากระทั่ง พ.ศ.๒๕๑๖ ประเทศไทยจึงตกอยู่ใต้การปกครองของทหารมาตลอด - โดยมีรัฐบาลไม่รู้ว่ากี่รัฐบาลต่างก็เป็นทหารทั้งนั้น เพราะแย่งกันเป็นใหญ่ด้วยความอิจฉาตาร้อนกันเองจึงได้ทำแต่รัฐประหาร - จนกระทั่งมีการปฏิวัติจริงๆ นำโดยนักศึกษาเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๖ และนั่นเป็นที่มาของการตั้งพรรคการเมืองของผู้เขียน

การเลิกเล่นการเมืองของผู้เขียน - ที่ลึกจริงๆ หลังจากเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างลึกจริงๆ กว่า 10 ขนาดที่ช่วงเวลาหนึ่งได้เป็นถึงหัวหน้าพรรคที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เพียง 1 คน เพราะว่ามันขัดแย้งแทบจะทุกด้านกับอุปนิสัยและจิตใจของผู้เขียนชนิดที่ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยอย่างถึงแก่นก็ไม่มีทางรู้ นั่นคือการเลิกเล่นการเมืองอย่างสิ้นเชิง และขอบอกตามตรงว่า หนึ่ง ผู้เขียนไม่ได้มีความเสียใจหรือรู้สึกอะไรเลย ตรงกันข้ามอาจรู้สึกโล่งใจด้วยซ้ำที่ผู้เขียนเลิกเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองเสียได้ และรู้ว่าอุดมการณ์ทางการเมืองสำหรับผู้เขียนแล้วกับการลงไปคลุกคลีจริงๆ นั้นเป็นคนละเรื่องคนละกรณีกัน  สอง อยากจะบอกกับนักวิชาการทั่วไปว่า การเป็นนักวิชาการและโดยเฉพาะการเป็นปัญญาชนในสาขาตัวเองกับการเมืองนั้น ต้องชั่งใจให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจเล่นการเมือง

ผู้เขียนคิดว่าประชาธิปไตยเชิงลึกหรือประชาธิปไตยของความเป็นหนึ่งเดียวกันของสรรพสิ่งของสรรพปรากฏการณ์ทั้งโลกทั้งจักรวาลนั้นคือสิ่งเดียวกับการที่เรามองธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่าเท่าเทียมกับมนุษย์ การที่เราสามารถจะมีประชาธิปไตยเชิงลึก หรือ deep democracy ได้นั้น เรา-มนุษย์น่าจะต้องมีวิวัฒนาการของจิตวิญญาณ (spirituality) ได้บ้างก่อน และชาวโลกในวงกว้างส่วนหนึ่งจะเข้าถึงสภาวะจิตวิญญาณบางส่วนที่ว่านั้น - นักคิดนักเขียนที่มีชื่อเสียงของฝรั่งชาวตะวันตกคิดว่าจะต้องเกิดขึ้นภายใน 2-3 ปี

 ผู้เขียนมีความรู้สึกว่าอย่างน้อยในประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนาในขนาดที่ไม่เล็กในวันนี้ก่อนจะมีวิวัฒนาการของจิตสู่สภาวะจิตวิญญาณ ในส่วนที่สำคัญอย่างน้อยส่วนหนึ่ง ประชาธิปไตยรูปแบบใดๆ แม้ว่าเป็นประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งแบบเก่าๆ ประชาธิปไตยหรือการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรรูปแบบนั้นๆ ก็อาจจะไม่เหมาะสมหรือเลวร้ายก็ได้ ทั้งนี้ ก็เพราะประชาธิปไตยหรือการเลือกตั้งรูปแบบนั้นซึ่งขึ้นกับ “การขัดสีฉวีวัน” (refined)  หรือวิวัฒนาการทางจิต - ระดับการศึกษาของประชาชนว่า “รู้” เพียงใด เนื่องจากความไม่รู้อวิชชา ความไม่พร้อมและการเข้าไม่ถึงข้อมูลที่ถูกต้องอย่างแท้จริงของผู้เลือก กับความฉลาดและเล่ห์เหลี่ยมของนักการเมืองกับนักธุรกิจที่มุ่งผลประโยชน์เป็นที่ตั้ง โดยอาศัยช่องทางของประชาธิปไตยเพื่อคงไว้ซึ่งประโยชน์แห่งตนและพวกพ้องเป็นหลัก และให้ความสำคัญของประเทศตนแต่ประเทศเดียว โดยไม่เห็นกับโลกกับธรรมชาติที่ขีดเส้นแยกแบ่งไม่ได้ เพราะโลกนี้จักรวาลนี้มันไม่มีขอบ (edge - สตีเฟน ฮอว์กิง)

 พูดถึงธรรมชาติกับความไม่มีขอบ แม้ว่าจะมีเขต (Boundary)  แล้ว ท่านผู้อ่านเคยสังเกตบ้างหรือเปล่า? ว่าอะไรก็ตามที่ธรรมชาติจัดการสรรค์สร้างให้เรา ล้วนแล้วแต่เป็นทรงกลมที่แม้มีเขต แต่ไม่มีขอบ (มี boundary แต่ไม่มี edge) ทั้งนั้น อุทาหรณ์ข้อนี้เป็นความสำคัญอย่างที่สุดในพุทธศาสนา คือคำที่อธิบายว่าอะไรที่ธรรมชาติจัดมาให้ จะต้องเป็นวัฏจักรหรือคล้ายวงกลม (circle-cycle) เสมอ ทุกสิ่งทุกอย่าง “ต้อง” ว่ายเวียนวน เพราะไม่กลัวตกขอบโต๊ะหรือเก้าอี้ เช่น มดที่เดินไปเดินมาบนส้ม กระนั้นทั้งๆ ที่พลาโตและยูคลิดได้อธิบายรูปแบบรูปร่างของวัตถุแข็งตามธรรมชาติไว้ถึง 5 รูปแบบ ดังนั้นดวงอาทิตย์  ดวงจันทร์ โลกและดาวเคราะห์ทั้งหลาย รวมทั้งวงโคจรของมันจึงมีรูปร่างค่อนข้างกลมหรือเป็นแนวที่มีลักษณะกลม หรือรูปไข่ทั้งสิ้นอย่างที่ไม่กลัวตกขอบ  เพราะไม่มีขอบ การเกิด-การตาย และบาร์โดหรือช่วงระหว่างการตายไปจากโลกนี้ของเราทุกคนถึงได้วนเวียนกันไปในรูปนั้น

 เรารู้ว่าสังคมที่เป็นประชาธิปไตยในรูปแบบเก่าที่บอกว่ามนุษย์เราเกิดมาในโลกด้วยความเท่าเทียมกัน และมีโอกาสที่จะได้รับสวัสดิการจากรัฐบาลที่ตนเองในฐานะปัจเจกบุคคลเป็นผู้เลือกตั้งเองนั้น ส่วนใหญ่มักจะเริ่มต้นในประเทศที่พัฒนาอุตสาหกรรมมากๆ และยาวนานแล้วเป็นนามธรรม จึงไม่มีถูกหรือผิด ดีงาม หรือเลวร้ายในตัวของมันเอง มันขึ้นอยู่กับความพร้อม ไม่พร้อม และการ “รู้” การเมืองพอสมควรของผู้เลือก ซึ่งชี้วัดไม่ได้ นั่นคือความจริงทางโลกที่ได้กล่าวแล้วว่าขัดแย้งกับความจริงทางธรรมของพุทธศาสนาตรงที่มนุษย์เกิดมาไม่เท่ากันจริง ผู้เขียนจึงหวังว่าประชาชนทั้งโลกสามารถจะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ทันกับเวลาที่เหลือน้อยเต็มที โดยหันไปหาประชาธิปไตยเชิงลึกหรือลึกๆ นี้อันเป็นจิตไร้สำนึกร่วมของจักรวาลของคาร์ล จุง ซึ่งก็คือกระบวนการจิต (processmind) ของอาร์โนลด์ มินเดล นั่นเอง.

http://www.thaipost.net/sunday/030711/41080

" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...