ผู้เขียน หัวข้อ: ๑. ยมกวรรค+รวมลิ้งค์เรื่องย่อในพระธรรมบท ๑ - ๒๖  (อ่าน 15004 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: เรื่องย่อในพระธรรมบท (ยมกวรรค)
« ตอบกลับ #10 เมื่อ: กรกฎาคม 16, 2011, 07:25:37 am »

เรื่องธัมมิกอุบาสก

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในวัดพระเชตวัน ทรงปรารภอุบาสกชื่อธรรมิกอุบาสก
ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า อิธ โมทติ เปจฺจ โมทติ เป็นต้น

ครั้งหนึ่ง ในกรุงสาวัตถี มีอุบาสกคนหนึ่ง ชื่อธรรมิกะ เป็นผู้ใจบุญใจกุศลชอบทำบุญให้ทาน เขาจะถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์อย่างสม่ำเสมอทุกวัน และในโอกาสสำคัญต่างๆ เขาเป็นหัวหน้าของอุบาสกอีกจำนวน 500 คนซึ่งอยู่ในนครสาวัตถีนี้ เขามีบุตร 7 คน และธิดา 7 คน และบุตรธิดาทุกคนก็เหมือนกับบิดาคือเป็นผู้มีใจบุญใจกุศลชอบถวายทาน อยู่มาวันหนึ่ง ธรรมิกอุบาสกเกิดป่วยหนักมีอาการใกล้จะตาย เขาได้ขอร้องบุตรธิดาให้ส่งคนไปนิมนต์พระสงฆ์มาสวดสติปัฏฐานสูตร(อ่านว่า สะติปัดถานะสูด) ทีมีข้อความเริ่มต้นว่า เอกายโน อยํ ภิกฺขเว มคฺโค สตฺตานํ วิสุทธิยา (แปลว่า ภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางสายเอก เพื่อความหมดจดแห่งสัตว์ทั้งหลาย” ซึ่งกล่าวว่าเป็นพระสูตรที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ไม่ทรงละทิ้ง ขณะที่เขานอนอยู่บนเตียงขณะใกล้จะตาย ขณะที่พระภิกษุสงฆ์กำลังสวดมหาสติปัฏฐานสูตรอยู่นั้น ก็มีรถทิพย์ที่ประดับตกแต่งงดงามมากจำนวน 6 คันจากสวรรค์ชั้นต่างๆ มาจอดรอเขาเพื่อเชิญให้เขาไปอยู่ในสวรรค์ในชั้นต่างๆ ธรรมิกอุบาสกได้บอกรถเหล่านั้นให้รอก่อนสักครู่อย่าได้เพิ่งมารับ เพราะจะรบกวนขัดจังหวะการสวดพระสติปัฏฐานสูตรของพระภิกษุสงฆ์ ข้างพระภิกษุสงฆ์ที่สวดอยู่นั้นเข้าใจว่าธรรมิกอุบาสกต้องการให้พวกท่านหยุดสวดจึงได้เลิกสวดและเดินทางกลับวัด

ชั่วครู่ต่อมา ธรรมิกอุบาสกก็ได้บอกกับพวกบุตรธิดาของตนว่า มีรถทิพย์จำนวน 6 คันมาจอดรอเพื่อรับเขาอยู่อยู่ในอากาศ และในที่สุดเขาได้ตัดสินในเลือกรถที่ส่งมาจากสวรรค์ดุสิต และได้บอกให้ลูกคนหนึ่งโยนพวงมาลัยไปคล้องรถคันที่มาจากสวรรค์ชั้นดุสิตนั้น พวกลูกๆแลเห็นแต่พวงดอกไม้ แต่แลไม่เห็นรถ ธรรมิกอุบาสกบอกว่า พวงดอกไม้นั้น คล้องที่รถมาจากสวรรค์ชั้นดุสิต เราจะไปสู่ภพดุสิต พวกเจ้าอย่าวิตกเลย พวกเจ้ามีความปรารถนาจะเกิดในสำนักเรา ก็จงทำบุญทั้งหลาย ตามทำนองที่เราทำแล้วเถิด” พอธรรมิกอุบาสกสิ้นใจตายก็ได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิตนั้นจริงๆ ซึ่งในพระคัมภีร์พรรณนาว่าธรรมิกอุบาสกนี้พอสิ้นใจจากโลกมนุษย์ “พลันก็มีอัตภาพสูงประมาณ 3 คาวุต ประดับด้วยอลังการ 60 เล่มเกวียน มีนางอัปสรพันหนึ่งแวดล้อม มีวิมานแก้วประมาณ 25 โยชน์” เพราะฉะนั้น คนที่ทำความดีย่อมจะบันเทิงในโลกนี้และในโลกนี้

ต่อมา พระศาสดาได้ตรัสตอบคำถามของพระสงฆ์ที่ต้องการทราบว่าธรรมิกอุบากตายจากโลกนี้ไปเกิด ณ ที่ใด ว่าไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต และตรัสว่า “อย่างนั้น ภิกษุทั้งหลาย เพราะคนผู้ไม่ประมาทแล้วทั้งหลาย เป็นคฤหัสถ์ก็ตาม เป็นบรรพชิตก็ตาม ย่อมบันเทิงในที่ทั้งปวงทีเดียว”

ครั้นแล้ว พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 16 ว่า
อิธ โมทติ เปจฺจ โมทติ
กตปุญฺโญ อุภยตฺถ โมทติ
โส โมทติ โส ปโมทติ
ทิสฺวา กมฺมวิสุทฺธิมตฺตโน ฯ

(อ่านว่า)
อิทะ โมทะติ เปดจะ โมทะติ
กะตะปุนโย อุพะยัดถะ โมทะติ
โส โมทะติ โส ปะโมทะติ
ทิดสะหวา กัมมะวิสุดทิมัดตะโน.

(แปลว่า)
คนทำบุญกุศลไว้แล้ว ย่อมบันเทิงในโลกทั้งสอง
คือบันเทิงในโลกนี้ ล่วงลับไปแล้วก็ไปบันเทิงในโลกหน้า
เขาย่อมร่าเริง บันเทิงใจ เพราะมองเห็นกรรมบริสุทธิ์ของตนเอง.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น พระสัทธรรมเทศนา มีผลมากแก่มหาชน.


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: เรื่องย่อในพระธรรมบท (ยมกวรรค)
« ตอบกลับ #11 เมื่อ: กรกฎาคม 16, 2011, 07:32:29 am »

เรื่องพระเทวทัต

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระเทวทัต
ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า อิธ ตปฺปติ เปจฺจ ตปฺปติ เป็นต้น

ครั้งหนึ่ง พระเทวทัตพำนักอยู่กับพระศาสดาที่กรุงโกสัมพี ขณะที่พำนักอยู่ ณ ที่นั้น พระเทวทัตมีความตระหนักว่าพระศาสดาทรงได้รับความเคารพ ความนับถือและลาภจากประชาชนมาก จึงมีความริษยาพระศาสดาและมีความปรารถนาอยากเป็นประมุขสงฆ์ วันหนึ่ง ขณะที่พระศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนาอยู่ที่วัดพระเวฬุวันนครราชคฤห์ ก็ได้เข้าไปเฝ้าพระศาสดา ทูลว่า พระองค์ทรงชราภาพแล้วควรจะได้ถ่ายโอนความรับผิดชอบคณะสงฆ์ให้แก่พระเทวทัตเสีย พระศาสดาทรงปฏิเสธข้อเสนอของพระเทวทัตโดยตรัสว่า พระเทวทัตเป็นเขฬาสิกวาทะ (บุคคลกลืนกินน้ำลายของผู้อื่น) ต่อมาพระศาสดาได้ทรงขอให้พระสงฆ์ดำเนินการ “ประกาศนียกรรม” (ทำนองลอยแพไม่คบหาสมาคมด้วย) ต่อพระเทวทัต

พระเทวทัตมีความเดือดร้อนและประกาศว่าจะทำการแก้เผ็ดพระศาสดา ท่านได้พยายามสังหารพระศาสดาถึง 3 ครั้ง โดยครั้งแรกไปว่าจ้างนายขมังธนูให้มาลอบยิง ครั้งที่สองขึ้นไปกลิ้งหินลงมาจากภูเขาคิชฌกูฏเพื่อจะให้ทับพระศาสดา และครั้งที่สามปล่อยช้างนาฬาคิรีให้เข้าทำร้าย ทว่านายขมังธนูไม่สามารถทำร้ายพระศาสดาได้และได้เดินทางกลับไปหลังจากที่ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาจนได้บรรลุพระโสดาปัตติผลแล้ว หินที่กลิ้งลงมาจากเขาคิชฌกูฏไม่สามารถทำร้ายพระศาสดา เพียงแต่มีสะเก็ดหินแตกมากระทบแค่ทำให้พระโลหิตห้อเท่านั้น และเมื่อช้างนาฬาคีรีวิ่งมาจะทำร้าย พระศาสดาได้ทรงแผ่เมตตาให้จนช้างนั้นเชื่อง แต่พระเทวทัตก็ยังไม่ละความพยายาม ได้พยายามหาเล่ห์เพทุบายอย่างอื่น โดยได้พยายามทำลายสงฆ์ด้วยการแยกพระบวชใหม่จำนวนหนึ่งไปอยู่ที่คยาสีสะ แต่อย่างไรก็ตามในที่สุดพระเหล่านี้ได้ถูกพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะพากลับมาได้สำเร็จ

ต่อมาพระเทวทัตอาพาธหนัก เมื่อท่านอาพาธอยู่ได้ 9 เดือนก็ได้ขอให้สานุศิษย์พาท่านมาเพื่อจะเฝ้าพระศาสดา พวกศิษย์จึงหามท่านขึ้นแคร่มาที่วัดพระเชตวัน เมื่อพระศาสดาได้สดับว่าพระเทวทัตถูกหามมาเฝ้าก็ได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่าพระเทวทัตไม่มีโอกาสที่จะได้เฝ้าพระองค์

เมื่อพระเทวทัตและคณะเดินทางมาถึงที่สระในบริเวณพระเชตวัน พวกศิษย์ที่ทำหน้าที่หามได้วางแคร่ลงที่ริมสระและได้ลงไปอาบน้ำกันอยู่นั้น พระเทวทัตได้ลุกขึ้นจากแคร่แล้ววางเท้าลงที่พื้นดิน พลันเท้าทั้งสองข้างของท่านก็ถูกธรณีสูบจมหายลงไปในแผ่นดิน ที่พระเทวทัตไม่มีโอกาสได้เฝ้าพระศาสดาก็เพราะกรรมชั่วที่ท่านได้กระทำต่อพระศาสดา หลังจากถูกธรณีสูบแล้วพระเทวทัตได้ไปเกิดในนรกขุมอเวจี อันเป็นนรกที่ถูกทรมานอย่างโหดร้ายรุนแรงอย่างต่อเนื่อง

ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลถามพระศาสดาว่า พระเทวทัตเมื่อถูกธรณีสูบแล้วไปเกิดอยู่ ณ ที่ใด พระศาสดาตรัสว่า ในอเวจีมหานรก เมื่อพระภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า พระเทวทัตเดือดร้อนในโลกนี้ จะไปเกิดในที่เดือดร้อนในโลกหน้าอีกหรือไม่ พระศาสดาตรัสว่า “เป็นอย่างนั้น ภิกษุทั้งหลาย ชนทั้งหลาย จะเป็นบรรพชิตก็ตาม คฤหัสถ์ก็ตาม มีปกติอยู่ด้วยความประมาท ย่อมเดือดร้อนในโลกทั้งสองทีเดียว”

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 17 ว่า
อิธ ตปฺปติ เปจจ ตปฺปติ
ปาปการี อุภยตฺถ ตปฺปติ
ปาปํ เม กตนฺติ ตปฺปติ
ภิยฺโย ตปฺปติ ทุคฺคตึ คโต ฯ

(อ่านว่า)
อิทะ ตับปะติ เปดจะ ตับปะติ
ปาปะการี อุพะยัดถะ ตับปะติ
ปาปัง เม กะตันติ ตับปะติ
พินโย ตับปะติ ทุกคะติง คะโต.

(แปลว่า)
คนทำบาปย่อมเดือดร้อนในโลกทั้งสอง
คือย่อมเดือดร้อนในโลกนี้
ละจากโลกนี้ไปแล้ว ย่อมเดือดร้อนในโลกหน้า
เขาเดือดร้อนในขณะมีชีวิตว่าเราทำบาปไว้แล้ว
เมื่อไปสู่ทุคคติก็ย่อมเดือดร้อนยิ่งขึ้นอีก.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น พระสัทธรรมเทศนา มีประโยชน์แก่มหาชน.


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: เรื่องย่อในพระธรรมบท (ยมกวรรค)
« ตอบกลับ #12 เมื่อ: กรกฎาคม 16, 2011, 07:39:09 am »

เรื่องสุมนาเทวี

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภนางสุมนาเทวี
ได้ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า อิธ นนฺทติ เปจฺจ นนฺทติ เป็นต้น

ในกรุงสาวัตถี ที่บ้านของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี และที่บ้านของนางวิสาขา จะมีพระสงฆ์ได้รับนิมนต์ไปฉันภัตตาหารวันละ 2,000 รูปมิได้ขาด โดยเฉพาะที่บ้านของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี คนที่ทำหน้าที่ควบคุมงานถวายภัตตาหารพระสงฆ์คนแรกได้แก่ธิดาคนโตของท่านเศรษฐี ต่อมาเมื่อธิดาคนโตออกเรือนแล้วก็ให้ธิดาคนรองรับผิดชอบ พอธิดาคนรองออกเรือนก็ให้ธิดาคนสุดท้องคือนางสุมนาเทวีรับผิดชอบ พี่สาวทั้งสองคนของนางสุมนาได้ฟังพระธรรมเทศนาจนได้บรรลุพระโสดาบัน ขณะที่ทำหน้าที่ถวายอาหารแก่ภิกษุสงฆ์ ส่วนนางสุมนาเทวีก้าวหน้าไปกว่าพี่สาวคือสามารถบรรลุพระสกทาคามี

ต่อมานางสุมนาเทวีเกิดป่วยหนัก เมื่อใกล้จะสิ้นใจ ได้ขอให้คนไปเชิญบิดามาหา เมื่อท่านเศรษฐีมาแล้วนางสุมนาเทวีได้เรียกบิดาว่า “น้องชาย” จากนั้นไม่นานก็ได้สิ้นใจตาย ข้างเศรษฐีเกิดความสงสัยและเกิดความไม่สบายใจเป็นอย่างยิ่งที่ถูกธิดาเรียกว่า “น้องชาย” เพราะเข้าใจว่าธิดาในเวลาจะสิ้นใจตายไม่สามารถควบคุมสติสัมปชัญญะ ถึงกับเพ้อออกมาเช่นนี้ ดังนั้น เศรษฐีจึงไปเฝ้าพระศาสดา แล้วนำเรื่องนี้กราบทูลถาม พระศาสดาได้ตรัสกับเศรษฐีว่า นางสุมนาเทวีมิได้ขาดสติสัมปชัญญะก่อนที่จะขาดใจตายแต่อย่างใด นางยังมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ พระศาสดาทรงอธิบายว่า ที่นางสุมนาเทวีเรียกบิดาของนางว่า “น้องชาย”นั้น ก็เพราะนางได้บรรลุมรรคผลสูงกว่าบิดา คือขณะที่บิดาของนางบรรลุพระโสดาบัน นางเองบรรลุพระสกทาคามี และพระศาสดายังได้ตรัสบอกเศรษฐีด้วยว่านางสุมนาเทวีได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิตแล้ว

อนาถบิณฑิกเศรษฐี จึงกราบทูลว่า “ธิดาของข้าพระองค์ เที่ยวเพลิดเพลินอยู่ในระหว่างหมู่ญาติในโลกนี้ แม้ไปจากโลกนี้แล้ว ก็เกิดในที่ที่เพลิดเพลินเหมือนกันหรือไม่ พระเจ้าข้า”

พระศาสดาตรัสว่า “เป็นอย่างนั้น คฤหบดี ธรรมดาผู้ไม่ประมาท จะเป็นคฤหัสถ์ก็ตาม เป็นบรรพชิตก็ตาม ย่อมเพลิดเพลินในโลกนี้และโลกหน้าแท้

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 18 ว่า
อิธ นนฺทติ เปจฺจ นนฺทติ
กตปุญฺโญ อุภยตฺถ นนฺทติ
ปุญฺญํ เม กตนฺติ นนฺทติ
ภิยฺโย นนฺทติ สุคตึ คโต ฯ

(อ่านว่า)
อิทะ นันทะติ เปดจะ นันทะติ
กะตะปุนโย อุพะยัดถะ นันทะติ
ปุนยัง เม กะตันติ นันทะติ
พินโย นันทะติ สุคะติง คะโต.

(แปลว่า)
คนที่ทำดีไว้แล้ว ย่อมบันเทิงในโลกทั้งสอง
คือบันเทิงในโลกนี้ และบันเทิงในโลกหน้า
เขาย่อมบันเทิงว่าเราได้ทำบุญไว้แล้ว
เมื่อไปสู่สุคติภพ ยิ่งบันเทิงมากขึ้น.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง คนเป็นอันมาก ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น พระสัทธรรมเทศนา มีประโยชน์แก่มหาชน.


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: เรื่องย่อในพระธรรมบท (ยมกวรรค)
« ตอบกลับ #13 เมื่อ: กรกฎาคม 16, 2011, 08:38:05 am »

เรื่องภิกษุ 2 สหาย

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุ 2 สหาย
ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า พหุมฺปิ เจ สหิตํ ภาสมาโน เป็นต้น

ครั้งหนึ่ง มีภิกษุสองรูปเป็นสหายกัน บวชจากตระกูลคฤหบดีในกรุงสาวัตถี ในภิกษุสองรูปนี้ รูปหนึ่งศึกษาเล่าเรียนพระไตรปิฏก จนมีความเชี่ยวชาญ สามารถท่องจำความในพระคัมภีร์ต่างๆได้มากมาย ท่านรูปนี้ยังได้สอนพระภิกษุอื่นอีกเป็นจำนวน 500 รูป และยังได้เป็นผู้แนะนำภิกษุอื่นๆอีก 18 กลุ่มด้วยกัน ส่วนภิกษุอีกรูปหนึ่งนั้นมีความขยันหมั่นเพียรตามแนวทางของวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนได้บรรลุพระอรหัตตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย

ครั้งหนึ่ง เมื่อพระภิกษุรูปที่สองนี้มาเฝ้าพระศาสดาที่วัดพระเชตวัน ก็ได้มาพบกัน พระภิกษุรูปที่เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎกไม่ทราบว่า พระภิกษุอีกรูปหนึ่งได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว จึงดูหมิ่นพระภิกษุรูปที่เป็นพระอรหันต์โดยคิดว่า ท่านเป็นพระภิกษุชรา รู้เรื่องคัมภีร์ต่างๆแต่เพียงเล็กน้อย ไม่มีความรู้เรื่องนิกายต่างๆสักนิกาย หรือไม่มีความรู้เรื่องในปิฎกใดปิฎกหนึ่งในพระไตรปิฎก ดังนั้น ท่านจึงคิดที่จะถามปัญหากับพระภิกษุที่เป็นพระอรหันต์ให้เกิดความอับอาย พระศาสดาทรงทราบเจตนาที่เป็นอกุศลของพระภิกษุผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก และพระองค์ยังทรงทราบด้วยว่า จากผลของการสร้างความลำบากให้แก่พระภิกษุรูปที่พระอรหันต์จะทำให้พระภิกษุผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎกไปเกิดในนรกได้

ดังนั้น พระศาสดาทรงมีพระกรุณาต่อพระภิกษุผู้คงแก่เรียน จึงได้เสด็จไปหาพระภิกษุทั้งสองรูปนั้นเพื่อป้องกันมิให้พระภิกษุรูปที่คงแก่เรียนถามปัญหาพระภิกษุรูปที่เป็นพระอรหันต์ พระศาสดาจึงได้ทรงตรัสถามปัญหาเสียเอง โดยได้ตรัสถามปัญหาที่เกี่ยวกับฌาน และมรรคต่างๆกับพระภิกษุรูปที่คงแก่เรียนที่ชำนาญในพระไตรปิฎก พระภิกษุรูปนี้ไม่สามารถตอบปัญหาของพระศาสดาได้ เพราะตนไม่เคยนำสิ่งที่ตนสอนมาปฏิบัติ สำหรับกับพระรูปที่เป็นพระอรหันต์นั้น ท่านเป็นผู้ปฏิบัติธรรมจนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ท่านสามารถตอบคำถามของพระศาสดาได้ทุกข้อ พระศาสดาทรงยกย่องพระที่ปฏิบัติธรรมะ แต่ไม่ทรงยกย่องพระที่คงแก่เรียน

พวกพระที่เป็นสัทธิวิหาริก ไม่เข้าใจสาเหตุที่พระศาสดาทรงยกย่องพระภิกษุชราที่เป็นพระอรหันต์ แต่ไม่ยกย่องพระภิกษุที่คงแก่เรียน พระศาสดาได้ทรงอธิบายเรื่องนี้แก่ภิกษุเหล่านั้นว่า พระภิกษุคงแก่เรียนที่รู้มากแต่ไม่ปฏิบัติตามธรรมะนั้น ก็เหมือนกับคนเลี้ยงโค คอยแต่เลี้ยงโคเพื่อรับค่าจ้าง ในขณะที่พระที่ปฏิบัติธรรมนั้นเหมือนกับเจ้าของโค ที่ได้เสวยผลของผลิตผลห้าอย่างของโค(ปัญจโครส) ด้วยเหตุนี้ พระภิกษุผู้คงแก่เรียนนั้นได้แต่การอุปัฏฐากจากศิษยานุศิษย์ แต่ไม่ได้บรรลุมรรคผลอะไร ส่วนพระภิกษุสายปฏิบัติธรรมนั้น แม้ว่าจะมีความรู้น้อยและท่องจำพระคัมภีร์ได้น้อย แต่สามารถเข้าใจแก่นแท้ของธรรมะและนำไปปฏิบัติอย่างมุมานะขยันหมั่นเพียร จึงได้ชื่อว่า “อนุธัมมจารี”(ผู้ปฏิบัติตามธรรม) สามารถขจัดราคะ โทสะ และโมหะได้ จิตของท่านจึงปลอดพ้นจากตัณหานุสัยและความยึดมั่นถือมั่นทั้งปวง ทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า ท่านจึงเป็นผู้ได้เสวยผลประโยชน์ของมรรคและผลจริงๆ

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 19 และพระคาถาที่ 20 ว่า
พหุมฺปิ เจ สหิตํ ภาสมาโน
น ตกฺกโร โหติ นโร ปมตฺโต
โคโปว คาโว คณยํ ปเรสํ
น ภาควา สามญฺญสฺส โหติ ฯ

(อ่านว่า)
พะหุมปิ เจ สะหิตัง พาสะมาโน
นะ ตักกะโร โหติ นะโร ปะมัตโต
โคโปวะ คาโว คะณะยัง ปะเรสัง
นะ ภาคะวา สามันยัสสะ โหติ.

(แปลว่า)
คนที่ได้แต่ท่องจำตำราได้มาก
แต่มัวประมาท ไม่ปฏิบัติตามคำสอน
ย่อมไม่ได้รับผลที่ควรจะได้จากการบวช
เหมือนคนเลี้ยงโค ได้นับโคให้คนอื่นเขา.

อปฺปมฺปิ เจ สหิตํ ภาสมาโน
ธมฺมสฺส โหติ อนุธมฺมจารี
ราคญจ โทสญฺจ ปหาย โมหํ
สมฺมปฺปชาโน สุวิมุตฺตจิตฺโต
อนุปาทิยา โน อิธ วา หุรํ วา
ส ภาควา สามญฺญสฺส โหติ ฯ

(อ่านว่า)
อับปัมปิ เจ สะหิตัง ภาสะมาโน
ทัมมัสสะ โหติ อะนุทัมมะจารี
ราคันจะ โทสันจะ ปะหายะ โมหัง
สัมมับปะชาโน สุวิมุดตะจิดโต
อะนุปาทิยา โน อิทะ วา หุรัง วา
สะ พาคะวา สามันยัสสะ โหติ.

(แปลว่า)
คนที่ท่องจำตำราได้น้อย แต่ประพฤติตามธรรม
ละราคะ โทสะ โมหะได้
รู้แจ้งเห็นจริง มีจิตหลุดพ้น
ไม่ยึดมั่นทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
เขาย่อมได้รับผลของการบวช.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง คนเป็นอันมาก ได้บรรลุพระอริยผล
มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น พระสัทธรรมเทศนา มีประโยชน์แก่มหาชน.



นำมาแบ่งปันโดย :
one mind : http://agaligohome.com/index.php?topic=4599.0
Pics by : Google
ใต้ร่มธรรมดอทเน็ต * อกาลิโกโฮม
สุขใจดอทคอม
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ธรรมบทคือ อะไร?
« ตอบกลับ #14 เมื่อ: พฤศจิกายน 30, 2012, 05:47:26 pm »


               

ธรรมบทคือ อะไร? (ตามคำขอ)

   ธรรมบท เป็นชื่อของคัมภีร์หนึ่ง ในจำนวน ๑๕ คัมภีร์ ของพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕
   คำว่า ธรรมบท แปลว่า บทแห่งธรรม คัมภีร์ธรรมบทจึงเป็นคัมภีร์รวบรวมบทธรรมต่าง ๆ ที่พระพุทธเจ้าตรัสเป็นพุทธภาษิตแก่บุคคลต่าง ๆ ต่างกรรม ต่างวาระ ต่างสถานที่ เป็นบทธรรมสั้น ๆ ในรูปคาถา ประพันธ์เป็นบทร้อยกรองหรือบทกวี ตามหลักฉันทลักษณศาสตร์ ผู้อ่านสามารถจดจำได้ง่าย และมีความไพเราะลึกซึ้งมาก ที่สำคัญคือ ธรรมบทแต่ละบทล้วนเป็นสัจจธรรม และ
" ถือว่าเป็นอมตวาจาของพระพุทธเจ้าเลยทีเดียว "

   นัยว่า บรรดาคัมภีร์ในพระไตรปิฎก คัมภีร์ธรรมบทเป็นคัมภีร์ที่มีการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ มากที่สุด ธรรมบทจึงเป็นเพชรงามน้ำเอกชั้นเยี่ยมที่ควรค่าแก่การศึกษาเป็นอย่างยิ่ง
   การศึกษาธรรมบท ควรศึกษาหนังสืออธิบายธรรมบทด้วย ซึ่งเรียกว่า อรรถกถาธรรมบท เป็นหนังสือที่พระภิกษุสามเณรผู้เริ่มต้นเรียนภาษาบาลี จะต้องแปลให้ได้ เพราะเป็นหลักสูตรการศึกษาภาษาบาลีของพระภิกษุสามเณรในปัจจุบัน

   ในธรรมบทนี้ มีบทธรรม ๔๒๓ บท โดยนับตามจำนวนคาถา ถ้านับเป็นเรื่อง ๆ ที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงมีจำนวนมากถึง ๓๐๒ เรื่อง เรื่องเหล่านี้ท่านจัดรวมกันเป็นหมวด เรียกว่า วรรค มีจำนวน ๒๖ วรรค ในแต่ละวรรคมีหัวข้อธรรมอยู่เป็นจำนวนมาก
" หัวข้อธรรมเหล่านี้เป็นพุทธวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงใช้สอนบุคคลต่าง ๆ ในต่างสถานที่ ต่างเวลา "

... แต่พึงทราบว่า ธรรมบทนั้นมีความสำคัญทุกบท หากได้นำมาเป็นแนวทางในการทำความดีก็จะได้รับประโยชน์สมดังปรารถนาทุกประการ พุทธวิธีในการสอนตามแนวธรรมบท....



อ้างถึง :บทความจากมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย เรื่อง ธรรมบท
สวดมนต์ - http://www.facebook.com/ForThai
หน้าเพจชุมชนเกี่ยวกับ Thailand


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: รวมลิ้งค์เรื่องย่อในพระธรรมบท ๑ - ๒๖
« ตอบกลับ #15 เมื่อ: พฤศจิกายน 30, 2012, 05:58:09 pm »




รวมลิ้งค์เรื่องย่อในพระธรรมบท ๑ - ๒๖

เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 1 : ยมกวรรค
เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 2 : อัปปมาทวรรค
เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 3 : จิตวรรค
เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 4 : ปุปผวรรค

เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 5 : พาลวรรค
เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 6 : ปัณฑิตวรรค
เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 7 : อรหันตวรรค
เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 8 : สหัสสวรรค

เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 9 : ปาปวรรค
เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 10 : ทัณฑวรรค
เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 11: ชราวรรค
เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 12 : อัตตวรรค


ส่วนนี้นำมาจาก >>>
one mind :http://agaligohome.com/index.php?topic=4599.0



เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 13 : โลกวรรค
เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 14 :พุทธวรรค
เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 15 : สุขวรรค
เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 16 : ปิยวรรค

เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 17 : โกธวรรค
เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 18 : มลวรรค
เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 19 : ธัมมัฏฐวรรค
เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 20 : มัคควรรค

เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 21 : ปกิณณกวรรค
เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 22 : นิรยวรรค
เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 23 : นาควรรค
เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 24 : ตัณหาวรรค

เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 25 : ภิกขุวรรค
เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 26 : พราหมณวรรค


ส่วนนี้นำมาจาก >>>
-http://www.oknation.net/blog/dhammapada/page1



Pics by : Google
ใต้ร่มธรรมดอทเน็ต * สุขใจดอทคอม
อกาลิโกโฮม.. บ้าน ที่แท้จริง...

กุศลผลบุญใดที่พึงบังเกิดจากธรรมทานเหล่านี้ ขอจงเป็นบุญเป็นปัจจัย
แด่ท่านผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในธรรมทานเหล่านี้ ทุกๆท่าน
รวมทั้งท่านเจ้าของภาพ ทุกๆภาพ เรียนขออนุญาตใช้ภาพ

ไว้ ณ ที่นี้... นะคะ
อนุโมทนาสาธุ.. ที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด

พุทธวิธีในการสอนตามแนวธรรมบท

พระมหาสุเทพ อคฺคเมธี
เก็บเพชรจากคัมภีร์พระไตรปิฎก
โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
กรุงเทพมหานคร 2542 หน้า 165 - 196

ธรรมบท เป็นชื่อของคัมภีร์หนึ่ง ในจำนวน ๑๕ คัมภีร์
ของพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕

คำว่า ธรรมบท แปลว่า บทแห่งธรรม คัมภีร์ธรรมบทจึงเป็นคัมภีร์รวบรวมบทธรรมต่าง ๆ ที่พระพุทธเจ้าตรัสเป็นพุทธภาษิตแก่บุคคลต่าง ๆ ต่างกรรม ต่างวาระ ต่างสถานที่ เป็นบทธรรมสั้น ๆ ในรูปคาถา ประพันธ์เป็นบทร้อยกรองหรือบทกวี ตามหลักฉันทลักษณศาสตร์ ผู้อ่านสามารถจดจำได้ง่าย และมีความไพเราะลึกซึ้งมาก ที่สำคัญคือ ธรรมบทแต่ละบทล้วนเป็นสัจจธรรม และถือว่าเป็นอมตวาจาของพระพุทธเจ้าเลยทีเดียว นัยว่า บรรดาคัมภีร์ในพระไตรปิฎก คัมภีร์ธรรมบทเป็นคัมภีร์ที่มีการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ มากที่สุด ธรรมบทจึงเป็นเพชรงามน้ำเอกชั้นเยี่ยมที่ควรค่าแก่การศึกษาเป็นอย่างยิ่ง

การศึกษาธรรมบท ควรศึกษาหนังสืออธิบายธรรมบทด้วย ซึ่งเรียกว่า อรรถกถาธรรมบท เป็นหนังสือที่พระภิกษุสามเณรผู้เริ่มต้นเรียนภาษาบาลี จะต้องแปลให้ได้ เพราะเป็นหลักสูตรการศึกษาภาษาบาลีของพระภิกษุสามเณรในปัจจุบัน
ในธรรมบทนี้ มีบทธรรม ๔๒๓ บท โดยนับตามจำนวนคาถา ถ้านับเป็นเรื่อง ๆ ที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงมีจำนวนมากถึง ๓๐๒ เรื่อง เรื่องเหล่านี้ท่านจัดรวมกันเป็นหมวด เรียกว่า วรรค มีจำนวน ๒๖ วรรค ในแต่ละวรรคมีหัวข้อธรรมอยู่เป็นจำนวนมาก หัวข้อธรรมเหล่านี้เป็นพุทธวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงใช้สอนบุคคลต่าง ๆ ในต่างสถานที่ ต่างเวลา จะขอหยิบยกมาอธิบายเป็นตัวอย่างเป็นบางบทเท่านั้น แต่พึงทราบว่า ธรรมบทนั้นมีความสำคัญทุกบท หากได้นำมาเป็นแนวทางในการทำความดีก็จะได้รับประโยชน์สมดังปรารถนาทุกประการ พุทธวิธีในการสอนตามแนวธรรมบทแต่ละวรรคนั้น ดังนี้

๑. ยมกวรรค
หมวดธรรมที่เป็นคู่
ในวรรคนี้ พระพุทธองค์ตรัสสอนธรรมเป็นคู่ ๆ เช่น เรื่องคนใจดีกับคนใจชั่ว เรื่องผู้ผูกเวรกับผู้ไม่ผูกเวร เรื่องความสามัคคีกับความแตกสามัคคี ทรงชี้ให้เห็นคุณของธรรมฝ่ายดี และชี้ให้เห็นโทษของธรรมฝ่ายชั่ว พร้อมทั้งแนวทางในการทำดีละเว้นชั่ว เช่น ทรงสอนให้เห็นผลของการมีความคิดชั่วว่า

มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา   มโนเสฏฐา มโนมยา
มนสา เจ ปทุฏฺเฐน   ภาสติ วา กโรติ วา
ตโต นํ ทุกฺขมนฺเวติ   จกฺกํ ว วหโต ปทํ

ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า
มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จด้วยใจ
เหมือนล้อหมุนตามรอยเท้าโคที่ลากเกวียนไป ฉะนั้น
ถ้าคนมีใจชั่ว ก็พูดชั่วหรือทำชั่วตามไปด้วย
เพราะความชั่วนั้น ทุกข์ย่อมติดตามเขาไป
ในทางตรงกันข้ามก็ทรงสอนให้เห็นผลของการมีความคิดดีว่า

มโน ปุพฺพงฺคมา ธมฺมา   มโนเสฏฺฐา มโนมยา
มนสา เจ ปสนฺเนน   ภาสติ วา กโรติ วา
ตโต นํ สุขมนฺเวติ   ฉายา ว อนุปายินี

ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า
มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จด้วยใจ
ถ้าคนมีใจดี ก็จะพูดดีหรือทำดีตามไปด้วย
เพราะความดีนั้น สุขย่อมติดตามเขาไป
เหมือนเงาติดตามตัวเขาไป ฉะนั้น

ทรงสอนให้รู้จักเปรียบเทียบระหว่างผลของความดีกับผลของความชั่ว แล้วเลือกปฏิบัติตามธรรมที่คิดว่าจะทำให้ได้รับผลดีที่สุด
อนึ่ง การที่พระพุทธเจ้าตรัสธรรมบทแต่ละบทนั้น ล้วนแต่มีที่มาหรือสาเหตุทั้งนั้น แต่ในคัมภีร์ธรรมบทจริง ๆ จะไม่ปรากฏที่มาของเรื่อง จะปรากฏเพียงคาถาสุภาษิตเท่านั้น หากต้องการทราบรายละเอียดความเป็นมา ควรศึกษาจากอรรถกถา จะยกตัวอย่างธรรมบทอีกบทหนึ่งซึ่งเป็นที่มาของสุภาษิตไทยที่ว่า “เวรไม่ระงับด้วยการจองเวร” คือ

น หิ เวเรน เวรานิ   สมฺมนฺตีธ กุทาจนํ
อเวเรน จ สมฺมนฺติ   เอส ธมฺโม สนนฺตโน

เพราะว่า ในกาลไหนๆ เวรทั้งหลายในโลกนี้
ย่อมไม่สงบระงับด้วยเวร
แต่เวรทั้งหลายย่อมสงบระงับด้วยการไม่จองเวร

นี้เป็นธรรมเก่า ถ้าเราได้อ่านอรรถกถา ก็จะเข้าใจได้ดียิ่งขึ้น เพราะท่านได้เล่าเรื่องประกอบพุทธภาษิตนี้ไว้ด้วย อ่านแล้วสนุกมากเช่นเรื่องที่เป็นเหตุให้ตรัสธรรมบทบทนี้ ดังจะนำมาเล่าไว้โดยย่อเพื่อเป็นตัวอย่าง ต่อไปนี้

กำเนิดยักษิณี
มีบุตรของผู้มีฐานะดีคนหนึ่ง หลังจากที่พ่อตายแล้ว ต้องทำงานคนเดียว มารดาสงสารจึงคิดจะหาหญิงสาวมาเป็นภรรยาให้ แม้เขาจะปฏิเสธอย่างไรมารดาก็ไม่ยอม ในที่สุด จึงต้องแต่งงานกับหญิงคนหนึ่ง บังเอิญหญิงที่เขาแต่งงานด้วยเป็นหมัน มารดากลัวว่าจะไม่มีใครสืบต่อวงศ์ตระกูล จึงบอกว่าจะหาหญิงสาวคนอื่นมาให้ใหม่

ขณะนั้น หญิงหมันได้ยินคำนั้นจึงเกิดความกลัวขึ้นว่า “ถ้าสามีมีภรรยาใหม่และมีลูกให้เขา ภรรยาใหม่จะต้องใช้เราอย่างทาสเป็นแน่ เราควรจะหาสาวน้อยสักคนหนึ่งมาเสียเองจะดีกว่า” เมื่อคิดได้ดังนั้น จึงไปขอสาวน้อยคนหนึ่งมาเป็นภรรยาของสามี
ต่อมา หญิงหมันกลัวว่า ถ้าภรรยาน้อยมีบุตรจะต้องเป็นเจ้าของทรัพย์ของสามี (ตามธรรมเนียม) จึงคิดหาอุบายที่จะไม่ให้ภรรยาน้อยมีบุตร วันหนึ่ง จึงไปบอกภรรยาน้อยว่าถ้าตั้งครรภ์เมื่อไรก็ให้บอก พอภรรยาน้อยตั้งครรภ์ก็ได้บอกแก่นาง
ตอนแรก หญิงหมันก็ทำทีเป็นใจดี โดยการนำข้าวน้ำมาเลี้ยงดูอย่างดี พอภรรยาน้อยตายใจก็แอบผสมยาทำแท้งลงไปในอาหาร ในที่สุดครรภ์ก็แท้ง ครั้งที่ ๒ ครรภ์ก็แท้งอีก พวกเพื่อน ๆ ของภรรยาน้อยจึงถามว่าเกิดอะไรขึ้น เมื่อทราบเรื่องว่าทุกครั้งที่ตั้งครรภ์จะต้องบอกให้หญิงหมันรู้ ทุกคนก็รู้ทันทีว่าหญิงหมันผสมยาทำแท้งให้นางกิน ครั้งต่อไปจึงห้ามมิให้บอกเรื่องตั้งครรภ์แก่หญิงหมัน

ครั้งที่ ๓ หญิงหมันถามอย่างไร ภรรยาน้อยก็ไม่บอก เมื่อครรภ์แก่ขึ้น ๆ หญิงหมันได้โอกาสจึงแอบผสมยาทำแท้งลงไปในอาหาร ภรรยาน้อยซึ่งมีครรภ์แก่กินเข้า ครรภ์ก็แท้งอีก แต่ครั้งนี้ เนื่องจากครรภ์แก่ทำให้นางได้รับทุกข์ทรมานแสนสาหัส และถึงแก่ความตายในที่สุด ก่อนตายนางผูกอาฆาตว่า
 “เจ้าทำให้ลูกข้าตายถึง ๓ คน ครั้งนี้ข้าเองต้องตาย เกิดชาติหน้า ขอให้ข้าเกิดเป็นนางยักษิณี ได้เคี้ยวกินลูกของเจ้า”
ผูกอาฆาตจองเวรเสร็จนางก็ตายไปเกิดเป็นแมวที่บ้านหลังนั้นนั่นเอง
ฝ่ายสามีทราบเรื่องเข้าก็โกรธจัด จึงทุบตีหญิงหมันลงศอกตอกเข่าจนหญิงหมันตายคาที่ และได้เกิดเป็นแม่ไก่ในเรือนนั้นเหมือนกัน

ผลัดกันจองเวรคนละชาติ
แม่ไก่ตกฟองทีไร แมวก็ดอดมากินเกลี้ยงถึง ๓ ครั้ง ครั้งสุดท้ายกินแม่ไก่ด้วย
แม่ไก่จึงจองเวรว่า “ตายแล้วขอให้ข้าได้กินลูกของเจ้า” พอตายไปก็ไปเกิดเป็นแม่เสือ ฝ่ายแมวได้ไปเกิดเป็นแม่เนื้อ
พอแม่เนื้อคลอดลูก แม่เสือก็แอบมากินถึง ๓ ครั้ง ครั้งสุดท้ายกินแม่เนื้อด้วย
แม่เนื้อจึงจองเวรว่า “ตายไปขอให้ได้กินลูกของมันบ้าง” แล้วตายไปเกิดเป็นนางยักษิณี ฝ่ายแม่เสือได้ไปเกิดเป็นกุลธิดาในเมืองสาวัตถี ต่อมานางได้สามี ขณะคลอดบุตรอยู่ในห้อง นางยักษิณีได้แปลงร่างเป็นเพื่อนรักของนางเข้าไปในห้องแล้วจับเด็กกินถึง ๒ ครั้ง
ครั้งที่ ๓ นางได้หนีไปคลอดบุตรที่อื่น ขากลับได้เดินผ่านมาทางวิหารที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ฝ่ายนางยักษิณีก็ตามจองล้างจองผลาญมาถึงวิหารนั้นพอดี แต่เข้าวิหารไม่ได้เพราะมีเทวดาคอยรักษาอยู่ พระพุทธเจ้าจึงให้ท่านพระอานนท์
ไปเรียกนางยักษิณีมาแล้วตรัสสอนไม่ให้ผูกเวรกัน เป็นคาถาหรือบทกวี ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า เวรทั้งหลายย่อมไม่สงบระงับด้วยเวร แต่เวรทั้งหลายย่อมสงบระงับด้วยการไม่จองเวร (ขุ.ธ.อ. ภาค ๒ กาลียักขินีวัตถุ)

๒. อัปปมาทวรรค
หมวดความไม่ประมาท
ในวรรคนี้ ทรงสอนให้ทำความดีตามแนวอัปปมาทธรรม คือ ความไม่ประมาท ความไม่ประมาทนี้ถือว่าเป็นยอดแห่งธรรม เพราะธรรมทั้งหมดรวมลงในความไม่ประมาท เหมือนรอยเท้าของสัตว์ทุกชนิดรวมลงในรอยเท้าช้าง
หน้าที่ที่ควรปฏิบัติต่อความไม่ประมาท คือ รักษาความไม่ประมาทไว้ เหมือนคนรักษาทรัพย์อันประเสริฐไว้ แต่การจะรักษาความไม่ประมาทได้นั้น จะต้องอาศัยปัญญาจึงจะรักษาไว้ได้
ผลจากการไม่ประมาท ผู้ปฏิบัติตามความไม่ประมาทนั้น จะได้รับผลดีมากมาย เช่น
-พระจูฬปันถกท่องหนังสือเพียง ๔ บรรทัดไม่ได้ เมื่อไม่ประมาทก็บรรลุอรหัตตผล พร้อมกับปฏิสัมภิทา มีมโนมยิทธิ (ฤทธิ์ทางใจ) สามารถเนรมิตกายได้เป็น ๑,๐๐๐ องค์
-ในเรื่องภิกษุสองสหาย คือ รูปหนึ่งขยันไม่ประมาท อีกรูปหนึ่งประมาท ทรงเปรียบเทียบไว้อย่างยอดเยี่ยมว่า

ผู้มีปัญญาดี เป็นผู้ไม่ประมาท ในเมื่อผู้อื่นประมาท
เป็นผู้ตื่นอยู่โดยมาก ในเมื่อผู้อื่นหลับ
ย่อมละทิ้งคนมีปัญญาทรามไปไกล
เหมือนม้าฝีเท้าจัด วิ่งละทิ้งม้าที่หมดแรงไไว้ ฉะนั้น

ความไม่ประมาทย่อมให้ผลไปจนตาย เช่น ครั้งหนึ่ง พระนางสามาวดี พระชายาของพระเจ้าอุเทน พระนางเลื่อมใสในพระพุทธเจ้ามาก ต่อมา ถูกพระนางมาคันธิยาพระชายาอีกองค์หนึ่งของพระเจ้าอุเทนสั่งให้จุดไฟเผาตายทั้งเป็นพร้อมกับบริวารอีก ๕๐๐ นาง การตายของพระนางทำให้พระราชาทรงโทมนัสยิ่งนัก ทรงกริ้วมาก จึงรับสั่งให้จับพระนางมาคันธิยาเผาไฟตายทั้งเป็นเช่นเดียวกัน เนื่องจากพระนางสามาวดีเป็นพระโสดาบัน ผู้เข้าถึงกระแสนิพพาน จึงชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาท พระพุทธเจ้าทรงปรารภเรื่องนี้จึงได้ตรัสพระคาถาธรรมบทเพื่อเป็นคติสอนใจว่า

อปฺปมาโท อมตํ ปทํ   ปมาโท มจฺจุโน ปท
อปฺปมตฺตา น มียนฺติ   เย ปมตฺตา ยถา มตา ฯเปฯ

ความไม่ประมาทเป็นทางแห่งอมตะ (ความไม่ตาย)
ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย
คนผู้ไม่ประมาท ชื่อว่าย่อมไม่ตาย
คนผู้ประมาท จึงเหมือนคนตายแล้ว ฯลฯ

๓. จิตตวรรค
หมวดจิต
ในวรรคนี้ ทรงสอนให้ปฏิบัติโดยการควบคุมจิต เพราะธรรมชาติของจิตคือ ดิ้นรน กวัดแกว่ง รักษายาก ห้ามยากต้องควบคุมให้ตรง เหมือนช่างศรดัดลูกศรให้ตรง จิตนี้มักดิ้นรนไปมาเหมือนปลาที่ถูกจับขึ้นมาไว้บนบก เปลี่ยนแปลงได้ง่าย เที่ยวไปไกล เที่ยวไปดวงเดียว ไม่มีรูปร่าง อาศัยอยู่ในถ้ำ (คือกาย)
วิธีฝึกจิต คือ ต้องมีปัญญา กำจัดราคะ โทสะ มีสติ ในอรรถกถากล่าวว่า ต้องฝึกด้วยอริยมรรค ๔ คือ โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตตมรรค (ขุ.ธ.อ. ๒/๑๐๘) พระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่า การฝึกจิตเป็นการทำความดีประการหนึ่ง
ผลดีจากการฝึกจิต การฝึกจิตทำให้ได้รับผลมากมาย ดังที่ตรัสไว้ในหลายแห่ง เช่น

จิตที่ฝึกแล้วนำสุขมาให้
ทูรํคมํ เอกจรํ   อสรีรํ คุหาสยํ
เย จิตฺตํ สญฺญเมสฺสนฺติ   โมกฺขนฺติ มารพนฺธนา

คนเหล่าใดสำรวมจิต
ที่เที่ยวไปไกล เที่ยวไปดวงเดียว
ไม่มีรูปร่าง อาศัยอยู่ในถ้ำ
คนเหล่านั้น จักพ้นจากเครื่องผูกแห่งมาร

น ตํ มาตา ปิตา กยิรา อญฺเญ วาปิ จ ญาตกา
สมฺมาปณิหิตํ จิตฺตํ เสยฺยโส นํ ตโต กเร

จิตที่ตั้งไว้ชอบ ย่อมอำนวยให้ได้ผลที่ประเสริฐยิ่ง
ที่มารดาบิดาก็ทำให้ไม่ได้
หรือแม้ญาติเหล่าอื่นก็ทำให้ไม่ได้ ผลร้ายจากการไม่ฝึกจิต การปล่อยจิตให้เป็นไปตามธรรมชาติ ย่อมให้ผลร้ายมากกว่าผลดี เพราะจิตมักจะใฝ่หาแต่อารมณ์ที่น่าปรารถนา และห้ามได้ยาก การปล่อยจิตเช่นนี้จึงให้ผลร้ายต่าง ๆ ดังที่ตรัสไว้ในธรรมบทว่า

ผู้มีจิตไม่มั่นคง ไม่รู้แจ้งสัทธรรม
มีความเลื่อมใสเลื่อนลอย
ย่อมไม่มีปัญญาสมบูรณ์
จิตที่ตั้งไว้ผิด พึงทำให้ได้รับความเสียหาย
ยิ่งกว่าความเสียหาย ที่โจรเห็นโจร
หรือผู้จองเวรเห็นผู้จองเวร จะพึงทำให้แก่กัน

๔. ปุปผวรรค
หมวดดอกไม้
ในวรรคนี้ ทรงสอนธรรมโดยเปรียบเทียบกับสิ่งธรรมชาติ คือ ดอกไม้ ทรงเปรียบเทียบดอกไม้กับกิเลสบ้าง เปรียบเทียบอาการเก็บดอกไม้กับอาการในการปฏิบัติธรรมบ้าง ธรรมบทแต่ละบทสามารถนำมาเป็นแนวทางในการทำความดีได้อย่างชัดเจน เช่น ทรงสอนว่า

-ให้เลือกบทธรรมที่ทรงแสดงไว้ดีแล้ว เหมือนช่างดอกไม้ผู้ชาญฉลาดเลือกเก็บดอกไม้
-ตัดพวงดอกไม้ของมารได้แล้ว ก็จะไปถึงสถานที่ที่มัจจุราชหาไม่พบ
-มฤตยูย่อมฉุดคร่านรชน ผู้มีใจติดข้องอยู่ในอารมณ์ต่าง ๆ ผู้มัวแต่เลือกเก็บดอกไม้ (คือกามคุณ) เหมือนห้วงน้ำใหญ่พัดพาเอาชาวบ้านที่หลับไหลไป ฉะนั้น
บางบท ทรงสอนให้ภิกษุรู้จักประมาณในการขอ เพราะคนที่จะให้ทาน บางคนก็เป็นคนตระหนี่ ไม่ควรทำให้เขารำคาญ โดยทรงเปรียบเทียบกับแมลงภู่ว่า

ภมรไม่ทำลายดอก สี และกลิ่น
ดูดแต่น้ำหวานแล้วบินไป ฉันใด
มุนีพึงเที่ยวไปในหมู่บ้าน ฉันนั้น
ทรงสอนให้ทำความดีให้มาก เหมือนช่างดอกไม้ร้อยพวงมาลัย และทรงแนะนำให้รักษาศีล เพราะกลิ่นแห่งศีลหอมยิ่งกว่ากลิ่นดอกไม้หรือกลิ่นต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น กลิ่นจันทน์ กลิ่นกฤษณา กลิ่นดอกอุบล และกลิ่นดอกมะลิ
ถ้าได้อ่านพระไตรปิฎกเล่ม ๑๙ (สํ.ม. (แปล) ๑๙/๑๔๑-๑๔๕/๗๕-๗๖) ก็จะพบว่ากลิ่นจันทน์เป็นต้นล้วนเป็นสุดยอดแห่งกลิ่นหอมทั้งปวง แต่ในธรรมบทนี้ พระองค์ตรัสว่า เป็นกลิ่นหอมเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับกลิ่นศีล

๕. พาลวรรค
หมวดคนพาล
ในวรรคนี้ ทรงสอนเรื่องคนพาล คือ คนโง่ ไม่มีปัญญา ไม่รู้จักประโยชน์ในโลกนี้และประโยชน์ในโลกหน้า ไม่รู้จักพระสัทธรรม ทรงเน้นให้เห็นโทษของความเป็นคนพาล และวิธีปฏิบัติต่อคนพาล ทรงเปรียบเทียบระหว่างคนพาลกับบัณฑิต ผู้ประสงค์จะทำความดีตามแนวทางในธรรมบทวรรคนี้ คงจะต้องตรวจสอบว่า เรามีลักษณะของคนพาลอยู่หรือไม่ ถ้าเรามีลักษณะดังกล่าวนั้นก็ต้องรีบแก้ไข จะทำให้เราเป็นบัณฑิตได้บ้าง ดังที่ตรัสไว้บทหนึ่งว่า

คนพาลที่รู้ตัวว่าเป็นคนพาล
ยังเป็นบัณฑิตได้บ้าง
แต่คนพาลที่สำคัญตนว่าเป็นบัณฑิต
นั่นแหละ เรียกว่า คนพาลแท้

คำว่า พาล ในที่นี้ มิใช่เฉพาะคนทั่วไปเท่านั้น แม้แต่พระภิกษุ ถ้าปฏิบัติตนไม่ดีก็เป็นคนพาลเช่นกัน ครั้งหนึ่ง ทรงตักเตือนเจ้าอาวาสบางรูปที่ประพฤติไม่เหมาะสม ไม่ให้ระเริงหลงในอำนาจของตนเองจนเกิดความถือตัวว่าดีกว่าคนอื่น ดังความว่า

ภิกษุพาล ปรารถนาการยกย่องที่ตนไม่มี
ปรารถนาให้ภิกษุทั้งหลายตามแวดล้อมตน
ปรารถนาความเป็นใหญ่ในอาวาส
และปรารถนาเครื่องบูชาจากชาวบ้านทั้งหลาย

ภิกษุพาลเกิดความดำริว่า
“ขอให้คฤหัสถ์และบรรพชิตทั้ง ๒ ฝ่าย จงเข้าใจว่า
เราผู้เดียวทำกิจนี้ได้ เราผู้เดียวพึงมีอำนาจในการงาน
ไม่ว่ากิจการใหญ่หรือเล็ก”

ความริษยา และความถือตัว จึงเกิดพอกพูนขึ้นโทษของความเป็นคนพาล คนพาลแม้จะอยู่ใกล้บัณฑิตชั่วชีวิต ก็ไม่รู้แจ้งธรรม เหมือนทัพพีไม่รู้รสแกง วิญญูชน แม้จะอยู่ใกล้บัณฑิตเพียงชั่วครู่ ก็รู้แจ้งธรรมได้ฉับพลัน เหมือนลิ้นรู้รสแกง
ท่าทีที่ควรปฏิบัติต่อคนพาล ทรงสอนให้หลบหลีกคนพาล โดยตรัสว่า หากบุคคลเที่ยวหาคนที่ดีกว่าตนหรือเสมอกับตนไม่ได้ ก็ควรถือการเที่ยวไปคนเดียวให้มั่นคง เพราะจะหาความเป็นเพื่อนในคนพาลไม่ได้เลย (นตฺถิ พาเล สหายตา)

๖. ปัณฑิตวรรค
หมวดบัณฑิต
ในวรรคนี้ ทรงสอนให้เป็นบัณฑิต ให้คบบัณฑิต คำว่า บัณฑิต หมายถึง ผู้ปฏิบัติตามธรรมคือกุศลกรรมบถ ๑๐ประการ โดยสรุปก็คือ ผู้คิดดี ทำดี พูดดี ถ้าพบบัณฑิตเช่นนี้ ให้คบท่านไว้ ก็จะมีแต่ความเจริญ ไม่มีเสื่อมเลย ถึงแม้ท่านจะชี้โทษ ก็ให้ถือว่าท่านเป็นผู้ชี้ขุมทรัพย์
วิธีทำตนให้เป็นบัณฑิต การที่จะเป็นบัณฑิตได้นั้น ทรงแนะนำให้ฝึกฝนตนเอง ดังธรรมบทที่ว่า

คนไขน้ำ ย่อมไขน้ำ
ช่างศร ย่อมดัดลูกศร
ช่างไม้ ย่อมถากไม้
บัณฑิต ย่อมฝึกตน
มีผู้แต่งเป็นบทกวีไว้น่าฟังว่า

ช่างเหมืองย่อม ทดน้ำ ทำระหัด   ช่างศรดัด ลูกธนู ให้อยู่ที่
ช่างถากแต่ง ตัวไม้ ให้รูปดี   ท่านผู้มีวัตรงาม ปราบปรามตนนอกจากนี้ ทรงแสดงลักษณะของบัณฑิตว่า ต้องไม่ทำบาปเพราะตนหรือเพราะบุคคลอื่น ไม่หาทรัพย์โดยทางมิชอบ แต่ให้มีศีล มีปัญญา ยึดมั่นอยู่ในธรรม เป็นต้น

มีต่อค่ะ

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: พุทธวิธีในการสอนตามแนวธรรมบท
« ตอบกลับ #17 เมื่อ: ตุลาคม 16, 2013, 01:58:22 pm »

๗. อรหันตวรรค
หมวดพระอรหันต์
ในวรรคนี้ ทรงแสดงคุณสมบัติของพระอรหันต์ ซึ่งควรถือเป็นเยี่ยงอย่างที่ดีและควรปฏิบัติตามแนวทางของท่าน คุณสมบัติของพระอรหันต์ในที่นี้ คือ ไม่มีความเร่าร้อนกระวนกระวาย ไม่ติดอาลัย บรรลุนิพพาน เป็นที่รักของเทวดาและมนุษย์ เป็นผู้ไม่หวั่นไหวในอารมณ์ที่น่าปรารถนาหรือไม่น่าปรารถนา จะอยู่ ณ สถานที่ใด ๆ จะเป็นบ้านหรือป่าก็ตาม สถานที่นั้น ๆ ย่อมเป็นที่รื่นรมย์ เพราะท่านไม่แสวงหากามอีกต่อไป

๘. สหัสสวรรค
หมวดหนึ่งในร้อยในพัน
ในวรรคนี้ ทรงสอนให้เราทราบว่า อะไรคือสาระของชีวิต อะไรคือความไร้สาระของชีวิต การกระทำอย่างไรมีสาระ อย่างไรไร้สาระ ทรงเปรียบเทียบชีวิตหรือการกระทำที่มีสาระจำนวน ๑ ว่ามีคุณค่ามากว่าชีวิตหรือการกระทำที่ไร้สาระจำนวน ๑,๐๐๐
มีเรื่องเล่าว่า ชายคนหนึ่งรับหน้าที่เป็นเพชฌฆาต ฉายา “เพชฌฆาตเคราแดง” เขาทำหน้าที่ตัดหัวโจรและคนทำผิดเป็นจำนวนมาก นานถึง ๕๕ ปี ต่อมา ในวัยแก่ เขาหมดแรง ไม่สามารถตัดหัวให้ขาดได้ภายในดาบเดียว ต้องตัดถึง ๒-๓ครั้ง ทำให้คนที่ถูกตัดหัวทรมานมาก จึงถูกปลดออกจากตำแหน่ง วันที่ถูกปลดมีการฉลอง มีการเตรียมอาหารอย่างดีให้เขาขณะที่เขาจะลงมือรับประทาน สายตาก็เหลือบไปเห็นท่านพระสารีบุตรเดินบิณฑบาตมาพอดี จึงเกิดความเลื่อมใสนำอาหารมาตักบาตรท่าน พระเถระก็อนุโมทนา แต่เขาไม่เข้าใจเพราะมัวแต่นึกถึงบาปกรรมที่ทำไว้ พระเถระจึงพูดให้เขาเข้าใจว่า การกระทำตามหน้าที่ไม่มีบาป เขาก็นึกว่าจริง พอได้ฟังธรรมอีกนิดหน่อยก็เข้าใจธรรม หลังจากพระเถระกลับไปไม่นาน เขาถูกวัวขวิดตาย ได้ไปเกิดเป็นเทวดาอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิต
ภิกษุหลายรูปทราบเรื่องนี้จากพระพุทธองค์ ต่างก็เกิดความสงสัยว่าเป็นไปได้อย่างไร ที่คนทำชั่วมานานป่านนี้กลับได้ดี พระพุทธองค์จึงตรัสธรรมบทว่า

คำพูดที่มีประโยชน์คำเดียว
ที่คนฟังแล้วสงบระงับได้
ย่อมดีกว่าคำพูดที่ไร้ประโยชน์ตั้ง ๑,๐๐๐ คำ

อีกบทหนึ่ง ทรงสอนเรื่องการชนะที่แท้จริงว่า
ผู้ชนะข้าศึกจำนวนพันคูณด้วยพัน ในสงคราม
หาชื่อว่าผู้ชนะที่ยอดเยี่ยมไม่
แต่ผู้ชนะตนได้ จึงชื่อว่า ผู้ชนะที่ยอดเยี่ยม

ในเรื่องคุณค่าของชีวิต ทรงสอนไว้ในวรรคนี้ว่า ผู้มีศีล มีปัญญา มีความเพียร
เห็นความเกิดดับ(ของขันธ์ ๕) เห็นทางอมตะ เห็นธรรมขั้นสูงสุด
แม้มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว ก็ประเสริฐกว่าผู้ไม่มีศีล ที่มีชีวิตอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี เป็นต้น

๙. ปาปวรรค
หมวดบาป
ในวรรคนี้ ทรงสอนให้รู้จักบุญและบาป รวมทั้งผลของบุญและบาปว่ามีความแตกต่างกัน
ให้พยายามรีบเร่งทำบุญละเว้นบาป บุญต้องหาบ บาปต้องละ ถ้าทำบุญช้า บาปมักจะเข้ามาแทนที่
ดังที่ตรัสไว้ว่า

อภิตฺถเรถ กลฺยาเณ   ปาปา จิตฺตํ นิวารเย
ทนฺธํ หิ กรโต ปุญฺญํ   ปาปสฺมึ รมตี มโน

บุคคลควรรีบเร่งทำบุญ ควรห้ามจิตจากบาป
เพราะเมื่อทำบุญช้าไป ใจจะยินดีในบาป

มีผู้แต่งเป็นกลอนไว้ดังนี้
พึงเร่งทำ กรรมดี แก่ชีวิต   
พึงห้ามจิต จากชั่ว ความมัวหมอง
เพราะถ้าทำ ดีเนิ่น เพลินลำพอง   
ใจย่อมปอง ในชั่ว กลั้วมลทิน

อนึ่ง ทรงสอนให้ทำบุญบ่อย ๆ เพราะการสั่งสมบุญนำสุขมาให้ แต่เป็นธรรมดาที่คนเราอาจทำผิดพลาดได้ ในทำนองเห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นความชั่วเป็นความดี เช่น ครั้งหนึ่ง อนาถบิณฑิกเศรษฐีทำบุญจนกลายเป็นคนยากจน เทวดาผู้รักษาประตูขอร้องให้ท่านเลิกทำ ท่านเศรษฐีก็ไม่ยอมเลิกทำบุญ ซ้ำยังขับไล่เทวดาให้ออกจากบ้านท่าน เทวดาสำนึกผิด จึงไถ่โทษด้วยการหาขุมทรัพย์ใต้ดินที่ไร้เจ้าของมาให้ท่าน ทำให้ท่านกลับมาร่ำรวยอีกครั้งหนึ่ง เหตุการณ์นี้ทำให้พระพุทธองค์ตรัสธรรมบทเป็นการสอนให้เห็นผลกรรมว่า

ปาโปปิ ปสฺสตี ภทฺรํ
ยาว ปาปํ น ปจฺจติ
ยทา จ ปจฺจติ ปาปํ   อถ (ปาโป) ปาปานิ ปสฺสติ ฯเปฯ

ตราบใดที่บาปยังไม่ให้ผล
ตราบนั้น คนชั่วจะเห็นบาปว่าดี
แต่เมื่อใด บาปให้ผล
เมื่อนั้น คนชั่วจะเห็นบาปว่าชั่วแท้

ตราบใดที่กรรมดียังไม่ให้ผล
ตราบนั้น คนดีจะเห็นกรรมดีว่าชั่ว
แต่เมื่อใด กรรมดีให้ผล
เมื่อนั้น คนดีจะเห็นกรรมดีว่าดีแท้

หลักคำสอนที่สำคัญบทหนึ่ง คือ ทรงสอนไม่ให้ดูหมิ่นบาปหรือบุญว่ามีเพียงเล็กน้อย
ดังที่ตรัสไว้ว่า

มาวมญฺเญถ ปาปสฺส   น มตฺตํ อาคมิสฺสติ
อุทพินฺทุนิปาเตน   อุทกุมฺโภปิ ปูรติ ฯเปฯ
    
บุคคลอย่าสำคัญว่าบาปเล็กน้อยคงจักมาไม่ถึง
แม้หม้อน้ำยังเต็มด้วยน้ำที่ตกลงมาทีละหยาด ๆ ได้ ฉันใด
คนพาลเมื่อสั่งสมบาปทีละเล็กละน้อย
เต็มด้วยบาปได้ ฉันนั้น
ทำบาปแล้วหนีไม่พ้น ผู้ทำบาปแล้วไม่ว่าจะหลบไปอยู่ในที่ใด ๆ ก็ไม่พ้นบาป ได้ ดังที่ตรัสไว้ว่า

น อนฺตลิกฺเข น สมุทฺทมชฺเฌ
น ปพฺพตานํ วิวรํ ปวีสํ ฯเปฯ

คนทำบาปถึงจะเหาะขึ้นไปในอากาศ ก็ไม่พ้นจากบาปกรรม
ถึงจะดำลงไปกลางทะเล ก็ไม่พ้นจากบาปกรรม
ถึงจะเข้าไปหลบตัวในซอกเขา ก็ไม่พ้นจากบาปกรรม
เพราะไม่มีแผ่นดินสักส่วนหนึ่งที่คนทำบาปยืนอยู่แล้ว จะพ้นจากบาปกรรมได้

มีผู้แต่งเป็นกลอนไว้ว่า
จะซ่อนกาย ในกลีบเมฆ กลางเวหา
ซ่อนกายา กลางสมุทร สุดวิสัย
จะซ่อนตัว กลางป่าเขา ลำเนาไพร
ณ ถิ่นใด พ้นบาปนี้ ไม่มีเลย

คติภพของคนทำบาปหรือทำบุญ คนเราจะเกิดในภพใดคติไหน
ขึ้นอยู่กับบุญที่เราทำกรรมที่เราสร้าง พระองค์ตรัสคติภพของสัตว์ไว้อย่างชัดเจนว่า

สัตว์พวกหนึ่ง ย่อมเกิดในครรภ์
พวกที่ทำบาปกรรม ย่อมไปนรก
พวกที่ทำความดี ย่อมไปสวรรค์
ส่วนผู้ที่ไม่มีอาสวะย่อมนิพพาน

๑๐. ทัณฑวรรค
หมวดอาชญา
ในวรรคนี้ ทรงสอนเกี่ยวกับการลงทัณฑ์ คือ การใช้กำลังทำร้าย เข่นฆ่า หรือเบียดเบียนผู้อื่น ให้ได้รับความเดือดร้อน หรือพูดวาจาหยาบคายให้ร้ายป้ายสี ทรงชี้ให้เห็นว่า สัตว์ทั้งหลายรักสุข เกลียดทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น ไม่ควรเบียดเบียนกัน ผู้ที่เบียดเบียนผู้อื่น จะได้รับโทษต่าง ๆ เช่น ได้รับทุกขเวทนาอย่างแรงกล้า เสื่อมทรัพย์ ถูกทำร้าย

อนึ่ง ทรงสอนให้เว้นการลงทัณฑ์ ให้อยู่เหมือนพราหมณ์ (ผู้ลอยบาป) สมณะ (ผู้สงบ) ภิกษุ (ผู้ทำลายกิเลส)
ธรรมบทในวรรคนี้ เหมาะสำหรับนักบริหาร ผู้ปกครอง และบรรดาผู้มีอำนาจทั้งหลาย เพราะทรงชี้ให้เห็นว่า ก่อนจะลงทัณฑ์ลงโทษใคร ต้องคำนึงถึงความถูกต้องเป็นหลัก โดยใช้เมตตาธรรม ถ้าลงโทษโดยไม่ใคร่ครวญ ผู้ลงโทษอาจได้รับโทษเสียเอง พึงระลึกอยู่เสมอว่า แม้ไม่มีการลงทัณฑ์ลงอาชญา ทุกชีวิตก็ต้องถูกความแก่ชราต้อนเข้าไปสู่ความตายทุกคน

ดังธรรมบทในวรรคนี้ที่ว่า
ยถา ทณฺเฑน โคปาโล   คาโว ปาเชติ โคจรํ ฯเปฯ

คนเลี้ยงโคใช้ท่อนไม้ไล่โค ต้อนฝูงโคไปยังที่หากิน ฉันใด
ความแก่และความตาย ก็ไล่ต้อนอายุของสัตว์ทั้งหลายไป ฉันนั้น

๑๑. ชราวรรค
หมวดความชรา
ในวรรคนี้ ทรงสอนเรื่องความชรา คือ ความแก่ ความทรุดโทรม ซึ่งเป็นเสมือนไฟเผาผลาญชีวิตสรรพสัตว์อยู่เป็นนิตย์ ความแก่ชรานี้ แม้จะเป็นความจริงด้านหนึ่งของชีวิต แต่ก็ไม่เป็นที่น่าปรารถนาของมนุษย์ไม่ว่าหญิงหรือชาย หากสอนเรื่องนี้ด้วยวิธีการธรรมดา อาจไม่เป็นที่พอใจของผู้ฟัง และไม่เกิดประโยชน์มากนัก ในธรรมบทวรรคนี้ ทรงใช้วิธีการสอนต่าง ๆ กัน เช่น ทรงสอนนางอุตตราภิกษุณีผู้มีอายุ ๑๒๐ ปีว่า “ร่างกายนี้แก่หง่อมแล้ว เป็นที่อาศัยของโรค แตกทำลายง่าย ร่างกายอันเน่าเหม็นนี้ จักแตกสลายพังพินาศ เพราะชีวิตสิ้นสุดลงที่ความตาย”

ผลจากธรรมบทนี้ ทำให้นางอุตตราภิกษุณีบรรลุเป็นพระโสดาบัน
แก่อย่างมีคุณค่า แม้ชีวิตจะต้องแก่ชราไปตามกาลเวลา
ถ้ารู้จักแสวงหาปัญญา และไม่ประมาท ไม่มัวเมาหลงระเริงอยู่ในโลก
ก็เป็นการแก่อย่างมีคุณค่า ไม่แก่เปล่า ถ้าไม่มีปัญญาย่อมแก่เปล่า

ดังที่ตรัสว่า
“คนที่มีการศึกษาน้อยนี้ ย่อมแก่ไปเปล่า
เหมือนโคพลิพัท (โคผู้ทรงพลัง)เจริญแต่เนื้อหนัง ส่วนปัญญาหาเจริญไม่”

ครั้งหนึ่ง หญิงสหายของนางวิสาขามหาอุบาสิกา แอบพกขวดเหล้าเข้าไปดื่มในวัด พอเมาได้ที่(มารเข้าสิง) ก็เริ่มปรบมือ ฟ้อนรำขับร้องกัน พระศาสดาจึงบันดาลให้เกิดความมืดขึ้น พวกนางตกใจกลัวตายจนหายเมา พระองค์ได้ตรัสสอนธรรมบทเตือนใจว่า

โก นุ หาโส กิมานนฺโท   นิจฺจํ ปชฺชลิเต สติ
อนฺธกาเรน โอนทฺธา   ปทีปํ น คเวสถ

เมื่อโลกลุกเป็นไฟอยู่เนืองนิตย์
ทำไมจึงมัวหัวเราะร่าเริงกันอยู่เล่า
เธอทั้งหลายถูกความมืดปกคลุม
ไฉนไม่แสวงหาดวงประทีปกันเล่า

ผลจากการตรัสธรรมบทนี้ทำให้พวกนางบรรลุเป็นพระโสดาบัน
ตอนที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ ๆ พระองค์ทรงเห็นสัจธรรมของชีวิตข้อนี้
ถึงกับทรงเปล่งอุทานธรรมว่า
อเนกชาติสํสารํ   สนฺธาวิสฺสํ อนิพฺพิสํ ฯเปฯ
    
เราตามหานายช่างผู้สร้างเรือน เมื่อไม่พบ
จึงท่องเที่ยวไปในสงสารเป็นอเนกชาติ
เพราะการเกิดบ่อย ๆ เป็นทุกข์

นายช่างเอ๋ย เราพบท่านแล้ว
ท่านจะสร้างเรือนไม่ได้อีก
ซี่โครงทุกซี่ของท่านเราหักแล้ว
ยอดเรือนเราก็รื้อแล้ว
จิตของเราถึงธรรมปราศจากเครื่องปรุงแต่งแล้ว
เราได้บรรลุธรรมเป็นที่สิ้นตัณหาแล้ว

๑๒. อัตตวรรค
หมวดตน
ในวรรคนี้ ทรงสอนเรื่องตน คำว่า ตน ในที่นี้ หมายถึงผู้กระทำ (สยกตฺตา) โดยทั่วไป
ไม่ได้หมายถึง อัตตา หรืออาตมัน ในศาสนาพราหมณ์ พระองค์ทรงสอน
ให้รู้จักรักษาตนด้วยการทำดี ให้รู้จักวางจังหวะของชีวิต ในทำนองที่ว่า

วัยแรกเรียนวิชา
วัยต่อมาสร้างหลักฐาน
วัยแก่ทำบุญ จะเกิดคุณตลอดกาล

ทรงสอนให้ฝึกฝนตนและทำตนให้เป็นที่พึ่ง ดังที่ตรัสว่า
อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ   
โก หิ นาโถ ปโร สิยา

ตนแลเป็นที่พึ่งของตน   
บุคคลอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้

การทำหน้าที่ต่อผู้อื่น ไม่ควรทำหน้าที่ของตนให้บกพร่อง
ก่อนจะสอนคนอื่น ควรพยายามสอนตนให้ได้ก่อน
เพื่อป้องกันความเดือดร้อนที่จะเกิดแก่ตน ดังที่ตรัสไว้ว่า

อตฺตานญฺเจ ตถา กยิรา   ยถญฺญมนุสาสติ
สุทนฺโต วต ทเมถ   อตฺตา หิ กิร ทุทฺทโม

บุคคลสอนคนอื่นอย่างไร ก็พึงทำตนเองอย่างนั้น
ผู้ที่ฝึกตนดีแล้ว จึงควรฝึกผู้อื่น
เพราะตนนั่นแล ฝึกได้ยากยิ่ง

บางครั้ง ทรงสอนให้ยึดประโยชน์ตนเป็นสำคัญ ดังธรรมบทที่ว่า
อตฺตทตฺถํ ปรตฺเถน   พหุนาปิ น หาปเย ฯเปฯ

บุคคลไม่ควรให้ประโยชน์ตนเสียไป
เพราะประโยชน์คนอื่นแม้มาก
เมื่อรู้ประโยชน์ตนแล้ว
ก็ควรขวนขวายในประโยชน์ตน

ในบทนี้ ไม่ควรเข้าใจผิดโดยคิดว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เห็นแก่ตัว
ความจริง คำว่า ประโยชน์ตน ในที่นี้หมายถึง มรรค ผล นิพพาน เป็นเรื่อง
ความบริสุทธิ์เฉพาะตน ซึ่งคนอื่นทำให้เราไม่ได้ ตนเองเท่านั้นที่จะทำให้แก่ตน
ดังธรรมบทที่ว่า
“สุทฺธิ อสุทฺธิ ปจฺจตฺตํ นาญฺโญ อญฺญํ วิโสธเย
= ความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์เป็นของเฉพาะตน คนอื่นจะทำให้คนอื่นบริสุทธิ์ไม่ได้”

๑๓. โลกวรรค
หมวดโลก
ในวรรคนี้ ทรงสอนเรื่องเกี่ยวกับโลก คำว่า โลก ในที่นี้มีความหมายหลายอย่าง คือ
โลกคือหมู่สัตว์  โลกคือแผ่นดิน  โลกคือภพนี้และภพหน้า
โลกคือขันธ์ ๕  โลกคือชาวโลก  โลกคือวัฏฏทุกข์ (ขุ.ธ.อ. ๖/๓๑-๔๒)

ทรงสอนให้อยู่ในโลกอย่างไม่ประมาท ไม่ควรเป็นคนรกโลก (น สิยา โลกวฑฺฒโน)
ให้อยู่อย่างมีคุณธรรมจึงจะมีความสุข ดังพระดำรัสที่ว่า
ธมฺมจารี สุขํ เสติ ผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุข

ทรงสอนให้เห็นความเป็นจริงของโลกว่า
โลกนี้มืดมน คนในโลกนี้ น้อยคนนักจักเห็นแจ้ง
น้อยคนนักจักไปสวรรค์
เหมือนนกติดข่าย น้อยตัวนักที่จะพ้นจากข่าย

ฉะนั้นบางบท ทรงสอนในทำนองว่า การอยู่ในโลกอาจทำผิดพลาดได้
แต่ผู้ที่ทำผิดนั้นต้องแก้ไข เมื่อแก้ไขแล้วก็ทรงยกย่อง เช่น จอมโจรองคุลีมาล
ซึ่งฆ่าคนตายมากกว่า ๙๙๙ คน และคิดจะฆ่ามารดาเป็นคนที่ ๑,๐๐๐
ภายหลังได้พบพระพุทธเจ้าและฟังธรรมจากพระองค์ สามารถกลับใจได้
จึงได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ (ดูเทียบกับ ม.ม. (แปล) ๑๓/๓๕๒/๔๓๐) พระองค์ตรัสว่า

บาปกรรมที่ทำไว้ ผู้ใดละเสียได้ด้วยกุศล
ผู้นั้นย่อมทำโลกนี้ให้สว่างไสว
ดุจดวงจันทร์พ้นจากเมฆ ฉะนั้น

บทความพระไตรปิฎก
:http://www.mcu.ac.th/mcutrai/menu2/menu2_4.htm

มีต่อค่ะ

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด

๑๔. พุทธวรรค
หมวดพระพุทธเจ้า
ในวรรคนี้ ทรงสอนเรื่องพระพุทธเจ้า พุทธภาวะ และคำสั่งสอน คำว่า พระพุทธเจ้า คือ ผู้ที่ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณด้วยพระองค์เอง และทรงสามารถสอนผู้อื่นให้รู้ตามได้
การอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้า การอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่ง ดังที่ตรัสว่า “กิจฺโฉ พุทฺธานมุปฺปาโท” การที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงอุบัติขึ้น ยากยิ่งนัก
ผู้ที่จะมาเกิดเป็นพระพุทธเจ้าได้นั้น ถ้าต้องการเกิดเป็นพระพุทธเจ้าผู้เลิศทางปัญญา (ปัญญาธิกะ) ต้องบำเพ็ญบารมี ๓๐ ประการ เป็นเวลานานถึง ๔ อสงไขย ๑๐๐,๐๐๐ กัป

ถ้าต้องการเกิดเป็นพระพุทธเจ้าผู้เลิศทางศรัทธา (สัทธาธิกะ) ต้องบำเพ็ญบารมีเป็นเวลานานถึง ๘ อสงไขย ๑๐๐,๐๐๐ กัป
ถ้าต้องการเกิดเป็นพระพุทธเจ้าผู้เลิศทางความเพียร (วิริยาธิกะ) ต้องบำเพ็ญบารมีเป็นเวลานานถึง ๑๖ อสงไขย ๑๐๐,๐๐๐ กัป (ดูเทียบกับ ขุ.อป. (แปล) ๓๒/๑-๘๒/๑-๑๒, วิสุทฺธิ. ๒/๔๙-๕๐)

พุทธภาวะ คือ คุณสมบัติของพระพุทธเจ้า เช่น ทรงกำจัดกิเลสได้เด็ดขาด มีพระญาณหาที่สุดมิได้ ไม่มีร่องรอย ทรงก้าวล่วงมารและเสนามาร สามารถแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ได้ เช่น ยมกปาฏิหาริย์ (การแสดงปาฏิหาริย์เป็นคู่ เช่น เนรมิตสายน้ำกับสายไฟเป็นคู่ ๆ เนรมิตพระพุทธเจ้าเป็น ๒ องค์ ดู ขุ.ธ.อ. ภาค ๒ ยมกปาฏิหาริยวัตถุ) ทรงเป็นสรณะอันเกษมสูงสุดของมนุษย์ เพราะทำให้ถึงความหลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวง
หลักคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ทรงแสดงหลักคำสั่งสอนสำคัญของพระพุทธศาสนาไว้ในธรรมบทวรรคนี้ว่า

สพฺพปาปสฺส อกรณํ   กุสลสฺสูปสมฺปทา
สจิตฺตปริโยทปนํ   เอตํ พุทฺธาน สาสนํ ฯเปฯ

การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม
การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว
นี้คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ฯลฯอนึ่ง พระองค์ตรัสไว้ว่า บุญที่เกิดจากการบูชาพระพุทธเจ้าหรือพระสาวก ใคร ๆ ไม่สามารถนับได้ว่า เป็นบุญประมาณเท่าไร

๑๕. สุขวรรค
หมวดความสุข
ในวรรคนี้ ทรงสอนวิธีสร้างความสุขที่แท้จริงให้แก่ชีวิต โดยสรุป คือ

๑. ไม่ก่อเวร     ๒. ไม่ทำตนให้เดือดร้อน
๓. กำจัดความกังวล     ๔. ละความชนะและความพ่ายแพ้
๕. แสวงหาความสงบกับนักปราชญ์     ๖. คบหาพระอริยะ อยู่ร่วม
๗. ไม่คบคนพาล    ทรงชี้ให้เห็นว่า การแข่งดีมุ่งจะเอาชนะผู้อื่นทำให้ไม่มีความสุข ก่อให้เกิดภัยเวร ดังที่ตรัสไว้ในธรรมบทที่ว่า

ชยํ เวรํ ปสวติ   ทุกฺขํ เสติ ปราชิโต
อุปสนฺโต สุขํ เสติ   หิตฺวา ชยปราชยํ ฯ
    
ผู้ชนะย่อมก่อเวร ผู้พ่ายแพ้ย่อมนอนเป็นทุกข์
ผู้ละทั้งความชนะและความพ่ายแพ้ได้แล้ว
มีใจสงบ ย่อมนอนเป็นสุขธรรมบทที่แสดงถึงสิ่งสุดยอดต่าง ๆ ในวรรคนี้ คือ

ยอดแห่งไฟ :   นตฺถิ ราคสโม อคฺคิ
    ไฟเสมอด้วยราคะไม่มี
ยอดแห่งโทษ :   นตฺถิ โทสสโม กลิ
    โทษเสมอด้วยโทสะไม่มี
ยอดแห่งทุกข์ :   นตฺถิ ขนฺธสมา ทุกฺขา
    ทุกข์เสมอด้วยขันธ์ ๕ ไม่มี
ยอดแห่งสุข :   นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ
    สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี
ยอดแห่งโรค :   ชิคจฺฉา ปรมา โรคา
    ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง
ยอดแห่งทุกข์ :
(อีกอย่างหนึ่ง)   สงฺขารา ปรมา ทุกฺขา
สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์อย่างยิ่ง

ยอดแห่งสุข :
(อีกอย่างหนึ่ง)   นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ
นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง
ยอดแห่งลาภ :   อาโรคฺยปรมา ลาภา
ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง
ยอดแห่งทรัพย์ :   สนฺตุฏฺฐิ ปรมํ ธนํ
ความสันโดษเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง
ยอดแห่งญาติ :   วิสฺสาสา ปรมา ญาติ
ความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่ง

๑๖. ปิยวรรค
หมวดสิ่งอันเป็นที่รัก
ในวรรคนี้ ทรงสอนวิธีที่ควรปฏิบัติต่อสิ่งอันเป็นที่รัก คำว่า สิ่งอันเป็นที่รัก มี ๒ ประเภท คือ
๑. ทางโลก หมายถึง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ(สิ่งที่มากระทบ) และธรรมารมณ์ ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หรือหมายถึงกิเลสตัณหา
๒. ทางธรรม หมายถึง ศีล สมาธิ ปัญญา นิพพาน บุญกุศล

วิธีปฏิบัติต่อสิ่งอันเป็นที่รัก
สิ่งอันเป็นที่รักทางโลกเป็นเหตุให้เกิดความเศร้าโศกและภัยต่าง ๆ ผู้ปราศจาก สิ่งอันเป็นที่รักย่อมไม่มีความเศร้าโศกและภัย ฉะนั้น จึงควรหาทางหลุดพ้น หาทางกำจัดกิเลสตัณหาที่จะเกิดขึ้นจากสิ่งอันเป็นที่รักเหล่านั้น ดังที่ตรัสสอนไว้ว่า

ปิยโต ชายตี โสโก   ปิยโต ชายตี ภยํ
ปิยโต วิปฺปมุตฺตสฺส   นตฺถิ โสโก กุโต ภยํ

ความโศกเกิดจากสิ่งเป็นที่รัก ภัยก็เกิดจากสิ่งเป็นที่รัก
ผู้พ้นจากสิ่งเป็นที่รักได้เด็ดขาด
ย่อมไม่มีความโศกและภัยจากที่ไหนเลย

สิ่งอันเป็นที่รักในทางธรรม ทรงสอนให้บำเพ็ญศีล สมาธิ และปัญญา ผู้ประกอบด้วยคุณธรรมเหล่านี้ ย่อมจะเป็นที่รักของทุกคน เมื่อจากโลกนี้ไปสู่โลกหน้าย่อมมีบุญคอยต้อนรับ

๑๗. โกธวรรค
หมวดความโกรธ
ในวรรคนี้ ทรงสอนเรื่องความโกรธ โทษแห่งความโกรธ วิธีละความโกรธ ประโยชน์ของการละความโกรธ
วิธีละความโกรธ คือ ให้เห็นว่าเป็นโลกธรรม มีมานานแล้ว ทุกยุคทุกสมัย เช่น ความโกรธที่เกิดจากถูกนินทาว่าร้ายทรงสอนว่า “นตฺถิ โลเก อนินฺทิโต” คนไม่ถูกนินทาไม่มีในโลกหน้าที่ของเราคือ สำรวมกาย วาจา ใจ ไม่ให้กำเริบ มีศีลมั่นคง ดำรงชีวิตให้ปราศจากข้อที่ควรตำหนิ ถ้ามีคนโกรธ พึงปฏิบัติตามธรรมบทที่ว่า

อกฺโกเธน ชิเน โกธํ   อสาธุ สาธุนา ชิเน
ชิเน กทริยํ ทาเนน   สจฺเจนาลิกวาทินํ

บุคคลพึงชนะคนโกรธด้วยความไม่โกรธ พึงชนะคนไม่ดีด้วยความดี
พึงชนะคนตระหนี่ด้วยการให้
พึงชนะคนพูดเหลาะแหละด้วยคำสัตย์

๑๘. มลวรค
หมวดมลทิน
ในวรรคนี้ ทรงสอนเรื่องมลทิน คือ

มลทินชองชีวิต   ได้แก่   กิเลสและอกุศลกรรม
มลทินของมนต์   ได้แก่   การไม่ท่องบ่น
มลทินของบ้านเรือน   ได้แก่   ความไม่ขยัน
มลทินของผิวพรรณ   ได้แก่   ความเกียจคร้านชำระร่างกาย
มลทินของผู้รักษา   ได้แก่   ความประมาท
มลทินของคู่สามีภรรยา   ได้แก่   การนอกใจกันมลทินดังกล่าวมานี้ ย่อมทำลายชีวิตของผู้ที่มีมลทิน เหมือนสนิมที่เกิดจากเหล็กก็กัดกินเหล็กนั้นนั่นเอง ผู้มีปัญญาควรกำจัดมลทินของตนทีละน้อย ทุกขณะ โดยลำดับ เหมือนช่างทองกำจัดสนิมทอง

๑๙. ธัมมัฏฐวรรค
หมวดผู้ตั้งอยู่ในธรรม
ในวรรคนี้ ทรงสอนเรื่องคุณธรรมที่ทำให้ชื่อว่าเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม โดยทรงแสดงไปตามหน้าที่ของแต่ละบุคคลที่ทรงตรัสถึง ดังนี้
คุณธรรมของผู้พิพากษา คือ วินิจฉัยคดี และสาเหตุแห่งคดี ทั้งฝ่ายที่เป็นจริง และไม่เป็นจริง วินิจฉัยโดยไม่ผลีผลาม เที่ยงธรรม (ถูกต้องตามหลักการ ไม่ลำเอียง) และโดยสม่ำเสมอ (เสมอภาคกับทุกคน ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง)
คุณธรรมของบัณฑิต คือ มีความเกษม ไม่มีเวร ไม่มีภัย
คุณธรรมของผู้ทรงธรรม คือ บุคคลไม่ชื่อว่าผู้ทรงธรรม เพียงเพราะพูดมาก ส่วนผู้ใดได้สดับธรรมน้อย แต่พิจารณาเห็นธรรมด้วยนามกาย ทั้งไม่ประมาทธรรมนั้น ผู้นั้นชื่อว่าผู้ทรงธรรม
คุณธรรมของพระเถระ คือ บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นเถระ เพียงเพราะมีผมหงอก ผู้ที่แก่แต่วัยเท่านั้น เรียกว่าคนแก่เปล่า ส่วนผู้มีสัจจะ มีธรรม มีความไม่เบียดเบียน มีความสำรวม ฝึกตน ละมลทินได้ เป็นปราชญ์ ชื่อว่า เถระ พระบาลีว่า

น เตน เถโร โหติ   เยนสฺส ปลิตํสิโร
ปริปกฺโก วโย ตสฺส   โมฆชิณฺโณติ วุจฺจติ ฯเปฯ

บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นเถระเพียงเพราะมีผมหงอก
ผู้ที่แแก่แต่วัยเท่านั้น เรียกว่าคนแก่เปล่า
ส่วนผู้มีสัจจะมีธรรม
มีอหิงสา สัญญมะ และทมะ
คายมลทินได้แล้ว เป็นปราชญ์

ชื่อว่าเถระคุณธรรมของคนดี คือ ละความริษยาได้เด็ดขาด กำจัดโทษได้ มีปัญญา
คุณธรรมของสมณะ คือ ผู้ที่ไม่มีวัตร พูดจาเหลาะแหละ แม้มีศีรษะโล้น ก็ไม่ชื่อว่า สมณะ เขาเต็มไปด้วยความปรารถนาและความอยากได้ จะเป็นสมณะได้อย่างไร ส่วนผู้ใดระงับบาปน้อยใหญ่ลงได้โดยสิ้นเชิง ผู้นั้น จึงเรียกว่า สมณะ
คุณธรรมของภิกษุ คือ เป็นผู้ลอยบุญและบาปได้ ประพฤติพรหมจรรย์ มีปัญญา
คุณธรรมของมุนี คือ บุคคลโง่เขลา ไม่รู้อะไร เพียงแต่นั่งนิ่ง ๆ หาชื่อว่ามุนีไม่ ส่วนบุคคลผู้ฉลาด เลือกชั่งเอาแต่สิ่งที่ดี ละทิ้งสิ่งที่ชั่ว เหมือนบุคคลชั่งสิ่งของ จึงจะชื่อว่า มุนี แท้ ผู้ที่รู้โลกทั้งสอง ก็เรียกว่า มุนี เช่นกัน
คุณธรรมของผู้เป็นอริยะ คือ ไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง

๒๐. มัคควรรค
หมวดมรรค(ทาง)
ในวรรคนี้ ทรงแสดงอริยมรรคมีองค์ ๘ ว่าเป็นทางอันประเสริฐที่สุด ทรงย้ำว่า
“ทางเพื่อความหมดจดแห่งทรรศนะ คือทางนี้เท่านั้น มิใช่ทางอื่น
เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายจงดำเนินไปตามทางนี้แล
เพราะทางนี้เป็นทางลวงมารให้หลง

อนึ่ง เธอทั้งหลายดำเนินไปตามทางนี้แล้ว
จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
เรารู้วิธีถอนลูกศรคือกิเลสแล้ว
จึงชี้บอกทางนี้แก่เธอทั้งหลาย
เธอทั้งหลายควรทำความเพียรเองเถิด
ตถาคตเป็นเพียงผู้ชี้บอกเท่านั้น
ผู้บำเพ็ญภาวนา ดำเนินตามทางนี้แล้ว เพ่งพินิจอยู่
จักพ้นจากเครื่องผูกแห่งมารได้”

เหตุที่ทำให้ไม่พบทาง (อริยมรรค) คือ ไม่ขยัน เกียจคร้าน มีความคิดใฝ่ต่ำ ปราศจากความเพียร จึงไม่ประสบทางด้วยปัญญา (ปธานกัมมิกติสสเถรวัตถุ)
วิธีที่จะทำให้พบทาง คือ รักษากาย วาจา สำรวมใจ และไม่พึงทำความชั่วทางกาย พึงชำระกรรมบถ(กาย วาจา ใจ) ทั้ง ๓ ทางนี้ ให้หมดจดจึงจะพบทางที่พระพุทธเจ้าประกาศไว้ (สูกรเปตวัตถุ)
ทรงตักเตือนให้เตรียมทางว่า
 
บุคคลเมื่อถึงคราวจะตาย
บุตรทั้งหลายก็ต้านทานไม่ได้
บิดาก็ต้านทานไม่ได้
พวกพ้องก็ต้านทานไม่ได้
แม้ญาติพี่น้องก็ต้านทานไม่ได้
บัณฑิตผู้สำรวมในศีล รู้ความจริงนี้แล้ว
พึงรีบเร่งชำระทางอันจะนำไปสู่นิพพาน

๒๑. ปกิณณกวรรค
หมวดเบ็ดเตล็ด

ในวรรคนี้ ทรงสอนหลักธรรมทั่วไป เช่น
-ในเรื่องบุรพกรรมของพระองค์ ทรงสอนให้สละสุขเล็กน้อยเพื่อความสุขอันยิ่งใหญ่
-ในเรื่องกุมาริกากินไข่ไก่ ทรงสอนว่า ผู้หาความสุขจากความทุกข์ของผู้อื่น ไม่พ้นจากเวรไปได้
-ในเรื่องภิกษุโอรสของเจ้าวัชชี ผู้เห็นชาวเมืองจัดงานสมโภช คิดจะสึกไปครองเรือน ทรงสอนว่า

การบวชเป็นของยาก
ความยินดีในการบำเพ็ญธรรมก็เป็นของยาก
เรือนที่ครอบครองไม่ดี ก่อให้เกิดทุกข์
การอยู่ร่วมกับคนไม่เสมอกันเป็นทุกข์
การเดินทางไกล (คือ วัฏฏะ) ก็เป็นทุกข์
เพราะฉะนั้น บุคคลจึงไม่ควรเดินทางไกล
และไม่ควรให้ทุกข์ติดตามได้

-ในเรื่องจูฬสุภัททา ทรงเปรียบเทียบคนดีกับคนชั่วว่า
สัตบุรุษย่อมปรากฏเด่นชัด เหมือนขุนเขาหิมพานต์
ส่วนอสัตบุรุษย่อมไม่ปรากฏ เหมือนลูกศรที่ยิงไปในเวลากลางคืน

๒๒. นิรยวรรค
หมวดเรื่องนรก
ในวรรคนี้ ทรงสอนเรื่องนรก ซึ่งเป็นสถานที่รองรับคนชั่ว รวมทั้งผู้ที่ต้องตกนรก ซึ่งเป็นผู้ที่ทำกรรมชั่วต่าง ๆ เช่น
๑. ชอบกล่าวคำไม่จริง
๒. ทำความชั่ว ซ้ำยังโกหกว่าไม่ได้ทำ
๓. เป็นภิกษุ แต่มีธรรมเลวทราม ไม่สำรวม ปฏิบัติไม่ดี
๔. ละอายในสิ่งที่ไม่ควรละอาย ไม่ละอายในสิ่งที่ควรละอาย กลัวในสิ่งที่ไม่ควรกลัว ไม่กลัวในสิ่งที่ควรกลัว เห็นสิ่งที่ไม่มีโทษว่ามีโทษ เห็นสิ่งที่มีโทษว่าไม่มีโทษ ผู้ที่ทำดีตรงกันข้ามกับความชั่วดังกล่าวมาแล้ว ย่อมไปสู่สวรรค์ แนวทางปฏิบัติในเรื่องความดีความชั่ว ตรัสสอนไว้ว่า

อกตํ ทุกฺกตํ เสยฺโย   ปจฺฉา ตปฺปติ ทุกฺกตํ
กตญฺจ สุกตํ เสยฺโย   ยํ กตฺวา นานุตปฺปติ

ความชั่วไม่ทำเสียเลยดีกว่า
เพราะระลึกถึงความชั่ว บุคคลย่อมเดือดร้อนในภายหลัง
ส่วนความดีทำไว้เถิดดีกว่า
เพราะทำแล้วระลึกถึงภายหลัง บุคคลย่อมไม่เดือดร้อน

๒๓. นาควรรค
หมวดช้าง
ในวรรคนี้ ทรงสอนเรื่องการฝึกตนเปรียบเทียบกับการฝึกช้าง เนื่องจากช้างเป็นสัตว์สำคัญในการสงคราม การเดินทาง และเป็นสัตว์ที่ฝึกง่าย เมื่อได้รับการฝึกดีแล้ว ย่อมเป็นสัตว์ฉลาด มีความอดทนสูง ผู้ที่ฝึกตนได้แล้ว ประเสริฐกว่าช้างที่ฝึกแล้ว
ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าถูกใส่ร้าย ถูกด่าว่าด้วยคำหยาบคาย ท่านพระอานนท์กราบทูลให้เสด็จไปเสียจากที่นั้น พระองค์ตรัสว่า

อหํ นาโคว สงฺคาเม   จาปาโต ปติตํ สรํ
อติวากฺยนฺติติกฺขิสฺสํ   ทุสฺสีโล หิ พหุชฺชโน

เราจักอดกลั้นซึ่งคำล่วงเกิน ดุจช้างอดทนซึ่งลูกศร
ที่ออกมาจากแล่งในสงคราม เพราะคนทุศีลมีมาก

ผู้ที่ไม่ฝึกฝนตนพระองค์ได้ตรัสเปรียบเทียบกับหมู ดังนี้
มิทฺธี ยทา โหติ มหคฺฆโส จ
นิทฺทายิตา สมฺปริวตฺตสายี
มหาวราโหว นิวาปปุฏฺโฐ
ปุนปฺปุนํ คพฺภมุเปติ มนฺโท

เมื่อใด บุคคลผู้ถูกความง่วงเหงาครอบงำ บริโภคมาก
ชอบแต่นอนกลิ้งเกลือกไปมา
เมื่อนั้น เขาย่อมมีปัญญาเฉื่อยชา ชอบเข้าห้องเป็นอาจิณ
เหมือนสุกรอ้วนที่เขาขุนด้วยเศษอาหาร ฉะนั้น

วิธีฝึกตน จะแสดงพอเป็นแนวทาง คือ
๑. ให้ฝึกจิตที่ชอบฟุ้งซ่าน เหมือนควาญช้างปราบพยศช้างตกมัน
๒. ฝึกถอนตนออกจากหล่มคือกิเลส เหมือนช้างแก่จมโคลนถอนตัวขึ้นไม่ได้
พอได้ยินเสียงกลองรบก็สามารถถอนตัวขึ้นได้ เพราะเคยฝึกฝนและผ่านสนามรบมาแล้ว
๓. ฝึกคบกับสหายผู้มีปัญญา มีความประพฤติดี เป็นนักปราชญ์
๔. ฝึกเป็นคนมีความสุข ตามวิธีต่าง ๆ ที่ตรัสไว้ว่า

เมื่อมีกิจเกิดขึ้น สหายทั้งหลายนำสุขมาให้
ความยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้ นำสุขมาให้
ในเวลาสิ้นชีวิต บุญนำสุขมาให้
การละทุกข์ได้ทั้งหมด นำสุขมาให้
ในโลก การเกื้อกูลมารดา นำสุขมาให้
การเกื้อกูลบิดา นำสุขมาให้

การเกื้อกูลสมณะ นำสุขมาให้
การเกื้อกูลท่านผู้ประเสริฐ นำสุขมาให้
ศีลนำสุขมาให้ตราบเท่าชรา
ศรัทธาที่ตั้งมั่นแล้ว นำสุขมาให้
การไม่ทำบาปทั้งหลาย ก็นำสุขมาให้

๒๔. ตัณหาวรรค
หมวดตัณหา
ในวรรคนี้ ทรงสอนให้รู้จักตัณหา (ความทะยานอยาก) ๓ ประการ คือ (๑) กามตัณหา ความทะยานอยากในกาม (๒) ภวตัณหา ความอยากเป็น (๓) วิภวตัณหา ความไม่อยากเป็น
ตัณหา ๓ ประการนี้ เกิดขึ้นแก่คนที่ประมาท เหมือนเถาย่านทรายเจริญอยู่ในป่า และเกิดแก่ผู้ที่กำหนัดยินดีด้วยราคะ ดังที่ตรัสไว้ในเรื่องพระนางเขมาเถรีว่า “สัตว์ทั้งหลายผู้กำหนัดยินดีด้วยราคะ ย่อมตกไปสู่กระแสตัณหา เหมือนแมงมุมติดใยที่ตนถักไว้เอง”

ผลจากการถูกตัณหาครอบงำ ผู้ที่ตกอยู่ใต้อำนาจของตัณหา มีลักษณะ คือ
-เร่ร่อนไปมา เหมือนวานรที่ต้องการผลไม้เที่ยวเร่ร่อนไปมาในป่า
-เกิดความเศร้าโศก เข้าถึงชาติชราร่ำไป เกิดความทุกข์
-เมื่อถูกตัณหาครอบงำ ย่อมสะดุ้ง ดิ้นรน เหมือนกระต่ายติดบ่วง

วิธีกำจัดตัณหา คือ มีปัญญา เจริญฌาน
ผลดีจากการกำจัดตัณหาได้ คือ
-ทำให้ความโศกสิ้นไป เหมือนหยาดน้ำกลิ้งตกไปจากใบบัว
-ละทุกข์ทั้งปวงได้
-ไม่ต้องเกิดอีกต่อไป

-ทำให้สิ้นตัณหา ซึ่งเป็นการชนะทุกข์ทั้งปวง ดังที่ตรัสไว้ว่า
สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ
สพฺพํ รสํ ธมฺมรโส ชินาติ
สพฺพํ รตึ ธมฺมรตี ชินาติ
ตณฺหกฺขโย สพฺพทุกฺขํ ชินาติ

การให้ธรรม ชนะการให้ทั้งปวง
รสแห่งธรรม ชนะรสทั้งปวง
ความยินดีในธรรม ชนะความยินดีทั้งปวง
ความสิ้นตัณหา ชนะทุกข์ทั้งปวง
-ทานที่ให้แก่คนที่ปราศจากราคะ โทสะ โมหะ และตัณหา มีผลมากกว่าทานที่ให้แก่คนที่มีกิเลสเหล่านั้น

๒๕. ภิกขุวรรค
หมวดภิกษุ
ในวรรคนี้ ทรงแสดงเรื่องภิกษุ ทรงสอนว่า สิ่งแรกที่ภิกษุผู้มีปัญญาในศาสนานี้ต้องกระทำคือ สำรวมอินทรีย์ มักน้อยสันโดษ ระมัดระวังในวินัยบัญญัติ คบกัลยาณมิตร ผู้ขยันขันแข็ง มีอาชีพสะอาด ทรงสอนไม่ให้เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย มุ่งเจริญกรรมฐาน ไม่ถือมั่นในรูป ไม่ประมาท รู้จักตักเตือนตนเอง รู้จักพึ่งตนเอง ดังพระอมตพจน์ที่ว่า

อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ   อตฺตา หิ อตฺตโน คติ
ตสฺมา สญฺญม อตฺตานํ   อสฺสํ ภทฺรํว วาณิโช ฯ
    
ตนแล เป็นที่พึ่งของตน
ตนแล เป็นคติของตน
เพราะฉะนั้น เธอจงสงวนตนให้ดี
เหมือนพ่อค้าม้าสงวนม้าพันธุ์ดี

ฉะนั้นทรงสอนให้พัฒนาปัญญาว่า
นตฺถิ ฌานํ อปญฺญสฺส
นตฺถิ ปญฺญา อฌายิโน ฯเปฯ

ฌานย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีปัญญา
ปัญญาก็ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน
ผู้ใดมีทั้งฌานและปัญญานั่นแล
จึงนับว่าอยู่ใกล้นิพพาน

๒๖. พราหมณวรรค
หมวดพราหมณ์
ในวรรคนี้ ทรงแสดงคุณสมบัติของพราหมณ์ ตามพุทธทรรศนะ เดิมที คำว่า พราหมณ์ เป็นคำเรียกวรรณะพราหณ์ของชาวอินเดีย เมื่อพระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้น พระองค์ทรงบัญญัติคุณสมบัติของพราหมณ์ใหม่ ซึ่งก็คือพระขีณาสพนั่นเอง คุณสมบัติของพราหมณ์หรือพระขีณาสพที่ทรงแสดงไว้ในวรรคนี้ เป็นคุณสมบัติและปฏิปทาของพระสาวกแต่ละท่าน เช่น ไม่มีกรรมชั่วทางกาย วาจา ใจ มีความสำรวมระวัง มีสัจจะ มีธรรม เป็นผู้สะอาด ทรงแสดงเพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่างในการนำไปปฏิบัติ มีจำนวนพระสูตรถึง ๓๑ สูตร

ธรรมบทที่นำมากล่าวไว้นี้ ถ้าหากอ่านด้วยความพิจารณาแล้ว แม้บทเดียวก็ให้ประโยชน์มหาศาล คงพอจะเป็นแนวทางในการนำไปปฏิบัติแก่ท่านที่สนใจ ก่อนจบ ขอฝากธรรมบทบทหนึ่งไว้เตือนใจผู้อ่านว่า

วาจาสุภาษิต ย่อมไม่มีผลแก่ผู้ไม่ทำตาม
เหมือนดอกไม้งาม มีสีสวย (แต่) ไม่มีกลิ่น
วาจาสุภาษิต ย่อมมีผลแก่ผู้ทำตามด้วยดี
เหมือนดอกไม้งาม มีทั้งสีและกลิ่น (มีสีสวยกลิ่นหอม) ฉะนั้น ฯ

บรรณานุกรม
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, มหาวิทยาลัย. พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย. กรุงเทพฯ
: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, มหาวิทยาลัย. พระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลี. กรุงเทพฯ
: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๐.
คณะกรรมการแผนกตำรา. มหามกุฏราชวิทยาลัย.
พระธัมมปทัฏฐกถาแปลภาค ๑-๘. กรุงเทพฯ
: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๒๘.
เสฐียรพงษ์ วรรณปก. พุทธวจนะในธรรมบท. กรุงเทพฯ
: อมรินทร์ปรินท์ติ้ง จำกัด, ๒๕๓๑.
สหภูมิสงฆ์พิจิตร, คาถาพระธรรมบทคำกลอน. กรุงเทพฯ
: โรงพิมพ์เลี่ยงเชียง, ๒๕๓๑.

อักษรย่อชื่อคัมภีร์
ม.ม.   มัชฌิมนิกาย มัชฌินปัณณาสก์
สํ.ม.   สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค
ขุ.ธ.อ.   ขุททกนิกาย ธัมมปทัฏฐกถา
วิสุทฺธิ.   วิสุทฺธิมคฺค
:http://www.mcu.ac.th/mcutrai/menu2/Article/article_11-2.htm

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: เสียงอ่าน คาถาธรรมบท ภาษาไทย ฉบับสมบูรณ์
« ตอบกลับ #19 เมื่อ: พฤศจิกายน 12, 2013, 12:18:25 pm »

http://youtu.be/jV3fosv8Sss Sompong Tungmepol Uploaded on Sep 20, 2011
http://metta.exteen.com,เมตตาธรรมค้ำจุนโลก