อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > พระอริยบุคคล

๑. ยมกวรรค+รวมลิ้งค์เรื่องย่อในพระธรรมบท ๑ - ๒๖

<< < (2/4) > >>

ฐิตา:

เรื่องจุลกาลและมหากาล

พระศาสดา เมื่อเสด็จเข้าไปอาศัยเสตัพยนคร ประทับอยู่ในป่าไม้ประดู่ลาย ทรงปรารภจุลกาล และมหากาล ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า สุภานุปสฺสึ วิหรนฺตํ เป็นต้น

ที่เมืองเสตัพยนคร มีกุฎุมพี 3 พี่น้อง คือ จุลกาล มัชฌิมกาล และมหากาล ประกอบอาชีพเป็นพ่อค้านำกองคาราวานเกวียนบรรทุกสิ่งของตระเวนไปขายตามเมืองต่างๆ ทั้งนี้โดยคนที่ชื่อจุลกาล ซึ่งเป็นพี่คนโต และ มหากาล ซึ่งเป็นน้องคนเล็ก เป็นผู้ควบคุมกองคาราวานเกวียนไป

ครั้งหนึ่ง ทั้งมหากาลและจุลกาล เมื่อเดินทางไปค้าขาย ก็ได้มีโอกาสฟังพระธรรมเทศนาจากพระศาสดา หลังจากสดับพระสัทธรรมเทศนาแล้ว ฝ่ายมหากาลได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบทจากพระศาสดา ส่วนจุลกาลก็ได้บรรพชาอุปสมบทเหมือนกัน แต่เป็นการบวชเพียงเพื่อจะสึกแล้วชวนให้พี่ชายสึกตามไปด้วยเท่านั้นเอง

มหากาลนั้นมีความตั้งใจในการปฏิบัติสมณธรรมมาก ได้ไปฏิบัติธรรมอยู่ในป่าช้าตามแบบ โสสานิกธุดงค์(ธุดงค์ที่เข้าไปปฏิบัติอยู่ในป่าช้า) และพิจารณาถึงความไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา ตามหลักของคำสอนในพระพุทธศาสนาว่า

อนิจฺจา วต สงฺขารา
อุปฺปาทวยธมฺมิโน
อุปฺปชฺชิตฺวา นิรุชฌนฺติ
เตสํ วูปสโม สุโข ฯ

(แปลว่า)
สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีอันเกิดขึ้น
และเสื่อมไปเป็นธรรมดา เมื่อเกิดขึ้นแล้วดับไป
ความสงบแห่งสังขารเหล่านั้นเป็นสุข.
จนในที่สุดได้บรรลุความรู้แจ้งเห็นจริง ได้เป็นพระอรหันต์

ต่อมา พระศาสดาและสาวกทั้งหลาย รวมทั้งภิกษุมหากาลและจุลกาลนี้ด้วย ได้เข้าไปอยู่ในป่าสิงสปาวัน(ป่าประดู่ลาย) ใกล้เมืองเสตัพยะ ในช่วงนั้นเองพวกอดีตภรรยาของพระจุลกาล ได้อาราธนาพระศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสาวกทั้งหลายไปที่บ้านของพวกตน พระจุลกาลได้เดินทางล่วงหน้าไปที่บ้านภรรยา เพื่อตระเตรียมปูอาสนะที่ประทับสำหรับพระศาสดาและสาวกทั้งหลาย พอพระจุลกาลเดินทางไปถึงที่บ้านพวกภรรยาก็ได้บังคับให้พระจุลกาลสึกโดยให้เปลี่ยนชุดแต่งกายจากผ้ากาสาวพัสตร์มาเป็นชุดคฤหัสถ์

ในวันรุ่งขึ้น พวกอดีตภรรยาของพระมหากาล ได้อาราธนาพระศาสดาและพระสงฆ์สาวกไปที่บ้านของพวกตนบ้าง โดยมีวัตถุประสงค์จะทำการสึกพระมหากาลอย่างเดียวกับที่ภรรยาของอดีตพระจุลกาลเคยทำกับพระจุลกาล หลังจากเสร็จสิ้นถวายภัตตาหาร พวกอดีตภรรยาของพระมหากาลได้ทูลพระศาสดาขอให้พระมหากาลอยู่ก่อน โดยอ้างว่าเพื่อจะได้ “กล่าวอนุโมทนา” ดังนั้นพระศาสดาและพระสงฆ์สาวกทั้งหลายจึงได้กลับคืนสู่วิหาร

หลังจากที่เดินทางมาถึงประตูหมู่บ้าน พวกภิกษุทั้งหลายได้แสดงหวาดวิตก ที่พวกภิกษุเหล่านี้หวาดวิตกก็เพราะพระมหากาลได้รับพุทธานุญาตให้อยู่ที่บ้านอดีตภรรยาแต่โดยลำพัง ซึ่งเป็นที่น่าหวาดกลัวว่าจะเป็นเหมือนกรณีที่เกิดขึ้นกับพระจุลกาลพระน้องชาย คือจะถูกอดีตภรรยาจับสึกนั่นเอง พระศาสดาตรัสว่าพระสองพี่น้องนี้ไม่เหมือนกัน คือ พระจุลกาลยังฝักใฝ่ในกามคุณ มีความเกียจคร้านและอ่อนแอ ราวกับต้นไม้ที่ไม่แข็งแรง ตรงกันข้ามมหากาล มีความบากบั่น ขยันหมั่นเพียร มีจิตในเด็ดเดี่ยว และมีศรัทธาอย่างแรงกล้าในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ มีลักษะเหมือนเหมือนภูเขาศิลาล้วน

จากนั้นพระศาสดาตรัสพระธรรมบทพระคาถาที่ 7 และที่ 8 ว่า
สุภานุปสฺสึ วิหรนฺตํ
อินฺทริเยสุ อสํวุตํ
โภชนมฺหิ อมตฺตญญุ
กุสีตํ หีนวีริยํ
ตํ เว ปสหตี มาโร
วาโต รุกขํว ทุพพลํ ฯ

(อ่านว่า)
สุพานุปัสสิง วิหะรันตัง
อินทะริเยสุ อะสังวุตัง
โพชะนัมหิ อะมัตตันยุง
กุสีตัง หีนะวีริยัง
ตัง เว ปะสะหะตี มาโร
วาโต รุกขังวะ ทุบพะลัง.

(แปลว่า)
ผู้ตกเป็นทาสของความสวยงาม
ไม่ควบคุมอินทรีย์ทั้งหลาย
ไม่รู้จักประมาณในโภชนาหาร
เกียจคร้าน ขาดความบากบั่น
มารย่อมกำจัดเขาได้
เหมือนลมพัดพาต้นไม้ที่ไม่แข็งแรงได้ฉะนั้นฯ

อสุภานุปสฺสึ วิหรนฺตํ
อินฺทริเยสุ สุสํวุตํ
โภชนมฺหิ มตฺตญญํ
สทฺธํ อารทฺธวีริยํ
ตํ เว นปฺปสหตี มาโร
วาโต เสลํว ปพฺพตํฯ

(อ่านว่า)
อะสุพานุปัสสิง วิหะรันตัง
อินทะริเยสุ สุสังวุตัง
โพชะนัมหิ มัตตันยุง
สัททัง อารัดทะวีริยัง
ตัง เว นัปปะสะหะตี มาโร
วาโต เสลังวะ ปับพะตัง.

(แปลว่า)
ผู้ไม่ตกเป็นทาสของความสวยงาม
ควบคุมอินทรีย์ทั้งหลายได้
รู้จักประมาณในโภชนาหาร
มีศรัทธา ขยันหมั่นเพียร
มารย่อมกำจัดเขาไม่ได้
เหมือนลมพัดพาภูเขาศิลาล้วนไม่ได้ ฉะนั้นฯ

ในขณะพวกอดีตภรรยาของพระมหากาลกำลังจะมาช่วยกันเปลื้องสบงจีวรออกจากร่างกายของพระมหากาลอยู่นั้นเอง พระเถระรู้ทันในวัตถุประสงค์ของอดีตภรรยา จึงได้รีบลุกขึ้นยืนแล้วเหาะทะยานทะลุทะลวงผ่านหลังคาบ้านขึ้นสู่อากาศด้วยกำลังแห่งฤทธิ์ แล้วเหาะไปลงที่แทบพระบาทของพระศาสดาในช่วงพอดีกับที่พระศาสดาตรัสพระธรรมบททั้ง 2 พระคาถาข้างต้นจบลง

เมื่อพระพระธรรมเทศนาจบลง พระภิกษุสงฆ์ที่มาประชุมกันอยู่นั้น ก็ได้บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น.

ฐิตา:


เรื่องเทวทัต

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภการได้ผ้ากาสาวะอันบุคคลนำมาแต่แคว้นคันธาระ ของพระเทวทัต ในกรุงราชคฤห์ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า อนิกฺกสาโว เป็นต้น

ครั้งหนึ่ง พระอัครสวกทั้งสอง คือ พระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะเดินทางจากกรุงสาวัตถีไปที่กรุงราชคฤห์ ณ ที่นั้นประชาชนชาวกรุงราชคฤห์ได้นิมนต์พระอัครสาวกทั้งสองและพระภิกษุบริวารของท่านจำนวนหนึ่งพันรูปไปฉันภัตตาหารเช้า ในโอกาสนี้เองมีอุบาสกคนหนึ่งถวายผ้ามีมูลค่าหนึ่งแสนกหาปณะให้แก่พวกคนที่ดำเนินการในพิธีถวายภัตตาหารในครั้งนี้ โดยแนะนำพวกเขาว่าควรจะนำผ้านี้ขายแล้วเอาเงินที่ได้จากการขายผ้านี้ไปเป็นค่าใช้จ่าย แต่ถ้าหากไม่ขาดแคนเงินก็ให้นำผ้าผืนนี้ถวายพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งตามแต่จะเห็นสมควร การณ์ปรากฏว่าไม่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนเงินและจะต้องนำผ้าไปถวายแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เนื่องจากว่าพระอัครสาวกทั้งสองไปที่กรุงราชคฤห์เป็นครั้งคราว ส่วนพระเทวทัตเป็นพระที่อยู่เมืองนี้เป็นประจำ ชาวเมืองจึงถวายผ้าผืนนี้แก่พระเทวทัต

พระเทวทัตรีบนำผ้ามีมูลค่ามากนั้นไปทำเป็นจีวรห่มในทันที เมื่อพระภิกษุรูปหนึ่งเดินทางจากกรุงราชคฤห์มาที่กรุงสาวัตถีเพื่อเฝ้าพระศาสดา และได้กราบทูลเรื่องนี้ให้ทรงทราบ พระศาสดาตรัสว่า มิใช่ครั้งแรกที่พระเทวทัตห่มจีวรที่ตนไม่สมควรจะห่ม และพระศาสดาได้นำเรื่องอดีตมาแสดงว่า

พระเทวทัตเป็นพรานล่าช้างในอดีตชาติหนึ่ง ครั้งนั้นมีช้างจำนวนมากอาศัยอยู่ในป่าแห่งหนึ่ง วันหนึ่งนายพรานนั้นสังเกตเห็นพวกช้างคุกเข่าทำความเคารพพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายที่พวกมันพบเห็น เมื่อสังเกตเห็นเช่นนี้แล้วนายพรานล่าช้างนั้นก็ได้ไปขโมยจีวรสีเหลืองของพระปัจเจกพุทธเจ้ามาคลุมกายของตนเอง จากนั้นก็ได้ถือหอกไปคอยพวกช้างอยู่ในเส้นทางสัญจรปกติของพวกช้าง เมื่อพวกช้างมาถึงเห็นนายพรานเข้าใจผิดคิดว่าเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าก็คุกเข่าลงทำความเคารพเช่นเคย นายพรานช้างก็ได้ถือโอกาสใช้หอกซัดฆ่าช้างตัวที่อยู่ท้ายสุด และได้กระทำเช่นนี้เรื่อยมาเป็นเวลาหลายวัน

พระโพธิสัตว์เป็นพระยาช้างโขลงนั้น สังเกตเห็นว่าช้างบริวารลดจำนวนลงจึงได้ตัดสินใจหาสาเหตุโดยให้ช้างบริวารเดินนำหน้าส่วนพระยาช้างเองเดินตามหลัง พระโพธิสัตว์คอยระมัดระวังอยู่ตลอดเวลา เมื่อนายพรานพุ่งหอกมาก็สามารถหลบหลีกได้ทัน แล้ววิ่งไปใช้งวงรวบนายพรานช้าง กำลังจะฟาดตัวลงที่พื้นดิน แต่เผอิญมองเห็นผ้ากาสาวพัสตร์ ที่นายพรานช้างนำมาใช้คลุมกายไว้ จึงยับยั้งใจ ไว้ชีวิตแก่นายพรานช้าง เพราะมีความเคารพในผ้ากาสาวพัสตร์ ในพระคัมภีร์พรรณนาความคิดของพระยาช้างในช่วงนั้นว่า “ ถ้าเราจักประทุษร้ายในบุรุษนี้ไซร้, ชื่อว่าความละอายในพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธะ และพระขีณาสพหลายพันองค์ จักเป็นอันเราทำลายแล้ว”

นายพรานถูกตำหนิที่พยายามฆ่าผู้อื่น โดยใช้ผ้ากาสาวพัสตร์มาคลุมกาย มากระทำในสิ่งชั่วช้าเช่นนี้ นายพรานไม่ควรที่จะนำผ้ากาสาวพัสตร์ที่เป็นเครื่องนุ่งห่มของผู้หมดกิเลสมานุ่งห่ม

จากนั้นพระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบทพระคาถาที่ 9 และที่ 10 ว่า
อนิกฺกสาโว กาสาวํ
โย วตฺถํ ปริทเหสฺสติ
อเปโต ทมสจฺเจน
น โส กาสาวมหรติฯ

(อ่านว่า)
อะนิกกะสาโว กาสาวัง
โย วัดถัง ปะริทะเหดสะติ
อะเปโต ทะมะสัดเจนะ
นะ โส กาสาวะมะหะระติ.

(แปลว่า)
ผู้ใด มีกิเลสดุจน้ำฝาดยังไม่ออก
ปราศจากการข่มใจและความสัตย์
จักนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์
ผู้นั้นย่อมไม่ควรนุ่งห่มผ้ากาสาวะ.

โย จ วนฺตกสาวสฺส
สีเลสุ สุสมาหิโต
อุเปโต ทมสจฺเจน
น โส กาสาวมหรติ ฯ

(อ่านว่า)
โย จะ วันตะกะสาวัดสะ
สีเลสุ สุสะมาหิโต
อุเปโต ทะมะสัดเจนะ
นะ โส กาสาวะมะหะระติ.

(แปลว่า)
ส่วนผู้ใด พึงเป็นผู้มีกิเลสดุจน้ำฝาดอันคลายแล้ว
ตั้งมั่นดีในศีลทั้งหลาย ประกอบด้วยการข่มใจและความสัตย์
ผู้นั้นแล ย่อมควรนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์.

เมื่อพระศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนาจบลง ภิกษุที่มาจากที่ต่างๆ ได้บรรลุพระโสดาบัน ประชาชนจำนวนมาก บรรลุอริยผล มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น เทศนาสำเร็จประโยชน์แก่มหาชน.

ฐิตา:

เรื่องสญชัย

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภความไม่มาของสญชัยปริพพาชก ซึ่งสองพระอัครสาวกกราบทูลแล้ว ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า อสาเร สารมติโน เป็นต้น

อุปติสสะและโกลิตะเป็นชายหนุ่มจากหมู่บ้านอุปติสสะและหมู่บ้านโกลิตะ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกรุงราชคฤห์ ทั้งสองคนไปชมมหรสพอยู่บนยอดภูเขาแล้ว เกิดความตระหนักถึงความไม่เที่ยงของทุกสิ่งทุกอย่าง จึงได้ตัดสินใจแสวงหาความหลุดพ้น ในเบื้องแรกทั้งสองคนได้เข้าไปเป็นศิษย์ของอาจารย์สญชัย ซึ่งเป็นปริพาชกในกรุงราชคฤห์ แต่ไม่สมใจในคำสอนของสญชัย จึงได้ออกเดินทางตระเวนไปทั่วชมพูทวีป(อินเดีย) แล้วกลับมาที่กรุงราชคฤห์ดังเดิม หลังจากตระเวนหาแล้วไม่พบธรรมะอย่างแท้จริง ทั้งสองจึงได้ทำความตกลงกันว่า หากคนใดคนหนึ่งได้ไปพบธรรมะที่แท้จริง ก็จะต้องบอกแก่กันและกัน

อยู่มาวันหนึ่ง อุปติสสะไปพบพระอัสสชิเถระ และได้เรียนรู้จากท่านถึงแก่นแท้ของธรรมะ
ซึ่งพระอัสสะได้กล่าวเป็นพระคาถาว่า
เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา
เตสํ เหตุ(ตุง) ตถาคโต
เตสญฺจ โย นิโรโธ จ
เอวํ วาที มหาสมโณ ฯ

(แปลว่า)
สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นแต่เหตุ พระตถาคตตรัสเหตุ
แห่งสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น และความดับไปแห่งเหตุทั้งหลายเหล่านั้น
พระมหาสมณะมีปกติกล่าวอย่างนี้.

เมื่อได้ฟังพระคาถานี้แล้วอุปติสสะก็ได้บรรลุพระโสดาปัตติผล จากนั้นก็ได้ทำตามคำที่ให้สัญญากันไว้กับโกลิตะ คือได้ไปบอกกับสหายผู้นี้ว่าตนได้บรรลุถึงความไม่ตายแล้วได้นำพระคาถานั้นมาว่าให้โกลิตะฟัง โกลิตะได้ฟังแล้วก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันอีกเช่นกัน ทั้งสองคนรำลึกถึงอาจารย์สญชัยจึงชวนกันไปพบและเรียนท่านว่า “พวกเราได้พบบุคคลที่จะชี้แนะหนทางแห่งความไม่ตายแล้ว บัดนี้พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นมาแล้วในโลก พระธรรมก็เกิดขึ้นมาแล้ว พระสงฆ์ก็เกิดขึ้นมาแล้ว..มาเถิด จงไปพบกับอาจารย์ท่านนั้นกัน” คนทั้งสองวาดหวังไว้ว่าอดีตอาจารย์ของตนผู้นี้จะตามไปพบกับพระพุทธเจ้าและเมื่อได้ฟังธรรมแล้วก็จะได้บรรลุมรรคผล แต่ท่านสญชัยปฏิเสธไม่ยอมตามไปด้วย

ดังนั้นอุปติสสะและโกลิตะพร้อมด้วยบริวารจำนวน 250 คน จึงได้ไปเฝ้าพระพุทธจ้าที่วัดเวฬุวัน และทั้งสองคนก็ได้บรรพชาอุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา อุปติสสะในฐานะเป็นบุตรของนางรูปสารีจึงมีชื่อว่า พระสารีบุตรเถระ ส่วนโกลิตะเป็นบุตรของนางโมคคัลลีจึงมีชื่อว่า มหาโมคคัลลานะ ในวันที่ 7 หลังจากบวชพระโมคคัลลานะก็ได้บรรลุอรหัตตผล ส่วนพระสารีบุตรได้บรรลุพระอรหัตตผลหลังจากอุปสมบทได้ 15 วัน ในวันนั้นเองพระพุทธเจ้าได้สถาปนาท่านทั้งสองไว้ในตำแหน่งอัครสาวกขวาซ้ายคือ พระสารีบุตรเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา พระโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย

จากนั้นพระอัครสาวกทั้งสองได้กราบทูลพระศาสดา เริ่มตั้งแต่เรื่องที่ท่านขึ้นไปชมมหรสพบนภูเขา ไปพบกับพระอัสสชิ และได้บรรลุพระโสดาปัตติผล หลังจากนั้นก็ได้ไปชวนอดีตอาจารย์สญชัยโดยกะว่าจะให้เดินทางมาพร้อมกับพวกตน แต่สญชัยได้กล่าวว่า “เราเป็นอาจารย์มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย จะให้เรามาเป็นศิษย์คนอื่นนั้นก็จะเหมือนกับการเปลี่ยนตุ่มน้ำให้เป็นถ้วยน้ำชา” นอกจากนั้นแล้วท่านก็ยังบอกด้วยว่า คนที่ฉลาดมีน้อย ส่วนพวกคนโง่มีมาก ก็ให้พวกคนฉลาดไปหาพระสมณโคดมผู้ฉลาด ส่วนพวกคนโง่ก็จะมาหาเราผู้เป็นคนโง่ พวกท่านทั้งสองจงไปตามทางของพวกท่านเถิด”

ดังนั้น พระศาสดาทรงชี้ว่า เพราะทิฐินั้นเองทำให้ท่านสญชัยต้องพลาดจากการได้เห็นธรรมว่าเป็นธรรม เมื่อสญชัยยังเห็นอธรรมว่าเป็นธรรม ก็จะยังไม่สามารถบรรลุถึงธรรมที่แท้จริงได้ จากนั้นพระศาสดาได้ตรัสพระ

ธรรมบทพระคาถาที่ 11 และพระคาถาที่ 12 ว่า
อสาเร สารมติโน
สาเร จ อสารทสฺสิโน
เต สารํ นาธิคจฺฉติ
มิจฺฉาสงฺกปฺปโคจรา ฯ

(อ่านว่า)
อะสาเร สาระมะติโน
สาเร จะ อะสาระทัดสิโน
เต สารัง นาทิคัดฉะติ
มิดจาสังกับปะโคจะรา.

(แปลว่า)
ชนเหล่าใด มีปกติรู้สิ่งที่เป็นสาระว่าเป็นสาระ
และเห็นในสิ่งอันเป็นสาระว่าไม่เป็นสาระ
มีความดำริผิดเป็นโคจร
ย่อมไม่ประสบสิ่งอันเป็นสาระ.

สารญฺจ สารโต ญตฺวา
อสารญฺจ อสารโต
เต สารํ อธิคจฺฉติ
สมฺมาสงฺกปฺปโคจราฯ

(อ่านว่า)
สารันจะ สาระโต ยัตตะวา
อะสารันจะ อะสาระโต
เต สารัง อะทิคัดฉะติ
สัมมาสังกับปะโคจะโร.

(แปลว่า)
ส่วนชนเหล่าใด รู้สิ่งเป็นสาระโดยความเป็นสาระ
และสิ่งไม่เป็นสาระโดยความไม่เป็นสาระ
ชนเหล่านั้น มีความดำริชอบเป็นโคจร
ย่อมประสบสิ่งเป็นสาระ.

เมื่อพระศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนาจบลง คนเป็นจำนวนมาก ได้บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น เทศนาเป็นประโยชน์แก่ชนผู้มาประชุมกันแล้ว.

ฐิตา:


เรื่องพระนันทเถระ

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระนันทะ
ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ยถา อคารํ ทุจฺฉนฺนํ เป็นต้น

ครั้งหนึ่ง เมื่อพระศาสดาประทับที่วัดพระเวฬุวันในกรุงราชคฤห์ พระเจ้าสุทโธทนะพระราชบิดาได้ส่งทูตหลายคณะมาทูลเชิญพระศาสดาเสด็จไปกรุงกบิลพัสดุ์ ในที่สุดพระพุทธองค์จึงได้เสด็จไปพร้อมด้วยพระอรหันต์จำนวน 20,000 รูป ในวันแรกที่เสด็จถึงกรุงกบิลพัสดุ์พระองค์ได้ตรัสเวสสันดรชาดกให้พระญาติได้ฟัง ในวันที่ 2 ได้เสด็จเข้าไปในเมืองและได้ตรัสพระคาถาที่เริ่มบาทแรกว่า “อุตฺติฏเฐ นปฺปมชฺเชยฺย” ซึ่งแปลว่า “บุคคลพึงขยัน ไม่พึงประมาท” ซึ่งเมื่อพระราชบิดาทรงสดับแล้วได้บรรลุพระโสดาปัตติผล และเมื่อเสด็จเข้าไปไปพระราชวังได้ตรัสพระคาถาซึ่งมีความในบาทแรกว่า “ธมฺมํ จเร สุจริตํ” ซึ่งแปลว่า “บุคคลพึงประพฤติธรรมที่สุจริต” ในที่สุดแห่งพระธรรมเทศนาพระราชบิดาได้บรรลุพระสกทาคามิผล หลังจากเสวยภัตตาหารแล้วได้ตรัสจันทกินนรีชาดกซึ่งเกี่ยวโยงกับคุณธรรมของพระมารดาของราหุล(พระนางยโสธรา หรือพิมพา)

พอถึงวันที่ 3 ได้มีพิธีอภิเษกสมรสของเจ้าชายนันทะพระพุทธอนุชา(พระโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะกับพระนางปชาบดีโคตรมี พระน้านาง) พระศาสดาได้เสด็จไปฉันภัตตาหารในพิธีและพอเสด็จกลับก็ได้ทรงส่งบาตรให้เจ้าชายนันทะ แล้วไม่ยอมรับบาตรคืน เจ้าชายนันทะถือบาตรตามเสด็จพระศาสดาไป ข้างฝ่ายเจ้าสาวคือเจ้าหญิงชนบทกัลยาณี เมื่อเห็นเจ้าชายนันทะตามเสด็จพระศาสดาไป ก็ได้รีบไปร้องตะโกนขอให้เจ้าชายนันทะรีบกลับมา เมื่อเสด็จถึงวัดพระเวฬุวัน เจ้าชายนันทะก็ได้ทรงผนวชเป็นภิกษุ

พระศาสดาได้เสด็จออกจากวัดพระเวฬุวันไปประทับอยู่ที่วัดพระเชตวันที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างถวาย ขณะที่พระนันทะพำนักอยู่ที่นี่ก็มีความกระวนกระวายใคร่จะลาเพศบรรพชิตออกไปเป็นคฤหัสถ์ เพราะยังจดจำคำสั่งลาของเจ้าหญิงชนบทกัลยาณีที่ทรงตะโกนสั่งไห้รีบกลับมานั้นอยู่เสมอ

พระศาสดาทรงทราบเรื่องนี้ ก็ได้ทรงใช้อำนาจฤทธิ์พาพระนันทะไปชมนางเทพธิดารูปร่างสะคราญในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งมีความสะสวยงดงามกว่าเจ้าหญิงชนบทกัลยาณีมาก พระศาสดาได้ทรงประทานคำมั่นสัญญากับพระนันทะว่า หากพระนันทะปฏิบัติธรรมอยู่ต่อไปโดยไม่สึก พระองค์จะประทานนางเทพธิดาร่างสะคราญเหล่านั้นแก่พระเจ้าชายนันทะ พวกภิกษุทั้งหลายพากันเย้ยหยันพระนันทะว่าเหมือนกับถูกจ้างที่ปฏิบัติธรรมเพื่อจะได้หญิงงามเป็นค่าจ้าง พระนันทะรู้สึกเดือดร้อนและละอายใจมาก จึงได้ปลีกวิเวกไปมุ่งมั่นปฏิบัติธรรมอย่างเอาจริงเอาจังจนกระทั่งได้บรรลุพระอรหัตตผล เมื่อได้เป็นพระอรหันต์แล้วจิตของท่านก็หลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นทั้งปวง และพระศาสดาก็ได้หลุดพ้นจากคำสัญญาที่ได้ประทานแก่เจ้าชายนันทะ ซึ่งเรื่องนี้พระศาสดาทรงหยั่งรู้ด้วยพระญาณพิเศษตั้งแต่แรกแล้ว

ภิกษุทั้งหลาย ซึ่งแต่เดิมทราบมาว่าพระนันทะมิได้เข้ามาบวชเป็นพระด้วยความเต็มใจ จึงได้สอบถามความรู้สึกของท่านอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระนันทะตอบว่าท่านไม่มีความยึดมั่นในชีวิตฆราวาสต่อไปแล้ว พวกภิกษุก็คิดว่าพระเจ้าชายนันทะพูดไม่จริง จึงได้นำเรื่องนี้ไปทูลพระศาสดา และในขณะเดียวกันก็ได้แสดงความสงสัยในคำพูดของท่าน พระศาสดาจึงได้ตรัสว่า เดิมสภาวะจิตของพระนันทะเป็นเหมือนหลังคาบ้านที่มุงไว้ไม่ดี ฝนก็ย่อมรั่วรดลงมาได้ แต่บัดนี้จิตของท่านมีลักษณะเหมือนบ้านที่มุงหลังคาไว้ดีแล้ว ฝนจึงรั่วรดลงมาไม่ได้

จากนั้นพระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบทพระคาถาที่ 13 และพระคาถาที่ 14 ว่า
ยถา อคารํ ทุจฉนฺนํ
วุฏฺฐิ สมติวิชฺฌติ
เอวํ อภาวิตํ จิตฺตํ
ราโค สมติวิชฺฌติฯ

(อ่านว่า)
ยะถา อะคารัง ทุดฉันนัง
วุดถิ สะมะติวิดชะติ
เอวัง อะพาวิตัง จิตตัง
ราโค สะมะติวิดชะติ.

(แปลว่า)
ฝนย่อมรั่วรดเรือนที่มุงไม่ดี ฉันใด
ราคะย่อมเสียดแทงจิตที่ไม่ได้อบรมแล้วได้ ฉันนั้น.

ยถา อคารํ สุจฺฉนฺนํ
วุฏฺฐิ น สมติวิชฺฌติ
เอวํ สุภาวิตํ จิตฺตํ
ราโค น สมติวิชฺฌติฯ

(อ่านว่า)
ยะถา อะคารัง สุดฉันนัง
วุดถิ นะ สะมะติวิดชะติ
เอวัง สุพาวิตัง จิดตัง
ราโค นะ สะมะติวิดชะติ.

(แปลว่า)
ฝนย่อมรั่วรดเรือนที่มุงดีแล้วไม่ได้ ฉันใด
ราคะย่อมเสียดแทงจิตที่ไอบรมดีแล้วไม่ได้ ฉันนั้น.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก ได้บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น เทศนาเป็นประโยชน์แก่มหาชน.

ต่อมา ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในธรรมสภาถึงเรื่องนี้ โดยได้กล่าวเชิดชูพระศาสดาว่าเป็นยอดมนุษย์ที่สามารถใช้กลวิธี “หนามยอกเอาหนามบ่ง” กับพระนันทะได้สำเร็จ โดยที่ทรงให้คำมั่นสัญญาว่าจะทรงหานางเทพอัปสรที่มีความงดงามยิ่งกว่านางชนบทกัลยาณีให้แก่พระนันทะ หากพระนันทะตั้งใจบวชแล้วบรรลุธรรมขั้นสูงสุด พระศาสดาทรงทราบวาระจิตของพระเหล่านั้นจึงเสด็จมาสอบถาม และได้ตรัสว่า พระองค์เคยทำเช่นนี้มาแล้วเมื่อครั้งอดีต และได้ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่ใช่แต่บัดนี้เท่านั้น, แม้ในกาลก่อน นันทะนี้เราก็ได้ล่อด้วยมาตุคาม แนะนำแล้วเหมือนกัน”

จากนั้น พระศาสดาทรงเล่าบุรพกรรมของพระนันทะว่า เคยเกิดเป็นลาตัวผู้ที่มีความแข็งแรงมาก สามารถบรรทุกสินค้าหนักๆเดินทางได้ถึงวันละ 7 โยชน์ อยู่มาวันหนึ่ง เจ้าของให้ขนสินค้าไปขายที่เมืองตักกสิลา แต่พอเจ้าของขายของหมดแล้ว จะเดินทางกลับเมืองพาราณสี เที่ยวเดินตามหาลาผู้นั้นอยู่นาน ไปพบติดลาตัวเมียอยู่ เจ้าของพยายามใช้วิธีการแบบ “ไม้แข็ง” ข่มขู่คุกคามอย่างไร ลาผู้ก็ไม่ยอมออกจากลาตัวเมียนั้น จนในที่สุดเจ้าของต้องใช้วิธีแบบ “ไม้นวม” เข้าล่อว่า จะหานางลาสาวสวยๆมาให้เป็นภรรยา ลานั้นจึงยอมจากนางลาเดินทางกลับ พอถึงเมืองพาราณสีได้สองสามวันเท่านั้น ลาผู้ก็ได้ถามเจ้าของถึงคำมั่นสัญญาที่ว่าจะหานางลาสวยๆมาให้เป็นภรรยา เจ้าของจึงบอกว่าจะรักษาคำมั่นสัญญานั้นอย่างแน่นอน แต่มีเงื่อนไขที่ลาผู้อาจจะยอมรับไม่ได้ คือ เจ้าของจะยังคงให้อาหารแก่ลามีปริมาณเท่าเดิม ซึ่งลาต้องแบ่งอาหารนั้นกับภรรยาสาว และแม้ว่าลาจะมีลูกกับลาสาวมาสักกี่ตัวๆ ก็ตาม เจ้าของก็จะยังคงให้อาหารแก่ลามีปริมาณเท่าเดิม ซึ่งลาผู้จะต้องแบ่งปันส่วนอาหารกับภรรยาและกับลูกๆ พอลาผู้ได้ยินเงื่อนไขอย่างนี้ ก็ถึงกับคอตก กลายเป็นผู้สิ้นหวังไปในที่สุด

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกด้วยพระดำรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย นางลาในคราวนั้น ได้เป็นนางชนบทกัลยาณี ลาผู้ได้เป็นนันทะ พ่อค้าได้เป็นเราเอง แม้ในกาลก่อน นันทะนี้ เราก็ได้ล่อด้วยมาตุคามแนะนำแล้ว ด้วยประการอย่างนี้”

ฐิตา:

เรื่องนายจุนทสูกริก

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภบุรุษชื่อจุนทสูกริก
ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ยถา อคารํ ทุจฺฉนฺนํ เป็นต้น

ครั้งหนึ่งในหมู่บ้านแห่งหนึ่งไม่ไกลจากวัดพระเวฬุวัน มีชายชำแหละเนื้อสุกรผู้หนึ่งมีจิตใจโหดร้ายทารุณมาก ชื่อว่านายจุนทะ นายจุนทะคนนี้เป็นผู้ชำแหละสุกรมาเป็นเวลานานถึง 55 ปี วิธีการหาสุกรของเขาใช้วิธีบรรทุกข้าวเปลือกออกไปตามชนบทเพื่อใช้แลกกับลูกสุกร พอได้ลูกสุกรมาแล้วก็นำไปขังไว้ในคอกที่ข้างหลังบ้าน พอขุนลูกสุกรด้วยอาหารประเภทผัก รำข้าว รวมทั้งอุจจาระจนตัวโตได้ที่แล้ว เมื่อจะฆ่าสุกรตัวใดก็จะนำสุกรตัวนั้นมามัดตัวให้แน่นเข้ากับที่ฆ่า จากนั้นก็ใช้ค้อนใหญ่ลักษณะสี่เหลี่ยมทุบ เพื่อให้เนื้อสุกรนั้นพองหนาขึ้น เมื่อรู้ว่าเนื้อหนาดีแล้ว ก็ง้างปากสอดไม้เข้าไประหว่างฟัน ใช้กระบวยเหล็กกรอกน้ำร้อนที่เดือดพล่านเข้าไปในปาก น้ำร้อนนั้นก็เข้าไปเดือนพล่านในท้อง ขับอุจจาระของสุกรออกมาทางทหารหนักจนหมด จนน้ำที่ไหลออกมาจากท้องสุกรใสสะอาด จากนั้นเขาก็เอาน้ำเดือดพล่านราดหลังของสุกร เพื่อลอกหนังกำพร้าของสุกรออก ต่อไปก็ลนขนสุกรด้วยคบหญ้า ตัดศีรษะมันด้วยดาบที่คมกริบ รองโลหิตที่ไหลออกมาด้วยภาชนะ เคล้าเนื้อด้วยโลหิต แล้วปิ้งรับประทานกับบุตรและภรรยา ส่วนที่เหลือก็ขาย เขาไม่เคยทำบุญให้ทานแม้แต่ครั้งเดียว ต่อมา นายจุนทะเกิดการเจ็บป่วย ก่อนจะตายมีความเจ็บปวดทุรนทุราย ลงคลานส่งเสียงร้องเหมือนเสียงสุกรอยู่เป็นเวลานานถึงเจ็ดวัน เป็นความทุกข์ก่อนตายที่มีลักษณะคล้ายกับตกนรก พอถึงวันที่ 7 นายจุนทะก็สิ้นชีวิตและได้ไปเกิดในนรกขุมอเวจี มหานรก ความเร่าร้อนในอเวจีมหานรกนั้น มีความร้อนกว่าไฟปกติมาก พระนาคเสนจึงกล่าวอุปมาถวายพระยามิลินท์ว่า “มหาบพิตร แม้หินเท่าเรือนยอด อันบุคคลทุ่มลงไปในไฟนรก ย่อมถึงความย่อยยับได้ในขณะเดียวฉันใด ส่วนสัตว์ที่เกิดในนรกนั้นเป็นประหนึ่งอยู่ในครรภ์มารดา จะย่อยยับไป เพราะกำลังแห่งกรรม เหมือนฉันนั้น หามิได้”

พวกภิกษุเดินทางผ่านประตูบ้านของนายจุนทะ ได้ยินเสียงนั้นแล้ว เข้าใจผิดคิดว่าเป็นเสียงร้องของสุกร ที่ถูกฆ่าและก็คงเป็นการฆ่าสุกรหลายตัว เพื่อทำอาหารเลี้ยงแขกในงานมงคลอะไรสักอย่างเป็นแน่ เขาช่างมีความโหดร้ายทารุณผิดกับผู้ฆ่าสุกรรายอื่นๆ เขาจะมีความเมตตากรุณาสงสารสัตว์แม้สักนิดก็ไม่มี จึงได้นำเรื่องนี้ขึ้นกราบทูลพระศาสดา ทำให้ได้ทราบว่า มันไม่ใช่เสียงร้องของสุกรที่ถูกนายจุนทะฆ่า แต่ทว่าเป็นเสียงร้องเหมือนสุกรของนายจุนทะขณะคลานอยู่ในบ้านตลอดเวลา 7 วันนั้นต่างหาก

เมื่อพวกภิกษุกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เขาเศร้าโศกอย่างนี้ในโลกนี้แล้ว ยังจะไปเกิดในฐานะเป็นผู้เศร้าโศกเช่นกันอีกหรือไม่” พระศาสดาตรัสว่า “ เป็นอย่างนั้น ภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่าผู้ประมาทแล้ว จะเป็นคฤหัสถ์ก็ตาม บรรพชิตก็ตาม ย่อมเศร้าโศกในโลกทั้งสองเป็นแท้”

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 15 ว่า
อิธ โสจติ เปจฺจ โสจติ
ปาปการี อุภยตฺถ โสจติ
โส โสจติ โส วิหญฺญติ
ทิสฺวา กมฺมกิลิฏฺฐมตฺตโน ฯ

(อ่านว่า)
อิทะ โสจะติ เปดจะ โสจะติ
ปาปะการี อุภะยัดถะ โสจะติ
โส โสจะดิ โส วิหันยะติ
ทิดสะหวา กัมมะกิลิดถะมัดตะโน.

(แปลว่า)
คนทำชั่วย่อมเศร้าโศกในโลกทั้งสอง
คือ เศร้าโศกในโลกนี้ และเศร้าโศกในโลกหน้า
เขาย่อมเศร้าโศก ย่อมเดือดร้อน
เพราะมองเห็นกรรมชั่วของตนเอง.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ภิกษุเป็นอันมาก ได้บรรลุพระอริยผล มีพระโสดาบันเป็นต้น
พระสัทธรรมเทศนา มีประโยชน์แก่มหาชนแล้ว.

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version