กสิณคือการจดจำภาพวัตถุใดๆ ที่เราเลือกมาเป็นต้นแบบให้ได้ทั้งหมด แต่การที่จะสามารถจดจำภาพนิมิตได้อย่างละเอียดนั้น จำต้องอาศัยความพยายามในการเพ่งเป็นอย่างมาก กว่าที่จะสร้างให้เกิดเป็นภาพนิมิตติดตาติดใจ ชนิดที่ว่าหลับตาก็เห็น ลืมตาก็เห็น ซึ่งหมายถึงการสำเร็จนิมิตกสิณ
ในการที่จิตจะจดจำภาพนิมิตอันเป็นรูปแบบหยาบให้ได้ ผู้ปฏิบัติจำเป็นต้องใช้การเพ่งมองวัตถุด้วยตาเท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากภาพนิมิตไม่อาจกำหนดสร้างให้บังเกิดขึ้นได้ด้วยการจินตนาการหรือการนึกคิดเอา
หลายคนที่ฝึกการเพ่งกสิณแล้วไม่ประสบผลสำเร็จในการสร้างภาพนิมิตล้วนมีสาเหตุมาจากการให้เวลากับการเพ่งมองวัตถุต้นแบบน้อยเกินไป ซึ่งถ้าผู้ปฏิบัติเพ่งมองวัตถุต้นแบบในเวลาไม่นานพอที่จิตจะรับเอากรรมฐานกองนี้ไปทำเอง จิตก็ย่อมไม่อาจที่จะจดจำภาพนิมิตกสิณได้
นอกจากนี้ วัตถุต้นแบบที่จะเลือกนำมาใช้เพ่งก็นับเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่สำคัญต่อการเพ่งกสิณ ด้วยเพราะวัตถุแต่ละชนิดล้วนมีความแตกต่างกันไป ดังนั้นขีดความสามารถในการที่จิตจะจดจำภาพเอาไว้และแปรสัญญาณภาพให้กลายไปเป็นภาพนิมิต ที่ปรากฏขึ้นภายในจอจิตก็ย่อมมีความแตกต่างกันไปด้วย เช่น ผู้ปฏิบัติบางคนอาจสามารถเรียกนิมิตในการเพ่งดินได้ดีกว่าการเพ่งน้ำหรือการเพ่งอากาศ เป็นต้น
เมื่อเป็นเช่นนั้นก็หมายความว่าการที่ผู้ปฏิบัติตัดสินใจเลือกที่จะเพ่งกสิณน้ำกับการเลือกเพ่งกสิณไฟจึงมีความหมายที่แตกต่างกันในการปฏิบัติเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ เพราะผู้ที่มีจริตภายในจิตใจที่แตกต่างกันย่อมต้องใช้อุบายการเพ่งกสิณที่แตกต่างกัน ซึ่งหากผู้ปฏิบัติตัดสินใจเลือกการเพ่งผิด นอกจากจะส่งผลให้การเพ่งกสิณไม่ประสบความสำเร็จแล้ว อาจยังจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ตัวผู้ฝึกเพ่งกสิณเองอีกด้วย
ดังนั้น การที่ผู้ปฏิบัติจะฝึกเพ่งได้ประสบผลสำเร็จหรือไม่ จึงต้องขึ้นอยู่กับจริตของผู้ฝึกเพ่งกสิณด้วย ซึ่งก่อนที่ผู้ปฏิบัติจะตัดสินใจว่าจะเลือกเพ่งกสิณชนิดใด ทางที่ดีควรอาศัยการพิจารณาของครูบาอาจารย์ว่าท่านจะมอบกสิณชนิดใดให้เรานำมาปฏิบัติ
เพราะครูบาอาจารย์ท่านเป็นผู้รู้และมีประสบการณ์ในการเพ่งกสิณมานาน ท่านย่อมสามารถมองเห็นและพิจารณาได้เป็นอย่างดี เพื่อที่ผู้ฝึกเพ่งกสิณจะได้ก้าวหน้าในการปฏิบัติสมาธิภาวนาอบรมจิตด้วยอุบายการเพ่งกสิณ
แต่ทว่าในกรณีของผู้ปฏิบัติมีความชื่นชอบในการเพ่งกสิณไฟ ที่ต้องการทดสอบพลังจิตของตนว่ามีการพัฒนาหรือไม่อย่างไร ก็สามารถกระทำได้ด้วยการเรียกนิมิตกสิณไฟให้ปรากฏทั้งในยามที่หลับตาทำสมาธิ และการลืมตาทำสมาธิ ซึ่งผู้ที่สำเร็จวิชากสิณไฟและสามารถเรียกภาพนิมิตกสิณไฟให้ปรากฏได้นั้น
ย่อมจะสามารถเห็นภาพนิมิตกสิณไฟได้ทั้งในขณะที่ลืมตาทำสมาธิและหลับตาทำสมาธิ
การฝึกเรียกนิมิตกสิณในขณะลืมตา สามารถทำได้โดยให้ฝึกเพ่งมองไปยังผนังที่มีสีขาวแล้วกำหนดจิตให้เป็นสมาธิ จากนั้นจึงกำหนดเรียกภาพกสิณนิมิตไฟให้ปรากฏขึ้นที่ผนัง ซึ่งจะปรากฏเป็นภาพดวงนิมิตกสิณวงกลมสีเหลืองอ่อนคล้ายพระจันทร์ แต่หากสมาธิมีพลังสูงขึ้นภาพนิมิตกสิณนั้นจะมีขนาดเล็กลงและมีสีเข้มขึ้นเรื่อยๆ
กรณีที่ผู้ปฏิบัติมีพลังจิตสูง ภาพกสิณนิมิตที่ปรากฏจะมีสีเข้มมาก จากสีเหลืองจะเข้มขึ้นจนกลายเป็นสีแดงเข้ม และเป็นสีน้ำเงินเข้มในที่สุด
เมื่อดวงกสิณนิมิตมีสีน้ำเงินเข้มและมีขนาดเล็กลงมากที่สุดจะเกิดความร้อนในบริเวณที่เราเพ่งกำหนดมองไป ความร้อนที่เกิดขึ้นนี้สามารถปรากฏได้ทั้งในมิติแห่งโลกธาตุที่เราอาศัยอยู่ และในมิติแห่งโลกวิญญาณ ด้วยเหตุนี้จึงเรียกพลังอำนาจของความร้อนที่ได้รับนี้ว่า "พลังแห่งกสิณไฟ"
หลังจากที่ผู้ปฏิบัติทำการฝึกเพ่งเรียกนิมิตกสิณให้ปรากฏบนผนังที่มีสีอ่อนหรือสีขาวได้จนเป็นที่ชำนิชำนาญดีแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเรียกภาพนิมิตกสิณไฟให้ปรากฏเฉพาะบนพื้นผนังสีขาวอีกต่อไป คราวนี้ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนๆ ก็ย่อมจะสามารถเรียกภาพนิมิตกสิณไฟให้ปรากฏเป็นภาพซ้อนตัวขึ้นมาได้ อีกทั้งยังสามารถใช้พลังอำนาจจิตบีบดวงนิมิตกสิณนั้นให้มีขนาดเล็กลงได้ตามใจปรารถนาอีกด้วย.
อ.บูรพา ผดุงไทย
การฝึกเพ่งเรียกนิมิตกสิณ | ไทยโพสต์ที่มาคัดลอกจาก
http://board.palungjit.com/f4/การฝึกเพ่งเรียกนิมิตกสิณ-242785.html