อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > พระอริยบุคคล

เรื่องย่อในพระธรรมบท (อัปปมาทวรรค)

<< < (2/2)

ฐิตา:

เรื่องภิกษุ 2 สหาย

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุ 2 สหาย ตรัสพระธรรมพระธรรมเทศนานี้ว่า อปฺปมตฺโต ปมตฺเตสุ เป็นต้น

ภิกษุ 2 รูปหลังจากรับพระกัมมัฏฐานจากพระศาสดาแล้วก็ไปอยู่ที่วัดแห่งหนึ่งในป่า รูปหนึ่งมัวแต่ประมาทใช้เวลาให้หมดไปด้วยการผิงไฟและพูดคุยกับสามเณรหนุ่มๆตลอดยามหนึ่ง พอถึงยามที่สองก็เอาแต่นอนหลับ ส่วนภิกษุอีกรูปหนึ่งกระทำหน้าที่ของพระภิกษุอย่างแข็งขัน พระภิกษุรูปนี้กระทำกัมมัฏฐานในยามแรก พักผ่อนในยามที่สอง และลุกขึ้นมากระทำกัมมัฏฐานอีกในยามสุดท้าย ด้วยเหตุที่ภิกษุรูปที่สองนี้มีความขยันขันแข็งและไม่ประมาทจึงสามารถบรรลุพระอรหัตตผลได้ภายในระยะเวลาอันสั้น

เมื่อออกพรรษาปวารณาแล้ว พระภิกษุทั้งสองรูปนี้ก็ได้เดินทางกลับไปเฝ้าพระศาสดา และพระศาสดาได้ทรงสอบถามว่าในระหว่างพรรษาท่านทั้งสองรูปใช้เวลาให้หมดไปด้วยการทำอะไรบ้าง พระภิกษุรูปที่เกียจคร้านและประมาทนั้นตอบว่า ภิกษุสหายของตนมีแต่เกียจคร้านเอาแต่นอนหลับ เมื่อพระศาสดาตรัสถามว่า “แล้วตัวเธอเล่า ?” ก็ได้กราบทูลว่า ปกติแล้วตนจะนั่งผิงไฟในยามต้นและต่อจากนั้นก็จะลุกขึ้นมานั่งไม่นอน แต่พระศาสดาทรงทราบเป็นอย่างดีว่าภิกษุทั้งสองรูปใช้เวลาในแต่ละวันให้หมดไปกันอย่างไรบ้าง ดังนั้นพระศาสดาจึงตรัสกับพระรูปที่เกียจคร้านว่า “แม้ว่าเธอเกียจคร้านและประมาทแต่เธอก็ยังมาอ้างว่าตัวเองขยันไม่ประมาท และเธอมาใส่ความภิกษุอีกรูปหนึ่งว่าเกียจคร้านและประมาททั้งๆที่เขามีความขยันและไม่ประมาท เธอนั่นแหละเป็นเหมือนม้าอ่อนแอวิ่งช้าเมื่อเทียบกับบุตรของเราที่เหมือนกับม้าแข็งแรงวิ่งเร็ว”

จากนั้น พระศาสดาตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 29 ว่า
อปฺปมตฺโต ปมตฺเตสุ
สุตฺเตสุ พหุชาคโร
อพลสฺสํ ว สีฆสฺโส
หิตวา ยาติ สุเมธโสฯ

(อ่านว่า)
อับปะมัดโต ปะมัดเตสุ
สุดเตสุ พะหุชาคะโร
อะพะลัสสังวะ สีคัดโส
หิตตะวา ยาติ สุเมทะโสฯ

(แปลว่า)
ผู้มีปัญญาดี ไม่ประมาท
เมื่อคนอื่นหลับก็จะตื่น
เขาจึงทิ้งคนอื่นไป
เหมือนม้าฝีเท้าเร็วทิ้งม้าวิ่งช้าไว้เบื้องหลัง.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น.

ฐิตา:

เรื่องท้าวสักกะ

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในวัดกูฎาคารศาลา ทรงปรารภท้าวสักกเทวราช ตรัสพระธรรมธรรมเทศนานี้ว่า อปฺปมาเทน มฆวา เป็นต้น

ครั้งหนึ่ง เจ้าลิจฉวีพระนามว่า มหาลิ ได้เสด็จมาฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดา พระศาสดาได้ทรงแสดง สักกปัณหสูตร โดยที่พระศาสดาทรงกล่าวถึงท้าวสักกะอย่างกระจ่างชัดมาก ดังนั้นเจ้ามหาลิจึงดำริว่าพระศาสดาจะต้องเคยพบกับท้าวสักกะด้วยพระองค์เองมาแน่ๆ แต่เพื่อให้เกิดความมั่นใจเจ้ามหาลิจึงได้ทูลถามเรื่องนี้กับพระศาสดา ซึ่งพระศาสดาได้ตรัสตอบว่า “มหาลิ อาตมภาพรู้จักท้าวสักกะ อาตมภาพยังรู้ด้วยว่าธรรมะอะไรทำให้ท้าวเธอเป็นท้าวสักกะ” จากนั้นพระศาสดาได้ทรงเล่าว่าท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งเทพทั้งหลายนี้ในอดีตชาติเมื่อครั้งเป็นมนุษย์มีชื่อว่า มฆมาณพ อยู่ในหมู่บ้านชื่ออจาละในแคว้นมคธ มฆมาณพนี้กับสหายอีก 32 คนได้ช่วยกันก่อสร้างถนนหนทาง ที่พักริมทาง และสิ่งสาธารณประโยชน์อื่นๆอีกมาก สำหรับตัวมฆมาณพเองนั้นได้ปฏิบัติวัตรบท 7 ประการ ตลอดชีวิต คือ 1. เลี้ยงดูบิดามารดา (มาตาปิตุอุปฏฺฐานํ)2. ให้ความเคารพผู้ใหญ่ในตระกูล (กุเล เชฏฺฐาปจายิกกมฺมํ)3. พูดคำคำสัตย์(สจฺจวาจํ) 4. ไม่พูดคำหยาบ(อผรสุวาจํ) 5.ไม่พูดส่อเสียด(อปิสุณวาจํ) 6. ชอบเผื่อแผ่แบ่งปัน ไม่ตระหนี่(มจฺเฉรวินยํ) 7. ไม่โกรธ ระงับความโกรธได้(อกฺโกธนํ)

พระศาสดา ตรัสกับเจ้ามหาลิว่า เพราะกระทำคุณงามความดีและปฏิบัติอยู่ในความไม่ประมาท ทำให้มฆมาณพได้ไปเกิดเป็นท้าวสักกะ เจ้าแห่งเทวดาทั้งหลาย ความไม่ประมาทนี้ พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงสรรเสริญ อาศัยความประมาท นี้เอง ก็จะเข้าถึงคุณวิเศษทั้งหลาย ทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตตระทั้งปวงได้

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 30 ว่า
อปฺปมาเทน มฆวา
เทวานํ เสฏฺฐตํ คโต
อปฺปมาทํ ปสํสนฺติ
อปฺปมาทํ ครหิโต สทาฯ

(อ่านว่า)
อับปะมาเทนะ มะคะวา
เทวานัง เสดถะตัง คะโต
อับปะมาทัง ปะสังสันติ
อับปะมาทัง คะระหิโต สะทา.

(แปลว่า)
ท้าวมัฆวานถึงความเป็นใหญ่แห่งหมู่เทพ
เพราะความไม่ประมาท(ในการทำความดี)
บัณฑิตจึงสรรเสริญความไม่ประมาท
และติเตียนความประมาททุกเมื่อ.

เมื่อจบพระสัทธรรมเทศนา เจ้าลิจฉวีนามว่ามหาลิ ได้บรรลุพระโสดาปัตติผล ส่วนบริษัทที่มาประชุมกันเป็นอันมาก ก็ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาบันเป็นต้น.

ฐิตา:

เรื่องภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า อปฺปมาทรโต ภิกฺขุ เป็นต้น

มีภิกษุรูปหนึ่ง หลังจากรับพระกัมมัฏฐานจากพระศาสดาแล้ว ก็ได้เข้าไปปฏิบัติพระกัมมัฏฐานในป่า แม้ว่าท่านจะได้ทำความพยายามอย่างเต็มที่แล้ว ก็มีความก้าวหน้าในการปฏิบัติพระกัมมัฏฐานเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ท่านจึงมีความเก็บกดอยู่ภายใน ท่านมีความคิดว่าควรที่ท่านจะกลับไปขอคำแนะนำพิเศษมากยิ่งขึ้นจากพระศาสดา จึงได้ออกเดินทางจะไปพระเชตวัน ในระหว่างทางท่านเห็นไฟป่าลุกไหม้อยู่ ก็ได้วิ่งขึ้นบนภูเขามองลงมาดูไฟป่านั้นจากที่สูง ขณะที่ไฟฟ้ากำลังไหม้ลุกลามอยู่นั้น ท่านก็เกิดความคิดขึ้นมาว่า “ไฟป่านี้ไหม้เชื้อเพลิงทุกสิ่งทุกอย่างทั้งใหญ่และน้อยฉันใด อริยมรรคญาณก็จะไหม้สังโยชน์ทุกอย่างทั้งใหญ่และน้อย ฉันนั้น”

พระศาสดา ประทับนั่งในพระคันธกุฎีที่วัดพระเชตวัน ทรงทราบความคิดของพระภิกษุรูปนั้น จึงแผ่พระรัศมีไปปรากฏอยู่เบื้องหน้าของท่าน “ดูก่อนภิกษุ” พระศาสดาตรัส “เธอคิดถูกต้องแล้ว จงคิดเช่นนั้นต่อไปเถิด สัตว์ทั้งหลายพึงเผาสังโยชน์เหล่านั้นด้วยไฟคือมรรคญาณ”

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 31 ว่า
อปฺปมาทรโต ภิกฺขุ
ปมาเท ภยทสฺสี วา
สญฺโญชนํ อณํ ถูลํ
ฑหํ อคฺคีว คจฺฉติ.

(อ่านว่า)
อับปะมาทะระโต พิกขุ
ปะมาเท พะยะสัดสี วา
สันโยชะนัง อะนุง ถูลัง
ดะหัง อักคีวะ คัดฉะติ.

(แปลว่า)
ภิกษุยินดีในความไม่ประมาท
เห็นโทษในความประมาท
จะเผาสังโยชน์(กิเลส) ทั้งหยาบและละเอียดทั้งหมด
เหมือนไฟเผาเชื้อเพลิงมากและน้อยไป.

เมื่อจบพระสัทธรรมเทศนา ภิกษุรูปนั้นได้บรรลุพระอรหัต พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย ได้เหาะมาทางอากาศมา มาชมเชยพระสรีระของพระตถาคต ซึ่งมีพรรณดุจทองคำ ถวายบังคม แล้วหลีกไป.

ฐิตา:

เรื่องพระติสสเถระผู้มีปกติอยู่ในนิคม

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในวัดพระเชตวัน ทรงปรารภพระติสสเถระผู้มีปกติอยู่ในนิคม ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า อปฺปมาทรโต เป็นต้น

พระติสสเถะ เกิดและเติบโตในตลาดเล็กๆ ซึ่งไม่ไกลจากกรุงสาวัตถี หลังจากที่ได้เข้ามาอุปสมบทเป็นภิกษุแล้ว ก็ได้ดำเนินชีวิตง่ายๆด้วยความสันโดษตามมีตามได้ สำหรับอาหารบิณฑบาตนั้นท่านจะไปบิณฑบาตเฉพาะในหมู่บ้านของญาติๆและจะฉันทุกอย่างที่เขาถวาย ท่านจะหลีกเลี่ยงมางานนิมนต์ใหญ่ๆ แม้แต่เมื่ออนาถบิณฑิกเศรษฐีกระทำมหาทาน และพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงบำเพ็ญอสทิสทาน พระติสสเถระก็ไม่มากรุงสาวัตถี

พวกภิกษุจึงสนทนากันว่า “พระนิคมติสสะนี้ เอาแต่อยู่ใกล้ชิดกับหมู่ญาติ และไม่สนใจที่จะมางานสำคัญๆ เช่น เมื่อตอนที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีถวายมหาทาน และพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงกระทำอสทิสทาน ท่านก็ไม่มา” พระศาสดาทรงทราบความที่สนทนากันนั้น ได้ตรัสเรียกพระติสสเถระมาเฝ้าและได้ทรงสอบถามถึงเรื่องนี้ พระเถระได้กราบทูลว่า เป็นความจริงที่ท่านไปที่หมู่บ้านของญาติๆของท่านเป็นนิตย์ แต่ก็เป็นการไปเพื่อบิณฑบาตเท่านั้น และเมื่อท่านได้อาหารบิณฑบาตพอพียงแล้ว ท่านก็ไม่เดินไปไหนอีก ท่านไม่ได้สนใจเลยว่าอาหารที่ได้มาอร่อยหรือไม่อร่อย เมื่อพระศาสดาได้สดับเช่นนี้แล้ว แทนที่จะตำหนิพระติสสเถระพระองค์กลับตรัสยกย่องพฤติกรรมของท่านต่อหน้าพระภิกษุสงฆ์ พระศาสดาตรัสกะภิกษุทั้งหลายด้วยว่า การอยู่ด้วยความมักน้อยสันโดษนั้น สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติของพระพุทธเจ้าและพระอริยะเจ้าทั้งหลาย และว่า ภิกษุทั้งปวงก็ควรเอาอย่างพระติสสเถระนี้ จากนั้นพระศาสดาได้ทรงนำเรื่องพระยานกแขกเต้ามาเล่าว่า

ในอดีตกาล พระยานกแขกเต้าอาศัยอยู่ในป่าไม้มะเดื่อแห่งหนึ่งใกล้ฝั่งแม่น้ำคงคาในป่าหิมพานต์ พร้อมด้วยนกแขกเต้าที่เป็นบริวารอีกเป็นจำนวนมาก เมื่อผลมะเดื่อที่ตนอาศัยกินวายแล้ว บรรดานกแขกเต้าทั้งปวงพากันออกจากป่านั้นไป ยกเว้นพระยานกแขกเต้าเท่านั้นที่ไม่ยอมไปไหน ได้จิกกินหน่อใบหรือเปลือกของตนมะเดื่อซึ่งยังเหลืออยู่ ท้าวสักกะทรงทราบเรื่องนี้และมีพระประสงค์จะทดสอบคุณธรรมของพระยานกแขกเต้านี้ พระองค์จึงได้ใช้เทวฤทธิ์บันดาลให้ต้นไม้นั้นเหี่ยวแห้งและผุ จากนั้นพระองค์ได้แปลงร่างเป็นหงส์บินมาพร้อมกับนางสุชาดาที่แปลงร่างเป็นนางหงส์มาจับที่กิ่งไม้ใกล้ๆกับพระยานกแขกเต้า แล้วสอบถามว่าทำไมพระยานกแขกเต้าจึงไม่หนีไปจากต้นไม้ผุต้นนี้เหมือนอย่างที่นกแขกเต้าตัวอื่นๆกระทำกัน และทำไมพระยานกแขกเต้าถึงไม่ไปยังต้นไม้ต้นอื่นที่มีผลดก พระยานกแขกเต้าตอบว่า “เพราะว่ามีความกตัญญูต่อต้นไม้ต้นนี้ ข้าพเจ้าจึงไม่จากไปไหน และตราบเท่าที่ข้าพเจ้าสามารถมีอาหารพอยังชีพได้ก็จะไม่ทิ้งต้นไม้นี้ไปไหน มันจะเป็นการอกตัญญูสำหรับข้าพเจ้าหากจะต้องทิ้งต้นไม้นี้ไป”

ท้าวสักกะทรงประทับใจในคำตอบนี้มาก จึงทรงได้เปิดเผยพระองค์ และได้เสด็จไปทรงนำน้ำในแม่น้ำคงคามารดต้นมะเดื่อผุ ทำให้ต้นมะเดื่อกลับฟื้นคืนชีพ มีกิ่งก้านสาขาและผลิดอกออกผล อีกครั้งหนึ่ง จากนิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า แม้แต่พวกสัตว์ก็ยังไม่ละโมบ พวกมันสันโดษในสิ่งต่างๆที่มีอยู่

จากชาดกเรื่องนี้ พระยานกแขกเต้าคือพระศาสดา ส่วนเท้าสักกะคือพระอนุรุทธะ

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 32 ว่า
อปฺปมาทรโต ภิกฺขุ
ปมาเท ภยทสฺสี วา
อภพฺโพ ปริหานาย
นิพฺพานสฺเสว สันติเกฯ

(อ่านว่า)
อับปะมาทะระโต พิกขุ
ปะมาเท พะยะทัดสี วา
อะพับโพ ปะริหานายะ
นิบพานัดสะ สันติเก.

(แปลว่า)
ภิกษุยินดีในความไม่ประมาท
เห็นโทษในความประมาท
จะไม่มีวันเสื่อม
มีแต่จะอยู่ใกล้พระนิพพานทุกที.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง พระติสสเถระก็ได้บรรลุพระอรหัต พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย ชนเหล่าอื่นเป็นอันมาก ต่างได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น พระสัทธรรมเทศนา มีผลมากแก่มหาชน.

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version