อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > พระอริยบุคคล

เรื่องย่อในพระธรรมบท (ปุปฺผวรรค)

(1/3) > >>

ฐิตา:



เรื่องย่อในพระธรรมบท (ปุปฺผวรรค)
เรื่องภิกษุ 500 รูปผู้ขวนขวายในปฐวีกถา

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี ทรงปรารภภิกษุ 500 รูป ผู้ขวนขวายในปฐวีกถา ได้ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า โก อิมํ ปฐวึ วิเชสฺสติ เป็นต้น

ภิกษุ 500 รูป หลังจากที่ได้ตามเสด็จพระศาสดาไปยังหมู่บ้านแห่งหนึ่งแล้ว ได้กลับมาที่วัดพระเชตวัน ในตอนเย็นขณะที่พวกภิกษุเหล่านี้กำลังสนทนากันเกี่ยวกับเรื่องการเดินทางในครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นของสภาพของถนนที่ไปกันมา เช่น ถนนราบเรียบ ถนนขรุขระ สภาพของดิน เป็นโคลนตม หรือเป็นดินทราย เป็นดินแดงหรือดินดำ เป็นต้น พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามเรื่องที่พวกภิกษุเหล่านี้สนทนากัน เมื่อทรงทราบเรื่องที่พวกภิกษุสนทนากันนั้นแล้ว ได้ตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดินที่พวกเธอกล่าวถึงกันนั้นเป็นดินภายนอกร่างกาย ควรที่พวกเธอจะได้บริกรรมแผ่นดินภายใน”(ภิกฺขเว เอสา พาหิรปฐวี นาม, ตุมเหหิ อชฺฌตฺติกปฐวิยํ ปริกมฺมํ กาตุ วฏฺฏติ)

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 44 และพระคาถาที่ 45 ว่า
โก อิมํ ปฐวึ วิเชสฺสติ
ยมโลกญฺจ อิมํ สเทวกํ
โก ธมฺมปทํ สุเทสิตํ
กุสโล ปุปฺผมิว ปเจสฺสติฯ

(อ่านว่า)
โก อิมัง ปะถะวิง วิเชดสะติ
ยะมะโลกันจะ อิมัง สะเทวะกัง
โก ทำมะปะทัง สุเทสิตัง
กุสะโล ปุบผะมิวะ ปะเจสฺสติ.

(แปลว่า)
ใครจักครองแผ่นดินนี้
พร้อมทั้งยมโลกและเทวโลก
ใครจักเลือกเฟ้นพระธรรมบทที่ทรงแสดงไว้ดีแล้ว
เหมือนนายมาลาการผู้ฉลาด เลือกเก็บดอกไม้.

เสโข ปฐวึ วิเชสฺสติ
ยมโลกญฺจ อิมํ สเทวกํ
เสโข ธมฺมปทํ สุเทสิตํ
กุสโล ปุปฺผมิว ปเจสฺสติฯ

(อ่านว่า)
เสโข ปะถะวิง วิเชดสะติ
ยะมะโลกันจะ อิมัง สะเทวะกัง
เสโข ทำมะปะทัง สุเทสิตัง
กุสะโล บุบผะมิวะ ปะเจดสะติ.

(แปลว่า)
พระเสขะจักครองแผ่นดินนี้
พร้อมทั้งยมโลกและเทวโลก
พระเสขะจักเลือกเฟ้นพระธรรมบท ที่ทรงแสดงแล้ว
เหมือนนายมาลาการผู้ฉลาดเลือกเก็บดอกไม้.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ภิกษุ 500 รูปเหล่านั้น ได้บรรลุพระอรหัต พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย พระสัทธรรมเทศนา มีประโยชน์แก่บริษัทที่มาประชุมกัน.

ฐิตา:

เรื่องพระเถระผู้เจริญมรีจิกัมมัฏฐาน

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี ทรงปรารภภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ผู้เจริญมรีจิกัมมัฏฐาน ได้ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า เผณูปมํ เป็นต้น

ครั้งหนึ่ง มีพระภิกษุรูปหนึ่ง เรียนพระกัมมัฏฐานจากพระศาสดาแล้ว ได้ไปสู่ป่า แม้ว่าพระภิกษุรูปนี้จะเพียรพยามปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอย่างไร ก็ไม่ก้าวหน้าถึงพระอรหัตตผล ดังนั้นท่านจึงได้ตัดสินใจเดินทางกลับไปเฝ้าพระศาสดาเพื่อขอคำนะนำเพิ่มเติม ในระหว่างทางท่านได้เห็นพยับแดดซึ่งเป็นเพียงภาพลวงตาที่แลเห็นเป็นรูปร่าง พอเห็นแค่นี้นี้ท่านก็รู้แจ้งเห็นจริงว่า ร่างกายของคนเราก็ไม่มีตัวตนเหมือนกับพยับแดด(มรีจิ) ดังนั้นท่านจึงได้ใช้จิตพิจาณาความไม่มีตัวตนของร่างกาย เดินมาถึงริมฝั่งมาน้ำอจิรวดี ขณะที่ท่านนั่งอยู่ใต้ต้นไม้ริมฝั่งแม่น้ำมองลงไปในแม่น้ำ ได้แลเห็นฟูมฟองน้ำขนาดใหญ่ถูกคลื่นซัดแตกกระจาย ท่านก็ได้ตระหนักถึงสภาพที่ไม่ยั่งยืนของร่างกาย

ต่อมาไม่นาน พระศาสดาประทับอยู่ที่พระคันธกุฎี ได้มาปรากฏในภาพนิมิตของพระภิกษุนั้น ตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุ ที่เธอเข้าใจแล้วนั้นถูกต้องแล้ว ร่างกายนี้ไม่ยั่งยืน มีอันเกิดขึ้นและแตกดับไป เหมือนฟูมฟองน้ำ และพยับแดด”

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 46 ว่า
เผณูปมํ กายมิทํ วิทิตฺวา
มรีจิธมฺมํ อภิสมฺพุธาโน
เฉตฺวาน มารสฺส ปุปฺผกานิ
อทสฺสนํ มจฺจุราชสฺส คจฺเฉฯ

(อ่านว่า)
เผนูปะมัง กายะมิทัง วิทิดตะวา
มรีจิทำมัง อะพิสัมพุทาโน
เฉดตะวานะ มารัดสะ ปุบผะกานิ
อะทัดสะนัง มัดจุราชัดสะ คัดเฉ.

(แปลว่า)
เมื่อรู้ว่ากายนี้แตกง่ายและว่างเปล่า
เหมือนกับฟูมฟองน้ำและพยับแดด
ก็ควรทำลายดอกไม้ของมาร(วัฏฏะ 3)
ไปให้พ้นสายตาของมัจจุราชเสียให้ได้.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง พระภิกษุรูปนั้นได้บรรลุพระอรหัต พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย ได้ชมเชย สรรเสริญ ถวายบังคมพระสรีระที่มีสีดุจทองคำของพระศาสดา.

ฐิตา:

เรื่องพระเจ้าวิฑูฑภะ

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระนครสาวัตถี ทรงปรารภพระเจ้าวิฑูฑภะ พร้อมทั้งข้าราชบริพาร ซึ่งถูกน้ำท่วมจนเสด็จสวรรคตและเสียชีวิต ได้ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ปุปผานิ เหว ปจินนฺตํ เป็นต้น

พระเจ้าปเสนทิโกศล มีพระประสงค์จะอภิเษกสมรสกับคนในราชสกุลศากยะของพระศาสดา จึงได้ทรงส่งคณะทูตไปที่กรุงกบิลพัสดุ์เพื่อสู่ขอเจ้าหญิงแห่งราชวงศ์ศากยะมาสักพระองค์หนึ่ง พวกเจ้าศากยะไม่มีความต้องการจะขัดพระทัยของพระเจ้าปเสนทิโกศล จึงตอบตกลงไปตามพระประสงค์ แต่แทนที่จะประทานเจ้าหญิงศากยะบริสุทธิ์จริงๆ กลับส่งหญิงงามมากนางหนึ่งชื่อ วาสภขัตติยา ที่เกิดจากเจ้ามหานามะกับนางทาสไปประทานให้ พระเจ้าปเสนทิโกศลไม่ทรงทราบเรื่องนี้ได้ทรงแต่งตั้งให้นางเป็นหนึ่งในมเหสีเอกของพระองค์ และต่อมานางก็ได้ประสูติพระโอรสพระองค์หนึ่ง ทรงขนานนามพระโอรสพระองค์นี้ว่า วิฑูฑภะ เมื่อเจ้าชายวิฑูฑภะมีพระชนมายุ 16 พรรษา ได้เสด็จไปเยือนพระเจ้ามหานามะและเจ้าชายในศากยวงศ์ทั้งหลาย เมื่อเสด็จไปถึงเจ้าชายวิฑูฑภะทรงได้รับการต้อนรับด้วยดี แต่บรรดาราชกุมารทั้งหลายที่พระชนมายุอ่อนกว่าเจ้าชายวิฑูฑภะถูกส่งไปอยู่ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง เพราะฉะนั้นพวกราชกุมารเหล่านี้จึงไม่ต้องทำความเคารพเจ้าชายวิฑูฑภะ หลังจากประทับอยู่ที่กรุงกบิลพัสดุ์อยู่ 2-3 วันเจ้าชายวิฑูฑภะและคณะผู้ติดตามก็ได้เสด็จกลับแคว้นโกศล หลังจากที่พระเจ้าวิฑูฑภะเสด็จออกจากพระราชวังไปแล้วนั้น ทาสหญิงคนหนึ่งก็ได้นำน้ำนมมาล้างพระแท่นที่ประทับนั่งของเจ้าชายวิฑูฑภะ พลางปากก็ร้องสาปแช่งว่า “ที่นี่เป็นที่ที่บุตรชายของนางทาสมานั่ง” ในขณะนั้นเองคนในคณะผู้ติดตามของเจ้าชายวิฑูฑภะกลับมาเอาสิ่งของที่ตนลืมไว้ที่ตรงนั้น ก็จึงได้ยินคำพูดของนางทาสคนนั้นเข้าพอดี เมื่อสอบถามนางทาสก็ได้บอกกับชายผู้กลับมาเอาของนั้นว่า มารดาของเจ้าชายวิฑูฑภะเป็นลูกของทาสหญิงคนหนึ่งของพระเจ้ามหานามะ

เจ้าชายวิฑูฑภะเมื่อได้ทรงทราบเรื่องนั้นโดยตลอดแล้ว ก็ทรงพิโรธมากและได้ทรงประกาศว่า สักวันหนึ่งพระองค์จะทรงเอาเลือดจากลำคอของพวกเจ้าศากยะมาล้างพระแท่นที่ประทับนั้นให้จงได้ และเมื่อพระองค์ได้รับการอภิเษกเป็นพระราชาแล้ว พระองค์ก็ได้ทรงกระทำตามที่ได้ทรงประกาศเอาไว้เมื่อครั้งนั้น โดยพระองค์ทรงกรีธาทัพบุกไปสังหารพวกเจ้าศากยะทั้งหมด ยกเว้นแต่พระเจ้ามหานามะและคนไม่กี่คนที่อยู่กับพระองค์ ในระหว่างทางที่ทรงยกทัพกลับแคว้นโกศล พระเจ้าวิฑูฑภะและกองทัพของพระองค์ได้ตั้งค่ายพักแรมอยู่บนหาดทรายในแม่น้ำอจิรวดี คืนนั้นได้เกิดฝนตกลงมาหนักมากทางด้านเหนือน้ำ เกิดน้ำหลากไหลมาพัดพาทหารในกองทัพรวมทั้งพระเจ้าวิฑูฑภะเองที่นอนอยู่บนหาดทราย ทุกคนได้ถูกกระแสน้ำพัดหายลงไปในมหาสมุทร

เมื่อพระศาสดาทรงสดับเหตุการณ์โศกนาฏกรรมทั้งสองเหตุการณ์นี้แล้ว ได้ทรงอธิบายกะภิกษุทั้งหลายว่า พระญาติของพระองค์คือพวกเจ้าศากยะเหล่านี้ได้เคยกระทำกรรมอย่างหนึ่งไว้ในอดีตชาติ กล่าวคือ พวกเขาได้ใส่ยาพิษลงไปในน้ำทำให้ปลาและสัตว์น้ำทั้งหลายตายไปเป็นจำนวนมาก ก็เพราะผลของอกุศลกรรมที่ทำมานั้นจึงทำให้พวกเจ้าศากยะต้องมาเสียชีวิตพร้อมๆกันอย่างนี้ และพระองค์ได้ตรัสถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพระเจ้าวิฑูฑภะและกองทัพของพระองค์ด้วยว่า “ความตายย่อมพัดพาเอาหมู่สัตว์ที่มัวแต่ลุ่มหลงในกามคุณไป ดุจห้วงน้ำใหญ่พัดพาพวกคนที่มัวหลับใหลไปฉะนั้น”

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 47 ว่า
ปุปฺผานิ เหว ปจินนฺตํ
พฺยาสตฺตมนสํ นรํ
สุตฺตํ คามํ มโหโฆ ว
มจฺจุ อาทาย คจฺฉติฯ

(อ่านว่า)
ปุบผานิ เหวะ ปะจินันตัง
พะยาสัดตะมะนะสัง นะรัง
สุตตัง คามัง มะโหโควะ
มัดจุ อาทายะ คัดฉะติ.

(แปลว่า)
ความตายคร่าคนที่มัวเลือกเก็บดอกไม้(กามคุณ)
มีใจข้องแวะอยู่ในกามคุณไป
เหมือนห้วงน้ำใหญ่พัดพา
เอาชาวบ้านผู้หลับใหลไปฉะนั้น.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น พระสัทธรรมเทศนามีผลมากแก่มหาชน.

ฐิตา:

เรื่องนางปติปูชิกา

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี ทรงปรารภหญิงชื่อปติปูชิกา ตรัสพระธรรมธรรมเทศนานี้ว่า ปุปฺผานิ เหว เป็นต้น

นางปติปูชิกา(แปลว่า หญิงผู้บูชาสามี) อยู่ที่กรุงสาวัตถี นางแต่งงานเมื่ออายุ 16 ปี และมีบุตร 4 คน นางเป็นหญิงที่มีคุณธรรมและใจบุญใจกุศล ชอบถวายภัตตาหารและปัจจัยอย่างอื่นๆแก่พระภิกษุสงฆ์ นางมักจะเข้าไปในวัดและช่วยทำความสะอาดบริเวณวัด ตักน้ำใส่ตุ่ม และทำหน้าที่ให้บริการแก่พระภิกษุสงฆ์ นางปติปูชิกาสามารถระลึกชาติได้ว่าในชาติก่อนนางเคยเป็นนางเทพธิดาเป็นภรรยาคนหนึ่งของมาลาภารีเทพบุตรในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ นางระลึกได้ว่านางจุติจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อนางเทพธิดาผู้เป็นบริวารของเทพองค์ดังกล่าวมาอยู่ในสวน สนุกสนานอยู่กับการหักกิ่งไม้และเด็ดดอกไม้ เป็นต้น ดังนั้นทุกครั้งที่นางถวายทานแก่พระภิกษุสงฆ์นางก็ได้แต่อธิษฐานจิตขอให้ไปเกิดเป็นนางเทพธิดาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และเป็นภรรยาของมาลาภารีเทพบุตรอดีตสามีของนางอีกครั้งหนึ่ง

วันหนึ่ง นางปติปูชิกาเจ็บหนักและได้เสียชีวิตในเย็นวันเดียวกันนั้นเอง เพราะเหตุที่นางได้ตั้งความปรารถนาไว้อย่างมั่นคง นางจึงได้ไปเกิดเป็นนางเทพธิดาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ในฐานะเป็นภรรยาของเทพบุตรมาลาเภรี ด้วยเหตุที่เวลาหนึ่งร้อยปีในโลกมนุษย์เท่ากับวันหนึ่งของโลกสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ดังนั้นมาลาภารีเทพบุตรและนางเทพธิดาผู้เป็นภรรยาทั้งหลายจึงยังคงสนุกสนานกันอยู่ในสวนแห่งเดิมนั้นเอง และนางปติปูชิกาจึงหายไปจากสวนสวรรค์เพียงชั่วครู่เท่านั้นเอง ดังนั้นเมื่อนางกลับไปเกิดอีกครั้งหนึ่ง มาลาภารีเทพบุตรจึงถามนางว่านางหายไปไหนมาตั้งแต่เมื่อเช้านี้ นางได้บอกกับมาลาภารีเทพบุตรว่า นางจุติจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ไปถือกำเนิดในโลกมนุษย์ ได้แต่งงานกับชายผู้หนึ่ง นางให้กำเนิดบุตรจำนวน 4 คน และได้ตายจากโลกมนุษย์กลับมาเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์อีกครั้งหนึ่ง

เมื่อภิกษุทั้งหลายได้ทราบข่าวการเสียชีวิตของนางปติปูชิกา มีความอาลัยอาวรณ์ในคุณความดีของนาง ถึงกับหลั่งน้ำตาออกมา ได้ไปเฝ้าพระศาสดาแล้วกราบทูลว่า นางปติปูชิกาซึ่งเคยถวายภัตตาหารแก่พวกท่านในตอนเช้าๆได้เสียชีวิตไปเมื่อตอนเย็นวันนี้เอง พระศาสดาได้ตรัสกะภิกษุเหล่านั้นว่า ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายสั้นยิ่งนัก พวกเขายังไม่อิ่มในวัตถุกามและกิเลสกามของพวกตน ก็จะตกอยู่ในอำนาจของพระยามัจจุราชเสียแล้ว

จากนั้น พระศาสดา ได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 48 ว่า
ปุปฺผานิ เหว ปจินนฺตํ
พฺยาสตฺตมนสํ นรํ
อติตฺตํ เยว กาเมสุ
อนฺตโก กุรุเต วสํฯ

(อ่านว่า)
ปุบผานิ เหวะ ปะจินันตัง
พะยาสัดตมะนะสัง นะรัง
อะติดตังเยวะ กาเมสุ
อันตะโก กุรุเต วะสัง.

(แปลว่า)
คนที่มัวเลือกเก็บดอกไม้คือกามคุณ
มีใจข้องอยู่ในอารมณ์ต่างๆ
แม้จะยังไม่อิ่มเอมในสิ่งที่ปรารถนา
พระยามัจจุราชจะพาเอาตัวเขาไป
ให้อยู่ในอำนาจเสียก่อน.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น พระสัทธรรมเทศนามีประโยชน์แก่มหาชน.

ฐิตา:

เรื่องโกสิยเศรษฐีผู้มีความตระหนี่

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี ทรงปรารภเศรษฐีชื่อโกสิยะผู้มีความตระหนี่ ได้ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ยถาปิ ภมโร ปุปฺผํ เป็นต้น

ในหมู่บ้านสักกระ ใกล้กรุงราชคฤห์ มีเศรษฐีตระหนี่ผู้หนึ่งชื่อโกสิยะ โกสิยเศรษฐีแม้จะมีสมบัติมากถึง 80 โกฏิ แต่ก็ไม่เคยให้สิ่งใดของตนแก่ใครๆเลย วันหนึ่งเศรษฐีหิวขนมเบื้องมาก แต่ไม่ต้องการจะแบ่งปันขนมเบื้องนี้ให้แก่ใคร จึงชวนภรรยาขึ้นไปทำขนมเบื้องนี้อยู่บนชั้นบนสุดของปราสาท 7 ชั้น ที่ซึ่งไม่มีผู้ใดจะสามารถไปเห็นได้

เช้าในวันนั้น พระศาสดาทรงตรวจดูสัตว์ที่จะได้รับการทรงโปรดด้วยพระญาณพิเศษ ได้ทรงทอดพระเนตรเห็นเศรษฐีและภรรยามาปรากฏอยู่ในข่ายคือพระญาณของพระองค์ และทรงทราบว่าทั้งสองคนจะได้บรรลุพระโสดาปัตติผล ดังนั้นพระศาสดาจึงได้ทรงส่งพระมหาโมคคัลลานเถระไปยังบ้านของเศรษฐี ด้วยพระดำรัสสั่งว่า ให้ทรมานคนทั้งสองให้หายตระหนี่ แล้วพาคนทั้งสองมายังวัดพระเชตวัน ให้ทันเวลาฉันภัตตาหารกลางวัน พระมหาโมคคัลลานะได้ไปที่นั่นด้วยกำลังแห่งฤทธิ์ เมื่อไปถึงแล้วก็ได้ไปยืนอยู่ที่ข้างหน้าต่างปราสาท เศรษฐีเมื่อเห็นพระเถระก็ได้ขอร้องให้ท่านกลับไปเสีย แต่พระเถระได้ยืนนิ่งอยู่ที่นั่นโดยไม่พูดไม่จาอะไร

ในที่สุด เศรษฐีได้บอกกับภรรยาว่า “เธอจงทำขมเบื้องชิ้นเล็กๆ ถวายท่านไป” ดังนั้นภรรยาเศรษฐีจึงเอาทัพพีตักแป้งแค่นิดเดียวทอดลงไปในกระทะ แต่ขนมกลับขยายตัวจากชิ้นเล็กๆเป็นแผ่นใหญ่จนเต็มกระทะ เศรษฐีคิดว่าภรรยาคงใส่แป้งไปทอดมากขึ้นชิ้นจึงใหญ่ขนาดนั้น เศรษฐีจึงเอาทัพพีตักแป้งเพียงนิดเดียวทอดลงไปในกระทะ แต่ขนมเบื้องนั้นก็ยังมีขนาดใหญ่เหมือนเดิม แม้ว่าคนทั้งสองจะพยายามทำให้ขนมเบื้องให้เล็กลงอย่างไรก็ไม่สามารถทำได้สำเร็จ

ในที่สุด เศรษฐีได้ให้ภรรยานำขนมเบื้องชิ้นหนึ่งจากตะกร้าถวายพระเถระ แต่ก็ไม่สามารถดึงออกมาได้เพราะขนมเบื้องทุกชิ้นติดกันหมด ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ พอถึงช่วงนี้เศรษฐีหมดความหิวจึงได้ยกขนมเบื้องทั้งตะกร้าถวายพระเถระ พระเถระจึงได้แสดงธรรมแก่คนทั้งสอง โดยกล่าวถึงคุณของพระรัตนตรัยและอานิสงส์ของทาน

จากนั้นก็ได้บอกกับคนทั้งสองด้วยว่า พระศาสดา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จำนวน 500 รูปกำลังรออยู่ที่วัดพระเชตวัน ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงราชคฤห์ถึง 45 โยชน์ แต่พระเถระได้ใช้กำลังฤทธิ์พาเศรษฐีและภรรยาที่ในมือถือตะกร้าขนมเบื้องมาเฝ้าพระศาสดา คนทั้งสองได้นำตะกร้าขนมเบื้องทูลถวายพระศาสดาและภิกษุสงฆ์ทั้ง 500 รูป เมื่อทรงฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว พระศาสดาได้แสดงพระธรรมเทศนาว่าด้วยอานิสงส์ของทาน เมื่อจบพระธรรมเทศนาทั้งเศรษฐีและภรรยาก็ได้บรรลุพระโสดาปัตติผล

ในเวลาเย็นวันรุ่งขึ้น พวกภิกษุประชุมกันในโรงธรรม นั่งกล่าวยกย่องพระมหาโมคคัลลานเถระอยู่ พระศาสดาได้เสด็จมา เมื่อได้สดับคำสนทนานั้นแล้วได้ตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถึงพวกเธอก็เช่นเดียวกัน จงเที่ยวไปในหมู่บ้านเหมือนกับโมคคลัลลานะ คือรับทานจากชาวบ้าน โดยไม่กระทบกระทั่งศรัทธา ไม่กระทบกระทั่งโภคะ ไม่ให้สกุลชอกช้ำ ไม่เบียดเบียนสกุล เป็นดุจแมลงภู่เคล้าละอองจากดอกไม้โดยไม่ให้ดอกไม้ชอกช้ำ ฉะนั้น”

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 49ว่า
ยถาปิ ภมโร บุปฺผํ
วณฺณคนฺธํ อเหฐยํ
ปเลติ รสมาทาย
เอวํ คาเม มุนี จเรฯ

(อ่านว่า)
ยะถาปิ พะมะโร ปุบผัง
วันนะคันทัง อะเหถะยัง
ปะเลติ ระสะมาทายะ
เอวัง คาเม มุนี จะเร.

(แปลว่า)
แมลงผึ้งไม่ทำลายดอกไม้
สีและกลิ่นให้ชอกช้ำ
นำเอารสหวานแล้วโบยบินไป ฉันใด
มุนี(พระ) ก็พึงเที่ยวไปในบ้าน ฉันนั้น.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น.

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

ตอบ

Go to full version