อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > พระอริยบุคคล

เรื่องย่อในพระธรรมบท (ปุปฺผวรรค)

<< < (2/3) > >>

ฐิตา:

เรื่องปาฏิกาชีวก

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี ทรงปรารภอาชีวกชื่อปาฏิกะ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า น ปเรสํ วิโลมานิ เป็นต้น

เศรษฐินีคนหนึ่งในกรุงสาวัตถี รับอาชีวก(นักบวชในศาสดาเชน)คนหนึ่งชื่อปาฏิกะมาเป็นบุตรบุญธรรม และคอยเอาใจใส่ดูแลในเรื่องความต้องการทั้งหลายของอาชีวกนี้ เมื่อนางเศรษฐินีได้ยินพวกคนบ้านใกล้เรือนเคียงกล่าวสรรเสริญพระคุณของพระพุทธเจ้า นางก็อยากไปนิมนต์พระองค์มาถวายทานที่บ้านของนางบ้าง ครั้นเมื่อพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาและได้มีการถวายภัตตาหารเรียบร้อยแล้ว ขณะที่พระศาสดาจะทรงอนุโมทนาอยู่นั้น ปาฏิกาชีวกซึ่งอยู่ในห้องถัดไป ได้แสดงความโกรธออกมาอย่างรุนแรง ออกมาด่าว่าและสาปแช่งนางเศรษฐินีที่หันมานับถือพระพุทธเจ้า เมื่อนางเศรษฐินีได้ฟังคำด่าและคำสาปแช่งนั้นก็มีความรู้สึกละอายใจมากจนไม่อาจจะส่งจิตไปตามกระแสแห่งเทศนาได้ พระศาสดาตรัสกะนางไม่ให้สนใจในคำแช่งด่าและคำคุกคามนั้นแต่ให้สนใจเฉพาะเรื่องที่ทำดีหรือไม่ดีของตนเองเท่านั้น ดังสำนวนในบาลีว่า “ไม่ควรระลึกถึงถ้อยคำที่ชนไม่เสมอภาคกันเห็นปานนี้กล่าว การไม่คำนึงถึงถ้อยคำเห็นปานนี้แล้ว ตรวจดูกิจที่ทำแล้วและยังไม่ได้ทำของตนเท่านั้นจึงควร”

จากนั้น พระศาสดา ได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 50 ว่า
น ปเรสํ วิโลมานิ
น ปเรสํ กตากตํ
อตฺตนาว อเวกฺเขยฺย
กตานิ อกตานิ จฯ

(อ่านว่า)
นะ ปะเรสัง วิโลมานิ
นะ ปะเรสัง กะตากะตัง
อัดตะนาวะ อะเวกเขยยะ
กะตานิ อะกะตานิ จะ.

(แปลว่า)
ไม่ควรให้ความสนใจในความผิดของผู้อื่น
หรือในสิ่งที่ทำแล้วและยังไม่ทำของคนอื่น
ให้ตรวจดูเฉพาะสิ่งที่ตนทำแล้วละยังไม่ได้ทำเท่านั้น.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง อุบาสิกาได้บรรลุพระโสดาปัตติผล พระสัทธรรมเทศนา มีประโยชน์แก่มหาชน.

ฐิตา:

เรื่องฉัตตปาณิอุบาสก

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี ทรงปรารภอุบาสกชื่อฉัตตปาณิ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ยถาปิ รุจิรํ ปุปฺผํ เป็นต้น

อุบาสกคนหนึ่งชื่อฉัตตปาณิ เป็นผู้ทรงจำพระไตรปิฎก และเป็นผู้บรรลุพระอนาคามี อยู่ในกรุงสาวัตถี ครั้งหนึ่ง ขณะที่ฉัตตปาณิอุบาสกไปเฝ้าพระศาสดาที่วัดพระเชตะวัน และได้ตั้งใจฟังธรรมของพระศาสดาโดยเคารพอยู่นั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จมาเฝ้าพระศาสดาเหมือนกัน ฉัตตปาณิอุบาสกไม่ยอมลุกขึ้นถวายความต้อนรับเพราะคิดว่าการลุกขึ้นต้อนรับพระราชานั้นก็เท่ากับว่าทำความเคารพพระราชานั่นเอง ซึ่งก็จะเป็นการไม่ถวายความเคารพในพระศาสดา พระเจ้าปัสเสนทิโกศลถือว่าเป็นการหมิ่นพระเกียรติยศและทรงพิโรธมาก พระศาสดาทรงทราบเป็นอย่างดีถึงความรู้สึกของพระเจ้าปเสนทิโกศล จึงได้ตรัสยกย่องฉัตตปาณิอุบาสกว่ามีความรู้ในเรื่องธรรมะดีมากและเป็นผู้บรรลุพระอนาคามิผล เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลสดับเช่นนี้แล้วก็ทรงมีความประทับใจและทรงแสดงความชื่นชมในตัวของฉัตตปาณิอุบาสก

ต่อมา พระเจ้าปัสเสนทิโกศลได้ทรงพบกับฉัตตปาณิอุบาสกอีกครั้งหนึ่ง จึงตรัสว่า “ท่านเป็นผู้คงแก่เรียน อยากจะขอให้ท่านมาสอนธรรมให้แก่พระราชเทวีทั้งสองพระองค์จะได้หรือไม่” ฉัตตปาณิอุบาสกได้ปฏิเสธที่จะมาเอง แต่ก็ได้ทูลแนะนำว่าควรที่พระเจ้าปเสนทิโกศลจะได้กราบทูลพระศาสดา เพื่อทรงมอบหมายพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งมาถวายความรู้แด่พระราชเทวีทั้งสองพระองค์ ดังนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลจึงได้เสด็จไปทูลพระศาสดาเกี่ยวกับเรื่องนี้ และพระศาสดาได้ทรงมอบหมายให้พระอานนนทเถระไปถวายความรู้ในพระราชวังแก่พระนางมัลลิกาและพระนางวาสภขัตติยาสองพระราชเทวี หลังจากนั้นต่อมาพระศาสดาก็ได้ตรัสถามพระอานนท์เกี่ยวกับความคืบหน้าในการศึกษาธรรมะของทั้งสองราชเทวี พระอานนท์กราบทูลว่า พระนางมัลลิกาทรงสนพระทัยในการศึกษาเล่าเรียนธรรมะดีมาก แต่พระนางวาสภขัตติยาไม่สนพระทัยศึกษาเล่าเรียน เมื่อสดับคำกราบทูลนี้แล้วพระศาสดาตรัสว่า ธรรมะจะมีผลกับผู้ที่สนใจศึกษาเล่าเรียนด้วยความเคารพและนำสิ่งที่ศึกษาเล่าเรียนนั้นไปปฏิบัติเท่านั้น

จากนั้น พระศาสดาตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 51 และพระคาถาที่ 52 ว่า
ยถาปิ รุจิรํ ปุปฺผํ
วณฺณวนฺตํ อคนฺธกํ
เอวํ สุภาสิตา วาจา
อผลา โหติ อกุพฺพโตฯ

(อ่านว่า)
ยะถาปิ รุจิรัง ปุบผัง
วันนะวันตัง อะคันธะกัง
เอวัง สุพาสิตา วาจา
อะผะลา โหติ อะกุบพะโต.

(แปลว่า)
วาจาสุภาษิต ไม่มีผล
แก่คนที่ประพฤติตามสุภาษิตนั้น
เหมือนดอกไม้งาม
มีสีสันสวย แต่ไร้กลิ่นฯ

ยถาปิ รุจิรํ ปุปฺผํ
วณฺณวนฺตํ สคนฺธกํ
เอวํ สุภาสิตา วาจา
สผลา โหติ สุกุพฺพโตฯ

(อ่านว่า)
ยะถาปิ รุจิรัง ปุบผัง
วันนะวันตัง สะคันทะกัง
เอวัง สุพาสิตา วาจา
สะผะลา โหตุ สุกุบพะโต.

(แปลว่า)
วาจาสุภาษิต มีผล
แก่คนที่ประพฤติตามสุภาษิตนั้น
เหมือนดอกไม้งาม
มีสีสันสวย และมีกลิ่นหอม.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น พระสัทธรรมเทศนา เป็นประโยชน์แก่มหาชน.

ฐิตา:

เรื่องนางวิสาขา

พระศาสดา เมื่อทรงเข้าไปอาศัยกรุงสาวัตถี ประทับอยู่ที่วัดบุพพาราม ทรงปรารภนางวิสาขา ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ยถาปิ ปุปฺผราสิมฺหิ เป็นต้น

นางวิสาขา เป็นธิดาของมหาเศรษฐีแห่งภัททิยนคร ชื่อธนัญชัย และ นางสุมนาเทวี นางเป็นหลานสาวของเมณฑกเศรษฐี หนึ่งในห้ามหาเศรษฐีที่ร่ำรวยมากในอาณาจักรของพระเจ้าพิมพิสาร เมื่อตอนที่นางวิสาขาอายุได้ 7 ขวบ พระศาสดาได้เสด็จจาริกมาที่ภัททิยนคร ในครั้งนั้นมหาเศรษฐีเมณฑกะได้พานางวิสาขากับหญิงบริวาร 500 นางไปถวายบังคมพระศาสดา หลังจากที่ได้ฟังธรรมของพระศาสดาแล้ว นางวิสาขา พร้อมกับเมณฑกมหาเศรษฐีและหญิงบริวาร 500 นางก็ได้บรรลุพระโสดาปัตติผล

ต่อมานางวิสาขาเจริญวัยได้แต่งงานกับนายปุณณวัฒนะ บุตรชายของมิคารเศรษฐีชาวกรุงสาวัตถี วันหนึ่งขณะที่มิคารเศรษฐีกำลังนั่งรับประทานอาหารอยู่นั้น มีพระภิกษุรูปหนึ่งออกบิณฑบาตไปหยุดยืนอยู่ที่หน้าบ้านของ มิคารเศรษฐี แต่มิคารเศรษฐีทำทีมองไม่เห็นพระภิกษุรูปนั้น เมื่อนางวิสาขาซึ่งใช้พัดก้านตาลพัดพ่อสามีอยู่นั้น เห็นเข้าจึงกล่าวกับภิกษุรูปนั้นว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ นิมนต์ข้างหน้าเถิดเจ้าข้า พ่อสามีของดิฉันกำลังบริโภคของเก่า” เมื่อมิคารเศรษฐีได้ยินเช่นนี้ก็โกรธมาก และได้ออกปากขับไล่นางวิสาขาออกจากบ้าน ข้างนางวิสาขาไม่ยอมและก็ได้ให้คนไปเชิญเศรษฐีอาวุโสจำนวน 8 คนที่บิดาของนางวิสาขาส่งมาคอยดูแลและให้คำปรึกษาหารือนางมาพบ เพื่อให้ช่วยตัดสินว่านางมีความผิดหรือไม่ เมื่อเศรษฐี 8 คนมาพร้อมหน้ากันแล้ว มิคารเศรษฐีได้กล่าวว่า “ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังรับประทานข้าวปายาส(ข้าวผสมนม) ในถาดทองคำอยู่นั้น นางวิสาขาพูดว่า ข้าพเจ้ากำลังรับประทานของสกปรกโสโครก เพราะความคิดข้อนี้ ข้าพเจ้าจึงออกปากไล่นางออกจากบ้าน” นางวิสาขาได้อธิบายข้อกล่าวหานี้ว่า “เมื่อดิฉันเห็นพ่อของสามีทำทีไม่สนใจพระภิกษุที่ท่านมาบิณฑบาตยืนอยู่ที่ประตูบ้าน ดิฉันมีความคิดว่าบิดาสามีไม่ยอมทำบุญทำกุศลในชาตินี้ เอาแต่รับประทานผลของกรรมดีในอดีตชาติ ดังนั้นดิฉันจึงกล่าวว่า บิดาสามีของดิฉันบริโภคของเก่า ท่านทั้งหลายคะ พวกท่านคิดว่าดิฉันมีความผิดหรือไม่”

ข้างเศรษฐีอาวุโสทั้ง 8 คนได้ตัดสินว่านางวิสาขาไม่มีความผิด จากนั้นนางวิสาขาได้กล่าวว่า นางเป็นผู้มีศรัทธาที่ไม่หวั่นไหวในพระพุทธศาสนา และนางจะไม่ขออยู่ที่บ้านของมาคารเศรษฐีนี้ซึ่งไม่ต้อนรับพระภิกษุสงฆ์ หากนางไม่ได้รับอนุญาตให้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาถวายอาหารบิณฑบาตและทานอื่นๆในบ้านนี้ นางก็จะออกจากบ้านนี้ไป และในที่สุดนางจึงได้รับอนุญาตจากมิคารเศรษฐีให้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาที่บ้านนี้ได้

ในวันรุ่งขึ้น พระศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ก็ได้รับนิมนต์ไปที่บ้านของนางวิสาขา เมื่อจะถวายภัตตาหาร นางวิสาขาก็ส่งข่าวไปถึงพ่อสามีให้ไปร่วมถวายด้วยแต่พ่อสามีไม่ไป เมื่อพระศาสดาและพระภิกษุสงฆ์ฉันภัตตาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว นางวิสาขาก็ได้ส่งข่าวไปบอกบิดาสามีอีก โดยในครั้งนี้ได้แจ้งไปขอให้บิดาสามีมาร่วมฟังธรรมของพระศาสดาโดยด่วน บิดาสามีมีความรู้สึกว่าคราวนี้ตนคงจะปฏิเสธนางวิสาขาในครั้งที่สองไม่ได้เสียแล้ว จึงต้องการจะไป แต่พวกนิครนถ์ที่เป็นอาจารย์เดิมของเศรษฐีไม่ยอมให้ไปฟังพระธรรมเทศนาตรงเบื้องพระพักตร์ของพระศาสดา แต่ยอมให้ไปนั่งฟังอยู่ข้างหลังม่าน หลังจากได้ฟังธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้ว มิคารเศรษฐีก็ได้บรรลุพระโสดาปัตติผล เศรษฐีรู้สึกขอบคุณลูกสะใภ้ของตนที่ทำให้ได้มีโอกาสได้ฟังธรรมของพระศาสดา จึงได้ประกาศว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป นางวิสาขาจะอยู่ในฐานะเป็นมารดาของท่านเศรษฐี และด้วยเหตุนี้นางวิสาขาจึงมีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า มิคารมาตา(แปลว่า มารดาของมิคาระ)

นางวิสาขามีบุตรชาย 10 คน และบุตรสาว 10 และบุตรชายและบุตรสาวเหล่านี้แต่ละคนได้ให้กำเนิดแก่ หลานย่าและหลานยายอีกเป็นจำนวนมาก นางวิสาขามีเครื่องประดับที่มีค่ามากชื่อว่า มหาลดาประสาธน์ ซึ่งเป็นเครื่องประดับที่บิดาของนางทำให้เป็นของขวัญในวันแต่งงาน วันหนึ่งนางวิสาขาไปที่วัดพระเชตวันพร้อมกับหญิงรับใช้เมื่อไปถึงที่วัดนางเห็นว่าเครื่องประดับมหาลดาประสาธน์หนักมาก จึงถอดออกใส่ห่อให้หญิงรับใช้เก็บรักษาไว้ แต่พอออกมาจากวัดหญิงรับใช้เกิดลืมห่อเครื่องประดับนั้นไว้ที่วัด ปกติเมื่อมีสิ่งของที่อุบาสกและอุบาสิกาหลงลืมไว้ในวัด พระศาสดาจะทรงมอบหมายให้พระอานนท์ดูแลรักษาไว้ นางวิสาขาส่งคนรับใช้นั้นกลับไปที่วัดโดยบอกไปว่า “กลับไปดูเครื่องประดับที่ลืมไว้นั้น หากพระอานนท์ไปพบและเก็บไว้ ก็จงอย่านำเครื่องประดับนั้นกลับมา เราจะบริจาคให้แก่พระอานนท์” แต่พระอานนท์ไม่ยอมรับของบริจาคชิ้นนี้ ดังนั้นนางวิสาขาจึงได้ตัดสินใจจะขายเครื่องประดับมหาลดาประสาธน์นั้น และให้ดำเนินการนำเครื่องประดับขึ้นรถออกไปป่าวประกาศขาย แต่ก็ไม่มีผู้ใดมีเงินพอที่จะซื้อเครื่องประดับนั้นได้ นางวิสาขาก็จึงซื้อเครื่องประดับนั้นเสียเองในราคา ๙ โกฏิ 1 แสนกหาปณะ จากนั้นก็นำเงินจำนวนนี้ไปก่อสร้างวัดแห่งหนึ่งที่ด้านตะวันออกของตัวเมือง วัดนี้จึงมีชื่อว่าวัดบุพพาราม(วัดอยู่ทางทิศตะวันออก)

หลังจากที่ได้กระทำพิธีฉลองวัดบุพพารามเรียบร้อยแล้ว นางวิสาขาก็ได้คนในครอบครัวของนางมาประชุมกันทุกคนแล้วได้บอกกับคนเหล่านี้ว่า ความปรารถนาทุกอย่างของนางได้บรรลุถึงแล้ว และนางไม่มีความประสงค์ในสิ่งใดอีก แล้วนางก็ได้เปล่งอุทานเป็นคาถาร้อยกรองแสดงความปลื้มปีติขณะเดินไปรอบๆวัดบุพพาราม เมื่อภิกษุทั้งหลายได้ยินเสียงพูดขับร้องพรรณนาความสำเร็จของนาง ก็ได้ไปกราบทูลพระศาสดาว่า นางวิสาขาไม่เหมือนเดิมเสียแล้ว นางได้เดินร้องเพลงไปรอบๆวัด “พระเจ้าข้า นางคงเป็นบ้าไปแล้วกระมัง” พระภิกษุทูลถามพระศาสดา เมื่อพระศาสดาได้สดับคำทูลถามนี้แล้วก็ได้ตรัสว่า วันนี้นางวิสาขาบรรลุความปรารถนาทุกอย่างทั้งในอดีตและปัจจุบัน ก็เพราะประสบความสำเร็จในความปรารถนานี้แหละ นางจึงมีความรู้สึกพึงพอใจ นางได้เดินเปล่งอุทานแสดงถึงความปีติปราโมทย์ นางมิได้เสียจริต พระศาสดาได้ทรงนำเรื่องในอดีตชาติที่ผ่านมาของนางวิสาขามาทรงเล่าให้ภิกษุทั้งหลาย และได้ตรัสสรุปว่า นางวิสาขามีปกติถวายทานและให้การสนับสนุนการเผยแผ่คำสอนของพระพุทธเจ้าในอดีตมาตลอด นางมุ่งมั่นกระทำแต่กรรมดี และได้ทำกรรมดีนี้ไว้ในอดีตชาติ เช่นเดียวกับนายช่างดอกไม้ผู้ฉลาดทำพวงดอกไม้จากกองดอกไม้กองโต ฉะนั้น

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 53 ว่า
ยถาปิ ปุปฺผราสิมฺหา
กยิรา มาลาคุเณ พหู
เอวํ ชาเตน มจฺเจน
กตฺตพฺพํ กุสลํ พหุฯ

(อ่านว่า)
ยะถาปิ ปุบผะราสิมหิ
กะยิรา มาลาคุเน พะหู
เอวัง ชาเตนะ มัดเจนะ
กัดตับพัง กุสะลัง พะหุง.

(แปลว่า)
นายมาลาการเลือกสรรดอกไม้
มากมายจากกองดอกไม้
มาร้อยเป็นพวงมาลัย ฉันใด
คนเมื่อเกิดมาแล้ว ก็ควรทำแต่กุศลกรรม
ไว้ให้มาก ฉันนั้น.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก ได้บรรลุพระอริยผลทั้หลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น พระสัทธรรมเทศนามีประโยชน์แก่มหาชนแล้ว.

ฐิตา:

เรื่องปัญหาของพระอานนทเถระ

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี เมื่อจะแก้ปัญหาของพระอานนทเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า น ปุปฺผคนฺโธ ปฏิวาตเมติ เป็นต้น

ขณะที่พระอานนทเถระกำลังปลีกวิเวกนั่งอยู่ตามลำพังในตอนเย็นวันหนึ่ง ท่านก็ได้คิดถึงกลิ่นและของหอมต่างๆ ท่านจึงความสงสัยขึ้นในใจว่า “กลิ่นเกิดจากราก กลิ่นเกิดจากแก่น กลิ่นเกิดจากดอก กลิ่นทุกอย่างมีแต่หอมตามลม หอมทวนลมไม่ได้ จะมีกลิ่นอะไรไหม ที่สามารถฟุ้งกระจายไปได้ ทั้งตามลมและทวนลม” ท่านพระอานนทเถระไม่ต้องการหาคำตอบเอง จึงได้ไปทูลถามพระศาสดา และพระศาสดาตรัสว่า “ดูก่อนอานนท์ คนที่ยึดพระรัตนตรัย(คือพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์) เป็นที่พึ่ง เป็นผู้รักษาศีล 5 มีใจโอบอ้อมอารี มีความไม่ตระหนี่ บุคคลผู้เช่นนี้ย่อมชื่อว่า ผู้มีคุณธรรมความดี และเป็นผู้สมควรได้รับการยกย่อง เกียรติภูมิของผู้เช่นนี้ย่อมขจรไปได้ไกล และสมณะ พราหมณ์ อุบาสกอุบาสิกา ย่อมกล่าวสรรเสริญเขา ไม่ว่าเขาจะไปอยู่ที่ใด”

จากนั้น พระศาสดาตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 54 และพระคาถาที่ 55 ว่า
น ปุปฺผคนฺโธ ปฏิวาตเมติ
น จนฺทนํ ตครมลฺลิกา วา
สตญฺจ คนฺโธ ปฏิวาตเมติ
สพฺพา ทิสา สปฺปุริโส ปวายติฯ

(อ่านว่า)
นะ ปุบผะคันโท ปะติวาตะเมติ
นะ จันทะนัง ตะคะระมันลิกา
สะตันจะ คันโท ปะติวาตะเมติ
สับพา ทิสา สับปุริโส ปะวายะติ.

(แปลว่า)
กลิ่นดอกไม้ ฟุ้งทวนลมไม่ได้
กลิ่นจันทน์ กฤษณา หรือมะลิ
ก็ฟุ้งทวนลมไม่ได้
ส่วนกลิ่นของสัตบุรุษหอมฟุ้งไปได้ทั่วทุกทิศฯ

จนฺทนํ ตครํ วาปิ
อุปฺปลํ อถ วสฺสิกี
เอเตสํ คนฺธชาตานํ
สีลคนฺโธ อนุตฺตโรฯ

(อ่านว่า)
จันทะนัง ตะคะรัง วาปิ
อุบปะลัง อะถะ วัดสิกี
เอเตสัง คันทะชาตานัง
สีละคันโท อะนุดตะโร.

(แปลว่า)
จันทน์ กฤษณา
ดอกอุบล หรือดอกมะลิ
กลิ่นศีลยอดเยี่ยม
กว่ากลิ่นของสิ่งหอมเหล่านั้น.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น พระสัทธรรมเทศนา มีประโยชน์แก่มหาชนแล้ว.

ฐิตา:

เรื่องถวายบิณฑบาตแก่พระมหากัสสปเถระ

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ที่วัดเวฬุวัน ทรงปรารภการถวายบิณฑบาตแก่พระมหากัสสปเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า อปฺปมตฺโต อยํ คนฺโธ เป็นต้น

เมื่อพระมหากัสสปเถระออกจากนิโรธสมาบัติแล้ว ก็ได้เข้าไปบิณฑบาตในย่านที่อยู่อาศัยของคนยากจนในกรุงราชคฤห์ วัตถุประสงค์ของท่านก็คือต้องการจะเปิดโอกาสให้คนยากจนได้ผลานิสงส์อันยิ่งใหญ่จากการถวายบิณฑบาตแก่บุคคลที่เพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ ท้าวสักกะจอมแห่งเทวดาทั้งหลาย มีพระประสงค์จะได้โอกาสนี้ถวายทานแด่พระมหากัสสปเถระ จึงได้ทรงแปลงร่างเป็นช่างหูกชราเสด็จมาที่กรุงราชคฤห์พร้อมด้วยนางเทพธิดาสุชาดาซึ่งก็ได้แปลงร่างเป็นหญิงชรามาครั้งนี้ด้วย พระมหากัสสปเถระได้มายืนอยู่ที่หน้าประตูบ้านของนายช่างหูกชราปลอม ข้างนายช่างหูกชราปลอมได้ไปรับบาตรของพระเถระแล้วนำข้าวและกับข้าวบรรจุลงไป ปรากฏว่ากลิ่นอาหารที่ใส่ลงไปในบาตรหอมฟุ้งตลบอบอวลไปทั่วกรุง พระเถระจึงคิดว่าบุคคลผู้นี้จะต้องไม่ใช่มนุษย์ธรรมดาแน่ๆ และท่านก็รู้ได้ด้วยญาณพิเศษว่าจะต้องเป็นท้าวสักกะ เมื่อท่านสอบถามท้าวสักกะได้ยอมรับความจริง และได้ประกาศว่าพระองค์ก็มีความยากจนมาก เพราะว่าพระองค์ไม่มีโอกาสได้ถวายสิ่งใดๆให้แก่ใครๆในสมัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทำให้มีเดชานุภาพไม่เท่ากับจูฬรถเทพบุตร มหารถเทพบุตร และอเนกวัณณเทพบุตร เมื่อตรัสดังนี้แล้วท้าวสักกะพร้อมกับนางเทพธิดาสุชาดาได้ถวายนมัสการลาพระเถระแล้วเสด็จกลับคืนสู่เทวโลก

พระศาสดาประทับนั่งในพระคันธกุฎีในวัดพระเวฬุวัน สามารถทอดพระเนตรเห็นท้าวสักกะและนางสุชาดาที่จะเสด็จลากลับคืนสู่เทวโลกนั้น จึงได้ตรัสบอกภิกษุทั้งหลายว่า ท้าวสักกะเสด็จลงมาถวายบิณฑบาตแก่พระมหากัสสปเถระ พระภิกษุทั้งหลายเกิดความสงสัยว่า ท้าวสักกะทรงทราบอย่างไรว่า พระมหากัสสปะเพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ และเป็นช่วงเวลาที่เหมาะที่สุดที่จะถวายบิณฑบาตแก่พระเถระ พระศาสดาตรัสตอบคำถามนี้ว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทั้งเหล่าเทพเจ้า ทั้งเหล่ามนุษย์ ย่อมพอใจภิกษุผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร อย่างเช่นบุตรของเรา” และได้ตรัสด้วยว่า “ภิกษุทั้งหลาย ท้าวสักกะ ผู้เป็นจอมเทพเจ้าทั้งหลาย ได้เสด็จมาถวายบิณฑบาต แก่บุตรของเรา เพราะกลิ่นศีล”

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 56 ว่า
อปฺปมตฺโต อยํ คนฺโธ
ยฺวายํ ตครจนฺทนี
โย จ สีลวตํ คนฺโธ
วาติ เทเวสุ อุตฺตโมฯ

(อ่านว่า)
อับปะมัดโต อะยัง คันโท
ยะวายัง ตะคะระจันทนี
โย จะ สีละวะตัง คันโท
วาติ เทเวสุ อุดตะโม.

(แปลว่า)
กลิ่นกฤษณา กลิ่นจันทน์
ยังหอมน้อย
ส่วนกลิ่นของผู้มีศีล เป็นยอดกลิ่น
ฟุ้งไปถึงเทวโลกทั้งหลายได้.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น พระสัทธรรมเทศนามีประโยชน์แก่มหาชนแล้ว.

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version