อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > พระอริยบุคคล

เรื่องย่อในพระธรรมบท (พาลวรรค)

(1/3) > >>

ฐิตา:



เรื่องย่อในพระธรรมบท (พาลวรรค) เรื่องบุรุษคนใดคนหนึ่ง
 
เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระเจ้าปเสนทิโกศลและชายหนุ่มคนหนุ่ม ได้ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ทีฆา ชาครโต รตฺติ เป็นต้น
 
วันหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงช้างเผือกเสด็จเลียบพระนคร ได้ทอดพระเนตรเห็นหญิงงามนางหนึ่งยืนอยู่ชั้นบนของปราสาท 7 ชั้น ทรงมีพระทัยเสน่หาในนางขึ้นมาทันที พระองค์ได้ทรงพยายามหาวิธีการที่จะได้นางมาเป็นบาทบริจาริกา เมื่อทรงทราบว่านางเป็นหญิงมีสามีแล้ว ก็ได้มีพระบัญชานำชายผู้เป็นสามีของนางมาเป็นคนใช้อยู่ในพระราชวัง ต่อมาพระองค์ได้รับสั่งชายให้คนนี้เดินทางไปทำงานอย่างหนึ่งอันเป็นงานที่ไม่มีทางจะทำสำเร็จได้ โดยรับสั่งให้เดินทางไปยังสถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ห่างไกลถึง 12ไมล์ แล้วให้ไปนำดอกโกมุท ดอกอุบล และดินสีอรุณจากนาคพิภพกลับมาถวายพระองค์ที่กรุงสาวัตถีในเย็นวันเดียวกันให้ทันเวลาสรงสนานของพระองค์ ทั้งนี้โดยพระองค์มีพระราชประสงค์จะสังหารชายผู้นี้หากเขากลับมาไม่ทันเวลาแล้วริบเอาภรรยาของเขามาเป็นบาทบริจาริกาของพระองค์
 
ชายผู้เป็นสามีรีบไปนำกล่องอาหารจากภรรยาแล้วออกเดินทางไปแสวงหาสิ่งที่พระราชาทรงต้องการในทันที ในระหว่างทางเขาได้แบ่งอาหารให้แก่เพื่อนร่วมทาง และเขาก็ยังแบ่งข้าวจำนวนหนึ่งโยนลงไปเลี้ยงปลาในน้ำ แล้วร้องตะโกนขึ้นว่า “ข้าแต่เทพยดาและนาคทั้งหลายผู้สถิตอยู่ในแม่น้ำแห่งนี้ พระราชาปเสนทิโกศลมีพระราชบัญชาให้ข้าพเจ้าไปนำดอกโกมุท ดอกอุบล และดินสีอรุณกลับไปถวายพระองค์ วันนี้ข้าพเจ้าได้แบ่งปันอาหารให้แก่เพื่อนร่วมทางของข้าพเจ้า และข้าพเจ้าก็ยังได้นำอาหารเลี้ยงปลาในแม่น้ำแล้วด้วย บัดนี้ข้าพเจ้าขอแบ่งส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่พวกท่านทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายจงได้เมตตาไปนำดอกโกมุท ดอกอุบล และดินสีอรุณมาให้ข้าพเจ้าด้วยเถิด” พระยานาคเมื่อได้ยินคำประกาศของชายผู้นั้นแล้ว ก็ได้แปลงร่างเป็นชายชราไปนำดอกโกมุท ดอกอุบลและดินสีอรุณมาให้ชายผู้นั้น
 
ในเย็นวันนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเกรงว่าชายหนุ่มอาจจะกลับมาทันเวลา จึงได้มีรับสั่งให้ปิดประตูเมืองก่อนกำหนด เมื่อชายหนุ่มเดินทางมาถึงและพบว่าประตูเมืองปิดเช่นนั้น ก็ได้โยนดินอรุณไว้บนกำแพงเมืองและแขวนดอกโกมุทและดอกอุบลไว้บนธรณีประตู จากนั้นเขาได้ตะโกนประกาศออกมาดังๆว่า “ชาวเมืองผู้เจริญทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลาบจงรับทราบเถิดว่า ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากพระราชาสำเร็จลุล่วงแล้ว พระราชาทรงมีแผนที่จะฆ่าข้าพเจ้าด้วยเหตุไม่สมควร” หลังจากนั้นชายหนุ่มก็เดินทางจากประตูวังไปที่วัดพระเชตวันเพื่อจะลี้ภัยและก็พบว่าบรรยากาศในวัดมีความสงบร่มรื่นดียิ่งนัก
 
ขณะเดียวกัน ข้างพระเจ้าปเสนทิโกศล มีความกระสันด้วยแรงกามราคะ จนไม่สามารถหลับพระเนตรลงได้ ทรงครุ่นคิดหาวิธีที่จะสังหารชายหนุ่มในตอนเช้าแล้วยึดภรรยาของเขามาเป็นบาทบริจาริกาของพระองค์ เมื่อถึงเที่ยงคืนพระองค์ก็ได้สดับเสียงประหลาดว่า ทุ. ส. น. โส. ซึ่งความจริงแล้วเป็นเสียงของพวกเปรต 4ตนที่เสวยทุกข์ทรมานอยู่ในนรกชั้นโลหกุมภี เมื่อได้ทรงสดับเสียงประหลาดนี้แล้วก็ทรงมีพระทัยหวาดหวั่น เมื่อรุ่งอรุณของวันใหม่พระองค์ได้ทรงสอบถามปุโรหิตถึงเรื่องนี้ ปุโรหิตได้ทูลว่าจะเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตแก่พระองค์ จะต้องหาทางแก้ด้วยการบูชายัญ แต่ต่อมาพระองค์ได้เสด็จไปเข้าเฝ้าพระศาสดาโดยคำกราบทูลของพระนางมัลลิการาชเทวี เมื่อพระศาสดาสดับเรื่องเสียงประหลาดเหล่านั้นแล้ว ทรงอธิบายแก่พระราชาว่าเป็นเสียงของเปรต 4ตนที่เกิดอยู่ในโลหกุมภีนรก เปรต 4ตนเหล่านี้เคยเกิดเป็นชายหนุ่มลูกเศรษฐีในสมัยพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ และได้ตกนรกชั้นโลหกุมภีเพราะประกอบกรรมชั่วเป็นชู้สู่สมกับภรรยาของชายอื่น พระราชาสดับแล้วก็เกิดความสังเวชพระทัยและทรงเกิดความตระหนักถึงผลกรรมชั่วร้ายที่จะบังเกิดจากการเป็นชู้กับภรรยาของผู้อื่น และตัดสินพระทัยว่า “จำเดิมแต่นี้ไป เราจักไม่ผูกความพอใจในภรรยาของชายอื่น” เพราะว่า “แค่เราได้แต่คิดว่าจะเป็นชู้กับภรรยาของคนอื่นก็มีความทุกข์ทรมานใจจนนอนไม่หลับตลอดทั้งคืน” จากนั้นพระราชาได้กราบทูลพระศาสดาว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทราบความที่ราตรียาวนานในวันนี้”
 
ข้างชายหนุ่มที่นั่งอยู่ไม่ไกลจากที่นั้น ได้กราบพระศาสดาว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระราชาทรงทราบความที่ราตรียาวนานในวันนี้ ส่วนข้าพระองค์เองได้ทราบความที่หนทางแค่โยชน์เดียวไกลมากในวันวาน”
 
พระศาสดา ทรงนำถ้อยคำของพระราชาและของชายหนุ่มนั้นมาผสมผสานกัน
แล้วตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 60ว่า
ทีฆา ชาครโต รตฺติ
ทีฆํ สนฺตสฺส โยชนํ
ทีโฆ พาลาน สํสาโร
สทฺธมฺมํ อวิชานตํ ฯ
 
(อ่านว่า)
ทีคา ชาคะระโต รัดติ
ทีคัง สันตัดสะ โยชะนัง
ทีโค พาลานะ สังสาโร
สัดทำมัง อะวิชานะตัง.
 
(แปลว่า)
กลางคืนยาวนานมาก สำหรับคนที่นอนไม่หลับ
ระยะทางแค่โยชน์เดียวไกลมาก
สำหรับที่เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าแล้ว
สังสารวัฏ(การเวียนว่ายตายเกิด) เนิ่นนานมาก
สำหรับคนพาลที่ไม่รู้สัจธรรม.
 
เมื่อจบพระสัทธรรมเทศนา ชายหนุ่มได้บรรลุพระโสดาปัตติผล ชนเหล่าอื่นอีกเป็นจำนวนมาก ก็ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น พระสัทธรรมเทศนามีประโยชน์แก่มหาชนแล้ว.

ฐิตา:

เรื่องสัทธิวิหาริกของพระมหากัสสปเถระ
 
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี ทรงปรารภสัทธิวิหาริกของพระมหากัสสปเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า จรญฺเจ นาธิคจฺเฉยฺย เป็นต้น
 
เมื่อพระมหากัสสปเถระ อยู่ในถ้ำปิปผลิในกรุงราชคฤห์ ท่านมีสัทธิวิหาริก 2 รูปเป็นอุปัฏฐากของท่าน ในสัทธิวิหาริก 2 รูปนี้ รูปหนึ่งเชื่อฟังและทำหน้าที่อุปัฏฐากเป็นอย่างดี ส่วนอีกรูปหนึ่งนั้นไม่เชื่อฟังและปฏิบัติหน้าที่ไม่เรียบร้อย รูปหลังนี้เมื่อพระเถระว่ากล่าวตักเตือนในเรื่องของความหย่อนยานในการปฏิบัติหน้าที่ก็จะโกรธ อยู่มาวันหนึ่ง สัทธิวิหาริกรูปนี้ไปบ้านอุบาสกผู้หนึ่งแทนพระเถระ ก็ได้ไปพูดโกหกว่าพระเถระอาพาธ อุบาสกผู้นั้นจึงได้นำอาหารใส่บาตรฝากมาถวายพระเถระ แต่สัทธิวิหาริกนี้ก็ได้ฉันอาหารนั้นในระหว่างทาง เมื่อถูกพระเถระตำหนิการกระทำดังกล่าวก็มีความโกรธผูกอาฆาตพระเถระ ในวันรุ่งขึ้นเมื่อพระเถระออกไปบิณฑบาต สัทธิวิหาริกรูปนี้ไม่ไป ได้เอาไม้ทุบภาชนะสำหรับใช้สอยมีหม้อและถ้วยชามเป็นต้นแตกเสียหาย และจุดไฟเผาบรรณศาลาของพระเถระแล้วหลบหนีไป
 
ต่อมา ภิกษุรูปหนึ่ง เดินทางจากกรุงราชคฤห์ มาเฝ้าพระศาสดาที่พระเชตวัน และได้กราบทูลถึงเรื่องที่เกิดขึ้น พระศาสดาได้ตรัสว่า “การอยู่ของกัสสปะบุตรของเราคนเดียวเท่านั้น ดีกว่าการอยู่ร่วมกับคนพาลผู้เห็นปานนั้น"
 
จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 61 ว่า
จรญฺเจ นาธิคจฺเฉยฺย
เสยฺยํ สทิสมตฺตโน
เอกจริยํ ทฬฺหํ กยิรา
นตฺถิ พาเล สหายตาฯ
 
(อ่านว่า)
จะรันเจ นาทิคัดเฉยยะ
เสยยัง สะทิสะมัดตะโน
เอกะจะริยัง ทันหัง กะยิรา
นัดถิ พาเล สะหายะตา.
 
(แปลว่า)
เมื่อจะเดินทางท่องเที่ยวไป
หากหาเพื่อนร่วมเดินทาง
ที่ดีกว่าหรือเสมอกับตนเองไม่ได้
ก็ควรจะเดินทางไปคนเดียว
เพราะว่าความเป็นสหาย ย่อมไม่มีในคนพาล
 
เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง อาคันตุกภิกษุนั้น ได้บรรลุพระโสดาปัตติผล ชนเหล่าอื่นเป็นอันมาก ก็ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น พระสัทธรรมเทศนา มีประโยชน์แก่มหาชนแล้ว.

ฐิตา:

เรื่องอานนทเศรษฐี

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี ทรงปรารภอานนทเศรษฐี ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ปุตฺตามตฺถิ ธนมตฺถิ เป็นต้น

ในกรุงสาวัตถี มีเศรษฐีผู้หนึ่งชื่ออานนท์ แม้ว่าอานนทเศรษฐีผู้นี้จะมีทรัพย์มากถึง 80 โกฏิ แต่เขามีความตระหนี่ไม่เคยบริจาคสิ่งใดให้แก่ใครเลย ท่านเศรษฐีได้แต่สอนบุตรของตน ผู้ชื่อว่ามูลสิริเนืองๆว่า “เจ้าอย่าได้สำคัญว่า ทรัพย์ 80 โกฏินี้มาก อย่าได้ให้ทรัพย์ที่มีอยู่นี้ แต่ควรสร้างทรัพย์ใหม่ให้เกิดขึ้น มิฉะนั้นแล้วทรัพย์ของเจ้าก็จะหมดสิ้นไป” ท่านเศรษฐีได้นำทรัพย์ไปฝังไว้ 5 แห่งในบริเวณบ้าน แต่ไม่ยอมบอกที่ฝังของขุมทรัพย์นั้นแก่บุตรของตน ต่อมหาเศรษฐีก็ได้เสียชีวิตลง

อานนทเศรษฐีเมื่อเสียชีวิตแล้ว ก็ได้ไปถือกำเนิดในครรภ์ของหญิงจัณฑาลผู้หนึ่งในหมู่บ้านของคนจัณฑาล ไม่ไกลจากกรุงสาวัตถี นับตั้งแต่มีทารกมาถือกำเนิดในครรภ์ คนในหมู่บ้านนั้นก็มีรายได้ลดลง พวกคนจัณฑาลนั้นคิดว่า จะต้องมีคนกาลกัณณีอยู่ในหมู่ของพวกตนแน่ๆ จึงแบ่งคนจัณฑาลออกเป็น 2 กลุ่มเพื่อกำจัดคนกาลัณณีนั้นออกไปตามกระบวนการเฟ้นหาคนกาลกัณณี ในที่สุดก็ได้บทสรุปว่า หญิงที่ตั้งครรภ์นั้นจะต้องเป็นคนกาลกัณณี นางจึงถูกขับไล่ออกไปจากหมู่บ้านนั้น เมื่อบุตรของนางคลอดออกมา ก็เป็นทารกที่มีหน้าตาน่าเกลียดและเป็นคนกาลกัณณีจริงๆ วันใดนางไปขอทานคนเดียว วันนั้นนางก็จะได้สิ่งของ แต่ถ้าวันใดนางนำบุตรไปขอทานด้วย วันนั้นนางก็จะไม่ได้อะไร ดังนั้นเมื่อบุตรเติบโตพอที่จะขอทานโดยลำพังได้ นางจึงนำภาชนะใส่มือบุตรแล้วบอกให้ไปขอทานตามลำพัง ทารกอดีตอานนทเศรษฐีก็เดินขอทานผ่านไปทางบ้านเดิมของตน เกิดระลึกชาติของตนได้ จึงเดินเข้าไปในบ้านหลังนั้น เมื่อพวกลูกๆของมูลสิริเศรษฐีเห็นทารกจัณฑาลเดินเข้าไปในบ้านก็ตื่นตระหนกตกใจร้องไห้กันโกลาหล พวกคนใช้ได้เข้าทุบตีทารกอดีตอานนทเศรษฐี แล้วนำออกไปโยนไว้ที่กองขยะนอกบ้าน

ขณะนั้น พระศาสดามีพระอานนท์เป็นผู้ติดตาม เสด็จบิณฑบาตผ่านมาถึงที่ตรงนั้นพอดี ได้ตรัสบอกพระอานนท์ให้ไปตามมูลสิริเศรษฐีออกมาเฝ้า เมื่อมูลสิริเศรษฐีออกมาเฝ้าแล้ว พระศาสดาได้ตรัสว่า ทารกจัณฑาลผู้นี้คืออดีตบิดาของมูลสิริเศรษฐีในอดีตชาติ แต่มูลสิริเศรษฐีไม่เชื่อ พระศาสดาจึงทรงทำการพิสูจน์โดยตรัสบอกให้ทารกจัณฑาลนั้นบอกขุมทรัพย์ 5 แห่งที่ถูกฝังเอาไว้เหล่านั้น พอทารกจัณฑาลบอกได้ถูกต้อง มูลสิริเศรษฐีจึงยอมรับความจริงและได้มายอมรับนับถือพระศาสดา ประกาศตนเป็นอุบาสกในพระพุทธศาสนา

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 62 ว่า
ปุตตามตฺถิ ธนมตฺถิ
อิติ พาโล วิหญฺญติ
อตฺตา หิ อตฺตโน นตฺถิ
กุโต ปุตฺตา กุโต ธนํฯ

(อ่านว่า)
ปุดตามัดถิ ทะนะมัดถิ
อิติ พาโล วิหันยะติ
อัตตา หิ อัดตะโน นัดถิ
กุโต ปุดตา กุโต ทะนัง.

(แปลว่า)
คนพาล(คนโง่) เดือดร้อนว่า
เรามีบุตร เรามีทรัพย์
ที่จริงตนของตน ยังไม่มีจริงๆเลย
บุตรจะมีจากไหน ทรัพย์จะมีจากไหน.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง การตรัสรู้ธรรม ได้มีแก่สัตว์ 8 หมื่น 4 พัน พระสัทธรรมเทศนา มีประโยชน์แก่มหาชนแล้ว.

ฐิตา:

เรื่องโจรผู้ทำลายปม

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพวกโจรผู้ทำลายปม(โจรล้วงกระเป๋า) ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า โย พาโล มญฺญตี พาลฺยํ เป็นต้น

ครั้งหนึ่ง โจรผู้ทำลายปม(โจรล้วงกระเป๋า) 2 คน ไปที่พระเชตวันกับอุบาสกอุบาสิกาเพื่อจะฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดา ในโจรล้วงกระเป๋า 2 คนนี้ คนหนึ่งตั้งใจฟังธรรมจนได้บรรลุพระโสดาปัตติผล แต่โจรอีกคนหนึ่งไม่ได้สนใจฟังธรรมแต่มุ่งที่จะล้วงกระเป๋าอย่างเดียว และก็สามารถล้วงเงินจำนวนหนึ่งไปจากอุบาสกคนหนึ่งได้สำเร็จ หลังจากจบพระธรรมเทศนาแล้วทั้งสองโจรนั้นก็ได้เดินทางกลับบ้าน โจรคนที่ล้วงกระเป๋าได้สำเร็จนั้นได้นำเงินไปซื้อสิ่งของมาทำอาหารรับประทาน ส่วนโจรคนที่ได้บรรลุพระโสดาบันไม่มีเงินไปซื้อของมาทำอาหารรับประทาน โจรคนที่ล้วงกระเป๋ามาสำเร็จและภรรยาได้กล่าวเย้ยหยันโจรคนที่เป็นพระโสดาบันว่า “ท่านไม่มีแม้แต่อาหารจะรับประทาน เพราะความฉลาดของท่าน” เมื่อได้ยินคำเย้ยหยันนี้ โจรคนที่ได้บรรลุพระโสดาปัตติผลรำพึงว่า “เจ้าคนนี้ สำคัญตนว่าเป็นบัณฑิต ด้วยความเป็นพาลเจียวหนอ” จากนั้นได้เดินทางไปเฝ้าพระศาสดาพร้อมกับพวกญาติๆ กราบทูลเรื่องนี้แด่พระศาสดา

พระศาสดา เมื่อจะแสดงธรรมแก่เขา จึงตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 63 ว่า
โย พาโล มญฺญติ พาลยํ
ปณฺฑิโต วาปิ เตน โส
พาโล จะ ปณฺฑิตมานี
ส เว พาโลติ วุจฺจติฯ

(อ่านว่า)
โย พาโล มันยะติ พาละยัง
ปันดิโต วาปิ เตนะ โส
พาโล จะ ปันดิตะมานี
สะ เว พาโลติ วุดจะติ.

(แปลว่า)
คนโง่ รู้สึกตัวว่าเป็นคนโง่
พอจะเป็นคนฉลาดได้บ้าง
เพราะความรู้สึกตัวนั้น
แต่คนโง่ สำคัญตนว่าเป็นคนฉลาดนั้น
เรียกว่าคนโง่แท้.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง มหาชนพร้อมด้วยญาติทั้งหลายของโจรผู้เป็นพระโสดาบัน ได้บรรลุพระโสดาปัตติผล.

ฐิตา:

เรื่องพระอุทายีเถระ

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระอุทายีเถระ ตรัสพระธรรมธรรมเทศฯนี้ว่า ยาวชีวมฺปิ เจ พาโล เป็นต้น

พระอุทายีเถระ มักจะไปนั่งอยู่บนธรรมาสน์ ที่พระเถระผู้ทรงภูมิความรู้ใช้แสดงธรรมเทศนา มีคราวหนึ่ง พวกภิกษุอาคันตุกะเห็นพระอุทายีเถระแล้ว เข้าใจว่า “ภิกษุนี้จักเป็นพระมหาเถระผู้พหุสูต” จึงถามปัญหาเกี่ยวกับขันธ์ทั้งหลาย พระอุทายีเถระตอบปัญหานั้นไม่ได้ เพราะไม่มีความรู้ด้านธรรมะใดๆเลย พวกภิกษุอาคันตุกะมีความประหลาดใดมาก ที่ภิกษุอยู่ในวัดเดียวกับพระศาสดา แต่ไม่รู้แม้แต่เรื่องขันธ์และอายตนะทั้งหลาย

พระศาสดาได้ตรัสกับภิกษุอาคันตุกะเหล่านี้ ด้วยพระธรรมบท พระคาถาที่ 64 ว่า
ยาวชีวมฺปิ เจ พาโล
ปณฺฑิตํ ปยิรุปาสติ
น โส ธมฺมํ วิชานาติ
ทพฺพิ สูปรสํ ยถาฯ

(อ่านว่า)
ยาวะชีวัมปิ เจ พาโล
ปันดิตัง ปะยิรุปาสะติ
นะ โส ทำมัง วิชานาติ
ทับพิ สูปะระสัง ยะถา.

(แปลว่า)
คนโง่เข้าหาคนฉลาด แม้ตลอดชีวิต
ก็ไม่รู้ธรรมได้
เหมือนทัพพีไม่รู้รสแกง.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ภิกษุอาคันตุกะทั้งหลาย ได้บรรลุพระอรหัตตผล.

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

ตอบ

Go to full version