อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > พระอริยบุคคล

เรื่องย่อในพระธรรมบท (พาลวรรค)

<< < (2/3) > >>

ฐิตา:

เรื่องภิกษุชาวเมืองปาฐา

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุชาวเมืองปาฐา ประมาณ 30 รูป ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า มุหุตฺตมปิ เจ วิญฺญู เป็นต้น

ครั้งหนึ่ง ชายหนุ่มจากเมืองปาฐา 30 คน ไปหาความสุขกับหญิงโสเภณีอยู่ในป่า แต่หญิงโสเภณีนางนั้นได้ขโมยเครื่องประดับที่มีค่าของชายหนุ่มเหล่านี้วิ่งหนีไป ขณะที่พวกเขากำลังตามหาหญิงโสเภณีนางนี้อยู่นั้น ก็ได้พบกับพระศาสดาในระหว่างทาง พระศาสดาได้แสดงธรรมให้ฟัง ทำให้ชายหนุ่มเหล่านี้ได้บรรลุพระโสดาปัตติผล และทั้งหมดก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ แล้วติดตามพระศาสดาไปที่วัดพระเชตวัน เมื่อได้ไปอยู่ที่วัดพระเชตวันนี้แล้ว ภิกษุใหม่เหล่านี้ก็ได้ปฏิบัติธุดงค์ 13 อย่างเคร่งครัด ต่อมาพระศาสดาได้ทรงแสดงอนมตัคคธรรมเทศนา และภิกษุเหล่านี้ก็ได้บรรลุพระอรหัตตผล

ภิกษุทั้งหลาย สนทนากันในธรรมสภาว่า “น่าอัศจรรย์หนอ ภิกษุเหล่านี้ รู้แจ้งธรรมพลันทีเดียว” พระศาสดาจึงได้ตรัสตอบพระภิกษุเหล่านี้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่ใช่แต่บัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน ภิกษุเหล่านี้ เป็นนักเลงเป็นสหายกัน 30 คน ฟังธรรมเทศนาของสุกรชื่อมหาตุณฑิละ ในตุณฑิลชาดก รู้แจ้งธรรมได้ฉับพลันทีเดียว สมาทานศีล 5 แล้ว เพราะอุปนิสัยที่ติดตัวมานั้นเอง เขาเหล่านั้นจึงบรรลุพระอรหัต ณ อาสนะที่ตนนั่งแล้วทีเดียวในกาลบัดนี้”

จากนั้น พระศาสดาได้แสดงธรรม ด้วยพระธรรมบท พระคาถาที่ 65 ว่า
มุหุตฺตมปิ เจ วิญฺญู
ปณฺฑิตํ ปยิรุปาสติ
ขิปฺปํ ธมฺมํ วิชานาติ
ชิวฺหา สูปรสํ ยถาฯ

(อ่านว่า)
มุหุดตะมะปิ เจ วินยู
ปันดิตัง ปะยิรุปาสะติ
ขิบปัง ทำมัง วิชานะติ
ชิวหา สูปะระสัง ยะถา.

(แปลว่า)
วิญฺญูชนเข้าหาคนฉลาด
แม้เพียงครู่เดียว
ย่อมรู้ธรรมได้เร็วพลัน
เหมือนลิ้นรับรู้รสแกง.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ภิกษุเป็นอันมาก บรรลุพระอรหัตผลแล้ว.

ฐิตา:

เรื่องสุปปพุทธกุฏฐิ

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภบุรุษโรคเรื้อน ชื่อสุปปพุทธะ ตรัสพระธรรมเทศฯนี้ว่า จรนฺติ พาลา ทุมฺเมธํ เป็นต้น

นายสุปปพุทธะ ผู้เป็นโรคเรื้อน ขณะที่ฟังธรรมของพระศาสดาอยู่ที่ข้างท้ายพุทธบริษัท ได้ตั้งใจฟังมากจนได้บรรลุพระโสดาปัตติผล เมื่อพุทธบริษัททั้งหลายแยกย้ายเดินทางกลับบ้านกันหมดแล้ว สุปปพุทธะได้ติดตามพระศาสดาไปที่วัดพระเชตวัน เพราะต้องการจะกราบทูลว่า ตนได้บรรลุพระโสดาปัตติผลแล้ว ท้าวสักกะเทวราช มีความประสงค์จะทดสอบศรัทธาของสุปปพุทธะที่มีต่อพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ว่ามั่นคงขนาดไหน จึงได้เสด็จไปยืนในอากาศแล้วตรัสว่า “สุปปพุทธะ ท่านเป็นคนขัดสน เป็นคนยากไร้ เราจะให้ทรัพย์มากมายแก่ท่าน ท่านจงกล่าวว่า พระพุทธไม่ใช่พระพุทธ พระธรรมไม่ใช่พระธรรม พระสงฆ์ไม่ใช่พระสงฆ์ เราขอปฏิเสธประโยชน์ของพระพุทธ เราขอปฏิเสธประโยชน์ของพระธรรม เราขอปฏิเสธประโยชน์ของพระสงฆ์” สุปปพุทธะตอบว่า “เราไม่ใช่คนเข็ญใจ เป็นคนขัดสน เป็นคนไร้ที่พึ่ง เป็นคนกำพร้า เราเป็นคนรวย เรามีทรัพย์ 7 ประการที่พระอริยเจ้าทั้งหลายมี คือ 1.ทรัพย์คือศรัทธา 2.ทรัพย์คือศีล 3.ทรัพย์คือหิริ 4.ทรัพย์คือโอตตัปปะ 5.ทรัพย์คือสุตะ 6.ทรัพย์คือจาคะ 7.ทรัพย์คือปัญญา

ท้าวสักกะ ทรงสดับคำของสุปปพุทธะนั้นแล้ว ก็ได้เสด็จล่วงหน้าไปเฝ้าพระศาสดาและกราบทูลเรื่องที่ทรงสนทนากับสุปปพุทธะให้ทรงทราบ พระศาสดาจึงตรัสกับท้าวสักกะว่า “ท้าวสักกะ ทั้งร้อยทั้งพันแห่งคนทั้งหลายผู้เช่นกับพระองค์ ไม่อาจเพื่อจะให้สุปปพุทธะกล่าวว่า พระพุทธไม่ใช่พระพุทธ พระธรรมไม่ใช่พระธรรม พระสงฆ์ไม่ใช่พระสงฆ์” ต่อมาสุปปพุทธะก็ตามมาที่วัดพระเชตวัน และได้กราบทูลเรื่องที่ตนบรรลุพระโสดาบันให้ทรงทราบ ในระหว่างเดินทางกลับสุปปพุทธะได้ถูกโคแม่ลูกอ่อนที่ถูกนางยักษิณีเข้าสิงขวิดตาย นางยักษิณีนี้ก็คือนางโสเภณีที่เคยถูกสุปปพุทธะสังหารในอดีตชาติและนางเคยตั้งสัจอธิษฐานก่อนตายว่าจะทำการแก้แค้น “ขอเราพึงเป็นยักษิณี ผู้สามารถเพื่อฆ่าชนเหล่านั้น เหมือนอย่างที่พวกนี้ฆ่าเราฉะนั้นเหมือนกัน” เมื่อข่าวการเสียชีวิตของสุปปพุทธะไปถึงวัดพระเชตวัน พวกภิกษุได้ทูลถามพระศาสดาว่า สุปปพุทธกุฏฐิไปเกิดที่ใด พระศาสดาตรัสตอบว่า สุปปพุทธกุฏฐิไปเกิดในเทวโลกชั้นดาวดึงส์ พระศาสดายังได้ทรงอธิบายแก่ภิกษุทั้งหลายด้วยว่า ที่สุปปพุทธกุฏฐิเป็นโรคเรื้อนนั้นก็เพราะในอดีตชาติหนึ่งเคยบ้วนน้ำลายต่อหน้าพระตครสิขีปัจเจกพุทธเจ้า

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 66 ว่า
จรนฺติ พาลา ทุมฺเมธา
อมิตฺเตเนว อตฺตนา
กโรนฺตา ปาปกํ กมฺมํ
ยํ โหติ กฏุกปฺปกํฯ

(อ่านว่า)
จะรันติ พาลา ทุมเมทา
อะมิดเตเนวะ อัดตะนา
กะโรนตา ปาปะกัง กำมัง
ยัง โหติ กะตุกับปะกัง.

(แปลว่า)
คนโง่ ปัญญาทราม
มีตนเป็นเหมือนศัตรู
เที่ยวทำกรรมชั่ว
มีผลเผ็ดร้อน.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น.

ฐิตา:

เรื่องชาวนา

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภชาวนาคนหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า น ตํ กมฺมํ กตํ สาธุ เป็นต้น

วันหนึ่ง มีโจรจำนวนหนึ่งขโมยเงินและทองเป็นจำนวนมากจากบ้านของคนรวยคนหนึ่ง แล้วหนีมาแบ่งทรัพย์ที่ขโมยมาในนาของชายผู้หนึ่ง แต่บังเอิญถุงบรรจุทรัพย์ประมาณหนึ่งพันกหาปณะของโจรผู้หนึ่งเกิดหล่นอยู่ในนานั้นโดยที่โจรไม่ทันสังเกต

ในเช้าวันรุ่งขึ้น พระศาสดาทรงตรวจดูสัตว์โลกด้วยพระญาณพิเศษ ทอดพระเนตรเห็นชาวนาซึ่งกำลังไถนามาปรากฏอยู่ในข่ายคือพระญาณ และพระองค์ทรงทราบว่า ชาวนาผู้นี้จะได้สำเร็จพระโสดาปัตติผลในวันนั้น จึงได้เสด็จไป ณ ที่นั้น โดยมีพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ(ผู้ติดตาม) ชาวนาเห็นพระศาสดาแล้ว ได้เข้าไปถวายบังคมแล้วไปไถนาต่อ พระศาสดาไม่ตรัสอะไรๆกับชาวนา เสด็จตรงไปยังที่ที่ถุงบรรจุทรัพย์หนึ่งพันกหาปณะตกอยู่ ทอดพระเนตรเห็นถุงนั้นแล้ว จึงตรัสกะพระอานนทเถระว่า “อานนท์ เธอเห็นไหม อสรพิษ” พระอานนทเถระทูลว่า “เห็น พระเจ้าข้า อสรพิษร้าย” จากนั้นพระศาสดาและพระอานนทเถระก็ได้เสด็จหลีกไปจากที่นั้น ชาวนาได้ยินถ้อยคำนั้นแล้ว ก็ได้เดินไปตรงจุดนั้นโดยเข้าใจว่าจะต้องมีอสรพิษอยู่ที่นั่นจริงๆ แต่แทนที่จะพบอสรพิษกลับพบถุงทรัพย์ เขาจึงนำถุงทรัพย์ไปซ่อนไว้ พวกเจ้าของทรัพย์แกะรอยตามโจรมาถึงนาของชาวนาผู้นั้น และได้พบทรัพย์ที่ถูกซ่อนไว้นั้น จึงได้ทุบตีชาวนาแล้วนำตัวไปเฝ้าพระราชา พระราชามีรับสั่งให้นำตัวเขาไปประหารชีวิต เมื่อชาวนานั้นถูกนำตัวไปที่หลักประหารนั้น เขาได้แต่พูดซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า “ เห็นไหม อานนท์ อสรพิษ เห็น พระเจ้าข้า อสรพิษร้าย” เมื่อราชบุรุษได้ยินคำพูดซ้ำๆของชาวนานี้แล้ว ก็เกิดความสงสัยเลยนำตัวไปเข้าเฝ้าพระราชา พระราชาทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า ชาวนาคงอ้างพระศาสดาเป็นพยาน จึงได้นำตัวชาวนาไปเข้าเฝ้าพระศาสดา หลังจากที่ได้สดับเรื่องที่พระศาสดาทรงเล่าในเช้าวันนั้นแล้ว พระราชาได้ทูลพระศาสดาว่า “พระเจ้าข้า ถ้าชายผู้นี้ไม่อ้างพระองค์เป็นพยาน เขาก็จะต้องถูกฆ่าแน่ๆ” พระศาสดาจึงตรัสตอบว่า “ผู้ฉลาดไม่พึงทำกรรมที่จะนำความเดือดร้อนมาให้ในภายหลัง”

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 67 ว่า
ตญฺจ กมฺมํ กตํ สาธุ
ยํ กตฺวา อะนุตปฺปติ
ยสฺส อสฺสุมุโข โรทํ
วิปากํ ปฏิเสวติฯ

(อ่านว่า)
ตันจะ กำมัง กะตัง
ยัง กัดตะวา อะนุตับปะติ
ยัดสะ อัดสุมุโข โรทัง
วิปากัง ปะติเสวะติ.

(แปลว่า)
ทำกรรมใดแล้ว เดือดร้อนในภายหลัง
ร้องไห้น้ำตานองหน้า
เสวยวิบากของกรรมใด
กรรมนั้นทำแล้ว ไม่ดีเลย.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง อุบาสกชาวนา ได้บรรลุพระโสดาปัตติผล ส่วนภิกษุผู้มาประชุมกันเป็นอันมาก ก็บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น.

ฐิตา:

เรื่องนายสุมนมาลาการ

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภนายมาลาการชื่อสุมนะ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ตญฺจ กมฺมํ กตํ สาธุ เป็นต้น

นายมาลาการชื่อสุมนะ นำดอกมะลิไปทูลเกล้าถวายพระเจ้าพิมพิสารในทุกเช้า วันหนึ่งขณะนายสุมนมาลาการกำลังจะเข้าไปถวายดอกมะลิในพระราชวังนั้น ก็ได้เห็นพระศาสดา มีภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่แวดล้อม ทรงเปล่งพระฉัพพรรณรังสี เสด็จเข้าไปบิณฑบาต เขาเห็นพระศาสดาแล้วเกิดศรัทธา มีความต้องการจะนำดอกไม้ที่นำมาทูลเกล้าถวายพระราชาทูลถวายพระศาสดา เขาได้ตกลงใจว่า แม้ว่าพระราชาจะฆ่าเขาหรือว่าจะขับไล่เขาออกจากแว่นแคว้น เขาก็จะไม่นำดอกมะลิไปทูลเกล้าถวายพระราชา เมื่อคิดเช่นนี้แล้วก็ได้ซัดดอกมะลิไปที่เบื้องบนพระเศียร ที่เบื้องหลัง ที่ทั้งสองข้างของพระศาสดา ดอกมะลิที่ซัดขึ้นไปนั้นล่องลอยอยู่ในอากาศ ดอกที่อยู่เหนือพระเศียรได้รวมตัวกันเป็นเพดาน ส่วนดอกมะลิที่ซัดไปทางสองข้างของพระศาสดาได้รวมตัวกันเป็นกำแพงดอกไม้ ดอกมะลิเหล่านี้ติดตามพระศาสดาในทุกที่ที่เสด็จไป และหยุดเมื่อพระศาสดาทรงหยุดประทับยืน ขณะที่พระศาสดาเสด็จโดยมีดอกมะลิลอยเคลื่อนไหวติดตามไป มีพระฉัพพรรณรังสีเรืองรองสวยงามงาฉายออกมา และติดตามด้วยพระภิกษุสงฆ์จำนวนมากนั้น ประชาชนเป็นจำนวนมากมายทั้งในเมืองและนอกเมืองราชคฤห์ ก็ได้ออกมาจากบ้านมาถวายบังคมพระศาสดา นายสุมนมาลาการเห็นเช่นนั้นก็เกิดปีติปราโมทย์อย่างล้นพ้น

ข้างภรรยาของนายสุมนมาลาการ ได้เข้าไปเฝ้าพระราชากราบทูลว่า นางไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสามีของนางซึ่งไม่ยอมนำดอกไม้มาทูลเกล้าถวายพระองค์แต่กลับนำไปบูชาพระศาสดาแล้ว และว่า “กรรมที่เขากระทำ จะเป็นกรรมดีก็ตาม จะเป็นกรรมชั่วก็ตาม กรรมนั้นจงเป็นของเขาผู้เดียว ขอเดชะ พระองค์จงทราบความที่เขาอันหม่อมฉันทิ้งแล้ว” พระราชา(พระเจ้าพิมพิสาร)ซึ่งพระองค์ก็เป็นพระโสดาปัน ทรงปลื้มพระทัยเมื่อทรงสดับเรื่องนายมาลาการนำดอกไม้บูชาพระศาสดา พระองค์ได้เสด็จออกมาทอดพระเนตรภาพมหัศจรรย์พันลึกนั้น และได้ถวายบังคมพระศาสดา พระราชาได้ทรงถือโอกาสนี้ถวายอาหารบิณฑบาตแด่พระศาสดาและภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย หลังจากเสร็จภัตตกิจแล้ว พระศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ได้เสด็จกลับวัดพระเชตวัน และราชาก็ได้ตามส่งเสด็จพระศาสดาแล้วเสด็จกลับพระราชวัง จากนั้นมีรับสั่งให้ไปนำตัวนายสุมนมาลาการเข้าเฝ้าแล้วพระราชทาน ช้าง 8 ตัว ม้า 8 ตัว ทาสชาย 8 คน ทาสหญิง 8 คน เครื่องประดับใหญ่ 8 อย่าง เงิน 8 พันกหาปณะ นารี 8 นาง และบ้านส่วย 8 ตำบล

ที่วัดพระเชตวัน พระอานนทเถระได้ทูลถามพระศาสดาว่า นายสุมนมาลาการจะได้วิบากผลจากการกระทำกรรมดีในวันนี้อย่างไรบ้าง พระศาสดาตรัสตอบว่า นายสุมนมาลาการได้บูชาพระองค์โดยไม่เยื่อใยในชีวิตเช่นนี้ “จักดำรงอยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย จักไม่ไปสู่ทุคติ ตลอดแสนกัป นี่เป็นผลแห่งกรรมนั้น ภายหลังเขาจักเป็นพระปัจเจกพุทธะ นามว่าสุมนะ” หลังจากที่พระศาสดาเสด็จถึงพระเชตวัน เข้าสู่พระคันธกุฎี ดอกมะลิเหล่านั้นตกลงที่ซุ้มพระทวาร

ในเวลาเย็น ภิกษุทั้งหลายสนทนากันถึงการการกระทำอันยิ่งใหญ่และอาจหาญของนายสุมนมาลาการ และผลทันตาเห็นของการกระทำนั้น พระศาสดาเสด็จมาตรัสกับภิกษุเหล่านั้นว่า “อย่างนั้น ภิกษุทั้งหลาย ความเดือดร้อนในภายหลังย่อมไม่มี มีแต่โสมนัสเกิดขึ้น เมื่อระลึกถึง เพราะการกระทำกรรมใด กรรมนั้นอันบุคคลควรทำ”

ในคืนนั้น เมื่อแสดงธรรม พระศาสดาได้เชื่อมโยงเรื่อง ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 68 ว่า
ตญฺจ กมฺมํ กตํ สาธุ
ยํ กตฺวา นานุตปฺปติ
ยสฺส ปตีโต สุมโน
วิปากํ ปฏิเสวติฯ

(อ่านว่า)
ตันจะ กำมัง กะตัง สาธุ
ยัง กัดตะวา นานุตับปะติ
ยัดสะ ปะตีโต สุมะโน
วิปากัง ปะติเสวะติ.

(แปลว่า)
บุคคลทำกรรมใดแล้ว
ย่อมไม่เดือดร้อนในภายหลัง
เป็นผู้เอิบอิ่ม มีใจดี
ย่อมเสวยผลของกรรมใด
กรรมนั้นแล อันบุคคลทำแล้ว เป็นกรรมดี.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง การตรัสรู้ธรรม ได้บังเกิดแก่สัตว์ 8 หมื่น 4 พัน.

ฐิตา:

เรื่องพระอุบลวรรณาเถรี

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในวัดพระเชตวัน ทรงปรารภพระเถรีนามว่าอุบลวรรณา ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า มธุวา มญฺญตี พาโล เป็นต้น

ครั้งหนึ่ง มีธิดาเศรษฐีในกรุงสาวัตถีอยู่คนหนึ่ง นางมีร่างกายงดงามมาก มีผิวพรรณเหมือนกลีบอุบลเขียว มารดาบิดาจึงตั้งชื่อนางว่า อุบลวรรณา กิตติศัพท์ความงามของนางกระฉ่อนไปไกล จนทำให้มีชายมากมายต้องการได้นางมาเป็นภรรยา ชายเหล่านี้มีทั้งที่เป็นเจ้าชาย ลูกชายเศรษฐี เป็นต้น แต่นางได้ตัดสินใจบวชเป็นภิกษุณี หลังจากบวชเป็นภิกษุณีแล้ว วันหนึ่งนางได้ไปทำหน้าที่จุดประทีปแล้วกวาดโรงอุโบสถอยู่ นางเพ่งตามองที่เปลวประทีป ทำฌานมีเตโชกสิณเป็นอารมณ์ให้เกิดขึ้น แล้วกระทำฌานนั้นให้เป็นบาท บรรลุพระอรหัตตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาและอภิญญาทั้งหลาย

ครั้งหนึ่ง นางอุบลวรรณาเถรี หลังจากออกจาริกไปในชนบท ได้ไปปลีกวิเวกอยู่ที่ป่าอันธวัน วันหนึ่ง ขณะที่นางออกไปบิณฑบาต นันทมาณพ ซึ่งเป็นบุตรของลุงของพระเถรี และหลงรักนางมาตั้งแต่ก่อนที่นางจะมาบวชเป็นภิกษุณี ได้เข้าไปหลบซ่อนตัวอยู่ใต้เตียง โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะใช้กำลังข่มขืนนาง เมื่อนางกลับมาเห็นนันทมาณพก็ได้กล่าวว่า “คนพาล เธออย่าทำลายตนเองเลย คนพาล เธออย่าทำลายตนเองเลย” แต่นันทมาณพไม่ฟัง หลังจากข่มขืนจนสำเร็จความใคร่แล้วก็ได้หลบหนีไป แต่ในทันทีที่เท้าของเขาเหยียบลงบนพื้นดิน แผ่นดินก็ได้แยกออกจากกันสูบเขาไปเกิดในอเวจีมหานรก

เมื่อพระศาสดาสดับเรื่องนี้แล้ว ได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 69 ว่า
มธุวา มญฺญตี พาโล
ยาว ปาปํ น ปจฺจติ
ยทา จ ปจฺจติ ปาปํ
อถ ทุกฺขํ นิคจฺฉติฯ

(อ่านว่า)
มะทุวา มันยะตี พาโล
ยาวะ ปาปัง นะ ปัดจะติ
ยะทา จะ ปัดจะติ ปาปัง
อะถะ ทุกขัง นิคัดฉะติ.

(แปลว่า)
คนโง่ ย่อมสำคัญบาปประดุจน้ำผึ้ง
ตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผล
แต่เมื่อใด บาปให้ผล
เมื่อนั้น คนพาล ย่อมประสบทุกข์.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง คนเป็นอันมาก บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น.

ต่อมาพระศาสดารับสั่งให้เชิญพระเจ้าปเสนทิโกศลมาแล้ว ตรัสกับพระราชาถึงอันตรายที่ภิกษุณีทั้งหลายซึ่งไปอยู่ในป่าจะต้องประสบจากบุคคลชั่วร้ายใช้กำลังข่มเหงหรือข่มขืนนางภิกษุณี พระราชาได้กราบทูลว่าต่อไปพระองค์จะทรงสร้างวัดสำหรับภิกษุณีทั้งหลายอยู่ภายในเมืองหรือไม่ไกลจากเมืองมากนัก.

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version