แสงธรรมนำใจ > ศิษย์โง่ไปเรียนเซ็น

คำสอนเซ็น โพธิธรรมคำสอน:THE ZEN TEACHING OF BODHIDHARMA

<< < (2/2)

ฐิตา:


บทที่ 1 หลักการปฏิบัติธรรม
OUTLINE OF PRACTICE
ถนนหลายสายย่อมนำไปสู่มรรค 1* แต่โดยพื้นฐานแล้ว ย่อมมีทางเพียง 2 ทางเท่านั้น คือภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ การเข้าถึงทฤษฎี หมายถึงการเข้าใจอย่างชัดเจนถึงเนื้อหาสาระในการสอน และความเชื่อที่ว่าสรรพชีวิตย่อมรวมอยู่ในธรรมชาติอันเดียวกัน แต่ความเข้าใจตามหลักทฤษฎีนี้ ไม่เป็นที่แจ่มแจ้งชัดเจน เพราะเราถูกห่อหุ้มด้วยอำนาจแห่งเวทนา และความหลง

สำหรับบุคคลที่ขจัดความหลงออกได้ ย่อมพบความจริง คือบุคคลที่เพ่งพินิจต่อกำแพงธรรม 2* ( สุญญตาธรรม ) อยู่เสมอ ไม่มีความสำคัญมั่นหมายในตนเองและผู้อื่น ย่อมรวมความเป็นปุถุชนและพุทธะเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเป็นผู้ดำรงจิตไว้อย่างมั่นคงไม่คลอนแคลนหวั่นไหวไปกับอำนาจคัมภีร์ตำรา

บุคคลเช่นนั้น ย่อมประสบกับความสำเร็จ และไม่ขัดแย้งกับทฤษฎีด้วย การไม่คลอนแคลนหวั่นไหวไปกับหลักทฤษฎี เรากล่าวว่าบุคคลนั้นเข้าสู่กระแสธรรม

การเข้าสู่กระแสธรรมโดยการปฏิบัติ หมายถึง การปฏิบัติที่ประกอบไปด้วย
หลัก 4 ประการ ( อริยสัจแบบมหายาน ) เหล่านี้คือ
1. การกำหนดรู้ทุกข์
2. การปรับปรุงแก้ไขทุกข์อยู่เสมอ
3. การไม่มีความทะเยอทะยาน
4. การเจริญภาวนาธรรม ( อริยมรรค )

ประการที่ 1. การกำหนดรู้ทุกข์ เมื่อแสวงหาอริยมรรค ย่อมเผชิญกับความยากลำบาก ผู้แสวงหาย่อมคิดถึงตัวเอง ( ด้วยความท้อถอยว่า ) “ ในกัป กัลป์ที่ผ่านไป อันกำหนดนับไม่ได้นี้ ฉันได้ใช้ชีวิตสิ้นเปลืองไปกับสิ่งไร้สาระ และเวียนว่ายไปในภพภูมิต่าง ๆ มากมาย บ่อยครั้งที่เราโกรธอย่างไร้เหตุผล และละเมิดฝ่าฝืนทำสิ่งผิดนับครั้งไม่ถ้วน

มาบัดนี้ แม้จะไม่ได้ทำผิดอะไรเลย แต่เราก็ต้องถูกลงโทษด้วยอดีตกรรม เมื่อกรรมชั่วให้ผลตอบสนอง ทั้งเทวดาและมนุษย์ก็ไม่อาจมองเห็น ฉันจะก้มหน้ารับผลกรรมอันนี้ด้วยจิตใจที่เปิดเผย และจะไม่คร่ำครวญพร่ำบ่นถึงความไม่เป็นธรรม”

พระสูตรกล่าวว่า “ เมื่อท่านพบกับความทุกข์ยากลำบาก อย่าเสียใจ เพราะมันจะทำให้เกิดอุปาทาน ” เมื่อเข้าใจเช่นนี้ ชื่อว่าท่านทำถูกต้องกับทฤษฎี และการกำหนดรู้ทุกข์ย่อมทำให้ท่านเข้าสู่กระแสแห่งอริยมรรค

ประการที่ 2. การปรับปรุงแก้ไขทุกข์อยู่เสมอ ในฐานะเราเป็นสัตว์ที่ต้องตาย เราถูกสังขารธรรมทั้งหลายครอบงำ ไม่ใช่ตัวเราเอง ความทุกข์ความสุขที่เราได้รับล้วนเกิดจากสังขาร ( การปรุงแต่งกาย – ใจ ) เราจะไม่มีความรู้สึกเป็นสุข

ถ้าเราประสบโชคอันยิ่งใหญ่ เช่น ชื่อเสียง โภคทรัพย์ เป็นต้น อันเป็นผลของบุญกุศลอันเราได้บำเพ็ญไว้ในอดีตกาล เมื่อเหตุปัจจัยเปลี่ยนแปลงโชคลาภก็หมดไป

ทำไมเราต้องยินดีพอใจในชีวิตเช่นนั้นด้วยเล่า ? เมื่อความสำเร็จและความล้มเหลวต่างก็เป็นสังขารธรรมทั้งนั้น จึงไม่ควรปล่อยจิตใจให้ฟู – แฟบไปกับสังขารเหล่านั้น ผู้ดำรงจิตไว้อย่างมั่นคง ไม่หวั่นไหวไปกับกระแสแห่งความสุข , ความทุกข์ ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติตามอริยมรรคอย่างเงียบ ๆ

ประการที่ 3. การไม่มีความทะเยอทะยาน คนในโลกนี้ถูกความหลงครอบงำ พวกเขาจึงมักหมกมุ่นมัวเมาอยู่กับโลกธรรม ด้วยความหลงละเมอทะเยอทะยาน แต่ผู้รู้ ( วิญญูชน ) ย่อมตื่นตัว ท่านเหล่านั้นย่อมเลือกทำตามเหตุผลมากกว่าความเคยชิน และมีโยนิโสมนสิการ คือ ทำทุกสิ่งไว้ด้วยใจอันแยบคาย และปล่อยร่างกายให้เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล

ปรากฏการณ์ ( รูป – นาม ) ทุกอย่างเป็นของว่างเปล่า ไม่มีคุณค่าควรแก่การทะยานอยาก ความเสื่อมกับความเจริญ 4* เกิดขึ้น และดับไปสลับกันอยู่ตลอดเวลา ความยินดีพอใจอยู่ในภพทั้งสาม 5* เป็นเสมือนการอาศัยอยู่ในเรือนที่ไฟกำลังไหม้อยู่ การมีกายนี้จึงเป็นทุกข์

มีใครบ้างที่อาศัยกายนี้แล้ว พบกับความสงบสุข บรรดาผู้ที่เข้าใจสัจจธรรมข้อนี้ ย่อมถ่ายถอนตนเองออกจากภพทั้งปวง และหยุดการปรุงแต่ง หรือทะยานอยากในสิ่งใด ๆ

พระสูตรกล่าวว่า “ การแสวงหาด้วยความทะยานอยากย่อมเป็นทุกข์ , การไม่แสวงหาด้วยความอยากย่อมเป็นสุข ” เมื่อไม่ทะยานอยาก ท่านดำรงอยู่ในกระแสแห่งอริยมรรค

ประการที่ 4. การเจริญภาวนาธรรม 6* คำว่า ธรรม หมายถึงปรมัตถสัจจะซึ่งถือว่าธรรมชาติทั้งปวงเป็นสิ่งบริสุทธิ์ด้วยธรรมสัจจะนี้ ปรากฏการณ์ทั้งปวงจึงเป็นความว่างกิเลส,ตัณหาและอุปาทาน ทั้งที่เป็นอัตตวิสัยและภาวะวิสัยเป็นภาวะที่ไม่มีอยู่จริง

พระสูตรกล่าวว่า “ ธรรมะ ” เป็นนิชชีวะ คือ มิใช่สัตว์บุคคลเพราะว่างเปล่าจากความมั่นหมายจากสัตว์บุคคล และธรรมะเป็นอนัตตาเพราะว่างเปล่าจากความมั่นหมายแห่งความเป็นตัวตน ( ที่จะปฏิบัติตาม )

บุคคลผู้นั้นย่อมอุทิศทั้งกายชีวิต ตลอดถึงทรัพย์สมบัติให้เป็นทานโดยไม่เสียดายและไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ จากการให้ ไม่ว่าเป็นวัตถุข้าวของเงินทองและไม่มีความลำเอียงยึดติดในการให้ทาน และช่วยสั่งสอนให้ผู้อื่นได้ขัดเกลากิเลส โดยไม่มีความยึดมั่นถือมั่นในรูปแบบ

ดังนั้นเมื่อตนเองปฏิบัติได้สำเร็จแล้ว ก็สามารถช่วยเหลือผู้อื่น และทำให้เขาได้เข้าถึงธรรมได้อย่างสมบูรณ์เช่นกัน เพราะการเอื้ออาทรต่อผู้อื่นก็เป็นการบำเพ็ญบารมีธรรมไปด้วย และเมื่อบำเพ็ญบารมีธรรมทั้ง 6 ประการ 7* นั้นก็ช่วยกำจัดความหลงของตนเองไปด้วย ซึ่งไม่ต้องไปบำเพ็ญคุณธรรมอย่างอื่น ๆ อีก (นอกจากบารมีธรรม 6 ประการ )

เมื่อตั้งอยู่ในคุณธรรมเหล่านี้ ก็ไม่ต้องปฏิบัติธรรมอันอื่นอีกก็ได้ นี้ความหมายของคำว่า “ การปฏิบัติธรรม ”

( จบบทที่ 1 ) 

ฐิตา:

    เชิงอรรถบทที่ 1

1* เมื่อพระพุทธศาสนามาสู่ประเทศจีน “ เต๋า ” เคยถูกแปลว่า “ ธรรม ” และ “ โพธิ ” ที่ถูกมองเช่นนี้เพราะพุทธศาสนาถูกมองว่า เป็นศาสนาจากต่างด้าว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเต๋า ในธรรมเทศนา กล่าวว่า “ มรรค คือ เซ็น ”

2*หลังจากที่ท่านมาถึงจีน ท่านโพธิธรรมได้ใช้เวลา 9 ปี โดยการนั่งกรรมฐานหันหน้าสู่กำแพงหิน ณ ถ้ำใกล้ ๆ วัดเส้าหลิน คำว่ากำแพงตามความหมายของท่านโพธิธรรม คือความว่าง ที่สัมพันธ์กับสิ่งตรงข้ามทุกสิ่ง รวมทั้งตนเองและผู้อื่น , คนพาลหรือบัณฑิต

3* อริยสัจมีความแตกต่างกันคือ ก.ทุกชีวิตถูกครอบงำด้วยความทุกข์ (ทุกขสัจจ์ ) ข. ทุกข์เกิดแต่เหตุ ( สมุทัยสัจจ์ ) ค. เหตุแห่งทุกข์สามารถทำให้หมดได้ ( นิโรธสัจจ์ ) ง. ทางให้ถึงความดับทุกข์คือ อริยมรรคมีองค์ 8 ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาเซ็น ( สัมมาสมาธิ )

4* เทพเจ้าทั้งสอง สามารถให้ผลตอบสนองทั้งโชคร้ายและโชคดีตามลำดับ เรื่องนี้มีอยู่ในบทที่ 12 ของนิพพานสูตร

5* ความเหมือนระหว่างจิตวิทยาพุทธศาสนาและไตรภูมิ ของจักรวาลวิทยา ในศาสนาพราหมณ์ คือการใช้คำเหล่านี้ ภูระ , ภูวะ , และ สวระ หรือโลก , บรรยากาศและสวรรค์ ไตรภูมิในพระพุทธศาสนารวมเอากามธาตุเข้าด้วย หรือเรียกว่า กามจรภูมิ - นรก หรือภูมิทั้ง 4 ของมนุสสโลก และสัตว์โลกและสวรรค์หกชั้นแห่งอิฏฐารมณ์ รูปธาตุหรือรูปาวจรภูมิสวรรค์ 4 ชั้น ของสมถะและอรูปธาตุหรือ อรูปาวจรภูมิของวิสุทธิจิต คือความว่าง 4 ระดับ อรูปฌาน 4 สภาวะรวมกันเข้าแล้ว ภูมิทั้งสามเป็นองค์ประกอบของภพสามในบทที่สามของ ปุณฑริกสูตร ( LOTUS SUTRA ) ภูมิสามปรากฏเสมือนบ้านที่กำลังถูกไฟไหม้ดังนั้นการอาศัย ภพทั้งสาม ( กามภพ , รูปภพ , อรูปภพ ) ก็เหมือนอาศัยอยู่ในบ้านที่กำลังถูกไฟไหม้

6* ศัพท์สันสกฤตคำว่า ธรรมะ มาจาก “ ธฺรี ” (Dhri) ธาตุ หมายถึง การทรงไว้, ถือไว้ และหมายถึงสิ่งใดก็ตามที่ถือว่าเป็นความจริงซึ่งแสดงความหมายในทางดีหรือสูงสุด

7* คำว่า ปารมิตา หมายถึง ฝั่งอีกฝั่งหนึ่ง คือ ทาน ศีล ขันติ จาคะ สมาธิและปัญญา ธรรมทั้ง 6 ประการทั้งหมดนี้จะต้องปฏิบัติเพื่อถ่ายถอนออกจาก มิจฉาทิฏฐิ กรรม และวัตถุกามทั้งหลาย เพื่อขจัดโมหะ

ฐิตา:




บทที่ 2 ธรรมเทศนาดุจกระแสเลือด
( โลหิตสูตร )
BLOOD STREAM  SERMON
คลิ๊กค่ะ : http://www.tairomdham.net/index.php/topic,220.0.html

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version