Spring, Summer, Fall, Winter...and Spring วงจรชีวิตกิเลสมนุษย์ ชีวิตมนุษย์ก็ไม่ต่างจากการหมุนเวียนของฤดูกาล สดใสร่าเริงเหมือนฤดูใบไม้ผลิ บางครั้งอาจร้อนรุ่มราวแดดแผดเผา บางคราก็แห้งแล้งเหมือนใบไม้ร่วง และบางช่วงก็หนาวจับขั้วหัวใจ
ฤดูกาลที่เปลี่ยนผ่าน ก็เปรียบดังวัฏสังสาร ที่ดำเนินไป แล้วก็ไหลย้อนกลับมาซ้ำเดิม
2-3 ปีก่อน บังเอิญเห็นภาพวัดลอยน้ำกลางหุบเขา จำไม่ได้ว่ามาจากหนังเรื่องอะไร แต่ติดใจความงดงามของอารามบนแผ่นน้ำที่นิ่งสนิทและใสราวกระจก กระทั่งวันหนึ่งก็ได้เจอหนังเรื่องนี้ในร้านเช่าวีซีดี ถึงได้รู้ว่าภาพที่ติด ใจนั้นมาจากหนังเรื่อง
Spring, Summer, Fall, Winter ...and Spring ในชื่อภาษาไทยว่า
“วงจรชีวิต กิเลสมนุษย์” เป็นหนังเกาหลี แต่ก็ไม่มีอะไรเหมือนบรรดาหนังเกาหลีสุดฮิตที่บ้านเราติดกันงอมแงมอยู่ในขณะนี้
เพราะนอกจากภาพสวยสะกดสายตาแล้ว เนื้อหาของหนังก็ยังสะกิดใจ ด้วยตัวละครไร้ชื่อ และบทสนทนา ที่มีน้อยแทบนับประโยคได้ แต่ภาษาภาพนั้นมากมาย อย่างที่เรียกได้ว่าแทนคำนับพัน
ลามะวัยกลางคนกับศิษย์น้อยเยาว์วัย อาศัยอยู่ในวัดกลางน้ำ ในหุบเขาที่ล้อมด้วยป่าอันเงียบสงบ ปฏิบัติธรรม ด้วยวิถีแห่งพุทธ ดำเนินชีวิตตามสภาพแวดล้อม และครรลองของธรรมชาติ แต่ละฤดูกาล เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่ง ท้องฟ้า ใบไม้ สายน้ำ ท่ามกลางเวลาที่ไม่เคยหยุดนิ่ง อาจารย์ไม่มีคำสอน แต่ให้ศิษย์เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติเด็กน้อยเล่นสนุกตามวัย มัดหินก้อนใหญ่ไว้บนหลังของ สัตว์เล็กๆที่จับได้ ดูพวกมันกระเสือกกระสนอย่างลำบากด้วยความบันเทิงใจ
จนรุ่งขึ้น เมื่ออาจารย์มัดหินก้อนใหญ่ใส่หลังของตนบ้าง เด็กน้อยจึงรู้สึกหนัก อ้อนวอนอาจารย์แก้มัดให้ อาจารย์กลับบอกให้ศิษย์ไปแก้มัดสัตว์ที่น่าเวทนาเหล่านั้นก่อน
“หากพวกมันตาย ก้อนหินจะติดตัวเจ้าไปตลอดชีวิต”
การผูกมัดนั้นง่าย แต่การตามแก้ไขช่างยากเย็น เช่นเดียวกับเด็กน้อยที่ต้องเข้าป่า ตามหาสัตว์ตัวจ้อย ที่ตนทรมาน หรือว่าอาจารย์กำลังใช้ก้อนหินเป็นเครื่องมือสอนลูกศิษย์ในเรื่องของ ‘กรรม’ฤดูกาลเปลี่ยนไป ศิษย์น้อยเติบโตเป็นเด็กหนุ่มผู้สุขุมหมดจด แต่แล้วชีวิตก็ให้บททดสอบครั้งใหญ่ เมื่อเด็กสาวคนหนึ่งเข้ามาพำนักในอารามเพื่อรับการบำบัด เด็กหนุ่มพ่ายแพ้ต่อกิเลสตัณหา สร้างความสัมพันธ์อันซ่อนเร้น และหนีจากวัดตามคนรักไปสู่โลกภายนอก ที่เขาไม่เคยสัมผัส
ก่อนหน้านั้น เราได้เห็นห้องที่ไร้ผนัง แต่กลับมีบานประตู ทั้งอาจารย์และศิษย์ผ่านเข้าออกทางประตูอย่างเคร่งครัด แต่เมื่อถึงคราวศิษย์หนุ่มน้อยจะหนีจากอาจารย์ไป เขากลับไม่ใช้ประตู หากแต่ก้าวทะลุฝาผนังที่ว่างเปล่า!!
หรือประตูนั้นคือพระธรรมวินัยที่เป็นเสมือนเกราะป้องกันชีวิต?ฤดูกาลผันเปลี่ยนอีกครั้ง ศิษย์หนุ่มล้มลุกคลุกคลาน กลับมาหาพระอาจารย์ หอบเอาโทสะและโมหะจากความล้มเหลวในชีวิตกลับมาด้วยท่าทีแข็งกร้าว ราวกับเป็นคน ละคนกับหนุ่มน้อยที่เคยนอนมองเมฆบนท้องฟ้าอย่างมีความสุข ชีวิตทางโลกโหดร้ายกับเขา หรือเป็นเพราะเขาไม่สามารถเข้าถึงธรรมะที่แท้
เราได้เห็นฉากเล็กๆที่ศิษย์หนุ่มขโมยพระพุทธรูปหินไปในวันที่เขาจากวัด ดูเหมือนเขาจะแบกพระพุทธรูปติด ตัวไว้ตลอดเวลา แต่สภาพของเขาบอกเราว่า จริงๆแล้ว ธรรมะต้องอยู่ในใจ
ราคะจริตชักนำให้ชายหนุ่มทำผิดร้ายแรง เมื่อเจ้าหน้าที่ ติดตามมาถึงวัดกลางน้ำ เพื่อนำตัวเขากลับไปรับโทษตามกฎหมาย ขณะที่พระอาจารย์กลับขอเวลา เพื่อมอบบทเรียน แห่งธรรมให้ศิษย์เป็นครั้งสุดท้าย
เรื่องดำเนินไปพร้อมฤดูเดิมที่เวียนกลับมาใหม่ ฤดูที่พระอาจารย์ได้จากไปแล้ว และศิษย์หนุ่มกลับมา ขณะหนึ่ง เขายืนมองอารามกลางน้ำในตำแหน่งเดียวกับที่เคยยืนเมื่อครั้งเยาว์วัย ครั้งก่อนนั้น ยามอยู่ในอาราม เขารู้สึกว่าเวิ้งน้ำ กว้างใหญ่ แต่เมื่อปีนขึ้นไปบนยอดเขาแล้วมองลงมา กลับเห็นอารามหลังกระจ้อยร่อยลอยอยู่กลางวงน้ำเล็กๆ
โลกเปลี่ยนไปเมื่อเรามองในมุมที่ต่างจากเดิม อีกทั้งยังลึกซึ้งขึ้นเมื่อมองในวันวัยที่เปลี่ยนแปลง
Spring, Summer, Fall, Winter...and Spring เป็นผลงานของ
คีม คี ดุ๊ก ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวเกาหลีใต้ที่เพิ่ง ได้รับรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์เบอร์ลินปี 2005หนังเต็มไปด้วยรายละเอียดและภาพที่แฝงสัญลักษณ์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนฤดู การพายเรือไปมา ระหว่างวัดและฝั่ง ระดับน้ำที่ขึ้นลง ประตูแต่ละบาน นานาสัตว์ทั้งแมว ไก่ เต่า ปลา กบ และงู รวมถึงภาพความสัมพันธ์ระหว่างหญิงชาย การกระทำอัตวินิบาตกรรม หญิงสาวผู้ปิดบังใบหน้า หรือแม้แต่การแกะสลักพระพุทธรูปด้วยน้ำแข็งที่ย่อมละลายไปในที่สุด
นอกจากการกำกับแล้ว คิม คี ดุ๊ก ยังร่วมแสดงเอง ในฤดูสุดท้าย เมื่อลามะวัยกลางคนลากหินก้อนใหญ่ขึ้นสู่ยอดเขา เพื่อไตร่ตรองถึงคำสอนของพระอาจารย์เมื่อครั้งยังเยาว์ เขากล่าวถึงผลงานชิ้นนี้ว่า
“ผมตั้งใจที่จะบรรยายความรื่นเริงสดใส ความโกรธเกรี้ยว ความโศกเศร้า และความสุขในชีวิตของคนเรา ผ่านแต่ละฤดูกาล และผ่านชีวิตของพระรูปหนึ่งในวัดกลางทะเลสาปที่รอบกายมีเพียงธรรมชาติอันเงียบสงบ”เป็นหนังที่ดูแล้วอิ่มตาอิ่มใจ ทั้งยังทิ้งข้อสงสัยให้ขบคิด ต่อไม่รู้จบ เพราะหนังตีความได้หลายระดับ แต่ละระดับก่อ ให้เกิดทั้งคำถามและคำตอบที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและจิตใจของมนุษย์
การตีความตามประสบการณ์และฐานคิดที่ต่างกัน คงทำให้การต่อยอดความคิดหลังการดูหนังเรื่องนี้แตกแขนงไปมากมาย แถมฉากเดียวกัน อาจตีความไปคนละทาง เข้าทำนอง....สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม อีกคนตาแหลมคม มองเห็นดาวอยู่พราวพราย
แต่อย่างน้อย สิ่งหนึ่งที่ได้ คือการตั้งคำถามกับตัวเองเพื่อ ทบทวนว่า ในขณะที่โลกหมุนไป ชีวิตดำเนินไป เราเรียนรู้อะไรบ้างจากการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 84 พ.ย. 50 โดย เรืองพิลาศ)
ซาวแทรคหนัง
http://www.youtube.com/watch?v=yNSWWgINlCA#wsเพลงนี้ แฟนคลับ ตัดต่อ
http://www.youtube.com/watch?v=UHRhjqi_GXo#ws