วิถีธรรม > กฏแห่งกรรม-ชาติภพ

“ หลุมถ่านเพลิง ” อนุปุพพิกถา ตอนที่ ๗

<< < (2/3) > >>

ฐิตา:


ดังท่านอุปมาการประพฤติพรหมจรรย์ที่เป็นความลำบาก เหมือนกับว่าถูกแทงด้วยหอก ๓๐๐ เล่ม
และถูกแทงอยู่ทุกวันตลอดเวลา ๑๐๐ ปีแต่การประพฤติพรหมจรรย์ที่เป็นทุกข์ลำบากอย่างนี้
แล้วเป็นเหตุให้ถึงพระนิพพานพ้นจากวัฏฏะได้ก็ยังประเสริฐกว่าความยินดีในกามที่เห็นว่ามีความสุข ก็จะเป็นเหตุให้ต้องท่องเที่ยวเป็นทุกข์ไปในสังสารวัฏฏ์ไม่มีที่สิ้นสุด

เพราะจะถูกชาติชราพยาธิมรณะเบียดเบียนอยู่ตลอดไปซ้ำแล้วซ้ำอีกที่ต้องไปเกิด
ในเทวดาบ้างในมนุษย์บ้าง
หรือว่าไปเกิดในกำเนิดของสัตว์เดรัจฉานบ้างในหมู่อสุรกาย เปรต และสัตว์นรก
ก็ยิ่งจะต้องประสบกับความทุกข์มากมาย
เพราะว่าในอบายนั้นมีการเบียดเบียนทำร้ายกันและมีความทุกข์แสนสาหัสหาประมาณไม่ได้เลย
ถึงแม้ว่าการที่จะได้มาเกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดาก็ไม่ใช่ว่าจะมีความสุขอยู่ตลอดกาล
เพราะฉะนั้นถึงไปเกิดเป็นเทวดา
ถ้าไม่ประพฤติพรหมจรรย์แล้วการไปเกิดเป็นเทวดานั้นก็ไม่อาจที่จะช่วยให้พ้นจากภพชาติการเกิดไปได้

เพราะไปเป็นเทวดามัวแต่ไปเพลิดเพลินในกามสุข ก็เป็นเหตุให้หลงเพลิดเพลินยินดีเป็นโลภะ
การไปเกิดเป็นเทวดาก็ช่วยให้พ้นทุกข์ไม่ได้ เพราะเหตุว่ายังมีความเร่าร้อนอยู่ด้วยกามราคะ
การยินดีในกามก็จะต้องประสบกับความทุกข์ความคับแค้นมาก
เพราะโลกียสุขนั้นมีความแปรปรวน ปรุงแต่งให้เกิดทุกข์เรื่อยไป

ด้วยเหตุนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ตรัสว่า “ สุขอื่นอันยิ่งกว่าสุขคือพระนิพพานไม่มี ”
พระนิพพานนั้นเป็นสุขอย่างยิ่ง
เพราะฉะนั้นชนเหล่าใดที่มาประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ชนเหล่านั้นก็สามารถที่จะบรรลุ พระนิพพาน พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้
และในวันนี้แหละลูกก็จะออกบวชคือไม่ปรารถนาที่จะบริโภคกามอีกต่อไป

และพระนางก็บอกว่ากามนี้ไม่มีสาระแก่นสาร เพราะกามทั้งหลายลูกเบื่อแล้ว
คือเป็นเสมือนกับของที่คายออกแล้ว ก็เป็นเหมือนอย่างกับรากสุนัข เป็นของสกปรก
พระนางไม่ยินดีแล้วในกาม เปรียบเหมือนกับว่าเป็นตาลยอดด้วน
ที่ชื่อว่าตาลยอดด้วน ก็หมายถึงว่าต้นตาลถ้าหากว่าไม่มียอดแล้วก็ถึงแก่ความตายฉันใด
เพราะฉะนั้นนางก็บอกว่านางตายแล้ว
ขาดแล้วจากกามฉันนั้น คือไม่ปรารถนาไม่ยินดีในกาม วันนี้นางก็จะออกบวช

ขณะที่พระนางกำลังกราบทูลพระชนกชนนีอยู่อย่างนั้น พระเจ้าอนิกรัตตะ
ก็เสด็จมาถึงกรุงมันตาวดี พอพระนางสุเมธาทราบ ก็ใช้พระขรรค์ตัดพระเกสา
แล้วก็ทรงปิดปราสาท เอาผมเป็นกสิณมนสิการให้เห็นว่าเป็นของปฏิกูล
ขณะที่บริกรรมอยู่นั้นก็เป็นเหตุให้พระนางได้บรรลุ ปฐมฌาน ออกจากฌานแล้ว
ก็ยกองค์ฌานขึ้นสู่ วิปัสสนา เห็นความไม่เที่ยงของ องค์ฌาน นั้น

เพราะเหตุว่าในอดีตชาติพระนางได้เคยทำฌานทำวิปัสสนามามากมายในอดีตภพ
เพราะฉะนั้นเมื่อมีความปรารถนาที่จะออกจากกามจริง ๆ แล้ว
จิตใจมุ่งอยู่ที่จะถึงพระนิพพาน ต้องการความพ้นทุกข์
ก็เป็นเหตุให้พระนางปฏิบัติธรรม ทำให้ บรรลุธรรม นั้นได้โดยสะดวก

ฐิตา:



ฝ่ายพระเจ้าอนิกรัตตะ เมื่อเสด็จมาถึงแล้ว
ก็เข้าไปหาพระนางสุเมธาอ้อนวอนขอให้พระนางทรงวิวาห์กับพระองค์
แต่พระนางก็บอกว่า กามทั้งหลายนางตัดขาดแล้ว โมหะของนางก็ปราศไปแล้ว จึงได้ทูลพระเจ้าอนิกรัตตะว่าอย่าได้ทรงเพลิดเพลินในกามเลยจงเห็นโทษของกามเถิด เพราะว่าความอิ่มในกามทั้งหลายย่อมไม่มีดังเช่นพระเจ้ามันธาตุราช ซึ่งเป็นพระเจ้าจักรพรรดิที่เป็นเจ้าแห่งทวีปทั้ง ๔ มีชมพูทวีปเป็นต้น ทรงเป็นยอดของผู้ที่บริโภคกามอย่างดีเลิศ

คือได้บริโภคกามทั้งในมนุษย์คือในขณะที่ท่านเป็นพระเจ้าจักรพรรดิก็ได้รับความสุขในมนุษย์และเทวดาคือท้าวสักกะก็ยังมาเชิญพระองค์ให้ไปเสวยความสุขในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ คือมารับเอาพระเจ้ามันธาตุราชไปเสวยความสุขอยู่ในชั้นดาวดึงส์ จนกระทั่งสิ้นอายุของท้าวสักกะไปถึง ๓๖ พระองค์ ท้าวมันธาตุราชก็ยังไม่ตายแต่ก็ยังไม่ทรงอิ่มในกาม ผลที่สุดก็ต้องกลับมาเมืองมนุษย์แล้วก็เสด็จสวรรคตไปทั้งที่ความปรารถนาของพระองค์นั้นยังไม่ได้เต็มเลย

แล้วพระนางสุเมธาก็ยังเปรียบอีกว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ ถึงแม้ว่าเทวดาจะหลั่งรัตนะ คือทำรัตนะให้ตกลงมาเป็นฝนตลอดโดยรอบของบุรุษทั้ง ๑๐ ทิศ บุรุษเหล่านั้นก็ไม่รู้จักอิ่มในกามและทั้ง ๆ ที่ไม่อิ่มในกามก็ต้องพากันตายไป และยังบอกอีกว่าถึงแม้ว่าฝนนั้นที่เป็นพวกกหาปณะต่าง ๆ ที่ตกลงมาจะมากมายเท่าไร ความอิ่มในกามของคนทั้งหลายก็ย่อมไม่มีที่สุด ในที่สุดก็ต้องตายจากไป พระนางจึงได้แสดงโทษของกามให้พระเจ้าอนิกรัตตะฟังต่อไปอีก โดยเปรียบกามทั้งหลายให้พระเจ้าอนิกรัตตะฟัง

คือเปรียบกามว่าเหมือน “ ดาบและหลาว ” ที่เปรียบว่าเหมือนดาบและหลาว ก็เพราะอรรถว่าดาบมีหน้าที่คอยตัดศีรษะของสัตว์โลกให้ตายไปไม่มีที่สิ้นสุด จึงได้เปรียบกามว่าเหมือนกับดาบและหลาวทั้งหลาย

และยังเปรียบกามว่าเป็นเหมือนหัวงูดังที่กล่าวไปแล้วว่ามีภัยเฉพาะหน้า คือคนเห็นงูก็จะต้องตีงู กามก็เหมือนกันถ้าหากว่าใครไปหลงติดในกามก็มีภัยที่จะต้องคอยระวังมาก อย่างเช่นคนที่ยินดีในกามก็จะถูกทำร้ายให้เจ็บป่วยต่าง ๆ ฉะนั้นจึงได้ เปรียบกามว่าเป็นเหมือนกับหัวงู

และกามทั้งหลายยังเปรียบเหมือน “ คบเพลิงหญ้า ” เพราะอรรถว่าเผาคือใครที่ถือคบเพลิงหญ้า ถ้าหากว่าไม่ปล่อยคบเพลิงหญ้า ๆ ก็จะลุกไหม้เผาลนผู้นั้นให้ถึงแก่ความตาย ผู้ที่ยินดีในกามก็เหมือนกันทั้ง ๆ ที่ยังไม่อิ่มในกาม กามนั้นก็เผาให้เร่าร้อนเหมือนกับถูกไฟไหม้ผลที่สุดก็ต้องตายไป



ฐิตา:




จึงได้เปรียบกามว่าเหมือนกับคบเพลิงหญ้า และกามทั้งหลายยังเปรียบเหมือนกับ
“ ท่อนกระดูก ” เพราะอรรถว่ามีรสอร่อยน้อย
คือท่อนกระดูกไม่มีรสอร่อยเท่าไร แต่ว่าผู้บริโภคไม่รู้ถึงความจริง คือที่ว่าอร่อย
ความจริงก็อร่อยในน้ำลายของตัวเอง ท่านจึงได้เปรียบกามว่าเหมือนท่อนกระดูก
คือจะบริโภคเท่าไรก็ทำให้เพลิดเพลินแต่ว่าไม่ทำให้อิ่มได้

เพราะกามจะบริโภคเท่าไรก็ไม่รู้จักอิ่ม และกามทั้งหลายท่านก็ยังเปรียบว่า
เป็นของที่ไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน มีทุกข์มาก มีพิษมาก
เพราะว่าเป็นมูลรากแห่งทุกข์ คือทำให้มีภพชาติการเกิดนั่นเอง

และท่านยังได้เปรียบกามทั้งหลายว่าเหมือนกับ “ ก้อนเหล็ก ” ที่ร้อนโชน
แต่ผู้ที่ไม่รู้ว่าเหล็กร้อนไปจับเข้า เป็นเหตุให้ต้องได้รับความทุกข์แสนสาหัส
เหมือนกับคนที่ไม่เห็นโทษของกาม
ไปเพลิดเพลินยินดีในกาม ก็ต้องเป็นทุกข์ท่องเที่ยวไปไม่มีที่สิ้นสุด

และกามทั้งหลายยังเปรียบด้วย “ ผลไม้ ” เพราะอรรถว่าถูกหักราญ หมายความว่า
ต้นไม้ที่มีผลดกก็จะถูกบุคคลทั้งหลายเก็บกิน คือถูกสอยบ้างถูกหักกิ่งหรือว่าตัดรานกิ่ง
เก็บเอาผลลงมาทำให้ต้นไม้นั้นย่อยยับลงไปฉันใด คนที่หลงกามมาก ๆ ก็เช่นกัน
ย่อมจะเป็นทุกข์ฉันนั้น
คือทำให้ต้องถูกฟัน ถูกยิง ถูกผ่าตัดอวัยวะ เพราะเหตุที่ หลงในกาม แย่งกามกันกิน

และกามทั้งหลายท่านยังเปรียบด้วย “ ชิ้นเนื้อ ” เพราะอรรถว่าเป็นของสาธารณะ
คือชิ้นเนื้อเป็นที่ชอบใจของสัตว์ทั้งหลาย
ฉะนั้นใครที่เห็นชิ้นเนื้อแล้วต่างก็แย่งชิงกันที่จะเอามาเป็นเจ้าของ ก็เป็นเหตุุุ
ให้เกิดการต่อสู้กัน ทำให้ได้รับทุกขเวทนาเจ็บป่วยไปต่างๆ ก็เพราะความปรารถนาในกาม



pics :F/B >> Sim Lo

ฐิตา:





และกามทั้งหลายท่านยังเปรียบด้วย “ ความฝัน ” เพราะอรรถว่า ปรากฏขึ้นมานิดหน่อย
คือเป็นของหลอกลวงซึ่งไม่ใช่ของจริง
ท่านจึงเปรียบว่าเหมือนกับเป็นมายากลของคนเล่นกล คือความฝัน พอตื่นขึ้นมาแล้ว
ความฝันก็หายไปหมด กามทั้งหลายที่เราหลงเพลินยินดีก็มีความไม่เที่ยง

คือเกิดขึ้นแล้วก็หมดไปเช่นกัน ยังหลอกลวงให้เราหลงยินดีเพลิดเพลินทำให้เกิดทุกข์โทษต่าง ๆ
ท่านจึงได้เปรียบกามว่าเหมือนกับความฝัน คือยินดีเดี๋ยวเดียวเท่านั้นเอง
ความยินดีก็หายไปเหมือนกับความฝันที่ตื่นขึ้นมาแล้วก็หายไปหมดฉะนั้น

และกามทั้งหลายท่านยังเปรียบเหมือน “ ของที่ยืมเขามา ” เพราะอรรถว่าเป็นของใช้ได้ชั่วคราว
คือของที่เรายืมเขามาก็เพียงแต่ให้เกิดความยินดีนิดหน่อย
คือเอามาใช้แก้ทุกข์ได้ชั่วคราว แล้วก็ต้องส่งคืนเขาไป และการจะส่งคืนเขาไป
ก็ให้มีการอาลัยอาวรณ์ในสิ่งนั้น ไม่อยากจะส่งคืนสิ่งนั้นไป แต่ก็ต้องส่งเขาไป
เพราะผู้ยินดีในกาม ในที่สุดตัวเองก็ต้องตาย





กามทั้งหลายท่านยังเปรียบเทียบด้วย “ หอกและหลาว ” เพราะอรรถว่าทิ่มแทงขันธ์ ๕
ให้เกิดทุกขเวทนาเจ็บป่วยอยู่เสมอทั้งกายและใจ
คือผู้ใดที่ไปพัวพันในกามที่จะไม่เกิดความทุกข์กายทุกข์ใจย่อมไม่มีเลย

กามทั้งหลายก็ยังเปรียบเหมือน “ หัวฝี ” เพราะว่าเป็นที่ไหลออกของสิ่งที่ไม่สะอาด
เหมือนกามเป็นที่ไหลออกของกิเลส
คือทำให้เกิดทุกข์เกิดความลำบากยุ่งยากให้ถึงแก่ความตายไม่มีที่สิ้นสุด

กามทั้งหลายก็ยังเปรียบเหมือนกับ “ หลุมถ่านเพลิง ” เพราะอรรถว่าทำให้ร้อน
อย่างยิ่ง คือผู้ใดที่หลงยินดีในกามท่านก็อุปมาว่าเหมือนกับตกลงไปในหลุมถ่านเพลิง
หลุมถ่านเพลิงก็ย่อมจะเผาไหม้บุคคลนั้นให้ถึงแก่ความตาย

ตามที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ก็ล้วนแล้วแต่แสดงให้เห็นถึงทุกข์โทษภัยของกาม
ว่ามีแต่ให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนให้เกิดความลำบาก
ต้องท่องเที่ยวไปในสังสารวัฎฎ์วนเวียนไปไม่มีที่สิ้นสุด และการที่วนเวียนไป

ก็เพราะความหลงถ้าได้รับความสุขก็ชื่นชมยินดี แต่พอเวลาได้รับความทุกข์ขึ้นมา
ก็เศร้าโศกเสียใจ เพราะฉะนั้นบัณฑิตทั้งหลายจึงได้กล่าวว่ากามนี้มีแต่อันตราย
เพราะหลงเพลิดเพลินในกามเป็นเหตุให้ทำอกุศล และจะไปพระนิพพานก็ไปไม่ได้
กามก็ทำอันตรายแก่ พระนิพพาน คือทำให้ไม่พ้นจากทุกข์



ฐิตา:



เมื่อพระนางสุเมธาแสดงโทษของกามอย่างนี้แล้วก็บอกให้พระเจ้าอนิกรัตตะ
ได้เห็นโทษของกามก็ขอให้เสด็จกลับไปเสียเถิด
เพราะพระนางเวลานี้เปรียบเหมือนกับว่าถูกไฟกำลังไหม้ศีรษะของพระนางอยู่
คนอื่นไม่สามารถที่จะช่วยพระนางได้ คือที่บอกว่าไฟกำลังไหม้อยู่นี่ท่านก็อุปมาไฟว่าได้แก่

ชาติความเกิด ชราความแก่ ความเจ็บ ความตายกำลังติดตามพระนางอยู่
ฉะนั้นพระนางก็ควรที่จะเพียรพยายามทำลายชาติ ชรา มรณะนั้นให้หมดไปเพราะว่า
ความจริงแล้วกามที่ว่ามีอันตรายคือ ทุกคนต่างก็ถูกไฟไหม้ศีรษะด้วยกันทั้งนั้น
แต่ไม่มีใครรู้สึกตัวว่ากำลังถูกไฟไหม้ เพราะที่ว่าเป็นไฟก็หมายถึงว่าชาติพยาธิและมรณะนั่งเอง

คือได้แก่ทุกข์ ๑๑ กอง มีชาติ ชราพยาธิมรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส
ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ความประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก
และสิ่งใดที่อยากได้แล้วไม่ได้ก็เป็นทุกข์ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ก็ไหม้คนทุก ๆ คนที่เกิดอยู่
แต่เพราะเหตุที่ไม่ได้สดับคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงไม่รู้ตัวว่า
กำลังถูกไฟไหม้ศีรษะอยู่ไม่มีใครรู้ได้เลย แต่เพราะเหตุที่พระนางสุเมธาได้สดับฟัง
คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จึงได้อธิบายโทษของกามให้พระเจ้าอนิกรัตตะฟัง



ถ้าหากว่าบุคคลใดไม่รู้จักเพียรพยายามที่จะกำจัดไฟที่ไหม้อยู่บนศีรษะแล้ว ผู้นั้นก็จะต้องเป็นทุกข์
ท่องเที่ยวไปไม่มีที่สิ้นสุด แต่สำหรับพระนางเองจะพากเพียรพยายามที่จะกำจัดโทษ
หรือว่าจะพยายามดับเพลิงที่ไหม้อยู่บนศีรษะนี้คือจะกำจัดโทษของชาติ ชรา มรณะให้หมดไป

เมื่อพระชนกชนนีและพระเจ้าอนิกรัตตะได้ฟังธรรมที่พระนางกล่าวอย่างนี้แล้วก็ทรงกรรแสง
พยายามที่จะให้ลูกได้ครองราชสมบัติ หรือว่าให้วิวาห์แต่งงาน
เมื่อพระชนกชนนีกำลังทรงกรรแสงอยู่นั้นพระนางสุเมธาก็ได้ทูลขึ้นว่า สังสารวัฏฏ์ย่อมยืดยาว
สำหรับคนเขลาที่ร้องไห้บ่อย ๆ เพราะเหตุว่าบิดามารดาตายหรือว่าพี่ชายตาย
ลูกชายตายเหล่านี้ เป็นเหตุให้ต้องร้องไห้แล้วก็ต้องร้องไห้ไปในสังสารวัฏฏ์ไม่มีที่สิ้นสุด
เพราะสังสารวัฏฏ์ของคนเขลามีเงื่อนต้นเงื่อนปลายตามไปไม่รู้แล้ว

เพราะวัฏฏะก็ได้แก่ กิเลสวัฏ กรรมวัฏ วิบากวัฏ อันเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายท่องเที่ยวไป
ไม่มีที่สิ้นสุด วัฏฏะจึงเป็นสภาพที่มีความยืดยาวมาก ซึ่งไม่สามารถถามรู้ได้ว่า
เบื้องต้นตั้งต้นมาตั้งแต่เมื่อไร และเบื้องปลายจะไปสิ้นสุดลงเมื่อใดก็ไม่มีใครรู้ได้เลย
แม้แต่ญาณของพระทศพล คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ยังกำหนดเบื้องต้นไม่ได้
ว่าตั้งต้นมาแต่เมื่อไร ต่อเมื่อพระองค์ได้สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว

ก็สามารถทำที่สุดแห่งวัฏฏะให้หมดสิ้นไปแล้ว คือสามารถรู้เบื้องปลายได้ว่า
ภพชาติของท่าน สิ้นสุดแล้ว ไม่ต้องเกิดอีกต่อไปแล้ว

แต่ส่วนคนเขลาก็เหมือนกับคนตาบอดที่ยังหลงใหลติดอยู่ในกาม เพราะถูกอวิชชาปิดบังไว้ ฉะนั้นเงื่อนต้นของสัตว์เหล่านั้นก็จะเป็นเหตุให้ผูกติดอยู่กับภพไปไม่มีที่สิ้นสุด ด้วยอำนาจของอวิชชาตัณหานั่นเองที่เป็นตัวปิดบังไว้ไม่ให้เห็นทุกข์โทษของกาม
หรือว่าไม่ให้เห็นทุกข์โทษของวัฏฏะ
แต่ถ้าหากว่าผู้ใดสามารถตัดกิเลสได้ ก็สามารถที่จะรู้เงื่อนปลายได้ว่าสิ้นสุดทุกข์เอาเมื่อไร


นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version