อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > พระอริยบุคคล

เรื่องย่อในพระธรรมบท (อรหันตวรรค)

(1/2) > >>

ฐิตา:



เรื่องย่อในพระธรรมบท (อรหันตวรรค)
เรื่องหมอชีวก

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในสวนมะม่วงของหมอชีวก ทรงปรารภปัญหาอันหมอชีวกทูลถาม ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า คตทฺธิโน เป็นต้น

ครั้งหนึ่ง พระเทวทัตร่วมคบคิดกับพระเจ้าอชาตศัตรู ได้พยายามสังหารพระศาสดาโดยกลิ้งหินก้อนใหญ่ลงมาจากยอดเขาคิชฌกูฏ หินก้อนนั้นได้ตกลงมาปะทะกับยอดเขาเบื้องล่างแตกกระจาย มีสะเก็ดพุ่งไปถูกพระบาทของพระศาสดาถึงกับห้อพระโลหิต ทรงได้รับความเจ็บปวดมาก พระศาสดาถูกนำไปยังวัดสวนมะม่วงของหมอชีวก หมอชีวกได้ถวายเภสัชที่ชะงัด เพื่อให้แผลหายเร็วและได้พันแผลที่พระบาทเอาไว้ แต่หมอชีวกจะต้องไปให้การรักษาแก่คนไข้ผู้หนึ่งในเมือง จึงกราบทูลพระศาสดาว่าตนจะกลับมานำเอายาที่พอกเอาไว้นี้ออกในตอนเย็น หมอชีวกกลับมาเมื่อตอนที่ประตูเมืองปิดเสียแล้ว จึงออกมาพบพระศาสดาไม่ได้ เขาเกิดความวิตกกังวลว่า “แย่จริง เราทำกรรมหนักเสียแล้ว ที่เราถวายเภสัชอย่างชะงัด พันแผลที่พระบาทของพระตถาคตเจ้า ดุจคนสามัญ เวลานี้เป็นเวลาแก้แผลนั้น เมื่อแผลนั้นอันเรายังไม่แก้ ความเร่าร้อนในพระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้า จักเกิดตลอดคืนยังรุ่ง”

ขณะนั้น พระศาสดาตรัสเรียกพระอานนทเถระมาเฝ้า รับสั่งว่า “อานนท์ หมอชีวกมาในเวลาเย็นไม่ทันประตู เขาคิดว่าเป็นเวลาที่จะต้องแก้ผ้าปิดแผลนั้นแล้ว เธอจงแก้ผ้าปิดแผลนี้เถิด” เมื่อพระเถระแก้ผ้าปิดแผลนั้นออก แผลหายสนิท เหมือนสะเก็ดไม้หลุดออกจากต้นไม้ เมื่อหมอชีวกมาที่วัดในตอนเช้าตรู่และได้ทูลถามพระศาสดาว่า “พระเจ้าข้า ความเร่าร้อนเกิดขึ้นในพระสรีระของพระองค์หรือไม่” พระศาสดาตรัสว่า “ชีวก ความเร่าร้อนทั้งปวงของตถาคตสงบราบคาบแล้ว ที่ควงโพธิพฤกษ์”

จากนั้น พระศาสดาตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 90 ว่า
คตทฺธิโน วิโสกสฺส
วิปฺปมุตฺตสฺส สพฺพธิ
สพฺพคนถปฺปหีนสฺส
ปริฬาโห น วิชฺชติฯ

(อ่านว่า)
คะตัดทิโน วิโสกัดสะ
วิบปะมุดตัดสะ สับพะทิ
สับพะคันถับปะฮีนัดสะ
ปะริลาโห นะ วิดชะติ.

(แปลว่า)
ผู้เดินทางถึงที่หมายแล้ว
ไม่มีความโศก
หลุดพ้นโดยสิ้นเชิง
กำจัดกิเลสเครื่องร้อยรัดได้ทั้งหมดแล้ว
จะไม่มีความเร่าร้อน.

เมื่อจบพระธรรมเทศนา ชนเป็นอันมากได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดปัตติผลเป็นต้น.

ฐิตา:

เรื่องพระมหากัสสปเถระ

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภพระมหากัสสปเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า อุยฺยุญฺชนฺติ เป็นต้น

ครั้งหนึ่ง พระศาสดาทรงจำพรรษาอยู่ในกรุงราชคฤห์ พร้อมด้วยพระภิกษุจำนวนหนึ่ง ก่อนจะออกพรรษาประมาณสองสัปดาห์ ได้รับสั่งให้แจ้งแก่ภิกษุทั้งหลายว่า พระองค์จะเสด็จออกจากกรุงราชคฤห์ไปสู่ที่จาริก พวกภิกษุบางรูปจึงได้รมบาตรและย้อมจีวรเป็นต้นของตนเพื่อจะตามเสด็จพระศาสดา เมื่อภิกษุบางรูปเห็นพระมหากัสสปเถระซักจีวร ก็ได้พากันคาดเดาว่า “มีประชาชนเป็นอันมากทั้งในเมืองและนอกเมืองต่างให้ความเคารพนับถือพระมหากัสสปเถระมาก และคนเหล่านี้ก็ได้คอยอุปถัมภ์ท่านด้วยปัจจัย 4 จะเป็นไปได้ละหรือที่พระมหากัสสปเถระจะจากอุบาสกอุบาสิกาเหล่านี้ตามเสด็จพระศาสดาไปได้”

เมื่อครบ 2 สัปดาห์ตามที่พระศาสดาทรงประกาศว่าจะเสด็จไป พระศาสดามีดำริว่า “จะต้องมีภิกษุไปในงานมงคลและงานอวมงคลที่ประชาชนจัดขึ้น จะปล่อยให้วัดร้างว่างเปล่าโดยไม่มีพระภิกษุอยู่เป็นการไม่สมควร” ดังนั้นพระองค์จึงตัดสินพระทัยที่จะให้มีภิกษุบางรูปอยู่ที่วัดไม่ตามเสด็จพระองค์ไป และพระที่สมควรจะอยู่เฝ้าวัดก็คือพระมหากัสสปเถระ ในที่สุดพระมหากัสสปเถระก็ได้อยู่เฝ้าวัด พร้อมด้วยด้วยภิกษุผู้เป็นบริวารของท่าน

ภิกษุทั้งหลายได้ซุบซิบนินทาว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย พวกท่านเห็นไหมล่ะ พระมหากัสสปเถระไม่ได้ตามเสด็จพระศาสดา ดังที่เราทั้งหลายคาดการณ์ไว้แต่แรก” พระศาสดาเมื่อได้สดับคำของภิกษุเหล่านั้นแล้ว ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายต้องการจะพูดว่า กัสสปะบุตรของเรามีความยึดติดอยู่กับอุบาสกอุบาสิกาชาวกรุงราชคฤห์ และกับปัจจัยทั้งหลาย ใช่หรือไม่ เธอทั้งหลายเข้าใจผิดเสียแล้ว กัสสปบุตรของเราอยู่ที่นี่เพราะเราขอให้อยู่ หาใช่เพราะมีความยึดติดอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ณ ที่นี้ไม่”

และพระศาสดาได้ตรัสอีกว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เพราะอย่างนี้แล เราจึงกล่าวข้อปฏิบัติอันเปรียบด้วยพระจันทร์ และข้อปฏิบัติแห่งวงศ์ของพระอริยะ อ้างเอากัสสปบุตรของเราให้เป็นต้น ชื่อว่าความข้องในปัจจัยก็ดี ตระกูลก็ดี วิหารก็ดี บริเวณก็ดี ย่อมไม่มีแก่บุตรของเรา บุตรของเราไม่ข้องในอะไรๆเลย เหมือนพญาหงส์ ร่อนลงในเปือกตม เที่ยวไปในเปือกตมนั้นแล้ว ก็บินไปฉะนั้น”

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 91 ว่า
อุยฺยุญฺชนฺติ สตีมนฺโต
น นิเกเต รมนฺติ เต
หํสา ว ปลฺลลํ หิตฺวา
โอกโมกํ ชหนฺติ เตฯ

(อ่านว่า)
อุยยุนชันติ สะตีมันโต
นะ นิเกเต ระมันติ เต
หังสาวะ ปันละลัง หิดตะวา
โอกะโมกัง ชะหันติ เต.

(แปลว่า)
ผู้มีสติ พยายามอยู่เนืองๆ
จะไม่ยินดีในที่อยู่อาศัย
สามารถสละชีวิตในบ้านได้
เหมือนหงส์ทั้งหลายสละเปือกตม.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น.

ฐิตา:

เรื่องพระเพฬัฏฐสีสเถระ

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภท่านเพฬัทฐสีสะ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า เยสํ สนฺนิจโย นตฺถิ เป็นต้น

พระเพฬัฏฐสีสะ ออกบิณฑบาตไปในหมู่บ้านมาแล้ว ก็หยุดฉันภัตตาหารในระหว่างทาง เมื่อฉันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ได้ออกบิณฑบาตต่อ เพื่อรับภัตตาหารมามากยิ่งขึ้น เมื่อท่านรวบรวมภัตตาหารเพียงพอแก่ความต้องการแล้ว ก็กลับวัดแล้วนำข้าวสุกที่ได้ไปตากแห้งเก็บสะสมไว้ เมื่อทำเช่นนี้ท่านก็ไม่จำเป็นต้องออกไปบิณฑบาตทุกวัน ท่านจะนั่งเข้าฌานอยู่เป็นเวลา 2-3 วัน เมื่อออกจากฌานแล้วท่านก็จะฉันข้าวตากที่เก็บไว้นั้น พวกภิกษุรู้เข้าก็ได้ติเตียนแล้วทูลความนั้นแด่พระศาสดา นับแต่นั้นมาจึงได้มีพุทธบัญญัติห้ามภิกษุสะสมอาหารไว้รับประทาน

แต่สำหรับกรณีของพระเพฬัฏฐสีสะนั้น เนื่องจากท่านสะสมอาหารก่อนที่จะมีวินัยบัญญัติสิกขาบทนี้ และท่านมิได้สะสมเพราะความละโมบ แต่เป็นการสะสมเพื่อให้มีเวลาสำหรับเข้าฌาน พระศาสดาจึงได้ทรงประกาศว่า พระเถระไม่มีโทษและท่านไม่ควรถูกติตียน

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 92 ว่า
เยสํ สนฺนิจโย นตฺถิ
เย ปริญฺญาตโภชนา
สุญฺญโต อนิมิตฺโต จ
วิโมกฺโข เยส โคจโร
อากาเสว สุกนฺตานํ
คติ เคสํ ทุรนฺวยาฯ

(อ่านว่า)
เยสัง สันนิจะโย นัดถิ
เย ปะรินยาตะโพชะนา
สุนยะโต อะนิมิดโต จะ
วิโมกโข เยสะ โคจะโร
อากาเสวะ สะกุนตานัง
คะติ เตสัง ทุรันวะยา.

(แปลว่า)
ผู้ที่ไม่มีการสั่งสม
มีการกำหนดรู้อาหารที่จะบริโภค
มีสุญญตวิโมกข์ และอนิมิตตวิโมกข์ เป็นโคจร
เป็นผู้มีคติ(ทางไปทางมา) รู้ได้ยาก
เหมือนทางไปทางมาของเหล่านกในอากาศ.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น.

ฐิตา:

เรื่องพระอนุรุทธเถระ

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภพระอนุรุทธเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ยสฺสาสวา ปริกฺขีณา เป็นต้น
วันหนึ่ง พระอนุรุทธเถระแสวงหาผ้าจากกองขยะ เพื่อจะนำมาตัดเย็บเป็นจีวร เนื่องจากจีวรของท่านเก่าและขาด ภรรยาเก่าของพระเถระ เมื่อครั้งอดีตชาติ ได้ไปเกิดเป็นเทพธิดาชื่อชาลินี ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ นางชาลินีเทพธิดา เห็นพระเถระแสวงหาผ้าอยู่ ก็ได้นำผ้าทิพย์ 3 ผืนไปวางไว้บนกองขยะแห่งหนึ่ง โดยให้ชายผ้าโผล่ออกมาพอมองเห็น พระเถระพบผ้า 3 ผืนนั้นแล้วจึงจับที่ชายผ้าดึงออกมาจากกองขยะ ด้วยเข้าใจว่าเป็นผ้าบังสุกุลแล้วกลับวัด ขณะที่พระอนุรุทธเถระทำจีวรอยู่นั้น พระศาสดาได้เสด็จมาพร้อม ด้วยพระอัครสาวกทั้ง 2 และพระเถระผู้ใหญ่ 80 รูป เพื่อจะช่วยเย็บจีวร

ข้างนางเทพธิดาชาลินี ก็ได้แปลงร่างเป็นหญิงสาวแรกรุ่น เที่ยวตระเวนไปในหมู่บ้านแล้วชักชวนให้ชาวบ้าน มาช่วยกันเป็นเจ้าภาพถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์ ว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย พระศาสดาทรงทำจีวรแก่พระอนุรุทธเถระ ผู้เป็นเจ้าของเราทั้งหลายวันนี้ แวดล้อมด้วยพระอสีติมหาสาวก ประทับนั่งอยู่ในวิหาร กับภิกษุทั้งหลาย 500 รูป พวกท่านจงนำข้าวยาคูเป็นต้นไปที่วิหารเถิด” ด้วยการชักชวนของนางเทพธิดาชาลินี พวกชาวบ้านจึงได้นำภัตตาหารไปที่วิหาร ทำให้อาหารมีมากพอที่จะถวายแก่ภิกษุสงฆ์

ภิกษุทั้งหลายกล่าวตำหนิพระอนุรุทธเถระและกล่าวว่า “พระอนุรุทธเถระคงจะไปขอให้ญาติๆและอุบาสกอุบาสิกาของท่านนำอาหารมาให้พอเลี้ยงพระภิกษุทั้งหลาย ที่ท่านทำเช่นนี้ก็คงเป็นเพราะต้องการจะให้คนอื่นรู้ว่าญาติและอุปัฏฐากของตนมีมากเป็นแน่”

พระศาสดาตรัสกับภิกษุเหล่านี้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าได้คิดว่าอนุรุทธะบุตรของเราไปขอร้องให้ญาติๆและอุบาสกอุบาสิกาของท่านนำข้าวยาคูและอาหารอื่นๆมาถวาย อนุรุทธะบุตรของเราไม่ได้ไปพูดอะไรๆ พระขีณาสพทั้งหลาย ย่อมไม่กล่าวถึงสิ่งต่างๆ เช่น อาหารและเสื้อผ้า ที่มีการนำอาหารจำนวนมากมายมาที่วัด ก็เพราะอานุภาพของเทวดาต่างหาก”

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 93 ว่า
ยสฺสาสวา ปริกฺขีณา
อาหาเร จ อนิสฺสิโต
สุญฺญโต อนิมิตฺโต จ
วิโมกฺโข ยสฺส โคจโร
อากาเสว สกุนตานํ
ปทนฺตสฺส ทุรนฺวยํฯ

(อ่านว่า)
ยัดสาสะวา ปะริกขีณา
อาหาเร จะ อะนิดสิโต
สุนยะโต อะนิมิดโต จะ
วิโมกโข ยัดสะ โคจะโร
อากาเสวะ สะกุนตานัง
ปะทันตัดสะ ทุรันวะยัง.

(แปลว่า)
ผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว
ไม่ติดอยู่ในอาหาร
มีสุญญตวิโมกข์
และอนิมิตตวิโมกข์ เป็นโคจร
มีทางไปมารู้ได้ยาก
เหมือนรอยเท้าของเหล่านกในอากาศ.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น.

ฐิตา:

เรื่องพระมหากัจจายนเถระ

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในบุพพาราม ทรงปรารภพระมหากัจจายนเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ยสฺสินฺทฺริยานิ เป็นต้น

ในวันออกพรรษาปวารณา ขณะนั้นพระศาสดาประทับนั่งอยู่ในปราสาทของนางวิสาขาพร้อมด้วยพระสาวกหมู่ใหญ่ ครั้งนั้น พระมหากัจจายนเถระจำพรรษาอยู่ในอวันตีชนบท ท่านอยู่ในระหว่างเดินทางมายังไม่ถึง พระเถระทั้งหลายเมื่อจะนั่งก็ได้เว้นที่นั่งไว้ 1 ที่สำหรับพระมหากัจจายนเถระ ท้าวสักกเทวราชเสด็จมาจากเทวโลกพร้อมด้วยเทพบริษัท ทรงบูชาพระศาสดาด้วยของหอมและดอกไม้ทิพย์ ประทับยืนอยู่ เมื่อทอดพระเนตรไม่เห็นพระมหากัจจายนะ จึงทรงรำพึงว่า “เพราะเหตุใดหนอ พระผู้เป็นเจ้าของเราจึงยังไม่มา ท่านน่าจะมาถึงแล้วนี่นะ” พอดีกับที่พระเถระได้เดินทางมาถึง และได้เข้าไปนั่งบนอาสนะที่ว่างไว้แล้วนั้น ท้าวสักกะพอทอดพระเนตรเห็นพระเถระก็ได้ทรงตรงเข้าไปจับข้อเท้าทั้งสองของพระเถระ แล้วตรัสว่า “พระผู้เป็นเจ้าของโยมมาแล้ว โยมรอพระคุณเจ้าอยู่พอดี” จากนั้นทรงนวดเท้าทั้งสองของพระเถระ ด้วยพระหัตถ์ทั้งสอง บูชาด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น ทรงไหว้แล้วได้ประทับยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง

ภิกษุทั้งหลายตกตะลึงกับการที่เท้าสักกะทำความเคารพพระมหากัจจายนเถระ และก็มีพระภิกษุบางรูปคิดว่าท้าวสักกะทรงลำเอียงเห็นแก่หน้ามหากัจจายนะ พระศาสดาจึงตรัสกับภิกษุเหล่านี้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย เช่นกับมหากัจจายนะผู้บุตรของเรา ย่อมเป็นที่รักของเหล่าเทพเจ้า”

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัส พระธรรมบท พระคาถาที่ 94 ว่า
ยสฺสินทฺริยานิ สมถํ คตานิ
อัสสา ยถา สารถินา สุทนฺตา
ปหีนมานสฺส อนาสวสฺส
เทวาปิ ตสฺส ปิหยนฺติ ตาทิโนฯ

(อ่านว่า)
ยัดสินทะริยานิ สะมะถังคะตานิ
อัดสา ยะถา สาระถินา สุทันตา
ปะฮีนะมานัดสะ อะนาสะวัดสะ
เทวาปิ ตัดสะ ปิหะยันติ ตาทิโน.

(แปลว่า)
ผู้มีอินทรีย์สงบแล้ว
เหมือนม้าที่นายนายสารถีฝึกดีแล้ว
เป็นผู้คงที่ ละความทะนงตัวได้แล้ว
ไม่มีอาสวะ ย่อมเป็นที่รักของเทวดาทั้งหลาย.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น.

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

ตอบ

Go to full version