ผู้เขียน หัวข้อ: เรื่องย่อในพระธรรมบท (อรหันตวรรค)  (อ่าน 2919 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



เรื่องย่อในพระธรรมบท (อรหันตวรรค)

เรื่องหมอชีวก

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในสวนมะม่วงของหมอชีวก ทรงปรารภปัญหาอันหมอชีวกทูลถาม ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า คตทฺธิโน เป็นต้น

ครั้งหนึ่ง พระเทวทัตร่วมคบคิดกับพระเจ้าอชาตศัตรู ได้พยายามสังหารพระศาสดาโดยกลิ้งหินก้อนใหญ่ลงมาจากยอดเขาคิชฌกูฏ หินก้อนนั้นได้ตกลงมาปะทะกับยอดเขาเบื้องล่างแตกกระจาย มีสะเก็ดพุ่งไปถูกพระบาทของพระศาสดาถึงกับห้อพระโลหิต ทรงได้รับความเจ็บปวดมาก พระศาสดาถูกนำไปยังวัดสวนมะม่วงของหมอชีวก หมอชีวกได้ถวายเภสัชที่ชะงัด เพื่อให้แผลหายเร็วและได้พันแผลที่พระบาทเอาไว้ แต่หมอชีวกจะต้องไปให้การรักษาแก่คนไข้ผู้หนึ่งในเมือง จึงกราบทูลพระศาสดาว่าตนจะกลับมานำเอายาที่พอกเอาไว้นี้ออกในตอนเย็น หมอชีวกกลับมาเมื่อตอนที่ประตูเมืองปิดเสียแล้ว จึงออกมาพบพระศาสดาไม่ได้ เขาเกิดความวิตกกังวลว่า “แย่จริง เราทำกรรมหนักเสียแล้ว ที่เราถวายเภสัชอย่างชะงัด พันแผลที่พระบาทของพระตถาคตเจ้า ดุจคนสามัญ เวลานี้เป็นเวลาแก้แผลนั้น เมื่อแผลนั้นอันเรายังไม่แก้ ความเร่าร้อนในพระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้า จักเกิดตลอดคืนยังรุ่ง

ขณะนั้น พระศาสดาตรัสเรียกพระอานนทเถระมาเฝ้า รับสั่งว่า “อานนท์ หมอชีวกมาในเวลาเย็นไม่ทันประตู เขาคิดว่าเป็นเวลาที่จะต้องแก้ผ้าปิดแผลนั้นแล้ว เธอจงแก้ผ้าปิดแผลนี้เถิด” เมื่อพระเถระแก้ผ้าปิดแผลนั้นออก แผลหายสนิท เหมือนสะเก็ดไม้หลุดออกจากต้นไม้ เมื่อหมอชีวกมาที่วัดในตอนเช้าตรู่และได้ทูลถามพระศาสดาว่า “พระเจ้าข้า ความเร่าร้อนเกิดขึ้นในพระสรีระของพระองค์หรือไม่” พระศาสดาตรัสว่า “ชีวก ความเร่าร้อนทั้งปวงของตถาคตสงบราบคาบแล้ว ที่ควงโพธิพฤกษ์

จากนั้น พระศาสดาตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 90 ว่า
คตทฺธิโน วิโสกสฺส
วิปฺปมุตฺตสฺส สพฺพธิ
สพฺพคนถปฺปหีนสฺส
ปริฬาโห น วิชฺชติฯ

(อ่านว่า)
คะตัดทิโน วิโสกัดสะ
วิบปะมุดตัดสะ สับพะทิ
สับพะคันถับปะฮีนัดสะ
ปะริลาโห นะ วิดชะติ.

(แปลว่า)
ผู้เดินทางถึงที่หมายแล้ว
ไม่มีความโศก
หลุดพ้นโดยสิ้นเชิง
กำจัดกิเลสเครื่องร้อยรัดได้ทั้งหมดแล้ว
จะไม่มีความเร่าร้อน.


เมื่อจบพระธรรมเทศนา ชนเป็นอันมากได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดปัตติผลเป็นต้น.

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: เรื่องย่อในพระธรรมบท (อรหันตวรรค)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: สิงหาคม 14, 2011, 12:28:17 pm »

เรื่องพระมหากัสสปเถระ

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภพระมหากัสสปเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า อุยฺยุญฺชนฺติ เป็นต้น

ครั้งหนึ่ง พระศาสดาทรงจำพรรษาอยู่ในกรุงราชคฤห์ พร้อมด้วยพระภิกษุจำนวนหนึ่ง ก่อนจะออกพรรษาประมาณสองสัปดาห์ ได้รับสั่งให้แจ้งแก่ภิกษุทั้งหลายว่า พระองค์จะเสด็จออกจากกรุงราชคฤห์ไปสู่ที่จาริก พวกภิกษุบางรูปจึงได้รมบาตรและย้อมจีวรเป็นต้นของตนเพื่อจะตามเสด็จพระศาสดา เมื่อภิกษุบางรูปเห็นพระมหากัสสปเถระซักจีวร ก็ได้พากันคาดเดาว่า “มีประชาชนเป็นอันมากทั้งในเมืองและนอกเมืองต่างให้ความเคารพนับถือพระมหากัสสปเถระมาก และคนเหล่านี้ก็ได้คอยอุปถัมภ์ท่านด้วยปัจจัย 4 จะเป็นไปได้ละหรือที่พระมหากัสสปเถระจะจากอุบาสกอุบาสิกาเหล่านี้ตามเสด็จพระศาสดาไปได้”

เมื่อครบ 2 สัปดาห์ตามที่พระศาสดาทรงประกาศว่าจะเสด็จไป พระศาสดามีดำริว่า “จะต้องมีภิกษุไปในงานมงคลและงานอวมงคลที่ประชาชนจัดขึ้น จะปล่อยให้วัดร้างว่างเปล่าโดยไม่มีพระภิกษุอยู่เป็นการไม่สมควร” ดังนั้นพระองค์จึงตัดสินพระทัยที่จะให้มีภิกษุบางรูปอยู่ที่วัดไม่ตามเสด็จพระองค์ไป และพระที่สมควรจะอยู่เฝ้าวัดก็คือพระมหากัสสปเถระ ในที่สุดพระมหากัสสปเถระก็ได้อยู่เฝ้าวัด พร้อมด้วยด้วยภิกษุผู้เป็นบริวารของท่าน

ภิกษุทั้งหลายได้ซุบซิบนินทาว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย พวกท่านเห็นไหมล่ะ พระมหากัสสปเถระไม่ได้ตามเสด็จพระศาสดา ดังที่เราทั้งหลายคาดการณ์ไว้แต่แรก” พระศาสดาเมื่อได้สดับคำของภิกษุเหล่านั้นแล้ว ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายต้องการจะพูดว่า กัสสปะบุตรของเรามีความยึดติดอยู่กับอุบาสกอุบาสิกาชาวกรุงราชคฤห์ และกับปัจจัยทั้งหลาย ใช่หรือไม่ เธอทั้งหลายเข้าใจผิดเสียแล้ว กัสสปบุตรของเราอยู่ที่นี่เพราะเราขอให้อยู่ หาใช่เพราะมีความยึดติดอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ณ ที่นี้ไม่

และพระศาสดาได้ตรัสอีกว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เพราะอย่างนี้แล เราจึงกล่าวข้อปฏิบัติอันเปรียบด้วยพระจันทร์ และข้อปฏิบัติแห่งวงศ์ของพระอริยะ อ้างเอากัสสปบุตรของเราให้เป็นต้น ชื่อว่าความข้องในปัจจัยก็ดี ตระกูลก็ดี วิหารก็ดี บริเวณก็ดี ย่อมไม่มีแก่บุตรของเรา บุตรของเราไม่ข้องในอะไรๆเลย เหมือนพญาหงส์ ร่อนลงในเปือกตม เที่ยวไปในเปือกตมนั้นแล้ว ก็บินไปฉะนั้น”

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 91 ว่า
อุยฺยุญฺชนฺติ สตีมนฺโต
น นิเกเต รมนฺติ เต
หํสา ว ปลฺลลํ หิตฺวา
โอกโมกํ ชหนฺติ เตฯ

(อ่านว่า)
อุยยุนชันติ สะตีมันโต
นะ นิเกเต ระมันติ เต
หังสาวะ ปันละลัง หิดตะวา
โอกะโมกัง ชะหันติ เต.

(แปลว่า)
ผู้มีสติ พยายามอยู่เนืองๆ
จะไม่ยินดีในที่อยู่อาศัย
สามารถสละชีวิตในบ้านได้
เหมือนหงส์ทั้งหลายสละเปือกตม.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น.

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: เรื่องย่อในพระธรรมบท (อรหันตวรรค)
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: สิงหาคม 14, 2011, 12:39:48 pm »

เรื่องพระเพฬัฏฐสีสเถระ

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภท่านเพฬัทฐสีสะ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า เยสํ สนฺนิจโย นตฺถิ เป็นต้น

พระเพฬัฏฐสีสะ ออกบิณฑบาตไปในหมู่บ้านมาแล้ว ก็หยุดฉันภัตตาหารในระหว่างทาง เมื่อฉันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ได้ออกบิณฑบาตต่อ เพื่อรับภัตตาหารมามากยิ่งขึ้น เมื่อท่านรวบรวมภัตตาหารเพียงพอแก่ความต้องการแล้ว ก็กลับวัดแล้วนำข้าวสุกที่ได้ไปตากแห้งเก็บสะสมไว้ เมื่อทำเช่นนี้ท่านก็ไม่จำเป็นต้องออกไปบิณฑบาตทุกวัน ท่านจะนั่งเข้าฌานอยู่เป็นเวลา 2-3 วัน เมื่อออกจากฌานแล้วท่านก็จะฉันข้าวตากที่เก็บไว้นั้น พวกภิกษุรู้เข้าก็ได้ติเตียนแล้วทูลความนั้นแด่พระศาสดา นับแต่นั้นมาจึงได้มีพุทธบัญญัติห้ามภิกษุสะสมอาหารไว้รับประทาน

แต่สำหรับกรณีของพระเพฬัฏฐสีสะนั้น เนื่องจากท่านสะสมอาหารก่อนที่จะมีวินัยบัญญัติสิกขาบทนี้ และท่านมิได้สะสมเพราะความละโมบ แต่เป็นการสะสมเพื่อให้มีเวลาสำหรับเข้าฌาน พระศาสดาจึงได้ทรงประกาศว่า พระเถระไม่มีโทษและท่านไม่ควรถูกติตียน

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 92 ว่า
เยสํ สนฺนิจโย นตฺถิ
เย ปริญฺญาตโภชนา
สุญฺญโต อนิมิตฺโต จ
วิโมกฺโข เยส โคจโร
อากาเสว สุกนฺตานํ
คติ เคสํ ทุรนฺวยาฯ

(อ่านว่า)
เยสัง สันนิจะโย นัดถิ
เย ปะรินยาตะโพชะนา
สุนยะโต อะนิมิดโต จะ
วิโมกโข เยสะ โคจะโร
อากาเสวะ สะกุนตานัง
คะติ เตสัง ทุรันวะยา.

(แปลว่า)
ผู้ที่ไม่มีการสั่งสม
มีการกำหนดรู้อาหารที่จะบริโภค
มีสุญญตวิโมกข์ และอนิมิตตวิโมกข์ เป็นโคจร
เป็นผู้มีคติ(ทางไปทางมา) รู้ได้ยาก
เหมือนทางไปทางมาของเหล่านกในอากาศ.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น.

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: เรื่องย่อในพระธรรมบท (อรหันตวรรค)
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: สิงหาคม 14, 2011, 01:17:18 pm »

เรื่องพระอนุรุทธเถระ

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภพระอนุรุทธเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ยสฺสาสวา ปริกฺขีณา เป็นต้น
วันหนึ่ง พระอนุรุทธเถระแสวงหาผ้าจากกองขยะ เพื่อจะนำมาตัดเย็บเป็นจีวร เนื่องจากจีวรของท่านเก่าและขาด ภรรยาเก่าของพระเถระ เมื่อครั้งอดีตชาติ ได้ไปเกิดเป็นเทพธิดาชื่อชาลินี ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ นางชาลินีเทพธิดา เห็นพระเถระแสวงหาผ้าอยู่ ก็ได้นำผ้าทิพย์ 3 ผืนไปวางไว้บนกองขยะแห่งหนึ่ง โดยให้ชายผ้าโผล่ออกมาพอมองเห็น พระเถระพบผ้า 3 ผืนนั้นแล้วจึงจับที่ชายผ้าดึงออกมาจากกองขยะ ด้วยเข้าใจว่าเป็นผ้าบังสุกุลแล้วกลับวัด ขณะที่พระอนุรุทธเถระทำจีวรอยู่นั้น พระศาสดาได้เสด็จมาพร้อม ด้วยพระอัครสาวกทั้ง 2 และพระเถระผู้ใหญ่ 80 รูป เพื่อจะช่วยเย็บจีวร

ข้างนางเทพธิดาชาลินี ก็ได้แปลงร่างเป็นหญิงสาวแรกรุ่น เที่ยวตระเวนไปในหมู่บ้านแล้วชักชวนให้ชาวบ้าน มาช่วยกันเป็นเจ้าภาพถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์ ว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย พระศาสดาทรงทำจีวรแก่พระอนุรุทธเถระ ผู้เป็นเจ้าของเราทั้งหลายวันนี้ แวดล้อมด้วยพระอสีติมหาสาวก ประทับนั่งอยู่ในวิหาร กับภิกษุทั้งหลาย 500 รูป พวกท่านจงนำข้าวยาคูเป็นต้นไปที่วิหารเถิด” ด้วยการชักชวนของนางเทพธิดาชาลินี พวกชาวบ้านจึงได้นำภัตตาหารไปที่วิหาร ทำให้อาหารมีมากพอที่จะถวายแก่ภิกษุสงฆ์

ภิกษุทั้งหลายกล่าวตำหนิพระอนุรุทธเถระและกล่าวว่า “พระอนุรุทธเถระคงจะไปขอให้ญาติๆและอุบาสกอุบาสิกาของท่านนำอาหารมาให้พอเลี้ยงพระภิกษุทั้งหลาย ที่ท่านทำเช่นนี้ก็คงเป็นเพราะต้องการจะให้คนอื่นรู้ว่าญาติและอุปัฏฐากของตนมีมากเป็นแน่

พระศาสดาตรัสกับภิกษุเหล่านี้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าได้คิดว่าอนุรุทธะบุตรของเราไปขอร้องให้ญาติๆและอุบาสกอุบาสิกาของท่านนำข้าวยาคูและอาหารอื่นๆมาถวาย อนุรุทธะบุตรของเราไม่ได้ไปพูดอะไรๆ พระขีณาสพทั้งหลาย ย่อมไม่กล่าวถึงสิ่งต่างๆ เช่น อาหารและเสื้อผ้า ที่มีการนำอาหารจำนวนมากมายมาที่วัด ก็เพราะอานุภาพของเทวดาต่างหาก”

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 93 ว่า
ยสฺสาสวา ปริกฺขีณา
อาหาเร จ อนิสฺสิโต
สุญฺญโต อนิมิตฺโต จ
วิโมกฺโข ยสฺส โคจโร
อากาเสว สกุนตานํ
ปทนฺตสฺส ทุรนฺวยํฯ

(อ่านว่า)
ยัดสาสะวา ปะริกขีณา
อาหาเร จะ อะนิดสิโต
สุนยะโต อะนิมิดโต จะ
วิโมกโข ยัดสะ โคจะโร
อากาเสวะ สะกุนตานัง
ปะทันตัดสะ ทุรันวะยัง.

(แปลว่า)
ผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว
ไม่ติดอยู่ในอาหาร
มีสุญญตวิโมกข์
และอนิมิตตวิโมกข์ เป็นโคจร

มีทางไปมารู้ได้ยาก
เหมือนรอยเท้าของเหล่านกในอากาศ.


เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น.

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: เรื่องย่อในพระธรรมบท (อรหันตวรรค)
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: สิงหาคม 14, 2011, 01:30:47 pm »

เรื่องพระมหากัจจายนเถระ

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในบุพพาราม ทรงปรารภพระมหากัจจายนเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ยสฺสินฺทฺริยานิ เป็นต้น

ในวันออกพรรษาปวารณา ขณะนั้นพระศาสดาประทับนั่งอยู่ในปราสาทของนางวิสาขาพร้อมด้วยพระสาวกหมู่ใหญ่ ครั้งนั้น พระมหากัจจายนเถระจำพรรษาอยู่ในอวันตีชนบท ท่านอยู่ในระหว่างเดินทางมายังไม่ถึง พระเถระทั้งหลายเมื่อจะนั่งก็ได้เว้นที่นั่งไว้ 1 ที่สำหรับพระมหากัจจายนเถระ ท้าวสักกเทวราชเสด็จมาจากเทวโลกพร้อมด้วยเทพบริษัท ทรงบูชาพระศาสดาด้วยของหอมและดอกไม้ทิพย์ ประทับยืนอยู่ เมื่อทอดพระเนตรไม่เห็นพระมหากัจจายนะ จึงทรงรำพึงว่า “เพราะเหตุใดหนอ พระผู้เป็นเจ้าของเราจึงยังไม่มา ท่านน่าจะมาถึงแล้วนี่นะ” พอดีกับที่พระเถระได้เดินทางมาถึง และได้เข้าไปนั่งบนอาสนะที่ว่างไว้แล้วนั้น ท้าวสักกะพอทอดพระเนตรเห็นพระเถระก็ได้ทรงตรงเข้าไปจับข้อเท้าทั้งสองของพระเถระ แล้วตรัสว่า “พระผู้เป็นเจ้าของโยมมาแล้ว โยมรอพระคุณเจ้าอยู่พอดี” จากนั้นทรงนวดเท้าทั้งสองของพระเถระ ด้วยพระหัตถ์ทั้งสอง บูชาด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น ทรงไหว้แล้วได้ประทับยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง

ภิกษุทั้งหลายตกตะลึงกับการที่เท้าสักกะทำความเคารพพระมหากัจจายนเถระ และก็มีพระภิกษุบางรูปคิดว่าท้าวสักกะทรงลำเอียงเห็นแก่หน้ามหากัจจายนะ พระศาสดาจึงตรัสกับภิกษุเหล่านี้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย เช่นกับมหากัจจายนะผู้บุตรของเรา ย่อมเป็นที่รักของเหล่าเทพเจ้า”

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัส พระธรรมบท พระคาถาที่ 94 ว่า
ยสฺสินทฺริยานิ สมถํ คตานิ
อัสสา ยถา สารถินา สุทนฺตา
ปหีนมานสฺส อนาสวสฺส
เทวาปิ ตสฺส ปิหยนฺติ ตาทิโนฯ

(อ่านว่า)
ยัดสินทะริยานิ สะมะถังคะตานิ
อัดสา ยะถา สาระถินา สุทันตา
ปะฮีนะมานัดสะ อะนาสะวัดสะ
เทวาปิ ตัดสะ ปิหะยันติ ตาทิโน.

(แปลว่า)
ผู้มีอินทรีย์สงบแล้ว
เหมือนม้าที่นายนายสารถีฝึกดีแล้ว
เป็นผู้คงที่ ละความทะนงตัวได้แล้ว
ไม่มีอาสวะ ย่อมเป็นที่รักของเทวดาทั้งหลาย.


เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 14, 2011, 01:38:21 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: เรื่องย่อในพระธรรมบท (อรหันตวรรค)
« ตอบกลับ #5 เมื่อ: สิงหาคม 14, 2011, 01:55:19 pm »

เรื่องพระสารีบุตรเถระ

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระสารีบุตรเถระ ตรัสพระธรรมเทศฯนี้ว่า ปฐวีสโม เป็นต้น

ครั้งหนึ่ง พระสารีบุตร เมื่อออกพรรษาแล้ว ใคร่จะหลีกไปสู่ที่จาริก จึงทูลลาพระศาสดา ถวายบังคมแล้วออกไปพร้อมด้วยภิกษุบริวารของตน มีภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งมีความอาฆาตต่อพระเถระ และได้เข้าไปเฝ้าพระศาสดาแล้วได้กราบทูลกล่าวหาพระสารีบุตรเถระว่า ดุด่าและทุบตีตน พระศาสดาจึงได้รับสั่งให้พระสารีบุตรมาเฝ้าแล้วตรัสถามในเรื่องนี้ ซึ่งพระสารีบุตรได้กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เป็นไปได้อย่างไรที่ภิกษุผู้พิจารณากายคคาสติอย่างเคร่งครัด จะหลีกไปสู่ที่จาริกโดยที่ไม่ยอมขอโทษหลังจากที่ได้กระทำผิดต่อภิกษุรูปใดรูปหนึ่งแล้ว ? ข้าพระองค์มีจิตเปรียบได้กับแผ่นดิน ซึ่งไม่มีความรู้สึกสุขหรือทุกข์เมื่อบุคคลนำสิ่งของสะอาดหรือของสกปรกทิ้งลงไป ข้าพระองค์มีจิตเปรียบเหมือนผ้าเช็ดธุลี เหมือนเด็กจัณฑาล เหมือนโคอุสภะมีเขาขาด ข้าพระองค์มีความรังเกียจร่างกายว่าไม่มีความสะอาดและก็มิได้ยึดติดในร่างกายนี้อีกต่อไป

เมื่อพระสารีบุตรเถระกล่าวเช่นนี้ ภิกษุหนุ่มรูปนั้นก็เกิดความร้อนรุ่มในใจ รู้สึกเสียใจ ร้องให้ออกมา และยอมรับว่าตนกล่าวเท็จเกี่ยวกับพระสารีบุตรเถระ จากนั้นพระศาสดาได้ทรงแนะนำให้พระสารีบุตรเถระยอมรับคำขอโทษของพระภิกษุหนุ่มนั้น โดยตรัสว่า “สารีบุตร เธอจงอดโทษต่อโมฆบุรุษนี้เสีย มิฉะนั้นแล้วศีรษะของเขา จักแตกเป็น 7 เสี่ยง” ภิกษุหนุ่มนั้นได้เกิดสำนึกยอมรับว่าตนเป็นฝ่ายทำผิดและได้กราบขออภัย พระเถระก็ได้ยกโทษให้ภิกษุรูปนั้นและยังกล่าวขอโทษพระภิกษุหนุ่มหากท่านได้กระทำความผิดอะไรลงไป

เมื่อภิกษุทั้งหลายได้กล่าวยกย่องพระสารีบุตรเถระ และพระศาสดาได้ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ใครๆไม่อาจให้ความโกรธหรือความประทุษร้าย เกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้เช่นกับสารีบุตรได้ ภิกษุทั้งหลาย จิตของสารีบุตรเช่นกับแผ่นดินใหญ่ เช่นกับเสาเขื่อน และเช่นกับห้วงน้ำใส

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัส พระธรรมบท พระคาถาที่ 95 ว่า
ปฐวีสโม โน วิรุชฺฌติ
อินทขีลูปโม ตาทิ สุพฺพโต
รหโทว อเปตกทฺทโม
สํสารา น ภวนฺติ ตาทิโนฯ

(อ่านว่า)
ปะถะวีสะโม โน วิรุดชะติ
อินทะขีลูปะโม ตาทิ สุบพะโต
ระหะโทวะ อะเปตะกัดทะโม
สังสารา นะ พะวันติ ตาทิโน.

(แปลว่า)
ผู้ไม่ยินดียินร้าย ดุจแผ่นดิน
คงที่ ดุจเสาเขื่อน มีวัตรดี
เหมือนทะเลสาบ อันปราศจากเปือกตม
จะไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป.


เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ภิกษุ 9 พันรูป บรรลุพระอรหัต พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย.

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: เรื่องย่อในพระธรรมบท (อรหันตวรรค)
« ตอบกลับ #6 เมื่อ: สิงหาคม 14, 2011, 02:12:01 pm »

เรื่องพระติสสเถระชาวกรุงโกสัมพี

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภสามเณรของพระติสสเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า สนฺตนฺตสฺส มนํ โหติ เป็นต้น

ครั้งหนึ่ง เด็กชายอายุแค่ 7 ขวบได้รับการบรรพชาเป็นสามเณร ตามคำขอร้องของผู้เป็นบิดา พระติสสเถระผู้เป็นอุปัชฌาย์ เอาน้ำมาชุบผมของเด็กนั้นให้ชุ่มแล้ว ให้ตจปัญจกกัมมัฏฐาน(กัมมัฏฐานมีหนังเป็นที่ 5 –เกสา โลมา ทันตา นขา ตโจ) ในเวลาปลงผมเสร็จ เด็กนั้นก็ได้บรรลุพระอรหัตตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย

ต่อมา พระติสสเถระที่เป็นปุถุชนและสามเณรที่เป็นพระอรหันต์แล้วนั้น ก็ได้ออกเดินทางไปกรุงสาวัตถีเพื่อจะเข้าเฝ้าพระศาสดา ในระหว่างการเดินทางนั้น พระติสสะเถระและสามเณรได้ไปพักแรมอยู่ในวัดประจำหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ขณะที่พระติสสเถระซึ่งเป็นปุถุชนจำวัดก็หลับไปในทันที สามเณรซึ่งเป็นพระอรหันต์กลับนั่งสมาธิอยู่ใกล้เตียงของพระอุปัชฌาย์ อยู่ตลอดทั้งคืน พระติสสเถระตื่นขึ้นมาในเวลาใกล้รุ่ง คิดว่าถึงเวลาที่จะต้องปลุกสามเณรให้ออกไปจากห้องไปเสียก่อนที่จะได้อรุณ จึงไปจับพัดที่วางอยู่ข้างเตียงฟาดลงที่เสื่อลำแพนของสามเณร แต่บังเอิญด้ามพัดไปกระทบถูกตาของสามเณรแตก เมื่อถึงตอนเช้าสามเณรได้เอามือข้างหนึ่งปิดตา มืออีกข้างจับไม้กวาดกวาดห้องส้วม กวาดบริเวณวัด ล้างหน้า ถวายน้ำล้างหน้า ถวายไม้สีฟันแก่พระเถระ เป็นต้น เมื่อตอนที่สามเณรนำน้ำไปถวายพระติสสเถระนั้น ได้ใช้มือข้างเดียวนำเข้าไปถวาย พระติสสเถระได้ดุว่าเป็นการกระทำที่ไม่สมควร ควรที่สามเณรจะต้องใช้มือทั้งสองข้างประคองเข้าไปถวายจึงจะถูกต้องตามธรรมเนียมปฏิบัติ สามเณรเรียนกับท่านว่าที่ต้องนำของไปถวายท่านด้วยมือข้างเดียวนั้น เพราะมืออีกข้างต้องใช้กุมตาข้างที่ถูกท่านเอาด้ามพัดฟาดถูกโดยความบังเอิญจนแตก พอได้ยินเช่นนี้พระติสสเถระก็รู้สึกตัวว่าได้กระทำความผิดอย่างร้ายแรงโดยที่ท่านมิได้มีเจตนา ท่านรู้สึกเสียใจมากและกล่าวคำขอโทษสามเณร แต่สามเณรตอบว่า การกระทำครั้งนี้มิใช่เป็นความผิดของพระเถระและก็มิใช่ความผิดของสามเณรเอง แต่เป็นผลของกรรมเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นก็จึงได้ปลอบใจขอให้พระเถระอย่าได้เสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้เลย แต่พระเถระก็ยังไม่วายวิตกกังวลกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้

พระติสสเถระและสามเณรได้เดินทางต่อไปจนถึงกรุงสาวัตถี แล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดาในวัดพระเชตวัน จากนั้นพระติสสเถระได้กราบทูลพระศาสดาว่า สามเณรที่ติดตามมากับท่านเป็นบุคคลที่ประเสริฐมาก ซึ่งท่านไม่เคยพบเห็นมาก่อน และได้กราบทูลเรื่องต่างๆที่เกิดขึ้นในระหว่างการเดินทางมาแด่พระศาสดา พระศาสดาจึงตรัสกับพระติสสเถระว่า “ภิกษุ ธรรมดาพระขีณาสพทั้งหลาย ไม่โกรธ ไม่ประทุษร้าย ต่อใครๆ เป็นผู้มีอินทรีย์สงบแล้ว เป็นผู้มีใจสงบแล้วเทียว”

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัส พระธรรมบท พระคาถาที่ 96 ว่า
สนฺตันตสฺส มนํ โหติ
สนฺตา วาจา จ กมฺมํ จ
สมฺมทญฺญา วิมุตฺตสฺส
อุปสนฺตสฺส ตาทิโนฯ

(อ่านว่า)
สันตันตัดสะ มะนัง โหติ
สันตา วาจา จะ กำมัง จะ
สัมมะทันยา วิมุดตัดสะ
อุปะสันตัดสะ ตาทิโน.

(แปลว่า)
ผู้หลุดพ้นแล้ว เพราะรู้ชอบ
เข้าไปสงบแล้ว มีความคงที่
จะมีใจสงบ วาจาสงบ กายสงบ.


เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง พระติสสะชาวกรุงโกสัมพี ได้บรรลุพระอรหัต พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย พระสัทธรรมเทศนามีประโยชน์ แม้แก่คนนอกนี้.

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: เรื่องย่อในพระธรรมบท (อรหันตวรรค)
« ตอบกลับ #7 เมื่อ: สิงหาคม 14, 2011, 03:04:44 pm »

เรื่องพระสารีบุตรเถระ

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระสารีบุตรเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า อสฺสทฺโธ เป็นต้น

ภิกษุผู้อยู่ป่าเป็นวัตรจากหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ประมาณ 30 รูป เดินทางมาเฝ้าพระศาสดาที่วัดพระเชตวัน และพระศาสดาทรงทราบว่า ภิกษุเหล่านี้มีศักยภาพที่จะได้บรรลุพระอรหัตตผล ดังนั้นพระองค์จึงได้ตรัสเรียกพระสารีบุตรมาตรัสถามปัญหาต่อหน้าพระภิกษุเหล่านั้นว่า “สารีบุตรเธอเชื่อไม่ว่า อินทรีย์คือศรัทธา อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมหยั่งถึงอมตะ มีอมตะเป็นที่สุด” พระสารีบุตรทูลตอบว่า “พระเจ้าข้า เรื่องของการบรรลุพระนิพพานด้วยการเจริญอินทรีย์ทั้งหลายนี้ ข้าพระองค์ไม่เชื่อว่า โดยการเจริญอินทรีย์ทั้งหลาย จะทำให้บุคคลทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานได้นี้ มิใช่เพราะมีศรัทธาต่อพระองค์ มีแต่ผู้ที่มิได้รู้แจ้งเห็นจริงเท่านั้น ถึงจะยอมรับข้อเท็จจริงจากผู้อื่น” คำตอบของพระสารีบุตรไม่เป็นที่เข้าใจของภิกษุเหล่านั้น ภิกษุเหล่านั้นคิดว่า “พระสารีบุตรมีทิฏฐิที่ผิด แม้แต่บัดนี้ก็มิได้มีศรัทธาต่อพระศาสดา”

พระศาสดาทรงอธิบายความหมายที่แท้จริงของคำตอบของพระสารีบุตรแก่ภิกษุเหล่านั้นว่า “ภิกษุทั้งหลาย คำตอบของสารีบุตรก็คือว่า สารีบุตรเชื่อว่านิพพานสามารถบรรลุได้โดยวิธีการเจริญอินทรีย์ทั้งหลาย แต่ที่เชื่อเช่นนี้เนื่องจากการรู้แจ้งด้วยตัวเองและมิใช่เพราะตถาคตกล่าวหรือใครๆกล่าว สารีบุตรมีศรัทธาในผลของกรรมดีและกรรมชั่ว”

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 97 ว่า
อสทฺโธ อกตญฺญู จ
สนฺธิจฺเฉโท จ โย นโร
หตาวกาโส วนฺตาโส
ส เว อุตฺตมโปริโสฯ

(อ่านว่า)
อะสัดโท อะกะตันยู จะ
สันทิดเฉโท จะ โย นะโร
หะตาวะกาโส วันตาโส
สะ เว อุดตะมะโปริโส.

(แปลว่า)
ผู้ไม่เชื่อง่าย ผู้รู้นิพพาน
ผู้ทำลายความเชื่อมโยงของสังสารวัฏ
ผู้หมดโอกาสที่จะทำดีทำชั่ว
ผู้หมดกิเลสเป็นเหตุหวัง
ผู้เช่นนี้แลคือยอดคน(พระอรหันต์)


เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ภิกษุประมาณ ๓๐ รูป ผู้อยู่ป่าเหล่านั้น บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย พระสัทธรรมเทศนายังมีประโยชน์ทั้งแก่มหาชนที่เหลือ.

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: เรื่องย่อในพระธรรมบท (อรหันตวรรค)
« ตอบกลับ #8 เมื่อ: สิงหาคม 14, 2011, 04:46:26 pm »

เรื่องพระขทิรวนิยเรวตเถระ

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระเรวตเถระ ผู้อยู่ที่ป่าสะแก ตรัสพระธรรมเทนานี้ว่า คาเม วา เป็นต้น

เรวตะเป็นน้องชายคนเล็กของพระสารีบุตรเถระพระอัครสาวกเบื้องขวา โดยเป็นน้องชายเพียงคนเดียวในบรรดาน้องชายและน้องสาวของพระสารีบุตร ที่ยังมิได้บรรพาอุปสมบทเป็นภิกษุหรือภิกษุณี บิดามารดาของเรวตะจึงต้องการให้เรวตะสืบสกุล เพราะเห็นว่า “อุปติสสะบุตรของเรา ละสมบัติประมาณเท่านี้บวชแล้ว ยังชักชวนน้องสาว 3 คน น้องชาย 2 คน ให้บวชด้วย เรวตะผู้เดียวเท่านั้นยังเหลืออยู่ ถ้าอุปติสสะจักชักชวนเรวตะให้บวชเสียแล้ว ทรัพย์ของเราประมาณเท่านี้ก็จักฉิบหาย วงศ์สกุลจักขาดศูนย์ เราจักผูกเรวตะไว้ ด้วยการอยู่ครองเรือน แต่ในกาลที่เขายังเป็นเด็กเถิด” เรวตะจึงถูกจับให้แต่งงานกับหญิงแรกรุ่นคนหนึ่งเมื่อตอนที่อายุเพียง ๗ ปี ในวันแต่งงานเรวตะได้พบหญิงชราอายุ 120 ปี มีความคิดว่า มนุษย์ทุกคนต้องชราภาพไปเช่นเดียวกันนี้ ดังนั้นเขาจึงเกิดความเบื่อหน่ายที่จะอยู่เป็นฆราวาส และหนีออกจากบ้านไปยังวัดแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นที่พำนักของภิกษุ 30 รูป ภิกษุเหล่านี้ได้รับการขอร้องจากพระสารีบุตรตั้งแต่แรกแล้วว่า ให้ทำการบรรพชาเรวตะเป็นสามเณรได้หากเรวตะมาขอร้อง ดังนั้นพระภิกษุเหล่านี้จึงได้บรรพชาเรวตะเป็นสามเณรและได้รายงานเรื่องนี้ให้พระสารีบุตรได้ทราบ

สามเณรเรวตะครั้นบรรพชาแล้ว ก็เรียนกัมมัฏฐานจากภิกษุเหล่านั้น แล้วออกเดินทางไปอยู่ที่ป่าไม้สะแกแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ห่างจากวัดออกไปไกลถึง 30 โยชน์ ในระหว่าง 3 เดือนภายในพรรษา สามเณรเรวตะก็ได้บรรลุพระอรหัตตผล พระสารีบุตรเถระได้ทูลลาพระศาสดาจะไปเยี่ยมสามเณรเรวตะ แต่พระศาสดาตรัสว่าพระองค์จะเสด็จไปด้วย ดังนั้นพระศาสดาจึงได้เสด็จไปที่ป่าไม้สะแกนั้นพร้อมด้วยพระสารีบุตรเถระ พระสีวลีเถระ และพระภิกษุอื่นๆอีก 500 รูป

การเดินทางครั้งนี้ต้องไปไกลมาก ถึง 30 โยชน์ และหนทางก็ทุรกันดารมากด้วย ซึ่งต้องผ่านที่ซึ่งไม่มีมนุษย์พำนักอาศัย แต่เหล่าเทวดาทั้งหลาย ที่ให้ความเคารพนับถือพระสีวลีเถระ ได้มาคอยถวายความดูแลแด่พระศาสดาและภิกษุทั้งหลายตลอดเส้นทาง และในระยะทางทุก 1 โยชน์นั้น พวกเทวดาได้มาเนรมิตกุฎีที่พักแรมและอาหารถวาย ตลอดเวลาที่เดินทางไปวันละ 1 โยชน์ เมื่อสามเณรเรวตะทราบว่าพระศาสดาและภิกษุเหล่านี้เดินทางมาก็ได้ตระเตรียมการต้อนรับ โดยการใช้อำนาจฤทธิ์เนรมิตวัดและกุฎีที่พักที่งดงามมากสำหรับเป็นที่ประทับของพระศาสดา และภิกษุ 500 รูป และได้จัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆถวายในช่วงที่ทรงประทับอยู่นั้น

ในตอนเสด็จกลับ พระศาสดาได้ทรงเดินทางวันละ 1 โยชน์ และก็ได้รับการถวายการดูแลจากพวกเทวดา เช่นเดียวกับตอนขาไป ได้เสด็จกลับถึงวัดบุพพารามที่อยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองสาวัตถีเมื่อตอนสิ้นเดือน เมื่อไปถึงกรุงสาวัตถีแล้วพวกภิกษุได้ไปฉันภัตตาหารที่บ้านนางวิสาขา หลังจากที่พระภิกษุฉันภัตตาหารแล้ว นางวิสาขาได้สอบถามถึงสภาพที่อยู่ของสามเณรเรวตะกับภิกษุทั้งหลาย ซึ่งภิกษุแต่ละกลุ่มให้คำตอบไม่เหมือนกัน เมื่อถึงตอนที่พระศาสดาเสด็จมาฉันภัตตาหารที่บ้าน นางวิสาขาก็ได้ทูลถามเพื่อหาข้อเท็จจริงจากพระศาสดา

พระศาสดาจึงได้ตรัสตอบด้วย พระธรรมบท พระคาถาที่ 98 นี้ว่า
คาเม วา ยทิวารญเญ
นินฺเน วา ยทิวา ถเล
ยตฺถารหนฺโต วิหรนฺติ
ตํ ภูมิ รามเณยฺยกํฯ

(อ่านว่า)
คาเม วา ยะทิวารันเย
นินเน วา ยะทิ วา ถะเล
ยัดถะ อะระหันโต วิหะรันติ
ตัง พูมิรามะเนยยะกัง.

(แปลว่า)
ไม่ว่าจะในบ้าน หรือในป่า
ไม่ว่าที่ลุ่ม หรือที่ดอน
พระอรหันต์ทั้งหลายอยู่ในที่ใด

ที่นั้นเป็นที่น่ารื่นรมย์.


เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: เรื่องย่อในพระธรรมบท (อรหันตวรรค)
« ตอบกลับ #9 เมื่อ: สิงหาคม 14, 2011, 05:48:14 pm »

เรื่องหญิงคนใดคนหนึ่ง

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภหญิงคนใดคนหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า รมณียานิ เป็นต้น

พระภิกษุผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตรรูปหนึ่ง เรียนกัมมัฏฐานในสำนักของพระศาสดาแล้ว เข้าไปบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในสวนแห่งหนึ่ง และก็มีหญิงนครโสเภณีคนหนึ่งทำการนัดหมายกับชายผู้หนึ่งเพื่อไปหาความสุขทางกามารมณ์ด้วยกัน แต่ชายที่นัดหมายกันนั้นไม่ได้มาตามนัด นางนครโสเภณีหันมาพบพระภิกษุรูปนั้นนั่งสมาธิอยู่ก็ได้เกิดความคิดขึ้นว่า พระก็เป็นผู้ชายเหมือนกัน คงจะพอ “แก้ขัด” ได้บ้าง จึงใช้มารยายั่วยวนพระภิกษุนั้นด้วยวิธีการต่างๆ พระภิกษุนั้นแทนที่จะเกิดความกำหนัดกลับเกิดธรรมสังเวชแผ่ซ่านไปทั่วสรีระ พระศาสดาประทับอยู่ในพระคันธกุฎี ทอดพระเนตรเห็นพระภิกษุนั้นด้วยตาทิพย์และได้ทรงแผ่โอภาสไปตรัสกับภิกษุรูปนั้นว่า “ภิกษุ ที่ที่ไม่รื่นรมย์ของพวกคนผู้แสวงหากามนั่นแหละ เป็นที่รื่นรมย์ของผู้มีราคะปราศจากแล้วทั้งหลาย

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัส พระธรรมบท พระคาถาที่ 99 ว่า
รมณียานิ อรญฺญานิ
ยตฺถ น รมตี ชโน
วีตราคา รเมสฺสนฺติ
น เต กามคเวสิโนฯ

(อ่านว่า)
ระมะนียานิ อะรันยานิ
ยัดถะ ระ ระมะตี ชะโน
วีตะราคา ระเมดสันติ
นะ เต กามะคะเวสิโน.

(แปลว่า)
พระอรหันต์ผู้ปราศจากราคะแล้ว
จักยินดีในป่า อันน่ารื่นรมย์
ที่ผู้แสวงหากามไม่ยินดีกัน

เพราะท่านไม่ใช่ผู้แสวงหากามอีกแล้ว.


เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง พระเถระนั้นได้บรรลุพระอรหัต พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย มาโดยอากาศ ทำการชมเชย ถวายบังคมพระบาททั้งสองของพระตถาคต แล้วหลีกไป.



นำมาแบ่งปันโดย :
one mind : http://agaligohome.com/index.php?topic=4624.0
Pics by : Google
ใต้ร่มธรรมดอทเน็ต * อกาลิโกโฮม
สุขใจดอทคอม
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ