อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > พระอริยบุคคล
เรื่องย่อในพระธรรมบท (ปาปวรรค)
ฐิตา:
เรื่องย่อในพระธรรมบท (ปาปวรรค)
เรื่องพราหมณ์ชื่อจูเฬกสาฎก
พระศาสดา ประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพราหมณ์ชื่อ จูเฬกสาฎก ตรัสพระธรรมเทศนาที่ขึ้นต้นด้วยบาทพระคาถานี้ว่า อภิตฺถเรถ กลฺยาเณ เป็นต้น
วัน หนึ่ง พราหมณ์ผู้สามี ไปฟังธรรมในสำนักของพระพุทธเจ้า มีศรัทธาอย่างยิ่งยวด อยากถวายผ้าห่มผืนเดียวนั้น เพื่อบูชาเป็นกัณฑ์เทศน์ แต่ความตระหนี่ได้เข้าขัดขวาง เป็นอย่างนี้ตลอดยามแรกและยามที่สอง พอถึงยามที่สามเขาก็สามารถเอาชนะความตระหนี่ได้ และได้ถวายผ้าห่มผืนเดียวกันนั้นแด่พระศาสดา พร้อมเปล่งอุทานออกมา 3 ครั้งว่า “ ชิตํ เม, ชิตํ เม, ชิตํ เม, แปลว่า เราชนะแล้ว เราชนะแล้ว เราชนะแล้ว”
อานิสงส์ของทานได้เผล็ดผลทันตาเห็นตามกฎของกรรมในข้อ ทิฏฐธัมมเวทนียกรรม เมื่อพระเจ้าปสนทิโกศล ซึ่งประทับนั่งทรงธรรมอยู่ ณ ที่นั้นด้วย ทรงสดับคำเปล่งอุทานเช่นนั้น ก็รับสั่งให้เจ้าหน้าที่ไปสอบถาม เมื่อทรงทราบความจริงแล้ว ได้พระราชทานสิ่งของมากมายแก่พราหมณ์จูเฬกสาฎกนั้น พระภิกษุทั้งหลาย ประชุมกันกล่าวสรรเสริญพราหมณ์จูเฬกสาฎก พระศาสดาจึงตรัสว่า ถ้าพราหมณ์ได้บูชาพระศาสดาตั้งแต่ในตอนยามต้นๆ จะได้ทรัพย์ยิ่งขึ้นไปกว่านั้น
แล้วจึงตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
อภิตฺถเรถ กลฺยาเณ
ปาปา จิตฺตํ นิวารเย
ทนฺธํ หิ กรโต ปุญญํ
ปาปสฺมึ รมตี มโนฯ
(อ่านว่า)
อะพิดถะเรถะ กันละยาเน
ปาปา จิดตัง นิวาระเย
ทันทัง หิ กะระโต ปุนยัง
ปาปัดสะหมิง ระมะตี มะโน.
(แปลว่า)
ท่านทั้งหลาย จงรีบขวนขวายในความดี
จงห้ามจิตเสียจากความชั่ว
เพราะเมื่อทำความดีช้า
ใจจะยินดีในความชั่วเสียก่อน.
เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก ได้บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.
ฐิตา:
เรื่องพระเสยยสกัตถเถระ
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระเสยยสกัตถเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ปาปญฺเจ ปุริโส กยิรา เป็นต้น
พระเสยยสกัตถเถระ เป็นสัทธิวิหาริกของพระโลฬุทายีเถระ มีความกำหนัดในอารมณ์ทางเพศ เมื่อไปบอกเรื่องนี้กับพระโลฬุทายีผู้เป็นอุปัชฌาย์ พระอุปัชฌาย์ได้บอกวิธีคลายกำหนัด ด้วยการใช้มือสำเร็จความใคร่ให้แก่ตนเอง พระพุทธเจ้าทรงทราบเรื่อง รับสั่งให้เรียกพระเสยยสกัตถเถระมาเฝ้า แล้วทรงติเตียนโดยประการต่างๆ ทรงบัญญัติสิกขาบทแห่งปฐมสังฆาทิเสส และได้ตรัสว่า “ก็กรรมเห็นปานนี้ เป็นกรรมยังสัตว์ให้เป็นไปเพื่อทุกข์อย่างเดียว ทั้งในภพนี้และภพหน้า” จึงตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
ปาปญฺเจ ปุริโส กยิรา
น ตํ กยิรา ปุนปฺปุนํ
น ตมฺหิ ฉนฺทํ กยิราถ
ทุกฺโข ปาปสฺสฺส อุจฺจโยฯ
(อ่านว่า)
ปาปันเจ ปุริโส กยิรา
นะ ตัง กยิรา ปุนับปุนัง
นะ ตัมหิ ฉันทัง กยิราถะ
ทุกโข ปาปัดสะ อุดจะโย.
(แปลว่า)
หากบุคคลจะทำความชั่ว
ก็อย่าทำความชั่วนั้นบ่อยๆ
ไม่ควรทำความพอใจในความชั่วนั้น
เพราะการสั่งสมความชั่ว
เป็นเหตุให้เกิดทุกข์.
เมื่อพระธรรมเทศนานี้จบลง ชนเป็นอันมาก ได้บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.
ฐิตา:
เรื่องนางลาชเทวธิดา
พระศาสดา ประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภนางลาชธิดา ตรัสพระธรรมเทศนาที่ขึ้นต้นด้วยบาทพระคาถานี้ว่า ปุญญญฺเจ ปุริโส กยิรา เป็นต้น
พระพุทธโฆษาจารย์ เล่าเรื่องนี้ว่า มีหญิงชาวนาเข็ญใจผู้หนึ่ง ถวายข้าวตอกแก่พระมหากัสสปะที่เพิ่งออกจากฌานสมาบัติ หลังถวายข้าวตอกแล้วได้ทำความปรารถนาว่า “ท่านเจ้าข้า ขอดิฉันพึงเป็นผู้มีส่วนแห่งธรรมที่ท่านเห็นแล้ว” พระเถระได้กล่าวอนุโมทนาว่า “ ความปรารถนาอย่างนั้น จงสำเร็จ”
นางไหว้พระเถระแล้วนึกถึงทานที่ตนถวายหันหลังเดินกลับกระท่อม ในระหว่างที่นางเดินมาบนคันนาเพื่อกลับมาที่กระท่อมนั้นเอง นางถูกงูพิษกัดตาย ไปเกิดเป็นทางเทพธิดาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อยู่ในวิมานทอง ประมาณ 30 โยชน์ มีร่างกายประมาณ 3 คาวุต(ประมาณ 100 เส้น) ประดับด้วยเครื่องอลังการทุกอย่าง เพราะอานิสงส์ถวายข้าวตอกเป็นทานด้วยศรัทธา
นางจึงได้ชื่อว่าลาช เทพธิดา(เทพธิดาข้าวตอก) นางต้องการจะเพิ่มพูนบุญกุศลให้แก่ตน ได้ลงจากสวรรค์มาเก็บกวาดบริเวณที่พักของพระมหากัสสปเถระในตอนเช้าๆ ถูกพระเถระห้ามปรามไม่ให้ทำ เพราะเกรงว่าคนจะนำไปติเตียนได้
นาง เทพธิดาเสียใจร้องไห้ที่ถูกขัดขวางมิให้ทำความดี พระพุทธเจ้าทอดพระเนตเห็นด้วยพระเนตรทิพย์ ได้เนรมิตพระวรกายไปปรากฏประหนึ่งว่าอยู่เบื้องหน้าของนาง แล้วรับสั่งกับนางว่า ความสำรวมระวังเป็นหน้าที่ของกัสสปะ การกระทำบุญเป็นหน้าที่ของผู้ต้องการบุญ การกระทำบุญเป็นสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้าจากนั้น
พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
ปุญญญฺเจ ปุริโส กยิรา
กยิราเถนํ ปุนปฺปุนํ
ตมฺหิ ฉนฺทํ กยิราถ
สุโข ปุญฺญสฺส อุจฺจโย.
(อ่านว่า)
ปุนยันเจ ปุริโส กยิรา
กะยิราเถนัง ปุนับปุนัง
ตัมหิ ฉันทัง กะยิราถะ
สุโข ปุนยัดสะ อุดจะโย.
(แปลว่า)
หากบุคคลจะทำบุญ
ก็ควรทำบุญนั้นบ่อยๆ
ควรทำความพอใจในบุญนั้น
เพราะการสั่งสมบุญ
เป็นเหตุให้เกิดสุข.
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง นางเทพธิดานั้น ซึ่งยืนอยู่ห่างไกลออกไปถึง 45 โยชน์ ได้บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว.
ฐิตา:
เรื่องอนาถบิณฑิกเศรษฐี
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภเศรษฐีชื่ออนาถบิณฑิกะ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ปาโปปิ ปสฺสตี ภทฺรํ เป็นต้น
อนาถบิณฑิกเศรษฐี บำรุงพระภิกษุสามเณรอยู่เนืองนิตย์ กระทั่งทรัพย์สมบัติร่อยหรอ เทวดาที่ประจำอยู่ที่ซุ้มประตูบ้านของเศรษฐีทนไม่ไหว ไปเตือนเศรษฐีให้เลิกทำบุญให้ทานเสียที แต่เศรษฐีไม่ยอมเลิก ยังทำบุญให้ทานแก่พระภิกษุและสามเณรต่อไป และได้ขับไล่เทวดาไม่ให้อยู่ในที่นั้น เทวดารู้สึกสำนึกตน จึงไปหาเทวดาทั้งหลาย จนกระทั่งไปหาท้าวสักกเทวราช วิงวอนให้ช่วยไปขอขมาโทษเศรษฐี ท้าวสักกะจึงออกอุบายว่า ให้นำทรัพย์ที่หาเจ้าของมิได้ไปให้เศรษฐีแล้วขอขมาโทษ เทวดานั้นก็ได้ทำตาม เมื่อเศรษฐีจะรับขมาโทษ จึงนำเทวดานั้นไปเข้าเฝ้า พระศาสดาจึงประทานโอวาทสอนเศรษฐีและเทวดาว่า “ดูก่อนคฤหบดี แม้บุคคลผู้ทำบาปในโลกนี้ ย่อมเห็นบาปว่าดี ตลอดกาลที่บาปยังไม่เผล็ดผล แต่เมื่อใด บาปของเขาเผล็ดผล เมื่อนั้น เขาย่อมเห็นบาปว่าชั่วแท้ๆ ฝ่ายบุคคลผู้กระทำกรรมดี ย่อมเห็นกรรมดีว่าชั่ว ตลอดกาลที่กรรมดียังไม่เผล็ดผล แต่เมื่อใด กรรมดีของเขาเผล็ดผล เมื่อนั้น เขาย่อมเห็นกรรมดีว่าดีจริงๆ” แล้วจึงตรัสพระธรรมบท 2 พระคาถานี้ว่า
ปาโปปิ ปสฺสตี ภทฺรํ
ยาว ปาปํ น ปจฺจติ
ยทา จ ปจฺจตี ปาปํ
อถ (ปาโป) ปาปานิ ปสฺสติ.
(อ่านว่า)
ปาโปปิ ปัดสะตี พัดทะรัง
ยาวะ ปาปัง นะ ปัดจะติ
ยะทา จะ ปัดจะตี ปาปัง
อะถะ (ปาโป) ปาปานิ ปัดสะติ.
(แปลว่า)
ตลอดเวลาที่บาปยังไม่ให้ผล
คนชั่วเห็นบาปเป็นความดี
แต่เมื่อใดบาปให้ผล
เมื่อนั้นเขาเห็นบาปเป็นความชั่ว.
ภทฺโรปิ ปสฺสตี ปาปํ
ยาว ภทฺรํ น ปจฺจติ
ยทา จ ปจฺจตี ภทฺรํ
อถ (ภทฺโร) ภทฺรานิ ปสฺสติ.
(อ่านว่า)
พัดทะโรปิ ปัดสะตี ปาปัง
ยาวะ พัดทะรัง นะ ปัดจะติ
ยะทา จะ ปัดจะตี พัดทะรัง
อะถะ (พัดทะโร) พัดทะรานิ ปัดสะติ.
(แปลว่า)
ตลอดเวลาที่ความดียังไม่ให้ผล
คนดีเห็นบาปเป็นความชั่ว
แต่เมื่อใดบาปให้ผล
เมื่อนั้นเขาเห็นความดีเป็นความดี.
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง เทวดานั้น ได้บรรลุโสดาปัตติผล พระธรรมเทศนา ได้มีประโยชน์แม้แก่พุทธบริษัทที่มาประชุมกันแล้ว.
ฐิตา:
เรื่องภิกษุไม่ถนอมบริขาร
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุรูปหนึ่ง ผู้ไม่ถนอมบริขาร ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า มาวมญฺเญถ ปาปสฺส เป็นต้น
พระ ภิกษุรูปหนึ่งใช้บริขารต่างๆมีเตียงและตั่งเป็นต้น แล้วไม่เก็บงำให้เรียบร้อย ทอดทิ้งไว้ในที่นั้นๆ พระภิกษุอื่นๆเตือนกลับพูดโยกโย้ว่า เป็นเรื่องเล็กน้อยจะเป็นอะไรไป จิตใจของบริขารนั้นก็ไม่มี พระศาสดาทรงทราบ รับสั่งให้หาตัวมาเข้าเฝ้า ประทานคำสั่งสอนว่า “อันภิกษุทั้งหลายทำอย่างนั้นย่อมไม่ควร ขึ้นชื่อว่าบาปกรรม ใครๆไม่ควรดูหมิ่นว่า นิดหน่อย เหมือนอย่างว่า ภาชนะที่เขาเปิดปากตั้งไว้กลางแจ้ง เมื่อฝนตกอยู่บ่อยๆ ภาชนะนั้นย่อมเต็มได้แน่ๆ ฉันใด บุคคลผู้ทำกรรมอยู่ ย่อมทำกองบาปให้ใหญ่โตขึ้นโดยลำดับได้อย่างแน่ๆ ฉันนั้นเหมือนกัน”
จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
มาวมญฺเญถ ปาปสฺส
น มตฺตํ อาคมิสฺสติ
อุทพินทุนิปาเตน
อุทกุมฺโภปิ ปูรติ
ปูรติ พาโล ปาปสฺส
โภกํ โถกํปิ อาจินํ.
(อ่านว่า)
มาวะนันเยถะ ปาปัดสะ
นะ มัดตัง อาคะมิดสะติ
อุทะพินทุนิปาเตนะ
อะทะกุมโพติ ปูระติ
ปูระติ พาโล ปาปัดสะ
โถกัง โถกังปิ อาจินัง.
(แปลว่า)
อย่าดูหมิ่นบาปว่า
เพียงเล็กน้อย จักไม่มาถึง
แม้แต่หม้อน้ำยังเต็มด้วยหยดน้ำ
ที่ตกลงมาไม่ขาดสายได้ ฉันใด
คนพาลสั่งสมบาป
แม้ทีละน้อยๆ
ก็จะเต็มด้วยบาป ฉันนั้น.
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น
แม้พระศาสดาก็ได้ทรงบัญญัติสิกขาบทว่า “ภิกษุลาดที่นอน(ของสงฆ์)ไว้ในที่แจ้งแล้ว ไม่เก็บไว้ตามเดิม ต้องอาบัติชื่อนี้.
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
Go to full version