ผู้เขียน หัวข้อ: จิตอาสาเพื่อความสุขที่แท้จริง  (อ่าน 2057 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
- ธิติมา อุรพีพัฒนพงศ์ เรื่องและภาพ-


“เราคือใบไม้ต้นเดียวกัน ลูกคลื่นทะเลเดียวกัน ดวงดาวฟ้าเดียวกัน เวลามีมาให้เราได้ใช้ร่วมกัน...”
บทเพลงจากหมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส ที่อาสาสมัครชายหญิงร่วมกันเปล่งเสียงร้องออกมานั้น บ่งบอกถึงเสียงที่ดังก้องอยู่ในหัวใจของพวกเขา และตอบคำถามว่า เหตุใดจึงพากันมาออกแรงกาย เสียสละเวลาพักผ่อนในช่วงวันหยุด ด้วยการแบ่งปันความสุขของตัวเองให้คนอื่น

เพราะเราต่างเชื่อมโยงอยู่บนโลกเดียวกันนี้...

ไม่เพียงแต่การออกแรงกายในการทำงานอย่างมุ่งมั่นและหวังที่จะเห็นรอยยิ้มของผู้อื่นเช่นเดียวกับงานอาสาสมัครอื่นๆ เท่านั้น แต่การทำงานอาสาสมัครครั้งนี้ พวกเขายังได้เรียนรู้การทำงานอย่างมีสติและเบิกบานตามแนวทางของท่านติช นัท ฮันห์ พระภิกษุชาวเวียดนาม แห่งหมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส ไปพร้อมกันด้วย

“อยู่ดอย ย่ำดิน เติมรอยยิ้มในดวงใจ” เป็นหนึ่งในโครงการอาสาเพื่อในหลวง ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งจัดโดยสถาบันไทยรูรัลเนทเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา นอกจากกิจกรรมส่งเสริมการทำงานอาสาสมัครคือการย่ำดิน ทำอิฐ เพื่อสร้างหอปฏิบัติธรรมสำหรับการจัดตั้งหมู่บ้านพลัมในประเทศไทยที่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่แล้ว ยังผสานกับกิจกรรมการภาวนาตามแนวทางของหมู่บ้านพลัม ซึ่งมุ่งเน้นการทำงานอย่างมีสติและมีความสุข เพื่อช่วยหล่อเลี้ยง "เมล็ดพันธุ์จิตอาสา" ของแต่ละคนให้เบิกบานและเติบโตมากยิ่งขึ้น


ย่ำเล่นเล่นจนเป็นบ้าน


ความพิเศษของบ้านดินที่แตกต่างจากการสร้างบ้านแบบอื่นๆ คือ เป็นร่วมแรงร่วมใจของชุมชนที่รวมตัวกันช่วยสร้างบ้าน ตั้งแต่ขั้นตอนแรกสุด อย่างการทำอิฐ ไปจนถึงการการมุงหลังคา สำหรับกิจกรรมครั้งนี้ อาสาสมัครได้มีส่วนร่วมในการย่ำดินเพื่อผสมแกลบเตรียมเป็นก้อนอิฐสำหรับการก่อสร้างหอปฏิบัติธรรมต่อไป


โจน จันได ผู้เชี่ยวชาญบ้านดิน เล่าให้ฟังถึงความเป็นมาของบ้านดินว่า บ้านดินเป็นสิ่งก่อสร้างที่เก่าแก่ที่สุดของโลก แต่เริ่มหายไปเมื่อมีคอนกรีตเกิดขึ้น และมีการพัฒนาขั้นตอนการสร้างบ้านให้ซับซ้อนมากยิ่งขึ้นจนกระทั่งคนเราไม่สามารถสร้างบ้านด้วยตัวเองได้ การมีบ้านสักหลังจึงถือเป็นความยุ่งยากในชีวิต และต้องใช้เวลานานกับการหาเงินเพื่อสร้างบ้าน ทั้งที่ความจริงแล้วทุกคนสร้างบ้านได้ บ้านดินจึงเป็นคำตอบ ขณะเดียวกันตนมองว่าการลงมือสร้างบ้านดินเป็นการเล่นอย่างหนึ่งสนุกด้วยได้บ้านด้วย เช่นเดียวกับคำพูดของภิกษุณีนิรามิสา ที่บอกว่า “ความสุขที่สุดของการย่ำดิน คือการได้สัมผัสกับธรรมชาติในปัจจุบันขณะ เป็นการทำงานที่เรามีความสุข ไม่จำเป็นว่า งานที่ออกมานั้นจะสมบูรณ์แบบหรือไม่ แต่ให้ดูว่า เมื่อทำงานเสร็จแล้ว เรารักกันหรือเปล่า ยิ้มให้กันมากขึ้นไหม ซึ่งความจริงแล้ว เรียกว่าเรามาเล่นกันมากกว่าทำงาน”


เจริญสติ ทำงานตามลมหายใจ




เมื่อเราทำงานอย่างมีสติ และอยู่กับปัจจุบันขณะ ก็ส่งผลให้การทำงานเป็นไปด้วยความสุขและความเบิกบานภิกษุณีนิรามิสา นักบวชหญิงชาวไทยแห่งหมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส ลูกศิษย์ของท่านติช นัท ฮันห์ ผู้นำการภาวนาครั้งนี้ อธิบายว่า การมีสติ คือกลับมาอยู่กับลมหายใจของเรานั่นเอง ขณะที่ทำงานอยู่เราก็ตามลมหายใจของเราไปพร้อมกันด้วย บางทีอาจดูเหมือนช้า แต่ผลที่ได้สำเร็จมากกว่าการทำงานเร็วโดยปราศจากสติในการทำงาน ขณะเดียวกันเมื่อเราทำงานด้วยความสุขและรอยยิ้ม ก็เป็นการช่วยเตือนให้คนทำงานร่วมกันมีความสุขและรอยยิ้มต่อไปได้


สรวุฒิ อัครวัชรางกูร สถาปนิกหนุ่ม หนึ่งในอาสาที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้ บอกเล่าประสบการณ์การทำงานของตนว่า ปกติเวลาที่ตนทำงานนั้น หากทำงานอย่างมีสติจะทำงานเสร็จเร็ว และผิดพลาดน้อยมาก ต่างกับเวลาที่ไม่มีสติ นอกจากนี้ ยังทำให้มีเวลาดูแลตัวเองมากขึ้น ขณะเดียวกันยิ่งทำงานอย่างมีสติมากเท่าใด ก็พบว่ามีความสุขเพิ่มตามไปด้วย เนื่องจากทำงานได้ดั่งใจ ตนมองว่าเป็นความสุขในขณะทำงาน แม้ว่างานจะหนักก็ตาม


ภาวนาตามแนวทางหมู่บ้านพลัม


“หายใจเข้า ฉันรู้ว่าฉันกำลังหายใจเข้า หายใจออก ฉันยิ้ม” หนึ่งในบทภาวนาการหายใจเข้าออกที่หลวงพี่นิรามิสา นำการภาวนาให้อาสาสมัครได้ยินอยู่เสมอระหว่างกิจกรรม ควบคู่กับเสียงระฆังที่เตือนให้เราหันกลับมาอยู่กับลมหายใจ วิธีการของหมู่บ้านพลัมแตกต่างจากวิธีการของพุทธศาสนานิกายเถรวาทที่เราคุ้นเคย หากแต่มีจุดหมายไม่ต่างกัน เราทำกิจวัตรต่างๆ เหมือนกับอยู่ที่บ้าน เช่น เดิน นั่ง ทำงาน รับประทานอาหาร แต่เรายังเรียนรู้ที่จะทำกิจวัตรต่างๆด้วยลมหายใจแห่งสติ ด้วยการปฏิบัติในทุกขณะ ทุกเช้าจะมีการสวดมนต์นั่งสมาธิ ระหว่างวันจะเป็นการทำงาน ส่วนช่วงเย็นไปจนถึงค่ำเป็นช่วงเวลาการสนทนาธรรม แลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อกันในกลุ่ม การปฏิบัติธรรมเน้นการดำเนินกิจกรรมที่ไปด้วยกันของชุมชนที่เรียกว่า “สังฆะ” และใช้การเจริญสติอย่างสม่ำเสมอด้วยการกลับมาสู่ลมหายใจของตัวเอง เมื่อสมาชิกในชุมชนต่างตั้งใจปฏิบัติ จึงส่งต่อความสุขและความเบิกบานต่อไปยังคนอื่นๆ จนก่อให้เกิดพลังที่ยิ่งใหญ่ขึ้น และสะท้อนกลับไปสู่ชุมชนนั้นเอง


ไม่เพียงแต่บทสวดมนต์เท่านั้น การร้องเพลงตามแนวทางหมู่บ้านพลัม ยังเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ปฏิบัติกลับมาสู่ลมหายใจของตัวเอง และเบิกบานไปกับบทเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณของผู้ร้องและผู้ฟัง ตัวอย่างเพลงของหมู่บ้านพลัม เช่น “เราเป็นสุขในปัจจุบัน เราได้ปล่อยวางความกังวล ไม่ไปที่ไหน ไม่มีงานใด เราจึงไม่ต้องรีบเร่ง...”


เริ่มต้นใหม่ เพื่อความสันติและเบิกบาน





ระหว่างทำงานอาสาสมัคร โอกาสที่จะเกิดความไม่เข้าใจกันของคนทำงานด้วยกันเอง เกิดขึ้นได้อยู่เสมอ สำหรับกิจกรรม "อยู่ดอย ย่ำดิน เติมรอยยิ้มให้ดวงใจ" นี้ ทางภิกษุและภิกษุณีก็เปิดโอกาสให้อาสาสมัครได้เรียนรู้วิธีสร้างและบำรุงความสัมพันธ์ให้ดีอยู่เสมอ ซึ่งเป็นวิธีการตามแบบฉบับของหมู่บ้านพลัมที่เรียกว่า "การเริ่มต้นใหม่" (Beginning Anew)

การเริ่มต้นใหม่ คือการมองอย่างลึกซึ้งและซื่อสัตย์ถึงการกระทำ คำพูด และความคิดในอดีต เพื่อสร้างสรรค์การเริ่มต้นอย่างสดใหม่ของเราและระหว่างเรากับผู้อื่น เมื่อเราฝึก”รดน้ำเมล็ดพันธุ์ดอกไม้” เราจะช่วยพัฒนาส่วนดีของกันและกัน ขณะเดียวกัน เราได้ยังทำให้เมล็ดพันธุ์แห่งความโกรธออกไปด้วย กระบวนการเริ่มต้นใหม่มีรายละเอียด 4 ขั้นตอน คือ


1. รดน้ำเมล็ดพันธุ์แห่งดอกไม้ เป็นโอกาสที่ให้เราบอกเล่าสิ่งที่เราชื่นชมผู้อื่น โดยอาจระบุถึงเหตุการณ์ที่เจาะจงที่ผู้อื่นเคยกระทำหรือกล่าวให้เราพอใจ เป็นการเสริมสร้างสังฆะ และให้กำลังใจเขาเหล่านั้นสำหรับความเจริญงอกงาม
2. บอกเล่าความรู้สึกเสียใจ เราอาจระบุถึงการกระทำ คำพูด หรือความคิดของเราที่ยังไม่มีโอกาสกล่าวขอโทษ
3. แสดงความเจ็บปวด เราอาจจะร่วมแบ่งปันถึงความรู้สึกเจ็บปวดจากการปฏิสัมพันธ์กับผู้ปฏิบัติท่านอื่น เนื่องมาจากการกระทำ คำพูด และความคิดของพวกเขา
4. บอกเล่าความทุกข์ยากที่ยาวนานและขอความช่วยเหลือในอดีต เราแต่ละคนต่างก็มีช่วงเวลาที่ยุ่งยากและเจ็บปวด ซึ่งได้มีผลมาสู่ปัจจุบัน เมื่อเราบอกเล่าเรื่องนี้ เพื่อนจะเข้าใจเราได้ดีมากขึ้น และให้ความช่วยเหลือตามที่เราต้องการอย่างแท้จริง


ส่งต่อจิตอาสาที่แท้


หลายคนอาจตั้งคำถามว่า งานอาสากับการภาวนาไปด้วยกันได้อย่างไร และเมื่อนำมาผสมผสานก่อให้เกิดผลดีอย่างไรบ้างนั้น หลวงพี่นิรามิสาได้อธิบายไว้ว่า “ถ้าเรามีคนมาทำงานอาสากันมาก ไม่ว่าจะเป็นแปดหมื่นหรือร้อยคน คนแต่ละคนทำงานด้วยความรู้สึกที่ว่า ไม่ได้อยู่ตรงนั้น ทำเพื่ออยากจะให้ได้อะไรสักอย่างหนึ่ง อยากจะได้ชื่อ หรืออยากจะได้อะไรก็แล้วแต่ มันก็ไม่ได้เป็นจิตอาสาอย่างแท้จริง แต่แม้เรามีคนไม่กี่คน แต่ว่าทุกคนทำงานอยู่กับตรงนี้จริงๆ ในลักษณะที่จิตเปิดกับการทำงาน เราไม่ได้คิดว่า เราจะต้องทำให้ได้ ให้เขามีความสุข หรือคิดว่าเราเป็นอาสา แต่ถ้าเราทำด้วยจิตว่าง ทำอยู่กับปัจจุบันขณะ เวลาเราปัดกวาด เราก็รู้การเคลื่อนไหวอยู่ตรงนั้น จิตเราอยู่ตรงนั้นไม่ได้วิ่งไปไหน ในภาวะนั้นจิตเราจะเบิกบานไปเอง พอคนอื่นเห็นคนทำงานอาสาแบบนั้ก็อยากทำ เพราะมันแผ่กระจายไปด้วยแสงแห่งความสุข มันเหมือนก้อนหินที่ตกลงไปในน้ำ กระเพื่อมต่อไปเรื่อยๆ”


แน่นอนว่า การแบ่งปันความสุขไปยังคนอื่น ทำให้ผู้ให้เกิดความสุขด้วยเช่นกัน แต่หากทำด้วยสติไปพร้อมกันด้วยแล้ว เรายังได้ความเบิกบาน และค้นพบว่าความสุขที่แท้อยู่ไม่ไกลเลย จึงไม่เพียงแต่ได้ก้อนอิฐสำหรับสร้างหอปฏิบัติธรรมที่เกิดจากความตั้งใจของเหล่าอาสาสมัครเท่านั้น พวกเขายังได้เติมรอยยิ้มในหัวใจที่พร้อมจะเผื่อแผ่ความสุขและความเบิกบานนี้ไปยังผู้อื่นด้วยเช่นกัน




 ภิกษุและภิกษุณี จากหมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส (สมหวัง รัตนศิริวนิชย์ ถ่ายภาพ)


รู้จัก ท่าน “ติช นัท ฮันห์” และ หมู่บ้านพลัม


“ท่านติช นัท ฮันห์” เป็นพระมหาเถระชาวเวียดนามในพระพุทธศาสนานิกายเซนมหายาน เป็นกวี นักเขียน ทำงานเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพ นอกจากนี้ยังเป็นพระท่านหนึ่ง ที่บุกเบิกความคิดที่ว่า พุทธศาสนาจำเป็นต้องรับใช้สังคม เข้าไปอยู่ในทุกวิถีชีวิต และพุทธธรรมเป็นสิ่งที่สามารถประยุกต์ใช้ให้เข้ากับยุคสมัยได้ งานเขียนและคำสอนของท่านได้รับความนิยมไปทั่วโลกในทุกกลุ่มชน ในวัฒนธรรมและศาสนาต่างๆ ตัวอย่างผลงานเขียน เช่น ปาฎิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ สันติภาพทุกย่างก้าว คือเมฆสีขาวทางก้าวเก่าแก่ ปัจจุบันเป็นเวลาอันประเสริฐสุด เมตตาภาวนา : คำสอนว่าด้วยรัก ฯลฯ


“ท่านติช นัท ฮันห์” ยังได้จัดตั้ง “หมู่บ้านพลัม (Plum Village)” ขึ้น ณ ประเทศฝรั่งเศส อันเป็นชุมชนแบบอย่างการปฏิบัติธรรมแห่งพุทธบริษัท 4 ที่เน้นการเจริญสติในชีวิตประจำวันอย่างตระหนักรู้ในแต่ละลมหายใจเข้าออก และกลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะ ในชุมชนปฏิบัติธรรมแห่งหมู่บ้านพลัมมีทั้งสิ้น 12 แห่ง อยู่ในประเทศฝรั่งเศส อเมริกา เยอรมัน และเวียดนาม นอกจากนี้มีกลุ่มปฏิบัติธรรมตามแนวทางของ”ท่านติช นัท ฮันห์” (สังฆะ) กระจายอยู่หลายประเทศทั่วโลกเกือบหนึ่งพันกลุ่ม


ค้นคว้ารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.plumvillage.org
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ แก้วจ๋าหน้าร้อน

  • สิ่งใดคือธรรมะ สิ่งนั้นย่อมดีแล้วสูงสุด
  • ทีมงานกวาดลานดิน
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 6503
  • พลังกัลยาณมิตร 1741
  • ธรรมะอวยพรความดีคุ้มครอง
    • kaewjanaron
    • facehot
    • ดูรายละเอียด
    • ใต้ร่มธรรม
Re: จิตอาสาเพื่อความสุขที่แท้จริง
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: สิงหาคม 01, 2010, 11:15:56 pm »
 :07: ขอบคุณครับพี่มด
การโพสภาพโดยใช้เว็บฝากไฟล์ภาพ imageshack.us/ (เว็บกบ)
การปรับแต่งห้องสมาชิกไร้ขีดจำกัด Ultimate Profile + ห้องเพลงส่วนตัว
การตั้งกระทู้และการโพสกระทู้ในเว็บใต้ร่มธรรมครับ
การแก้ไข้ข้อมูล ชื่อ ระหัส ส่วนตัวของสมาชิกใต้ร่มธรรมครับ
การใส่รูปประจำตัวเรา Avatar รวมทั้งลายเซ็นต์ ในกระทู้หรือโพสของเราครับ
เพิ่มไอคอน ทวิสเตอร์ เฟชบุ๊ค ยูทูบ ในโปรโปรไฟล์ของเรา
การสร้างอัลบั้มภาพส่วนตัวในห้องสมาชิก Profile Pictures
การเพิ่มเพื่อน กัลยาณมิตรใต้ร่มธรรม ในห้องสมาชิกส่วนตัว
การดูกระทู้ทั้งหมดที่เรายังไม่ได้อ่านครับ
โค้ดสี bb color code ไว้สำหรับโพสกระทู้ครับ
*วิธีเคลียร์แคชในทุกเว็บเบราว์เซอร์ครับ เมื่อคอมอืด*

ห้องประชุมของทีมงาน
~ธรรมะอวยพรความดีคุ้มครองครับ~