ผู้เขียน หัวข้อ: กล่าวถึงหลวงพ่อเทียน โดยพระไพศาล วิสาโล  (อ่าน 1640 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



กล่าวถึงหลวงพ่อเทียน โดยพระไพศาล วิสาโล

๑๓ กันยายน เป็นวันคล้ายวันมรณภาพหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
จึงขอชวนรำลึกถึงท่าน
ด้วยบทความ ที่เขียนไว้ไม่กี่เดือนหลังจากการละสังขารของท่าน

            ข้าพเจ้าได้ยินชื่อหลวงพ่อเทียนมาเป็นเวลาหลายปีก่อนบวช ทั้งจากคำบอกเล่าของลูกศิษย์ลูกหาของท่านและจากหนังสือของกลุ่มศึกษาและ ปฏิบัติธรรม ซึ่งมีคุณวุฒิชัย ทวีศักดิ์ศิริผล เป็นกำลังสำคัญเวลานั้น ความจริง ๓-๔ ปีก่อนหน้านั้นขึ้นไปอีก คือในปี ๒๕๑๘ ข้าพเจ้าก็เคยติดตามเพื่อน ๆ สมาชิกชุมนุมศึกษาพุทธศาสตร์และประเพณี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลัดเลาะไปยังวัดสนามในซึ่งเวลานั้นหลวงพ่อเทียนและลูกศิษย์เพิ่งมาฟื้นฟูให้ เป็นสำนักปฏิบัติธรรม หลังจากเป็นวัดร้างมานาน ที่ข้าพเจ้าใช้คำว่า “ลัดเลาะ” ก็เพราะเวลานั้น ทางไปวัดสนามในยังมิใช่เป็นถนนคอนกรีตตลอดสาย บ้านจัดสรรยังไม่ขยายลึกเข้าไปจนเนืองแน่นเหมือนทุกวันนี้ จะมีก็แต่เรือกสวนเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นจึงต้องเดินเข้าไปเป็นหลัก หากแต่คราวนั้นพวกเรามิได้พบหลวงพ่อเทียน ไปถึงวัดไม่นานก็กลับ ยังจำได้ว่า รอบวัดสนามในเมื่อ ๑๔ ปีก่อน ยังเป็นชนบทแท้ ๆ ผู้คนอยู่กันอย่างพื้น ๆ สมถะ เยี่ยงชาวสวนชานเมือง โดยที่รถโดยสารก็ไม่ต่างจากรถ “โคตรทรหด” ที่เคยเห็นในหนังเรื่อง “ครูบ้านนอก” เท่าใดนัก ทั้ง ๆ ที่อยู่ห่างจากสี่แยกสะพานกรุงธนเพียง ๒-๔ กิโลเมตรเป็นอย่างมาก         

          แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ข้าพเจ้าก็หาได้มีความสนใจหลวงพ่อเทียนเป็นพิเศษไม่ หนังสือธรรมเทศนาของท่านที่กลุ่มศึกษาและปฏิบัติธรรมพิมพ์เผยแพร่ ข้าพเจ้าก็ไม่เคยมีโอกาสอ่านจริง ๆ จัง ๆ ทั้ง ๆ ที่ได้รับแจกมาหลายเล่ม แต่ที่สะดุดใจคือ รายการเก็บอารมณ์ที่กลุ่ม ฯ จัดเป็นประจำที่วัดสนามใน ได้ทราบว่าหลายคนได้รับอานิสงส์จากการปฏิบัติธรรมที่นั่นมาก จึงตั้งใจว่าจะหาโอกาสปลีกตัวไปร่วมรายการดังกล่าวบ้าง แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่อาจทำดังที่คิดไว้ จนกระทั่ง ๒-๓ อาทิตย์ก่อนบวช คือ ปลายเดือนมกราคม ๒๕๒๖ ข้าพเจ้าจึงได้เข้าไปวัดสนามในเป็นครั้งแรกในรอบ ๗ ปี แต่ที่เข้าไปก็เพราะได้ทราบจากเพื่อนว่า หลวงพ่อคำเขียน  สุวณฺโณ เดินทางมายังวัดสนามใน ในช่วงนั้นเป็นโอกาสดีที่จะขอไปฝึกปฏิบัติธรรมกับท่านที่วัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ และอยู่ที่วัดนั้น ข้าพเจ้าได้สังเกตเห็นภิกษุชรารูปหนึ่งเดินจงกรมอยู่หน้ากุฏิ แต่งตัวดังพระเซน มีคนบอกว่านั้นแหละหลวงพ่อเทียน ตอนนั้นท่านกลับจากการเปิดอบรมธรรมที่สิงคโปร์ไม่นาน และอยู่ในระหว่างพักฟื้นจากการผ่าตัด นั่นเป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้าพบหลวงพ่อเทียน แต่ก็หาได้เข้าไปกราบคารวะท่านไม่ พอเสร็จธุระกับหลวงพ่อคำเขียน ก็ลาท่านกลับเลย

           ข้าพเจ้ามาวัดสนามในอีกที ๑ เดือนหลังจากนั้น จำได้ว่าเป็นวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ คราวนี้มาในเพศบรรพชิต โดยเปลี่ยนใจมาปฏิบัติธรรมที่วัดสนามในแทนตามคำแนะนำของหลวงพ่อคำเขียน ท่านว่าวัดป่าสุคะโตนั้นกันดารมาก หากมาอยู่ที่วัดสนามในจะสะดวกแก่การปฏิบัติมากกว่า อีกทั้งหลวงพ่อเทียน ซึ่งเป็นอาจารย์ของท่านก็อยู่ที่นั่นด้วย สามารถช่วยเหลือในด้านการปฏิบัติได้อย่างเต็มที่ ส่วนท่านเองจะลงมาสอนกรรมฐานให้ข้าพเจ้าเป็นประเดิมในอาทิตย์แรกด้วย

           ครั้นไปถึงก็มิได้พบหลวงพ่อคำเขียน และไม่ทราบว่าท่านจะลงมาวัดสนามในเมื่อไร วันแรกจึงปฏิบัติผิด ๆ ถูก ๆ  อาศัยการสังเกตจากพระเณรรูปอื่น ๆ เป็นหลัก  ไม่มีใครมาแนะนำการปฏิบัติ  ต่อเมื่อถึงเย็นวันที่ ๒ จึงมีคนไปเรียนให้หลวงพ่อเทียนทราบ  ดูเหมือนหลวงพ่อคำเขียนจะปรารภกับท่านเรื่องข้าพเจ้าก่อนแล้ว  พอท่านทราบชื่อข้าพเจ้า ท่านก็เดินลงมาจากกุฏิ และสอนวิธีเจริญสติแก่ข้าพเจ้าที่ลานหน้ากุฏิท่าน  ท่านสอนว่าไม่ว่าจะเดินหรือสร้างจังหวะ ก็ให้ “รู้สึก” อยู่เสมอ อย่าไปสนใจความคิด รู้อยู่แต่ที่การเคลื่อนไหวของกาย จะคิดอะไรก็แล้วแต่ พอรู้ตัวก็ให้กลับมาอยู่ที่กายนั่นแหละ ท่านแนะไม่ถึง ๕ นาที เสร็จแล้วท่านก็บอกให้ข้าพเจ้าไปปฏิบัติ ข้อนั้นไม่สู้กระไร แต่ที่ยิ่งกว่านั้นคือประโยคท้าย ๆ ของท่านที่ว่า ให้ปฏิบัติทั้งวันไม่ต้องพูดคุยกับใคร อยู่แต่ในกุฏินั่นแหละ ข้าพเจ้าฟังแล้วก็หนักใจขึ้นมาทันที เพราะลำพังการปฏิบัติ ๘ ชั่วโมง ซึ่งข้าพเจ้าตั้งใจว่าจะทำให้ได้ ก็รู้สึกเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสอยู่แล้ว นี่ท่านกลับให้ทำทั้งวัน แต่ตอนนั้นก็ไม่ได้ออกปากกับท่าน คิดว่าลองทำตามที่ท่านแนะมาก็แล้วกัน

           ในช่วงแรก ๆ หลวงพ่อเทียนหมั่นมาสอบอารมณ์ข้าพเจ้าที่กุฏิทุกวัน ๆ ละ ๒ ครั้ง คือเช้ากับเย็น เป็นเหตุให้ข้าพเจ้าต้องตั้งใจปฏิบัติตลอดเวลา เพราะไม่รู้ว่าท่านจะเดินมาหาเมื่อไร ท่านมาแต่ละครั้งก็ถามเพียงว่าเป็นอย่างไร และแนะว่าให้รู้สึกอยู่เสมอ กระนั้นข้าพเจ้าก็รู้สึกเกรงใจท่านอย่างยิ่ง เพราะยังไม่ประสบความก้าวหน้าในการปฏิบัติเลย ไม่รู้ว่า “ความรู้สึก” ที่ท่านพูดนั้นเป็นอย่างไร ใจนั้นหนักไปในด้านการเพ่งอิริยาบถการเคลื่อนไหวของกาย หาไม่ก็เพ่งและคอยสกัดกั้นความคิดมิให้กำเริบ ซึ่งล้วนเป็นวิธีที่ผิดทั้งนั้น แต่ตอนนั้นไม่รู้ว่าทำอย่างไรจึงจะสามารถรู้สึกได้โดยไม่เอียงสุดไปข้างใด ข้างหนึ่ง อันได้แก่การเพ่งจ่อและการปล่อยใจให้ฟุ้งซ่าน

           อย่างไรก็ตามหลวงพ่อเทียนก็อดทนที่จะมาหาข้าพเจ้าและฟังคำตอบเดิม ๆ อยู่เสมอ จนข้าพเจ้าต้องพยายามนึกหาคำตอบใหม่ ๆ แต่แม้ท่านจะแนะนำอย่างไร ข้าพเจ้าก็หาเข้าใจไม่ บางวันท่านก็มาสอนวิธีกวาดพื้นอย่างมีสติ ท่านย้ำเสมอว่าการเจริญสติมิได้อยู่ที่การเดินจงกรม หรือการปฏิบัติในรูปแบบ แต่นักปฏิบัติควรให้การกระทำทุกอย่างเป็นการเจริญสติไปในตัว ไม่ว่าจะเดิน นั่ง หรือกวาดใบไม้ แม้เวลากระพริบตา กลืนน้ำลาย ก็ให้รู้สึกอยู่เสมอ ระยะหลัง ๆ ท่านมิได้มาเอง หากให้อาจารย์ทอง อาภากโร มาช่วยสอบอารมณ์แทน

           กว่าข้าพเจ้าจะรู้จักวิธีเจริญสติอย่างถูกต้องตามที่ท่านแนะนำก็หมดเวลาเป็น เดือน ระหว่างนั้นต้องเป็นทุกข์ทั้งกายและใจอย่างยิ่ง หากมิได้ตั้งจิตอธิษฐานก่อนมาวัดสนามในว่าจะอยู่ที่นั่นให้ครบ ๑ เดือนแล้ว ข้าพเจ้าก็คงเลิกปฏิบัติและย้ายไปอยู่ที่อื่นแล้ว ประสบการณ์ช่วงนี้ข้าพเจ้าเขียนไว้ในที่อื่นอย่างละเอียดแล้ว จึงจะไม่ขอกล่าวในที่นี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อข้าพเจ้าผ่านช่วงวิกฤตดังกล่าวไปได้ ได้เห็นอานิสงส์ของสติที่มีพลัง ว่องไว ก็อดซาบซึ้งในคุณครูบาอาจารย์ไม่ได้ ที่ท่านได้เพียรพยายามชี้แนะด้วยความกรุณา

          หลังจากนั้น
หลวงพ่อเทียนก็ยังมาให้คำชี้แนะในการปฏิบัติเป็นครั้งคราว คราวหนึ่งข้าพเจ้าเก็บอารมณ์ไม่ไปฉันรวมกับหมู่คณะที่ศาลา ซึ่งเนืองแน่นด้วยญาติโยมเนื่องจากเป็นวันสงกรานต์ ข้าพเจ้าเดินจงกรมอยู่คนเดียวไม่ไกลจากกุฏิท่านเท่าใดนัก ท่านแลเห็นก็เดินเข้ามาหา คราวนี้นอกจากจะสอบถามชี้แนะการปฏิบัติอย่างเคยแล้ว ท่านยังพูดเลยไปถึงเรื่องอื่น ๆ อันเป็นเรื่องพื้น ๆ ทั่วไปที่มิใช่เรื่องการปฏิบัติ ดูไม่มีพิธีรีตองอันใด กับชาวบ้านซึ่งบังเอิญเดินผ่านมา ท่านก็พูดด้วยอย่างเป็นกันเอง ดูไม่ต่างจากพระหลวงตาธรรมดารูปหนึ่ง ช่วงนั้นเองที่ข้าพเจ้าได้เห็นอีกมิติหนึ่งของท่าน คือความเป็นธรรมดาสามัญ ที่ปราศจากความโดดเด่นเคร่งขรึม ทั้ง ๆ ที่ท่านเป็นวิปัสสนาจารย์ผู้ใหญ่ ซึ่งมีผู้เคารพนับถือเป็นอันมาก ความเป็นธรรมดาสามัญของท่านดังกล่าว ทำให้หลายคนที่เคยได้ยินกิตติศัพท์ของท่าน หากบังเอิญได้มาพบท่านโดยไม่รู้ว่าท่านเป็นใครแล้วก็ย่อมนึกไม่ถึงว่าท่าน คือ หลวงพ่อเทียน ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นปรมาจารย์แห่งการเจริญสติ

          เดิมข้าพเจ้าตั้งใจว่าจะบวชเพียง ๓ เดือน ต่อมาขยายเป็น ๖ เดือน  หลวงพ่อเทียนเป็นพระเถระรูปหนึ่งซึ่งแนะข้าพเจ้าให้บวชนานกว่านั้น การที่ข้าพเจ้าได้อยู่ปฏิบัติต่อที่วัดสนามในและภายหลังย้ายไปที่วัดป่าสุคะโตต่อมาอีกหลายปีนั้น ในด้านหนึ่งก็ทำให้เห็นคุณวิเศษของท่านมากขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งก็พลอยได้เห็นขีดจำกัดของท่าน โดยเฉพาะในเรื่องการรับรู้และการเกี่ยวข้องกับโลกสมัยใหม่ ซึ่งรวมถึงเรื่องการบริหาร การจัดการ ยิ่ง ๕ ปีหลัง ท่านมาให้ความสนใจกับการสร้างสำนักปฏิบัติธรรมแนวใหม่ที่จังหวัดเลย ขีดจำกัดดังกล่าวก็เห็นเด่นชัดขึ้น แต่นี้ก็ช่วยให้ข้าพเจ้าได้เห็นความเป็นธรรมดาสามัญของท่านมากขึ้น ท่านจึงเป็นแบบอย่างที่มีชีวิตชีวา มีความเป็นมนุษย์อันเราสามารถเรียนรู้จากท่านได้ทั้งในทางบวกและลบ โดยที่เรายังสามารถเคารพท่านได้อย่างสนิทใจ

          แต่หากกล่าวในเรื่องทางธรรมแล้ว หลวงพ่อเทียนมีวิธีการสอนที่แปลกและไม่หยุดนิ่ง ความที่ท่านเติบโตในทางธรรมโดยไม่จำกัดที่สำนักหรือสายการปฏิบัติใดเป็น พิเศษ ทั้งท่านยังได้ประจักษ์แจ้งสัจจะด้วยวิธีการของท่านเอง ดังนั้นแนวการสอนของท่านจึงแหวกออกไปจากประเพณีการปฏิบัติแต่ดั้งเดิมที่ แพร่หลายในเมืองไทย อาทิ การไม่เน้นพิธีรีตอง การใช้ถ้อยคำสำนวนที่มีลักษณะเฉพาะ และวิธีการอบรมที่ผิดกับสายปฏิบัติแบบวัดป่าทั่วไป ทั้งนี้ไม่จำต้องพูดถึงวิธีการเจริญสติที่เป็นแบบฉบับของท่านโดยเฉพาะ กล่าวกันว่า เมื่อแรกที่ท่านสอนธรรมแก่คนทั่วไปนั้น ท่านแทบจะไม่พูดเลย หากแต่อาศัยอากัปกริยาบางอย่างเป็นสื่อแสดงสภาวธรรม และกระตุ้นให้คนฉุกคิดขึ้นมา แต่ในช่วงหลังท่านใช้คำพูดเป็นสื่อแสดงธรรมมากขึ้น และท่านดูตั้งใจในเรื่องนี้มาก ทั้งยังพยายามศึกษาการแสดงธรรมของอาจารย์ท่านอื่น ในช่วงที่ข้าพเจ้าอยู่วัดสนามในนั้น เนื่องจากกุฏิของข้าพเจ้าอยู่หลังกุฏิท่านเพียงแค่คูน้ำเล็ก ๆ คั่นกลาง จึงได้ยินและเห็นท่านฟังเทปธรรมบรรยายของท่านพุทธทาสภิกขุอยู่เนือง ๆ

          แม้ว่าท่านจะเป็นพระเถระที่มีเมตตา เข้าหาได้ง่ายและเป็นกันเอง แต่ในเรื่องการสอนธรรมแล้ว ท่านกวดขันเอาใจใส่มาก กล่าวกันว่า เมื่อท่านยังมีกำลังวังชาอยู่นั้น ท่านตรวจตราตามกุฏิ และจ้ำจี้จ้ำไชลูกศิษย์เป็นคน ๆ เลยทีเดียว ข้าพเจ้ามาไม่ทันเห็นภาพดังกล่าว แต่ก็ยังโชคดีมาเห็นท่านหมั่นมาสอบอารมณ์ของลูกศิษย์สม่ำเสมอ

          หลวงพ่อเทียนนั้น แม้ท่านจะดูเหมือนพระหลวงตาธรรมดารูปหนึ่ง โดยเฉพาะในเรื่องกิจการงานทางโลก แต่เวลาท่านก้าวสู่อาณาจักรแห่งธรรมปฏิบัติ โดยลงมาควบคุมการปฏิบัติและชี้แนะสอบอารมณ์ลูกศิษย์ตามกุฏิด้วยตัวเองแล้ว ท่านดูสง่าดังบุรุษอาชาไนย ซึ่งเปี่ยมด้วยพลัง ไม่ยอมแพ้ต่อสังขารอันบอบบางของท่าน ทั้งไม่เคยยอมจำนนต่อความเขลาเบาปัญญาของลูกศิษย์ ท่านจะเพียรพยายามกระตุ้นลูกศิษย์ กระตุ้นแล้วกระตุ้นเล่าอย่างเปี่ยมด้วยปัญญาคุณและกรุณาคุณ แต่เมื่อท่านป่วยหนักจนต้องผ่าตัดเป็นครั้งที่ ๒ ตอนกลางพรรษาปี ๒๕๒๖ ท่านก็ดูอ่อนแรงไปมาก การกวดขันการปฏิบัติชนิดตัวต่อตัวลดน้อยลงไป ท่านหันไปเน้นการบรรยายธรรม หาไม่ก็พักฟื้น แต่ก็มีบางครั้งที่ท่านไม่ยอมอยู่นิ่งเฉย ลุกขึ้นมากวดขันการปฏิบัติในวัดดังที่ท่านเคยปฏิบัติ ในยามนั้นท่านกลับดูเข้มแข็งอีกครั้งหนึ่ง ในความรู้สึกของข้าพเจ้าท่านดูสง่าดังแม่ทัพที่กลับมายังสมรภูมิอีกครั้ง หนึ่ง เป็นสมรภูมิรบที่ท่านเจนจัดและเป็นชีวิตจิตใจของท่าน ดูเหมือนว่าในพรรษา ๒๕๓๑ อันเป็นพรรษาสุดท้ายของท่าน ท่านได้หันมากวดขันอย่างจริงจังกับพระเณรที่สำนักทับมิ่งขวัญ แต่ท่านไม่ทันได้ทำตลอดพรรษาก็ดับขันธ์เสียก่อน

          หลวงพ่อเทียนได้จากไปอย่างสงบและอย่างธรรมดาสามัญที่สุด ดังใบไม้ที่ปลิดขั้วและร่อนสู่พื้นอย่างแผ่วเบา คืนสู่ธรรมชาติอันเป็นที่มาของท่านและของชีวิตทั้งหลาย ท่านมิใช่อะไรอื่น หากเป็นส่วนหนึ่งของกระแสแห่งเหตุปัจจัย ซึ่งบังเกิดขึ้นมาในยุคของเรา เพื่อเกื้อหนุนโน้มนำเราท่านทั้งหลายให้ตระหนักในคติธรรมดาของชีวิต และเพียรพยายามเข้าถึงภาวะแห่งความสว่างไสวด้วยอำนาจแห่งสติและปัญญาซึ่งมี อยู่ในเราทุกคน  ท่านได้ทำจนหมดอายุขัยสิ้นเหตุปัจจัยที่ท่านจะดำรงอยู่ต่อไป คงเหลือแต่เราท่านซึ่งยังมีภาระที่จะต้องทำ มีขันธ์ที่จะต้องแบก แต่ธรรมที่ท่านสอนนั้นสามารถช่วยให้ภาระดังกล่าวสิ้นสุดลงและทำขันธ์ให้เบา บางลงไปได้ นี้เองที่ทำให้หลวงพ่อเทียนเป็นดังดวงเทียนท่ามกลางกระแสธรรมที่ทรงคุณค่า อย่างยิ่งสำหรับเรา

   พระไพศาล วิสาโล     มกราคม ๒๕๓๒



Credit by ทวีเกียรติ โตจำเริญ : http://lpteean.blogspot.com/2010/10/blog-post.html
Pics by : Google
สุขใจดอทคอม * อกาลิโกโฮม
ใต้ร่มธรรมดอทเน็ต
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ




.เรื่องเล่าวันพระ : ก่อนมาเป็นหลวงพ่อเทียน
หลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ วัดสนามใน
เขียนเล่าเรื่อง พระไพศาล วิสาโล



หลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ ซึ่งได้รับการยกย่องจากนายแพทย์ประเวศ วะสีว่าเป็นปรมาจารย์แห่งการเจริญสตินั้น ชื่อเดิมของท่านคือพันธ์ อินทผิว ส่วน “เทียน”นั้นเป็นชื่อบุตรชายของท่าน ธรรมเนียมของเชียงคานบ้านเกิดของท่านนิยมเรียกผู้ใหญ่ตามชื่อของลูกคนหัวปี(หรือคนโตที่ยังมีชีวิตอยู่) ใครต่อใครจึงรู้จักท่านในนามของ “หลวงพ่อเทียน”

พันธ์ อินทผิวเป็นคนที่ใฝ่ในการทำบุญตั้งแต่เล็ก เมื่อโตขึ้นได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน ก็เป็นผู้นำชาวบ้านในการทำบุญเสมอมา นอกจากนั้นความที่ท่านเป็นพ่อค้า มีเรือค้าขายขึ้นล่องตามลำน้ำโขงไปจนถึงเมืองลาว ประสบความสำเร็จพอสมควร จึงเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านมาก

เมื่ออายุราว ๔๐ ปี ได้เกิดจุดเปลี่ยนในชีวิตที่ทำให้ท่านหันมาสนใจปฏิบัติกรรมฐานอย่างจริงจัง ครั้งนั้นท่านเป็นเจ้าภาพทอดกฐินที่เมืองลาว ในงานมีมหรสพต่าง ๆ มากมาย เช่น หมอลำ ภาพยนตร์ ท่านได้ตกลงกับภรรยาว่า การใช้จ่ายต่าง ๆ ตลอดจนการจัดอาหารเลี้ยงแขก ยกให้เป็นหน้าที่ของภรรยา ส่วนตัวท่านเองจะรับอุโบสถศีลและรับแขกทางไกล

ครั้นถึงเวลาเช้าภรรยาของท่านมาถามว่าจะต้องจ่ายค่าหมอลำเป็นจำนวนเท่าใด ท่านรู้สึกโกรธมาก ท่านเล่าความรู้สึกตอนนั้นว่า “มันหนักจนลุกแทบจะไม่ได้ มันตำเข้าในใจ” แต่ท่านก็ข่มอารมณ์ไว้ และตอบด้วยสีหน้าปกติว่าเป็นหน้าที่ของภรรยาท่าน อย่างไรก็ตามความโกรธนั้นยังคงคุกรุ่นในจิตใจของท่าน เมื่อเสร็จงานกฐิน ระหว่างรับประทานอาหารมื้อเย็นกับภรรยา ท่านเปรยถึงเรื่องที่เกิดขึ้นตอนเช้าว่า “คนไม่รู้จักเคารพนับถือก็อย่างนี้แหละ” ท่านกล่าวซ้ำหลายหนจนภรรยาเอะใจ เมื่อสอบถามจนรู้ว่าสาเหตุเกิดจากอะไร ก็พูดขึ้นว่า “เจ้าไม่พอใจละสิ .....โอ เจ้าตกนรกแล้ว แม้ทำกองกฐินก็บ่ได้บุญดอกเจ้า ”

คำพูดของภรรยากระทบใจท่านมาก ทำให้ได้คิดขึ้นมาว่า การทำบุญให้ทานนั้นไม่ได้ช่วยให้ท่านหายทุกข์เลย ท่านจึงหันมาสนใจการทำกรรมฐาน และตั้งใจว่าหากยังเอาชนะความทุกข์ไม่ได้ก็จะไม่เลิกละการทำกรรมฐาน
นับแต่นั้นท่านได้ตัดสินใจว่าจะเลิกทำมาค้าขายเพื่อทำกรรมฐานอย่างเดียว แต่กว่าจะสะสางการงานและจัดการเรื่องเงินทองต่าง ๆ จนแล้วเสร็จก็ใช้เวลาถึงสามปี จากนั้นท่านก็แสวงหาครูบาอาจารย์เพื่อแนะนำการปฏิบัติธรรม แต่ก็ไม่พบวิธีที่จะช่วยแก้ทุกข์ของท่านได้ จนได้ทดลองปฏิบัติตามแบบของท่านเอง ด้วยการยกมือเคลื่อนไหวเป็นจังหวะ พร้อมกับมีสติรู้กายตามไปด้วย ในยามที่ใจเผลอไปคิดนึกเรื่องราวต่าง ๆ ก็มีสติรู้ทันอาการของใจ แล้วพาใจกลับมารู้กาย จนเกิดความรู้สึกตัวอย่างต่อเนื่อง ท่านทำเช่นนี้อยู่นานจนเช้าวันหนึ่งขณะที่กำลังนั่งเจริญสติอยู่จู่ ๆ แมงป่องแม่ลูกอ่อนตัวหนึ่งตกมาที่ขาของท่าน แล้วลูกมันก็ออกมาวิ่งตามขาของท่าน พอท่านเอาไม้มาแตะขา แมงป่องก็เกาะไม้นั้นไว้ ระหว่างที่ท่านเอาไม้และแมงป่องไปวางไว้ที่คันนา ความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นที่ใจของท่าน เกิดปัญญาเห็นรูปนาม รู้สมมติ เข้าใจไตรลักษณ์ เมื่อถึงตอนเย็นก็เกิดความเปลี่ยนแปลงอีกจนท่านรู้ชัดในอริยสัจและปรมัตถสภาวะ

นับแต่วันนั้นท่านก็มั่นใจว่าได้พบสิ่งที่แสวงหามานาน ความทุกข์ใจที่เคยมีดับไปอย่างสิ้นเชิง ท่านจึงหยุดการแสวงหา และเริ่มแนะนำญาติมิตรให้รู้จักการเจริญสติด้วยวิธีดังกล่าว ในเวลาต่อมาก็มีคนมาเรียนกับท่านมากขึ้น แต่ท่านก็เห็นความจำกัดของเพศคฤหัสถ์ในการสอนผู้คน ในที่สุดจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่อปี ๒๕๐๓ ด้วยวัย ๔๘ ปี เป็นเวลา ๒๘ ปีที่ท่านสอนลูกศิษย์อย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อยด้วยวิธีการที่เป็นแบบฉบับของท่านเอง จนมรณภาพเมื่อปี ๒๕๓๑ สิริรวมอายุได้ ๗๗ ปี หากท่านยังไม่ละสังขาร ก็จะมีอายุครบ ๑๐๐ ปีในปี ๒๕๕๔


:http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=poungchompoo&date=03-09-2013&group=2&gblog=7
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 16, 2013, 11:52:47 pm โดย ฐิตา »