วิถีธรรม > แนวทางปฏิบัติธรรม
พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
ฐิตา:
๑๔. อะสังกิลิฏฐะสังกิเลสิกา ธัมมา
จักได้แสดงติกมาติกาในบทที่ ๑๔ สืบต่อไป โดยนัยพระบาลีว่า อะสังกิลิฏฐะสังกิเลสิกา ธัมมา แปลว่า ธรรมทั้งหลายที่ประกอบไปด้วยจิตอันเศร้าหมองแล้ว และไปคิดเอาแต่อารมณ์ที่ไม่เศร้าหมอง ดังนี้ โดยความอธิบายว่า บุคคลบางจำพวกที่มีจิตอันเศร้าหมองแล้ว แต่ได้คิดถึงคุณพระรัตนตรัยว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ทั้ง ๓ รัตนะนี้ ถ้าใครได้นับถือแล้ว อิจฉิตัง ปัตถิตัง ผู้นั้นจะปรารถนาสิ่งใดก็สามารถให้สำเร็จได้ทุกประการ โดยความอุปมาว่า บุคคลที่ว่ายน้ำไป ย่อมคิดถึงแต่ศีล ทาน การกุศลของตนให้เป็นอารมณ์ เปรียบเหมือนอุปพุทธเป็นนิทัศนอุทาหรณ์ว่า อุปพุทธนั้นเดิมเป็นคนยากจนเข็ญใจ ทั้งประกอบไปด้วยโรคาพยาธินั้นก็มาก ทั้งทุกข์ยากลำบากเหลือที่จะประมาณ แต่เขาได้ยึดคุณพระรัตนตรัย คือ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณเป็นอารมณ์อยู่เป็นนิตย์ ครั้นภายหลังได้บริโภคธัญญสมบัติ สรรพโรคาพยาธิก็หายไปหมด เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า อะสังกิลิฏฐะสังกิเลสิกา ธัมมา
ฐิตา:
๑๕. อะสังกิลิฏฐาสังกิเลสิกา ธัมมา
จักได้แสดงติกมาติกาในบทที่ ๑๕ สืบต่อไป โดยนับพระบาลีว่า อะสังกิลิฏฐาสังกิเลสิกา ธัมมา ดังนี้ แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันทรงไว้ซึ่งจิตที่ไม่เศร้าหมอง ความคิดนึกก็คิดนึกในธรรมที่ไม่เศร้าหมอง ดังนี้ โดยความอธิบายว่า จิตที่เป็นกิริยาประกอบไปด้วยธรรม อันเป็นเครื่องถอนออกเสียซึ่งธรรมทั้งหลายอันเป็นเครื่องเศร้าหมองอยู่ในสันดาน เปรียบเหมือนหนึ่งทารกไม่มีความยินดีในกามคุณแต่ไปบรรพชา บรรพชาก็เป็นเครื่องกำจัดเสียจากกามคุณ เพราะฉะนั้นจึงสมกับบาลีว่า อะสังกิลิฏฐาสังกิเลสิกา ธัมมา ซึ่งแปลว่า ธรรมก็ไม่เศร้าหมอง จิตก็ไม่เศร้าหมอง ความคิดนึกในธรรมารมณ์ก็ไม่เศร้าหมองฉะนี้ แก้ไขในบทติกมาติกาที่ ๑๕ ก็ยุติแต่เพียงนี้ฯ
๑๖. สะวิตักกะสะวิจารา ธัมมา
ในลำดับนี้จักได้แสดงติกมาติกาในบทที่ ๑๖ สืบต่อไป โดยนัยพระบาลีว่า สะวิตักกะสะวิจารา ธัมมา เป็นต้น แปลว่า ธรรมทั้งหลายเป็นไปกับวิตกและวิจารณ์ วิตกและวิจารณ์ทั้ง ๒ นี้ โดยความอธิบายว่า บุคคลที่มีวิจารณ์ตรึกตรองไปต่าง ๆ นั้น เปรียบเหมือนหนึ่งพระโสดาบันท่านวิจารณ์ไปว่า สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามานขาดไปแล้ว ไม่มีอยู่ในสันดานของเราแล้ว จะคิดเป็นประการใดหนอ จึงจะสละกามฉันทะ พยาบาท ได้ฉะนี้ ความตรึกตรองไปเช่นนี้เรียกชื่อว่าวิจารณ์ แล้วท่านจึงวิตกไปว่า กามฉันทะ พยาบาท ก็ยังมีอยู่ในสันดานของเรา เราจะคิดเป็นประการใดหนอ เราจึงสละกามฉันทะ พยาบาทไปได้ ฉะนี้
พระสกวาทีฯ จึงขออุปาอุปไมยต่อไปอีกว่า ข้าแต่ท่านปรวาทีฯ ความข้อนี้ข้าพเจ้ายังมีความสงสัยอยู่ เพราะฉะนั้นขอพระผู้เป็นเจ้าจงแสดงอุปมาอุปไมยอีกต่อไป
พระปรวาทีฯ จึงได้แสดงอุปมาอุปไมยว่า เปรียบเหมือนหนึ่งพ่อค้าลงทุนหากำไร การค้าขายนั้นมีกำไรมากอยู่แล แต่ว่าวิตกไป กลัวบุคคลผู้อื่นเขาจะมาแบ่งซึ่งค้าขายฉะนี้ ถ้ามิฉะนั้นเปรียบเหมือนท่านทายก อุบาสก อุบาสิกาที่ได้โอกาสถวายทานแก่พระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน และพิจารณาทดลองของบริโภคเครื่องไทยทานของตนก็เห็นว่าดีแล้ว และคิดไปว่าพระท่านจะชอบหมดทุกองค์ หรือว่าจะไม่ชอบบ้างเป็นประการใด คอยตรวจตราแลดู เพิ่มเติมเปรี้ยวหวานมันเค็มเป็นต้นอยู่อย่างนี้ ฉะนี้แล เรียกว่าวิตกวิจารณ์ เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า สะวิตักกะสะวิจารา ธัมมา
ฐิตา:
๑๗. อะวิตักกะ วิจาระมัตตา ธัมมา
ในบทที่ ๑๗ ว่า อะวิตักกะ วิจาระมัตตา ธัมมา นั้นแปลว่า ธรรมทั้งหลายอันเป็นเครื่องทรงไว้ซึ่งจิต มาตรว่ามีแต่วิจารณ์ วิตกไม่มี ดังนี้ โดยความอธิบายว่าบุคคลที่กระทำกุศลสุจริต จิตไม่วอกแวกหวั่นไหวแลคิดไปว่าเป็นบุญเป็นกุศลแล้วก็ก้มหน้ากระทำไป มิได้เคลือบแคลงกินแหนงเมื่อภายหลัง ดังบุคคลผู้ชำนาญในการดูเงิน ที่ดีก็ว่าดี ที่แดงก็ว่าแดง เพราะเชื่อมือเชื่อตาของตนฉะนั้น
พระสกวาทีฯ จึงถามขึ้นว่า บุคคลมีแต่วิจารณ์ไม่มีวิตกดังนี้ ข้าพเจ้ามีความสงสัยว่า เมื่อบุคคลไม่มีวิตก แล้วจะเอาวิจารณ์มาแต่ไหนเล่า ขอพระผู้เป็นเจ้าแสดงอุปมาอุปไมย เพื่อให้เกิดความเข้าใจอีกต่อไป
พระปรวาทีฯ จึงได้แสดงอุปมาอุปไมยว่า บุคคลมีแต่วิจารณ์ วิตกไม่มีนั้น เปรียบเหมือนหนึ่งหัวปลีแห่งกล้วย เมื่อเดิมทีนั้นเป็นหัวปลีอยู่ กล้วยหามีไม่ เมื่อปลีนั้นกลายเป็นกล้วยแล้ว เจ้าของกล้วยก็ตัดเอาปลีไปเสีย กล้วยก็แก่ไปทุกวัน เขาก็เรียกว่ากล้วย เขาหาได้เรียกว่าหัวปลีไม่ ดังโลกโวหารที่พูดกันอยู่ว่า บุคคลผู้นั้นกระทำสิ่งใด ๆ ไม่ได้ตรึกตรอง กระทำตามความชอบใจของตนดังนี้ เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า อะวิตักกะ วิจาระมัตตา ธัมมา
ฐิตา:
๑๘. อะวิตักกาวิจารา ธัมมา
ในบทที่ ๑๘ ว่า อะวิตักกาวิจารา ธัมมา นั้นแปลว่า ธรรมทั้งหลายที่ทรงไว้ซึ่งจิตอันไม่ตกวิจารณ์ ดังนี้ โดยความอธิบายว่า บุคคลจำพวกหนึ่งจะกระทำสิ่งไรก็ไม่ตรึกตรอง ไม่พิจารณา เมื่อเขาว่าดีก็ดีตาม มีแต่ความเชื่ออย่างเดียว
พระสกวาทีฯ จึงถามขึ้นว่า บุคคลที่ไม่มีวิตกวิจารณ์ มีแต่ความเชื่ออย่างเดียวนั้นคือใคร ผู้ใดเล่าเป็นตัวอย่าง?
พระปรวาทีฯ จึงนำบุคคลมาแสดงเพื่อเป็นนิทัศนอุทธาหรณ์ว่า เมื่อพระอานันทะไปกระทำกายคตาสติกรรมฐาน พิจารณาซึ่งอาการ ๓๒ เป็นอนุโลมปฏิโลม ครั้งนั้นก็ยังไม่สำเร็จอาสวักขัยไปได้เพราะวิตกไปถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเชื่อคำพยากรณ์ภาษิตที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า อาตมาจะได้สำเร็จอาสวักขัยในวันนี้ ก็เหตุไฉนยังไม่สำเร็จเล่า อย่ากระนั้นเลยชะรอยว่าความเพียรจะกล้าไป จำอาตมาจะได้พักผ่อนเอนกายเสียสักหน่อยเถิด พอคิดว่าจะจำวัดเอนกายลง ก็หมดความวิจารณ์ถึงอาการ ๓๒ และหมดความวิตกถึงพระพุทธองค์ก็ได้บรรลุอาสวักขัย ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณ ด้วยมาตัดวิตกวิจารออกไปเสียได้ฉะนี้ เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า อะวิตักกาวิจารา ธัมมา ซึ่งแปลว่า ธรรมอันหมดวิตกวิจารณ์ฉะนี้ นักปราชญ์ผู้มีวิจารณญาณก็พึงสันนิษฐานโดยสังเขปกถาพอป็นธรรมสวนานิสงส์แต่เพียงนี้ฯ
ฐิตา:
ภาพพิธีล้างหน้าพระมหามัยมุนี ตอนตี 5 ซึ่งชาวเมืองมัณฑะเลย์จะทำพิธีทุกเช้า
๑๙. ปีติสะหะคะตา ธัมมา
ณ บัดนี้ จะได้แสดงในติกมาติกาบทที่ ๑๙ เป็นปุญญานุสนธิสืบต่อไป โดยนัยพระบาลีว่า ปีติสะหะคะตา ธัมมา เป็นต้น แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันร่วมมาด้วยปีติ ปีตินั้นมีลักษณะ ๕ ประการ คือ ฆนิกาปีติ ๑ อุทกาปีติ ๑ โอกัณติกาปีติ ๑ อุเพงคาปีติ ๑ ผรณาปีติ ๑ ฆนิกาปีตินั้นบังเกิดเป็นขณะ เมื่อบังเกิดดุจหนึ่งว่าสายฟ้าแลบ อุทกาปีตินั้นบังเกิดน้อย เมื่อบังเกิดดุจหนึ่งคลื่นกระทบฝั่ง โอกัณติกาปีตินั้น เมื่อบังเกิดขึ้นกระทำให้กายหวั่นไหว อุเพงคาปีตินั้น เมื่อบังเกิดขึ้นก็กระทำให้ขนพองสยองเกล้า แล้วกระทำให้กายลอยไปบนอากาศได้ ผรณาปีตินั้น เมื่อบังเกิดขึ้นก็ทำให้ซาบซ่านไปทั่วสรรพางค์กาย เปรียบเหมือนบุคคลที่ได้บริโภคโภชนาหารอันโอชารสต่าง ๆ ฉะนั้น ปีตินั้นแปลว่าอิ่มใจ เป็นที่ยินดีของสัตว์ที่เป็นโลกวิสัยนี้ทั่วไป
พระสกวาทีฯ จึงถามขึ้นว่า ปีตินั้นแปลว่าอิ่ม บุคคลที่ได้บริโภคโภชนาหารอันโอชารสต่าง ๆ ก็อิ่ม ได้ลาภที่ชอบใจก็อิ่ม จิตที่ฟุ้งซ่านไปก็อิ่ม จิตที่ระงับก็อิ่ม เรียกว่าปีติ ปีติในที่นี้จะว่าอิ่มด้วยอะไร?
พระปรวาทีฯ จึงวิสัชนาว่า ปีติในที่นี้แปลว่าอิ่ม เพราะมิได้มีความกังวลอีกต่อไป ดังบุคคลที่หิวอาหารจัด ก็เที่ยวแสวงหาอาหารตามชอบใจของตน ครั้นได้บริโภคอาหารอิ่มแล้ว ก็สิ้นความกังวล ไม่ต้องแสวงหาอีกต่อไป เปรียบเหมือนหนึ่งพระวักลิภิกขุ มีความหวังตั้งใจจะดูพระพุทธเจ้าให้อิ่มใจ เมื่อไม่ได้เห็นพระพุทธเจ้าก็มีความโทมนัสเสียใจ ครั้นได้เห็นพระพุทธเจ้าแล้ว จิตใจที่โทมนัสนั้นก็หายไป ความอิ่มอย่างนี้แลเรียกว่าปีติ เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า ปีติสะหะคะตา ธัมมา
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version