ผู้เขียน หัวข้อ: ธรรมบันเทิง : ข้อคิดจากชีวิต "พุ่มพวง"  (อ่าน 2705 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด















ความสำเร็จของบุคคลสำคัญระดับประเทศที่สังคมให้การยอมรับนั้น ย่อมเกิดมาจากการกระทำความดีที่สั่งสม และตั้งมั่นอยู่ในเส้นทางที่ถูกต้อง จนส่งผลให้ได้รับสิ่งดีๆแก่ตนเอง ดังเช่นบางเสี้ยวมุมชีวิตของราชินีเพลงลูกทุ่งไทยผู้ล่วงลับ อย่าง “พุ่มพวง ดวงจันทร์”
       
       ภาพยนตร์อัตชีวประวัติของนักร้องผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ราชินีเพลงลูกทุ่งของไทย” เล่าเรื่องราวตั้งแต่ยังเป็นเด็กหญิงบ้านนอกจากไร่อ้อย จนไปสู่ช่วงที่เธอประสบความสำเร็จสูงสุดในชีวิต โดยให้ข้อคิดหลักธรรมในชีวิตที่นักร้องผู้ล่วงลับได้ฝากไว้แก่คนรุ่นหลัง
       
       ภาพยนตร์เปิดฉากให้ผู้ชมรู้จักสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กหญิงผึ้ง ลูกชาวไร่อ้อย ซึ่งมีฐานะยากจน อยู่กินอย่างแร้นแค้นกับพี่น้องอีกหลายคน จนเป็นเหตุให้เธอไม่ได้เรียนต่อเมื่อจบชั้น ป. 2 แต่เด็กหญิงจากเมืองสุพรรณฯ ก็มีความฝันอยากเป็นนักร้อง เพราะเธอมีพรสวรรค์ทางด้านการร้องเพลง จนกระทั่งวันหนึ่ง เมื่อ “ไวพจน์ เพชรสุพรรณ” นักร้องชื่อดังในยุคนั้น มาแสดงดนตรีไม่ไกลจากบ้านเธอนัก พ่อของผึ้งจึงรีบนำลูกสาวไปฝากให้รับใช้ครูเพลงชื่อดัง แต่วันนั้นสองพ่อลูกก็ต้องผิดหวังกลับไป เมื่อไวพจน์บอกว่า “กลับไปเรียนหนังสือดีกว่านะลูก เรียนจบแล้วค่อยมาคุยกันใหม่”
       
       เวลาผ่านไปอีกหลายปี ผึ้งก็ยังไม่ได้เรียนหนังสือ แต่ทักษะความสามารถด้านการร้องเพลงของเธอกลับเพิ่มขึ้น ไปประกวดชนะตามเวทีต่างๆ ในที่สุดพ่อกับผึ้งก็ตัดสินใจเข้าเมืองกรุงไปขอฝากตัวกับครูเพลงไวพจน์ อีกครั้ง
       
       เส้นทางการเป็นเด็กรับใช้ในบ้านครูเพลงระดับประเทศ เริ่มที่การทำงานบ้านทุกอย่าง และฝึกการเป็นหางเครื่อง ซึ่งแม้ว่าความใฝ่ฝันของผึ้ง คือ อยากเป็นนักร้อง แต่เธอไม่ได้อิดออด ยังคงตั้งหน้าตั้งตาฝึกฝนทำงานเบื้องหลังอย่างไม่ย่อท้อ จนกระทั่ง “น้ำหวาน” นักร้องหญิงประจำคณะ ที่ไวพจน์หวังจะปั้นให้เป็นนักร้องดัง กลับมีปัญหาเรื่องชู้สาว โอกาสจึงตกมาถึง “น้ำผึ้งจากเมืองสุพรรณ” ที่ได้ไปอัดแผ่นเสียงแทน
       
       แต่แล้ว.. ยังไม่ทันที่ผึ้งน้อยจากไร่อ้อยจะเริ่มต้นพบความสำเร็จ เธอกลับพลาดพลั้งด้วยปัญหาเดียวกันกับน้ำหวาน เมื่อสาวสุพรรณฯ ไปเผลอตัวเผลอใจกับนักแซกโซโฟนประจำวงอย่าง “ธีรพล” จนเป็นความผิดเชิงชู้สาวซึ่งเป็นกฎเหล็กในบ้านครูไวพจน์
       
       ทั้งสองจึงต้องหนีตามกันไปตายเอาดาบหน้า โดยอาศัยเลี้ยงชีพในคาเฟ่เล็กๆ ด้วยการเป็นหางเครื่องบ้าง เล่นตลกบนเวทีบ้าง ซึ่งก็ยิ่งห่างไกลจากความฝันของเด็กสาวชาวไร่ออกไปทุกที ธีรพลแม้จะพยายามกอบกู้ศักดิ์ศรีตัวเอง ด้วยการบากหน้าไปของานจากครูเพลงตามคณะต่างๆ แต่ไม่มีใครกล้ารับเข้าทำงานด้วย เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นการหักหาญน้ำใจครูเพลงด้วยกัน สุดท้ายธีรพลกับเมียรักจึงเดินทางกลับไปขอขมาไวพจน์ ให้อโหสิกรรมกับสิ่งที่ทั้งคู่เคยกระทำมา จึงเป็นเสมือนการปลดโซ่ตรวนแห่งความผิด สู่ความเป็นอิสระ ชีวิตใหม่ของว่าที่นักร้องสาวกับนักดนตรีหนุ่มจึงเริ่มต้นขึ้นที่คณะ “ครูมนต์ เมืองเหนือ” ซึ่งรับช่วงต่อจากครูไวพจน์ อุปการะผึ้งจากไร่อ้อยเอาไว้เป็นศิษย์ พร้อมกับตั้งชื่อเสียงเรียงนามเสียใหม่ว่า “พุ่มพวง ดวงจันทร์”
       
       ชีวิตของ “พุ่มพวง ดวงจันทร์” เริ่มต้นด้วยการเป็นนักร้องสมทบ โดยเธอขึ้นเวทีครั้งแรกกับวงของ “ขวัญชัย เพชรร้อยเอ็ด”
       
       ด้วยความมุ่งมั่น และความสามารถ ก็ทำให้ “ชื่อ” และ “เสียง” ของพุ่มพวง ผสมผสานรวมกันเป็น “ชื่อเสียง” ที่เริ่มโด่งดังมากขึ้นเรื่อยๆ
       
       ท่ามกลางความสำเร็จที่เกิดขึ้น นักร้องสาวไม่เคยลืมคนที่เคยมีบุญคุณ ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัวที่ต่างก็ลืมตาอ้าปาก มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมไปถึง “น้ำหวาน” นักร้องรุ่นพี่ที่เคยร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาตั้งแต่สมัยที่เคยอยู่บ้านครูไวพจน์ พุ่มพวงก็ไม่ทอดทิ้ง โดยดึงมาร่วมงานคณะเดียวกัน สำคัญไปกว่านั้น คือ การมุ่งมั่นตั้งใจสร้างความสุขให้กับผู้ที่ทำให้ “พุ่มพวง” กลายเป็นนักร้องดัง นั่นคือ แฟนเพลงทุกๆคน
       
       ช่วงท้ายของภาพยนตร์ ตอกย้ำประเด็นการตอบแทน สิ่งดีๆให้กับคนที่รักและสนับสนุน แม้ว่าสุขภาพของเธอจะเริ่มย่ำแย่ลงเรื่อยๆ ด้วยโรคประจำตัวคือ แพ้ภูมิคุ้มกันตัวเอง จนกระทั่งต้องกลับไปพักรักษาตัวที่บ้าน และเกือบจะต้องวางไมค์อำลาวงการ แต่ด้วยสำนึกอยู่เสมอว่า ยังมีแฟนเพลงที่รอคอย รอความสุขจากเสียงเพลงของเธออยู่อีกจำนวนมาก และเธอก็คิดเสมอ ว่าตนเองนั้นประสบความสำเร็จในชีวิตได้เพราะบรรดามิตรรักแฟนเพลง จึงทำให้ราชินีเพลงลูกทุ่ง หวนคืนสู่เวทีอีกครั้ง และเป็นความสำเร็จอย่างที่ไม่เคยมีนักร้องลูกทุ่งรายใดทำได้มาก่อน
       
       สำหรับภาพยนตร์เรื่อง “พุ่มพวง” อาจมีเนื้อหาบางส่วนดัดแปลงปรับเปลี่ยนไปจากข้อเท็จจริง แต่สิ่งที่เด่นชัด และเป็นข้อคิดจากชีวิตของเธอก็คือ “ความกตัญญู” รู้คุณผู้อื่น และ “กตเวที” ตอบแทนผู้มีบุญคุณแก่ตน เธอไม่เคยทอดทิ้งครอบครัว มุ่งมั่นตอบแทนความสุขแก่ผู้มีบุญคุณอย่างแฟนๆเพลง และคนที่เคยลำบากด้วยกันมา แม้กระทั่งผู้เคยร่วมทุกข์ร่วมสุขและมีส่วนผลักดันให้ชีวิตประสบความสำเร็จอย่าง “ธีรพล” แฟนหนุ่ม ซึ่งภายหลังปรากฏว่า “นอกใจ” ไปกับคนอื่น ราชินีเพลง ก็ไม่คิดจะทอดทิ้ง แต่กลับยังให้โอกาสเขากลับมาร่วมงานกันได้อีก
       
       ข้อคิดอีกประการจากชีวิตราชินีเพลงลูกทุ่งไทย คือ “วิริยะ” หรือ ความพากเพียร ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักธรรมสำคัญของ “อิทธิบาท 4” ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในสิ่งที่มุ่งหวังได้เสมอ หากมีความขยันขันแข็ง ตั้งใจในสิ่งที่รัก ดังจะเห็นว่า แม้พุ่มพวงจะอ่านหนังสือไม่ออก เขียนไม่ได้ แล้วยังต้องเจอมรสุมชีวิตอีกหลายด้าน แต่ความวิริยะอุตสาหะ ก็นำพาให้นักร้องบ้านนอกคนนี้ กลายเป็นดวงจันทร์ส่องแสงนวลกว่าหมู่ดาวทั้งปวงในที่สุด
       
       นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของ “อภัยทาน” คือการไม่อาฆาตมาดร้าย จองเวรซึ่งกันและกัน หลักธรรมข้อนี้ปรากฏเด่นชัด ในกรณีของไวพจน์ เพชรสุพรรณ ที่อโหสิกรรมให้แก่ธีรพลกับพุ่มพวง ซึ่งหากวันนั้นไวพจน์ไม่ให้อภัยทั้งคู่แล้ว อาจไม่มีราชินีเพลงลูกทุ่งอย่างพุ่มพวงก็เป็นได้
       
       ข้อคิดหลายด้านที่ผู้ชมได้รับจากภาพยนตร์ “พุ่มพวง” ตอกย้ำด้วยภาพจากเหตุการณ์จริง ที่นำมาตัดต่อในช่วงท้าย ที่ทำให้เราเห็นว่า “กรรมดี” ที่พุ่มพวงสั่งสมมาตลอด ชีวิตนั้น ทำให้เธอยังอยู่ในความทรงจำของผู้คนจนทุกวันนี้
       
       (จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 130 กันยายน 2554 โดย ชยวรรศ มานะศิริ)

http://www.manager.co.th/Dhamma/viewnews.aspx?NewsID=9540000110732

ตัวอย่าง พุ่มพวง (Official Tr.)
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...