แสงธรรมนำใจ > หลวงปู่ ติช นัท ฮันห์

ประวัติและปฏิปทา ท่านติช นัท ฮันห์ (Thich Nhat Hanh)

<< < (2/2)

มดเอ๊กซ:

ท่านติช นัท ฮันห์ นำพาปฏิบัติกิจกรรม “ก้าวย่างแห่งสันติภาพ”

 
• พุทธศาสนากับการเยียวยาการเมืองและธุรกิจ

ปลายเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ.2550 ที่ผ่านมา ในการประชุมชาวพุทธนานาชาติ ครั้งที่ 4 ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ ท่านติช นัท ฮันท์ ได้กล่าวปาฐกถาเรื่อง “พระพุทธศาสนากับธรรมาภิบาลและการพัฒนา” ความตอนหนึ่งท่านกล่าวถึงนักการเมืองและนักธุรกิจว่า

ชีวิตของนักการเมืองและนักธุรกิจ มีแต่ความเครียด ความทุกข์ ไม่มีเวลาที่จะใช้ชีวิตอย่างลึกซึ้งที่จะดูแลตนเองได้ และหลายครั้งที่เราใช้อำนาจในทางที่ผิด ใช้อำนาจในทางที่เสียหาย เราทุกคนมีอำนาจในตัวเอง ในฐานะที่เป็นครู เรามีอำนาจ ในฐานะที่เป็นคุณพ่อ เราก็มีอำนาจเหมือนกัน ถ้าเราใช้อำนาจในทางที่ผิด อำนาจนั้นก็ทำให้คนอื่นมีความทุกข์ไปด้วย ทำให้ตนเองและคนรอบข้างมีความทุกข์ เนื่องจากการไม่รู้วิธีการใช้อำนาจที่ถูกต้อง นอกจากนี้ เงินทอง ชื่อเสียง และอำนาจ ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้เราตกอยู่ในห้วงทุกข์เช่นกัน

ทางออกในเรื่องนี้ คือ นักการเมือง นักธุรกิจ จะต้องฝึกเจริญธรรม เพื่อให้เกิดอำนาจทางจิตวิญญาณ 3 ประการ ได้แก่

หนึ่ง ใช้สติในการดำเนินชีวิต รู้จักละทิ้ง หรือตัดออก เพราะนักการเมืองหลายคนยังยึดติดกับความอยาก โดยเฉพาะเรื่องของกามารมณ์ บางครั้งทำให้เสียชื่อเสียง จนไม่สามารถอยู่บริหารงานทางการเมืองต่อไปได้

สอง ใช้ปัญญาเป็นฐานในการพัฒนาชีวิต ต้องรู้จักการเข้าถึงปัญญาด้วยการฟังอย่างลึกซึ้ง การมีปัญญาจะสามารถแปรเปลี่ยนความทุกข์ ความสิ้นหวังเป็นพลังสร้างสรรค์ได้

สาม เรียนรู้ที่จะใช้พลังแห่งความเมตตาและความรัก ต้องรู้จักการให้อภัย ยอมรับซึ่งกันและกัน เมื่อไม่มีความรักให้กันและกันจะนำมาซึ่งความโกรธ เกลียด และความทุกข์

การมีสติและฝึกปฏิบัติอยู่เสมอ สามารถทำให้บ้าน ที่ทำงาน หรือพรรคการเมือง เปลี่ยนแปลงจากสถานที่บ่มเพาะความทุกข์ เป็นสถานที่แห่งความสุข และความกรุณาได้

ท่านติช นัท ฮันห์ เห็นว่าพุทธศาสนามิอาจแยกจากชีวิตได้ การปฏิบัติธรรมมิได้หมายถึงการปลีกตัวออกจากกิจวัตรประจำวัน หากควรผสานให้กลมกลืนกับทุกอิริยาบถ ไม่ว่าการกิน การดื่ม การทำงาน ล้วนเป็นโอกาสแห่งการเจริญสมาธิภาวนาทั้งสิ้น พุทธศาสนาที่สัมพันธ์กับชีวิตและสังคมอย่างแนบแน่นดังกล่าว ท่านเรียกว่า “Engaged Buddhism” หรือ “พุทธศาสนาเพื่อสังคม” ซึ่งเป็นแนวคิดที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

เมื่อมองอย่างลึกซึ้ง การที่ผู้คนทั่วโลกยอมรับนับถือและลงมือปฏิบัติตามแนวคิดของท่านติช นัท ฮันห์ อาจเป็นเพราะความเรียบง่ายและเป็นธรรมชาติ อันเป็นวิถีทางของชีวิตแท้ๆ และสัจธรรมที่ว่า การก่อเกิดพลังอันยิ่งใหญ่ย่อมเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ ที่ธรรมดาสามัญ เช่น ลมหายใจ การเดิน และการเจริญสติ ที่นำไปสู่การเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งสันติในใจ ไหลรินไปสู่ครอบครัว และงอกงามสู่สังคมโลก

ดังที่ท่านกล่าวไว้ในปาฐกถาธรรมเรื่อง “สู่สันติสมานฉันท์ : ความสุขอันเป็นหนึ่งเดียวในครอบครัวและสังคม” ปาฐกถาธรรมครั้งแรกในเมืองไทยของท่าน เนื่องในงานวันวิสาขบูชาโลก ปี พ.ศ.2550 ว่า “หากเธอไม่สามารถที่จะสันติกับตัวเองได้แล้ว เธอก็ไม่สามารถสันติกับผู้อื่นได้เช่นกัน”


ท่านติช นัท ฮันห์ กลับบ้านเกิดที่เวียดนาม เมื่อปี พ.ศ.2548


• พุทธศาสนาในเวียดนาม

พุทธศาสนาในประเทศเวียดนามมีประวัติยาวนานกว่า 2,000 ปี พระพุทธศาสนาเข้ามาเผยแผ่ในประเทศเวียดนาม เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 7 ซึ่งขณะนั้น เวียดนามตกอยู่ในอำนาจของจีน โดยสันนิษฐานว่า ท่านเมียวโป (Meou-Po) ได้เดินทางจากประเทศจีนเข้ามาเผยแผ่

ในยุคแรกๆ พระพุทธศาสนายังไม่เจริญรุ่งเรืองนัก กระทั่งเวียดนามกอบกู้เอกราชจากจีนได้สำเร็จ พระพุทธศาสนาจึงได้รับการฟื้นฟูอย่างจริงจัง และเจริญรุ่งเรืองมาโดยลำดับ มีการจัดตั้งองค์การปกครองคณะสงฆ์ขึ้น กษัตริย์หลายพระองค์ของเวียดนามทรงเอาใจใส่และทำนุบำรุงพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ต่อมาในช่วง พ.ศ.1957-1974 เวียดนามได้ตกเป็นเมืองขึ้นของจีนอีก ทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมโทรมลง และแม้ว่าจะได้เอกราชอีกครั้งในปี พ.ศ.1974 แต่สถานการณ์ของพุทธศาสนาก็ยังไม่ดีขึ้น

พ.ศ.2076 เวียดนามได้แตกแยกเป็น 2 อาณาจักร คือฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ ที่ทำสงครามกันตลอดเวลา 270 ปี ในช่วงนี้แต่ละอาณาจักรก็ได้มีการสร้างและปฏิสังขรณ์วัดวาอารามมากมาย เพื่อสร้างศรัทธาแก่ผู้คน

พ.ศ.2426 เวียดนามได้ตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส พุทธศาสนาจึงเริ่มเสื่อมโทรมลงอีกครั้ง มีการห้ามสร้างวัด จำกัดจำนวนพระสงฆ์ และตัดสิทธิของชาวพุทธมากมาย แต่ชาวพุทธก็พยายามต่อสู้เพื่อเอกราช กระทั่งศาสนาพุทธซึ่งดูเหมือนว่าจะสูญสิ้นแล้ว ก็กลับฟื้นขึ้นอีกครั้ง โดยในปี พ.ศ.2474 ได้มีการจัดตั้งสมาคมพุทธศาสนาขึ้นที่เมืองไซ่ง่อน เมืองเว้ และฮานอย เพื่อมุ่งเน้นด้านการศึกษา และสังคมสงเคราะห์ รวมทั้งได้มีการจัดพิมพ์วารสารของพระพุทธศาสนา และแปลคัมภีร์ต่างๆ ทั้งฝ่ายมหายานและเถรวาท แต่การฟื้นฟูก็หยุดชะงักลงอีกครั้ง เนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ.2482

ในปี พ.ศ.2492 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง ก็เริ่มฟื้นฟูพุทธศาสนาต่อไป มีการตั้งกิจการบริหารคณะสงฆ์ขึ้นใหม่ รวมทั้งพุทธสมาคมสำหรับฆราวาสขึ้นด้วย

ในช่วงที่ฝรั่งเศสปกครองเวียดนามนั้น ได้แบ่งประเทศเวียตนามเป็น 2 เขตคือ เวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ โดยเวียดนามเหนือปกครองในระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ส่วนเวียดนามใต้ปกครองในระบอบสาธารณรัฐ ซึ่งส่งผลให้เกิดวิกฤตการณ์กับพุทธศาสนามากมาย โดยเฉพาะในเวียดนามใต้ ที่ปกครองโดยรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีโง ดินห์เดียม ซึ่งนับถือคริสต์ และได้กดขี่ข่มเหงชาวพุทธ รวมทั้งกระทำย่ำยีต่อพุทธศาสนามากมาย กระทั่งพระสงฆ์กับชาวพุทธทนไม่ไหวได้รวมตัวกันต่อต้าน จนถึงขั้นพระติช กวางดึ๊ก เผาตัวเองจนมรณภาพ เพื่อเป็นการประท้วง จนเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก ในปี พ.ศ.2506

ต่อมาใน พ.ศ.2519 ได้มีการรวมเวียดนามทั้ง 2 เขตเข้าเป็นประเทศเดียวกันอีกครั้ง โดยใช้ชื่อว่า ‘สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม’ ปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศเวียดนาม

ปี พ.ศ.2542 เป็นต้นมา พระติช ตริ ถู ได้รวบรวมชาวพุทธทุกนิกายและองค์กรต่างๆ ทั่วประเทศ จัดตั้ง ‘ชุมชนชาวพุทธแห่งเวียดนาม’ เพื่อร่วมฟื้นฟูพุทธศาสนาขึ้นอีกครั้งภายหลังการรวมชาติ ภายใต้คำขวัญว่า “ธรรมะ-ชาติ-สังคมนิยม” และร่วมกันเผยแผ่พระพุทธศาสนาเพื่อนำความสงบและสันติมาสู่โลก รวมทั้งได้จัดตั้งองค์กรระดับชาติ 5 องค์กร และได้มีการแปลและพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นภาษาเวียดนามด้วย ทุกวันนี้ ภิกษุ ภิกษุณี สามเณร แม่ชี และสาวกพุทธบริษัททั้งหลาย อยู่ภายใต้การนำของชุมชนชาวพุทธแห่งเวียดนาม ที่มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการปฏิรูปและการเปลี่ยนแปลงของประเทศไปสู่สิ่งใหม่ๆ

ปัจจุบัน เวียดนามมีประชากรราว 82 ล้านคน ในจำนวนนี้ราว 92 เปอร์เซนต์นับถือพุทธศาสนา และผลจากการสำรวจของฝ่ายกิจการศาสนาของภาครัฐเวียดนาม ในปี พ.ศ.2549 พบว่า ในปี พ.ศ.2548 เวียดนามมีภิกษุ ภิกษุณี และสามเณร 37,775 รูป แบ่งเป็นมหายาน 26,046 รูป เถรวาท 9,370 รูป นักพรต 2,359 รูป

วัดมีศาสนสถานและสำนักแม่ชี 16,972 แห่ง ศูนย์ให้ความรู้ทางพุทธศาสนา 40 แห่ง แบ่งเป็นสถาบันพุทธศาสนา 3 แห่ง มีสามเณรศึกษารวม 1,141 รูป วิทยาลัยพุทธศาสนา 6 แห่ง มีสามเณรศึกษารวม 1,000 รูป ศูนย์อบรมพุทธศาสนาระดับกลาง 31 แห่ง มีสามเณรศึกษารวม 3,726 รูป มีนักศึกษาที่จบปริญญาตรีและปริญญาเอกทางพุทธศาสนาในต่างประเทศ จำนวน 200 คน มีองค์กรการกุศล 1,076 องค์กร

และประเทศเวียดนามได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมชาวพุทธนานาชาติ เนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ในปี พ.ศ.2551


ท่านติช นัท ฮันห์ กับ พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) อธิการบดี มจร.
ขณะเข้าร่วมประชุมชาวพุทธนานาชาติ เนื่องในวันวิสาขบูชาโลก 2550



............................................................

คัดลอกมาจาก ::
หนังสือพิมพ์ธรรมลีลา ฉบับที่ 80 ก.ค. 50
โดย นันท์ธนัตถ์ จิตประภัสสร
ผู้จัดการออนไลน์ 26 กรกฎาคม 2550 10:50 น.
 
 
http://www.trueplookpanya.com/true/ethic_detail.php?post_id=4913

แก้วจ๋าหน้าร้อน:
 :13: อนุโมทนาสาธุครับผม

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version