ผู้เขียน หัวข้อ: อัตโนประวัติ หลวงพ่อทูล ขิปฺปญฺโญ  (อ่าน 4588 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ เลดี้เบื๊อก

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นไม้เล็กพริ้วไหวดั่งสายลม
  • *
  • กระทู้: 165
  • พลังกัลยาณมิตร 119
    • ดูรายละเอียด
อัตโนประวัติ

หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ
[/size]


วัดป่าบ้านค้อ  ต. เขือน้ำ  อ. บ้านผือ  จ. อุดรธานี
โทร (๐๘๒) ๒๔๕–๔๘๘
ชื่อหนังสือ   อัตโนประวัติพระอาจารย์ทูล ขิปฺปปัญฺโญ
   ISBN 974-8414-16-7
ผู้จัดทำ   คณะศิษย์พิมพ์ถวาย
   พิมพ์ครั้งที่ ๒ จำนวน ๗,๐๐๐ เล่ม
   พิมพ์ครั้งที่ ๓ จำนวน ๕,๐๐๐ เล่ม  มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๒


คำนำของผู้จัดพิมพ์

หนังสือชีวประวัติของหลวงพ่อทูล ขิปฺปปัญฺโญ ที่พวกเราทั้งหลายได้อ่านอยู่ในขณะนี้ มีขึ้นก็เนื่องจากคณะศิษย์หลายท่านได้ปรึกษากันว่า  หลวงพ่อเป็นพระที่มีศิษย์ที่ให้ความเคารพเชื่อถือเป็นจำนวนมาก  เมื่อหากได้อ่านหนังสือธรรมะของหลวงพ่อแล้ว คิดว่าทุกท่านพอจะเข้าใจดี  และมีหนังสือธรรมะของหลวงพ่อที่แพร่หลายอยู่ในขณะนี้ คือ หนังสือคู่มือชาวพุทธ  แนวทางปฏิบัติภาวนา  ทวนกระแส  ตัดกระแส  ข้ามกระแส  พ้นกระแสโลก และ พบกระแสธรรม  หนังสือทั้งหมดนี้มีความเหมาะสมในการปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง  อ่านแล้วเข้าใจง่าย  มีเหตุผลเป็นที่น่าเชื่อถือ  เพราะเป็นอุบายแนวทางปฏิบัติโดยตรง

หลวงพ่อทูลเป็นพระที่ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก  จึงได้รับเกียรติบัตรยกย่องเชิดชูจากคณะกรรมการอำนวยการในงานส่งเสริมพระพุทธศาสนาในพระสังฆราชูปถัมภ์  และยังได้รับโล่เกียรติคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๓  ทั้งยังได้เผยแผ่ธรรมปฏิบัติไปสู่ประชาชนอย่างกว้างขวาง ทั้งภายในและนอกประเทศ  เผยแผ่ธรรมะในรายการแผ่นดินธรรม  และยังได้ออกแสดงธรรมในสถานที่ต่าง ๆ ของทุกภาคทั่วประเทศไทย  ทั้งเป็นผู้ตอบปัญหาข้องใจให้แก่ผู้ปฏิบัติทั้งหลายได้อย่างกระจ่างชัดเจน หายสงสัยในข้อข้องใจนั้น ๆ  บางครั้ง ยังมีผู้ถามประวัติของหลวงพ่ออยู่บ้าง  แต่หลวงพ่อได้อธิบายให้ฟังเพียงเล็กน้อยเท่านั้น  คณะศิษย์อยากทราบประวัติของหลวงพ่อทั้งหมด เพื่อเป็นที่ระลึกตลอดไปจนชั่วกุลบุตรลูกหลาน และตลอดไปชั่วกาลนาน

คณะศิษย์จึงได้ปรึกษากันว่า  สมควรกราบนมัสการขอร้องให้หลวงพ่อเขียนประวัติของหลวงพ่อเอาไว้  เมื่อได้ตกลงกันแล้ว จึงได้กราบนมัสการเพื่อให้หลวงพ่อทราบวัตถุประสงค์  ในครั้งแรกหลวงพ่อก็ไม่อยากเขียนประวัติส่วนตัวให้ใคร ๆ ได้รู้เลย  แต่ศิษย์ก็พยายามอธิบายเหตุผลให้
หลวงพ่อฟังว่า  ศิษย์ของหลวงพ่อที่มีความตั้งใจภาวนาปฏิบัติอย่างจริงจังยังมีอยู่  ถ้าได้รู้ปฏิปทาในการปฏิบัติของหลวงพ่ออีกแรงหนึ่ง  ก็จะช่วยเป็นกำลังใจแก่ศิษย์ได้เป็นอย่างดี  ในที่สุดหลวงพ่อก็ให้ความเมตตาเขียนให้  แต่ยังมีข้อแม้อยู่ว่า ยังไม่ให้พิมพ์ประวัติของหลวงพ่อในช่วงนี้  จึงให้เหตุผลไปว่า เมื่อหากหลวงพ่อมีอายุถึงปูนนั้น  ศิษย์หลวงพ่อซึ่งมีอายุมากแล้วก็จะตายไปเสียก่อน  จึงหมดโอกาสที่จะได้รู้ประวัติของหลวงพ่ออย่างแน่นอน  แม้ศิษย์ที่ยังมีอายุน้อยอยู่
ก็ตาม  เมื่อชีวิตไม่แน่นอนรีบตายไปเสีย ก็หมดโอกาสเช่นกัน

เมื่อหลวงพ่อฟังเหตุผลอย่างนี้แล้ว  จึงได้พูดขึ้นว่า “การเขียนประวัติของหลวงพ่อนั้นเขียนได้  แต่ก็จะเป็นทั้งคุณและโทษ  ส่วนคุณนั้นก็พอจะรู้กัน  ส่วนโทษนั้นจะทำให้ผู้อ่านมีการถดถอยในการปฏิบัติธรรมลงไป  ความตั้งใจว่าอยากรู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรมในชาตินี้ก็จะหมดไป  เพราะจะมาเข้าใจว่า บารมีของตัวเองและบารมีของหลวงพ่อทิ้งห่างกัน  ในที่สุดก็จะภาวนาแบบค่อยเป็นค่อยไป  ไม่ทุ่มเทความเพียรอย่างเต็มที่  ก็จะกลายเป็นผู้สร้างบารมีเพื่ออนาคตไปเสีย  เหตุนี้เอง หลวงพ่อจึงไม่อยากเขียนประวัติให้ใคร ๆ ได้รู้  ถ้าจะเขียนก็จะเขียนเพียงบางส่วนเท่านั้น  ถ้าจะเขียนทั้งหมดก็จะยาวเกินไป  แต่ก็จะมีอุบายธรรมะแทรกเข้าไปให้มากที่สุดที่จะมากได้”  ในที่สุดหลวงพ่อก็ได้ให้ความเมตตาเขียนประวัติตามที่ศิษย์ขอร้อง  แต่หลวงพ่อก็ได้สั่งเอาไว้ว่า “อย่าไปพิมพ์มาก  ให้พิมพ์พอคณะศิษย์กลุ่มเล็ก ๆ ได้อ่านกันเท่านั้น”

คณะศิษย์ทั้งหลาย เมื่อได้อ่านประวัติของหลวงพ่อแล้ว  ขอได้ตั้งจิตอธิษฐาน  ขอคุณพระรัตนตรัยช่วยดลบันดาลให้หลวงพ่อปราศจากโรคภัย มีอายุยืนนาน เพื่อเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้แก่พวกเราทั้งหลายด้วยเทอญ

ศิษย์ผู้จัดพิมพ์

ออฟไลน์ เลดี้เบื๊อก

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นไม้เล็กพริ้วไหวดั่งสายลม
  • *
  • กระทู้: 165
  • พลังกัลยาณมิตร 119
    • ดูรายละเอียด
Re: อัตโนประวัติ หลวงพ่อทูล ขิปฺปญฺโญ
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กันยายน 08, 2011, 12:53:55 pm »
คำปรารภ
[/b]

เนื่องด้วยมีศิษย์หลายท่านได้ขอร้องให้ข้าพเจ้าเขียนประวัติส่วนตัวเอาไว้  เพื่อจะให้ลูกศิษย์
ทั้งหลายได้รู้ความเป็นมาของชีวิต  ว่ามีความเป็นมาอย่างไรและใช้อุบายการภาวนาปฏิบัติอย่างไร  โดยให้เหตุผลว่า ถ้าหลวงพ่อไม่เขียนประวัติเก็บไว้ในช่วงนี้  ความไม่แน่นอนในอนาคตย่อมเกิดขึ้นได้  เพราะขณะนี้มีลูกศิษย์หลายระดับด้วยกัน ทั้งแก่และหนุ่ม  สมมุติว่า ศิษย์ผู้สูงอายุเกิดมีอันเป็นไปในชีวิตโดยคาดไม่ถึง ก็จะหมดโอกาสที่จะได้รู้จักประวัติของหลวงพ่อทันที  หรือศิษย์ผู้ที่มีอายุยังน้อยอยู่ก็ตาม  ถ้าหากมีอันเป็นไปก็จะหมดโอกาสได้อ่านประวัติของหลวงพ่อเช่นกัน  หรือหากหลวงพ่อได้จากไปเสียก่อน  ทุกคนก็จะหมดโอกาสด้วยกันทั้งนั้น  ลูกหลานที่เกิดมาภายหลังก็จะไม่รู้เช่นกัน  เมื่อได้ฟังเหตุผลจากคณะศิษย์ขอร้องมาเช่นนี้  ประกอบกับคิดว่าอาจจะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย  จึงได้ตัดสินใจเขียนขึ้น  การเขียนประวัติของข้าพเจ้าในครั้งนี้จะเขียนทั้งหมดคงไม่ได้  เพราะจะทำให้หนังสือเล่มใหญ่เกินไป  ฉะนั้น จะเขียนพอเป็นสังเขปพอให้รู้เรื่องราวเท่านั้น  การเขียนครั้งนี้ก็จะเขียนในเรื่องจริงทั้งหมด  ซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัวเป็นส่วนใหญ่  และก็มีเรื่องของครูอาจารย์แฝงอยู่ในที่นี้ด้วย  ประวัติของข้าพเจ้านั้นพิสดารพอสมควร  บางคนอาจจะคิดว่า เหลือเชื่อเป็นไปไม่ได้  อาจมีความประมาท ขาดความเชื่อถือในตัวข้าพเจ้าก็เป็นได้  แต่ไม่เป็นไร ปล่อยให้เป็นเสรีภาพของนักวิจารณ์ก็แล้วกัน  เรื่องอย่างนี้มีอยู่ประจำโลกทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา  และจะมีต่อไปในอนาคตไม่มีที่สิ้นสุด

ขอทุกท่าน เมื่อได้อ่านประวัติของข้าพเจ้าแล้ว  อุบายใดพอจะนำมาใช้เป็นประโยชน์ได้  ก็ให้ท่านได้ใช้วิจารณญาณด้วยตนเอง  อุบายใดที่ไม่ถูกกับจริตนิสัยของท่าน ก็ให้ทิ้งไปเสีย

สุดท้ายนี้ ขอให้ท่านผู้อ่านทั้งหลาย  จงมีความเจริญในสติปัญญา  พิจารณาในสัจธรรมใด  ขอให้รู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรมนั้นด้วยเทอญ


(หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ)

ออฟไลน์ เลดี้เบื๊อก

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นไม้เล็กพริ้วไหวดั่งสายลม
  • *
  • กระทู้: 165
  • พลังกัลยาณมิตร 119
    • ดูรายละเอียด
Re: อัตโนประวัติ หลวงพ่อทูล ขิปฺปญฺโญ
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: กันยายน 08, 2011, 01:03:37 pm »
สารบัญ

คำนำของผู้จัดพิมพ์    ๓
คำปรารภ    ๕
อัตโนประวัติพระอาจารย์ทูล ขิปฺปปัญฺโญ    ๘
ภูมิลำเนาเดิม    ๘
แม่ได้เล่าเรื่องอดีตให้ฟัง    ๙
ความกังวลของแม่    ๙
คำพยากรณ์ของพ่อ   ๑๐
เชิญญาติผู้ใหญ่มาตั้งชื่อร่วมกัน   ๑๑
ชีวิตวัยเด็ก   ๑๑
ความอัศจรรย์ครั้งแรก   ๑๓
เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้พ่อแม่ฟัง   ๑๔
ในบางครั้งเกิดขึ้นจากเสียง   ๑๔
ฝังใจในพระกรรมฐานครั้งแรก   ๑๕
ใจเปลี่ยนไปในทางบวช   ๑๙
ใจหลงติดอยู่ที่ต้นมะม่วง   ๒๓
เกิดนิมิตช่วยกำลังใจ   ๒๕
เรื่องของพ่อตู้อ้วน   ๒๖
การออกบวช   ๒๘
พรรษาที่ ๑  พ.ศ. ๒๕๐๔   ๒๙
มีสัจจะบังคับใจตนเอง   ๒๙
เกิดนิมิตเตือนใจ   ๓๐
นิมิตเห็นตาปะขาวมาเตือน   ๓๑
สลบแล้วฟื้น   ๓๒
เขียนตามคำบอกเล่าของหมู่คณะ   ๓๒
ฟื้นตัวขึ้นมาเพราะหมู่คณะช่วยเหลือ   ๓๓
หวนระลึกในคำเตือนของตาปะขาว   ๓๓
ตั้งหลักปฏิบัติใหม่   ๓๔
นิมิตเห็นทางเดินจงกรมขวางหน้าอยู่ ๓ เส้น   ๓๖
พรรษาที่ ๒  พ.ศ. ๒๕๐๕   ๔๑
เสือโคร่งใหญ่ให้กำลังใจ   ๔๕
พรรษาที่ ๓  พ.ศ. ๒๕๐๖   ๔๙
หลวงปู่บอกว่าผ่านทุกข์ให้ได้   ๕๓
อิทธิบาท ๔ ฝังใจในครั้งนั้น   ๕๗
พรรษาที่ ๔  พ.ศ. ๒๕๐๗   ๕๘
พรรษาที่ ๕  พ.ศ. ๒๕๐๘   ๖๓
พรรษาที่ ๖  พ.ศ. ๒๕๐๙   ๖๔
ไปโปรดโยมพ่อ   ๖๕
พรรษาที่ ๗  พ.ศ. ๒๕๑๐   ๖๗
พรรษาที่ ๘  พ.ศ. ๒๕๑๑   ๖๘
ณ บ้านป่าลัน   ๗๖
วิปัสสนาญาณเกิดขึ้น   ๘๑
นิโรธคือความดับทุกข์   ๘๘
ณ วัดถ้ำกองเพล   ๙๕
บทส่งท้าย   ๑๑๑
การดูพระอริยเจ้านั้นดูได้ยาก   ๑๑๔

ออฟไลน์ เลดี้เบื๊อก

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นไม้เล็กพริ้วไหวดั่งสายลม
  • *
  • กระทู้: 165
  • พลังกัลยาณมิตร 119
    • ดูรายละเอียด
Re: อัตโนประวัติ หลวงพ่อทูล ขิปฺปญฺโญ
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: กันยายน 08, 2011, 01:22:29 pm »
อัตโนประวัติ
หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ

พระอาจารย์ทูล ขิปฺปปญฺโญ เป็นบุตรของนายอุทธา – นางจันทร์ นนฤาชา  เป็นบุตรคนที่ ๕  มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๑๐ คน คือ
๑.     นายโฮม  นนฤาชา  (ถึงแก่กรรม)
๒.     นางติ่ง    ร่วมจิต
๓.     นางปุ่น    โสมา  (ถึงแก่กรรม)
๔.     นางบุญน้อย  นามคุณ  (ถึงแก่กรรม)
๕.     พระอาจารย์ทูล  ขิปฺปปญฺโญ
๖.     นางบับพา  อาร้อน
๗.     พระบุญมา  สิริธมโม
๘.     นายโสภา  นนฤาชา
๙.     นางบุญหนา  ขันธวิชัย
๑๐.  นางบัวเงิน  กองอำไพ

ภูมิลำเนาเดิม
เกิด ณ บ้านหนองค้อ  ตำบลดอนหว่าน  อำเภอเมือง  จังหวัดมหาสารคาม  เกิดเมื่อวันจันทร์ วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๘  ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ เมื่ออายุได้ ๗ ขวบ  พ่อแม่ได้อพยพมาอยู่ที่บ้านหนองแวง (แก้มหอม)  ตำบลไชยวาน  อำเภอไชยวาน  จังหวัดอุดรธานี  และได้จบการศึกษาชั้นประถมปีที่ ๔ ที่โรงเรียนบ้านหนองแวงนี้เอง  การเข้าเรียนแต่ละชั้น เพื่อน ๆ ในชั้นเรียนเดียวกันได้ตั้งให้เป็นหัวหน้าในชั้นเรียนทุกชั้นไป  เมื่อขึ้นชั้นประถมปีที่ ๔  เด็กชายทูลได้รับความไว้วางใจจากครูว่ามีการศึกษาดี  จึงได้รับเลือกให้เป็นผู้ช่วยสอนนักเรียนในชั้นประถม ก. กา และประถมปีที่ ๑  และได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้านักเรียนทั้งหมดในโรงเรียนนั้น  เพราะในสมัยนั้นมีครูอยู่เพียง ๒ คน คือ คุณครูหัส และคุณครูอักษร  เมื่อครูมีน้อยการสอนไม่ทั่วถึง  เด็กชายทูลจึงได้รับเลือกให้เป็นผู้ช่วยสอนนักเรียนด้วยกันเอง  และเป็นที่ยอมรับของเพื่อนนักเรียนด้วยกัน  เพราะ
เด็กชายทูลมีความซื่อสัตย์ต่อเพื่อน ๆ  ไม่ลักเอาของเพื่อน  และยังเก็บของเพื่อนนักเรียนที่ทำตกหายมาแจ้งครูให้ประกาศมารับของคืนไป  จึงเป็นที่ไว้ใจแก่เพื่อนนักเรียนทุกคน
เมื่อเรียนจบชั้นประถมปีที่ ๔ แล้ว  ครูทั้งสองมีความหวังดีต่อเด็กชายทูลเป็นอย่างมาก  จึงได้มาขอต่อพ่อแม่ว่า อยากให้เด็กชายทูลไปเรียนต่อที่จังหวัด  แต่พ่อแม่ยังไม่พร้อม จึงได้พูดว่าเพิ่งมาอยู่บ้านใหม่ อะไรยังไม่สมบูรณ์เลย  เด็กชายทูลเลยหมดโอกาสที่จะได้เรียนต่อ  จึงทำให้เรียนจบเพียงชั้นประถมปีที่ ๔ เท่านั้น  ต่อมาก็ได้บวชเป็นสามเณรอยู่ที่บ้านหนองแวง ๑ ปี  แล้วลาสิกขาออกมาทำไร่ทำนาช่วยพ่อแม่ต่อไป     

แม่ได้เล่าเรื่องอดีตให้ฟัง
   ในช่วงนี้เอง แม่และพี่ ๆ ได้เล่าเรื่องอดีตให้ฟังว่าชีวิตของตนเป็นมาอย่างไร  แม่เล่าให้ฟังว่าก่อนที่ข้าพเจ้าจะเกิด  ในคืนหนึ่ง ขณะที่นอนหลับไป ได้ฝันเห็นสิ่งใส ๆ ลอยเข้ามาในห้องนอน  มีแสงเหมือนกับแสงหิ่งห้อยขนาดใหญ่  แม่ก็คว้ามือไปเพื่อจะจับเอาแต่ก็จับไม่ได้  เมื่อตื่นนอน
ขึ้นมา ตาก็มองหาสิ่งที่ใส ๆ ที่ลอยอยู่นั้นก็ไม่เห็น  เลยคิดแปลกใจว่านี่เป็นแสงอะไร  จะว่าแสงหิ่งห้อยหรือก็ใหญ่ไป  และผิดปกติจากแสงหิ่งห้อยทั่ว ๆ ไป  แต่ก็ไม่กลัวอะไร คิดว่าเป็นความฝันธรรมดา จึงได้นอนต่อไป
   หลายวันต่อมา  แม่มีความฝันที่แปลก ๆ เกิดขึ้นอีก  ฝันว่าตัวเองได้แต่งตัวด้วยเครื่องประดับประดาสวยงามมาก  มีทั้งเพชรนิล สร้อยทองห้อยตามคอ ผูกข้อมือ ผูกตามแขน มีแหวนสวมนิ้วมือ  เครื่องนุ่งห่มมีแต่ความแพรวพราวทั้งหมด  ทั้งผิวพรรณก็มีความสดใสเป็นประกายออกมารอบตัว  ศีรษะก็มีชฎาสวมใส่และสวมรองเท้าสวยงามมาก  ในขณะนั้น เหมือนกับว่าจะเดินไปที่ไหนสักแห่งหนึ่ง  เมื่อเดินไปก็มีคนมากั้นร่มฉัตรขนาดใหญ่ให้  และมีฝูงชนเดินห้อมล้อมเป็นจำนวนมาก  ทุกคนแสดงความเคารพต่อแม่เป็นอย่างมาก  ทุกคนพร้อมกันโห่ร้องว่า จะยกแม่ขึ้นเป็นใหญ่ในหมู่ชนทั้งหลาย  ขอแม่เจ้า จงเป็นที่พึ่งให้แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วยเถิด  เสียงนี้จะประกาศกันเป็นระยะ ๆ  จากนั้น แม่ก็ได้ตื่นขึ้นมา

ความกังวลของแม่
   เมื่อแม่ตื่นนอนขึ้นมา เกิดความตกใจไม่สบายใจเลย  กลัวว่าตัวเองจะตายจากพ่อและ
ลูก ๆ ไป  เข้าใจว่าวิญญาณของตัวเองได้ออกจากร่างไป  และมีคนจำนวนมากมารับเอาไป  จึงคิดไปว่าตัวเองจะตายในเร็ว ๆ นี้  พอตื่นเช้าขึ้นมาก็ได้เรียกพ่อกับลูกที่โตแล้วมารวมกัน  แล้วเล่าเรื่องความฝันที่เกิดขึ้นให้ฟังทั้งหมด  พ่อกับลูกก็ตั้งใจฟังเป็นอย่างดี  แม่บอกว่าถ้าฝันอย่างนี้ ชีวิตก็จะอยู่กับพ่อและลูก ๆ ต่อไปไม่นาน ก็คงจะตายจากพ่อกับลูก ๆ ไป  แม่สั่งต่อไปอีกว่า เมื่อแม่ตายไปแล้ว พ่อจะไปหาเมียใหม่มาเลี้ยงลูกก็จงพิจารณาให้ดี  อย่าให้แม่ใหม่มาบังคับลูกเก่า  พ่อเองก็อย่าหลงใหลในเมียใหม่ลูกใหม่จนเกิดความแตกแยกกัน  ให้พ่อเป็นคนกลาง  ให้มีความรักกันทั้งสองฝ่าย  อบรมลูกใหม่ลูกเก่าให้เข้าใจกัน  มีความสามัคคีกัน  และสั่งลูก ๆ ว่าต้องฟังคำสั่งสอนของพ่อ  ให้เป็นผู้ที่ว่านอนสอนง่าย เพื่อให้พ่อเกิดความสบายใจ  ให้มีความขยันช่วยการงานที่พอจะทำได้  และลูกที่โตแล้วก็อย่าไปบังคับน้องผู้น้อย  น้องผู้น้อยก็ต้องฟังคำสั่งสอนของพวกพี่ ๆ  อย่าทะเลาะตบตีกัน  ให้มีความรักกัน  มีอะไรก็ให้แบ่งกัน  ในขณะที่แม่ได้สั่งเสียพ่อลูก น้ำตาก็ไหลและสะอึกสะอื้นไปด้วย  นึกในใจอยู่ว่าอายุยังไม่มากไม่ควรจะตายจากพ่อจากลูกนี้ไปเลย  เมื่อแม่ตายไปไม่รู้ว่าลูก ๆ จะอยู่กันอย่างไร นอนกันอย่างไร อยู่กันกันอย่างไร  ความอาลัยอาวรณ์ในระหว่างแม่กับลูกจึงเป็นบรรยากาศที่ซบเซาเศร้าโศก  เหมือนกับว่าต้นไม้ที่เคยให้ความร่มเย็นต่อเรา  มาบัดนี้ จะต้องโค่นไปเสียแล้ว  จะให้ลูก ๆ ได้พึ่งพิงอิงอาศัยใครกันหนอ

คำพยากรณ์ของพ่อ
   ในช่วงที่แม่เล่าความฝันไป  พ่อก็ตั้งใจฟังอย่างจดจ่อ  พิจารณาเหตุแห่งความฝันตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ  กลับมีความเห็นตรงกันข้ามกับแม่ทีเดียว  จากนั้น พ่อก็ได้พูดออกมาในประโยคแรกว่า บ้า ความฝันที่แม่ฝันไปนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องของความตายหรอก  ลักษณะในความฝันอย่างนี้มันเป็นเรื่องของคนจะมีลูก  และเป็นลูกที่บุญญาวาสนาจะมาเกิดด้วย  ลูกนั้นจะเป็นที่พึ่งแก่ญาติ ๆ
ทั้งหลาย  และเป็นที่ยอมรับแก่คนทั้งหลายด้วย  ฉะนั้น ขอแม่อย่าไปคิดว่าตัวเองจะตายไปเลย  ส่วนแม่ก็หยุดฟังทั้งไม่แน่ใจว่าอะไรจะเกิดขึ้น  ยังตัดสินใจอะไรไม่ได้ว่าตัวเองจะตายไปหรือตัวเองจะตั้งครรภ์  แต่ก็อยู่ด้วยความไม่ประมาท  จากนั้นมาไม่นาน แม่ก็มีอาการตั้งครรภ์ขึ้นมาตามที่พ่อได้พูดเอาไว้  แม่ก็เกิดความโล่งใจขึ้นมา  คิดว่ายังไม่ได้ตายจากพ่อและลูก ๆ ไป  ส่วนพ่อพูดว่าฝันอย่างนี้คนจะมีลูกนั้น ก็เพราะพ่อได้เรียนโหราศาสตร์เรื่องทำนายความฝันต่าง ๆ มาแล้ว  ที่ทำนายว่าความฝันอย่างนั้นเป็นอย่างนั้น ความฝันอย่างนี้เป็นอย่างนี้  ส่วนใหญ่พ่อจะทำนายถูกเป็น
ส่วนมาก  จากนั้นมา ก็ได้พูดกันในเครือญาติว่า ดูซิ เมื่อแม่ฝันในลักษณะอย่างนี้แล้วตั้งครรภ์
ขึ้นมา ลูกที่เกิดมาจะเป็นอย่างไร  จะมีสิ่งที่ผิดแปลกอย่างไรบ้าง
   จากนั้นมา แม่ก็มีอาการผิดแปลกเป็นอย่างมากทีเดียว  นั่นคือ มีอาการแพ้ท้องและ
แพ้ท้องไม่เหมือนครั้งก่อน ๆ  มีลูกคนอื่นก็ไม่มีอาการแพ้ท้องอย่างนี้  เมื่อลูกคนนี้เข้ามาอยู่ในท้อง อะไรหลาย ๆ อย่างมีอาการเปลี่ยนไป เช่น มีอาการเหม็นคาวสัตว์ทุกชนิด  เพราะที่บ้านมีวัวควายอยู่ใต้ถุนบ้านจึงเกิดอาเจียน เนื่องจากกลิ่นวัวควายนั่นเอง  จึงจำเป็นต้องเอาวัวควายออกจาก
ใต้ถุนบ้านให้หมด  อาการเหม็นคาวก็หมดไป  แต่ก็ยังมีอีกอย่างหนึ่งที่แม่เบื่อที่สุด เห็นไม่ได้และกินไม่ได้เลย  นั่นคืออาหารคาวทุกชนิด  นับแต่ปลาร้าขึ้นมา ตลอดจนถึงเนื้อสัตว์ทุกประเภท  จะเกิดอาการเบื่อทั้งหมด  จะมากินข้าวร่วมสำรับกับพ่อลูกไม่ได้เลย  เมื่อเห็นอาหารคาวหรือได้กลิ่นอาหารคาวก็จะอาเจียนทันที  ฉะนั้น แม่จึงได้สั่งลูกไว้ว่า ให้เอาข้าวในก้นหวดใส่กล่องข้าวเอาไว้เป็นพิเศษ  อย่าให้ใครไปกินข้าวในกล่องนั้นเลย  เอาไว้ให้แม่กินคนเดียว  อาหารที่กินได้มีกล้วยกับเกลือเท่านั้น  อย่างอื่นกินไม่ได้เลย  แม่ตั้งครรภ์มาจนครบกำหนด จึงได้คลอดลูกออกมาเป็นผู้ชาย  เมื่อออกมาก็มีลักษณะแปลกไปอีก  นั่นคือ สายรกพันตัวออกมาเป็นสายสะพาย  เมื่อพ่อเห็น
อย่างนั้นก็นึกในใจแล้วว่า ลูกคนนี้จะเป็นนักบวชอย่างแน่นอน  จากนั้น แม่ก็กินอาหารได้อย่างปกติ  วัวควายก็เอามาเข้าคอกได้ไม่มีอะไรเกิดขึ้น

เชิญญาติผู้ใหญ่มาตั้งชื่อร่วมกัน
   การตั้งชื่อนั้น ก็มุ่งประเด็นของความฝันของแม่เป็นหลัก  ในครั้งที่แม่ฝันว่ามีฝูงชนยกแม่ให้เป็นใหญ่ดังได้กล่าวมาแล้วนั้น  จุดนี้เอง ญาติ ๆ จึงได้ลงมติว่าความฝันนี้เป็นลักษณะเทิดทูน  หรือยกขึ้นไว้ในที่สูง จึงให้ชื่อไปตามความฝันนั้น  จึงให้ชื่อว่า ทูล  นับแต่วันนั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน  จากนั้นมา ญาติ ๆ ก็จับตามองมาตลอดว่าเด็กชายทูลต่อไปนี้ จะมีลักษณะแปลกอย่างไร จะมีนิสัยอย่างไร  ญาติ ๆ ต้องคอยสังเกตดูเด็กชายทูลอยู่อย่างใกล้ชิดว่า จะมีอาการแสดงออกมาอย่างไร

ชีวิตวัยเด็ก
ในช่วงที่ยังเป็นเด็กอ่อนกินนมแม่อยู่ ก็เหมือนเด็ก ๆ ทั่วไป  ในช่วงที่กินอาหารได้เอง ก็เริ่มแสดงความแปลกออกมาให้คนได้เห็น  นั่นคือ ไม่ยอมร่วมกินข้าวในสำรับเดียวกันกับพ่อแม่และ
พี่ ๆ  ถ้าจะให้กินร่วมก็ต้องแบ่งอาหารกัน  ส่วนอาหารของเด็กชายทูลห้ามใคร ๆ มาแตะต้อง  ห้ามหยิบเป็นเด็ดขาด  กระติบข้าวก็ห้ามใคร ๆ มาหยิบร่วมเช่นกัน  ถ้าใครฝืนข้อห้ามนี้ สำรับข้าวก็จะพังกระจายทันที  ถ้วยจานก็จะถูกเหวี่ยง ถูกขว้างไปหมด  อาหารก็หก ถ้วยดินก็แตกกระจัดกระจาย  ทำให้พ่อแม่และพี่ ๆ เดือดร้อนไปตาม ๆ กัน  จากนั้น พ่อแม่ก็ได้วางแผนเสียใหม่คือ จัดที่กินข้าวให้เด็กชายทูลอยู่นอกวง  ให้กินอยู่คนเดียว  มีอาหารก็แบ่งออกมาใส่ถ้วยพิเศษ และเป็นอาหารที่สุกด้วย  กระติบข้าวก็แยกเป็นพิเศษ  ห้ามใคร ๆ มาหยิบด้วยเช่นกัน  แต่ก็มีพี่สาวคน
ถัดไป เป็นคนสำคัญมาก ชอบมาแกล้งอยู่เสมอ  เมื่อพ่อแม่เผลอก็ยื่นมือเข้าหยิบเอาอาหารของเด็กชายทูล  เด็กชายทูลก็แสดงความไม่พอใจทันที  นั่นคือ ยกถ้วยอาหารขึ้นกระแทกกับพื้นกระดานแตกกระจาย  เพราะสมัยนั้นเป็นถ้วยดิน  จะเหลืออะไร  กระติบข้าวก็โยนทิ้ง ไม่ยอมกินข้าวอีก  ทุก ๆ ครั้งต้องเป็นอย่างนี้
   พ่อเห็นท่าไม่ดี ต่อไปถ้วยจานจะแตกหมด  จึงได้ตัดกระบอกไม้ไผ่ขังข้อทำเป็นถ้วยใส่อาหารให้เด็กชายทูลกินเป็นพิเศษ  เมื่อพี่สาวมาหยิบเอาอาหารอีกก็จะทำตามเดิม คือทุบให้แตก  ถ้าไม่แตกก็โยนทิ้งไป  พ่อแม่จำเป็นต้องตามเก็บมาล้างเพื่อใส่อาหารให้เด็กชายทูลกินในวันต่อไป  เด็กชายทูลจะมีนิสัยอย่างนี้มาแต่เด็ก  จะทำอะไรจะต้องทำให้ได้ตามที่ตั้งใจ  ไม่ให้ใครมาขัดขวาง  จะเอาของสิ่งใดก็จะเอาให้ได้ตามใจทุกอย่าง  ถ้าไม่ได้ก็จะร้องไห้ไม่ยอมหยุด  ครั้งหนึ่งพอจำได้  ครั้งนั้นอยากได้กล้วยตาก  แต่บังเอิญกล้วยตากหมด มีแต่กล้วยสุกธรรมดา  แม่เอากล้วยสุกให้ก็ไม่ยอมเอา  ตั้งใจจะเอากล้วยตากก็ต้องเอากล้วยตากให้ได้  กล้วยตากไม่มีก็จะบังคับให้แม่หามาให้ได้  แม่จำเป็นต้องอุ้มไปดู  ให้เห็นว่ามีแต่กระจาดเปล่า ๆ  ในขณะนั้นไม่ทราบว่าอะไรบันดาลใจ  จึงได้เกิดความสำนึกได้ว่า เรานี้ทำไมจึงเป็นผู้เอาแต่ใจตัวเองอย่างนี้  กล้วยตากไม่มีก็จะบังคับให้มีซึ่งเป็นสิ่งที่เหลือวิสัย  ในขณะนั้น ดูสีหน้าของแม่แล้ว มีลักษณะไม่สบายใจเลย  แม่ก็อุ้มเด็กชายทูลเดินไปมาปลอบใจอยู่ตลอดเวลา  จึงนึกในใจว่า สิ่งที่ไม่มีเราจะบังคับให้สิ่งนั้นมีเป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง  ทั้งกล้วยสุกก็มีรสหวานเหมือนกัน  กินทดแทนกันได้  จากนี้ไป เราจะไม่ทำให้แม่มีความยุ่งยากกับเราอีกเลย  จากนั้นมาก็ไม่เคยขอกล้วยตากแห้งจากแม่อีก  มีกล้วยอะไรที่แม่เอาให้กินก็กินได้หมด  ในช่วงนั้น เด็กชายทูลยังเด็กมาก ผ้าก็ยังไม่ได้นุ่ง  อายุก็ประมาณปีกว่าเท่านั้น  จากนั้นมา ก็รู้ตัวเองว่าจะไม่เอาแต่ใจตัวเองเหมือนที่เคยเป็นมา  แต่ก็ยังมีอีกสองอย่างที่เป็นนิสัยมาแต่กำเนิด  เป็นธรรมชาติที่เป็นเองเกิดขึ้นเฉพาะตัว  นั่นคือ อาหารดิบ และมังสะ ๑๐ อย่าง  ทั้งสองอย่างนี้ ใครจะมาหลอกให้กินไม่ได้  เช่น เอากุ้งดิบมาตำให้ละเอียดผสมกับอาหารสุก  หรือเอาเนื้องู เนื้อม้า มาหลอกให้กินไม่ได้  เมื่อเอาสิ่งเหล่านี้เข้าในปาก
ก็จะเกิดอาเจียนทันที  นิสัยอย่างนี้มีประจำตัว  ถึงจะโตเป็นหนุ่มขึ้นมาแล้วก็ยังเป็นนิสัยอย่างนี้
ตลอดมา
   ในครอบครัวนี้ พ่อแม่และพี่ ๆ ชอบกินอาหารดิบ ๆ กันทั้งนั้น เช่น ลาบก้อย เนื้อดิบ ลาบปลาดิบ ลาบกุ้งดิบ ลาบหอยดิบ ฯลฯ  ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารดิบทั้งนั้น  จึงมีแต่เด็กชายทูลคนเดียวเท่านั้นที่กินอาหารสุก  พ่อแม่เองก็คงเกิดความรำคาญเรื่องทำอาหารสุกให้กิน  จำเป็นต้องบังคับเด็กชายทูลให้กินอาหารอย่างพี่ ๆ เขา  แต่ก็กินไม่ได้  บางทีถึงกับต้องลงไม้เรียวบังคับให้กิน  แต่ก็กินไม่ได้อยู่นั่นเอง  ในช่วงยังเป็นเด็กนี้ รู้สึกว่ามีความทุกข์กับการกินอาหารอยู่มาก  อยากกินลาบกับพี่ ๆ เขาก็กินไม่ได้  อยากจนน้ำลายไหลก็ได้แต่มองหน้าพี่ ๆ เขากินกัน  จำเป็นก็ต้องอดทน เพราะตัวเองทำอาหารกินไม่เป็น  วันไหนเห็นหม้อต้มกระดูก เด็กชายทูลก็พอได้กินกับพี่ ๆ อยู่บ้าง  เมื่อคิดเรียบเรียงชีวิตในอดีตที่เป็นมาของตัวเองแล้ว  เป็นชีวิตที่ต่อสู้อดทนมาตั้งแต่เด็ก ๆ  พี่ ๆ ก็หาวิธีกลั่นแกล้งหลอกให้กินอาหารดิบอยู่เสมอ  เช่น เอาตั้งไฟนิดเดียวเขาก็ว่าสุกแล้ว เอามาให้กิน  แต่ก็เกิดอาเจียนออกมา  จึงรู้ว่าอาหารนั้นยังไม่สุกจริง  พี่ ๆ เขาได้กุ้ง ปลา หอย  เขาก็พากันทำลาบดิบกินกันหน้าตาเฉย ทำให้เด็กชายทูลนั่งกลืนน้ำลายดูพี่ ๆ เขากินแทบไม่กะพริบตา
มิหนำซ้ำ พี่ ๆ ยังพูดเยาะเย้ยไปว่า ใครไม่เข้ามากินก็แสดงว่าไม่อยาก  ถ้าอยากจริงก็เข้ามาเลย  ที่จริงพี่เขาก็รู้อยู่เต็มใจว่าเด็กชายทูลกินของดิบไม่ได้  แต่พยายามวางแผนฝึกให้เด็กชายทูลกินของดิบให้ได้  แผนของพ่อแม่และพี่ ๆ ที่วางไว้นั้น  ไม่สามารถหลอกให้เด็กชายทูลหลงกลได้เลย  เมื่ออาหารนั้นไม่สุกจริง ก็จะเกิดอาเจียนออกมาทันที  นี้เป็นนิสัยเดิมของเด็กชายทูลมาตั้งแต่กำเนิด  จึงได้เล่าให้ฟังว่าชีวิตเป็นมาอย่างนี้  ให้จินตนาการดูก็แล้วกัน  ถ้าเป็นเราจะมีความรู้สึกอย่างไร
   ในช่วงต่อมา ข้าพเจ้าอายุได้ ๔ ขวบ เกิดภัยแล้งเป็นอย่างมาก และแล้งเป็นบริเวณ
กว้าง ขวางหลายอำเภอ  ทุกคนต้องดิ้นรนแสวงหาข้าวปลาอาหาร  ส่วนใหญ่จะไปขอทานกัน  โดยหาบตะกร้าแล้วก็พากันไปเป็นหมู่ หมู่ละ ๒ - ๕ คน  โดยไม่มีอะไรไปแลกเปลี่ยนเลย  เมื่อไปถึงบ้านไหนแล้วก็พากันนั่งลง  ยกมือใส่หัวแล้วก็พรรณนาความทุกข์ความลำบากต่าง ๆ  เจ้าของบ้านก็ให้ข้าวสารหรืออาหารตามสมควร  แล้วก็ไปขอบ้านใหม่ต่อไป  ในวันหนึ่ง เด็กชายทูลอยู่บ้านกับน้องเล็ก ๆ ตามลำพัง  พ่อแม่พี่ ๆ ออกไปหาน้ำมันยางในป่า เพื่อจะนำไปแลกเปลี่ยนเป็นข้าวสารหรือข้าวเปลือกที่บ้านอื่น  ในวันนั้น มีคนขอทาน ๕ คนมานั่งอยู่หน้าบ้านแล้วขอทาน  ข้าพเจ้าได้ฟังเขาขอทานเท่านั้น เกิดความสงสารเขาเป็นอย่างมาก  จึงได้เรียกเขาเหล่านั้นขึ้นมาบนบ้าน แล้ว ก็เอาตะกร้าทั้งหมดไปใส่ข้าวสารที่พ่อแม่หามาไว้  จนข้าวที่อยู่ในถังหมด  เมื่อเขาขอปลาร้า พริก เกลือ ก็ขนออกมาให้เขาจนหมด  ในขณะนั้น รู้ตัวเองว่ามีความสุขมาก  เมื่อเขาเหล่านั้นไปแล้ว  พ่อแม่และพี่ ๆ ก็มาถึงและจะจัดเตรียมทำอาหารกินกัน  เมื่อไปดูข้าวในถังก็ไม่มี  ปลาร้า พริก เกลือ ก็หมด  เมื่อพี่ ๆ ถามหาก็บอกว่าให้ทานไปหมดแล้ว  พี่ ๆ เขาก็ด่า  พ่อแม่รู้เข้าก็จับมาตีจนหลังลายทั้งตัว  และพ่อแม่ได้สั่งไว้ว่า จากนี้ไป อย่าเอาข้าวหรืออะไรทั้งหมดให้คนขอทานอีกต่อไป
   เมื่ออายุได้ ๗ ขวบ พ่อแม่ก็ได้ย้ายมาอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี ที่บ้านหนองแวง (แก้มหอม)
ดังได้กล่าวแล้วในตอนต้น  ในช่วงเป็นเด็กอยู่ในโรงเรียนนั้น ก็ช่วยพ่อแม่ในการทำไร่ทำนาตามกำลัง  วันเสาร์อาทิตย์ก็เป็นผู้เลี้ยงควายตามประสาเด็กบ้านนอก

ออฟไลน์ เลดี้เบื๊อก

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นไม้เล็กพริ้วไหวดั่งสายลม
  • *
  • กระทู้: 165
  • พลังกัลยาณมิตร 119
    • ดูรายละเอียด
Re: อัตโนประวัติ หลวงพ่อทูล ขิปฺปญฺโญ
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: กันยายน 08, 2011, 01:37:34 pm »
ความอัศจรรย์ครั้งแรก

   ในช่วงอายุ ๑๑ ขวบ ยังไปโรงเรียนอยู่  ได้เกิดความอัศจรรย์ขึ้นในตัวเป็นอย่างมาก  ใน
วันนั้น ได้ไปเลี้ยงควายตามปกติในที่แห่งหนึ่งที่เรียกกันว่า นาหนองจาน และไปคนเดียว  ในขณะนั้น ได้นอนเล่นอยู่ใต้ร่มไม้ตามลำพัง ใช้สายตาเพ่งดูใบไม้เล่นอยู่  ในขณะที่เพ่งดูอยู่นั้น เกิดเห็นใบไม้นั้นชัดเจน  สายตาและใจก็ได้จดจ่อดูอยู่กับใบไม้นั้นไม่กะพริบตา  ในขณะที่เพ่งดูใบไม้นั้น มีความเบากายเบาใจผิดปกติ  แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นอะไร  เมื่อเพ่งดูใบไม้นั้นนาน ๆ เข้า เหมือนกับใบไม้นั้นเข้ามาติดอยู่กับตาเห็นได้ชัดเจนทีเดียว  จากนั้น ปรากฏว่าใบไม้นั้นเล็กลง ๆ ทุกที  ทั้งสายตาและใจก็กำหนดจดจ้องดูอยู่กับใบไม้นั้นไม่มีเผลอ  จนใบไม้นั้นเล็กลงจนมองไม่เห็นและหายไปในที่สุด  เมื่อใบไม้หายไป ก็มีอาการวูบวาบเกิดขึ้นภายในใจ  แล้วมีแสงสว่างพุ่งออกมารอบตัวเอง  เป็นแสงสว่างที่นุ่มนวลน่าอัศจรรย์ แล้วขยายตัวออกไปกว้างไกลมาก  เมื่อความสว่างพุ่งไปถึงไหน ความรู้เห็นตามแสงสว่างนั้นก็อยู่ด้วยกัน  เมื่อคิดว่าอยากเห็นของสิ่งใดอยู่ในที่ใด  กำหนดจิตไปดูก็จะปรากฏเห็นของสิ่งนั้นทั้งหมด  ไม่ว่าของสิ่งนั้นจะอยู่ใกล้หรือไกลจะเห็นได้อย่างชัดเจน  คิดอยากดูคนในหมู่บ้านว่าเขากำลังทำอะไรกันอยู่ ก็รู้เห็นทั้งหมดว่าคนนั้นทำอย่างนั้น คนนี้ทำอย่างนี้ โดยไม่มีอะไรปิดบัง  อาการลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้นไม่รู้ว่าเกิดอยู่นานเท่าไร  จากนั้น ความสว่างก็ค่อย ๆ จางลง ๆ และก็หายไปในที่สุด แล้วก็รู้สึกตัวขึ้นมา  จากนั้น ก็ได้ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เริ่มตั้งแต่ดูใบไม้ว่าอาการอย่างนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรและเป็นอะไร  ในขณะนั้น มีความสุขใจเป็นอย่างมาก โดยไม่เคยเห็นและไม่เคยเป็นอย่างนี้มาก่อนเลย  เมื่อลุกเดินไปกายก็เบาเหมือนจะไม่เหยียบดิน  การหายใจออกหายใจเข้าก็ผิดปกติจากธรรมดา  มีลักษณะโล่งโปร่งเบา  เบาทั้งกายและเบาทั้งใจ  ในวันนั้น มีความสุขใจสดชื่นอยู่ตลอดวัน

เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้พ่อแม่ฟัง
   เมื่อพ่อแม่ได้ฟังเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับตัวข้าพเจ้าแล้ว พ่อแม่มีกิริยาที่ตกใจและพูดขึ้นว่า จากนี้ไป อย่าไปนอนที่แห่งนั้นอีก  นี่คือผีอำคน  แต่ยังโชคดีผีไม่ทำให้เราตาย  เมื่อพ่อแม่บอกว่า
ผีอำ ข้าพเจ้าก็ยังไม่เชื่ออยู่นั่นเอง  เลยมาคิดว่าถ้าผีอำจริง ๆ  ทำไมเราจึงมีแสงสว่างออกรอบตัวและใจก็มีความสุขด้วย  จึงไม่เชื่อว่าผีอำ  แต่ก็ไม่ได้เถียงออกมาทางวาจา  เพียงแต่เถียงอยู่ภายในใจและรับฟังไปเท่านั้น  จากนั้นมา ก็เป็นในลักษณะอย่างนี้อยู่บ่อย ๆ  แต่ไม่เล่าให้พ่อแม่ฟังอีกเลย  และก็ไม่เล่าให้ใคร ๆ ฟังด้วย  ลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้นในตัวจนมีความเคยชินและเกิดขึ้นได้รวดเร็วมาก  เพียงใช้ตามองสิ่งใดและมองในที่นั้นเป็นจุดเดียว ใจก็กำหนดรู้ตามในสิ่งที่ตามองเห็น ประมาณไม่ถึง ๕ นาที  อาการดังกล่าวมาก็จะเกิดขึ้นทันที  มีลักษณะกายเบาใจเบาดังที่ได้อธิบายมาแล้ว  ถ้าไม่อยากให้ลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้นก็ไม่ยาก  เพียงลุกเดินหนีไปไม่สนใจในสิ่ง
นั้น ๆ  ใช้สายตาดูไปในที่อื่น คิดเรื่องอื่นไปเสีย  อาการดังกล่าวนั้นก็จะหายไป  หรือใช้วิธีกระดิกมือกระดิกเท้าแกว่งแขนขา ทำท่าโคลงตัวไปมาก็หายได้เหมือนกัน  แต่ส่วนมากชอบทำในลักษณะนี้จนเป็นนิสัย เพราะมีความสุขกายสุขใจดี

ในบางครั้งเกิดขึ้นจากเสียง
   ในการเกิดขึ้นจากเสียงนี้ ต้องกำหนดใจฟังเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง  โดยตั้งใจฟังเสียงให้ชัดเจน  แต่ต้องเป็นเสียงที่ดังติดต่อกันไปเรื่อย ๆ  เมื่อกำหนดจิตฟังเสียงอย่างจดจ่อแล้ว เสียงนั้นก็จะได้ยินเบาลง ๆ และเบาจนแทบจะไม่ได้ยินเสียงนั้นเลย  เรียกว่าเสียงละเอียดอ่อน  ใจที่กำหนดรู้ตามเสียงนั้นก็มีความละเอียดอ่อนไปด้วยกัน  เมื่อเสียงนั้นหมดไปเวลาใด ก็จะเกิดอาการวูบวาบภายในใจ  ความสว่างนั้นก็จะเกิดขึ้นทันที  ความรู้เห็นในสิ่งต่าง ๆ ก็เป็นเหมือนกับดังที่เคยเป็นมา  อาการที่เกิดขึ้นอย่างนี้จะเป็นอยู่ในช่วงวัยเด็ก  เพราะเด็กยังไม่มีอารมณ์เกี่ยวกับกามคุณ  ใจยังไม่มีความเศร้าหมอง
   ต่อมาเมื่ออายุของข้าพเจ้าได้ ๑๕ ปีขึ้นไป  อาการที่เกิดขึ้นนั้นเกิดขึ้นได้ยากมาก  ต้องใช้ความพยายามเต็มที่ เพราะช่วงนี้เริ่มเข้าสู่วัยหนุ่ม  ใจก็มีอารมณ์ทางโลกเข้ามาแฝง  เพื่อนชายเพื่อนหญิงมีมากเท่าไร อารมณ์ของใจก็เปลี่ยนแปลงไป  อาการที่เกิดขึ้นก็หมดสภาพไปเอง  ถ้าหากมีครูอาจารย์สอนที่ถูกต้อง  การปฏิบัติมีความต่อเนื่องกันมาตลอด  ผลของการปฏิบัติอย่างแท้จริงก็คงหายสงสัยไปแล้ว  นี่ข้าพเจ้าไม่มีผู้นำในการปฏิบัติเลย  สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดดังอธิบายมานี้  เพราะไม่เคยศึกษาในหลักธรรมมาก่อน  จึงไม่ทราบว่ามีความหมายเป็นอย่างไร  มิหนำซ้ำ ยังไม่รู้เลยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมานั้นเรียกว่าอะไร
   การเล่าเรื่องส่วนตัวมานี้ อาจจะมีประโยชน์อยู่บ้าง  อย่างน้อย เพื่อให้ท่านได้สำนึกได้ว่าบางทีท่านอาจเป็นอย่างนี้มาแล้ว  ถ้าหากท่านเป็นลักษณะอย่างนี้อยู่แล้ว  ขอให้ท่านได้ไปปรึกษาครูอาจารย์  เพื่อให้ท่านได้ชี้แนะแนวทางออกให้เรา  ดีกว่าเราจะมัวเมาเล่นอยู่กับแสง เสียง สี อยู่อย่างนี้ให้เสียเวลา  และห่างจากมรรคผลนิพพานไปมากทีเดียว  เมื่อท่านมีอภิญญา มีฌานสมาบัติเพิ่มขึ้นมาอีก  ท่านก็จะเกิดความหลงเพิ่มขึ้นอีก  โอกาสที่จะเข้าสู่มรรคผลนิพพานนั้นยากมาก  และท่านเองก็จะเกิดมานะทิฏฐิ  ไม่ยอมฟังเหตุผลของใคร ๆ ทั้งนั้น  ถือว่าตัวเองรู้  ถือว่าตัวเองฉลาด  ถือว่าตัวเองเก่งกาจในการปฏิบัติธรรม  หรืออาจพยากรณ์ตัวเองว่าเป็นพระอริยเจ้าขั้นใดขั้นหนึ่งก็เป็นได้  นี่เป็นคำเตือนสติให้เราได้เกิดความสำนึกแก่ตัวเองเท่านั้น  เมื่อเด็กชายทูลออกจากโรงเรียนแล้ว  ก็ได้บวชเป็นสามเณรอยู่ที่วัดบ้างหนองแวงนั้นเอง

ฝังใจในพระกรรมฐานครั้งแรก
   ในครั้งที่ข้าพเจ้าได้บรรพชาเป็นสามเณรอยู่ที่บ้านหนองแวง  การบรรพชาในครั้งนั้นก็เป็นไปตามประเพณีนิยมเท่านั้น  เพราะคนอีสานในสมัยนั้นถือกันว่า ถ้าเป็นผู้ชายต้องบวชเพื่อตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ หรือบวชจูงพ่อแม่ไปสวรรค์  ความเชื่อถืออย่างนี้มีความฝังลึกในหัวใจของคนอีสานมายาวนาน  และยังมีความเชื่อถือกันอยู่อย่างนี้จนถึงปัจจุบัน  และยังจะเชื่อถือกันอย่างนี้ต่อไปอีกยาวนานทีเดียว  นี่ก็เป็นความเชื่อถือที่ดีมีประโยชน์ทั้งสามอย่าง คือ ประโยชน์ตน  ประโยชน์ท่าน  และประโยชน์อย่างยิ่งคือได้ทรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา  มีการศึกษาธรรมวินัยได้เป็นอย่างดี  ในช่วงที่ข้าพเจ้าบวชเป็นสามเณรอยู่นั้น มีภิกษุท่านหนึ่งได้บวชเป็นพระธรรมยุต  ภาวนาปฏิบัติกรรมฐานมาแล้วสามปี  มีนามว่าพระอาจารย์สม  ในช่วงนั้นท่านได้มาเยี่ยมบ้านและได้พักอยู่ในวัดบ้านหนองแวงนั้นเอง  ท่านได้อบรมสั่งสอนให้แนวทางปฏิบัติพอสมควร  แต่ก็หาเวลาปฏิบัติกับท่านไม่ได้  เพราะกำลังศึกษาในปริยัติธรรมอยู่  แต่ก็ได้ปรนนิบัติท่านด้วยการรับบาตรและล้างบาตรให้ท่านทุกวัน  แต่ท่านก็ไม่ได้อบรมสั่งสอนเรื่องมรรคผลนิพพานให้ฟังเลย  เพียงสอนให้นึกคำบริกรรมว่า พุทโธ เท่านั้น  ข้าพเจ้าก็ยังไม่สนใจในคำบริกรรมนี้  มีแต่การศึกษาธรรมวินัยอย่างเดียว  แต่ก็มีความเลื่อมใสศรัทธาในตัวท่านอยู่มากทีเดียว  เพราะท่านมีความสำรวมดี  มีกิริยา กาย วาจาที่อ่อนโยน  จะเดินไปมา นั่ง ยืน นอน  ท่านมีความสำรวมดีมากทีเดียว  เวลาท่านฉันในบาตรก็สำรวมในการฉันเป็นอย่างดี และยังฉันมื้อเดียวด้วย  เมื่อฉันเสร็จท่านก็ใช้ไม้สีฟันแปรงฟันให้สะอาด  ข้าพเจ้าเป็นนักสังเกตอยู่แล้ว  เมื่อเห็นกิริยาของท่านอย่างนั้น ก็มีความเลื่อมใสศรัทธาในตัวท่านมากขึ้น  ในวันหนึ่ง เอากระโถนท่านไปล้าง  ได้มองเห็นไม้สีฟันที่ท่านใช้แล้วอยู่ในกระโถน  จึงจับขึ้นมาดูและพิจารณาว่า พระกรรมฐานทำไมจึงใช้ไม้สีฟันอย่างนี้  เหลาและทุบให้เป็นแปรงได้เป็นอย่างดี  คิดต่อไปว่าพระกรรมฐานคงมีความเพียรมากทีเดียว  ขนาดไม้สีฟันก็ยังทำให้ละเอียดสวยงามได้ถึงเพียงนี้  การปฏิบัติภาวนาก็คงมีความละเอียดมากกว่านี้  และก็คิดในใจอยู่ว่า เมื่อเราได้ศึกษาจบแล้ว จะออกปฏิบัติกับท่านอย่างแน่นอน
   ต่อมาอีกไม่กี่วัน ท่านก็ได้ตัดเอาไม้ไผ่มาเป็นท่อน ๆ ยาวประมาณ ๙ นิ้ว แล้วเอามาผ่าเป็นซีก ๆ กองกันเอาไว้  แล้วท่านก็ได้บอกว่า เณรทูล ๆ มานี่  เมื่อเข้าไปหาท่าน  จึงได้ถามไปว่า เรียกกระผมมาธุระอะไร  ท่านก็บอกว่าไปหามีดมาเหลาไม้  ช่วยกันนะ  เมื่อได้มีดมาก็เหลาไม้ช่วยท่านไป  ท่านก็บอกว่าให้เหลาอย่างนี้ ๆ นะ  เลยถามท่านไปว่า  ท่านอาจารย์ครับ จะเหลาไม้ไผ่นี้ไปทำอะไร  ท่านก็บอกว่า มีที่ทำอยู่นั่นแหละ เหลาไปเถอะ  เมื่อเหลา ๆ ไปก็เกิดความสงสัยขึ้นมาอีก ก็ถามท่านไปอีก  ท่านก็พูดว่า เหลาไปเถอะ เดี๋ยวรู้เอง  ทั้งเหลาไปด้วยพิจารณาไปด้วยว่า  จะเหลาไม้นี้ไปทำอะไรกันนะจึงเหลาสวยงามขนาดนี้  เมื่อเหลาเสร็จก็มัดเป็นกำ ๆ ขนาดใหญ่แล้วก็ให้ท่านไป  ในวันที่ ๒ ข้าพเจ้าไปห้องส้วม  พอดีไปพบไม้ไผ่ที่เหลานั้นอยู่ในห้องส้วมและมีปี๊บใบหนึ่งวางอยู่ด้านข้าง  มีไม้ชำระทิ้งอยู่ในปี๊บนั้นสองอัน  จึงได้คิดขึ้นมาว่า พระกรรมฐานมีความละเอียดอ่อนขนาดนี้หรือนี่  ขนาดไม้ชำระและไม้สีฟันก็ยังเหลาให้สวยงาม  จุดเริ่มแรกที่เกิดมีความฝังใจในพระกรรมฐาน ก็คือในห้องส้วมนั้นเอง
   จากนั้นมา ก็มีความสนใจในท่านมากขึ้น  จึงได้คิดเปรียบเทียบกันในระหว่างพระที่ปฏิบัติและไม่ปฏิบัติอยู่เสมอ  แต่ก็น่าเสียดายที่ท่านไม่ได้สอนธรรมปฏิบัติหมวดอื่น ๆ ให้ฟัง  ถ้าหากท่านได้สอนแนวทางปฏิบัติให้ตรงต่อมรรคผลนิพพานในครั้งนั้นแล้ว  คิดว่าคงจะไม่ได้เป็นฆราวาสอีกแน่นอน
   ในวันต่อมา ท่านให้ไปทำทางเดินจงกรมให้  เมื่อทำเสร็จแล้วท่านก็พูดว่า ในคืนนี้จะพามาเดินจงกรมที่นี่นะ  เมื่อรับคำแล้วก็ต้องทำตามท่าน  พอถึงเวลาประมาณ ๑ ทุ่ม  เป็นคืนที่แสงเดือนกำลังสว่างพอดี  ท่านก็บอกว่าให้เณรทูลเดินจงกรมจากนี่ไปนี่นะ  ท่านก็ชี้มือไปในเส้นทางที่ไปห้องส้วมนั่นเอง  ซึ่งพอดีจะต้องผ่านกอไผ่ขนาดใหญ่ไป  ในที่แห่งนี้มีผีเปรตหลอกพระเณรที่ไปห้องส้วมอยู่ประจำ  ไม่กี่วันมานี้ก็มีผีเปรตหลอกพระจนร้องเสียงหลงมาแล้ว  ถึงเราไม่เคยเห็นผีเปรต แต่ก็กลัวเอาไว้ก่อน  ท่านอาจารย์ก็เดินทางจงกรมของท่านไป สามเณรทูลก็ได้เดินจงกรมเส้นทางที่มีผีเปรต  เดินใหม่ ๆ ก็กลัวจนหัวเข่าอ่อนไปหลายครั้ง  แต่ก็ตั้งมั่นอยู่ในคำบริกรรมว่า พุทโธ ๆ อยู่เสมอ
   เมื่อเดินไปได้ประมาณครึ่งชั่วโมง  รู้สึกเหนื่อยมาก เพราะไม่เคยเดินจงกรมเลย  เรียกว่าเดินจงกรมในครั้งแรกของชีวิตนั่นเอง  ครั้นจะหยุดเดินหรือก็กลัวอาจารย์จะว่าไม่มีความอดทน  อย่างไรเสียก็ต้องฝืนเดินต่อไป  ถึงจะเหนื่อยก็ต้องอดทนต่อสู้เดินต่อไป  ประมาณ ๑ ชั่วโมงผ่านไปท่านก็ยังไม่หยุด  สามเณรทูลก็ต้องกัดฟันอดทนเดินสู้ต่อไป  ในช่วงนั้นเอง สามเณรทูลได้รับความสุขทางใจมากที่สุด  ในขณะที่เดินจงกรมอยู่นั้น จิตมีความสงบวูบไปนิดเดียว  ความเบากาย ความเบาใจ ก็ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจน  เกิดมีความสุขใจความอิ่มเอิบใจมากทีเดียว  เดินจงกรมไม่มีความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าแต่อย่างใด  มีแต่ความขยันขันแข็ง  จะเดินจงกรมจนถึงสว่างก็ยังได้เลย  ครั้นได้เวลาประมาณ ๓ ทุ่ม ท่านก็เรียกให้พักแล้วพาไปกุฏิ  แหม ในคืนนั้นไม่อยากไปกุฏิเลย  อยากเดินจงกรมอยู่ที่นั่นตลอดคืน  แต่เมื่อท่านเรียกก็ต้องไปตามท่าน  เมื่อท่านเข้าห้องจำวัด  สามเณรทูลกกลับนอนไม่ได้เลย  ต้องออกมาเดินจงกรมที่ลานวัดคนเดียว  เมื่อดึกมากแล้วจึงเข้าพักในห้องได้  จากนั้นมา ก็เห็นคุณค่าในการเดินจงกรมว่าเป็นผลอย่างนี้ ๆ มาแล้ว
   วันต่อมา ท่านมีธุระจะไปกราบพระอาจารย์บุญจันทร์ ที่บ้านจำปา  ท่านจึงได้ชวนไปด้วย  เมื่อรับคำท่านแล้วก็ไปลาโยมพ่อโยมแม่ เดินทางกับท่านอาจารย์ไป  การเดินทางในครั้งนี้เป็นทุกข์มากทีเดียว  บาตรขนาดใหญ่ไม่รู้ว่ามีสัมภาระอะไรบ้าง  เต็มไปหมด ทั้งบาตร ทั้งกลด  ท่านอาจารย์ให้สามเณรทูลแบกสะพายของทั้งหมด  สะพายไปได้ประมาณ ๔ กิโลเมตร  รู้สึกว่าบาตรนั้นหนักขึ้นทุกที  ท่านก็ไม่หยุดพักเอาบ้างเลย  ทั้งหนัก ทั้งเหนื่อย ทั้งหิวข้าวเพล  จนสามเณรทูลมีน้ำตาไหลออกมาทีเดียว  คิดว่าจะบอกท่านอาจารย์ให้หยุดพักก็กลัวท่านว่าไม่มีความอดทน  จำเป็นต้องต่อสู้อดทนเดินตามท่านไป  ไปได้ประมาณ ๖ กิโลเมตร ท่านก็หยุดพักพอหายเหนื่อยได้นิดหนึ่ง  จากนั้นท่านก็พาเดินทางต่อไป  เมื่อไปถึงวัดป่าบ้านจำปา ก็เป็นเวลาพระเณรกำลังปัดกวาดลานวัดพอดี  เมื่อเข้าไปถึง มีสามเณรออกมารับบาตรไปที่ศาลา  ดูพระเณรทุกองค์ถือผ้าย้อมแก่นขนุนกันทั้งนั้น  มีสามเณรทูลองค์เดียวถือผ้าสีแตกต่างกันกับหมู่คณะ  เมื่อเข้าไปในวัดเห็นความสะอาดในที่ต่าง ๆ เรียบร้อยสวยงามดี  จึงทำให้มีศรัทธาเลื่อมใสในพระกรรมฐานเป็นอย่างมาก  ทุกองค์มีความสำรวมเหมือน ๆ กัน  การพูดก็มีเสียงเบาเพียงกระซิบกระซาบรู้เรื่องกันเท่านั้น
   ในขณะนั้น สามเณรทูลหิวน้ำขึ้นมา  คิดว่าจะไปฉันน้ำในตุ่ม  เมื่อเดินไปดูก็ไม่มีขันและแก้วน้ำที่จะตักกินเลย  เพียงไปเห็นกระบอกไม้ไผ่ขนาดใหญ่เท่าขา มีผ้ามัดติดอยู่ไม่รู้ว่าเป็นอะไร  จึงได้ไปหาขันในศาลาจะเอามาตักน้ำในตุ่มฉัน  แต่พอดีมีเณรอีกองค์หนึ่งเดินมาพบ  จึงได้บอกว่า อย่าเอาขันตักน้ำในตุ่มนี้นะ  ให้เอา ธมกรก กรองเอา  สามเณรทูลก็ไม่รู้จักเลยว่าธมกรกเป็น
อย่างไร  มีแต่กระบอกไม้ไผ่ห้อยอยู่ที่นั้น ๒ - ๓ อันเท่านั้น  สามเณรทูลก็จับมาดูแล้วคิดว่านี่หรือเปล่าหนอธมกรก  แล้วก็จุ่มลงในตุ่มน้ำ  ดึงขึ้นมาน้ำก็ไหลออกหมด  สามเณรนั้นก็มาเห็นอีกแล้วถามว่า กรองน้ำไม่เป็นหรือ  ก็บอกไปว่ากรองไม่เป็น  เณรองค์นั้นก็กรองน้ำให้ดู  เมื่อฉันน้ำอิ่มแล้วก็มานั่งคิดรำพึงถึงวิธีฉันน้ำอีก  นี่ พระกรรมฐานทำไมมีความละเอียดถึงขนาดนี้  เพียงน้ำธรรมดาก็กรองฉัน  เครื่องบริขารอื่น ๆ ส่วนตัว เช่น กาน้ำ แก้วน้ำ บาตร กระโถน  ล้วนแต่สะอาดหมดจดกันทั้งนั้น  จึงได้มาคิดถึงความเป็นอยู่ของตัวเองในวัดบ้านว่ามีความแตกต่างกันทั้งหมด  เรื่องวัดบ้านมีความเป็นอยู่อย่างไรไม่ต้องพรรณนาก็รู้กัน
   จากนั้นก็ถึงเวลาค่ำ  สามเณรที่วัดก็จัดกุฏิพิเศษให้นอนองค์เดียว  ห่างจากศาลาไปประมาณ ๑๐๐ เมตร  เป็นป่าดงดิบหนาแน่น  มีต้นไม้ใหญ่นานาชนิดมากมาย  มีทางเล็ก ๆ ไปหากุฏิที่สร้างใหม่  มีพื้นปูด้วยฟากไม้ไผ่  หลังคามุงด้วยหญ้าคาอย่างดี  เป็นกุฏิที่ใหม่เอี่ยม  ยังไม่มีใครไปนอนในกุฏินี้มาก่อนเลย  ใต้กุฏิพูนดินขึ้นมาพอสมควร  มีถาดใบเล็ก ๆ  มีถ้วยอาหารวางอยู่ในที่นั้นด้วย  แต่คิดว่าเป็นประเพณีสร้างกุฏิใหม่ของพระกรรมฐาน  คงทำเลี้ยงเจ้าที่ไปเท่านั้น  ในกุฏิมีกล้วยน้ำว้าสองเครือผูกห้อยอยู่  สุกเหลืองทั้งสองเครือ  ในคืนนั้น สามเณรทูลนอนแทบไม่หลับเลย เพราะหิวข้าวนั่นเอง  ท้องร้องจ๊อก ๆ มองไปเห็นกล้วยสุกอยู่ข้างที่นอน  ถ้าเป็นท่านผู้อ่านจะคิดอย่างไรในเรื่องนี้  ในคืนนั้น สามเณรอดทนไม่ได้ ก็ลุกขึ้นไปจับกล้วยสุกทันที  กำลังจะปลิดเอามาฉัน  ก็นึกขึ้นได้ว่า นี่ทูล เราเป็นสามเณรรักษาศีล ๑๐ นะ  เราเคยรักษาศีลให้มีความบริสุทธิ์มานานแล้ว  จะมาให้ศีลขาดไปในขณะนี้ไม่ได้นะ  เมื่อนึกได้อย่างนี้ก็ไม่กล้า  จึงกลับมานอนดูกล้วยสุกต่อไป  ในคืนนั้น ได้ลุกขึ้นไปจับกล้วยสุกว่าจะฉันถึงสามครั้ง  แต่ก็สำนึกตัวเองได้ทันทุกครั้งไป  ในคืนนั้นได้หลับนิดเดียว เพราะความหิวเป็นเหตุนั้นเอง
   ตื่นเช้าไปศาลา อาจารย์ก็จัดบาตรให้บิณฑบาตกับหมู่พระเณรธรรมดา  อาจารย์ได้บอกว่า  เณรทูล การบิณฑบาตให้ไปตามหลังเณรอื่นเขานะ  เดินบิณฑบาตต้องมีความสำรวมตัวให้ดี  อย่ามองซ้ายและมองขวา  ให้สายตาอยู่กับขาของเณรที่เดินก่อน  เมื่อมีคนใส่บาตรก็อย่าไปดูหน้าเขา  ให้จ้องตาดูแต่ในบาตร  ดูปั้นข้าวเขาตกลงในบาตรแล้วจึงปิดฝาบาตร  แล้วค่อยเดินตามหลังเขาไป  สามเณรทูลก็ทำได้จริง ๆ ด้วย  บิณฑบาตอยู่ในบ้านจำปานั้น ๑๐ วัน  ไม่เคยเห็นหน้าใครเลย  เพราะความสำรวมของสามเณรทูลนั้นมีความระวังมาก  เวลาฉันท่านก็จัดภาชนะให้เป็นพิเศษ  จากนั้น อาจารย์ก็ถามว่ากลัวผีไหม  ก็ตอบท่านไปว่ากลัว  ท่านอาจารย์พูดว่า ที่นี่เป็นป่าช้าของชาวบ้านทั้งหมด  กุฏิทุกหลังที่ปลูกเอาไว้ล้วนแต่ปลูกครอบหลุมศพทั้งนั้น  กุฏิที่เณรทูลอยู่นั้นก็เป็นหลุมศพผู้หญิงคลอดลูกตายใหม่ ๆ นี่เอง  เมื่อสามเณรทูลได้ยินก็เกิดความกลัวมากพอ
สมควร  แต่ก็หนีไม่ได้  ถึงจะกลัวเท่าไรก็ต้องอดทน  จึงคิดถึงเณรอื่นเขาว่าเณรอื่นก็เล็ก ๆ เท่ากันกับเรา  เขาก็อยู่องค์เดียวได้  กุฏิเณรนั้นก็มีหลุมศพเหมือนกันกับกุฏิเรา  เมื่อเขาอยู่ได้เราก็ต้องอยู่ได้เช่นกัน  จากนั้นมาหลายวัน อาจารย์ก็ได้มาส่งที่วัดบ้านหนองแวง  แล้วท่านอาจารย์ก็พูดว่าจะไปงานศพของหลวงปู่มั่นต่อไป
   จากนั้น ก็ได้สึกออกมาทำไร่ทำนาช่วยพ่อแม่ต่อไป  เมื่ออายุครบ ๒๐ ปี ก็ได้บวชเป็นพระอยู่ในวัดบ้านอีก  การบวชทั้งสองครั้งที่ผ่านมาเป็นเพียงบวชตามประเพณีนิยมเท่านั้น  การศึกษาเล่าเรียนก็เรียนไปตามหลักสูตรที่วางเอาไว้  แต่ไม่มีครูอาจารย์องค์ใดพูดถึงเรื่องการปฏิบัติธรรมเลย  บวชได้อีก ๑ ปี ก็สึกออกมาอีก  ในช่วงต่อมา ได้ไปเที่ยวอำเภอบ้านผือ ตามคำชักชวนของเพื่อน ๆ (ไปอยู่บ้านดงหวาย)  จึงชวนกันไปทำไร่อ้อยที่ดงไม้เรียว  ตัวเองทำบ้างและจ้างคนงานช่วยทำบ้าง  ในวันหนึ่ง มีเพื่อนคนงานถามถึงครอบครัว ก็บอกเขาว่ายังไม่มี  เหตุที่ไม่ยอมมี
ครอบครัวเนื่องจากสาเหตุใดก็อธิบายให้เพื่อน ๆ ฟังว่า  ยังไม่พบผู้หญิงที่ถูกใจ  ผู้หญิงที่ถูกใจนั้น คือเป็นผู้ไม่กินอาหารดิบที่เป็นเนื้อสัตว์ทุกชนิด และเป็นผู้มีศีล ๕ ประจำตัว  พอพูดจบก็มีเพื่ออีกคนหนึ่งพูดขึ้นว่า  หญิงสาวที่ไม่กินอาหารดิบและมีศีล ๕ นั้นมีอยู่  จากนั้นก็คุยกันในเรื่องนี้บ่อย ๆ  และตัวเองก็ตัดสินใจว่า  ถ้ามีหญิงสาวลักษณะนี้จริงจะยอมแต่งงานด้วย  จากนั้น ก็มาคอยดูกันอยู่ที่วัดป่าธรรมยุตแห่งหนึ่งที่บ้านโนนสมบูรณ์ โดยมีอาหารมาทำบุญด้วย  การมานี้เพื่อมาดูหญิงสาวเท่านั้น  ไม่คิดว่าจะมาบวชแต่อย่างใด

ออฟไลน์ เลดี้เบื๊อก

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นไม้เล็กพริ้วไหวดั่งสายลม
  • *
  • กระทู้: 165
  • พลังกัลยาณมิตร 119
    • ดูรายละเอียด
Re: อัตโนประวัติ หลวงพ่อทูล ขิปฺปญฺโญ
« ตอบกลับ #5 เมื่อ: กันยายน 08, 2011, 01:47:05 pm »

ใจเปลี่ยนไปในทางบวช

   เมื่อไปถึงวัดแล้ว ใจเริ่มเปลี่ยนแปลงไป  คือไปเห็นวัดมีความสะอาดร่มเย็นดี  เดินไปไหน
รู้สึกว่าเป็นสถานที่น่าอยู่  จากนั้น ก็ขึ้นมาศาลารวมกันกับคณะศรัทธาทั้งหลาย  เมื่อไปเห็นพระเณรภายในวัดมีความสงบเสงี่ยมสำรวมดี  ก็ทำให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธา  เมื่อมองเห็นหลวงพ่อองค์หนึ่ง  มีความสำรวมดีมาก  ข้าพเจ้าได้เฝ้าสังเกตดูท่านอยู่ตลอดเวลา  ท่านนั่งเรียบร้อยเหมือนกับหุ่นขี้ผึ้ง และพระเณรองค์อื่น ๆ ก็เรียบร้อยดี  จึงเกิดความคิดขึ้นมาว่า  นี่เราเคยบวชมาแล้ว  การบวชของเรานั้นเหมือนกับว่าเอาผ้าเหลืองคลุมตอไม้เอาไว้เท่านั้น  อย่างไรก็ตาม เราจะต้องบวชเป็นพระนักปฏิบัตินี้อย่างแน่นอน  เราเกิดมาเป็นมนุษย์ทั้งชาติ เราจะไม่ให้เสียชาติเกิดของเราเลย  การบวชในครั้งนี้เราจะบวชตลอดไป  ความตั้งใจว่าจะมีครอบครัวนั้นให้ถือว่าเป็นความฝันก็แล้วกัน  จากนั้น ก็กลับมาคิดทบทวนเรื่องการบวชของตัวเองว่า การบวชของเราครั้งนี้ จะไม่กลับคืนสู่ฆราวาสอีก  จะเป็นอย่างไรก็ขอมอบกายถวายชีวิตไว้กับผ้ากาสาวพัสตร์จนตลอดวันตาย  เมื่อคิดทบทวนไปมาหลายครั้งหลายหน  ก็มีความกังวลขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งว่า  ถ้าบวชไปแล้ว บางทีอาจเกิดความสงสัยในทางโลกขึ้นมา จะไม่มีข้อมูลแก้ตัวเลยว่า ทางโลกเราได้ผ่านมาแล้ว  ความคิดนี้จะเข้าข้างตัวเองอยู่บ้าง แต่ก็ไม่เป็นไร  พระพุทธเจ้าพระองค์ก็เคยผ่านทางโลกมาแล้ว  นี่เราก็จะเอาแบบอย่างของพระพุทธเจ้าบ้าง  จากนั้นก็วางแผนเสียใหม่เพื่อให้หายความสงสัยในทางโลก  และตั้งใจไว้ว่าเราจะผ่านโลกชั่วคราวเท่านั้น  จากนั้น ก็จะออกบวชอย่างแน่นอน  ในที่สุด ก็เสียรู้ให้แก่กิเลสตัวนี้จริง ๆ  ถึงจะเสียรู้เราก็ไม่ลืมตัว  ใช้ปัญญาสอนตัวเองอยู่เสมอว่าเราจะไม่อยู่สร้างโลกตลอดไป  จึงให้สัจจะสัญญาไว้กับตัวเองอย่างมั่นคง  ในช่วงนี้ยังไม่รู้จักคำว่าภาวนาเลย  และยังไม่เคยได้ยินในคำว่า ปฏิบัติ จากใคร ๆ  เพราะไปอยู่ในที่นี่
ไม่กี่วัน  การปรับตัวเข้าในครอบครัวเขาก็ยังไม่เรียบร้อยดี
   วันหนึ่ง ได้ไปวัดในวันพระ  หลวงพ่อบุญมาได้สั่งว่า ทูล เย็น ๆ วันนี้ออกมาหาด้วยนะ  เมื่อได้รับคำท่านแล้ว ก็ออกมาหาท่านตามนัดหมายเอาไว้  เวลาก็ประมาณ ๖ โมงเย็น  เมื่อมาถึงท่านก็พาขึ้นไปที่กุฏิ  ยังไม่ได้คุยอะไรกันท่านก็ลงนอน  แล้วบอกว่าจับเส้นให้หน่อย  ตัวเองจับเส้นไม่เป็นเลย  แต่ก็จับไปอย่างนั้นแหละ  จากนั้นท่านก็ถามบ้านอยู่ที่ไหน ทำงานอะไร จึงได้มาอยู่ที่นี่  ก็ได้เล่าถวายท่านไป  เมื่อจับเส้นให้ท่านพอสมควรแล้ว  ท่านอาจจะเกิดความรำคาญในการจับเส้นนี้ก็เป็นได้  แล้วท่านก็ลุกขึ้นมานั่ง  พูดประโยคแรกออกมาว่าอยากฟังเทศน์ไหม  ก็ตอบท่านว่าอยากฟังครับ  ท่านว่าให้ตั้งใจฟังนะ  เกิด-ดับ เกิด-ดับ  ท่านพูดว่า ฟังรู้เรื่องไหม  ตอบท่านว่า รู้ครับ  ท่านก็เทศน์อีกว่า เกิด-ดับ เอาละกลับบ้านเสีย  เมื่อได้ยิน
คำแรกว่า เกิด-ดับ เท่านั้น  เกิดความซาบซึ้งเป็นอย่างมาก  ใจมีความเบิกบานจนบอก
ไม่ถูก  เหมือนใจได้รู้เรื่องการเกิดดับนี้ทั้งหมด  จากนั้น ก็กราบลาท่านกลับบ้าน  เมื่อลงจากกุฏิท่านมา ความรู้เห็นในสิ่งที่เกิดดับก็เริ่มกระจ่าง  ทุกอย่างเป็นสิ่งที่เกิดดับเหมือนกันไม่ว่าสิ่งนั้นจะมีวิญญาณครอง หรือไม่มีวิญญาณครองก็ตาม  ทุกอย่างมีการเกิดขึ้นแล้วดับไปในที่สุด  ในขณะเดินทางกลับบ้าน ก็ใช้ปัญญาพิจารณาในสิ่งที่เกิดดับมาตลอด และคิดแปลกใจตัวเองว่า  ความคิดนี้เกิดจากอะไร  ทำไมเราจึงคิดในเรื่องการเกิดดับต่อเนื่องกันได้ดีขนาดนี้  แต่ก่อนมา เราไม่เคยคิดในเรื่องเหล่านี้เลย  ยิ่งคิดเท่าไร ความเข้าใจในการเกิดดับก็ขยายกว้างออกและมาเข้าใจอย่างชัดเจนว่า  สิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ มันก็ดับไปตามธรรมชาติของมัน  หรือสิ่งที่มนุษย์เราก่อสร้างให้เกิดขึ้น สิ่งนั้นก็ทนอยู่ตลอดไปไม่ได้  หรือมีการดับไปด้วยน้ำมือของมนุษย์เอง  แม้ตัวมนุษย์เองก็มีการเกิดดับเหมือนสิ่งทั่ว ๆ ไป
   เมื่อไปถึงบ้านแล้ว ก็นอนคิดตรึกตรองในสิ่งที่เกิดดับอย่างต่อเนื่อง  เหมือนในโลกนี้มีแต่สิ่งที่เกิดดับเท่านั้น  บางอย่างก็เกิดขึ้นช้าดับไปช้า  บางอย่างก็เกิดขึ้นเร็วและดับไปเร็ว  หรือบางอย่างเกิดขึ้นช้าดับเร็ว  บางอย่างเกิดขึ้นเร็วแต่ดับช้า  เมื่อมีการเกิดขึ้นแล้ว จะดับช้าดับเร็วนั้น  มันขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยในตัวมันเอง  เหมือนตัวมนุษย์เรา ตลอดทั้งสัตว์ดิรัจฉานทุกประเภท  เมื่อเกิดเป็นมนุษย์แล้ว ไม่ได้ตายพร้อมกันทั้งหมด  บางคนตายช้า บางคนก็ตายเร็ว  นี่ก็ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยของแต่ละบุคคล  เมื่อคิดไปในเรื่องการเกิดดับอยู่นั้น  เหมือนกับชีวิตเราจะอยู่ต่อไปอีกไม่นานมันก็จะดับไป  เมื่อมารู้ตัวว่าชีวิตจะดับไปอยู่แล้ว  เราจะมามัวเมาประมาทไม่ได้เลย  ความดีที่เราควรจะรีบสร้างเอาไว้ก็รีบทำเสียในช่วงเรามีชีวิตอยู่  โอกาสเรามีแค่ลมหายใจเข้าออกเท่านั้น  เมื่อลมหายใจหมดไปเมื่อไร  โอกาสในการสร้างคุณความดีก็สิ้นสุดลงทันที  ในคืนนั้นไม่ได้หลับเลย  มีแต่คิดเพลินในการเกิดดับตลอดคืน  ในเช้าวันใหม่ ก็คิดในเรื่องการเกิดดับต่อไป  ยิ่งคิดเท่าไร ความเข้าใจในเรื่องการเกิดดับก็รู้เห็นชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น  จนเกิดมีความเข้าใจในตัวเองว่า  นี่เป็นความเห็นที่ถูกต้องในหลักสัจธรรมแน่นอน  เรียกว่า ปัญญาความเห็นชอบอย่างแท้จริง
   ในวันต่อมา ได้ยินนักปฏิบัติธรรมหลายคนพูดกันเรื่องสมาธิภาวนาว่า  จิตมีความสงบอย่างนั้น  มีความสงบอย่างนี้  ลักษณะของจิตเป็นอย่างนั้น  มีความสุขกายสุขใจอย่างนี้  เมื่อถามเขาในเรื่องการทำสมาธิ  เขาก็ให้คำตอบเหมือนกัน คือ นึกคำบริกรรมว่า พุทโธ  เวลาหายใจเข้า นึกว่า พุท  เวลาหายใจออกนึกว่า โธ  ให้มีสติตั้งมั่นอยู่กับ พุทโธ  แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่า ที่เขาพูดมานั้นจะถูกต้องหรือไม่  จากนั้น ก็ออกไปถามหลวงพ่อบุญมาด้วยตนเอง  ท่านก็พูดเหมือน ๆ กันกับโยมเขาพูดกัน  เมื่อเรียนวิธีในการทำสมาธิจากท่านแล้ว  ตัวเองก็เริ่มทำตามวิธีที่ท่านสั่งสอนมา  เมื่อทำไปในครั้งแรกก็ได้รับผลในคืนนั้น  ใจมีความสงบนิ่งแน่วแน่เป็นอย่างดี  มีความสุขกายและสุขใจเป็นอย่างมาก  จากนั้นมา ก็เริ่มทำสมาธิทุกวัน  แต่นิสัยที่เคยใช้ปัญญาพิจารณาเรื่องการเกิดดับมาก่อนนั้น ก็ยังฝังลึกอยู่ในจิตใจ  ในช่วงนั้น หลวงพ่อบุญมาก็ไม่ได้สอนเรื่องการเจริญวิปัสสนา  และตัวเองก็ยังไม่รู้เรื่องการเจริญวิปัสสนาเลยว่า การเจริญวิปัสสนามีวิธีการเจริญอย่างไร  แต่ก็มีความแปลกใจอยู่อีกอย่างหนึ่งว่า  ทำไมหลังจากการทำสมาธิแล้ว  ใจมันชอบคิดนึกตรึกตรองเรื่องการเกิดดับอยู่เสมอ  ยิ่งพิจารณาเรื่องการเกิดดับมากขึ้นเท่าไร  ก็ยิ่งทำให้ใจรู้เห็นได้ชัดเจนขึ้น  และใจก็เริ่มเกิดความแยบคาย  ความเข้าใจในหลักความเป็นจริงก็ยิ่งมีความแจ่มใสชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทำให้ใจเกิดความศรัทธา
เชื่อมั่นในพระพุทธศาสนาอย่างเต็มที่ และเชื่อมั่นในการปฏิบัติว่าเป็นอุบายวิธีที่ถูกต้องแน่นอน
   ในวันต่อมา ก็ได้ไปเล่าวิธีการปฏิบัตินี้ให้หลวงพ่อบุญมาฟัง  ท่านก็พูดหนักแน่นว่าถูก
แล้ว ๆ ให้ทำอย่างนี้อยู่บ่อย ๆ  จิตก็จะค่อย ๆ ละวางในสิ่งที่จิตมีความยึดมั่นถือมั่นออกไปได้  ท่านก็สั่งให้ขยันหมั่นเพียรภาวนาให้มาก  จากนั้นมา ก็พยายามเพิ่มความเพียรให้มากขึ้น  และรู้ตัวเองอยู่ว่าการงานที่เราทำประจำวันอยู่นั้นมีมาก  จะไปนั่งนึกคำบริกรรมทำสมาธินาน ๆ นั้น
ไม่ได้  ถ้าจะทำสมาธิก็ทำในช่วงพักผ่อนในการทำงานนั้น ๆ  จากนั้น ก็เริ่มจับด้ามจอบด้ามขวานทำงานต่อไป  ในช่วงขณะที่ทำงานอยู่นั้น  ก็ใช้ปัญญาพิจารณาในเรื่องการเกิดดับอยู่เสมอ  ทำงานไปด้วยพิจารณาการเกิดดับไปด้วย  ทำให้จิตมีความเพลิดเพลินไปในตัว  หาอุบายธรรมต่าง ๆ มาสอนตัวเองอยู่เสมอว่า  นี่เราทำไมจึงมีความหลงงมงายติดอยู่กับโลกอยู่อย่างนี้  ทุกอย่างในโลกนี้ไม่มีอะไรเป็นของเราที่แน่นอน  แม้ตัวเราเองก็ไม่เป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง  ทุกสิ่งเป็นเพียงอาศัยซึ่งกันและกันเท่านั้น  สักวันหนึ่งก็ดับสลายจากกันไป  พืชผลที่ได้มาจากการเพาะปลูกทั้งหมดนั้น  ก็ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เกิดดับด้วยกันทั้งนั้น  นี่เราจะมาเอาอะไรให้เป็นสาระแก่นสารในวัตถุสมบัติทั้งหมดนี้ไม่ได้เลย  การได้มาจากวัตถุสมบัตินี้ เพียงเอามาบำรุงรักษาก้อนธาตุของตัวเองให้มีชีวิตอยู่ได้เท่านั้น  ถึงจะอยู่ได้ก็ไม่นาน  ธาตุและสังขารนี้ก็จะดับไปตามเหตุปัจจัยในตัวมันเอง  ถ้าเป็นอย่างนี้ ทำไมตัวเองจึงได้มาหลงยึดติดกับวัตถุสมบัติเหล่านี้  เพราะทั้งหมดนี้เป็นวัตถุธาตุของโลก มีอยู่ประจำโลก  ตัวเองก็เป็นสัตว์โลก เกิดมาในโลกและมาอาศัยวัตถุธาตุของโลกนี้อยู่เท่านั้น  โลกนี้มันเป็นอยู่อย่างนี้มานานแล้ว  แม้ปัจจุบันนี้ก็เป็นอยู่อย่างนี้  และจะมีอีกในอนาคตต่อไปหาที่สุดมิได้  ถ้าหากเราได้มาเกิดอีกทีก็จะพบกับความเป็นอยู่อย่างนี้อีกตลอดไป
   ฉะนั้น การปฏิบัติของฆราวาส  ถ้าเรามีสติปัญญาที่ดี จะไม่มีอุปสรรคในการปฏิบัติแต่อย่างใด  จะทำความเพียรในที่ไหนก็ได้  ไม่จำเป็นจะเลือกกาลและสถานที่  เราอยู่ที่ไหน แห่งใด ไม่ว่าขณะทำงานหรือหยุดงาน  พยายามทำใจให้มีความรู้จริงและทำใจให้มีความเห็นจริงในสิ่งนั้น ๆ อยู่เสมอ   เพราะความรู้จริงเห็นจริง จึงเป็นจุดเด่นในการปฏิบัติธรรม  และเป็นจุดเด่นของความเพียรที่เราจะเข้าให้ถึง  นั่นคือ สัจธรรม  เพราะสัจธรรมเป็นศูนย์รวมแห่งธรรมะทั้งหลาย  ถึงสัจธรรมนั้นจะหลายแง่หลายหมวดหมู่  แต่ก็อยู่ในขอบเขตของ ไตรลักษณ์ทั้งนั้น  ถ้าหากใช้ปัญญาพิจารณาในสัจธรรมใด ก็ให้รวมลงสู่ไตรลักษณ์ทุกครั้ง  ถ้าปฏิบัติในลักษณะอย่างนี้อยู่ ก็อย่าได้เกิดความกังวลและอย่าไปสงสัยว่าเราปฏิบัติผิดแต่อย่างใด  นี่แหละคือความถูกต้องของการปฏิบัติอย่างแท้จริง  แม้ตัวข้าพเจ้าเอง ก็ได้รับผลมาจากการปฏิบัติด้วยอุบายอย่างนี้มาแล้ว  จึงได้ชี้แนะอุบายนี้ไว้แก่พวกเราทั้งหลาย  เพื่อจะได้เป็นอุบายในการปฏิบัติต่อไป  ไม่ใช่ว่าจะมานึกคำบริกรรมทำสมาธิแต่อย่างเดียว  แต่ก็ไม่ละทิ้งสมาธิเมื่อมีเวลาว่าง  ใจต้องการพักผ่อนก็กำหนดทำสมาธิไปตามกาลเวลานั้นๆ  แต่ส่วนใหญ่แล้วต้องใช้ปัญญาพิจารณาอยู่เสมอ  อุบายที่จะนำมาพิจารณานั้น ต้องเป็นอุบายในเหตุผลของตัวเอง  ถ้าฝึกตัวเองได้อย่างนี้ จึงนับได้ว่าเป็นผู้ไม่จนมุม  มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นย่อมแก้ปัญหานั้นได้ด้วยตนเอง  ฝึกปัญญาให้มีความฉลาดรอบรู้ในเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น  แล้วแก้ปัญหาให้ทันต่อเหตุการณ์  จึงเป็นอุบายภาวนาปฏิบัติที่ถูกต้องอย่างแท้จริง
   อุบายการปฏิบัติที่ข้าพเจ้าได้เอามาเป็นหลักยืนตัว คือ วัตถุสมบัติและธาตุ ๔  ดิน น้ำ ลม ไฟ  โดยพิจารณาให้เป็นไปตามไตรลักษณ์ที่เป็นหลักความจริง  ถึงจะมีอุบายปัญญาอื่น ๆ อยู่บ้างก็เป็นเพียงอุบายประกอบเท่านั้น  ส่วนอุบายการปฏิบัติหลัก คือ เรื่องวัตถุสมบัติกับธาตุ ๔ นั่นเอง  จะอยู่ที่ไหน ไปที่ใด ก็ใช้ปัญญาปรารภเรื่องวัตถุสมบัติกับธาตุ ๔ พิจารณาอยู่เสมอ  เพราะส่วนนี้เป็นรูปธรรมที่มองเห็นได้ง่าย  ถึงจะเป็นอุบายธรรมส่วนหยาบ ๆ  ก็ขอให้รู้เห็นด้วยสติปัญญาของเราโดยตรง จึงจะเป็นผลดี  และดีกว่าที่จะไปเลียนแบบจากคนอื่นเล่าให้ฟัง  ส่วนใหญ่นักปฏิบัติชอบพูดกันอยู่เสมอว่า  ธรรมหมวดนั้นก็รู้ ธรรมหมวดนี้ก็เข้าใจ  นั่นก็จริงอยู่  แต่ความรู้ที่รู้มานั้นเป็นความรู้เลียนแบบจากผู้อื่นมารู้เท่านั้น  หนังสืออธิบายไปอย่างไรก็รู้ไปตามนั้น  หรือครูอาจารย์อธิบายให้ฟังอย่างไร ก็รู้ไปตามนั้น  ความรู้ลักษณะอย่างนี้เป็นเพียงความรู้ในชื่อของธรรมเท่านั้น  แต่ตัวที่เป็นธรรมจริง ๆ ยากที่จะรู้ได้  เพราะเป็นความรู้ที่ลุ่มลึก  เป็นความรู้ที่ได้ผ่านความเห็นที่เป็นจริง  จึงเรียกว่าเห็นก่อนรู้นั่นเอง  หรือเรียกว่าเป็นความรู้ที่กลั่นกรองออกมาจากความเห็นมาแล้ว  จึงนับได้ว่าเป็นความรู้ที่บริสุทธิ์ หรือเรียกว่า พุทโธ  ก็คือ ความรู้ที่ผ่านจากความเห็นจริงนั่นเอง  ฉะนั้น ความรู้จริงความเห็นจริงนั้น จึงมีน้อยคนที่จะปฏิบัติให้เกิดขึ้นได้  แต่ก็ไม่เหลือวิสัยสำหรับบุคคลที่มีความตั้งใจจริง  ถ้ามีความตั้งใจปฏิบัติจริง  ความรู้จริงความเห็นจริงก็จะเป็นผลตอบแทนให้แก่เราอย่างแน่นอน
ใจหลงติดอยู่ที่ต้นมะม่วง
   ในช่วงที่ข้าพเจ้าใช้ปัญญาพิจารณาในวัตถุสมบัติอยู่นั้น  ก็สังเกตใจตัวเองอยู่เสมอว่า ใจเรามีความยินดีกับวัตถุสมบัติอะไรบ้าง  ดูผิวเผินปรากฏว่า ใจไม่มีความยินดียึดติดอยู่กับวัตถุสมบัติอะไรเลย  แต่ในส่วนลึกของใจนั้นยังมีอะไรสักอย่างหนึ่งที่ฝังอยู่  แต่ก็นึกหาในสิ่งนั้นไม่ได้ว่าหลงติดอยู่ในของสิ่งใด
   ในวันต่อมา ได้เดินไปดูสิ่งที่ปลูกเอาไว้  บังเอิญไปพบต้นมะม่วงที่ปลูกเอาไว้  พอสายตามองเห็นเท่านั้น  ก็เกิดความรู้สึกขึ้นในใจว่า  ความดึงดูดกันในระหว่างใจกับต้นมะม่วงนั้นผิดปกติมาก  จึงเกิดความยินดีความยึดมั่นในต้นมะม่วงนั้นอย่างเห็นได้ชัด  จึงได้อุทานขึ้นในใจว่า  วัตถุสมบัติของโลกได้มารวมตัวกันอยู่ที่ต้นมะม่วงนี้แล้ว  ความเหนียวแน่นในความยึดติดอยู่กับมะม่วงนั้นรู้เห็นได้ชัดทีเดียว  จึงได้ทำความเข้าใจกับตัวเองว่า  ถ้าใจได้ตัดขาดจากต้นมะม่วงเมื่อไร  กระแสของโลกก็จะขาดจากใจไปได้  จากนั้น ก็ใช้ปัญญาพิจารณาต้นมะม่วงนั้นลงสู่การเกิดดับและไตรลักษณ์อย่างจริงจัง  แล้วจึง โอปนยิโก น้อมต้นมะม่วงนั้นเข้ามาหาตัวเอง และพิจารณาตัวเอง คือ ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ  ว่ามีการเกิดดับเหมือนต้นมะม่วงนี้  และใช้ปัญญาพิจารณาความไม่เที่ยงของร่างกายให้เป็นไปตามสามัญลักษณะธาตุ คือ มีความเสมอภาคกันในอนัตตา  เมื่อถึงกาลเวลาแล้วก็ต้องดับไป  ทุกอย่างก็ต้องผุพังเน่าเปื่อยทับถมในแผ่นดินนี้ทั้งหมด  ไม่มีอะไรจะมาเป็นตนและไม่มีอะไรจะมาเป็นต้นมะม่วงนี้อีกเลย  เมื่อใช้ปัญญาพิจารณาอย่างนี้ซ้ำ ๆ ซาก ๆ อยู่  ใจก็เกิดความรู้เห็นเป็นไปตามหลักความเป็นจริงว่า  ทุกสิ่งย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดาและก็ดับไปเป็นธรรมดา  เมื่อมารู้เห็นความจริงอย่างนี้ด้วยปัญญาที่เห็นชอบแล้ว  กระแสใจที่เคยยึดมั่นในต้นมะม่วงนั้นก็ขาดกระเด็นออกจากใจไปทันที  ไม่มีอะไรให้ต่อเชื่อมกันได้เลย
   จากนั้น นึกขึ้นได้อีกว่า ยังมีมะม่วงอีกต้นหนึ่งเป็นพันธุ์ดีที่สุด  จึงเดินไปดู  พอสายตากระทบต้นมะม่วงเท่านั้น  ก็เกิดความยึดติดกับต้นมะม่วงต้นนั้นอีก  และยึดติดอย่างรุนแรงกว่ามะม่วงต้นที่ผ่านมา  เหมือนกับความเหนียวแน่นของใจที่มีในต้นมะม่วงนั้นมันมีความผิดปกติอยู่มาก ๆ ทีเดียว  จากนั้น ก็เริ่มใช้ปัญญาพิจารณาดังที่ได้เคยพิจารณามาแล้ว  อุบายปัญญาที่เคยพิจารณาอย่างได้ผลมาแล้ว  แต่บัดนี้ ไม่ได้ผลเสียเลย  ใช้ปัญญาพิจารณาอยู่อย่างนั้นทั้งวัน  ก็ไม่ทำให้กระแสใจขาดจากความยึดติดกับต้นมะม่วงนี้ได้  ตกเย็นกลับบ้าน ได้นั่งทำสมาธิ  ออกจากสมาธิก็มาใช้ปัญญาพิจารณาต้นมะม่วงนี้อีก  แต่ในคืนนั้น ไม่สามารถทำให้ใจเกิดความละถอนปล่อยวางในต้นมะม่วงนั้นเลย  ต่อมาในวันที่สอง ก็ใช้ปัญญาพิจารณาอีก  ใจยังมีความยึดติดอย่างเหนียวแน่นตามเดิม  ในคืนที่สองนี้ก็ใช้ปัญญาพิจารณาต่อไป  เมื่อใช้ปัญญานาน ๆ เข้า เหนื่อยจึงหยุดพักในสมาธิไปด้วย  เมื่อออกจากสมาธิก็เริ่มใช้ปัญญาพิจารณาต่อไป  หลักการที่ใช้ปัญญาพิจารณาก็เป็นอุบายเดียวกัน  และได้สังเกตดูใจ
ตัวเองไปพร้อม ๆ กันว่ามีความละเอียดมาก  จึงได้รู้เห็นการเกิดดับของต้นมะม่วงและธาตุ ๔ ของตัวเองได้อย่างชัดเจน  เมื่อเวลาประมาณเที่ยงคืน ก็ได้รู้เห็นเป็นไปตามหลักความเป็นจริงว่า  ทุกสิ่งย่อมเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยและสิ่งนั้นก็ย่อมดับไปด้วยเหตุปัจจัยในตัวมันเอง  ในขณะนั้น กระแสแห่งความยึดถือของใจ ก็ได้พังทลายสูญหายออกไปจากใจในชั่วพริบตา  จึงได้รู้ตัวเองว่าอยู่ในฐานะอย่างไร
   ฉะนั้น การปฏิบัติในอุบายการใช้ปัญญาพิจารณาในการเกิดดับ ในสรรพวัตถุธาตุทั้งหลาย  ทั้งภายนอก ภายใน ใกล้ไกล หยาบ ละเอียด  ทั้งสิ่งที่มีวิญญาณครอง และสิ่งที่ไม่มีวิญญาณครอง  ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยในตัวมันเอง  ไม่มีใครบังคับให้อยู่ในอำนาจของตัวเองได้ไม่ว่าสิ่งนั้นจะชอบใจหรือไม่ชอบใจ  ในคืนนั้น มีแต่ความอิ่มเอิบอยู่กับผลของการปฏิบัติธรรมตลอดคืน  และรู้ชัดภายในใจว่านับจากวินาทีนี้ไป ใจเราจะไม่มีภาระในการยึดติดอยู่กับวัตถุสมบัติทั้งหลายตลอดไป  เพราะใจได้ละวางในวัตถุสมบัติของโลกนี้ได้อย่างสิ้นเชิง  ถึงจะแสวงหาวัตถุสมบัติมาได้ รวมทั้งสิ่งที่มีอยู่ ก็รู้สึกว่าเป็นเพียงวัตถุธาตุเท่านั้น  ทุกอย่างเป็นเพียงปัจจัยสำหรับการดำรงชีวิตให้อยู่ได้ในวันหนึ่ง ๆ เท่านั้น  แม้ธาตุขันธ์ที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นเรา และเป็นของเรา ก็เป็นเพียงสมมติโลกที่พูดกันเท่านั้น  ส่วนความจริงก็ยังเรียกกันตามโลกนิยม  คำว่า สักกายทิฏฐิ คือ ความเห็นในรูปกายหรือรูปธาตุอื่นๆ ย่อมมีการเกิดดับตามเหตุปัจจัยในตัวมันเอง  นี้คือรู้จริงเห็นจริงตามหลักความเป็นจริงใน
สัจธรรมอย่างแจ่มแจ้งชัดเจน
   ความสงสัยในพระพุทธเจ้า ความสงสัยในพระธรรม ความสงสัยในพระอริยสงฆ์ ความสงสัยในผลของกรรมดีกรรมชั่ว ความสงสัยในบุญและบาป ความสงสัยในมรรคผลนิพพานก็หมดไป  เพราะมารู้จริงเห็นจริงในสัจธรรมอย่างสนิทใจ  เป็นความรู้เห็นที่ไม่เสื่อมคลายต่อไป  ความเข้าใจผิด ความหลงผิด ก็ได้กลายเป็นอดีตไป  มีแต่ความรู้เห็นที่เป็นจริงที่มั่นคงสมบูรณ์ภายในใจ  เป็น นิตยทิฏฐิ คือ ความรู้เห็นที่แน่นอน  ไม่มีความลังเลสงสัยอีกตลอดไป  มีแต่ความอิ่มเอิบในธรรมตลอดทั้งวันทั้งคืน  จะยืน เดิน นั่ง นอน อยู่ที่ไหน  ใจย่อมมีความเบิกบานอยู่ตลอดเวลา
   ความลูบคลำในศีล ว่ามีความเศร้าหมองขุ่นมัวด่างพร้อย หรือศีลขาดศีลทะลุอย่างไรก็ไม่มีในใจแม้แต่น้อย  นี่คือศีลที่เป็นผลสะท้อนออกมาจากธรรม  เมื่อใจมีธรรมและธรรมฝังใจอย่างแนบแน่นแล้ว  ผลคือ ความละอายในการทำชั่ว ในการพูดชั่ว  และการคิดชั่วจะมีมาจากที่ไหน  นี่คือศีลที่เกิดจากธรรมโดยตรง จึงเรียกว่า ปกติศีล  เป็นศีลที่ไม่มีความหวั่นไหว  เป็นศีลที่ไม่มีความวิตกกังวลในสิ่งใด ๆ เพราะศีลฝังลึกอยู่ที่ใจอย่างสนิทแล้ว  คำว่าศีลขาดหรือไม่ขาด จะไม่มีในใจที่เป็นธรรมนี้เลย  ฉะนั้น จึงเป็น อธิศีล คือ ศีลที่ยิ่ง  อธิจิต ความตั้งมั่นที่แน่วแน่ในธรรม  จะไม่มีความหลงผิดอีกต่อไป  อธิปัญญา ความรู้รอบและรอบรู้ภายในใจก็เป็นไปในเหตุในผล  จะคิดนึกตรึกตรองในสิ่งใด ดำริพิจารณาในเหตุปัจจัยอะไร ย่อมเกิดความแยบคายได้ง่าย  อธิปัญญา คือ ปัญญาที่รู้รอบในสรรพสังขารทั้งหลาย  ไม่มีสังขารใดที่จะเล็ดลอดหลบหลักปัญญาไปได้เลย  เพราะปัญญา จึงให้นามว่าความรู้รอบและรอบรู้อยู่แล้ว  ฉะนั้น ความลูบคลำในศีลว่าขาดหรือไม่ขาดนั้นจะไม่มีในใจเลย  เพราะใจที่มีศีลนั้นไม่มีเจตนาในทางที่ชั่ว  เรื่องการแสดงออกมาภายนอกด้วยกิริยาทางกายและวาจา ในสายตาของคนอื่นอาจเข้าใจผิดได้ว่าต้องผิดศีลข้อนั้น ต้องผิดศีลข้อนี้ ย่อมวิพากษ์วิจารณ์ไปได้ด้วยภาษาของคนมืดบอด  เรื่องเหล่านี้เคยมีมาแล้วในครั้งพุทธกาล เช่น พระจักขุบาลที่เดินจงกรมเหยียบแมลงเม่าตายเป็นกอง ๆ ในทางเดินจงกรม  ก็มีพระที่มืดบอดด้วยสติปัญญาไปฟ้องพระพุทธเจ้า ว่าจะเอาโทษทางวินัยให้ได้  ในที่สุด พระพุทธเจ้าก็ได้ตัดสินว่า พระจักขุบาลไม่ผิดเพราะไม่มีเจตนา คือ ความตั้งใจที่จะเหยียบแมลงเม่าให้ตาย  ฉะนั้น ความลูบคลำในศีลว่าขาดหรือไม่ขาดจึงไม่มีต่อผู้มีธรรมประจำใจ

ออฟไลน์ เลดี้เบื๊อก

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นไม้เล็กพริ้วไหวดั่งสายลม
  • *
  • กระทู้: 165
  • พลังกัลยาณมิตร 119
    • ดูรายละเอียด
Re: อัตโนประวัติ หลวงพ่อทูล ขิปฺปญฺโญ
« ตอบกลับ #6 เมื่อ: กันยายน 08, 2011, 02:09:15 pm »
เกิดนิมิตช่วยกำลังใจ

   ในคืนหนึ่ง หลังจากใช้ปัญญาพิจารณาในสัจธรรมในแง่ต่าง ๆ ไปแล้ว  ก็มากำหนดจิตให้ลงสู่ความสงบเพื่อเป็นอุบายพักจิตต่อไป  เมื่อจิตลงสู่ความสงบแล้วก็เกิดความสว่างอย่างกว้างขวาง  เป็นความสว่างที่ไม่มีประมาณ  โล่งไปทั้งหมด  ในขณะนั้น ก็ปรากฏเห็นรถแก้วคันหนึ่งลอยมาแต่ที่ไกล  แล้วก็ลอยตรงเข้ามาหาข้าพเจ้า และหยุดอยู่บนอากาศห่างจากตัวข้าพเจ้าประมาณ ๕ วา  จึงมองเห็นรถแก้วคันนั้นได้อย่างชัดเจน  รถแก้วคันนั้นมีเครื่องประดับด้วยแก้วนานาชนิด  มีแสงสว่างแพรวพราวไปหมด  มีรัศมีแผ่ออกไปรอบด้าน  ในรถแก้วคันนั้นมี ธนู ศร หอก ดาบ และมีอาวุธอื่น ๆ อีกมากมาย  และยังมีพระราชาองค์หนึ่งประทับนั่งอยู่ในรถคันนั้น  เครื่องประดับของพระราชาองค์นั้นล้วนแล้วแต่เป็นเพชรนิลจินดา  ประดับเครื่องทรงเจิดจ้าแพรวพราวระยิบระยับอยู่รอบองค์  จากนั้น ก็ได้ประกาศลงมาว่า  นี่ทูล ข้าพเจ้าเป็นพระยาธรรมมิกราช  มาครั้งนี้ เพื่อจะเตือนให้รู้ว่า  นับแต่นี้ไป โลกมนุษย์เริ่มหมุนไปสู่ความหายนะ  มนุษยโลกจะเกิดโกลาหลฆ่ากันตีกันทำลายกันด้วยวิธีต่าง ๆ  จะหาผู้มีศีลมีธรรมประจำใจนั้นมีน้อย  ทั้งพระสงฆ์ผู้ทรงศีลอันดีงาม ผู้ทรงธรรมที่เป็นสาระแก่นสารก็จะมีน้อย  ฉะนั้น ขอให้ออกบวชเสียแต่ในช่วงนี้  เพื่อจะได้เป็นกำลังแก่พระพุทธศาสนาสืบต่อไป  เมื่อสั่งเสร็จแล้ว รถแก้วก็เลื่อนลอยขึ้นไปสู่อากาศ  ลอย
สูงขึ้น ๆ จนสุดสายตา  จากนั้น ความสว่างก็ค่อย ๆ เลือนลางไป  ในขณะนั้น ก็มีลมพัดมาจากทิศตะวันออกดังสนั่นหวั่นไหวเหมือนกับต้นไม้โค่นล้มกันไปเป็นทิวแถว แล้วพัดตรงเข้ามาหาข้าพเจ้า  แล้วมีคน ๖ คนวิ่งมากับลมนั้นด้วย  จากนั้น ลมก็พัดตรงเข้าที่บ้านอย่างจัง เหมือนกับบ้านจะพังไป  แต่ก็เป็นเพียงโยกคลอนไปมาเท่านั้น  ทำให้คนรอบข้างเกิดความสะดุ้งตกใจร้องโวยวายขึ้นว่า นี่อะไรเกิดขึ้น  มีลมพัดบ้านเหมือนกับบ้านจะพังไป  ขณะนั้น ใจก็ถอนออกจากสมาธิ  จึงได้บอกคนใกล้เคียงไปตามเหตุที่เกิดขึ้น  แต่ก็ไม่ได้บอกทั้งหมด  เพราะเขากำลังต่อต้านในการออกบวชของข้าพเจ้าอยู่แล้ว  แต่ได้บอกเขาไปเป็นบางส่วนเท่านั้น  ส่วนตัวข้าพเจ้าเองได้ตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะออกบวชอย่างแน่นอน
เรื่องของพ่อตู้อ้วน
   ก่อนออกบวช มีเรื่องหนึ่งที่จะต้องพูดถึง  นั่นคือ เรื่องของพ่อตู้อ้วน  พ่อตู้อ้วนนี้เดิมอยู่บ้านค้อนารายณ์  เป็นผู้สนใจในการภาวนาปฏิบัติมาแล้วประมาณ ๓๐ ปี  มีการรักษาศีล ๕ มาตลอดชีวิต  และมีการรักษาศีลอุโบสถทุกวันพระมิได้ขาด  ในช่วงนี้ พ่อตู้อ้วนได้ย้ายมาอยู่บ้านโนนสมบูรณ์  มีบ้านอยู่ตรงกันข้ามกับบ้านข้าพเจ้า  ท่านให้ความรักในตัวข้าพเจ้าเหมือนกับลูกคนหนึ่ง  ต่อมา พ่อตู้อ้วนได้ไปสร้างกุฏิไว้สองหลัง  แต่ละหลังห่างกัน ๒๐ เมตร  และคิดโครงการว่าจะสร้างห้องส้วมอยู่ระหว่างกลางของกุฏิทั้งสอง  เมื่อกุฏิสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว  คิดว่าจะสร้างห้องส้วมต่อไป  แต่ขณะนั้นเกิดเจ็บป่วยขึ้นมาเสียก่อน  ลูกหลานจึงได้นำตัวไปรักษาที่บ้านค้อนารายณ์  แต่อาการป่วยก็ไม่ดีขึ้น  ในที่สุด ก็ได้เสียชีวิตไปท่ามกลางหมู่ญาติทั้งหลาย  เมื่อข้าพเจ้าทราบข่าว ก็ไปร่วมในการประชุมเพลิงศพครั้งนี้ด้วย  และใช้ปัญญาพิจารณาความตายอยู่ตลอดว่า อนาคตของเราต่อไปก็ต้องเป็นอย่างนี้  จะหนีจากความตายนี้ไปไม่ได้เลย  พ่อตู้อ้วนอายุ ๗๐ กว่าปี  แต่ยังมีร่างกายแข็งแรงดี  มีความขยันในการงาน  และมีความขยันในการภาวนาปฏิบัติอย่างไม่ท้อถอย  แต่ก็ได้ตายไปจากญาติลูกหลานไม่มีวันจะฟื้นขึ้นมาอีกเลย  ส่วนตัวเราเอง ถึงอายุยังไม่มาก แต่ก็มีสิทธิ์ตายได้เช่นกัน  ดังเห็นอยู่ในที่ต่าง ๆ ทั่วไป  หลายคนเป็นผู้มีอายุยังน้อยทั้งนั้น  นี่เราจะมีชีวิตอยู่อีกต่อไปนานเท่าไรหนอ  เราไม่สามารถคาดการณ์ในความตายล่วงหน้าได้  อาจจะเร็ว ๆ นี้ก็ได้ใครจะรู้  ในวันนั้นจะคิดในเรื่องความตายนี้อยู่ตลอด  เมื่อกลับจากงานศพมาแล้ว ก็คิดพิจารณาในความตายต่อไป
   ในคืนนั้น ทำสมาธิมีความสงบได้ที่แล้วก็เกิดนิมิตขึ้น  คือปรากฏเห็นพ่อตู้อ้วนเดินมาหา  จึงคิดว่าพ่อตู้อ้วนจะมาที่นี่ทำไม  บุญกุศลต่าง ๆ ตลอดการรักษาศีลและการภาวนาปฏิบัติก็มีความมั่นคง  ทำไมจึงไม่ได้ไปสู่สุคติหนอ  เมื่อพ่อตู้อ้วนเดินเข้ามาใกล้ ๆ คิดจะถามว่า ทำไมจึงไม่ไปสู่สวรรค์  จากนั้น พ่อตู้อ้วนก็ได้เข้ากอดตัวข้าพเจ้าทางด้านหลัง  โดยรวบแขนไว้แน่น  เมื่อแขนและตัวของพ่อตู้อ้วนถูกร่างกายเราส่วนไหน จะมีความเย็นยะเยือกในร่างกายไปหมด  จากนั้น ก็ถามพ่อตู้อ้วนว่า  พ่อตู้ ทำไมจึงไม่ขึ้นไปอยู่เมืองสวรรค์  บุญกุศลต่าง ๆ พ่อตู้ก็ได้ทำมามาก  หรือมีอุปสรรคขัดข้องในสิ่งใด  พ่อตู้ก็ได้กระซิบใส่หูข้าพเจ้าเบา ๆ ว่า มีความเป็นห่วงในห้องส้วมที่ยังไม่ได้ทำ  ก็ถามต่อไปว่า พ่อตู้จะสร้างห้องส้วมที่ไหน  พ่อตู้ตอบว่า สร้างระหว่างกลางกุฏิสองหลังนั่นแหละ  จึงบอกพ่อตู้อ้วนไปว่า ไม่ยากหรอกพ่อตู้  ในวันพรุ่งนี้ ผมจะไปบอกพ่อแสนและญาติทุกคนให้มาร่วมสร้างห้องส้วมหลังนี้ให้เสร็จเร็วที่สุด  ขอให้พ่อตู้คอยอยู่รับอนุโมทนาในการสร้างห้องส้วมนี้ก็แล้วกัน  พ่อตู้พูดว่า เออให้บอกเขาจริง ๆ นะ  พ่อตู้จะคอยอยู่ที่บริเวณนี้  จากนั้น พ่อตู้อ้วนก็ได้วางมือจากตัวข้าพเจ้าไป  แล้วจิตก็ได้ถอนออกจากสมาธิ
   ต่อมา ข้าพเจ้าก็ได้ใช้ปัญญาพิจารณาในเรื่องนิมิตนี้อย่างละเอียด  จนเข้าใจได้อย่าง
ชัดเจน  ข้อพิจารณาเป็นอย่างไรนั้นจะอธิบายให้ฟังในช่วงหลัง  รุ่งเช้า ข้าพเจ้าก็รีบไปเล่าให้พ่อแสนกับแม่แสนฟังทั้งหมด  ทั้งสองตกตะลึงแล้วพูดว่า เคยได้ยินพ่อตู้พูดว่า จะสร้างห้องส้วมนี้เหมือนกัน  นี่ถ้าทูลไม่มาบอกเล่าให้ฟังก็คงลืมไปเลย  ข้าพเจ้าเองก็ไม่เคยได้ยินมาก่อน  เพิ่งได้รู้ในคืนที่พ่อตู้มาบอกนั่นเอง  แล้วก็บอกพ่อแสนไปว่าให้รีบไปหาญาติ ๆ ทางบ้านเดี๋ยวนี้นะ  ให้พากันมาสร้างห้องส้วมให้เสร็จอย่างช้าก็อย่าให้เกินสองวัน  ขณะนี้ พ่อตู้ยังคอยรับบุญกุศลในการสร้างห้องส้วมอยู่ในบริเวณนี้  ให้รีบสร้างรีบถวาย  เพื่อให้พ่อตู้ได้อนุโมทนา  แล้วพ่อตู้จะได้ไปสวรรค์โดยเร็ว  ไม่เช่นนั้น พ่อตู้จะเป็นเปรตต่อไปอีกนาน  เมื่อพ่อแสนได้ฟังดังนั้น ก็รีบแต่งตัวจับได้จักรยานสองล้อถีบไปอย่างรีบร้อนทีเดียว  เพื่อไปตามญาติ ๆ มาสร้างห้องส้วม  เมื่อไปถึงวัด ข้าพเจ้าก็กำหนดให้สร้างตรงนี้ ๆ  ต่างคนก็ช่วยกันขุดหลุมส้วมพร้อมทั้งใส่ท่อเป็นอย่างดี  กลุ่มที่ทำไม้ก็ช่วยกันเต็มที่  ตั้งใจว่าจะให้เสร็จในวันนั้นทั้งหมด  ในที่สุดก็เสร็จในวันนั้นจริง ๆ  เช้าวันรุ่งขึ้น ลูกหลานทุกคนก็ร่วมกันถวายพระเป็นอันเสร็จพิธี  ในคืนนั้น ข้าพเจ้าก็ภาวนาเป็นปกติและดำริว่า  พ่อตู้อ้วนได้รับกองบุญในวันนี้หรือเปล่าหนอ  เมื่อจิตสงบในสมาธิได้ที่แล้ว  นิมิตเห็นพ่อตู้อ้วนเดินเข้ามาหา  หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสสดชื่นดีมาก  ผิวพรรณผ่องใสไปทั้งหน้าและร่างกาย  ผ้าที่
นุ่งห่มมีความสวยงามมาก  เมื่อเดินมาได้แล้วก็ยืนอย่างเรียบร้อยแล้วพูดว่า  ทูลเอย บัดนี้ พ่อตู้หมดห่วงแล้วนะ  ถ้าทูลไม่ช่วยพ่อตู้ในครั้งนี้  ไม่ทราบว่าพ่อตู้จะอยู่เป็นเปรตต่อไปอีกนานเท่าไร  พ่อตู้จึงขอขอบคุณที่ช่วยเหลือพ่อตู้ได้ทัน  ไม่เช่นนั้น พ่อตู้ก็จะอยู่เป็นเปรตทนทุกข์ทรมานอยู่ในโลกนี้สิ้นกาลนาน  จึงขอให้ทูล ได้ ทำบุญให้มาก ๆ  การรักษาศีลภาวนาก็อย่าได้ขาด  และจงบอกคนอื่นด้วยนะ  อย่าพากันติดอยู่กับวัตถุสิ่งใด ๆ เลย  เมื่อใจยึดติดอยู่กับของสิ่งใด ใจก็จะมืด ยึดติดอยู่กับสิ่งนั้น ๆ โดยไม่มีทางไปแต่อย่างใด  จากนั้น พ่อตู้ได้พูดคำ
สุดท้ายว่า  จากนี้ไป พ่อตู้จะขึ้นไปอยู่บนสวรรค์แล้วนะ  ว่าแล้วก็ลอยขึ้นไปสู่อากาศจนมองสุดสายตา  จากนั้น จิตก็ได้ถอนออกจากสมาธิ
   ข้าพเจ้าได้ใช้ปัญญาพิจารณาดูในเรื่องของพ่อตู้อ้วนนี้ทั้งหมด  เห็นว่าเป็นอุบายสอนใจให้คนทั้งหลายได้เกิดความสำนึกตัวได้ดีมากทีเดียว  ข้าพเจ้าจะอธิบายในเรื่องการยึดติดในวัตถุทั้งหลายให้ทราบดังนี้  ความยึดติดทางใจนี้เป็นความยึดติดที่เหนียวแน่นมากและยากที่จะรู้ตัว  กำลังความหนักหน่วงจะเป็นลูกถ่วงภายในใจอย่างมืดมิดทีเดียว บุญกุศลอื่นใดที่ทำมาแล้วและสิ้นเงินไปอย่างมหาศาลมาแล้ว ไม่ว่าเท่าไรก็ตาม  ในช่วงสุดท้ายของชีวิต ก่อน  จิตจะออกจากร่างกายนี้ไป จึงเป็นโค้งสุดท้ายของชีวิตที่จะเบนเข็มทิศชี้ทางให้ใจได้เปลี่ยนไป  ถ้าใจไปยึดติดอยู่กับสิ่งใด ใจก็จะไม่ยอมถอนตัว  ถึงบุญกุศลจะสร้างมาแล้วมากน้อยเท่าไรไม่สำคัญ  บุญกุศลนั้นจะผลักด้นให้จิตหลุดออกจากการยึดติดนั้นไม่ได้  บุญกุศลนั้นก็ไม่ได้หายไปไหน ยังมีแฝงอยู่ที่ใจนั่นเอง  แต่ไม่สนใจกับบุญกุศลที่มีอยู่  มีแต่ความลุ่มหลงในการยึดติดในสิ่งนั้น ๆ จนลืมตัว  จะยึดติดนานเท่าไรนั้น ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์หลายอย่าง  ใจบางคนก็กลับได้ช้า ใจบางคนก็กลับได้เร็ว  เหตุปัจจัยที่จะให้ใจถอนตัวออกจากความยึดมั่นต้องได้พูดกันยาวมาก  เพราะเหตุปัจจัยในการยึดติดนั้นไม่เหมือนกัน  ความหลงตัว การลืมตัว ก็มีความตื้นลึกหนาบางต่างกัน
   ฉะนั้น การยึดติดจึงมีอำนาจกว่าบุญกุศลทั้งหลาย  ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า  ดูก่อนอานนท์ บุคคลในโลกนี้ที่จะไปสู่สุคติได้ เท่ากันกับเขาโค  บุคคลที่จะไปสู่ทุคติในอบายภูมินั้น เหมือนกันกับขนโค  ดูซิว่า โคตัวหนึ่งมีเขามีขนมากต่างกันทีเดียว  นี่ก็เพราะความยึดติดของใจที่ฝังแน่นอยู่ในสิ่งที่เรารัก  เพราะความยึดติดนั้น เป็นภพที่จะไปสู่ชาติคือความเกิดนั่นเอง  ดังคำของนักปราชญ์พูดไว้ว่า ถ้าใจหนักไปในทางกุศล  บุญกุศลนั้น ก็จะนำพาไปสู่สวรรค์  ถ้าใจหนักไปในทางบาปอกุศล  บาปอกุศลนั้นก็จะนำพาไปทุคติ  คำพูดของ
นักปราชญ์อย่างนี้ส่วนมากจะมีความเข้าใจตรง ๆ ไปเลย  เช่น คำว่า ผู้มีความหนักแน่นในทางบุญก็จะต้องทำบุญมาก ๆ  มีปัจจัย ๔ คือ จีวรผ้านุ่งห่ม อาหารการฉันนานาชนิด สร้างเสนาสนะ มีอุโบสถศาลา กุฏิ วิหาร เป็นต้น  หรือยารักษาโรคต่าง ๆ ตามที่เราทำกันอยู่ในขณะนี้  อีกอย่างหนึ่ง คือ หนักไปทางทำบาปอกุศล ก็จะเข้าใจว่าผู้นั้นต้องฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ทำผิดประเวณี พูดปด พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล กินเหล้ายาที่เป็นของมึนเมาต่าง ๆ  คำนี้จะอธิบายให้ฟังในที่นี้เลยว่า  คำว่าทำบุญมาก หรือทำบาปมากนั้น  มิใช่ว่าจะเอาเรื่องของการกระทำนั้นมาเป็นเครื่องตัดสินแต่อย่างเดียวเท่านั้น  คำว่า มาก ในที่นี้  หมายเอาในชั่วขณะที่จิตจะออกจากร่างกายไปเท่านั้น  ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ คือ ในขณะลมหายใจจะหมดไปนี่เองที่เป็นจุดสำคัญ  ในช่วงนาทีสุดท้ายนี้ เมื่อใจเกิดความวิตกขึ้นมา หรือเรียกว่า นิมิตหมายที่จะทำให้ใจมากไปในทางใด  ก็จุดนี้แหละจะเป็นเครื่องตัดสิน  ถ้าใจมีนิมิตหมายไปในทางบาปมาก  เมื่อตายไปก็จะไปสู่อบายภูมิ  ถ้าใจมีนิมิตหมายไปในทางบุญกุศลมาก  เมื่อตายไปก็จะได้ไปสู่สุคติสวรรค์  ฉะนั้น ขอให้ท่านได้พิจารณาในเรื่องคำว่า มาก นี้ให้ชัดเจนด้วยเหตุด้วยผลที่ถูกต้องตามหลักความเป็นจริงด้วยเทอญ

การออกบวช
   การออกบวชในครั้งนี้ ตั้งใจเอาไว้อย่างสูงมาก  เพราะได้มาพิจารณาความเป็นอยู่ของฆราวาสว่า  เป็นอุปสรรคมากในการที่จะรู้แจ้งเห็นจริงในธรรมระดับสูง  เพราะภาระของฆราวาสมีปัญหาในการรับผิดชอบมากมาย  ไม่มีอิสระที่จะภาวนาปฏิบัติให้ต่อเนื่องกันได้  ฉะนั้น จึงได้ออกบวชตามความตั้งใจ  ถึงจะมีอุปสรรคขัดขวางอยู่บ้างก็แก้ปัญหานั้นไปได้  จากนั้น ก็เข้ามามอบกายถวายตัวกับครูอาจารย์  เมื่อรู้ตัวเองว่าบวชได้แล้ว  ความหนักหน่วงในหัวใจในครั้งที่แบกหามโลกอยู่ ก็ได้หลุดออกไปจากจิตใจ  มีความร่าเริงเบิกบานอยู่ตลอดเวลา  เป็นใจที่มีอิสระ ไม่มีภาระภายนอกมาผูกพัน  และความมั่นใจในตัวเองนั้นสูงมาก  คือชีวิตเราทั้งชาติจะมอบไว้กับเพศนักบวชนี้ไปจนตลอดวันตาย  เมื่อถึงกำหนดวันบวชก็ยิ่งมีความอิ่มเอิบภายในใจมาก
ทีเดียว  และมีอุบายสอนใจตัวเองอยู่เสมอว่า  วันนี้เราจะได้บวชเป็นพระอยู่แล้ว  การบวชเป็นพระของเราในครั้งนี้  เราบวชทั้งกาย และบวชทั้งใจ  ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท  เพื่อทำประโยชน์ตนให้ถึงพร้อมตามที่เราได้กำหนดเป้าหมายเอาไว้ให้สมบูรณ์  แล้วจะได้ทำประโยชน์ท่านที่เป็นส่วนรวมต่อไป
   ได้เวลาแล้วก็เข้าสู่พระอุโบสถ ที่วัดโพธิสมภรณ์  จังหวัดอุดรธานี  มี พระธรรมเจดีย์ (จูม) พนฺธุโล  เป็นพระอุปัชฌาย์  ท่านได้ตั้งฉายาให้ว่า ขิปฺปปญฺโญ  มี พระธรรมบัณฑิต (องค์ปัจจุบัน) เป็นพระกรรมวาจาจารย์  ท่านเจ้าคุณจันโทปมาจารย์เป็นพระอนุศาสนาจารย์  อุปสมบทวันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๔ เมื่ออายุย่างเข้า ๒๗ ปี  เมื่ออุปสมบทแล้ว ก็มาจำพรรษาอยู่ที่วัดเขมวนาราม  บ้านโนนสมบูรณ์  อำเภอบ้านผือ  จังหวัดอุดรธานี

พรรษาที่ ๑  พ.ศ. ๒๕๐๔
   เมื่อเข้าพรรษาในปีนี้ นึกหาข้อวัตรปฏิบัติว่ามีอะไรบ้างที่จะเป็นอุบายในการทำความเพียรให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย  จึงนึกขึ้นได้ในอุบายหนึ่งว่า สัจจะ  ถ้าเรามีสัจจะประจำใจตัวเองแล้ว และยืนหยัดอยู่ในความจริงใจที่ตั้งไว้แล้ว ไม่เป็นผู้โกหกพกลมแก่ตนเอง เราจะต้องเป็นนักปฏิบัติที่
จริงจัง  เราจะมีสัจจะเป็นหลักยืนตัวที่มั่นคง  เพื่อไม่ให้การปฏิบัติมีความย่อหย่อนหละหลวม  ไม่ให้เกิดความล่าช้าที่จะให้ถึงจุดหมายปลายทางในชาตินี้  ฉะนั้น เราจะมีสัจจะบังคับใจตัวเอง  รีบเร่งในการปฏิบัติให้เต็มที่  ถ้าเรามีสัจจะที่เข้มแข็งก็สามารถบังคับความเกียจคร้าน คือ เห็นแก่หลับนอน เห็นแก่การเล่นมั่วสุมอยู่กับหมู่คณะ อันจะทำให้เสียเวลาไป
เปล่า ๆ  เพราะวันหนึ่ง คืนหนึ่ง หรือชั่วโมงหนึ่ง ก็มีคุณค่าในการปฏิบัติธรรม  ฉะนั้น ในพรรษานี้ เราจะภาวนาปฏิบัติให้เต็มที่  สติปัญญา ศรัทธา ความเพียร  มีเท่าไรก็จะทุ่มเทให้เต็มตัว

มีสัจจะบังคับใจตนเอง
   ในวันเข้าพรรษาก็ได้พิจารณาข้อวัตรปฏิบัติที่ตัวเองได้วางเอาไว้  และใช้สัจจะเป็นที่ตั้ง เพื่อให้ข้อวัตรปฏิบัติเกิดความมั่นคง สามารถปฏิบัติให้ได้ครบถ้วนทุกประการ  จึงได้เกิดความ
มั่นใจในตนเองว่า จะปฏิบัติให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ในพรรษานี้ให้ได้ และมองเห็นความสิ้นสุดแห่งทุกข์ ความหลุดพ้นไปจากวัฏสงสาร เหมือนในชั่วเอื้อมมือเดียวเท่านั้น  ทั้งยังมีความมั่นใจในตัวเองว่า  นับแต่วันเริ่มเข้าพรรษานี้ไป  จะให้รู้กันภายใน ๗ วันเท่านั้น  นี่ไม่ใช่พูดโอ้อวด  แต่พูดจากความ
รู้สึกที่เกิดขึ้นภายในใจเท่านั้น  ความรู้สึกภายในใจอย่างนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรนั้น ก็ให้อ่านติดตามกันไป
   พอเข้าพรรษาในวันแรก ก็เริ่มทำความเพียรอย่างหนัก  อาศัยสัจจะบังคับตัวเองเต็มที่  และมีความกล้าหาญกล้าเสียสละ ไม่คิดเสียดายแม้กระทั่งชีวิต  ถึงจะตายไปเพราะการทำความเพียรในขณะนี้ก็ยอม  จะได้บูชาคุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม และคุณของพระอริยสงฆ์ไปเลย  และรู้ตัวเองอยู่เสมอว่าเราได้ตั้งใจไว้เพียง ๗ วันเท่านั้น  จากนั้น เร่งความเพียรให้เต็มที่  สติปัญญามีเท่าไรก็ทุ่มเทให้เต็มกำลัง  และอยู่ในอิริยาบถ ๓ คือ ยืน เดิน นั่ง เท่านั้น  อิริยาบถทั้ง ๓ นี้  จะมีความเพียรอยู่ตลอดเวลา  เดินบิณฑบาตก็มีความเพียร  นั่งฉันอาหารก็มีความเพียร  ตลอดทำกิจวัตรต่าง ๆ ก็มีความเพียร  ความเพียรในที่นี้ คือ มีสติปัญญาอยู่ภายในใจนั่นเอง  ในช่วงทำความเพียรอยู่ในอิริยาบถ ๓ นี้ จะเป็นตายอย่างไรไม่สำคัญ  ถึงธาตุขันธ์จะมีความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าอย่างไรก็ต้องอดทน  ตัดสินใจฝืนไปว่าถึงธาตุขันธ์จะแตกหักต้านทานความความเพียรไม่ไหว จะตายไปในขณะนี้ก็ยอม  ไม่หวั่นไหวในความตายแม้แต่น้อยเลย  เพราะความเกิดความตายเราได้ผ่านมาแล้วทุกภพทุกชาติ  แต่บัดนี้ เราจะทำความเพียรให้เต็มที่  ธาตุขันธ์มันจะตายก็ให้มันตายไป  ถ้าใจยังมีเชื้อของกิเลสอยู่ก็มาเกิดอีกใหม่ได้  ในช่วง ๗ วันนี้ ชีวิตเราจะหมดไปวินาทีใด เราก็พร้อมแล้วทุกลมหายใจ

เกิดนิมิตเตือนใจ
   ในคืนที่ ๗ นับแต่ได้เข้าพรรษามา ถือว่าเป็นวันสำคัญ  เป็นวันสุดท้ายแห่งชีวิต  ในช่วงนั้น ได้เกิดทุกขเวทนาทางกายขึ้นอย่างหนัก  ความเจ็บปวดในร่างกายมีความเจ็บปวดรุนแรงมากขึ้น  แทบจะเดินจงกรมนั่งสมาธิไม่ได้เลย  เพราะธาตุขันธ์ต้านทานความเพียรไม่ไหว  จำเป็นต้องอาศัยสัจจะเป็นกำลังบังคับตัวเองเต็มที่  ทั้งใช้ปัญญาพิจารณาเตือนตัวเองว่า  นี่ทูล ตัวเองเป็นพระกรรมฐาน  เป็นนักปฏิบัติที่เด็ดเดี่ยว กล้าหาญและกล้าตาย ยอมเสียสละได้แม้กระทั่งชีวิต  เพียงมีความทุกข์เจ็บปวดเท่านี้ ยังไม่ได้เสี้ยวหนึ่งส่วนร้อยของพระพุทธเจ้าเลย  พระพุทธเจ้าทำความเพียรจนถึงขึ้นสลบไสลแล้วฟื้นขึ้นมาหลายครั้ง  พระองค์ก็ยังไม่ท้อถอยในความเพียรนี้เลย  นี่เราผู้หวังติดตามพระพุทธเจ้า  เราก็อย่ายอมแพ้ในความเกียจคร้านในการปฏิบัติธรรม  จึงขอมอบกายถวายชีวิตนี้เพื่อเป็นดอกไม้ธูปเทียนบูชาคุณพระพุทธเจ้า บูชาคุณพระธรรม และบูชาคุณพระ
อริยสงฆ์  ด้วยสัจจะที่ได้ตั้งไว้นี้เถิด  เมื่อได้ทอดอาลัยในชีวิตสังขารอย่างนี้แล้ว  จากนั้น ก็รีบเร่งภาวนาปฏิบัติให้สุดกำลัง  ทั้งเดินจงกรม นั่งสมาธิ ทั้งใช้ปัญญาพิจารณาในสรรพสังขารทั้งหลายให้เป็นไปในสัจธรรม คือไตรลักษณ์ อยู่เสมอ  เมื่อเหนื่อยจากการใช้ปัญญาก็กำหนดจิตในการทำสมาธิต่อไป
   ในขณะนั่งสมาธิ  จิตได้สงบลงเต็มที่ไม่รู้ว่านานเท่าไร  จากนั้น จิตก็เริ่มจะถอนตัว  ในขณะที่จิตเริ่มจะถอนนี้เอง  จึงได้เกิดความรู้ขึ้นที่ใจว่า  ผลไม้ยังไม่แก่จะบังคับให้สุกนั้นไม่ได้  จากนั้น จิตก็ถอนออกมา  จึงได้พิจารณาดูตามความรู้ที่ได้เกิดขึ้น  ดูก็มีเหตุผลที่พอจะเชื่อถือได้ เพราะเราก็เพิ่งบวชเข้ามาได้เพียง ๗ วันเท่านั้น  จะมาบังคับให้กิเลสตัณหาหลุดออกไปจากใจในขณะนี้ยังไม่ได้  จำเป็นจะต้องคอยอีกระยะหนึ่ง  จากนั้น ก็ตั้งใจให้มีความหวังไว้ว่า  เมื่อถึงวันปวารณาออกพรรษาก็จะแก่เต็มที่  ในวันนั้น ก็จะเป็นวันตัดสินกันว่าจะหลุดพ้นไปได้หรือไม่  ถึงจะคาดหมายเอาไว้ในวันออกพรรษาก็ตาม  แต่ความเพียรก็ปฏิบัติต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา  เป็นอันว่าจะภาวนาให้หลุดพ้นภายใน ๗ วัน ก็เป็นโมฆะไป  จึงได้ตั้งใจไว้ในวันปวารณาเป็นวันตัดสินอีกครั้งหนึ่ง  การปฏิบัติภาวนาก็ไม่ขาดวรรคตอน  ความตั้งใจก็ยังคงเส้นคงวา  สติปัญญาก็มีความมั่นคง  การปฏิบัติภาวนาก็ต่อเนื่องกันมาตลอด  การปฏิบัติผ่านมาได้ ๑ เดือน ก็เกิดนิมิตขึ้นอีก

ออฟไลน์ เลดี้เบื๊อก

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นไม้เล็กพริ้วไหวดั่งสายลม
  • *
  • กระทู้: 165
  • พลังกัลยาณมิตร 119
    • ดูรายละเอียด
Re: อัตโนประวัติ หลวงพ่อทูล ขิปฺปญฺโญ
« ตอบกลับ #7 เมื่อ: กันยายน 08, 2011, 02:12:04 pm »

นิมิตเห็นตาปะขาวมาเตือน

   ในช่วงนั้น การปฏิบัติภาวนาก็อยู่ในขั้นอุกฤษฏ์  ไม่ได้คำนึงถึงความเป็นความตาย  สังขารร่างกายจะทรุดโทรมเพราะการอดนอนผ่อนอาหาร ก็ให้เป็นเรื่องร่างกายไป  ไม่ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ  มีแต่จะกัดฟันต่อสู้ในสัจจะที่ได้ตั้งเอาไว้อย่างจริงจัง  ในคืนหนึ่ง ขณะนั่งสมาธิ จิตมีความสงบอยู่  ปรากฏเห็นตาปะขาวคนหนึ่งขึ้นมาหาบนกุฏิ  นั่งพับเพียบเรียบร้อยแล้วยกมือไหว้ข้าพเจ้าอย่างสวยงาม  แล้วพูดขึ้นว่า  นี่ท่าน การปฏิบัติภาวนาของท่านขณะนี้มันตึงเกินไป  ถ้าทำความเพียรไม่มีการพักผ่อนหลับนอนอยู่อย่างนี้  ต่อไป ธาตุขันธ์ของท่านอาจเกิดความวิบัติถึงตายได้ ความตั้งใจของท่านก็จะไม่สำเร็จในชาตินี้ได้เลย  ฉะนั้น ขอให้ท่านมีการพักผ่อนหลับนอนให้แก่ธาตุขันธ์บ้าง  เมื่อสังขารร่างกายมีความสมบูรณ์ทรงตัวอยู่ได้ไม่มีการอ่อนเพลีย  การปฏิบัติภาวนาก็ให้ตั้งอยู่ในทางสายกลาง  เมื่อปฏิบัติอยู่ในทางสายกลางอย่างต่อเนื่อง  การปฏิบัติของท่านและความตั้งใจของท่านก็จะสิ้นสุดได้ในชาตินี้แน่นอน  พอพูดจบ ตาปะขาวก็ยกมือไหว้แล้วลงจากกุฏิไปทันที  จากนั้น จิตก็ถอนออกจากสมาธิ  ขณะนั้น คิดว่าเป็นตาปะขาวจริง ๆ  แต่ก็พิจารณาว่าตาปะขาวผู้ชายในถิ่นนี้ไม่มี  และไม่เคยพบเห็นตาปะขาวคนนี้มาก่อนเลย  จึงเข้าใจว่าเป็นนิมิตเกิดขึ้นจากจิตสงบ
   จากนั้น ก็ได้พิจารณาเรื่องของตาปะขาวมาเตือนว่า ให้เราลดหย่อนผ่อนความเพียรลง  ใช้ไม่ได้เลย  ตาปะขาวคนนั้นเป็นใครมาจากไหน  นี่คงเป็นมารมาหลอกลวงเราให้เสียความตั้งใจก็เป็นได้  หรือมารมีวิธีที่จะให้เราหลงกล เพื่อจะให้เราห่างไกลจากมรรคผลนิพพานอย่างนั้นหรือ  ความเพียรที่เราปฏิบัติอยู่ในขณะนี้ ก็ไม่มีวี่แววที่จะให้เราหลุดพ้นไปได้  ถ้าหากเราลดหย่อนผ่อนความเพียรลงไปเมื่อไร ก็จะเข้าข่ายในกลหลอกของมารทันที  นี่ต้องเป็นมารปลอมแปลงเป็น
ตาปะขาวมาหลอกลวงให้เราเผลอตัวแน่นอน  อย่ากระนั้นเลย จากนี้ไปเราจะทำความเพียรให้
เข้มแข็งมากขึ้นเพื่อเอาชนะมารตัวนี้ให้ได้  ไม่ทำตามคำมารที่มาขอร้องบอกกล่าวนี้เป็นเด็ดขาด  จากนั้น ก็รีบเร่งภาวนาอย่างเต็มที่  สติปัญญาก็พิจารณาในสัจธรรมแทบไม่มีการพักผ่อนเลย  ใช้สติปัญญาสั่งสอนอบรมใจตัวเองอยู่เสมอ ๆ  ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนแห่งใด ความเพียรก็มีต่อเนื่องกันอยู่ตลอดเวลา

สลบแล้วฟื้น
   จากนั้น การทำความเพียรก็หนักขึ้น  การเดินจงกรม นั่งสมาธิ ก็ทำกันเต็มที่  การอดนอนผ่อนอาหาร การสำรวมกายวาจาใจ ก็ต้องสังวรระวัง  ทั้งสติปัญญาก็แนบสนิทคิดพิจารณากายและใจไม่ลดละ  ในช่วงที่เร่งความเพียรอยู่นั่นเอง ธาตุขันธ์ก็เริ่มแสดงตัวทำท่าจะไปไม่รอด  เกิดมีอาการอ่อนเพลียลงอย่างกะทันหัน  การทรุดตัวลงในครั้งนี้ มีอาการไข้ป่ามาลาเรียอย่างหนัก และถูกจังหวะกับอดอาหารพอดี  จากนั้น ก็เกิดทุกขเวทนาขึ้นอย่างรุนแรง  เมื่อธาตุขันธ์เกิดความแปรปรวนหนักขึ้น ๆ  ความอ่อนเพลียอิดโรยเกิดขึ้นจนแทบจะหายใจไม่ได้เลย  คิดว่าตัวเองจะอยู่ได้ไม่กี่ชั่วโมงก็จะตายไป  ชีวิตเราคงจะได้อยู่เป็นวันสุดท้าย  นี้เราบวชมาเพิ่งได้ ๒ เดือน ก็จะมาถึงจุดจบกันในวันนี้หนอ  ไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้ว  มีแต่สังเกตว่าลมหายใจจะหมดไปเมื่อไรเท่านั้น  เมื่อปลงต่อความตายได้แล้ว ก็ไม่กลัวต่อความตายแม้แต่นิดเดียว  จึงคิดได้ว่า เราจะมานอนตายอยู่ที่กุฏินี้ไม่สมควรอย่างยิ่ง  ไหน ๆ เราก็จะตายอยู่แล้ว  เราจะไปตายอยู่ที่ทางเดินจงกรมนั้นดีกว่า  เมื่อคิดได้อย่างนั้นแล้ว ก็พยุงตัวเองเกาะฝากุฏิเพื่อจะยืน  ในขณะที่ลุกขึ้นยืน ยังไม่ทันได้ทรงตัวดี ก็หมดความรู้สึกล้มสลบอยู่ในกุฏินั้นเอง

เขียนตามคำบอกเล่าของหมู่คณะ
   ในช่วงนี้ จะเขียนตามคำบอกเล่าของหมู่คณะหลังจากการฟื้นขึ้นมาแล้ว  ในขณะที่ล้มลงไปนั้น มีเพื่อนอีกองค์หนึ่งอยู่กุฏิใกล้กัน ได้ยินเสียงดังขึ้นที่กุฏิอย่างแรงผิดปกติ  ต้องมีอะไรเกิดขึ้นที่กุฏิของท่านทูลแน่นอน  จึงได้เดินมาดู  ท่านองค์นี้ได้ถือสัจจะส่วนตัวคือไม่พูดกับใคร ๆ เรียกว่า มุขวัตร  และถือธุดงค์ข้อ เนสัชชิก ไม่มีการหลับนอนอีกด้วย  เมื่อท่านเดินมาถึงกุฏิ มองเห็นท่านทูลนอนผิดปกติ  จึงได้ขึ้นไปกุฏิแล้วกระดุกขาก็ไม่รู้ตัว  มองดูหน้าตาจึงคิดว่าท่านทูลได้ตายไปแล้ว  จากนั้น ก็ได้รีบลงจากกุฏิไปหาหมู่คณะ  ไปหาองค์ไหนก็พูดไม่ได้ กลัวเสียสัจจะ  ได้แต่แสดงความตกใจ และชี้ไม้ชี้มือแสดงท่าทางให้หมู่คณะดู  หมู่คณะก็ยังไม่รู้เรื่อง จึงต้องเขียนหนังสือบอกว่าท่านทูลตายแล้ว  หมู่คณะรู้เข้าก็รีบมาดู  แล้วก็พากันบีบนวดอย่างชุลมุนวุ่นวาย  ทุกองค์ที่มาเห็นก็เกิดความสลดใจไปตาม ๆ กัน  ทุกองค์ได้พูดว่า น่าเสียดาย  มีความอาลัยเป็นอย่างมาก  บางท่านได้พูดว่า เมื่ออาการถึงขนาดนี้แล้วคงไม่ฟื้นขึ้นมาอีก  เพราะตายมาแล้วหลายชั่วโมง  มีทางเดียวคือพากันไปหาฟืน ไปหาสถานที่เผาเท่านั้นเอง  อีกองค์หนึ่งพูดว่า อย่าพากันพูดเช่นนั้น  ให้พากันบีบนวดช่วยกันไปจนกว่าร่างกายจะเย็นและแข็งกระด้างทั้งหมดจึงหยุดกัน  เรื่องหาฟืนหาที่เผาเอาไว้ทีหลัง  ขอให้มาช่วยกันจนสุดความสามารถก่อนเถอะ

ฟื้นตัวขึ้นมาเพราะหมู่คณะช่วยเหลือ
   หมู่คณะเล่าให้ฟังว่า ตายไปตั้งแต่เที่ยงวันจนถึง ๔ โมงเย็น จึงฟื้นขึ้นมา  ถ้าหมู่คณะไม่ช่วยเหลือในช่วงนั้น  ข้าพเจ้าคงไม่ได้มานั่งเขียนธรรมะอื่น ๆ หรือเขียนประวัติส่วนตัวให้ท่านได้อ่านอยู่อย่างนี้  ในช่วงนั้น อายุได้ ๒๗ ปี  นี่ก็เป็นเดชะบุญที่มีผู้มาช่วยเหลือเอาชีวิตไว้ได้  ในขณะที่รู้สึกตัวขึ้นมาครั้งแรก  เพื่อนสังเกตดูสำลีที่ปลายจมูกว่ามีลมหายใจนิด ๆ ขึ้นมาแล้ว  จึงพากันตะโกนเรียนชื่อว่า ท่านทูล ๆ  ในขณะนั้น ข้าพเจ้าได้ยินเสียงแว่ว ๆ แล้วลืมตาขึ้นมาเล็กน้อย  แต่ก็ยังพูดไม่ได้  เพื่อนเอาน้ำหยดเข้าปากไป  จึงมีเสียงพูดได้เบา ๆ  แล้วรู้ตัวเองเป็นปกติคืนมา  แต่ก็นั่งโดยลำพังตัวเองไม่ได้ เพราะอ่อนเพลียมาก  การหายใจก็ไม่สะดวก  เพื่อน ๆ ก็ได้ประคองตัวให้ลุกขึ้นนั่ง  หายาหอมมากระตุ้นหัวใจกันพักใหญ่  พอพูดได้เพื่อนก็ถามสาเหตุที่เกิดขึ้นว่าเป็น
อย่างไร  จึงได้เล่าเรื่องความเป็นมาให้หมู่คณะฟังทั้งหมด  เมื่อหมู่คณะได้ฟังเรื่องการปรารภความเพียร และเรื่องว่าจะเดินลงไปตายในทางเดินจงกรม  ทุกองค์ก็ส่ายหน้าแล้วพูดว่า แหม ความเพียรของท่านทูลนี้เกินไป  ทั้งอดนอน ทั้งอดอาหาร ทั้งอาการไข้มาลาเรียก็กำเริบรุนแรง และอยู่ในอิริยาบถ ๓  ท่านจะเอาธาตุขันธ์อะไรไปต่อต้านได้  นี่ยังดีที่มีเพื่อนอยู่ใกล้  ไม่เช่นนั้น ก็จะได้เผากันทิ้งอย่างแน่นอน
   หมู่คณะก็เทศน์ให้ฟังว่า การทำความเพียรของท่านทูลในลักษณะนี้  ถึงว่าเราจะทำถูกแต่ก็เกินความพอดี คือตึงเกินไป  ถ้าเป็นสายพิณก็จะขาดทิ้งไป  ไม่มีใครเลยในหมู่คณะจะทำความเพียรอย่างนี้  ผมเคยมาสังเกตดูท่านทำความเพียรหลายครั้งหลายหน  ทั้งกลางวันและกลางคืน ตัวผมเองยอมรับว่าทำความเพียรอย่างท่านไม่ได้  ผมคิดว่าจะเตือนท่านหลายครั้งแล้ว  แต่ก็กลัวว่าจะเป็นมารขัดจังหวะในความตั้งใจ  เพราะทุกองค์ก็ตั้งใจหวังความหลุดพ้นด้วยกัน  นี้ยังดีที่มีหมู่คณะได้เห็น  ไม่เช่นนั้น ก็จะตายเน่าอยู่กุฏิองค์เดียว  นี่ท่านเพิ่งบวชได้เพียง ๒ เดือน  อายุก็ยังหนุ่ม  อนาคตในการบวชก็จะยังอยู่ในหมู่คณะไปอีกนาน  การภาวนาปฏิบัติก็มีทางจะทำให้ถึงมรรคผลนิพพานได้  แต่ต้องปฏิบัติอยู่ในทางสายกลาง  อันเป็นเส้นทางที่จะทำให้ถึงมรรคผล  แต่ถ้าหากท่านตายไปในช่วงนี้แล้ว มรรคผลนิพพานที่เราจะพึงได้พึงถึงในชาตินี้ ก็จะหมดสิทธิ์ทันที  ต่อไปนี้ ให้ท่านได้ผ่อนความเพียรลงบ้าง  อย่าบีบบังคับธาตุขันธ์เกินไป  ให้รู้จักความพอดีของธาตุขันธ์ของตัวเอง  การพักผ่อนหลับนอนก็เป็นสิ่งสำคัญ  อาหารก็เป็นสิ่งสำคัญ  เพราะธาตุขันธ์ยังต้องการอาหารประเภทนี้อยู่  ต้องให้อาหารทางกายบ้าง  ถ้าเรารู้จักประมาณตนเอง การปฏิบัติก็จะก้าวไปด้วยดี นี้คือทางสายกลาง อันจะทำให้เราถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้

หวนระลึกในคำเตือนของตาปะขาว
   เมื่อหมู่คณะอบรมสั่งสอนเรื่องปรารภความเพียรว่าให้เป็นมัชฌิมา ทางสายกลาง จึงได้ระลึกได้ในคำของตาปะขาว  แต่ก่อนคิดว่าเป็นมารจะมาตัดรอนในความเพียร มีความกล้าหาญมาก  มีความเด็ดเดี่ยวจริงจัง  มีแต่ความมุ่งหวังความหลุดพ้นอย่างเดียว  เมื่อมาพิจารณาตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็เป็นไปตามคำของตาปะขาวทุกประการ  จึงขอขอบคุณอาจารย์ทุก ๆ องค์ที่ให้ความช่วยเหลือเอาชีวิตของกระผมกลับคืนมาได้  บุญกุศลใดที่กระผมได้บำเพ็ญมาแล้วในอดีตและชาติปัจจุบันนี้ก็ดี  ขอบุญกุศลนั้นจงเป็นพลวปัจจัยให้ครูอาจารย์ทุก ๆ ท่านได้ประสบความสำเร็จในมรรคผลนิพพานทุกท่านเทอญ  จากนั้น ก็มารักษาอาการไข้ป่า  ก็อาศัยหมู่คณะดูแลรักษา  อาหารการฉันก็เพิ่มขึ้น เพื่อไม่ให้ร่างกายอ่อนเพลีย  เมื่อร่างกายอยู่ในความปกติแล้ว ก็เริ่มวางแผนในการปฏิบัติของตัวเองให้อยู่ในขั้นมัชฌิมาทางสายกลางต่อไป

ตั้งหลักปฏิบัติใหม่
   จากนั้น ก็มาพิจารณาการปฏิบัติที่ผ่านมา  มันเป็นเรื่องบังคับมะม่วงอ่อนให้สุก  เป็นวิธีใช้ความอยากมากเกินไป  จึงทำให้ธาตุขันธ์เกิดความวิบัติ  เหมือนกับเครื่องยนต์ทุกชนิด  ถ้าเร่งเครื่องแรงเกินกำลังมากไป ก็จะทำให้เครื่องนั้นพังไปได้  ฉะนั้น จึงให้ความเป็นธรรมแก่ธาตุขันธ์ให้มีการพักผ่อนหลับนอนบ้าง  ให้อาหารแก่ธาตุขันธ์พอทรงตัวอยู่ได้ไม่
อ่อนเพลียเกินไป  การเดินจงกรม การนั่งสมาธิ ก็ให้อยู่ในความพอดีของธาตุขันธ์  ไม่บังคับให้เดินให้นั่งจนธาตุขันธ์เกิดความวิบัติดังที่ผ่านมา  ให้รู้จักรักษาสุขภาพของตัวเอง  แต่สติปัญญาก็จะตั้งอยู่ให้เป็นหลักยืนตัว  และสำรวมใจในอุบายการทำสมาธิก็ไม่ลดละ  การใช้ปัญญาพิจารณาก็ไม่มีการท้อถอย  ทั้งสองวิธีนี้ให้เป็นสายโซ่เชื่อมโยงต่อเนื่องกันอยู่ตลอดเวลา  เป็นอันว่าการเริ่มภาวนาปฏิบัติในช่วงนี้จะต้องใช้สติปัญญาเป็นหลักสำคัญ  ส่วนการเดินจงกรม นั่งสมาธิ ก็ให้เป็นเพียงอิริยาบถเพื่อประกอบความเพียรเท่านั้น
   การใช้ปัญญาพิจารณาความไม่เที่ยง ต้องพิจารณาให้ต่อเนื่องกัน  เพราะความไม่เที่ยงก็เป็นสัจธรรมที่เปิดเผยอยู่ตลอดเวลา  เราต้องใช้ปัญญาพิจารณาให้รู้เห็นเป็นไปตามความเป็นจริง  เพราะความจริงที่เปลี่ยนแปลงของธาตุขันธ์ ก็เป็นไปอยู่ในตัวของมันเอง  ถ้าปัญญาไม่มีกำลัง ไม่ฉลาด ก็ไม่สามารถรู้เห็นตามความเป็นจริงได้  ฉะนั้น ปัญญาจึงเป็นแสงสว่างส่องทางให้ใจได้รู้เห็น  เหมือนกับการเดินทางในที่มืด  ถ้าไฟฉายไม่สว่างก็จะเกิดหลงทางได้ง่าย  หรือไฟฉายมีความสว่างดี แต่คนที่ถือไฟฉายนั้นตาบอด  การเดินทางก็ไปไม่ถึงไหนเช่นกัน  นี้ฉันใด ถ้าใจเราขาดปัญญาเป็นตัวนำแล้ว  ถึงของจริงจะมีอยู่ที่กายมีอยู่ที่ใจ  ก็ไม่สามารถรู้เห็นของจริงได้ เช่น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ  หรือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อันไปสัมผัสรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และอารมณ์ที่มีอยู่ในใจ  สิ่งเหล่านี้มีอยู่ในตัวเรา
ทั้งหมด และแสดงความไม่เที่ยงอยู่ตลอดเวลา แต่เราก็ไม่รู้ไม่เห็น นี่ก็เพราะเราขาดปัญญา พิจารณาให้แยบคายนั่นเอง  อาการทั้งหมดนี้ต้องกำหนดพิจารณาแต่ละอย่างและให้ใจได้รู้เห็นตามปัญญาทุกครั้ง  คำว่า อนิจจัง คือ ความไม่เที่ยงนั้น ก็จะเปิดเผยรู้เห็นภายในใจและเป็นไปตามความเป็นจริงทุกประการ  ทั้งหมดนี้มีอยู่ในตัวของเรา จะไปเอามาจากที่ไหน  คำว่า สัมมาทิฏฐิ คือ ปัญญารู้เห็นอย่างชอบธรรม  สัมมาสังกัปโป คือ ใช้ปัญญาดำริพิจารณาในสัจธรรมนั้นให้แยบคาย  ดำริพิจารณาตามความเป็นจริง เพื่อให้ใจได้รู้เห็นตามความเป็นจริงนั้น ๆ ให้ชัดเจน
   การใช้ปัญญาพิจารณา ความทุกข์  ก็ให้พิจารณาอยู่ที่กายและพิจารณาอยู่ที่ใจของ
ตนเอง  ความทุกข์เนื่องจากกายเป็นต้นเหตุ  สิ่งใดก่อให้เกิดทุกข์ขึ้น  หรือทุกข์มีอยู่ที่ใจ  เนื่องด้วยเหตุปัจจัยอะไร  ก็ต้องใช้ปัญญาเป็นเครื่องรอบรู้ในเหตุปัจจัยนั้น ๆ  ความทุกข์ทั้งหลายมีเหตุมาจากตัณหา  ตัวเราผู้สร้างเหตุขึ้นมาอย่างไร ผลก็ออกมาอย่างนั้น  ดังคำว่า เหตุดีผลดี เหตุชั่วผลชั่ว  ความทุกข์ที่ทุกคนเผชิญกันอยู่ในขณะนี้  ก็เนื่องจากตัวเองไม่ยอมรับความจริงของตัวเอง  เช่น ทำเหตุชั่วแต่ต้องการรับผลดี  เมื่อไม่ได้มาตามความต้องการก็เกิดทุกข์ขึ้นที่ใจ  ความทุกข์เป็นสิ่งที่ทุกคนไม่ปรารถนา  แต่ก็เป็นผลพลอยได้จากการกระทำของตัวเรา  ความทุกข์ที่มนุษย์และสัตว์ทุกประเภทได้รับอยู่ในขณะนี้ก็เนื่องมาจากความอยาก  ฉะนั้น ความอยากจึงเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์นานาประการ ดังเห็นกันอยู่ในที่ทั่วไป  ใครเกิดที่ไหนไม่สำคัญ  เพราะธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ เป็นสถานที่รวมทุกข์ทั้งปวง  ความทุกข์นี้จะมีอยู่เป็นคู่กับธาตุขันธ์ไปจนตลอดวันตาย  เมื่อมาเกิดใหม่ในชาติหน้า ก็จะมารับทุกข์เหมือนเราได้รับทุกข์กันในชาติปัจจุบันนี้เอง  ฉะนั้น ความทุกข์จึงมาจากความอยากเป็นต้นเหตุ  และมีตัณหาเป็นกำลังที่พาให้ไปก่อเหตุแห่งทุกข์นานาประการ  เมื่อดับตัณหา คือความอยาก ได้แล้ว  ความทุกข์จะมีมาจากที่ไหน  ในคำสอนของพระพุทธเจ้าตรัสว่า  ตัณหาเหมือนกับกงจักรหมุนไปสู่ความทุกข์อยู่ตลอดเวลา
   คำว่า อนัตตา เป็นสิ่งที่ทำให้เราผิดหวังมาตลอด  แต่เรายังไม่รู้ไม่เข้าใจ จึงได้หมายมั่นปั้นมือว่าสิ่งนี้เป็นเราและเป็นของของเรา  ไม่อยากให้พลัดพรากจากเราไป  มีอยู่อย่างไรก็อยากให้มีอยู่อย่างนั้น  คำว่าตายก็ไม่อยากมีแก่เรา  ตลอดลูกหลานเหลนก็ไม่อยากให้สูญหายตายจากกัน  อยากให้อยู่ในอ้อมอกของเราตลอดไป  แต่ความจริงก็หนีความจริงไปไม่ได้  ถึงมีความรักความหวงแหนสักปานใด  จำเป็นก็ต้องตายจากกันแน่นอน  เหมือนกับเราได้สร้างบ้านพักชั่วคราวในที่แห่งนั้น  เมื่อบ้านนั้นพังไป เราก็สร้างบ้านพักหลังใหม่  อยู่ไปชั่วคราวแล้วก็พังไปอีก  นี้ฉันใด ใจที่สร้างภพชาติขึ้นมาแล้ว ก็มีชีวิตอาศัยอยู่ในธาตุขันธ์นี้ไป  อีกไม่นานธาตุขันธ์ก็พังทลายไปตามหลักอนัตตา คือความสูญหายไปจากตัวตน  จะไม่มีคน ไม่มีสัตว์ อีกต่อไป
ร่างกายทุกส่วนก็จะแปรสภาพไปเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ ตามธาตุเดิมของมัน  ส่วนจิตใจก็ไปตามเหตุปัจจัยในตัวมันเอง  ส่วนการทำการพูด ผิดถูกชั่วดีที่กาย วาจา ใจ ได้กระทำมาแล้ว  ใจต้องรับผิดชอบทั้งหมด  กาย วาจา ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด  เพราะเป็นอนัตตา หายสาบสูญไปแล้ว  ไม่มีการรับผิดชอบแต่อย่างใด  ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นบุญหรือบาป  ใจจะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด  ฉะนั้น การอบรมใจและการสอนใจจึงเป็นสิ่งสำคัญ  อุบายที่จะมาอบรมใจได้ ก็เนื่องด้วยปัญญาที่มีความฉลาดรอบรู้เท่านั้น  ดังบาลีกล่าวไว้ว่า จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํ  จิตนี้เมื่อใช้ปัญญาอบรมบ่อย ๆ สอนจิตบ่อย ๆ จิตก็จะเริ่มเกิดความฉลาดและความสุขเป็นผลตอบแทน  หรือ จิตฺตํ รกฺเขถ เมธาวี  ผู้มีปัญญาดีเท่านั้น จึงจะรักษาจิตได้  ฉะนั้น การอบรมจิต การสอนจิต การฝึกจิต การรักษาจิต จึงมีอุบายปัญญาเป็นหลักที่สำคัญ

ออฟไลน์ เลดี้เบื๊อก

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นไม้เล็กพริ้วไหวดั่งสายลม
  • *
  • กระทู้: 165
  • พลังกัลยาณมิตร 119
    • ดูรายละเอียด
Re: อัตโนประวัติ หลวงพ่อทูล ขิปฺปญฺโญ
« ตอบกลับ #8 เมื่อ: กันยายน 08, 2011, 02:18:22 pm »
นิมิตเห็นทางเดินจงกรมขวางหน้าอยู่ ๓ เส้น

   ในคืนหนึ่ง ขณะกำหนดจิตให้ลงสู่ความสงบในสมาธิ  เกิดนิมิตเห็นทางเดินจงกรมขวางหน้าอยู่ ๓ เส้น  ทางเดินจงกรมเส้นที่ ๓ สุดท้ายมีความเตียนสะอาดราบรื่นดี  เหมือนกับได้เดินจงกรมทุกวัน  แล้วมีเสียงบอกมาว่า ให้กลับออกมาสู่ทางเดินจงกรมสายกลางเสีย  ข้าพเจ้าก็กลับเข้ามาเดินจงกรมอยู่ในทางสายกลางทันที  ในขณะนั้น ปรากฏว่าทางเดินจงกรมนั้น ได้ขยายออกอย่างกว้างขวาง เท่ากันกับทางรถยนต์ยาวตรงมองดูสุดสายตา  ขณะนั้น มีม้าขาวใหญ่ตัวหนึ่งสวยงามมาก  ใส่บังเหียนใส่อานพร้อมเสร็จ ได้มายืนอยู่เทียมข้างของข้าพเจ้า  แล้วมีเสียงบอกว่า จงขึ้นขี่ม้าตัวนี้เสีย ข้าพเจ้าก็ขึ้นขี่ม้าทันที  มีเสียงบอกว่า ให้ขี่ม้าไปตามเส้นทางสายนี้  นี้คือเส้นทางที่จะให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์  จากนั้น ม้าก็พาข้าพเจ้าวิ่งไปตามทางนั้นอย่างรวดเร็ว  เมื่อม้าพาข้าพเจ้าวิ่งไปใกล้จะถึงจุดหมายปลายทาง  ก็มองเห็นที่สุดของเส้นทางนั้นอย่างชัดเจน  จากนั้น ม้าก็พาข้าพเจ้าเหาะลอยขึ้นบนอากาศเหมือนกับจรวดที่ทะยานขึ้นสู่อากาศนั่นเอง  ม้าก็พาข้าพเจ้าเหาะลอยขึ้นสูงเหนือก้อนเมฆ  จนมองลงมาดูโลกมนุษย์ไม่เห็นอะไรเลย
   เมื่อม้าพาข้าพเจ้าลอยอยู่บนอากาศได้ที่แล้ว  ก็มีเสียงบอกมาว่า ให้ขี่ม้ารอบจักรวาลเสีย  ม้าก็พาข้าพเจ้าลอยรอบจักรวาลอย่างรวดเร็ว  เมื่อรอบจักรวาลแล้ว ก็มีเสียงบอกว่า ให้พาม้าลงไปสู่โลกมนุษย์เสีย  ม้าก็พาข้าพเจ้าลอยลงมาสู่โลกมนุษย์อีก  พอใกล้จะถึงพื้นดิน ก็มีเสียงบอกว่า ให้ขี่ม้าสำรวจดูโลกมนุษย์นี้ให้ทั่วถึง  จากนั้น ม้าก็พาข้าพเจ้าเหาะลอยไป สูงจากพื้นดินประมาณ ๑ เส้น  มีต้นไม้ใหญ่นานาชนิดอย่างหนาแน่น  ในขณะที่ม้าพาข้าพเจ้าเหาะลอยไปในที่ไหน
ต้นไม้ใหญ่ทั้งหลายนั้น ก็แยกช่องทางให้ม้าได้เหาะลอยไปอย่างรวดเร็ว  เหาะลอยไปมาในโลกมนุษย์นี้หลายรอบ  ได้รู้เห็นความเป็นอยู่ของโลกมนุษย์นี้อย่างทั่วถึง  แล้วมีเสียงบอกว่า เมื่อรู้เห็นโลกมนุษย์นี้ทั่วถึงแล้ว ให้พาม้าลงสู่พื้นดินเสีย  จากนั้น ม้าก็พาข้าพเจ้าลอยลงสู่พื้นดิน  พอเท้าม้าแตะกับพื้นดินเท่านั้น จิตก็ถอนออกมาจากสมาธิพอดี
   จากนั้น ก็ใช้ปัญญาพิจารณาเรื่องนิมิตที่เกิดขึ้น  เริ่มต้นจากเห็นทางเดินจงกรม ๓ เส้น  เส้นที่ ๑ มีหญ้าเกิดขึ้นในทางจงกรมหนามาก  เส้นที่ ๒ มีหญ้าที่ทางเดินจงกรมน้อย  เส้นที่ ๓ ไม่มีหญ้าแม้แต่เส้นเดียว  ทางนั้นเตียนทั้งหมด และข้าพเจ้าได้เดินจงกรมอยู่ในทางเส้นที่ ๓ นี้ประจำ  และพิจารณาได้ความว่า ขณะนี้เราภาวนาปฏิบัติอยู่ในขั้นอุกฤษฏ์เต็มที่  ถ้าเป็นสายพิณก็ตึงจวนจะขาดอยู่แล้ว  การกลับเข้ามาทางเดินจงกรมสายกลางแล้วทางขยายออกไป นั้นคือ มัชฌิมาปฏิปทา  ม้าขาวที่ได้ขี่วิ่งตามเส้นทางนั้น คือ ปัญญา  สิ่งทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้น ล้วนแล้วแต่มีความหมายในอุบายการภาวนาปฏิบัติทั้งหมด  เรื่องนิมิตนั้นจะเป็นนิมิตที่เกิดขึ้นจากการทำสมาธิ หรือ สุบินนิมิตที่เกิดขึ้นจากการนอนหลับไปก็ตาม  ถ้าเราใช้ปัญญาพิจารณาตีความหมายในนิมิตนั้น ๆ ให้มีเหตุมีผล  และทำใจให้เกิดความแยบคายในนิมิตนั้น ๆ ได้ตามเหตุการณ์ นิมิตนั้นก็จะเป็นอุบายปัญญาได้เป็นอย่างดี ก็จะทำให้มีกำลังใจใน
การปฏิบัติภาวนามากทีเดียว  ถ้าปัญญาไม่ดีไม่ฉลาดและขาดเหตุผล  ถึงจะมีนิมิตเกิดขึ้นเป็นลักษณะอย่างไร เช่น เห็นร่างกายตัวเองมีแต่ของเน่าเปื่อยสกปรกโสโครก หรือเห็นโครงกระดูกไปทั้งหมดของร่างกายก็ตาม เห็นแล้วก็เฉย ๆ ไม่มีปัญญาพิจารณาอะไรเลย นิมิตนั้นก็ไม่มีประโยชน์แต่อย่างใด
   เมื่อเห็นนิมิตที่เป็นลางบอกเหตุดังนี้แล้ว  ก็เริ่มปฏิบัติภาวนาปรับตัวเองให้อยู่ในมัชฌิมา คือทางสายกลาง ว่าจะปฏิบัติอย่างไร จึงจะมั่นใจว่า ตัวเองอยู่ในทางสายกลางที่ถูกต้อง  ก็มาใช้ปัญญาพิจารณาเรื่องพิณ ๓ สาย  ถ้าหย่อนยานไปก็ไม่มีเสียง หรือมีเสียงก็ไม่ไพเราะ  ถ้าตึงเกินไปก็จะขาดเสียเปล่า  ถ้าให้ตึงพอดีนั่นแหละ จะทำให้เสียงพิณไพเราะได้ดีมาก  จากนั้น ก็มาพิจารณาในอุบายการปฏิบัติของตนที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ก็เห็นว่าตึงเกินไป อาจทำให้ร่างกายวิบัติหรือเสียชีวิตไปได้  จากนั้น ก็ได้วางแผนในการปฏิบัติเสียใหม่ คือการพักผ่อนหลับนอนพอประมาณ  อาหารก็ฉันให้พอดีกับธาตุขันธ์ต้องการ  ทรงตัวอยู่ได้ไม่ให้เหนื่อยจนเกินไป  การเดินจงกรม การนั่งสมาธิ ก็ไม่บีบบังคับร่างกายให้มากนัก  แต่สติปัญญาให้คงที่ ไม่ว่าเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิ หรือเวลาพักผ่อนในอิริยาบถต่าง ๆ  สติปัญญาจะทำงานต่อเนื่องกัน และมีความเข้าใจอย่างชัดเจนว่า การทำความเพียรด้วยอุบายใดก็ตาม  จะต้องมีสติปัญญาเป็นหลักตัวยืน  ส่วนอิริยาบถทางกาย คือ ยืน เดิน นั่ง นอน นั้น  เป็นเพียงอุบายส่วนประกอบของสติปัญญาเท่านั้น  หรือเป็นส่วนประกอบความเพียรทางกาย  ส่วนความเพียรทางใจ คือใช้สติปัญญาพิจารณาให้รอบรู้อยู่ในสัจธรรม  นั่นคือความเพียรที่แท้จริง  เมื่อได้วางฐานของการปฏิบัติไว้ดีแล้ว แนวทางปฏิบัติก็ตรงต่อมัชฌิมา  การภาวนาปฏิบัติก็ไม่ตึงเครียดดังที่เคยเป็นมา  สติปัญญาพิจารณาในธรรมหมวดใดหรือสัจธรรมอะไร  รู้สึกว่าเกิดความ
แยบคายภายในใจได้ง่าย  จึงมีความมั่นใจในตัวเองขึ้นว่า มัชฌิมาปฏิปทา คือทางสายกลางนั้นอยู่ตรงนี้
   เมื่อเข้าพรรษาย่างเข้าเดือนที่ ๓  การปฏิบัติภาวนาก็ยังคงเส้นคงวาในอุบายเดิม  ผลของการปฏิบัติก็เริ่มปรากฏขึ้น  เกิดกำลังใจและเชื่อมั่นในตัวเองสูง  มีความมั่นใจในตัวเองว่า ถ้าเราภาวนาปฏิบัติอยู่ในระดับนี้  เราก็จะได้รู้จริงเห็นจริงตามหลักความเป็นจริงแน่นอน  จะเร็วหรือช้านั้นขึ้นอยู่กับเราผู้เดินทาง  ถ้าเราเดินช้าก็ต้องใช้เวลาหลายวันหลายเดือน  ถ้าเราเดินเร็ว ไม่มีอุปสรรคที่จะทำให้เกิดความลืมตัว ก็จะทำให้ถึงจุดหมายปลายทางได้เร็วขึ้น  ถึงอย่างไรก็ตาม ยังมีความมั่นใจในตัวเองและแนวทางการปฏิบัติของตัวเองว่า ชาตินี้จะเป็นชาติที่เกิดสุดท้ายของเราแน่นอน  ถ้าผ่านได้ในวันปวารณาออกพรรษา ก็นับว่าบุญวาสนาบารมีของเราพร้อมแล้ว  ถ้ายังผ่านไม่ได้ก็แสดงว่าบารมีอินทรีย์ของเรายังอ่อน  จำเป็นก็ต้องตั้งใจในการสร้างอินทรีย์ให้แก่กล้ามากขึ้น  การสำรวมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ต้องระมัดระวังฝึกทำใจให้เป็นกลางอยู่เสมอ  ถึงจะได้รับสัมผัส รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ  ก็มีสติปัญญารักษาใจไม่ให้เอนเอียง  และใช้ปัญญาพิจารณาลงสู่ไตรลักษณ์ทุกครั้งไป  เมื่อใกล้วันปวารณาออกพรรษา การภาวนาปฏิบัติก็ยังยืนหยัดอยู่ในความเข้มแข็ง ว่าจะไม่ยอมเป็นทาสแห่งความเกียจคร้านให้เข้ามาหลอกใจได้เลย  เราจะอยู่ที่ไหน ๆ ก็จะใช้สติปัญญาพิจารณาในสัจธรรมให้ต่อเนื่องกัน  เมื่อถึงวันปวารณาออกพรรษาจริง ๆ  การภาวนาปฏิบัติก็ไม่เป็นดังที่เราได้ตั้งใจเอาไว้  เมื่อรับกฐินเสร็จแล้ว ก็ชวนเพื่อนอีกองค์หนึ่งออกธุดงค์ต่อไป
   ในช่วงที่ออกไปภาวนาปฏิบัติในที่ต่าง ๆ นั้น  ในคืนหนึ่ง นิมิตเห็นคนเป็นจำนวนมากมายหลายล้านคน  มีทั้งผู้หญิง ผู้ชาย เฒ่าแก่ ปานกลาง และหนุ่มสาว  มีทั้งเด็กเกาะกันเป็นหมู่ ๆ เล่นกันอยู่อย่างสนุกสนาน  ผู้ใหญ่ทั้งหญิงและชายก็พากันเต้นรำขับร้องด้วยวิธีต่าง ๆ  ลักษณะอาการของทุกคนอยู่ในความมึนเมาด้วยกันทั้งนั้น  คนทั้งหมดนั้นจึงไม่มีความละอายต่อกันและกัน  มีทั้งชายกอดจูบหญิงและมีทั้งหญิงกอดจูบชาย ฟ้อนรำเกาะเกี่ยวกันเป็นหมู่ ๆ หนุ่มสาวก็ฟ้อนรำขับร้องไปตามหนุ่มสาว มั่วสุมกันในทางโลกีย์ไปหมด  ไม่รู้ว่าลูกใครหลานใคร  ผัวใครเมียใคร  ในกิริยาที่ทำต่อกันเหมือนกับสัตว์ดิรัจฉาน  ชายแก่หัวขาวจวนจะเข้าโลงอยู่แล้ว ก็ยังมาเต้นรำเกาะเกี่ยวกันกับหญิงสาว ๆ  หมู่ขี้เมาเหล้ายาต่าง ๆ ก็ฆ่ากันตีกันด้วยอาวุธนานาชนิด  มีทั้งหัวแตกขาหักล้มตายกันไปเป็นจำนวนมาก  ในขณะนั้น ก็มีเสียงประกาศบอกมาว่า  ถ้าใครต้องการไปสู่บรมสุขสถานที่สิ้นทุกข์ในสังสารวัฏ จงพากันไปตามเส้นทางสายนี้เถิด  เมื่อข้าพเจ้ามองไปก็เห็นเส้นทางสายใหญ่เท่ากันกับทางรถยนต์  ปากทางที่มีเสียงประกาศอยู่นั้น มีซุ้มประตูขนาดใหญ่  และมีป้ายติดอยู่ตรงกลางประตูอ่านได้ชัดเจน  ในป้ายเขียนบอกว่าใครมีความต้องการพ้นจากทุกข์พบสุขนิรันดร์  จงพากันไปตามเส้นทางสายนี้เถิด  และเสียงประกาศเป็นระยะต่อเนื่องกัน  บางคนก็ยืนอ่านป้ายแล้วเดินหนีไป  ไม่มีความสนใจในเสียงประกาศนั้นเลย  บางคนก็เดินตามเส้นทางไปได้ ๒ - ๓ วา แล้วหันหน้ากลับมาดูหมู่กำลังฟ้อนรำ แล้วก็วิ่งกลับคืนมาเต้นรำขับร้องกับหมู่ต่อไป  บางคนก็เดินตามเส้นทางไปได้ประมาณ ๑ เส้น  เหลียวกลับคืนเห็นเพื่อน ๆ เล่นกันอย่าง
สนุกสนาน ก็รีบวิ่งกลับคืนมาเล่นกับหมู่อีกต่อไป
   เมื่อข้าพเจ้าได้ยินเสียงประกาศนี้ และอ่านป้ายที่ประตูแล้ว  เกิดกำลังใจอยากจะไปตามเส้นทางนี้เป็นอย่างมาก  แต่ก็ไม่สามารถที่จะผ่านฝูงชนนี้ไปได้  จึงหาวิธีเดินอ้อมฝูงชนนั้นไป แล้วเดินโค้งเข้ามาหาเส้นทางเดิม  เมื่อมาถึงเส้นทางแล้วก็หาช่องทางที่จะขึ้นไปสู่ถนนใหญ่  มองไปเห็นเส้นทางเล็ก ๆ เส้นหนึ่งพอเดินได้คนเดียว  เมื่อดูเส้นทางก็เห็นรอยคนเดินทางไปก่อนแล้ว  มีทั้งรอยเก่ารอยใหม่ แต่ไม่ทราบว่าเป็นรอยเท้าของใคร  ในขณะนั้นก็มีเสียงประกาศบอกมาว่า  นี่คือเส้นทางที่พระอาจารย์มั่นได้พาหมู่คณะไป  ท่านจงเดินตามเส้นทางนี้ไปเถิด  ข้าพเจ้าตั้งใจเป็นอย่างยิ่งว่าจะเดินตามทางสายนี้  จากนั้น ก็รีบเดินขึ้นไปด้วยความตั้งใจ เพื่อจะให้ถึงทางใหญ่ที่อยู่ข้างหน้า  เพราะทางใหญ่นั้นยกคันสูงประมาณ ๘ เมตร  มีป่าไผ่ขนาดใหญ่หนาแน่น  เมื่อเดินขึ้นไปได้ประมาณ ๑ วา  ปรากฏว่า ดินที่เหยียบขึ้นไปนั้นอ่อนยุ่ยไปหมด  เหยียบที่ไหนดินพังที่นั่น  แต่มือก็ยังกำต้นไผ่อย่างเหนียวแน่น  เท้าก็ยันกอไผ่เอาไว้  แต่กอไผ่ก็ได้โค่นลงไปด้วยกำลังเท้าที่ยันนั้นเป็นกอ ๆ ไป  ทำให้ต้องใช้ความพยายามอย่างเต็มที่  ในที่สุดก็ขึ้นไปถึงเส้นทางใหญ่ได้ตามความตั้งใจ  เมื่อมองลงมาดูตามเส้นทางที่ขึ้นมานั้น  เห็นกอไผ่ขนาดใหญ่โค่นลงไปหลายกอ  และยังเห็นกอไผ่เก่า ๆ ที่โค่นลงไปแล้วเป็นจำนวนมาก  จึงได้รู้ว่าครูอาจารย์ที่ไปก่อนเรา  ท่านก็ใช้เท้ายันกอไผ่นี้โค่นลงไปเหมือนกัน  จากนั้น ก็มองดูปากทางที่มีฝูงชนแออัดกันอยู่ ใช้มือกวักเรียกเพื่อให้เขาเดินทางมากับเรา  บางคนก็เดินมาได้ไม่กี่วา  เมื่อนึกถึงความสนุกในการเต้นรำขับร้องกับหมู่ก็รีบกลับคืนไป  จึงมานึกได้ว่าเขายังลืมตัวมั่วสุมในความสนุกในโลกนี้อยู่  ก็ปล่อยตามเรื่องของเขาไป  ไฉนเราจะมาคอยเขาให้เสียเวลา  หน้าที่ของเรามีแต่จะเดินทางนี้ไปให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ตามความตั้งใจเอาไว้  พอก้าวขาออกไปเท่านั้น  จิตก็ถอนออกจากสมาธิ  แล้วใช้ปัญญาพิจารณาดูตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในนิมิตนั้น ๆ ว่า  โลกมนุษย์เราเป็นอยู่อย่างนี้มาแต่กาลไหน ๆ  ทุกคนก็มีความหลงใหลซึ่งกันและกัน  ผูกพันกันด้วยความรัก ความใคร่ ในกามคุณ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ  หลงใหลในความสุขของโลกีย์ ยากที่จะออกจากโลกนี้ไปได้  และจะพากันหลงงมงายในโลกนี้ตลอดไปไม่มีที่สิ้นสุด  จะมองเห็นกงจักรเป็นดอกบัว  เห็นชั่วเป็นดีเรื่อยไป
   การได้เห็นนิมิตเกิดขึ้นในลักษณะอย่างนี้ จึงเกิดมีกำลังใจในการปฏิบัติมากขึ้น  ใช้นิมิตนี้เป็นสื่อในการใช้ปัญญาพิจารณาดูความเป็นจริงของโลกว่า  โลกมนุษย์นี้มีความเป็นอยู่อย่างนี้มาแต่กาลไหน ๆ  ตัวเราเองก็เคยได้อยู่กับโลกนี้มาแล้ว  จากนี้ไปเราจะไม่หลงใหลในลักษณะอย่างนี้อีก  ใครเข้าใจว่าโลกนี้เป็นสถานที่ที่น่าอยู่ก็ให้เขาอยู่ต่อไป  จะให้คนทั้งโลกรู้เห็นทุกข์โทษภัยที่มีในโลกนี้พร้อมกันทั้งหมดนั้นไม่ได้  ใครมีสติปัญญาที่ฉลาด ก็สามารถรู้เห็นความจริงของโลกนี้ได้อย่างฉับไว  ไม่มีสิ่งใดมาปิดบัง ดังคำว่า นตฺถิ โลเก รโหนาม  ความลี้ลับไม่มีในโลก  สำหรับผู้มีปัญญาดีเท่านั้น  จึงจะรู้เห็นโลกนี้ได้อย่างชัดเจนว่า ความเป็นอยู่ของโลกเป็นมาอย่างนี้ และจะเป็นอยู่อย่างนี้ตลอดไป  ใครมาเกิดในโลกนี้ก็จะต้องมาพบเห็นอย่างนี้  ใครจะลอยตามกระแสของโลกนี้ไป  หรือใครจะทวนกระแสโลกนี้ไปได้  ก็ขึ้นอยู่กับสติปัญญาแต่ละบุคคล  ถ้าผู้มีปัญญาดีก็ผ่านโลกนี้ไปได้  ถ้ามีปัญญาระดับกลางก็พอทรงตัวอยู่ได้  แต่ถ้าผู้มีปัญญาทราม ก็จะหลงระเริงลอยตามกระแสของโลกนี้ต่อไป  นี้เราจะมีความยินดีกับโลกนี้ต่อไปอีกหรือ  เราเกิดมาได้วัตถุสมบัติของโลกอะไรบ้าง  และความสุขของโลกที่แท้จริงอยู่ที่ไหน  ความเข้าใจว่ากามคุณเป็นความสุข ที่แท้จริงหาใช่ไม่  เพราะกามคุณเป็นเหตุให้เกิดทุกข์โดยตรง  กามคุณเปรียบเสมือนน้ำตาลเคลือบยาพิษ  กามคุณเปรียบเสมือนเหยื่อหุ้มเบ็ด  ลักษณะของสัตว์โลกทั้งหลายมาหลงใหลติดอยู่ในกามคุณ  การแสดงออกมาทางกายเขาทำ
อย่างไร  การแสดงออกมาทางวาจาเขาพูดอย่างไร  ใจที่หลงใหลในกามคุณเป็นอย่างไร  ใคร ๆ ก็คงรู้จักเรื่องของส่วนตัวดี  นี้เราคนหนึ่งที่มีความเป็นอยู่ในลักษณะนี้มาแล้ว  จากนี้ไป เราจะใช้สติปัญญาพิจารณาให้รู้เห็นในโทษ ทุกข์ ภัย ที่เกิดจากกามคุณให้มาก  เพื่อป้องกันความหลงใหลงมงายเข้าใจผิดในกามคุณให้หมดไปจากใจนั้นแล จึงได้ชื่อว่าเป็นนักภาวนาปฏิบัติอย่างแท้จริง
   เมื่อออกจากที่นั้นแล้วก็ธุดงค์ไปเรื่อย ๆ  ไปถึงบ้านโคกตังแคน อำเภอสุวรรณคูหา  ที่นี่เป็นวัดที่หลวงปู่มหาบุญมีเคยจำพรรษามาแล้ว ๑ ปี  มีกุฏิมุงด้วยหญ้าคาเป็นกระต๊อบอยู่หลายหลัง  จึงได้พักภาวนาปฏิบัติอยู่ที่นั่น  เมื่อปฏิบัติมาได้ประมาณ ๑๐ วัน ก็เกิดนิมิตขึ้นมาอีก  ในคืนนั้น ขณะทำสมาธิมีความสงบแล้วเกิดนิมิตขึ้น  ปรากฏเห็นเป็นจักรเย็บผ้าคันหนึ่งเย็บผ้าได้เอง  ไม่มีคนอยู่ที่นั่น  เห็นผ้าที่เย็บเสร็จแล้วไหลออกมาเป็นตัว ๆ  จากนั้น จิตก็ถอนออกจากสมาธิมา  ปรากฏว่าจิตมีลักษณะหวิว ๆ เกิดขึ้น  ความคิดความรู้ในแง่ต่าง ๆ ไม่ทราบว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร  ไม่ว่าทางโลกหรือทางธรรม  จะรู้ขึ้นอย่างพิสดารอย่างกว้างขวาง  เหมือนกับว่าใครจะถามปัญหาอะไรก็จะตอบปัญหานั้นได้ทั้งหมด  ไม่ว่าปัญหาในทางโลกหรือทางธรรม  จากนั้น ก็ไปบังคับให้เพื่อน ๆ ที่ไปด้วยกันถามปัญหา  เมื่อเพื่อนถามปัญหานิดเดียวก็ตอบปัญหานั้นไปอย่างยืดยาว  จนเพื่อนเกิดความรำคาญ  เมื่อฉันอาหารเสร็จ เพื่อนก็หนีจากกุฏิเข้าป่าไปเสีย  ความอยากพูดธรรมะให้ใคร ๆ ฟัง และอยากตอบปัญหาที่คนถามก็ฟุ้งอยู่ตลอด จนภาวนาปฏิบัติไม่ได้เลย  แต่ละวันต้องเดินรอบวัดเพื่อหาคนมาฟังเทศน์  ในวันหนึ่ง มีโยมผู้ชายเอาน้ำอ้อยมาถวาย  จากนั้น ก็อธิบายธรรมะให้ฟัง  ไม่รู้ว่าธรรมะที่นำมาอธิบายนั้นเกิดจากอะไร  คำพูดนั้นไหลติดต่อกันเป็นเรื่องเป็นราวต่อเนื่องกันตลอด  เขาจะลากลับบ้านก็ไม่ให้เขากลับ  ให้นั่งฟังเทศน์ต่อไปจนค่ำมืดจึงปล่อยเขาไป  จากนั้น เขาก็ไม่มาให้เห็นหน้าอีกเลย  คงจะเข็ดหลาบต่อพระบ้าน้ำลายนี้ไปอีกนาน
   จากนั้น มาถึงวันพระ ๘ ค่ำ  มีคนออกมาส่งอาหารประมาณ ๑๐ กว่าคน  เมื่อฉันเสร็จแล้ว มีโยมคนหนึ่งพูดขึ้นว่า  หมู่กระผมไม่ได้ฟังเทศน์จากครูบาอาจารย์มานานแล้ว  จึงขออาราธนาท่านครูบาเทศน์ให้หมู่กระผมฟังด้วย  ครูบาที่นั่งเป็นหัวหน้าพูดกับโยมว่า  นี่โยม อาตมาทั้งสองเพิ่งบวชใหม่  เทศน์ไม่เป็นหรอก  ให้พากันกลับบ้านเสีย  ไปหาฟังเทศน์องค์อื่นก็แล้วกัน  เมื่อโยมกลับบ้านไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงได้ถามกับเพื่อนว่า ทำไมครูบาไม่เทศน์ให้โยมฟัง  ครูบาตอบว่า ผมเทศน์ไม่เป็น  ข้าพเจ้าพูดว่า ถ้าเทศน์ไม่เป็น ทำไมไม่บอกให้ผมเทศน์เล่า  ครูบาว่า ผมลืมไป ๆ  คอยวันพระหน้าก็แล้วกัน  จากนั้นมาอีก ๗ วัน ก็ถึงวันพระ ๑๕ ค่ำ  ก็มีคนไปส่งอาหารเท่าเดิม  เมื่อฉันเสร็จแล้ว ครูบาพูดว่า โยม อยากฟังเทศน์ไหม  ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าอยากฟัง  ครูบาพูดว่า ถ้าอยากฟังก็นิมนต์ให้ครูบาทูลท่านเทศน์ให้ฟังก็แล้วกัน  จากนั้น โยมก็อาราธนาธรรม  ข้าพเจ้าก็เริ่มแสดงธรรมในหัวข้อว่าด้วย กุสลาธัมมา อกุลสาธัมมา  แล้วก็ขยายความออกไปอย่างพิสดารและกว้างขวาง  ไม่ทราบว่าตัวเองพูดไปได้อย่างไร  คำพูดนั้นจะไหลต่อเนื่องไม่ขาดวรรคตอน  เทศน์นานประมาณ ๑ ชั่วโมง จึงยุติลง  จากนั้น โยมผู้ชายก็คลานเข้ามาหาแล้วจับเอาฝ่าเท้าของข้าพเจ้าใส่หัวแล้วพูดว่า  ผมเคยฟังเทศน์ครูบาอาจารย์มาหลายองค์  แต่ละองค์แสดงธรรมไม่ได้ดีอย่างนี้เลย  นี่ครูบาเพิ่งบวชมาเพียง ๑ พรรษา ยังแสดงธรรมได้ดีขนาดนี้  เมื่อครูบาบวชต่อไปได้หลายปี  คงจะยิ่งแสดงธรรมไม่มีใครเทียบได้  ทุกคนที่มาก็ต้องยอมรับว่าครูบาทูลแสดงธรรมได้ดีมาก  แม้ครูบาที่ไปด้วยกันก็ยอมรับว่าเทศน์ดีเป็นพิเศษ  ไม่เคยได้ยินครูบาอาจารย์องค์ใดเทศน์กุสลา อกุสลา ได้ดีขนาดนี้  จากนั้น ก็เลิกลากันไป
   เรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับตัวเองนี้ ก็รู้อยู่ว่าไม่ถูกต้อง  แต่ก็อดไม่ได้ มีแต่อยากเทศน์ให้คนฟัง  อยากตอบปัญหาที่คนถาม  เมื่อเทศน์ให้คนฟังแล้ว แทนที่จะหยุดไป แต่กลับเพิ่มความอยากเทศน์มากขึ้น  ในขณะนั้น ก็เข้าไปในห้องส้วมเพื่อขับถ่าย  หลุมส้วมนั้นขุดลึกประมาณ ๑ เมตร  ใช้ไม้กระดานเหยียบข้างละ ๑ แผ่นเท่านั้น  ขณะที่นั่งถ่ายอยู่นั้น ได้มองเห็นหนอนอยู่ในหลุมส้วมเป็นจำนวนมาก  ก็ใช้ปัญญาพิจารณาดูในหมู่หนอนว่า  หนอนที่อยู่ในหลุมส้วมทั้งหมดนี้ ไม่รู้ตัวเลยว่าตัวเองกินของสกปรกเป็นอาหาร  เข้าใจว่าเป็นของดีมีคุณค่า  จึงพากันกินมูตร กินคูถ ตลอดทั้งวันทั้งคืน  นี่คือหมู่หนอนที่ลืมตัว  เห็นของชั่วว่าเป็นของดี  เห็นของเหม็นว่าเป็นของหอม  นี้ฉันใด ใจเราก็กำลังหลงลืมตัวว่า ตัวเองมีความรู้ดีอย่างนี้ มีความสามารถตอบปัญหาได้ทุกอย่าง  เกิดความลืมตัวว่าตัวเองเก่งกว่าใคร ๆ  ความรู้ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้  ก็เหมือนกันกับหนอนที่หลงผิด  กินมูตรคูถเป็นอาหารนั่นเอง  ในขณะนั้น จิตก็สงบวูบลง  ความรู้ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนั้น ก็หายไปเป็นปลิดทิ้ง  จะนึกหาความรู้อะไรไม่ได้เลย  นี้ก็เป็นอุบายในการแก้ปัญหาของตัวเองวิธีหนึ่ง  ถ้าไม่ได้หมู่หนอนในหลุมส้วมมาเป็นอุบายสอนใจ  ก็คงเป็นบัวน้ำลายไปอีกนานทีเดียว  ฉะนั้น อุบายปัญญาที่จะนำมาแก้ไขปัญหาตัวเอง จึงมีอยู่ทุกสถานที่  การใช้ปัญญาพิจารณาก็ไม่ต้องจำกัดว่า ต้องเดินจงกรมหรือทำสมาธิให้จิตสงบเสียก่อน  จะอยู่ทีไหน อย่างไร ก็ใช้ปัญญาพิจารณาได้  แม้อยู่ในห้องส้วมก็ใช้เป็นอุบายภาวนาได้เช่นกัน  ฉะนั้น การแก้ปัญหาต้องรู้จักต้นเหตุของปัญหา  จึงจะใช้อุบายปัญญามาหักล้างปัญหานั้นให้ถูกจุดได้  ปัญหานั้นก็จะหลุดออกจากใจได้ง่ายทีเดียว  ไม่ว่าปัญหานั้นจะเป็นทางโลกหรือทางธรรม จะต้องนำมาพิจารณาด้วยปัญญาให้แยบคายทุกครั้งไป

ออฟไลน์ เลดี้เบื๊อก

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นไม้เล็กพริ้วไหวดั่งสายลม
  • *
  • กระทู้: 165
  • พลังกัลยาณมิตร 119
    • ดูรายละเอียด
Re: อัตโนประวัติ หลวงพ่อทูล ขิปฺปญฺโญ
« ตอบกลับ #9 เมื่อ: กันยายน 08, 2011, 02:35:12 pm »
พรรษาที่ ๒  พ.ศ. ๒๕๐๕

   เมื่อออกธุดงค์ในที่ต่าง ๆ พอสมควรก็ถึงเวลาเข้าพรรษา  ปีนี้ ไปจำพรรษาที่ยอดทอน อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย  มีพระเณรจำพรรษารวมกัน ๑๐ รูป  ที่แห่งนี้เป็นป่าใหญ่ มีสัตว์อาศัยอยู่นานาชนิด เช่น เสือ วัวป่า หมูป่า เก้ง กวาง และสัตว์อื่น ๆ อีกมากมาย  เมื่อข้าพเจ้าเข้าไปในที่นี้ครั้งแรก  พระเณรองค์ที่ท่านเคยอยู่ก่อน ท่านรู้จักสถานที่ดี  ว่าที่แห่งไหนมีเสือชุกชุม  ท่านก็จัดให้ไปอยู่ในที่แห่งนั้น  ที่นั่นห่างจากหมู่คณะไปไกลประมาณ ๒ กิโลเมตร  เมื่อถึงเวลาจะไป ได้ยินเสียงครูบากระซิบบอกเณรว่า ให้ปิดเป็นความลับนะ  ดูซิว่าพระกรรมฐานจะเก่งขนาดไหน  เมื่อข้าพเจ้าได้ยินคำนี้ก็แปลกใจ จึงเข้าไปถามว่า พูดเรื่องอะไรกัน  แต่ครูบาและเณรก็พูดบ่ายเบี่ยงไปอย่างอื่นว่า ไม่หรอก ปีนี้มีพระกรรมฐานที่เด็ดเดี่ยวกล้าหาญ  ดูซิว่าจะภาวนาเก่งขนาดไหน  เมื่อได้เวลา มีเณรไปส่งให้ถึงที่  ที่นั่นเรียกว่าถ้ำจันใด  อยู่ใกล้กันกับถ้ำโคกฮอม  มีแคร่อยู่ตัวหนึ่ง  มีทางเดินจงกรมพร้อม  เมื่อจวนเวลาค่ำ เณรก็ลากลับ  แล้วมีคำสั่งแปลก ๆ ออกมาว่า  ครูบา ๆ ในคืนนี้ให้อยู่ตลอดคืนนะ  อย่าวิ่งหนีกลางคืนก็แล้วกัน  ก็ยังคิดแปลกใจว่าทำไมเณรจึงพูดออกมาอย่างนี้  จากนั้น ก็เตรียมสถานที่ให้เรียบร้อย แล้วเดินจงกรมต่อไป  ใจมีความวิเวกวังเวงในการปฏิบัติไม่จืดจาง  พอพลบค่ำตะวันตกดินไปแล้ว  ได้ยินเสียงเสือคำรามขึ้นเป็นช่วง ๆ  เมื่อตัวหนึ่งร้องขึ้น ตัวต่อไปก็ร้องส่งเสียงหากัน  สัตว์น้อยใหญ่ในที่แห่งนั้นพากันเก็บตัวเงียบหมด  บรรยากาศในความมืดก่อให้เกิดความระวังตัวมากขึ้น  เสียงเสือก็ร้องใกล้เข้ามาทุกที  มีความรู้สึกว่าตัวเองมีความกลัวเสือเกิดขึ้น  ในขณะนั้น จึงได้ตั้งสัจจะอธิษฐานภายในใจว่า  ถ้าข้าพเจ้าเคยทำบาปกรรมกันมากับเสือเหล่านี้ ข้าพเจ้าพร้อมที่จะชดใช้กรรมที่ทำมาแล้ว  ถ้าไม่เคยสร้าง
เวรกรรมต่อกันเอาไว้ ก็อย่าให้เสือมาทำอันตรายให้แก่ข้าพเจ้าเลย  จากนั้น ก็เข้าที่ภาวนาปฏิบัติต่อไป  ในคืนนั้น จิตไม่สามารถรวมสงบลงได้เลย  เพราะเสือร้องครวญครางห่างตัวไม่ไกลนัก
จำเป็นต้องนั่งฟังเสียงเสือร้องด้วยความระวัง  นั่งลืมตาเอาไว้ เพื่อจะได้เห็นเสือเข้ามาหา  ในคืนนั้น ไม่ได้หลับนอนจนตะวันส่องแสงมา  เมื่อได้เวลาก็ออกไปบิณฑบาตตามปกติ
   เมื่อพบครูบา  ท่านได้ถามว่า สบายดีไหม  ก็ตอบสั้น ๆ ว่าสบายดีเท่านั้น  ในพรรษานี้ จะหนักในอุบายการทำสมาธิเป็นส่วนใหญ่  เนื่องจากเสือร้องวนเวียนอยู่ใกล้ที่อยู่มาก  ในวันหนึ่ง ได้ปรึกษาครูบาว่า  เมื่อมีเสือมาร้องอยู่ใกล้ ๆ จะมีวิธีใดป้องกันไม่ให้เสือเข้ามาหา  ครูบาตอบว่า
ไม่ยาก ๆ  เราต้องก่อไฟในถ้ำเอาไว้  เมื่อเสือเห็นไฟก็จะหนีไปเอง  ข้าพเจ้าก็ทำตามที่ครูบาท่านบอกให้  ในคืนนั้น เมื่อก่อไฟแล้วก็เดินจงกรมต่อไป  เมื่อได้เวลาพักในการทำสมาธิแล้วก็จำวัด  ประมาณตี ๒ ก็ตื่นขึ้นมา  มองไปหากองไฟเห็นเป็นเพียงถ่านแดง ๆ  กลัวไฟจะดับ ก็รีบเปิดมุ้งกลดออกไปเพื่อจะก่อไฟ  ในขณะที่เปิดมุ้งออกไปนั้น  พอดีมองเห็นเสือนั่งอยู่ใกล้กองไฟนั้น  เมื่อเสือเห็นข้าพเจ้าก็กระโดดเข้าป่าหนีไป  ตัวเองก็มุดมุ้งเข้าไปอยู่ในกลด  จะนอนต่อไปอีกไม่ได้เลย  มีแต่นั่งนึกคำบริกรรมอยู่ตลอดทั้งคืน  เมื่อสว่างมาก็คิดได้ว่า เสือตัวนี้ เข้ามานั่งเฝ้าเราตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่รู้  แต่ชะรอยเราคงไม่มีเวรกรรมต่อกัน  มิฉะนั้น เสือก็คงจะคาบเอาเราไปกินเป็นอาหารเสียแล้ว  แต่เพื่อความไม่ประมาท ต้องตั้งใจตัวเองให้อยู่กับ พุทโธ ตลอดเวลา  เพื่อให้ใจได้มีกำลังต่อสู้กับความกลัวที่เกิดขึ้น  เมื่อนึกคำบริกรรมทำสมาธิมากขึ้นเท่าไร  ใจก็เริ่มสงบเป็นสมาธิมากขึ้นเท่านั้น
   อยู่มาคืนหนึ่ง จิตต้องการความสงบมาก  ก็กำหนดให้จิตมีความสงบเต็มที่  ทีแรกก็อาศัยคำบริกรรมคือ พุทโธ ๆ เป็นคู่กับใจ  ใจเริ่มมีความสงบ  คำบริกรรมพุทโธเหมือนกันว่าหยาบไป  ก็ได้หยุดคำบริกรรมเอาไว้  แล้วตั้งใจโดยมีสติกำหนดดูลมหายใจเข้าออก  เอาลมหายใจเป็นนิมิตหมายของสติไม่ให้เผลอ  เมื่อกำหนดเข้า กำหนดเข้า ก็ดูเหมือนลมหายใจนั้นมีลักษณะหยาบอย่างเห็นได้ชัด  จากนั้น ก็ใช้อุบายในวิธีปล่อยลมหายใจทิ้งไป  เพียงตั้งใจให้มีสติ  กำหนดดูผู้รู้โดยตรง  ไม่ส่งผู้รู้ไปตามลมหายใจแต่อย่างใด  มีแต่ใช้สติกำหนดรู้อยู่กับผู้รู้อย่างเดียว  ในคืนนั้น ไม่ทราบว่าจิตมีความสงบเวลาไหน  เมื่อจวนสว่างในวันใหม่ จิตก็ได้ถอนออกจากสมาธิ  เมื่อจิตถอนออกจากสมาธิมาแล้ว ก็อยู่ในความอุเบกขา  มีลักษณะเฉย ๆ อยู่ตลอดเวลา  จะมานึกคำบริกรรมว่าพุทโธ ก็หยาบไปทั้งหมด  จะมากำหนดดูลมหายใจเข้าออกก็หยาบไปอีกเช่นกัน  วิธีเดียวคือ ทำใจให้รู้อยู่กับผู้รู้เท่านั้น  จะอยู่ในอิริยาบถไหน ผู้รู้ก็อยู่ในอุเบกขา คือความวางเฉยอยู่ตลอดเวลา  เมื่อเป็นลักษณะอย่างนี้นานประมาณ ๗ วัน  ในความรู้สึกจึงนึกได้ว่า  ถ้าลักษณะอย่างนี้ คงมิใช่เป็นแนวทางที่ถูกต้องของมรรคผลนิพพานแน่  คงจะเป็นเพียงฌานขั้นละเอียดเท่านั้น  เมื่อรู้ตัวได้อย่างนี้ก็หาวิธีที่จะให้จิตถอนตัว  พยายามหาอุบายธรรมมาคิดเพื่อให้จิตถอน  แต่ก็คิดอะไรไม่เป็นเลย มีแต่เฉยอยู่ตลอดเวลา  อุบายปัญญาที่เคยฉลาดปราดเปรื่องมาแล้ว กลับนึกพิจารณาด้วยปัญญาอะไรไม่ได้เลย  เมื่อนึกถึงพระที่อยู่ด้วยกันทั้งหมดว่า  ท่านเหล่านั้นจะสามารถแก้อาการอย่างนี้ของเราได้ไหมหนอ  ก็รู้ว่าไม่มีใครแก้ให้เราได้ นอกจากตัวเราแก้ด้วยตัวเราเองเท่านั้น  จึงทำใจไว้ว่าเราไม่ยินดีพอใจในสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างนี้เลย  เพราะวิธีนี้เป็นช่องทางไปสู่พรหมโลก  แต่เราภาวนาปฏิบัติเพื่อมรรคผลนิพพาน  ฉะนั้น เราต้องหาวิธีให้จิตถอนออกมาจากฌานให้ได้
   ขณะนั้น ก็นึกขึ้นได้ว่าต้องอ่านหนังสือให้มาก  เมื่อได้อุบายนี้แล้ว ก็หยิบเอาหนังสือ
ปาฏิโมกข์มาอ่าน  ทีแรกก็ไม่อยากอ่านแต่ก็ฝืนใจ  ในวันนั้น มีแต่อ่านหนังสือปาฏิโมกข์ตลอดทั้งวัน  การอ่านก็ต้องอ่านแบบออกเสียง  เมื่ออ่านนาน ๆ เข้า จิตก็เริ่มถอนตัวออกมา  ก็รู้ว่าจิตเริ่มถอนออกจากความสงบแล้ว  จากนั้น ก็เร่งการอ่านหนังสือให้มากขึ้น ๆ  ประมาณ ๓ วัน จิตก็ถอนออกจากความสงบมาเป็นปกติ  จึงได้ดำริพิจารณาดูว่า  อาการแห่งความสงบนี้เกิดขึ้นด้วยเหตุอันใด  เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า สาเหตุเนื่องมาจากเรากลัวเสือมากไป  จึงได้ตั้งใจนึกคำบริกรรมทำสมาธิตลอดไม่ว่าอยู่ในอิริยาบถใด  ใจก็อยู่กับเอกัคคตา คือ ให้จิตมีความสงบเป็นหนึ่งอยู่ตลอดเวลา  จึงมีความชำนาญเข้าออกในการทำสมาธิอย่างต่อเนื่อง  ในที่สุด จิตก็ได้รวมลงอย่างสนิทดังได้กล่าวมาแล้ว  แต่ก็โชคดีที่ข้าพเจ้ามีนิสัยทางปัญญามาก่อน  ไม่เช่นนั้น ก็จะตายอยู่กับความสงบของสมาธินี้ไปจนตลอดชีวิตแน่นอน  ไม่มีช่องทางจะออกจากสมาธิได้เลย  ถ้าตายก็เรียกว่าตายฟรี  ชีวิตทั้งชีวิตก็หมดความหมาย  เมื่อได้สัมผัสในความสงบในลักษณะอย่างนี้แล้ว  ก็ถือว่าเป็นบทเรียนที่สำคัญ  ทีหลังจะไม่ฝึกจิตให้เป็นสมาธิที่มีความสงบลึกอย่างนี้อีก
   จากนั้น ก็เริ่มวางฐานในการภาวนาปฏิบัติเสียใหม่  ในกรณีที่ทำสมาธิก็ให้มีความสงบพอประมาณ  จากนั้น ก็ใช้ปัญญาพิจารณาในสัจธรรมให้ต่อเนื่องกันทุกครั้งไป  มิใช่ว่าจิตสงบเป็นสมาธิแล้วก็จะปล่อยให้จิตมีความสงบตลอดไป  เว้นเสียในบางกรณีที่จิตมีความต้องการในความสงบนาน ๆ ก็ปล่อยให้จิตสงบไป  แต่ก็ตั้งใจเอาไว้ว่า  เมื่อจิตถอนออกจากสมาธิแล้ว จะต้องใช้ปัญญาพิจารณาทันที  ตามปกติแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ทีไหน ในอิริยาบถใด  ข้าพเจ้ามีนิสัยในการใช้ปัญญาพิจารณาในสัจธรรมอยู่เสมอ  หรือเรียกว่าใช้อุบายปัญญามากกว่าการทำสมาธินั่นเอง  ฉะนั้น การใช้ปัญญาพิจารณาในธรรม จึงถือว่าเป็นกิจวัตรประจำวัน  ถ้าเหนื่อยในการใช้ปัญญาพิจารณา ก็หยุดมากำหนดจิตทำสมาธิเอาไว้  เพื่อจะได้มีกำลังใจใช้ปัญญาพิจารณาต่อไป  ฉะนั้น สมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน ทั้งสองอุบายนี้มีผลต่อเนื่องกัน  จึงเรียกว่ากรรมฐานมีสองอุบาย  จะขาดเสียอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้  การภาวนาจะเอากรรมฐานไหนขึ้นก่อนนั้นขึ้นอยู่กับนิสัยของแต่ละท่าน  บางท่านอาจถนัดในวิธีภาวนาสมถะก่อน แล้วจึงใช้วิธีภาวนาวิปัสสนาตามหลัง  หรือบางท่านอาจถนัดในการเจริญวิปัสสนาก่อน แล้วจึงใช้เจริญสมถะตามหลัง  ท่านเรียกว่า สมาธิอบรมปัญญาหรือปัญญา
อบรมสมาธิ ใครมีความถนัดในทางไหนก่อนหรือหลัง ก็ให้เป็นไปตามนิสัยของแต่ละท่าน  เหมือนการก้าวขาออกเดินทาง  ใครจะก้าวขาซ้ายก่อนแล้วก้าวตามด้วยขาขวา  หรือก้าวขาขวาไปก่อนแล้วก้าวตามด้วยขาซ้ายสลับกันไปมา  ในที่สุด ก็ถึงจุดหมายปลายทางได้เหมือนกัน  นี้ฉันใด การภาวนาปฏิบัติทั้งสองอุบายก็ให้เป็นไปในลักษณะเดียวกันฉันนั้น  ขอให้ท่านพิจารณาในอุบายทั้งสองนี้ด้วยเหตุผลอันเป็นธรรมด้วยเถิด
   การอธิบายเรื่องภาวนาของข้าพเจ้ามาให้ท่านรับรู้นี้  เพื่อให้ท่านได้สังเกตในเหตุผล แล้วนำไปปรับปรุงแก้ไขในการปฏิบัติของท่านให้ถูกต้อง  ถ้าหากท่านทำสมาธิ จิตมีความสงบบ้าง ไม่สงบบ้างก็ไม่เป็นไร  ถ้าหากท่านมีจิตสงบขั้นละเอียดดิ่งลึกลงไปเต็มที่และสงบต่อเนื่องกันหลาย ๆ วันเรียกว่า อรูปฌาน  ท่านจะมีอุบายใดมาถอนตัวออกมาจากอรูปฌานได้อย่างไร  สมมติว่าผู้นั้นไม่มีฐานในด้านปัญญามาก่อน  รับรองว่าจะจมอยู่ในฌานนั้น ๆ จนตลอดวันตาย  จะไม่มีอุบายถอนตนได้เลย  ดังมีคำพูดกันอยู่ว่า  เมื่อจิตสงบแล้วย่อมเกิดปัญญาขึ้นนั้น  คำพูดนี้ไม่จริง  แสดงว่าผู้พูดนั้นยังไม่เคยมีประสบการณ์เรื่องความสงบของสมาธิขั้นละเอียดนี้เลย  พูดไปแบบไร้สาระพาให้คนอื่นเกิดความเข้าใจผิดมากมาย  ดังคำว่า ผู้มีความเห็นผิดเพียงคนเดียว ย่อมทำให้คนอื่นมีความเห็นผิดเป็นหมื่นเป็นแสน  คนที่เกิดความเห็นผิด ความเข้าใจผิด การดำริพิจารณาก็ผิดไปตาม ๆ กัน  แม้ความเพียรพยายามก็ล้วนแต่ผิดด้วยกันทั้งนั้น  เหมือนเงินปลอมที่มีอยู่ในถุงทั้งหมด  จะหยิบใบไหนขึ้นมาก็ล้วนแล้วแต่เป็นเงินปลอมทั้งสิ้น  ถึงจะเข้าใจว่าเป็นเงินจริง แต่ก็ยังเป็นเงินปลอมอยู่นั่นเอง  นี้ฉันใด ความเข้าใจผิดเป็นฐานรองรับในส่วนลึกของหัวใจมีอยู่  ใจก็จะเกิดเป็น มิจฉาทิฏฐิ คือความเห็นผิดตลอดไป  ยากที่จะกลับตัวเองได้  เพราะความเขลาปัญญาทรามและขาดเหตุผล  จริงอยู่ การอธิบายธรรมะฉะฉานพูดได้อย่างสละสลวยสวยงามต่อเนื่องกันดี  แต่อย่าลืมว่า นั่นเป็นการแสดงออกมาจากความรู้เท่านั้น  ถึงจะมีความรู้ แต่ถ้าขาดปัญญาที่ฉลาดเฉียบแหลมด้วยเหตุผล  ประโยชน์ที่ได้รับจากความรู้นั้นน้อยมาก  หรือแทบจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย  ในที่สุด ก็จะเกิดมิจฉาทิฏฐิ คือ ความเห็นผิด โดยไม่รู้ตัว
   ฉะนั้น จึงขอฝากนักภาวนาปฏิบัติทั้งหลายที่มีความตั้งใจจริง  จงใช้วิจารณญาณของท่านให้มีเหตุผล เป็นธรรมาธิปไตย  ให้เป็นไปตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง  ให้สมกับความตั้งใจไว้ว่า  เราจะเดินตามรอยยุคลบาทของพระศาสดาและพระอริยเจ้าทั้งหลาย  เราก็ต้องศึกษาในเรื่องอริยประวัติของพระอริยเจ้าให้เข้าใจว่า องค์ไหนเริ่มต้นในการปฏิบัติอย่างไร  มีอุบายใดเป็นสื่อที่จะนำไปสู่สัจธรรม  เราจะนำมาเป็นอุบายปรับปรุงแก้ไขในความคิดเห็นของตัวเอง  ให้เป็นไปใน สัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบอย่างเป็นธรรม  เพื่อเป็นฐานรองรับความเห็นชอบอย่างอื่น ให้มารวมอยู่ในจุดเดียวกัน  ฉะนั้น การภาวนาปฏิบัติ ถ้าเราได้วางรากฐานไว้ในจุดเริ่มต้นถูกต้อง  การปฏิบัติต่อไปก็ถูกต้องตลอดแนวทาง  ทุกอย่างจะมีแต่ความราบรื่น ก้าวหน้าไปด้วยดี  ไม่มีอุปสรรคที่จะทำให้เกิดความสงสัยลังเลในการปฏิบัติแต่อย่างใด  จึงนับได้ว่าเป็นผู้มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง  จึงสมกับคำว่า ตนแลเป็นที่พึ่งของตนอย่างแท้จริง  เรียกว่า เป็นผู้มีสติปัญญาสามารถตั้งอยู่ในเหตุผลของตนเองได้  จึงสมกับบาลีว่า มคฺคามคฺคญาณทสฺสนวิสุทธิ นั้น คือ ความรู้เห็นเส้นทางอันจะก้าวไปสู่ความบริสุทธิ์อย่าแท้จริง
   เหมือนการเดินทาง เราต้องเตรียมอุปกรณ์ในการเดินทางให้พร้อม  เมื่อมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น เราก็จะได้แก้ไขปัญหานั้นได้ทันท่วงที  นี้ฉันใด ก่อนที่เราจะลงมือภาวนาปฏิบัติ ต้องพร้อมด้วยสติปัญญา  อันจะนำมาให้เกิดความรอบรู้ในอุบายการปฏิบัติได้ถูกต้อง  เรียกว่า ปัญญา คือแสงสว่างทางใจ  เมื่อเรามีปัญญาเป็นเครื่องรอบรู้ในเหตุผลอยู่  การตัดสินใจก็
ถูกต้องและรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์  ความลังเลสงสัยในอุบายการปฏิบัติว่าอะไรควรหรืออะไร
ไม่ควร ถูกหรือผิดก็ตัดสินใจได้ทันที  นี้คือผู้จะเดินทางตามรอยของพระอริยเจ้าอย่างแท้จริง  เราคนหนึ่งกำลังเริ่มออกเดินทางไปตามพระอริยเจ้าทั้งหลาย  อุบายการภาวนาปฏิบัติอย่างไรยังไม่ชัดเจน ก็ต้องศึกษาจากท่านผู้รู้ทั้งหลาย  เพื่อให้เกิดความมั่นใจในตัวเองว่า มีความถูกต้องตรงไปในความเห็นชอบอย่างแท้จริง  ข้อควรระวัง คือ อย่าไปถามกับผู้กำลังหลงทางเหมือนกันกับตัวเรา  มันจะเข้าตำราที่ว่า คนตาบอดจูงคนตาบอด ไปไม่รอดเพราะตาบอดจูงกัน  ถ้าเป็นไปในทำนองนี้ ก็สุดวิสัยที่จะช่วยกันได้  ให้ถือว่าโชคร้ายของเราก็แล้วกัน  อีกสักวันหนึ่งข้างหน้า เราอาจจะได้พบคนตาดีจูงเราไปให้ถึงฝั่งก็เป็นได้