อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > พระอริยบุคคล

เรื่องย่อในพระธรรมบท (ทัณฑวรรค)

(1/3) > >>

ฐิตา:

                   

เรื่องย่อในพระธรรมบท (ทัณฑวรรค)
เรื่องภิกษุฉัพพัคคีย์

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุฉัพพัคคีย์ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า สพฺเพ ตสนฺติ เป็นต้น

ใน สมัยหนึ่ง ภิกษุสัตตรสพัคคีย์(ภิกษุกลุ่ม 17) ซ่อมแซมเสนาสนะในวัดเชตวันเพื่อจะใช้พักอาศัย ภิกษุฉัพพัคคีย์(ภิกษุกลุ่ม 6) กล่าวว่า พวกท่านจงออกไป พวกผมแก่กว่า เสนาสนะนี้เป็นของพวกเรา” เมื่อภิกษุกลุ่มสัตตรสพัคคีย์เหล่านั้นพูดว่า “พวกผมไม่ยอมให้ เพราะพวกผมซ่อมแซมไว้เอง” ก็ได้ใช้กำลังเข้าทุบตีภิกษุเหล่านั้น พวกภิกษุสัตตรสพัคคีย์ก็ส่งเสียงร้องเพราะกลัวตาย พระศาสดาทรงสดับเสียงร้องของภิกษุเหล่านั้น ทรงสอบถามจนทราบสาเหตุที่เกิดขึ้น ตรัสว่า “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จำเดิมแต่นี้ ภิกษุไม่ควรทำอย่างนั้น ภิกษุใดทำ ภิกษุนั้นย่อมต้องอาบัติ” ดังนี้แล้ว ทรงบัญญัติปหารทานสิกขาบท ตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรู้ว่า เราย่อมหวาดหวั่นต่ออาชญา กลัวต่อความตาย ฉันใด แม้สัตว์เหล่าอื่นก็ย่อมหวาดหวั่นต่ออาชญา กลัวต่อความตายฉันนั้นเหมือนกัน จากนั้นจึงตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า

สพฺเพ ตสนฺติ ทณฺฑสฺส
สพฺเพ ภายนฺติ มจฺจุโน
อตฺตานํ อุปมํ กตฺวา
น หเนยฺย น ฆาตเย ฯ

(อ่านว่า)
สับเพ ตะสันติ ทันทัดสะ
สับเพ พายันติ มัดจุโน
อัดตานัง อุปะมัง กัดตะวา
นะ หะเนยยะ น คาคะเย.

(แปลว่า)
สัตว์ทั้งหมด ย่อมหวาดหวั่นต่ออาชญา สัตว์ทั้งหมด ย่อมกลัวต่อความตาย
บุคคลทำตนให้เป็นอุปมาแล้ว ไม่ควรฆ่าเอง ไม่ควรใช้ให้ฆ่าผู้อื่น

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น

ฐิตา:

เรื่องภิกษุฉัพพัคคีย์

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุฉัพพัคคีย์ ตรัสพระธรรมเทศฯนี้ว่า สพฺเพ ตสนฺติ เป็น
ต้น

ใน สมัยหนึ่ง พวกภิกษุฉัพพัคคีย์(ภิกษุกลุ่ม 6) หลังจากที่ได้ใช้มือทุบตีภิกษุสัตตรสพัคคีย์(ภิกษุกลุ่ม 17) แล้ว ก็ได้เกิดวิวาทกันเพื่อแย่งชิงเสนาสนะแห่งเดียวกันนั้นอีก และได้เงื้อมือขึ้นเพื่อจะทุบตีอีก พระที่จะถูกทุบตีก็ส่งเสียงร้องเพราะกลัวตาย พระศาสดาได้ยินเสียงของภิกษุเหล่านั้น และได้ตรัสถาม เมื่อทราบสาเหตุนั้นแล้ว ตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จำเดิมแต่นี้ไป ภิกษุไม่ควรทำเช่นนี้ ภิกษุใดทำ ภิกษุนั้นย่อมต้องอาบัติ” ทรงบัญญัติตลสัตติกสิกขาบท ตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทราบว่า แม้สัตว์เหล่าอื่นย่อมหวาดหวั่นต่ออาชญา อย่างเดียวกับเราเหมือนกัน อนึ่ง ชีวิตก็ย่อมเป็นที่รักของสัตว์เหล่านั้น เหมือนของเราโดยแท้ ก็ไม่ควรประหารเอง และไม่ควรสั่งให้ผู้อื่นประหารด้วย จากนั้น พระศาสดาตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า

สพฺเพ ตสนฺติ ทณฺฑสฺส
สพฺเพสํ ชีวิตํ ปิยํ
อตฺตานํ อุปมํ กตฺวา
น หเนยฺย น ฆาตเย ฯ

(อ่านว่า)
สับเพ ตะสันติ ทันตัดสะ
สับเพสัง ชีวิตัง ปิยัง
อัดตานัง อุปะมัง กัดตะวา
นะ หะเนยยะ นะ คาตะเย.

(แปลว่า)
สัตว์ทั้งหมด ย่อมหวาดหวั่นต่ออาชญา
ชีวิตย่อมเป็นที่รักของสัตว์ทั้งหลาย
บุคคลควรทำตนให้เป็นอุปมาแล้ว
ไม่ควรฆ่าเอง ไม่ควรใช้ให้ฆ่าผู้อื่น

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น

ฐิตา:

เรื่องเด็กหลายคน

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุฉัพพัคคีย์ ตรัสพระธรรมเทศฯนี้ว่า สุขกามานิ ภูตานิ เป็นต้น

ในวันหนึ่ง พระศาสดาเสด็จทรงบาตรเข้าไปในกรุงสาวัตถี ทรงเห็นพวกเด็กเป็นอันมาก เอาไม้ตีงูตัวหนึ่งในระหว่างทาง ตรัสถามว่า พวกเขากำลังทำอะไร เมื่อพวกเด็กตอบว่า “กำลังเอาไม้ตีงู” “ตีมันเพราะเหตุใด” “เพราะกลัวว่ามันจะกัด” พระศาสดาจึงตรัสกับเด็กเหล่านั้นว่า “พวกเจ้าตีงูนี้ด้วยคิดว่า จักทำความสุขแก่ตน จักไม่เป็นผู้ได้รับความสุขในที่โลกหน้าที่ตนไปเกิดแล้วๆ แท้จริง บุคคลเมื่อปรารถนาสุขแก่ตน แต่ประหารสัตว์อื่น ย่อมไม่ควร จากนั้น ได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า

สุขกามานิ ภูตานิ
โย ทณฺเฑน วิหึสติ
อตฺตโน สุขเมสาโน
เปจฺจ โส น ลภเต สุขํ.

(อ่านว่า)
สุขะกามานิ พูตานิ
โย ทันเทนะ วิหิงสะติ
อัดตะโน สุขะเมสาโน
เปดจะ โส นะ ละพะเต สุขัง.

(แปลว่า)
สัตว์ผู้เกิดมาแล้ว เป็นผู้ใคร่สุข
บุคคลใดแสวงหาสุขเพื่อตน
แต่เบียดเบียนผู้อื่น ด้วยท่อนไม้
บุคคลนั้นละไปแล้ว ย่อมไม่ได้สุข.

สุขกามานิ ภูตานิ
โย ทณฺเฑน น หึสติ
อตฺตโน สุขเมสาโน
เปจฺจ โส ลภเต สุขํ ฯ

(อ่านว่า)
สุขะกามานิ พูตานิ
โย ทันเตนะ วิหิงสะติ
อัดตะโน สุขะเมสาโน
เปดจะ โส ละภะเต สุขัง.

(แปลว่า)
สัตว์ผู้เกิดมาแล้ว เป็นผู้ใคร่สุข
บุคคลใดแสวงหาสุขเพื่อตน
ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ด้วยท่อนไม้
บุคคลนั้นละไปแล้ว ย่อมได้สุข.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง เด็กเหล่านั้นทั้ง 500 บรรลุโสดาปัตติผล.

ฐิตา:

เรื่องพระโกณฑธานเถระ

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระโกณฑธานเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า มาโวจ ผรุสํ กญฺจิ เป็นต้น

ตั้งแต่ วันที่พระโกณฑธานเถระอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ก็เกิดปรากฏการณ์ประหลาด มีรูปสตรีคนหนึ่งติดตามไปกับพระเถระเสมอๆ แต่พระเถระไม่แลเห็นรูปสตรีนั้น มีแต่พวกชาวบ้านและภิกษุอื่นแลเห็น เมื่อพระเถระไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน พวกชาวบ้านเมื่อตักข้าวทัพพีแรกใส่บาตรก็จะพูดว่า ท่านขอรับ ทัพพีแรกนี้ จงเป็นของท่าน เมื่อตักทัพพีที่สองใส่ลงในบาตร ก็จะพูดว่า ทัพพีที่สองนี้ จงเป็นของสำหรับสตรีผู้สหายของท่าน เมื่อพวกภิกษุทั้งหลาย เห็นพระเถระมีผู้หญิงเดินไปด้วยเช่นนั้น ก็พยายามไปปรึกษาท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐี และนางวิสาขาเพื่อให้จัดการ แต่ทั้งสองท่านเห็นว่าเป็นเรื่องของสงฆ์ก็ควรให้สงฆ์จัดการกันเอง พระภิกษุทั้งหลายจึงได้ทูลพระเจ้าปเสนทิโกศลให้ทรงดำเนินการขับไล่พระเถระ ออกไปเสียจากแคว้นของพระองค์ โดยได้ทูลพระราชาว่า “ มหาบพิตร ภิกษุชื่อโกณฑธานะ พาหญิงคนหนึ่งเที่ยวไป จะยังความเสียหายให้เกิดแก่ภิกษุทุกรูป ขอมหาบพิตร ทรงขับไล่ภิกษุนั้นออกจากแว่นแคว้นของพระองค์เสีย”

พระราชาพร้อมด้วยข้าราชบริพารจึงได้เสด็จไปที่วัดที่พระโกณฑธานเถระพำนัก อยู่นั้นเพื่อทรงสอบสวน เมื่อพระเถระได้ยินเสียงอึกทึกของผู้คน ก็ได้เดินมาที่ประตูกุฏิและก็มีรูปของสตรีมาปรากฏอยู่ไม่ไกลจากพระเถระเหมือนอย่างเคย เมื่อพระเถระได้ทราบว่าพระราชาเสด็จมา จึงไปนั่งที่ห้องเพื่อรอรับเสด็จ พระราชาเสด็จเข้าไปในห้อง ไม่เห็นสตรีอยู่ในห้อง ก็ได้ตรวจดูที่ซอกประตู ที่ให้เตียง ก็ไม่เห็นสตรีนั้น จึงตรัสกับพระเถระว่า ท่านขอรับ โยมเห็นสตรีคนหนึ่งอยู่กับท่าน เธอไปเสียที่ไหน พระเถระตอบว่า อาตมภาพไม่เห็นสตรีที่ว่านั้น “เมื่อกี้โยมแลเห็นอยู่นี่” “แต่อาตมภาพไม่เห็น” เพื่อให้เกิดความมั่นใจยิ่งขึ้น พระราชาได้ขอให้พระเถระออกจากห้อง ไปอยู่ที่หน้ามุข พระองค์ก็ทรงเห็นสตรีนั้นยืนอยู่ข้างหลังพระเถระ และเมื่อพระเถระเดินกลับมาที่ห้อง พระองค์ก็แลเห็นสตรีเดินตามพระเถระเข้ามา แต่พอพระองค์เข้าไปตรวจสอบหาหญิงคนนั้นก็ไม่พบหญิงนั้นแต่อย่างใด พระราชาทรงแน่พระทัยว่ารูปที่คนอื่นแลเห็นกันนั้นเป็นรูปไม่จริง พระเถระยังมีศีลบริสุทธิ์อยู่ ทรงเกรงว่าพระเถระจะเป็นที่รังเกียจของชาวบ้านจนถึงกับไม่ยอมใส่บาตรให้ฉัน จึงได้ทรงอาราธนาพระเถระเข้าไปรับอาหารบิณฑบาตที่พระราชวังของพระองค์เป็น ประจำทุกวัน

เมื่อภิกษุทั้งหลายได้ยินข่าวนี้ ก็กล่าวในเชิงติเตียนพระราชาว่า “ท่านทั้งหลายจงดูการกระทำที่ไม่เหมาะสมของพระราชาชั่วนั้นเถิด เมื่อพวกเราทูลให้ทรงขับไล่พระโกณฑธานะออกไปเสียจากแว่นแคว้น พระองค์กลับนิมนต์พระรูปนั้นไปรับปัจจัย 4 ที่พระราชวัง” และพวกภิกษุก็ได้กล่าวตำหนิพระโกณฑธานะซึ่งหน้าว่า “เฮ้ย คนทุศีล บัดนี้ พระราชาก็กลายเป็นคนชั่วเหมือนเจ้าเข้าให้แล้ว” พระโกณฑธานะจึงพูดโต้ตอบไปบ้างว่า “พวกท่านนะแหละเป็นผู้ทุศีล พวกท่านนะแหละเป็นคนชั่ว พวกท่านนะแหละไปกับผู้หญิง” พวกภิกษุจึงนำเรื่องที่พระโกณฑธานะพูดตอบโต้ไปกราบทูลพระศาสดา และพระศาสดาได้รับสั่งให้พระโกณฑธานะมาเฝ้า ตรัสถามว่า ได้พูดอย่างนั้นหรือไม่ “ พูดจริงพระเจ้าข้า” “พูดอย่างนั้นทำไม” “พูดเพราะพระเหล่านั้นพูดก่อน” “ท่านทั้งหลาย พูดกับพระโกณฑธานะอย่างนั้นเพราะเหตุใด” “เพราะพวกข้าพระองค์เห็นผู้หญิงเดินตามพระโกณฑธานะ” “ที่พระเหล่านี้เห็นผู้หญิงเดินตามเธอ แต่เธอไม่เห็นหญิงผู้นั้น ก็เพราะผลของกรรมในอดีตชาติของเธอนั่นเอง”

เมื่อพวกภิกษุกราบทูลถามถึงอดีตชาติของพระโกณฑธานเถระ พระศาสดาได้ทรงนำมาเล่าว่า พระโกณฑธานะในอดีตชาติเคยเกิดเป็นเทวดาตนหนึ่ง เห็นพระสองรูปมีความสมัครสมานสามัคคีกัน ต้องการกลั่นแกล้งให้เกิดความหวาดระแวงและความแตกแยกระหว่างกัน จึงได้แปลงร่างเป็นผู้หญิงเดินตามหลังภิกษุรูปหนึ่งไป จนทำให้ภิกษุอีกรูปหวาดระแวงว่าภิกษุที่มีรูปผู้หญิงเดินตามนั้นทุศีล พระทั้งสองรูปจึงเกิดการแตกแยกและไม่คบหากันกันอย่างรุนแรง และเพราะกรรมชั่วในอดีตนั้นจึงส่งผลให้พระโกณฑธานะในชาติปัจจุบันมีรูป ผู้หญิงเดินตาม เมื่อตรัสบุรพกรรมจบลง พระศาสดาได้ตรัสสอนพระโกณฑธานะว่า “ภิกษุ เธออาศัยกรรมชั่วนี้ จึงเกิดเรื่องแปลกประหลาดนี้ บัดนี้ การที่เธอถือความเห็นที่ไม่ดีเช่นนี้อีก เป็นการไม่สมควร เธออย่ากล่าวอะไรๆกับภิกษุทั้งหลายอีก จงเป็นผู้ไม่มีเสียง เช่นกังสดาลที่เขาตัดของปากแล้ว เมื่อทำอย่างนั้น จักเป็นผู้ชื้อว่าบรรลุพระนิพพาน”

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
มาโวจ ผรุสํ กญฺจิ
วุตฺตา ปฏิวเทยฺยุ ตํ
ทุกฺขา หิ สารมภกถา
ปฏิทณฺฑา ผุเสยฺยุ ตํ ฯ

(อ่านว่า)
มาโวจะ ผะรุสัง กันจิ
วุดตา ปะติวะเทยยุง
ทุกขา หิ สารัมพะกะถา
ปะติทันทา ผุเสยยุ.

(แปลว่า)
เธออย่าได้กล่าวคำหยาบกะใครๆ
ชนเหล่าอื่นถูกเธอว่าแล้ว จะพึงว่าเธอตอบ
เพราะการกล่าวแข่งขันกันให้เกิดทุกข์
อาชญาตอบพึงถูกต้องเธอ.

สเจ เนเรสิ อตฺตานํ
กํโส อุปหโต ยถา
เอส ปตฺโตสิ นิพฺพานํ
สารมฺโภ เต น วิชฺชติ.

(อ่านว่า)
สะเจ เนเรสิ อัดตานัง
กังโส อุปะหะโต ยะถา
เอสะ ปัดโตสิ นิบพานัง
สารัมโพ เต นะ วิดชะติ.

(แปลว่า)
หากเธออาจยังตนไม่ให้หวั่นไหวได้
ดังกังสดลที่ถูกกำจัดแล้วไซร้
เธอนั่นย่อมเป็นผู้บรรลุพระนิพพาน
การกล่าวแข่งขันกัน ย่อมไม่มีแก่เธอ.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นมาก บรรลุโสดาปัตติผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.

แม้พระโกณฑธานเถระ ตั้งอยู่ในพระโอวาทที่พระศาสดาประทานแล้ว ก็ได้บรรลุพระอรหัตตผล ต่อมาไม่นานนัก ท่านได้เหาะขึ้นไปในอากาศ จับสลากเป็นครั้งแรก.

ฐิตา:

เรื่องอุโปสถกรรม

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภอุโบสถกรรมของอุบาสิกาทั้งหลายมีนางวิสาขาเป็นต้น ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ยถา ทณฺเฑน โคปาโล เป็นต้น

ในวันอุโบสถวัน หนึ่ง หญิงประมาณ 500 คนในกรุงสาวัตถี ไปที่วัดบุพพารามเพื่อรักษาอุโบสถ นางวิสาขาซึ่งเป็นผู้บริจาคทรัพย์สร้างวัดแห่งนี้ ก็ได้ถามหญิงวัยชราในหมู่ของหญิงเหล่านี้ว่า มารักษาอุโบสถด้วยวัตถุประสงค์อะไร พวกหญิงในวัยชราบอกว่า มารักษาอุโบสถเพื่อต้องการทิพยสมบัติ ถามหญิงกลางคน ก็ได้คำตอบว่า มารักษาอุโบสถเพื่อต้องการพ้นจากสภาพที่สามีมีภรรยาหลายคน ถามพวกหญิงในวัยสาว ก็ได้คำตอบว่า มารักษาอุโบสถเพื่อต้องการได้บุตรชายในการมีครรภ์คราวแรก ถามหญิงสาวในวัยแรกรุ่น ก็ได้คำตอบว่า รักษาอุโบสถเพื่อต้องการได้สามีแต่วัยสาวๆ นางวิสาขาเมื่อได้ฟังความเห็นที่แตกต่างกันของหญิงเหล่านั้นแล้ว ก็ได้พาหญิงเหล่านั้นไปสู่สำนักพระศาสดา กราบทูลให้ทรงทราบถึงทัศนะที่แตกต่างกันในการรักษาอุโบสถของหญิงเหล่านั้น พระศาสดาตรัสว่า “วิสาขา ธรรมดาสภาวธรรมทั้งหลายมีชาติเป็นต้นของสัตว์เหล่านั้น เป็นเช่นกับนายโคบาลที่มีท่อนไม้ในมือ ชาติส่งสรรพสัตว์ไปสู่สำนักของชรา ชราส่งไปสู่สำนักของพยาธิ พยาธิส่งไปสู่สำนักของมรณะ มรณะย่อมตัดชีวิต ดุจบุคคลตัดต้นไม้ด้วยขวาน แม้เมื่อเป็นอย่างนั้น ปวงสัตว์ชื่อว่าปรารถนา วิวัฏฏะ (พระนิพพาน) ย่อมไม่มี มัวแต่ปรารถนา วัฏฏะ เท่านั้น” จากนั้นพระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า

ยถา ทณเฑน โคปาโล
คาโว ปาเชติ โคจรํ
เอวํ ชรา จ มจฺจุ จ
อายุ ปาเชนติ ปาณินํ ฯ

(อ่านว่า)
ยะถา ทันเทนะ โคปาโล
คาโว ปาเชติ โคจะรัง
เอวัง ชะรา จะ มัดจุ จะ
อายุ ปาเชนติ ปานินัง.

(แปลว่า)
นายโคบาล ย่อมต้อนโคทั้งหลายไปสู่ที่หากินด้วยท่อนไม้ ฉันใด
ชราและมัจจุ ย่อมต้อนอายุของสัตว์ทั้งหลายไป ฉันนั้น.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นมาก บรรลุโสดาปัตติผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

ตอบ

Go to full version