ผู้เขียน หัวข้อ: ความคิดฟุ้ง :: หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ  (อ่าน 4514 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ เลดี้เบื๊อก

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นไม้เล็กพริ้วไหวดั่งสายลม
  • *
  • กระทู้: 165
  • พลังกัลยาณมิตร 119
    • ดูรายละเอียด
ความคิดฟุ้ง
   
   การเกิดความคิดฟุ้งนั้นมีสองลักษณะ ๑. ฟุ้งซ่าน ๒. ฟุ้งไปตามสังขารการปรุงแต่งในสมมติ ฟุ้ง ๒ ลักษณะนี้ต่างกัน ดังจะอธิบายพอเป็นสังเขปดังนี้
   
   ๑. ลักษณะจิตฟุ้งซ่าน เป็นความคิดที่เลื่อนลอย เป็นความคิดกระจายไปในหลายๆ เรื่อง แต่ละเรื่องเมื่อคิดไป จะเกิดความสับสนจับต้นชนปลาย ไม่หนักแน่น ไม่มีความมั่นใจว่าความคิดนั้นผิดหรือถูก ไม่สามารถตัดสินใจได้ เป็นความคิดที่โลเลสะเปะสะปะ เรื่อยเปื่อย เป็นความคิดที่ทำให้เกิดความลังเลไม่แน่ใจ จึงเกิดความสงสัยในความคิดของตัวเองแบบหาข้อยุติสรุปลงไม่ได้ เพราะมีหลายเรื่องที่นำมาคิดช่วงเดียวกัน จึงเป็นความคิดในเรื่องนั้นบ้าง คิดในเรื่องนี้บ้าง จะนำมาเป็นบรรทัดฐานในการตัดสินใจไม่ลงตัว จึงเกิดความรำคาญ และเกิดความหงุดหงิดขึ้นที่ใจ เกิดความฉุนเฉียวโกรธง่าย ไม่มีความเพียรที่จะทำอะไร จะทำงานอะไรก็ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ถึงจะทำไปผลของงานก็จะออกมาไม่ดี
   
   ลักษณะความฟุ้งซ่านนี้จะมีอารมณ์ที่ไม่ชอบใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่งตกค้างอยู่ ที่ยังแก้ไขไม่ได้เป็นต้นเหตุ ในเมื่อนึกคำบริกรรมทำสมาธิไป ก็จะมีอารมณ์ประเภทนี้เกิดขึ้น สติคุมอารมณ์ไม่อยู่ ก็จะเกิดความฟุ้งไปในอารมณ์นั้นๆ ในลักษณะอย่างนี้มิใช่ว่าจะเกิดในช่วงทำสมาธิเท่านั้น อยู่ตามปกติธรรมดาอารมณ์ความฟุ้งซ่านก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน หรือพิจารณาในหมวดธรรมะอะไรอยู่ ถ้ามีอารมณ์ประเภทนี้แทรกเข้ามา ถ้าสติปัญญาไม่ดี ไม่มีความฉลาดในอุบายที่จะนำมาแก้ไข ก็จะกลายเป็นความฟุ้งซ่านไปได้
   
   ๒. จิตฟุ้งไปตามสังขาร คำว่าสังขารก็คือ สังขารจิตที่คิดไปตามอารมณ์ที่เรารัก เรียกว่า อิฏฐารมณ์ อารมณ์นี้จะมีอยู่กับทุกๆ คน มีทั้งอารมณ์เก่าและอารมณ์ใหม่ อารมณ์เก่าหมายถึง อารมณ์ที่สะสมมาในอดีตติดอยู่กับใจจนกลายเป็นนิสัยเจ้าอารมณ์ อารมณ์ใหม่หมายถึง การสัมผัสจากอายตนะ คือ ตาสัมผัสรูป หูสัมผัสเสียง จมูกสัมผัสกลิ่น ลิ้นสัมผัสรส กายสัมผัสในสิ่งที่อ่อนแข็ง
   
   การสัมผัสในอายตนะนี้เอง จึงเป็นมูลเหตุให้เกิดอารมณ์ขึ้นที่ใจ เมื่ออารมณ์มีในใจ จึงเกิดความชอบใจและไม่ชอบใจเกิดขึ้น อารมณ์ที่ไม่ชอบใจจึงเกิดความเกลียดชัง ไม่ชอบใจในอารมณ์นั้นๆ จึงเกิดความทุกข์ใจไม่สบายใจขึ้น จึงเกิดการปรุงแต่ง คิดหาวิธีที่จะเอาชนะในการทำอย่างใดอย่างหนึ่ง กับคนที่เราเกลียดชังนี้ให้ได้ แม้เสียงที่ไม่ชอบใจจากคำพูดของใคร ก็เกิดอารมณ์แห่งความทุกข์ใจไม่สบายใจ จึงคิดหาวิธีที่จะแก้ไขเอาชนะให้ได้เช่นกัน
   
   ฉะนั้นอารมณ์ที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจ ใครๆ ย่อมเกิดมีด้วยกันทั้งนั้น ใครจะเกิดมีอารมณ์ประเภทไหนนั้นขึ้นอยู่กับการสัมผัสอารมณ์นี้มีสามลักษณะ
   
   ๑.     อารมณ์ที่มีความชอบใจ
   
   ๒.    อารมณ์ที่ไม่ชอบใจ
   
   ๓.    อารมณ์เฉยๆ
   
   อารมณ์เฉยนี้จะไม่ก่อให้เกิดการฟุ้งไปเป็นสังขาร จะเป็นอารมณ์เงียบอยู่ตามปกติ ไม่มีกิริยาในการแสดงออกในทางความคิดปรุงแต่งอะไร ไม่สนใจในสิ่งที่มาสัมผัสนั้นๆ
   
   ส่วนอารมณ์ที่ชอบใจ และอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ ทั้งสองนี้จะก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้นที่ใจ จึงได้เกิดความฟุ้งไปตามอารมณ์นั้นจนลืมตัว อารมณ์ที่ไม่ชอบใจจึงคิดไปในทางอิจฉาตาร้อน คิดฟุ้งปรุงแต่งไปในทางอิจฉา ริษยา เบียดเบียนเพื่อเอาชนะคนอื่นด้วยความโกรธแค้น คิดฟุ้งไปในวิธีการทำ การพูดให้แก่คนอื่นได้รับความเสียหาย เพื่อทำลายชื่อเสียงเกียรติยศให้แก่คนอื่น เพื่อทำลายลาภ ยศ สรรเสริญ และความสุขแก่คนอื่นให้ลดน้อยลงหรือให้หมดไป
   
   ความคิดฟุ้งไปในลักษณะนี้เป็นความคิดของบุคคลที่ไม่มีคุณธรรมประจำใจ เป็นความคิดของอันธพาลสันดานชั่ว เป็นความคิดของผู้เห็นแก่ตัวที่มีอัตตาสูง เป็นความคิดที่จะทำให้เกิดความแตกแยกสามัคคี ไม่มีเมตตาธรรม ไม่มีกรุณาธรรม ไม่มีมุทิตาธรรม และไม่มีอุเบกขาธรรมประจำใจ จะทำให้คนอื่นเดือดร้อนด้วยการทำการพูดนี้มากมาย ไม่มีหิริความละอายใจ ไม่มีสติปัญญาความสำนึกตัวได้เลย ว่าการทำการพูดอย่างนี้จะทำให้คนอื่นเป็นทุกข์เดือดร้อนอย่างไร หาได้คิดไม่ มีแต่คิดไปฟุ้งไปเพื่อทำลายคนอื่นอยู่ตลอดเวลา หรือผู้ชอบคิดฟุ้งไปในลักษณะการกล่าวขวัญนินทาว่าร้ายแก่คนอื่นก็เช่นกัน จึงเรียกว่าคนนิสัยเสียสันดานชั่วลืมตัวเอง ถ้าไม่ชอบใจกับคนใดคนหนึ่งด้วยวิธีใด ใจก็จะผูกโกรธเอาไว้แล้วคิดหาวิธีที่จะทำลายคนนั้นให้ได้ นี้การฟุ้งไปในอนิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่ไม่ชอบใจ มูลเหตุที่จะให้เกิดอารมณ์ในลักษณะนี้มีอยู่มาก และจะทำให้เกิดเป็นมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดฝังใจได้อย่างสนิททีเดียว
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 09, 2011, 01:44:46 pm โดย เลดี้เบื๊อก »

ออฟไลน์ เลดี้เบื๊อก

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นไม้เล็กพริ้วไหวดั่งสายลม
  • *
  • กระทู้: 165
  • พลังกัลยาณมิตร 119
    • ดูรายละเอียด
Re: ความคิดฟุ้ง :: หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กันยายน 09, 2011, 02:03:53 pm »
   อิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่ชอบใจ อารมณ์นี้เป็นอารมณ์พิเศษที่ทุกคนมีความต้องการเป็นอย่างมาก ทุกคนพากันแสวงหาเพื่อให้ได้มาตามใจชอบ เป็นอารมณ์ที่ทำให้ใจเกิดความร่าเริงสนุกสนานเบิกบานใจ ไม่มีความเครียดอึดอัดใจ มีแต่ความโล่งโปร่งสุขใจสบายใจ เป็นอารมณ์ที่ทำให้เกิดรอยยิ้มภายในใจอยู่ตลอดเวลา หารู้ไม่ว่าเป็นอารมณ์ที่อาบด้วยยาพิษ ดังคำว่า ปิยโต ชายเต โสโก ความโศกเศร้าเสียใจ ความทุกข์ใจ ความตรอมใจ ความอาลัยอาวรณ์นอนไม่หลับ กินไม่ได้ย่อมเกิดจากอารมณ์ประเภทนี้ ถึงจะมีความสุขอย่างมหันต์ แต่ก็จะเกิดความทุกข์อย่างอนันต์เป็นผลตอบแทนได้เช่นกัน
   
   ฉะนั้นความใฝ่ฝัน ความต้องการของคนเราในโลกนี้ มีจุดหมายในอารมณ์ที่สุขกายสุขใจ เหมือนกัน หารู้ไม่ว่านี้คืออารมณ์เรียกน้ำตา ถ้ามีความรักมาก ก็มีความสุขมาก แต่อย่าลืมว่านี้คืออารมณ์แห่งความสุข ที่จะให้เกิดความทุกข์มากเช่นกัน ความสุขเกิดจากอะไร ความทุกข์ก็เกิดจากความสุขนั้นๆ ตามปกติของใจจะคิดฟุ้งไปหาอารมณ์ที่จะให้เกิดความสุข นั้นคืออารมณ์ของสมมติและสังขาร
   
   คำว่าสังขารคือ การปรุงแต่ง ก็เพื่อให้ถูกใจตัวเอง เหมือนการปรุงอาหารจะทำให้เกิดรสชาติออกมาอย่างไร ก็ปรุงเอาเอง จะแต่งลักษณะสีสันลวดลายให้เกิดความสวยงามอย่างไรก็แต่งเอง จะให้เกิดความสุขใจสบายใจอย่างไรก็ทำเองทั้งหมด นี้ฉันใด อารมณ์ใดที่จะปรุงแต่งเพื่อให้เกิดความสุขใจสบายใจ ก็ส่งใจฟุ้งไปในอารมณ์นั้นๆ เพื่อให้เกิดความรัก ให้เกิดความยินดีพอใจในสิ่งนั้นๆ เรียกว่ายั่วยุใจให้เกิดอารมณ์นั้นเอง
   
   สังขารการปรุงแต่ง ถ้าไม่มีมูลเหตุก็ปรุงแต่งไม่ได้ เหมือนปากกามีในมือ ถ้าไม่มีกระดาษมารองรับให้เขียน ก็จะไม่เป็นตัวหนังสือให้อ่านได้ นี้ฉันใด การปรุงแต่ง ถ้าไม่มีสมมติมาเป็นตัวรองรับ ก็ปรุงแต่งอะไรไม่ได้เช่นกัน ฉะนั้นจึงสร้างสมมติขึ้นมาเป็นตัวรองรับเพื่อจะใช้ความคิดปรุงแต่งได้ เหมือนกับอาหารหวานอาหารคาว พ่อครัวแม่ครัวจะปรุงอาหารประเภทไหนก็ขึ้นอยู่กับเครื่องปรุงที่มี จะปรุงรสจัด รสจืดหวานมากหวานน้อยอย่างไร ต้องปรุงให้ถูกใจตัวเอง นี้ฉันใด สมมติในเรื่องใดขึ้นมาก็ปรุงแต่งไปตามสมมตินั้นๆ ไปให้ถูกกับวัยของตัวเอง ถ้าวัยเด็กก็คิดฟุ้งไปตามวัยเด็ก ถ้าวัยหนุ่มสาวก็คิดฟุ้งไปตามวัยหนุ่มสาว รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จะคิดปรุงไปตามใจชอบให้กลมกลืนไปตามความอยากของตน ชอบในสิ่งใด จะคิดฟุ้งไปได้ทั้งวันทั้งคืน ถ้าวัยที่มีครอบครัวก็จะคิดปรุงฟุ้งไปในการสร้างฐานะเพื่อให้มีความร่ำรวย ถ้าวัยแก่ ก็จะคิดปรุงไปในการรักษาดูแลไม่ฟุ่มเฟือยในการจับจ่ายใช้สอย เห็นลูกหลานใช้จ่ายมากไปหรือไม่เก็บรักษา ก็จะคิดฟุ้งไปบ่นไปจุกจิกจู้จี้ คิดห่วงคนนั้นห่วงคนนี้ว่า เขาจะอยู่กันอย่างไร ใจก็จะคิดฟุ้งไปในเรื่องความเป็นห่วงในสิ่งนั้นๆ อีกมากมาย
   
   ฉะนั้น ความรุนแรงที่ฟุ้งไป จะอยู่ในวัยที่มีราคะตัณหา ราคะตัณหานี้เองจะเป็นพลังส่งพลังหนุนให้เกิดความฟุ้งไปจนลืมตัว จึงเรียกว่าตัณหาหน้ามืด ก็หมายถึงใจมืดบอดนั้นเอง จึงไม่รู้ว่าอะไรควรหรือไม่ควร เมื่อใจถูกราคะตัณหาครอบคลุมอยู่ก็จะเกิดความรัก ความกระสันดิ้นรนให้เป็นไปตามใจชอบ ไม่มีหิริความละอายใจ ไม่กลัวบาปอกุศลใดๆ ไม่มีสติปัญญาแก้ปัญหาให้แก่ใจจึงฟุ้งไปอยู่ตลอดเวลา
   
   ฉะนั้นการฟุ้งไปในสมมติสังขารนี้ จึงเป็นเรื่องใหญ่ในผู้ปฏิบัติภาวนาเป็นอย่างยิ่ง ถ้าผู้ไม่มีสติปัญญาที่ดี ก็จะปล่อยใจให้คิดไปตามราคะตัณหานี้อย่างไม่มีขอบเขต ยังหลงต่อไปว่าตัวเองมีความสุขอยู่กับราคะตัณหานี้ดีอยู่แล้ว มีแต่ความเพลิดเพลินร่าเริงอยู่กับความฟุ้งปรุงแต่งในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อย่างหน้าตาเฉย ไม่คิดว่าจะเกิดทุกข์ โทษภัยให้แก่ตัวเองแต่อย่างใด มีแต่ความชอบใจใฝ่ฝันอยู่ในการฟุ้งปรุงแต่งกับสมมติอยู่ตลอดเวลา ไม่มีคำว่าเบื่อหน่ายรำคาญใจแต่อย่างใด
   
   ฉะนั้น ผู้ภาวนาปฏิบัติต้องมีสติปัญญาระวังใจอย่าให้อารมณ์ประเภทนี้เกิดขึ้นที่ใจได้ ถ้าเกิดขึ้นมาก็ต้องใช้สติปัญญาสอนใจอยู่เสมอ ให้ได้รู้เห็นทุกข์โทษภัยในความหลงใหลในอารมณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ใจมีความเศร้าหมองขุ่นมัว ต้องแก้ไขให้ทันต่อเหตุการณ์ ถ้าปล่อยไว้นานจะเกิดเป็นอารมณ์สะสมทับถมใจมากขึ้น เหมือนกระจกที่ใสสะอาด ถ้าปล่อยให้ฝุ่นละอองเกาะติดอยู่บ่อยๆ ย่อมทำให้กระจกมืดมัวไปได้ จะมองไม่เห็นหน้าตัวเอง หรือเหมือนกับผ้าที่ถูกคราบสกปรก ก็ให้รีบซักฟอกเช็ดถูให้หมดไป นี้ฉันใด ใจเมื่อมีอารมณ์ที่สกปรกก็เริ่มใช้สติปัญญามาชำระสะสาง อย่าให้อารมณ์ที่สกปรกนี้ติดค้างอยู่ภายในใจได้ ให้มีความระวังสำรวมรักษา อย่าให้อารมณ์ประเภทนี้เกิดขึ้นที่ใจอีก จึงนับได้ว่า เป็นผู้ปฏิบัติที่ดีมีความฉลาดรอบรู้ในการรักษาใจและฉลาดรอบรู้ในอุบายวิธีแก้ปัญหาให้หมดจากใจไปได้
   
   ฉะนั้นการภาวนาปฏิบัติ ต้องศึกษาหลักการและวิธีการให้เข้าใจ ตีความในปริยัติให้ถูกกับความหมายให้เข้าใจในคำว่า สมถะ ให้เข้าใจในคำว่า วิปัสสนา เพราะแต่ละอุบายนั้นมีความแตกต่างกัน
   
   คำว่าสมถะ ก็คือการทำสมาธิเพื่อให้ใจมีความตั้งมั่นและมีความสงบ คำว่าวิปัสสนา ก็หมายถึงปัญญาที่พิจารณาให้เป็นไปตามความเป็นจริงในหมวดธรรมนั้นๆ แต่ละอุบายมีความหมายที่แตกต่างกันอยู่ก็ตาม เมื่อนำมาปฏิบัติจะเป็นอุบายเชื่อมโยงต่อกันได้เป็นอย่างดี จึงเป็นแนวทางปฏิบัติให้เป็นไปตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างสมบูรณ์ มิใช่ว่าจะทำสมาธิเพื่อให้ใจมีความสงบตามแบบฉบับของหมู่ดาบสฤๅษีดังที่เห็นกันในปัจจุบัน ที่สำคัญคือ การเจริญวิปัสสนาแต่ไม่ให้ความสนใจ ไม่ยอมฝึกความคิด ไม่ยอมฝึกปัญญาให้เกิดขึ้นแก่ตัวเอง อย่างมากก็เพียงไปศึกษาในหลักปริยัติ แล้วใช้ปัญญาพิจารณาตามหลักปริยัติไปเท่านั้น จะเข้าใจว่าได้เจริญในวิปัสสนาแล้วในลักษณะอย่างนี้หาใช่ไม่ นี้เป็นเพียงใช้ปัญญาพิจารณาไปตามสัญญาในหมวดปริยัติเท่านั้น ยังไม่เป็นการเจริญวิปัสสนาอย่างสมบูรณ์
   
   การเจริญวิปัสสนาหมายถึง ใช้ความสามารถสติปัญญาของตัวเองเป็นหลัก ไม่จำเป็นจะให้ถูกตามประโยคข้อความในปริยัติไปเสียทั้งหมด มิใช่ว่าจะยกเอาปริยัติมาพิจารณาให้ถูกต้องทุกประโยคทุกข้อความไป ประโยคข้อความนั้นเป็นปัญญาของนักปราชญ์ท่านเขียนไว้เพียงเป็นแนวทางเท่านั้น ส่วนประโยคข้อความของปัญญาเรา ถึงจะใช้สำนวนข้อคิดที่แตกต่างกันกับปริยัติไปบ้างก็ไม่เป็นไร ไม่ทำให้เกิดความเสียหาย หลักที่สำคัญนั้นคือ ความหมายให้ถูกต้องตรงกันกับหลักปริยัตินั้นๆ เพราะปฏิภาณโวหารในการใช้อุบายในการพิจารณาไม่เหมือนกัน ฉะนั้นการฝึกวิปัสสนาหรือฝึกปัญญา อย่าเอาตามตำราและอย่าทิ้งตำราแล้วกัน

http://agaligohome.com/index.php?topic=4827.new#new

ออฟไลน์ ต๊ะติ้งโหน่ง

  • ต้นไม้เล็กพริ้วไหวดั่งสายลม
  • ***
  • กระทู้: 259
  • พลังกัลยาณมิตร 76
    • ดูรายละเอียด
Re: ความคิดฟุ้ง :: หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: กันยายน 09, 2011, 09:06:53 pm »
มีตั้งสามอย่าง

1+2 ฟุ้งซ่าน แล้วเอาสังขารปรุงแต่งไปกลบ ไปลบ ไปไหลตามไป
ยิ่งหนักหนาสาหัสอ่า