พืชแม้มาก อันบุคคลหว่านแล้วในนาดอน ผลย่อมไม่ไพบูลย์
ทั้งไม่ยังชาวนาให้ยินดี ฉันใด, ทานมากมาย อันบุคคลตั้งไว้
ในหมู่ชนผู้ทุศีล ผลย่อมไม่ไพบูลย์ ทั้งไม่ยังทายกให้ยินดี
ฉันนั้นเหมือนกัน;
พืชแม้เล็กน้อย อันบุคคลหว่านแล้วในนาดี
เมื่อฝนหลั่งสายน้ำถูกต้อง (ตามกาล) ผลก็ย่อมยังชาวนา
ให้ยินดีได้ ฉันใด, เมื่อสักการะแม้เล็กน้อยอันทายกทำแล้ว
ในเหล่าท่านผู้มีศีล ผู้มีคุณคงที่ผลก็ย่อมยังทายกให้ยินดีได้
ฉันนั้นเหมือนกัน.
ทานที่ให้ในทักขิไณยบุคคลมีผลมาก ถามว่า "ก็บุรพกรรมของอินทกเทพบุตรนั้น เป็นอย่างไร?"
แก้ว่า "ได้ยินว่า อินทกเทพบุตรนั้นได้ให้ถวายภิกษาทัพพีหนึ่งที่เขานำมาแล้วเพื่อตน แก่พระอนุรุทธเถระผู้เข้าไปบิณฑบาตภายในบ้าน. บุญของเธอนั้น มีผลมากกว่าทานที่อังกุรเทพบุตร ทำแถวเตาไฟยาวตั้ง ๑๒ โยชน์ ให้แล้วตั้งหมื่นปี เพราะเหตุนั้น อินทกเทพบุตรจึงกราบทูลอย่างนั้น."
เมื่ออินทกเทพบุตรกราบทูลอย่างนั้นแล้ว พระศาสดาตรัสว่า "อังกุระ การเลือกเสียก่อนแล้วให้ทานจึงควร ทานนั้นย่อมมีผลมากด้วยอาการอย่างนี้ ดุจพืชที่เขาหว่านดีในนาดีฉะนั้น แต่เธอหาได้ทำอย่างนั้นไม่ เหตุนั้น ทานของเธอจึงไม่มีผลมาก"
เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนี้ให้แจ่มแจ้ง จึงตรัสว่า :-
ทานอันบุคคลให้แล้วในเขตใด มีผลมาก,
บุคคลพึงเลือกให้ทานในเขตนั้น; การเลือกให้อัน
พระสุคตทรงสรรเสริญแล้ว, ทานที่บุคคลให้แล้ว
ในทักขิไณยบุคคลทั้งหลาย ที่มีอยู่ในโลก คือหมู่
สัตว์ที่ยังเป็นอยู่นี้ มีผลมาก เหมือนพืชที่บุคคล
หว่านแล้วในนาดีฉะนั้น.
เมื่อจะทรงแสดงธรรม
ให้ยิ่งขึ้นไป ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า :-
นาทั้งหลายมีหญ้าเป็นเครื่องประทุษร้าย
หมู่สัตว์นี้มีราคะเป็นเครื่องประทุษร้าย, เพราะ
เหตุนั้นแล ทานที่บุคคลให้แล้ว ในท่านที่มีราคะ
ไปปราศแล้วทั้งหลาย จึงมีผลมาก.
นาทั้งหลายมีหญ้าเป็นเครื่องประทุษร้าย
หมู่สัตว์นี้มีโทสะเป็นเครื่องประทุษร้าย, เพราะ
เหตุนั้นแล ทานที่บุคคลให้แล้วในท่านผู้มีโทสะ
ไปปราศแล้วทั้งหลาย จึงมีผลมาก.
นาทั้งหลายมีหญ้าเป็นเครื่องประทุษร้าย
หมู่สัตว์นี้มีโมหะเป็นเครื่องประทุษร้าย, เพราะ
เหตุนั้นแล ทานที่บุคคลให้แล้วในท่านผู้มีโมหะ
ไปปราศแล้วทั้งหลาย จึงมีผลมาก.
นาทั้งหลายมีหญ้าเป็นเครื่องประทุษร้าย
หมู่สัตว์นี้มีความอยากเป็นเครื่องประทุษร้าย
เพราะเหตุนั้นแล ทานที่บุคคลให้แล้ว ในท่านผู้
มีความอยากไปปราศแล้วทั้งหลาย จึงมีผลมาก.
ในกาลจบเทศนา อังกุรเทพบุตรและอินทกเทพบุตรดำรงอยู่แล้วในโสดาปัตติผล. (ธรรมเทศนาได้มีประโยชน์แม้แก่มหาชนแล้ว).
พระศาสดาเสด็จไปโปรดพระมารดาชั้นดาวดึงส์ ลำดับนั้น พระศาสดาประทับนั่งในท่ามกลางเทวบริษัท ทรงปรารภพระมารดาเริ่มตั้งอภิธรรมปิฎกว่า "
กุสลา ธมฺมา, อกุสลา ธมฺมา, อพฺยากตา ธมฺมา" ดังนี้เป็นต้น. ทรงแสดงอภิธรรมปิฎกโดยนัยนี้เรื่อยไปตลอด ๓ เดือน.
ก็แลทรงแสดงธรรมอยู่ ในเวลาภิกษาจาร ทรงนิรมิตพระพุทธนิรมิต ด้วยทรงอธิษฐานว่า "
พุทธนิรมิตนี้จงแสดงธรรมชื่อเท่านี้ จนกว่าเราจะมา" แล้วเสด็จไปป่าหิมพานต์ ทรงเคี้ยวไม้สีฟันชื่อนาคลตา บ้วนพระโอษฐ์ที่สระอโนดาต นำบิณฑบาตมาแต่อุตตรกุรุทวีป ได้ประทับนั่งทำภัตกิจในโรงกว้างใหญ่แล้ว.
พระสารีบุตรเถระไปทำวัตรแด่พระศาสดาในที่นั้น. พระศาสดาทรงทำภัตกิจแล้ว ตรัสแก่พระเถระว่า "สารีบุตร วันนี้ เราภาษิตธรรมชื่อเท่านี้ เธอจงบอกแก่ (ภิกษุ ๕๐๐) นิสิตของตน." ได้ทราบว่า กุลบุตร ๕๐๐ เลื่อมใสยมกปาฏิหาริย์ บวชแล้วในสำนักของพระเถระ.
พระศาสดาตรัสแล้วอย่างนั้น ทรงหมายเอาภิกษุเหล่านั้น. ก็แลครั้นตรัสแล้ว
เสด็จไปสู่เทวโลก ทรงแสดงธรรมเอง ต่อจากที่พระพุทธนิรมิตแสดง. แม้พระเถระก็ไปแสดงธรรมแก่ภิกษุเหล่านั้น. ภิกษุเหล่านั้น เมื่อพระศาสดาเสด็จอยู่ในเทวโลกนั้นแล ได้เป็นผู้ชำนาญใน
ปกรณ์ ๗ แล้ว.
ได้ยินว่า ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่ากัสสป ภิกษุเหล่านั้นเป็นค้างคาวหนู ห้อยอยู่ที่เงื้อมแห่งหนึ่ง เมื่อพระเถระ ๒ รูปจงกรมแล้วท่องอภิธรรมอยู่ ได้ฟังถือเอานิมิตในเสียงแล้ว
ค้างคาวเหล่านั้นไม่รู้ว่า "
เหล่านี้ ชื่อว่าขันธ์, เหล่านี้ ชื่อว่าธาตุ" ด้วยเหตุสักว่าถือเอานิมิตในเสียงเท่านั้น จุติจากอัตภาพนั้น แล้วเกิดในเทวโลก เสวยทิพยสมบัติสิ้นพุทธันดรหนึ่ง จุติจากเทวโลกนั้นแล้ว
เกิดในเรือนตระกูลในกรุงสาวัตถี เกิดความเลื่อมใสในยมกปาฏิหาริย์ บวชในสำนักของพระเถระแล้ว ได้เป็นผู้ชำนาญในปกรณ์ ๗ ก่อนกว่าภิกษุทั้งปวง. แม้พระศาสดาก็ทรงแสดงอภิธรรมโดยทำนองนั้นแล ตลอด ๓ เดือนนั้น.
ในกาลจบเทศนา ธรรมาภิสมัยได้มีแก่เทวดา ๘ หมื่นโกฏิ.
แม้พระมหามายาก็ตั้งอยู่แล้วในโสดาปัตติผล.
พระโมคคัลลานเถระขึ้นไปทูลถามข่าวเสด็จลง
บริษัทมีปริมณฑล ๓๖ โยชน์แม้นั้นแล คิดว่า "แต่บัดนี้ไปในวันที่ ๗ จักเป็นวันมหาปวารณา" แล้วเข้าไปหาพระมหาโมคคัลลานเถระ กล่าวว่า "ท่านเจ้าข้า ควรจะทราบวันเสด็จลงของพระศาสดา เพราะข้าพเจ้าทั้งหลายไม่เห็นพระศาสดาแล้ว จักไม่ไป." ท่านพระมหาโมคคัลลานะฟังถ้อยคำนั้นแล้วรับว่า "ดีละ" แล้วดำลงในแผ่นดินตรงนั้นเอง อธิษฐานว่า "บริษัทจงเห็นเรา ผู้ไปถึงเชิงเขาสิเนรุแล้วขึ้นไปอยู่" มีรูปปรากฏดุจด้ายกัมพลเหลืองที่ร้อยไว้ในแก้วมณีเทียว ขึ้นไปแล้วโดยท่ามกลางเขาสิเนรุ. แม้พวกมนุษย์ก็แลเห็นท่านว่า "ขึ้นไปแล้ว ๑ โยชน์ ขึ้นไปแล้ว ๒ โยชน์" เป็นต้น แม้พระเถระขึ้นไปถวายบังคมพระบาทยุคลของพระศาสดา ดุจเทินไว้ด้วยเศียรเกล้า กราบทูลอย่างนี้ว่า "พระเจ้าข้า บริษัทประสงค์จะเฝ้าพระองค์ก่อนแล้วไป พระองค์จักเสด็จลงเมื่อไร?"