แสงธรรมนำใจ > ศิษย์โง่ไปเรียนเซ็น

นิทานเซ็น :จากมุมสงบ Kitty's Home

<< < (6/10) > >>

ฐิตา:


                 

ผัวะ ผัวะ ผัวะ

ท่านรินไซได้ไปเป็นศิษย์ของท่านฮวงโปอยู่ 3 ปี ได้ศึกษาพระธรรมวินัยและข้อปฏิบัติอย่างเคร่งครัด วันหนึ่งเพื่อนของท่านให้ไปถามท่านอาจารย์ฮวงโปว่า
“แก่นแท้ของพระพุทธศาสนาคืออะไร ?”

คำตอบที่ท่านได้รับก็คือ ถูกท่านฮวงโปตีด้วยไม้เท้า 3 ทีโดยไม่อธิบายอะไรเลย ท่านรินไซน้อยใจจึงคิดจะลาไปยังสำนักอื่น

ท่านฮวงโปจึงแนะนำให้ไปหาพระอาจารย์ต้ายู้ ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำเคาอัน ท่านต้ายู้พอทราบเรื่องราวทั้งหมด จึงบอกกับท่านรินไซว่า
“ที่ท่านฮวงโปตีเจ้านั้น ก็เพื่อปลดเปลื้องเจ้าให้ออกจากความทุกข์ต่างหากเล่า”

ท่านรินไซพิจารณาแล้วก็รู้แจ้งว่า
“พุทธธรรมนั้น น้อยนิดยิ่งนัก ไม่มีอะไรมากไปกว่าการทำใจไม่ให้เป็นทุกข์เท่านั้น”

ไม่มีความทุกข์เหลืออยู่อีกเลยเพราะหยุดคิดปรุงแต่งด้วยกิเลสเสียแล้ว ท่านได้กลับไปหาท่านฮวงโปอีกครั้ง และเล่าให้ฟังถึงการสนทนาธรรมและสิ่งที่ท่านได้รับจากท่านต้ายู้ ท่านอาจารย์ฮวงโป จึงคิดจะทดลองดูว่า ศิษย์รู้แจ้งในธรรมจริงแท้แค่ไหน จึงกล่าวว่า

“เจ้าต้ายู้นี่มันเพ้อเจ้อเหลือเกิน มาคราวหน้าถ้าพบกันอีกต้องตีเสียให้เข็ด”
“จะรอถึงคราวหน้าทำไม ทำไมไม่ตีเสียเลยคราวนี้”

ท่านรินไซกล่าวตอบ ว่าแล้วท่านก็ตบหน้าท่านฮวงโปฉาดใหญ่ ความปล่อยวางเกิดขึ้นในขณะเดียวกันทั้งศิษย์และอาจารย์ ท่านฮวงโปเพียงแต่พูดว่า
“เจ้าบ้าคนนี้ มันกำลังลูบหนวดเสือ”

เป็นการสอบไล่ขั้นสุดท้ายแบบเซ็น และทดสอบด้วยว่าอาจารย์เก่งจริง หมดกิเลสจริงหรือเปล่า เราท่านกล้าใช้วิธีนี้หรือเปล่า ?


ฐิตา:


                     

น้ำชาล้นถ้วย

ในสมัยเมจิ ประเทศญี่ปุ่น มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยท่านหนึ่ง เป็นผู้มีชื่อเสียงปราชญ์เปรื่องรอบรู้มาก ได้เดินทางไปพบท่านอาจารย์นันอิน เพื่อสนทนาและสอบปัญหาเกี่ยวกับเซ็น ท่านอาจารย์นันอิน ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี จัดการรินน้ำชาเพื่อเลี้ยงต้อนรับอาคันตุกะผู้ปราชญ์เปรื่องด้วยตนเอง ท่านรินน้ำชาลงถ้วยจนเต็มและล้นไปๆ ท่านก็ยังไม่หยุด อาจารย์จากมหาวิทยาลัยแปลกใจมาก จึงถามขึ้นด้วยความสงสัยว่า

“ท่านอาจารย์ น้ำชาล้นถ้วยแล้ว ท่านจะรินลงไปอีกได้อย่างไร?”

ท่านอาจารย์นันอินจึงตอบว่า
“ท่านเองก็เหมือนถ้วยชาใบนี้แหละ ในเมื่อสมองของท่านก็เต็มไปด้วยความคิดและทฤษฎีต่างๆ แน่นไปหมด โดยไม่ยอมปล่อยวางแล้ว ข้าพเจ้าจะอธิบายเรื่องเซ็นให้ท่านเข้าใจได้อย่างไร ทำถ้วยให้ว่างก่อนซิ ข้าพเจ้าจึงจะเติมลงไปได้”

ท่านอาจารย์นิพนธ์ ศศิธร เคยไปแสดงปาฐกถา ท่านกล่าวเริ่มต้นว่า ผู้ที่มาฟังท่านแสดงปาฐกถา ต่างก็ได้เตรียมภาชนะ เช่น ขันบ้าง อ่างบ้าง โอ่งบ้าง เพื่อมาใส่สิ่งที่ท่านจะแสดงให้ฟัง แต่บางคน ถึงแม้ว่าจะเตรียมภาชนะต่างฯ มาเหมือนกัน แต่ก็กลับคว่ำภาชนะนั้นเสีย ซึ่งก็คงไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการมาฟังปาฐกถาครั้งนั้น ท่านละครับ ท่านกำลังคว่ำถ้วยชาอยู่หรือเปล่า ?


ฐิตา:


                 

ผู้รับฟัง

ท่านอาจารย์บันไก เป็นอาจารย์เซ็นที่มีชื่อเสียงมากองค์หนึ่งในญี่ปุ่น การสอนของท่าน จะไม่กล่าวอ้างคัมภีร์หรือพระสูตรใดๆ เลย แต่จะใช้วิธีการสอนแบบตรง จากใจสู่ใจเลยทีเดียว ซึ่งแปลกจากพระนิกายอื่น จึงทำให้มีผู้ติดตามคอยรับฟังคำสอนเป็นจำนวนมาก ทางนิกายนิชิเรนเห็นว่า ถ้าปล่อยให้เป็นไปเช่นนี้ นิกายนิชิเรนต้องเสื่อมความนับถือและดับสูญแน่ จึงส่งพระที่มีสติปัญญาเยี่ยมของตน ไปปะทะคารมกับท่านอาจารย์บันไกเพื่อให้รู้แพ้รู้ชนะกันเลย ขณะที่พระนิชิเรนไปถึง ท่านอาจารย์บันไกกำลังแสดงธรรมอยู่พอดี พระนิชิเรนจึงไปปรากฏตัวท่ามกลางที่ประชุมแล้วร้องท้าทาย

“เฮ้! อาจารย์เซ็น หยุดสักประเดี๋ยวได้ไหม ท่านน่ะมีความสามารถแต่ทำให้ชาวบ้านหลงเชื่อท่านเท่านั้น แต่คนอย่างข้าพเจ้าไม่เคยเชื่อท่านเลย ถ้าท่านแน่จริงก็ลองออกคำสั่งให้ข้าพเจ้าทำตามซิ”

ท่านอาจารย์บันไกยิ้มอย่างเยือกเย็น แล้วพูดเรียบๆ ขึ้นว่า
“เอาซิ แต่ตอนนี้ท่านมายืนทางด้านซ้ายของข้าพเจ้าก่อนซิ”

พระนิกายนิชิเรนก้าวไปยืนทางด้านซ้ายของท่าน อาจารย์บันไกอย่างไม่หวั่น แต่ท่านอาจารย์กลับพูดอีกว่า
“โอ! ไม่ใช่ๆ มายืนทางด้านขวาดีกว่า จะได้พูดกันถนัดๆ”

พระนิชิเรน ก็ก้าวไปยืนทางด้านขวาอย่างไม่สะทกสะท้าน ท่านอาจารย์บันไกจึงว่า
“เห็นหรือยังล่ะ! ว่าท่านกำลังทำตามคำสั่งของข้าพเจ้าอยู่ และข้าพเจ้าก็เชื่อว่า ท่านเป็นคนที่สอนได้เสียด้วย นั่งลงเถอะแล้วฟังข้าพเจ้าสอนดีกว่า”

การสอนแบบเซ็นเต็มไปด้วยอุบายและปริศนาให้ขบคิด สำหรับผู้ที่ไม่รู้แล้วยอมรับว่าไม่รู้ ก็คงยังเป็นผู้ที่สอนได้อยู่ ส่วนคนโง่ที่คิดว่าตัวฉลาดนั้น ก็คงต้องปล่อยไปตามยถากรรม


ฐิตา:


                   

ผู้ปล่อยวาง

ท่านริโยกัน เป็นพระเซ็นที่ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายแบบสมณเพศในกระท่อมเล็กๆ หลังหนึ่งตรงเชิงเขา คืนหนึ่งขณะที่ท่านริโยกันไม่อยู่ ก็มีขโมยลอบเข้าไปในกระท่อมแต่พบว่า ไม่มีทรัพย์สมบัติอะไรเลยที่มีค่าพอจะลักเอาไปได้ ในขณะนั้นท่านอาจารย์ริโยกันก็กลับมาพอดี พอเห็นขโมย แทนที่ท่านจะโกรธ ท่านกับพูดกับขโมยผู้นั้นว่า

“เจ้าคงเดินทางมาไกลโขซินะ ฉะนั้นเจ้าไม่ควรจะกลับไปมือเปล่า นี่แน่ะเอาเสื้อที่ฉันสวมอยู่นี่ติดมือกลับไปด้วยเถอะ คิดเสียว่าเป็นของกำนัลจากฉัน”

ว่าแล้วท่านก็ถอดเสื้อที่ท่านกำลังสวมอยู่ส่งให้ขโมยไป ขโมยรับเสื้อด้วยความงุนงง แล้วรีบหลบจากกระท่อมไปทันที เมื่อขโมยไปแล้ว ท่านอาจารย์ริโยกันก็นั่งลงมองพระจันทร์ และรำพึงว่า
“เจ้าขโมยที่น่าสงสาร ฉันคิดว่าฉันควรจะให้พระจันทร์ที่สวยงามดวงนี้แก่เจ้าแทนเสื้อตัวนั้นมากกว่า”
ผู้ที่หลุดพ้นแล้ว ย่อมไม่มีความยึดถืออะไรเหลืออยู่อีก ไม่ว่ามิตร หรือศัตรู ก็มีความหมายเช่นกัน

สำหรับปุถุชนเช่น เราๆ ท่านๆ ถ้าหากรู้จักยอมเสียสละสิ่งที่เหลือใช้ หรือเป็นส่วนเกินของชีวิต ออกไปให้แก่ผู้ที่ยังขาดแคลนบ้าง เพียงเท่านี้สังคมก็คงจะน่าอยู่ขึ้นอีกมากทีเดียว


ฐิตา:


               

รักจริงหรือ

แม่ชีอีชุนเป็นแม่ชีในพระพุทธศาสนาแบบเซ็น เธอเป็นสตรีที่มีรูปร่างหน้าตางดงามมาก ถึงแม้จะโกนผมจนศีรษะโล้นแล้วก็ตาม และแม้จะนุ่งห่มด้วยผ้าธรรมดา ๆ อย่างเรียบง่ายแล้ว เธอก็ยังจัดเป็นหญิงที่สวยงามมากคนหนึ่ง ในหมู่พระภิกษุ 20 รูปที่ได้มาร่วมศึกษาเซ็นในสำนักอาจารย์เดียวกัน มีพระภิกษุหลายองค์ที่มาหลงรักเธออย่างเงียบ ๆ และมีองค์หนึ่ง ถึงกับเขียนจดหมายมาแสดงความรักต่อเธอและขอนัดพบเธอ แม่ชีอีชุน ไม่ได้ปริปากหรือตอบจดหมายนั้นแต่อย่างใด กระทั่งถึงวันหนึ่ง หลังจากที่ได้ฟังท่านอาจารย์เทศน์สั่งสอนจบลงแล้ว และบรรดาศิษย์ทั้งหลายยังอยู่กันพร้อมหน้า แม่ชีอีชุนก็ได้ลุกขึ้นยืน และกล่าวแก่พระภิกษุผู้ส่งจดหมายรักด้วยเสียงอันดังว่า

“นี่แน่ะท่านผู้ที่รักและปรารถนาในตัวฉัน ถ้าท่านรักฉันมากจริงตามที่ท่านบอกแล้ว ขอให้ท่านออกมาเถิด มากอดฉันได้เดี๋ยวนี้เลย”

สำหรับผู้ที่ปฏิบัติธรรมแล้ว ความซื่อสัตย์และจริงใจต่อตนเองเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ที่จะต้องยึดถือปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา ถ้าหากยังไม่รู้จักสถานะของตนเองแล้ว ปฏิบัติธรรมไปก็ไร้ประโยชน์


นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version