แสงธรรมนำใจ > ศิษย์โง่ไปเรียนเซ็น

นิทานเซ็น :จากมุมสงบ Kitty's Home

<< < (8/10) > >>

ฐิตา:


เสียงของมือข้างเดียว

อาจารย์เซนแห่งวันเคนนินคือท่านโมกุไร ซึ่งชื่อของท่านก็มีความหมายว่า "เสียงฟ้าร้องอันเงียบเชียบ" ท่านมีเด็กน้อยอายุเพียง 12 ปี คนหนึ่งชื่อ โตโย เป็นลูกศิษย์ที่อยู่ในความาดูแลของท่าน โตโยเห็นศิษย์รุ่นพี่ๆ เข้ามาเยี่ยมอาจารย์ที่ห้องทุกเช้าและเย็นเพื่อรับคำสั่งสอนเกี่ยวกับซาเซน (สมาธิภาวนาแบบเซน) หรือไม่ก็มาขอรับคำแนะนำในการขบโกอานที่ได้รับไป (ซึ่งจะใช้มันหยุดพฤติกรรมของจิตที่ชอบท่องเที่ยวเพลิดเพลินไปต่างๆ นานาของพวกเขา)

โตโยน้อยก็ปรารถนาที่จะทำซาเซนกับเขาบ้าง
"รอก่อน" ท่านโมกุไรกล่าวขึ้น "เธอยังเด็กนัก" แต่เด็กน้อยก็ยืนกรานอยู่เช่นเดิม ดังนั้น ในที่สุดท่านอาจารย์เฒ่าก็ยินยอม
      พอถึงตอนเย็นเจ้าโตโยน้อยก็หาโอกาสไปยังธรณีประตูห้องซาเซนของท่านโมกุไร เขาเคาะฆ้องเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการมาของเขา โค้งคำนับอย่างคารวะยิ่ง 3 ครั้งที่ข้างนอกประตู แล้วก็เข้าไปนั่งข้างหน้าอาจารย์อย่างเงียบๆ ด้วยความคารวะ
"เธอคงเคยได้ยินเสียงของมือ 2 ข้างที่ผู้คนเขาใช้ตบมือกัน" ท่านโมกุไรกล่าวขึ้น "ทีนี้ลองแสดงเสียงของมือข้างเดียวให้ฉันฟังซิ"

โตโยโค้งคารวะแล้วลาออกมายังห้องพักของเขา เพื่อมาขบคิดปัญหานี้ให้แตกให้จงได้ จากหน้าต่างห้องพักของเขา เขาได้ยินเสียงดนตรีของพวกเกอิชา "อา, ฉันได้มันแล้ว!" เขาประกาศก้อง
ค่ำวันต่อมา เมื่ออาจารย์ของเขาขอให้เขาแสดงเสียงของมือข้างเดียวให้ฟัง โตโยก็เริ่มต้นทำเพลงของเกอิชาขึ้นทันที
"ไม่ใช่ ไม่ใช่" อาจารย์โมกุไรกล่าวขึ้น "นั่นมันไม่ใช่ดอก นั่นไม่ใช่เสียงของมือข้างเดียว เธอยังไม่รู้จักมันเลย"

ด้วยความคิดว่าเสียงดนตรีดังกล่าวอาจจะขัดขวางการเสาะหาของเขา โตโยจึงได้ย้ายไปพำนักอาศัยอยู่ในสถานที่เงียบสงัดกว่าเก่า และเริ่มทำสมาธิภาวนาอีกครั้งหนึ่ง "เสียงของมือข้างเดียวนี่มันเป็นอย่างไรกันน่ะ?" และก็บังเอิญเขาก็ได้ยินเสียงน้ำหยดลงสู่พื้น "ได้แล้ว ฉันได้มันแล้ว" โตโยคิด
เมื่อเขาได้มาอยู่ต่อหน้าอาจารย์เฒ่าอีก โตโยก็ทำเสียงเลียนเสียน้ำหยดให้อาจารย์ฟัง
"อะไรน่ะ?" ท่านโมกุไรถามขึ้น "นั่นมันเสียงน้ำหยดนี่ ไม่ใช่เสียงของมือข้างเดียว ลองดูใหม่อีกที"

โตโยกลับมาปฏิบัติสมาธิฟังเสียงของมือข้างเดียวอย่างไร้ผล เขาได้ยินเสียงของลมที่พัดวูบไป แต่นั่นก็ถูกอาจารย์ปฏิเสธอีก เขาได้ยินเสียงร้องของนกเค้าแมว แต่อาจารย์ก็สั่นหน้าอีก และเสียงของมือข้างเดียวก็ไม่ใช่เสียงของตั๊กแตนอีกด้วยเช่นกัน
         มากกว่า 10 ครั้งที่โตโยเข้าไปพบอาจารย์โมกุไรด้วยเสียงที่แปลกๆ แตกต่างกัน แต่ทั้งหมดก็ไม่ใช่ เป็นเวลาเกือบ 1 ปี ที่เขาเพ่งพินิจอยู่ตลอดเวลาว่าเสียงของมือข้างเดียวมันควรจะเป็นอย่างไร
         ในที่สุด โตโยน้อยก็ได้ลุถึงสมาธิภาวนาที่แท้ และข้ามพ้นเสียงนานาไปเสียได้ "ฉันไม่ได้ยินเสียงอะไรอีกแล้ว" เขาอธิบายในเวลาต่อมา "ดังนั้น ฉันจึงได้ยินเสียงที่ไร้เสียงได้ในที่สุด" โตโยได้ประจักษ์แล้วต่อเสียงของมือข้างเดียว


-http://www.gotoknow.org/blogs/posts/52425

ฐิตา:
     

พระถูกปล้น
Published: October 23, 2011

ท่านอาจารย์ชิจิริโกชุน เป็นอาจารย์เซ็นที่มีชื่อเสียงมากองค์หนึ่ง
วันหนึ่งขณะที่ท่านกำลังนั่งสวดมนต์อยู่ในกุฏิ ก็มีโจรคนหนึ่งย่องเข้ามา
พร้อมด้วยดาบยาวในมือ เพื่อจะขโมยเงิน ก็พอดีมาพบท่านอาจารย์เข้า
ท่านอาจารย์จึงเอ่ยขึ้นว่า
“พ่อคุณ ฉันกำลังสวดมนต์อยู่ อย่ามากวนฉันเลย เงินอยู่ในลิ้นชักโน่นแน่ะ”
แล้วท่านอาจารย์ก็สวดมนต์ต่อไป หลังจากนั้นชั่วครู่ ท่านนึกขึ้นได้ จึงพูดต่ออีกว่า
“แต่เธออย่าเอาไปหมดนะ เหลือเอาไว้ให้ฉันเสียภาษีในวันพรุ่งนี้บ้าง”

โจรคนนั้นรวบรวมเงินในลิ้นชักเกือบหมด แล้วเตรียมจะหลบหนีไป
ท่านอาจารย์จึงกล่าวขึ้นอีกว่า
“นี่เธอ รู้จักขอบใจคนที่ให้ของเธอบ้างซิ”
โจรกล่าวขอบใจท่านอาจารย์ แล้วรีบหลบหนีไป

ต่อมาไม่นาน โจรคนนั้นก็ถูกเจ้าหน้าที่จับได้ และสารภาพว่า
เคยไปกระทำโจรกรรมในวัดของท่านชิจิริโกชุน
เจ้าหน้าที่จึงได้มานิมนต์ท่านไปให้การในฐานะพยาน ท่านอาจารย์ให้การว่า
“ชายคนนี้ไม่ได้ขโมยเงินของฉันดอก
เพราะเมื่อเวลาฉันให้เงินเขาแล้ว เขายังกล่าวขอบคุณฉันเลย”

หลังจากพ้นโทษแล้ว โจรคนนั้นก็ได้ตรงไปหาท่านอาจารย์และขอสมัครตัวเป็นศิษย์ของท่าน
เมื่อรู้แจ้งแล้ว ก็ไม่เหลือตัวกู ของกู ให้รกรุงรังอีกต่อไป


-http://kitty.in.th/index.php/zen/zen-48/

ฐิตา:


         

ขโมยกลับใจ
Published: October 23, 2011

   อาจารย์บันไก ได้เปิดสอนวิปัสสนากรรมฐาน ขึ้นที่วัดของท่าน เนื่องจากท่านเป็นอาจารย์เซ็นที่มีชื่อเสียง จึงมีนักศึกษามาจากทั่วสารทิศในประเทศญี่ปุ่น เข้ามารับการศึกษาเป็นจำนวนมาก ในจำนวนนักศึกษาที่มาศึกษานั้น มีผู้หนึ่งชอบประพฤติตัวเป็นขโมย ชอบขโมยทรัพย์สินของนักศึกษาด้วยกัน วันหนึ่งถูกจับได้ พวกนักศึกษาโกรธแค้นมาก จึงนำเรื่องไปฟ้องร้องท่านอาจารย์บันไก แต่ท่านก็กลับนิ่งเฉย
   ต่อมา นักศึกษาผู้นั้นก็ทำการขโมยของ และถูกจับได้อีก พวกนักศึกษาจึงพากันไปกล่าวโทษอีก แต่ท่านอาจารย์กลับทำเป็นไม่สนใจ คราวนี้พวกนักศึกษาโกรธมาก จึงยื่นคำขาดกับท่านอาจารย์บันไกว่า หากท่านอาจารย์ยังไม่ยอมชำระโทษหัวขโมยให้อีก พวกตนจะพากันออกจากสำนักทั้งหมด เมื่อท่านอาจารย์บันไกได้อ่านคำฟ้องแล้ว ท่านก็ให้เรียกประชุมบรรดานักศึกษาทั้งหลาย และกล่าวว่า

“พวกเธอทั้งหลายที่ลงชื่อในหนังสือฟ้องร้องนี้ นับว่าเป็นคนฉลาดมาก เพราะเธอต่างก็รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรควรทำอะไรควรละเว้น หากพวกเธอประสงค์จะออกจากสำนักฉันไปศึกษาต่อที่อื่นฉันก็ยินดี ให้เธอไปได้ตามแต่ใจปรารถนา แต่เจ้าเพื่อนขี้ขโมยที่น่าสงสารของเธอคนนี้ เขายังโง่เขลามาก ยังไม่รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด ถ้าหากฉันไม่สอนเขาแล้ว ใครล่ะจะเป็นผู้สอน เธอทั้งหลายจงเห็นใจเถิดที่ฉันต้องให้เขาอยู่กับฉันต่อไป”

       พอท่านอาจารย์กล่าวจบลง นักศึกษาหัวขโมยก็ร้องไห้ออกมาด้วยความเสียใจอย่างสุดซึ้ง
       ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ก็กลับตัวเป็นคนดีไม่มีนิสัยชอบขโมยของอีกเลย
       ท่านอาจารย์คงได้พิจารณาดูแล้วว่า นักศึกษาหัวขโมยยังคงพอจะโปรดได้ แต่ถ้าเป็นสมัยนี้
       ท่านอาจจะต้องใช้วิธีตรงกันข้ามก็ได้



ฐิตา:


           

สิ่งที่ควรทำ
Published: October 23, 2011

ที่ประเทศญี่ปุ่น ในสมัยกามากูระ มีนักศึกษาผู้หนึ่งชื่อ ชินกัน ได้ศึกษาพุทธปรัชญาตามแนวของนิกายเท็นได เป็นเวลาถึง 6 ปี แล้วไปศึกษาตามแนวของเซ็นอีก 7 ปี จากนั้นได้เดินทางไปประเทศจีนและได้ศึกษาเซ็นตามแนวของจีนอีก 13 ปี เมื่อเขากลับมาประเทศญี่ปุ่น จึงมีผู้สนใจสนทนาซักถามปัญหาธรรมต่างๆ แต่ท่านชินกัน ก็ไม่ค่อยจะยอมตอบคำถาม วันหนึ่ง มีนักศึกษาเฒ่าจากสำนักเท็นไดมาหาท่านชินกันและกล่าวว่า

“ข้าพเจ้าได้ศึกษาอยู่ในสำนักเท็นไดมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ได้รับฟังคำสอนมาก็มาก แต่มีสิ่งหนึ่งที่ข้าพเจ้าไม่สามารถเข้าได้ใจจนทุกวันนี้ คือทางสำนักได้สอนว่า ในโลกนี้แม้แต่ต้นหญ้าและต้นไม้ก็อาจบรรลุหรือตรัสรู้ได้ เป็นสิ่งที่น่าประหลาดสำหรับข้าพเจ้ามาก”

“มันมีประโยชน์อะไรหรือเปล่า ที่เราจะมานั่งถกเถียงกันว่าต้นหญ้าและต้นไม้ตรัสรู้ได้หรือไม่อย่างไร แต่ปัญหามันควรจะอยู่ที่ว่า ตัวท่านเองนั้นแหละจะสามารถบรรลุถึงการตรัสรู้ได้อย่างไร ท่านเคยคิดถึงเรื่องนี้บ้างหรือเปล่า ? ” ท่านชินกันถาม
“จริงสินะ ข้าพเจ้าไม่เคยคิดมาก่อนเลย” นักศึกษาเฒ่าตอบ
ท่านชินกันจึงบอกว่า
“ถ้าอย่างนั้นก็กลับบ้าน และลงมือคิดได้แล้ว”

 พระพุทธองค์เคยตรัสสอนพราหมณ์ ที่มาถามปัญหาพากอภิปรัชญาทั้งหลาย เช่น ชาตินี้ ชาติหน้ามีจริงหรือไม่ ว่าไม่มีประโยชน์อะไร ทรงเปรียบเทียบให้ฟังว่า
“เหมือนคนถูกยิงด้วยลูกศร แทนที่จะรีบรักษา กลับจะมัวหาคำตอบให้ได้เสียก่อนว่า ใครเป็นผู้ยิง ลูกศรทำด้วยอะไร คันศรทำด้วยอะไร เช่นนี้ก็คงไม่ทันการ”
 การปฏิบัติธรรมเพื่อให้พ้นทุกข์ก็เช่นกัน ท่านว่าจริงไหมครับ ?



ฐิตา:
           

สัจมรรค
Published: October 23, 2011

ท่านอาจารย์นินากาวะ เป็นอาจารย์ของท่านอิคกุยุ ในวาระที่ท่านอาจารย์นินากาวะใกล้จะสิ้นลมหายใจ ท่านอาจารย์อิคกุยุ ก็ได้ไปเยี่ยม และถามท่านนินากาวะว่า

“ท่านอาจารย์ต้องการให้ผมนำทางให้ไหม?”
ท่านอาจารย์นินากาวะ ตอบว่า
“ท่านจะช่วยอะไรผมได้ เวลามาผมมาตัวคนเดียว เวลาผมจะไป ผมก็ต้องไปคนเดียว”

ท่านอิคกุยุได้ยินดังนั้นจึงตอบว่า
“ถ้าท่านอาจารย์ยังคิดว่า ท่านมาคนเดียว และไปคนเดียวอยู่ละก้อ แสดงว่าท่านหลงทางแล้ว ให้ผมนำทางท่านดีกว่า เพราะความจริงแล้ว ไม่มีการมาและการไปเลยต่างหาก”
ด้วยคำแนะนำของท่านอิคกุยุ เพียงเท่านี้ ท่านนินากาวะ ก็ถึงซึ่งความหลุดพ้น และมรณภาพไปด้วยความสงบ

สำหรับคำสอนทางพระพุทธศาสนา ความเชื่อที่ว่าตายแล้วเกิดแบบมีวิญญาณออกจากร่าง แล้วไปแสวงหาที่เกิดใหม่ เป็นมิจฉาทิฐิ และความเชื่อที่ว่าตายแล้วดับสูญ ก็เป็นมิจฉาทิฐิเช่นกัน ความจริงคนเราเป็นเพียงปัจจัยต่างๆ ที่รวมตัวกัน เมื่อคงอยู่ไม่ได้ก็สลายตัวไปรวมกับปัจจัยตัวอื่นๆ ซึ่งเมื่อรวมตัวครบก็เกิดเป็นคนใหม่ขึ้นมาอีก คนใหม่ก็ไม่ใช่คนเก่าเพราะปัจจัยไม่เหมือนกัน เปรียบเหมือนตอนเป็นเด็ก ปัจจัยที่รวมตัวกันเป็นเด็กก็อย่างหนึ่ง เมื่อแก่ ปัจจัยที่รวมตัวกันเข้าก็ไม่เหมือนกับตอนเป็นเด็ก แม้จะไม่ใช่ชุดเดียวกัน แต่ก็เป็นส่วนสืบเนื่องมาจากปัจจัยเมื่อตอนเป็นเด็กเพราะความยึดติดฝังแน่นเป็นปัจจัยสืบทอดตลอดมา จึงคิดว่าเป็นตัวตนของเราอย่างไม่ยอมเปลี่ยนแปลง .. เชื่อหรือไม่ ?

                   

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version