ผู้เขียน หัวข้อ: รู้เห็นอัตตาก่อนอนัตตา (ศิลาทับหญ้า อัตตาข่มกิเลส ภาค 2)  (อ่าน 2356 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ เลดี้เบื๊อก

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นไม้เล็กพริ้วไหวดั่งสายลม
  • *
  • กระทู้: 165
  • พลังกัลยาณมิตร 119
    • ดูรายละเอียด


รู้เห็นอัตตาก่อนอนัตตา
โดย พระอาจารย์ทูล ขิปปปญโญ
วัดป่าบ้านค้อ ต. เขือน้ำ อ. บ้านผือ จ. อุดรธานี
โทร (๐๘๒) ๒๔๕–๔๘๘

การน้อมใจพิจารณาในอนัตตา เริ่มต้นก็ให้รู้ว่า อัตตา ตัวตนเป็นอย่างไร มีส่วนประกอบด้วยธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ อย่างไร อาการ ๓๒ ที่ทุกคนเคยอ่านและเคยสวดมนต์กันอยู่แล้ว ก็ให้ใช้ปัญญาพิจารณาแยกแยะอาการแต่ละอย่างออกมา ให้รู้เห็นในลักษณะอาการนั้นให้ถูกต้อง ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ เป็นลักษณะอย่างไร ก็ทำความเข้าใจในสมมติว่าเป็นลักษณะนี้จริง ๆ เหมือนกับรถ ถ้ารื้อออกมาทั้งหมดแล้ว คำว่ารถก็จะหมดไปทันที ทุกอย่างจะเป็นเพียงชิ้นส่วนและอะไหล่ของรถเท่านั้น นี้ฉันใด

อัตตาที่เข้าใจว่าเป็นตัวเราทั้งหมดนี้ ถ้าพิจารณาด้วยปัญญาอยู่บ่อย ๆ ใจก็ค่อยรู้เห็นว่าไม่มีอัตตาตัวตนแต่อย่างใด จึงใช้ปัญญาฝึกใจให้เกิดความรู้เห็นตามความเป็นจริงอยู่เสมอและฝึกใจอยู่เสมอว่า อีกไม่นานัก ใจกับร่างกายนี้ ก็จะแยกทางกันไป ร่างกายจะเน่าทับถมอยู่ในพื้นดินนี้ ใจก็จะไปตามบุญกรรมที่ได้ทำเอาไว้แล้ว ทั้งเราทั้งเขา ก็จะเป็นอย่างนี้เหมือนกันทุกคน แม้แต่สัตว์ดิรัจฉานทุกประเภท ก็จะเป็นในลักษณะนี้เช่นกัน

สมาธิความสงบ ผู้ปฏิบัติภาวนาในยุคนี้สมัยนี้ จะมีความเข้าใจในวิธีทำสมาธิความสงบได้เป็นอย่างดี เพราะมีผู้สอนวิธีทำสมาธิความสงบกันอยู่มาก หากมีการภาวนาปฏิบัติก็จะประกาศว่าให้ภาวนากัน ทุกคนก็จะเข้าใจว่าการภาวนา คือทำใจให้มีความสงบ จะนึกถึงคำบริกรรม ทำให้จิตเกิดความสงบทันที วิธีทำสมาธิความสงบนั้นก็เริ่มต้นเหมือนกันกับวิธีทำสมาธิความตั้งใจมั่น เหมือนกันกับที่ได้อธิบายมาแล้ว ถ้าผู้มีนิสัยเจโตวิมุติ ผู้นั้นก็จะทำให้จิตมีความสงบได้เร็วขึ้น จิตก็จะดิ่งลงอัปปนาสมาธิเข้าสู่รูปฌาน อรูปฌาน ได้เป็นอย่างดี

ในช่วงที่จิตมีความสงบนี้เอง บางคนก็จะเกิดเป็นนิมิตในลักษณะต่าง ๆ กันไป ตามนิสัยของท่านผู้นั้น บางท่านก็จะไม่เกิดนิมิตแต่อย่างใดมีแต่ใจแน่วแน่อยู่ในความสงบนิ่งเฉยเพ่งอยู่ในฌานเท่านั้น

ในขณะจิตอยู่ในความสงบนั้น อาการของจิตก็จะอยู่ในอุเปกขาเฉยอยู่ บางคนก็สงบได้ไม่นาน บางคนก็สงบอยู่ได้นาน

ในขณะจิตมีความสงบอยู่นั้น เรื่องราคะ ตัณหา กิเลสน้อยใหญ่จะไม่ปรากฏที่ใจแต่อย่างใด เมื่อจิตถอนออกจากความสงบแล้ว อำนาจสมาธิและฌานยังไม่เสื่อม ใจก็จะมีความสุข เบากาย เบาใจ อยู่ตลอดเวลา

ในขณะสมาธิฌานเสื่อมลงไป กิเลสตัณหาน้อยใหญ่ก็จะเกิดขึ้นที่ใจตามเดิม เหมือนกับศิลาทับหญ้า เมื่อเอาศิลาออกจากที่นั้นแล้ว หญ้าก็จะเกิดในที่นั้นตามเดิม นี้ฉันใด

ใจที่มีความสงบอยู่ ก็เพียงข่มกิเลสตัณหาไว้ชั่วคราวเท่านั้น เมื่อสมาธิเสื่อมจากใจเมื่อไร ใจก็จะเกิดความรัก ความชอบ ในกามคุณ เกิดราคะตัณหา เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง ต่อไป


สมาธิเพียงข่มกิเลสตัณหา

เมื่อใจยังมีความหลงไปตามกระแสโลกอยู่ มีความใฝ่ฝันในกามคุณอยู่ กำลังใจที่เกิดจากสมาธิความสงบก็จะเป็นกำลังหนุนกิเลสตัณหาราคะให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น เพราะกำลังใจที่เกิดจากสมาธิความสงบเป็นเพียงกำลังหนุนเท่านั้น ถ้าผู้ฝึกสติปัญญามาดี กำลังของสมาธิก็จะเป็นตัวหนุนสติปัญญาได้เป็นอย่างดี พิจารณาความจริงในสิ่งใดก็จะเกิดความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งชัดเจน ถ้าไม่มีสติปัญญาให้หนุน กำลังใจที่เกิดจากสมาธิก็จะไปหนุนกิเลสตัณหาน้อยใหญ่ให้ใจฟุ้งไปตามอารมณ์ที่รักที่ชอบใจต่อไป

คนส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจว่า การทำสมาธิความสงบจะทำให้เกิดปัญญา ทำให้ใจมีความบริสุทธิ์ผ่องใส ทำให้ใจละอาสวกิเลสตัณหา ความเห็นในลักษณะนี้จึงเป็นความเห็นเป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นผิดโดยไม่รู้ตัว ถึงจะเข้าใจว่าเป็นความเห็นถูกอยู่ก็ตาม ก็จะเป็นความเห็นผิดต่อไป ดังคำว่าเห็นผิดเป็นถูก เห็นชั่วว่าดี เห็นสิ่งไม่เที่ยงว่าเป็นของเที่ยง เห็นสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข เห็นสิ่งที่เป็นอนัตตาว่าเป็นอัตตา จึงตรงกันข้ามกับความเป็นจริงอยู่ตลอดเวลา

ในความเห็นที่เกิดเป็นมิจฉาทิฏฐิแต่มาเข้าใจว่าเรามีความเห็นเป็นสัมมาทิฏฐิ อย่างนี้ใช้ไม่ได้เลย ไม่เป็นไปตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าแต่อย่างใด ฉะนั้น การภาวนาปฏิบัติจึงเริ่มต้นจากความเห็น

ตามปกติใจจะมีความเห็นผิดเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว เราจึงแก้ความเห็นผิดที่เป็นมิจฉาทิฏฐิให้หมดไปจากใจเสียก่อน แล้วจึงมาเริ่มต้นใหม่ให้ใจมีความเห็นเป็น สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ เห็นจริงตามความเป็นจริงที่ถูกต้อง


ในเมื่อใจเรายังไม่เป็นสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ เราก็อย่าเพิ่งภาวนาปฏิบัติแต่อย่างใด เหมือนการออกรถลงสู่ถนน ถ้าเราไม่แน่ใจในเส้นทางที่เราจะต้องไปก็อย่าแล่นรถออกไป ให้ศึกษาเส้นทางให้ดี ดูแผนที่ให้เข้าใจ จนเกิดความมั่นใจว่าถูกต้องแล้ว จึงออกรถไป จะไม่ทำให้เสียเวลา จะถึงจุดหมายปลายทางที่เราต้องการ นี้ฉันใด

การภาวนาปฏิบัติก็ฉันนั้น เราจึงมาแก้ความเห็นผิดของใจให้เกิดความถูก จากนั้นไป ก็จะเกิดความเห็นถูก การภาวนาปฏิบัติก็จะเป็นแนวทางที่ถูกต้องในการเริ่มต้นถูกในทางกลาง และถูกในที่สุดคือมรรคผลนิพพาน

ขณะนี้ มีผู้ตั้งใจภาวนาปฏิบัติกันอยู่มาก กำลังแสวงหาครูอาจารย์ให้เป็นผู้ชี้แนะแนวทางการปฏิบัตินี้อยู่ เหมือนผู้หลงทางกำลังเดินทางอยู่ หรือไม่แน่ใจในเส้นทางที่เรากำลังเดินอยู่ว่าผิดหรือถูก กำลังต้องการผู้ที่รู้เส้นทางที่ถูกต้องให้ ถ้าผิดก็จะได้แก้ไข ถ้าถูกก็จะได้เดินทางต่อไปด้วยความมั่นใจจะได้รีบเร่งทุ่มเทความพากเพียรลงไปอย่างเต็มกำลัง

ข้อควรระวัง เมื่อเรากำลังหลงทางแต่ได้เพื่อนที่กำลังหลงทางเหมือนกันกับเรา หรือไปถามผู้ที่หลงทางเหมือนกันกับเราก็จะบอกส่งเดชไปเลยว่า ถูกแล้ว ๆ ถ้าเป็นในลักษณะนี้ ก็ตัวใครตัวมันก็แล้วกัน เพราะในยุคนี้ไม่เหมือนครั้งพุทธกาล

แสวงหาหัวหน้าโค

เหมือนกับฝูงโคกำลังแสวงหาหัวหน้าโคให้พาลอยข้ามกระแสแห่งมหาสมุทร ถ้าฝูงโคกลุ่มใดได้ผ่าน และข้ามกระแสมาแล้ว ตรงไหนที่เป็นโขดหิน ตรงไหนที่เป็นวังวน ตรงไหนที่มีจระเข้ ที่ไหนที่มีปลาฉลาม ตรงไหนมีโทษภัยอย่างไร หัวหน้าโคจะรู้เส้นทางในการข้ามกระแสนี้ได้เป็นอย่างดี จึงได้พาฝูงโคทั้งหลาย ข้ามกระแสถึงฝั่งอย่างปลอดภัย

ถ้าฝูงโคได้หัวหน้าตัวที่ไม่เคยข้ามกระแสมาก่อน ก็ไม่ทราบว่า หัวหน้าโค จะพาฝูงโคข้ามกระแสในจุดไหน ในขณะที่พาฝูงโคลอยคอกันอยู่ในท่ามกลางมหาสมุทร อาจเข้าไปในจุดน้ำวังวน จุดจระเข้ จุดปลาฉลามกำลังออกหากิน ทั้งหัวหน้าโคและฝูงโคทั้งหลาย จะเอาตัวรอด ได้หรือไม่ หรือจะมีอะไรเกิดขึ้นกับหัวหน้าโคและฝูงโคเหล่านั้น นี้ฉันใด

ในยุคนี้สมัยนี้ หัวหน้าโค หรือครูอาจารย์ที่เราต้องการจะเลือกได้ด้วยวิธีใด จะดูอย่างไรว่าเป็นของแท้ของปลอม ไม่เหมือนในครั้งพุทธกาล ที่มีพระพุทธเจ้าและพระอริยเจ้าทั้งหลายมีอยู่เป็นจำนวนมาก การสอนธรรมปฏิบัติของพระอริยเจ้านั้น จะสอนไปในทิศทางเดียวกัน พุทธบริษัทไม่ได้ถกเถียงกันว่าองค์นั้นสอนผิดองค์นี้สอนถูก องค์นั้นสอนทางตรง องค์นี้สอนทางอ้อม ฟังธรรมของพระอริยเจ้าร้อยพันองค์ก็เหมือนกันทั้งหมด นั้นคือสอนสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ เป็นจุดเริ่มต้น เป็นหลักยืนตัว เป็นหลักใหญ่ในการปฏิบัติธรรมทั้งหลาย

ในยุคนี้สมัยนี้ ถึงจะมีผู้สอนธรรมและการปฏิบัติอยู่ ความถูกต้องชัดเจนจะเป็นอย่างไร ก็ไม่ควรวิพากษ์วิจารณ์ ถ้าหากการสอนและการปฏิบัติอยู่ในขั้น กามาวจรกุศล ไม่มีปัญหาอะไร ทั้งผู้สอนและผู้ปฏิบัติก็ทำหน้าที่ได้ดีถูกต้องอยู่แล้ว ส่วนธรรมะที่เป็น โยคาวจรกุศล ที่เป็นแนวทางจะข้ามพ้นไปจากวัฏสงสารนั้น ดูจะเกิดความสับสนอยู่มากพอสมควรจะเป็นเพราะผู้สอนตีความหมายในธรรมะหมวดนี้ไม่ชัดเจนหรือไม่ถูกต้อง แล้วนำมาสอนคนอื่นให้เกิดความเข้าผิดไปก็อาจเป็นได้ หรือผู้ฟังไม่เข้าใจในธรรม ตีความหมายผิดไปก็อาจเป็นได้เช่นกัน

ฉะนั้น จึงมีปัญหาถกเถียงกันว่าสายนั้นผิด สายนี้ถูก สายนี้ทางตรง สายนี้ทางอ้อม เกิดขึ้น ทุกสายจะต้องประกาศว่าถูกต้องตรงสู่มรรคผลนิพพานด้วยกัน จึงยากที่จะตัดสินว่าสายไหนผิด สายไหนถูก กันแน่ ถึงจะมีผู้รู้ดีรู้ชอบในแนวทางปฏิบัติอยู่ก็ตาม ก็ยากที่จะทำความเข้าใจให้สายต่าง ๆ กลับมาเข้าใจในทางที่ถูกต้องได้ก็เพราะได้แบ่งกันออกไปเป็นกุล่มเป็นเหล่ากันแล้ว

แนวทางปฏิบัติขั้น โยคาวจรกุศล นี้ เป็นแนวทางปฏิบัติระดับสูง เป็นอุบายการปฏิบัติเพื่อให้พ้นไปจากภพทั้งสาม สำหรับฆราวาสแล้ว จึงยากในการปฏิบัติให้เป็นไปได้

ถ้าผู้ฟังมีความจริงจัง ฟังเหตุผลมีความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน โอกาสหน้าจึงมาปรึกษากันใหม่ ถึงข้าพเจ้าจะมีสติปัญญาน้อยก็จะอธิบายให้ฟังอย่างเต็มความสามารถ เว้นเสียที่ไม่รู้ภาษากันเท่านั้น


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


" แนวทางปฏิบัติขั้น โยคาวจรกุศล นี้ เป็นแนวทางปฏิบัติระดับสูง
เป็นอุบายการปฏิบัติ
เพื่อให้พ้นไปจากภพทั้งสาม
สำหรับฆราวาสแล้ว จึงยากในการปฏิบัติให้เป็นไปได้ "
การ " รู้ " - " เห็น "  อัตตาก่อนอนัตตา

สาธุ สาธุ สาธุ
อนุโมทนาสาธุข้อธรรม สัมมาทิฏฐิอันเป็นปรมัตถ์สัจจธรรมค่ะน้องเบบ