ผู้เขียน หัวข้อ: สัมมาทิฏฐิ ๒๑ ความรู้จักวิญญาณ :สมเด็จพระญาณสังวร  (อ่าน 1748 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



สัมมาทิฏฐิ ๒๑ ความรู้จักวิญญาณ
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ม้วนที่ ๖๐/๒
อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ได้แสดงพระเถราธิบายเรื่องสัมมาทิฏฐิ ตามที่ภิกษุทั้งหลายได้กราบเรียนถามท่านพระสารีบุตรเถระมาโดยลำดับ และเมื่อท่านตอบไปตอนหนึ่งๆ แล้ว ภิกษุทั้งหลายก็ถามต่อไปว่า ยังจะมีปริยายคือทางแสดงอย่างอื่นอีกหรือไม่ ท่านก็ตอบว่ามี ในวันนี้จึงถึงข้อที่ท่านตอบ ว่าสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ ก็คือ รู้จักวิญญาณ รู้จักเหตุเกิดแห่งวิญญาณ รู้จักความดับวิญญาณ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับวิญญาณ

แล้วท่านได้อธิบายไปทีละข้อว่า รู้จักวิญญาณ ก็คือรู้จักหมู่แห่งวิญญาณ ๖ คือ หมู่แห่งจักขุวิญญาณ วิญญาณทางตา หมู่แห่งโสตะวิญญาณ วิญญาณทางหู หมู่แห่งฆานะวิญญาญ วิญญาณทางจมูก หมู่แห่งชิวหาวิญญาณ วิญญาณทางลิ้น หมู่แห่งกายะวิญญา วิญญาณทางกาย หมู่แห่งมโนวิญญาณ วิญญาณทางมโนคือใจ
รู้จักเหตุเกิดแห่งวิญญาณ ก็คือรู้จักว่า เพราะสังขารเกิด วิญญาณจึงเกิด
รู้จักความดับแห่งวิญญาณ ก็คือรู้จักว่า เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับวิญญาณ ก็คือรู้จักว่า มรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบเป็นต้น เป็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับวิญญาณ จะได้แสดงอธิบายในหมู่แห่งวิญญาณ ๖ นี้ต่อไป

จิต วิญญาณ มโน
(เริ่ม ๖๑/๑) อันคำว่าวิญญาณนั้นได้มีใช้ในพุทธศาสนาหลายความหมาย และว่าถึงถ้อยคำที่เกี่ยวแก่ จิตใจ วิญญาณ ก็มีอยู่ ๓ คำ คือ จิต คำหนึ่ง วิญญาณ คำหนึ่ง มโน ซึ่งมักแปลกันว่าใจ อีกคำหนึ่ง แม้จิตก็มักจะเรียกควบกันว่าจิตใจ คำว่าใจนั้นเป็นภาษาไทย เรียกรวมๆ กันไป เช่น จิตใจ หรือมโนที่แปลกันว่าใจ สำหรับคำทั้ง ๓ นี้ เมื่อใช้ต่างกัน ก็ใช้ต่างกัน ดั่งนี้

จิตนั้นได้มีพระพุทธภาษิตตรัสเอาไว้ ว่าให้อบรมจิต ให้รักษาจิต ให้ชำระจิตของตนให้ผ่องใส และยังได้ตรัสเอาไว้อีกว่า จิตเป็นธรรมชาติปภัสสรคือผุดผ่อง แต่เศร้าหมองไปเพราะอุปกิเลสเครื่องเศร้าหมองที่จรเข้ามา แต่ว่าจิตนี้เมื่อปฏิบัติทำจิตตภาวนาอบรมจิตตามที่ตรัสสั่งสอนไว้ ก็วิมุติหลุดพ้นจากเครื่องเศร้าหมองจิตทั้งหลายได้ และในท้ายพระสูตรทั้งหลายเป็นอันมากก็มีแสดงว่า ภิกษุทั้งหลายได้ฟังพระพุทธโอวาทที่ตรัสสั่งสอนแล้ว จิตก็วิมุติหลุดพ้นจากอาสวะ คือกิเลสที่ดองจิตสันดานทั้งหลาย

และในพระสูตรที่แสดงไตรลักษณ์ ดังเช่น อนัตตลักขณะสูตร ตรัสว่า ขันธ์ ๕ คือ รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณเป็นอนัตตา เพราะบังคับให้เป็นไปตามปรารถนามิได้ เมื่อเป็นดั่งนี้ จึงเป็นอนิจจะคือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา จึงไม่ควรที่จะยึดถือว่า นี่เป็นเรา เราเป็นนี่ นี่เป็นอัตตาตัวตนของเรา ท่านพระปัญจวัคคีย์ได้ฟังเทศนานี้จบแล้ว จิตของท่านก็วิมุติหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย ดั่งนี้

ในพระสูตรดังกล่าวนี้ แสดงขันธ์ ๕ ซึ่งรวมวิญญาณด้วยว่าเป็นอนัตตา กับทั้งเป็นอนิจจะ เป็นทุกขะ คือเป็นไปตามไตรลักษณ์ หรือสามัญลักษณะ ลักษณะที่ทั่วไปแก่สังขารทั้งปวง แต่มิได้ตรัสว่าจิตเป็นอนัตตา เป็นอนิจจะ เป็นทุกขะ แต่ตรัสว่าจิตวิมุติหลุดพ้น และยังได้มีพระคาถาแสดงอีกว่า จิตถึงวิสังขารคือนิพพาน เพราะตัณหาทั้งหลายสิ้นไป เพราะฉะนั้น ตามที่อ้างมานี้ จิตจึงเป็นสิ่งสำคัญในบุคคล ที่ตรัสสอนให้รักษา ตรัสสอนให้อบรม จนถึงตรัสว่าจิตนี้เองที่เป็นผู้วิมุติหลุดพ้น จิตนี้เองบรรลุวิสังขารคือนิพพาน

และจิตนี้ก็เป็นธรรมชาติธรรมดา อันเรียกว่าเป็นธาตุ แต่ว่าเมื่อแสดงถึงธาตุทั้ง ๖ คือปฐวีธาตุ ธาตุดิน อาโปธาตุ ธาตุน้ำ เตโชธาตุ ธาตุไฟ วาโยธาตุ ธาตุลม อากาศธาตุ ธาตุอากาศ วิญญาณธาตุ ธาตุวิญญาณคือธาตุรู้ ก็ใช้คำว่าวิญญาณธาตุคือธาตุรู้

ในธาตุวิภังคสูตร ตรัสสอนให้พิจารณาธาตุทั้ง ๕ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ ว่าไม่ควรที่จะยึดถือว่า นั่นเป็นเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาตัวตนของเรา แต่ว่ามิได้ตรัสว่าวิญญาณธาตุเป็นเช่นนั้น

เพราะฉะนั้น คำว่าวิญญาณธาตุในธาตุ ๖ นี้ จึงมีความหมายเสมอกับคำว่าจิต ดังที่กล่าว คือเป็นสิ่งสำคัญในบุคคล ที่เป็นตัวธรรมชาติธรรมดา เป็นตัวธาตุ และยังมีในที่อื่นอีกหลายแห่ง ที่ใช้คำว่าวิญญาณแทนจิต หรือเท่ากับจิต ฉะนั้น คำว่าวิญญาณกับคำว่าจิตนี้ จึงใช้เท่ากัน หมายถึงธาตุที่เป็นอย่างเดียวกันอยู่เป็นอันมาก

วิญญาณในขันธ์ ๕ อาการของจิต
แต่ว่าเมื่อแสดงต่างกัน ก็แสดงถึงวิญญาณที่มีลักษณะต่างจากจิต ดังกล่าวมาข้างต้นนั้น คือวิญญาณที่แสดงในขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งมีความหมายเป็นอาการของจิต ในเมื่ออารมณ์ทั้งหลายมาสู่ทวารทั้ง ๖ หรือว่าอายตนะภายนอกกับอายตนะภายในมาประจวบกัน จิตจึงน้อมออกรับอารมณ์ ตั้งต้นแต่รู้อารมณ์ ดังที่เรียกว่าเห็นรูป ที่เรียกว่าได้ยินเสียง ที่เรียกว่าทราบกลิ่น ทราบรส ทราบโผฏฐัพพะ และรู้เรื่องราว

เพราะอาการที่จิตออกรับอารมณ์นั้น ก็คือรู้นั้นเอง แต่ว่ารู้ทีแรกดังกล่าวเรียกว่าวิญญาณ แล้วจึงรู้ที่ยิ่งๆ ขึ้นไปเป็นสัมผัส เป็นสัญญา เป็นสังขารความคิดปรุงหรือปรุงคิด ก็ล้วนแต่จิตนี้เองรู้ทั้งนั้น
เมื่อรู้ที่เป็นการเห็นการได้ยินเป็นต้นก็เป็นวิญญาณ รู้ที่เป็นสัมผัสคือกระทบก็เป็นสัมผัสหรือผัสสะ รู้ที่เป็นสุขเป็นทุกข์ก็เป็นเวทนา รู้จำก็เป็นสัญญา รู้ปรุงคิดหรือคิดปรุงก็เป็นสังขาร

อาการที่จิตออกรับอารมณ์นั้นเป็นรู้ทั้งนั้น แต่ว่าที่เป็นครั้งแรกนั้นก็คือวิญาณดังกล่าว เมื่อรู้ที่เป็นวิญญาณมีขึ้น จึงมีรู้ที่เป็นสัมผัสเป็นเวทนาเป็นต้นต่อไป นี้เป็นวิญญาณในขันธ์ ๕ ซึ่งเมื่อเป็นวิญญาณในขันธ์ ๕ ดั่งนี้ ก็ต้องตกอยู่ในไตรลักษณ์ คืออนิจจะไม่เที่ยง ทุกขะเป็นทุกข์ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง เป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน วิญญาณจึงมีใช้ในความหมายดังกล่าวนี้อีกอย่างหนึ่ง

แต่แม้เช่นนั้นบุคคลโดยมากก็ยังใช้คำว่าวิญญาณแทนจิต หรือเสมอกับจิต และมีความเข้าใจว่าวิญญาณเสมอกับจิต หรือมีความเข้าใจยิ่งไปกว่านั้น ว่าวิญญาณนั้นเป็นตัวยืน ดังที่มีแสดงว่าพระอรหันต์บางรูปนิพพาน มารเที่ยวค้นหาวิญญาณของท่านว่าท่านไปไหน พระพุทธเจ้าทรงทราบจึงได้ตรัสว่าไม่สามารถจะค้นพบได้ เพราะว่าท่านนิพพานแล้ว ไม่เกิดอีก ไม่มีวิญญาณที่จะไปเกิดอีก

ปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิวิญญาณ
และก็ยังได้แสดงถึงสัตว์บุคคลที่เกิดมา เริ่มตั้งแต่ถือปฏิสนธิในครรภ์ของมารดา ก็เรียกกันว่าปฏิสนธิวิญญาณ ปฏิสนธิจิตก็เรียก และเมื่อมีปฏิสนธิวิญญาณหรือปฏิสนธิจิตในครรภ์ของมารดาแล้ว ก็เริ่มปฐมจิตปฐมวิญาณขึ้นมา เริ่มก่อเกิดนามรูปขึ้นมาตั้งแต่ในเบื้องต้น แม้จะเคลื่อนออกไปคือตาย ก็เป็นจุติจิต จุติวิญญาณ เพราะฉะนั้น คนจึงมักจะใช้กัน หลังจากตายว่าวิญญาณไปเกิด ก็ไม่ใช่ใช้กันเฉพาะในเวลาปัจจุบันนี้สำหรับคนไทยเท่านั้น แม้ในภาษาบาลีที่เป็นพระสูตรต่างๆ เองก็ยังใช้ดังที่กล่าวมานั้น อันแสดงว่าวิญญาณนั้นได้ใช้เป็นที่นิยมทั่วไปในความหมายของจิต ที่เป็นสิ่งสำคัญในสัตว์บุคคลทั้งหลาย

แต่ในพุทธศาสนาเมื่อมาแสดงขันธ์ ๕ ก็มาใช้คำว่าวิญญาญนี้เป็นขันธ์ที่ ๕ ซึ่งต้องตกอยู่ในไตรลักษณ์ดังกล่าวมานั้น และเป็นสิ่งที่มีขึ้นในเมื่ออายตนะภายนอกภายในประจวบกัน หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่าจิตออกรับอารมณ์ เริ่มต้นรู้ ซึ่งเป็นการเห็นการได้ยิน ซึ่งเป็นรู้ขั้นที่ ๑ ก็เป็นวิญญาณ วิญญาณในขันธ์ ๕ จึงเป็นสิ่งที่เกิดดับๆ เหมือนอย่างขันธ์ ๕ ทุกข้อ

มโน อายตนะภายในข้อที่ ๖
ส่วนมโนคือใจนั้นได้ใช้เป็นอายตนะภายในข้อที่ ๖ หรือทวารข้อที่ ๖ นับเข้าในอายตนะภายในทั้ง ๖ หรือในทวารทั้ง ๖ ซึ่งมีหน้าที่สำคัญต้องมีประกอบกันไป กับอายตนะ ๕ ข้อข้างต้น ทวาร ๕ ข้อข้างต้น และมีหน้าที่โดยเฉพาะของตนเอง รู้ธรรมะคือเรื่องราวต่างๆ ของรูปเสียงเป็นต้น ที่ประจวบพบผ่านมาแล้ว มโนจึงเป็นเรื่องของอายตนะภายใน เป็นเรื่องของทวารทั้ง ๖ ซึ่งมิได้ใช้ในความหมายอื่นมากเหมือนอย่างวิญญาณ และจิต

เพราะฉะนั้น ผู้ศึกษาพุทธศาสนา จึงต้องศึกษาให้รู้จักความหมายของถ้อยคำที่ท่านใช้ เป็นอย่างเดียวกันบ้าง ต่างกันบ้าง และโดยเฉพาะที่เป็นอย่างเดียวกัน ก็คือวิญญาณกับจิตดังกล่าวมานั้น ซึ่งมีใช้เป็นอย่างเดียวกัน หรือเท่ากันเป็นอันมาก

เพราะฉะนั้น การที่จะอธิบายศัพท์จึ่งต้องกำหนดขอบเขตว่า จะอธิบายศัพท์ เช่นศัพท์ว่าวิญญาณนี้ ในข้อไหน ในเรื่องอะไร ถ้าในเรื่องของธาตุ ๖ ก็ต้องอธิบายเท่ากับจิต หรือเสมอกับจิต ถ้าอธิบายในเรื่องของขันธ์ ๕ วิญญาณก็มีความหมายลดลงมา เป็นความรู้ของจิตที่ออกรับอารมณ์เป็นขั้นแรกดังกล่าวมานั้นเท่านั้น

หมู่แห่งวิญญาณ ๖
และในพระเถราธิบายนี้ ท่านพระสารีบุตรได้แสดงอธิบายในข้อว่ารู้จักวิญญาณ ก็คือรู้จักหมู่แห่งวิญญาณทั้ง ๖ ก็คือวิญญาณในขันธ์ ๕ นั่นเอง และที่เรียกว่าหมู่นั้นก็เพราะว่า วิญญาณในขันธ์ ๕ นี้ เกิดขึ้น ดับไป ในทุกอารมณ์ที่ผ่านทวารทั้ง ๖ เข้ามา

ดังจะยกอายตนะภายในภายนอกขึ้นเป็นตัวอย่างว่า เมื่อตากับรูปประจวบกัน เกิดความรู้ขึ้น ที่เรียกว่าเห็นรูป ก็เรียกว่าจักขุวิญญาณ เมื่อเห็นรูปอันใด ก็เกิดขึ้นดับไปในรูปอันนั้น ทุกๆ คนนั้นย่อมเห็นรูปต่างๆ มากมาย เป็นรูปนั่นรูปนี่ วิญญาณก็ย่อมเกิดดับอยู่ในรูปนั่นรูปนี่ที่เห็น เพราะฉะนั้น ชั่วระยะเวลาประเดี๋ยวเดียว วิญญาณก็เกิดดับอยู่ในรูปนั่นรูปนี่ ที่ตาเห็นนั้น หลายสิบ หลายร้อย หลายพัน แม้ในข้ออื่นก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่าหมู่ หมู่แห่งวิญญาณ เมื่อเกิดขึ้นทางตา ก็เรียกว่าหมู่แห่งวิญญาณทางตาเป็นต้น ดังที่กล่าวมาแล้ว

เพราะฉะนั้น สัมมาทิฏฐิจึงได้แก่ความรู้จักหมู่แห่งวิญญาณทั้ง ๖ ดังกล่าวมา ความรู้จักนั้นต้องกำหนดเข้ามาดูด้วยสติ คือมีสติกำหนดอยู่ที่ตาที่หูเป็นต้นของตนเอง เมื่อตาเห็นอะไร หูได้ยินอะไร เห็นหรือได้ยินนั่นแหละ ก็คือวิญญาณทางตาวิญญาณทางหู และก็เกิดดับไปในสิ่งที่เห็นสิ่งที่ได้ยินนั้น แต่ละสิ่ง แต่ละสิ่ง แต่ละสิ่งไป เพราะฉะนั้น หากว่าหัดใช้สติกำหนดดูอยู่ รู้อยู่ ก็จะรู้สึกว่า เห็นนั่นเห็นนี่ ได้ยินนั่นได้ยินนี่ และก็เทียบดูได้ว่าเกิดดับอย่างไร

เช่นในขณะที่เห็นใบไม้ วิญญาณก็เกิดอยู่ที่ใบไม้ เห็นผลไม้ วิญญาณก็ดับจากใบไม้ ไปเกิดที่ผลไม้ เห็นบ้าน วิญญาณก็ดับจากผลไม้ ไปเกิดที่บ้านที่เห็น เห็นคนเดินมา วิญญาณก็ดับจากบ้าน ไปเกิดที่คนเดินมาที่เห็นนั้น ดั่งนี้เป็นต้น ลองคิดดูว่าขณะหนึ่งๆ อันหมายถึงว่า ระยะเวลาหนึ่ง ระยะเวลาหนึ่ง ที่ไม่ๆ ..ที่แม้ไม่ๆ นานนัก (เริ่ม ๖๑/๒) วิญญาณก็เกิดที่นี่ ก็ดับ ดับจากที่นี่ไปเกิดที่โน่น ดับที่โน่นไปเกิดที่นู้น อะไรอย่างนี้ มากมาย เมื่อมีสติหัดกำหนดดูดั่งนี้ ก็อาจที่จะกำหนดดูได้ รู้ได้ ว่าวิญญาณนี้ เกิดที่นี่ ดับจากนี่ไปนั่น ดับจากนั่นไปเกิดที่โน่น ดับจากที่โน่นไปเกิดที่นั่น เป็นอย่างๆ ไป เป็นสิ่งๆ ไป จะเห็นว่าเป็นหมู่จริงๆ มากมาย

แล้วก็ไม่ใช่รูปอย่างเดียว ยังมีเสียงอีก เกิดที่รูป ดับจากรูปไปเกิดที่เสียง ดับจากเสียงไปเกิดที่กลิ่น ดับจากกลิ่นไปเกิดที่รส ดับจากรสไปเกิดที่โผฏฐัพพะสิ่งถูกต้องทางกาย ดับจากโผฏฐัพพะไปเกิดที่เรื่องที่ผุดขึ้นในใจ ดับจากเรื่องที่ผุดขึ้นในใจ ก็ไปเกิดที่นั่นที่นี่ เมื่อรวมกันเข้าทั้ง ๖ แล้วก็จะรู้สึกว่า เป็นหมู่ใหญ่จริงๆ ของวิญญาณ เกิดดับๆ กันอยู่ทุกขณะ ทุกขณะไป
มีสติกำหนดอยู่ดังนี้ เป็นวิธีกำหนดให้รู้จักวิญญาณ ที่เรียกว่าหมู่แห่งวิญญาณทางตา หมู่แห่งวิญญาณทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางมนะคือใจ แล้วก็หัดให้เห็นเกิดดับของวิญญาณดังกล่าวมานี้ ก็จะเป็นตัวสติด้วย แล้วก็ตัวปัญญาที่เป็นวิปัสสนารู้แจ้งเห็นจริงด้วย จะมองเห็นความเกิดดับ ซึ่งเป็นตัวอนิจจะคือไม่เที่ยง จะทำให้มองเห็นทุกข์ คือสิ่งที่แปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป จะมองเห็นอนัตตา ว่าเป็นสิ่งที่บังคับให้เป็นไปตามปรารถนามิได้ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เป็นไปอยู่อย่างนี้ ดั่งนี้คือรู้จักวิญญาณ รู้จักหมู่แห่งวิญญาณ ตามพระเถราธิบาย

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

:http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/somdej/sd-091.htm
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 30, 2011, 10:43:07 am โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
 
 นิพพานเป็นภูมิที่ดำรงอยู่
   สมเด็จพระญาณสังวร
   สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
   วัดบวรนิเวศวิหาร
ในส่วนที่เป็นปฏิบัติธรรม ก็เป็นสิ่งที่ปฏิบัติเพื่อให้ได้ผลบรรลุถึงภูมิเป็นที่บรรลุ การปฏิบัติที่เป็นเหตุ และผลคือการบรรลุ ก็เป็นสิ่งที่เกิดดับ เพราะเมื่อบรรลุถึงภูมิที่บรรลุ การปฏิบัติเพื่อบรรลุ และผลคือการถึงก็เป็นอันว่าสิ้นสุด ก็ประกอบด้วยกาลเวลา แต่ว่าภูมิที่บรรลุอันเป็นภูมิที่สุดที่เรียกว่านิพพาน เป็นภูมิที่ตั้งอยู่ดำรงอยู่ เป็น อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา นี้ในความหมายของคำว่า อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา และ กาลิโก ประกอบด้วยกาลเวลาที่ประกอบกันอยู่

   อีกอย่างหนึ่งอกาลิโกในความหมายที่ปฏิบัติบรรลุผลได้ไม่มีอะไรคั่น ทุกกาลทุกสมัย เมื่อครั้งพุทธกาล ในเวลาต่อมา ในบัดนี้และต่อไปก็เช่นเดียวกัน เมื่อปฏิบัติในเหตุก็บรรลุผลทันที ผลที่บรรลุนั้นบังเกิดขึ้นสืบจากเหตุ ต่อจากเหตุทันทีไม่มีคั่น อันหมายถึงภูมิชั้นของตน ของจิตใจ หรือภาวะของตนของจิตใจ

   ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า ทำชั่วเมื่อใด ก็เป็นคนชั่วขึ้นทันที คือภูมิชั้นภาวะของตนของจิตใจ ชั่วขึ้นทันที ทำดีเมื่อใดภูมิชั้นของตนก็ดีขึ้นทันที เป็นคนดีขึ้นทันที และเมื่อก่อทุกขสมุทัยขึ้น คือก่อตัณหาอุปาทานขึ้นในสิ่งใดเมื่อใด

   ก็เป็นทุกข์ในสิ่งนั้นเมื่อนั้นทันที ดับตัณหาอุปาทานได้เมื่อใดก็ดับทุกข์ได้ทันทีสืบต่อกันไป เหตุผลซึ่งเป็นขั้นปฏิบัติภายในเกี่ยวแก่ภูมิชั้นของตนของจิตใจ ภาวะของตนของจิตใจดังกล่าวมานี้ เป็นอกาลิโกไม่ประกอบด้วยกาลเวลา ดั่งนี้ คือการให้ผลบังเกิดขึ้นสืบต่อจากเหตุที่ทำทันทีไม่มีคั่น

   นี้เป็นอกาลิโกในความหมายเกี่ยวแก่การให้ผล ซึ่งต่างจากการให้ผลของต้นไม้ตามที่เปรียบเทียบไว้ ว่าต้องมีระยะกาลเวลาให้ผล แต่ว่าธรรมะที่ปฏิบัตินั้น เมื่อปฏิบัติเหตุก็ให้ผลทันที เป็นเหตุเป็นผลที่ต่อกันทันที ไม่มีคั่นดังกล่าว เว้นแต่ผลที่เป็นภายนอก เป็นส่วนที่ร่างกายจะพึงได้รับ อันเกี่ยวแก่สิ่งแวดล้อมทั้งหลาย เกี่ยวแก่บุคคลภายนอก เกี่ยวแก่โลกธาตุภายนอก ดังที่ได้ยกเอาธรรมสมาทาน ๔ อย่างขึ้นมาแสดงไว้แล้วนั้น อันนับว่าเป็นผลภายนอก แต่ว่าผลที่เป็นภายในนั้นบังเกิดต่อจากเหตุที่ปฏิบัติทันทีดังกล่าว......

นำมาแบ่งปันโดย : miracle of love
: http://agaligohome.fix.gs/index.php?topic=101.0
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ
   

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 12, 2017, 03:21:25 pm โดย ฐิตา »