แสงธรรมนำใจ > หยาดฝนแห่งธรรม
เราอยู่ในโลกของ "ความคิด" ๒ อ.สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ฐิตา:
เหตุให้โลภะเกิดขึ้น เป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล เป็นธรรมดา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้ัมีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
แต่ละคนมีความประพฤติเป็นไปตามการสะสม แต่ละคนก็เป็นแต่ละหนึ่ง ไม่เหมือนกัน
เลย ตราบใดที่ยังมีโลภะอยู่ ก็ย่อมมีเหตุให้โลภะเกิดขึ้นเป็นไปตามการสะสมของแต่ละ
บุคคล เป็นธรรมดาจริง ๆ ถ้าได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมแล้วจะเห็นได้ว่า การเจริญ
กุศล ก็เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง เพราะเหตุว่ามากไปด้วยกิเลส ถ้าไม่ได้รับการขัด
เกลาทีละเล็กทีละน้อยในชีวิตประจำวัน จะถึงการหมดสิ้นกิเลสได้อย่างไร เพราะฉะนั้น
ผู้ที่เห็นคุณของกุศล และ เห็นโทษของอกุศล จึงไม่ละเลยโอกาสสำคัญในการเจริญกุศล
ไม่ว่าจะเป็นไปในเรื่องใด ๆ ก็ตาม เพราะถ้ากุศลไม่เกิด ก็ย่อมเป็นโอกาสของการเกิดขึ้น
แห่งอกุศล
และประการที่สำคัญ ที่กล่าวถึงการทำบุญ หรือการเจริญกุศลนั้น ไม่ได้หมายถึงเฉพาะ
การให้ทาน เพียงอย่างเดียว เพราะบุญ(ความดีที่ชำระจิตให้สะอาด) นั้น มีถึง ๑๐ ประการ
ได้แก่
๑. ทาน การให้วัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้รับ
๒. ศีล ได้แก่ ความประพฤติทางกาย ทางวาจา ที่เป็นกุศล คือ ไม่เบียดเบียนบุคคลอื่น
ให้เดือดร้อน
๓. ภาวนา การอบรมจิตให้สงบ คือ สมถภาวนา ๑ และการอบรมให้เกิดปัญญา วิปัสสนา
ภาวนา ๑
๔. อปจายนะ การอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม ก็เป็นบุญ เพราะว่าจิตใจในขณะนั้นไม่
หยาบกระด้างด้วยความถือตัว
๕. เวยยาวัจจะ การสงเคราะห์แก่ผู้ที่ควรสงเคราะห์ ไม่เลือกสัตว์ บุคคล ผู้ใดที่อยู่ใน
สภาพที่ควรสงเคราะห์ช่วยเหลือให้ความสะดวก ให้ความสบาย ก็ควรจะสงเคราะห์แก่ผู้นั้น
แม้เพียงเล็กน้อยในขณะนั้น ก็เป็นกุศลจิต เป็นบุญ
๖. ปัตติทาน การอุทิศส่วนกุศลให้บุคคลอื่นได้ร่วมอนุโมทนา ซึ่งจะเป็นเหตุให้กุศลจิตของ
บุคคลอื่นเกิดได้
๗. ปัตตานุโมทนา การอนุโมทนาแก่ผู้อื่นที่ได้กระทำกุศล เพราะเหตุว่าถ้าเป็นคนพาล
ไม่สามารถจะอนุโมทนาได้เลย เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ได้ทราบการกระทำบุญกุศลของ
บุคคลอื่น ก็ควรเป็นผู้ที่มีจิตยินดี ชื่นชม อนุโมทนาในกุศลกรรมของบุคคลอื่นที่ตนได้
ทราบนั้น ไม่ใช่เป็นผู้ที่ตระหนี่แม้แต่จะชื่นชมยินดีในบุญกุศลของบุคคลอื่น
๘. ธัมมเทศนา การแสดงธรรมแก่ผู้ต้องการฟัง ไม่ว่าเป็นญาติมิตรสหาย หรือบุคคลใด
ก็ตามซึ่งสามารถจะอนุเคราะห์ให้เขาได้เข้าใจเหตุผลในพระธรรมวินัย ก็ควรที่จะได้
แสดงธรรมแก่บุคคลนั้น
๙. ธัมมัสสวนะ การฟังธรรมเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง
ก็เป็นบุญ
๑๐. ทิฏฐุชุกัมม์ การกระทำความเห็นให้ตรงตามสภาพธรรมและเหตุผลของสภาพ ธรรม
นั้นๆ ธรรมใดที่เป็นกุศล ก็ให้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงว่า เป็นกุศลจริงๆ ธรรมใดที่
เป็นอกุศล ก็ให้พิจารณากระทำความเห็นให้ตรงตามสภาพธรรมจริงๆว่า สภาพธรรมนั้น
เป็นอกุศล ไม่ปะปนกุศลธรรมกับอกุศลธรรม
เพราะฉะนั้น เรื่องของการเจริญกุศล จึงเป็นสิ่งที่ควรจะสะสมเท่าที่สามารถจะกระทำได้
ไม่ควรเป็นผู้ประมาท
เรื่องของคนอื่น ก็เป็นเรื่องของคนอื่น แต่เรา ควรที่จะได้กระทำกิจที่ควรทำสำหรับตนเอง
คือ ทำดี และ ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ต่อไป ครับผม
หากเข้าใจความเป็นไปของชีวิต คือ จิตที่เกิดขึ้นแต่ละขณะ ก็คือ การเกิดขึ้นของ
จิต เจตสิก ที่เป็นไปในกุศลบ้าง อกุศลบ้างเป็นธรรมดา และ ไม่มีใคร ไม่มีสัตว์
บุคคลที่เกิด กุศลจิต เกิด อกุศลจิต เพราะเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา และ ในความ
เป็นจริง สัตว์โลกสะสมกิเลสมามาก ทั้ง โลภะ โทสะ โมหะ และ กิเลสอื่นๆ
จึงเป็นธรรมดาที่จะเกิดกิเลสประการต่างๆ เป็นธรรมดา แม้แต่การทำกุศล การทำบุญ ก็
เป็นธรรมดาอีกเช่นกัน ที่จะทำบุญแล้ว เกิดโลภะ เกิดกิเลส ที่อยากได้บุญ อยาก
ได้ผลของบุญ เป็นต้น เพราะ ไม่มีอะไรที่โลภะ ความต้องการ ความติดข้อง ที่ไม่
สามารถจะไม่ติดข้องได้เลย เว้นเสียแต่ สภาพธรรมที่เป็น พระนิพพาน เป็นต้น
ดังนั้น เมื่อทำกุศล ทำบุญก็เป็นปัจจัยให้เกิดอกุศล ได้ เป็นธรรมดา ซึ่ง ไม่ใช่
เฉพาะในสมัยปัจจุบันเท่านั้น ที่ จะทำบุญและเกิดอกุศลต่อ ที่อยากได้ผลของบุญ
ติดข้องผลของบุญ เกิดอกุศลประการต่างๆ หลังจากทำบุญแล้ว แม้ในอดีตกาล
สมัยพุทธกาล และ ในอนาตกาล สัตว์โลกก็เป็นดังเช่นนี้ สมดังที่พระพุทธเจ้า
ตรัสไว้ใน ปฐมทานสูตร ที่ว่า
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกายอัฏฐกกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ 472
ทานวรรคที่ ๔
๑. ปฐมทานสูตร
[๑๒๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทาน ๘ ประการนี้ ๘ ประการ
เป็นไฉน คือ บางคนหวังได้จึงให้ทาน ๑ บางคนให้ทานเพราะกลัว ๑
บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เขาให้แก่เราแล้ว ๑ บางคนให้ทาน
เพราะนึกว่า เขาจักให้ตอบแทน ๑ บางคนให้ทานเพราะนึกว่า
ทานเป็นการดี ๑ บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เราหุงหากิน ชน
เหล่านี้หุงหากินไม่ได้ เราหุงหากินได้ จะไม่ให้ทานแก่ชนเหล่านี้
ผู้ไม่หุงหากินไม่สมควร ๑ บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เมื่อเราให้ทาน
กิตติศัพท์อันงามย่อมฟุ้งไป ๑ บางคนให้ทานเพื่อประดับปรุงแต่ง
จิต ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทาน ๘ ประการนี้แล.
จะเห็นนะครับว่า บางคนให้ทาน เพราะ หวังอยากได้ จึงให้ก็มี และ บางคนให้
เพราะ กลัว จึงให้ก็มี บางคน ให้เพราะ หวังว่าเขาจะให้คืนกลับมาก็มี บางคน
ให้ทาน แล้วคิดว่า ให้แล้ว จะมีชื่อเสียงก็มี นี่แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่สมัยปัจจุบัน
สภาพธรรมที่เป็นอกุศลก็เกิดขึ้นได้ ทุกยุค ทุกสมัย ตราบใดที่ยังมีกิเลส
และ อีกพระสูตรหนึ่ง ที่แสดงถึงความเป็นธรรมดาของสภาพธรรม ที่ให้ทาน ก็
ยังเกิดกิเลส เกิดความหวังในการได้รับผลของทานได้เป็นธรรม ดังข้อความที่
พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ 140
-------------------......................
-------------------......................
ฯลฯ
พ. ดูก่อนสารีบุตร ในการให้ทานนั้น บุคคลมีความหวังให้ทาน
มีจิตผูกพันในผลให้ทาน มุ่งการสั่งสมให้ทาน ให้ทานด้วยคิดว่า
ตายไปแล้วจักได้เสวยผลทานนี้ เขาผู้นั้นให้ทานนั้นแล้ว เมื่อตายไป
ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นจาตุมมหาราช สิ้นกรรม
สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังมีผู้กลับมา คือ มาสู่
ความเป็นอย่างนี้ ฯลฯ
- ข้อความที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง แสดงถึงความจริง ของจิตใจของสัตว์โลกที่
ยังมีกิเลส ย่อมเกิดความหวัง เกิดโลภะ แม้ทำบุญแล้วก็หวังผลบุญได้เป็นธรรมดา
นี่คือ ความละเอียดของจิตใจของสัตว์โลกที่มากไปด้วยกิเลส และ ที่สำคัญที่สุด
แม้แต่จะไม่ทำบุญ เราๆ ท่านๆทั้งหลาย ก็เกิดกิเลสเป็นปกติธรรมดาอยู่แล้ว ยังหวัง
ที่จะได้ทรัพย์ เกิด อิจฉา ริษยา เกิดกิเลสประการต่างๆ นับไม่ถ้วน แม้จะไม่ได้ทำบุญ
ให้ทานเลย กิเลสก็เกิดเป็นปกติ เป็นธรรมดาของปุถุชน เพราะฉะนั้น ควรอยู่กับกิเลส
คนอื่น ด้วยความเข้าใจ เข้าใจว่า ทุกคนก็ยังมี และ เราก็มีเช่นกัน และ เป็นอย่างนั้น
ได้เช่นกัน เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม เมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมเกิด กุศลจิต ที่เข้าใจความจริงของ
ชีวิตแต่ละหนึ่ง ที่เป็นไปด้วยกิเลส และ เข้าใจละเอียดลงไปอีกว่า ไม่มีใคร ไม่มีสัตว์
บุคคลที่มีกิเลส เพราะเป็นแต่เพียง สภาพธรรมที่เป็นอกุศลจิตเป็นไปเท่านั้น ไม่มีใคร
มีแต่ธรรม การเข้าใจเช่นนี้ ประโยชน์ คือ สะสมปัญญา สะสมความเห็นถูกของตนเอง
และ ละคลายกิเลสตนเองเป็นสำคัญ นี่คือ ประโยชน์สูงสุด คือ ประโยชน์ตน ที่จะ
เข้าใจความจริง มีหน้าที่ คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ปัญญาที่เจริญขึ้น
ย่อมเข้าใจเหตุการณ์ทีเกิดขึ้นในชีวิต ประจำวัน ด้วยกุศลจิต แม้แต่ เรื่องการให้ทาน
ของบุคคลต่างๆ ในลักษณะต่างๆ
G+ ชาวพุทธ - สนทนาธรรมตามกาล
ฐิตา:
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ธรรมเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้ง แม้แต่คำว่า ศีล และ วินัย ก็มีความละเอียดลึกซึ้ง
เพราะ ล้วนแล้วแต่เป็นสภาพธรรมที่มีความลึกซึ้งในตัวของมันเอง
คำว่า วินัย โดยความหมายทางโลก หมายถึง ระเบียบข้อประพฤติปฏิบัติ เป็นวินัย
แต่ในความเป็นจริงในพระพุทธศาสนา วินัย หมายถึง เครื่องกำจัด กำจัดอย่างวิเศษ
ขัดเกลาอย่างวิเศษ กำจัด ขัดเกลาอะไร ก็ต้องเป็นการกำจัด สภาพธรรมที่ไม่ดี ที่
เป็นอกุศลธรรมและกิเลส สภาพธรรมอะไรก็ตามที่กำจัดเสียซึ่งความไม่ดี ชื่อว่า วินัย
วินัย มี 2 อย่าง คือ สังวรวินัย และ ปหานวินัย
สังวรวินัย คือ เครื่องกำจัดกิเลส ด้วยการสังวร หรือ สำรวม ซึ่งแบ่งเป็นสังวร 5 อย่าง
คือ สีลสังวร สติสังวร ขันติสังวร ญาณสังวร วิริยะสังวร
สังวรทั้ง 5 อย่างนี้ เป็นส่วนหนึ่ง ของ วินัย ที่เป็น สังวรวินัย ซึ่ง สีลสังวร ก็คือ การ
สำรวมด้วยศีล ถ้าเป็นคฤหัสถ์ก็ศีล 5 ถ้าเป็นบรรพชิต ก็สิกขาบท เพราะ สีลสังวร
เป็นวินัย เพราะ กำจัดกิเลสที่หยาบทางกาย วาจา สติสังวร คือ การสำรวมด้วยสติ
คือ ขณะที่สติปัฏฐานเกิด รู้ลักษณะสภาพธรรมทางตา หู..ใจ ญาณสังวร การสำรวม
ด้วยปัญญา ขันติสังวร การสำรวมด้วยขันติ และ วิริยสังวร การสำรวมไม่ให้กิเลสเกิด
ด้วย วิริยะ
จะเห็นนะครับว่า ที่กล่าวมา ล้วนแล้วแต่เป็นสภาพธรรมที่เป็นเครื่องกำจัดกิเลส ที่
เป็นอรรถ ความหมายของวินัย
ศีล
ส่วน ศีลนั้นก็มีหลากหลายนัย ศีล หมายถึง ความประพฤติที่งดเว้นทางกาย วาจา
ก็ได้(วารีตศีล) ศีล ยังหมายถึง การประพฤติสิ่งที่สมควรทางกาย วาจา (จารีตศีล) มี
การเลี้ยงดู มารดา บิดา เป็นต้น และศีล ยังหมายถึง ความเป็นปกติ ที่เป็นทั้งกุศลศีล
อกุศลศีล แต่เมื่อกล่าวโดย ศีลที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติเพื่อละกิเลส ย่อมมุ่งหมายถึง
กุศลศีล ดังนั้น ศีลที่งดเว้นทางกาย วาจา ก็เช่น ศีล 5 ศีลของพระภิกษุ จึงชื่อว่า
สีลสังวร
ในพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงในพระไตรปิฎก ทรงแสดง ว่า ศีล มี 4 อย่าง คือ
1.เจตนา เป็น ศีล
2.เจตสิก เป็น ศีล
3.ความสำรวม สังวร เป็นศีล
4.การไม่ก้าวล่วงเป็นศีล
เจตนา เป็น ศีล หมายถึง เจตนาที่งดเว้นจาก การฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดใน
กาม เป็นต้น เช่น ยุงกัด ก็ไม่ตบ ขณะที่งดเว้น ไม่ตบในขณะนั้น ก็เป็น ศีล ที่เป็น
เจตนาศีล เจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์
เจตสิก เป็น ศีล คือ การงดเว้นจากความโลภ (อนภิชฌา) งดเว้นจากการพยาบาท
(อพยาบาท) และ มีความเห็นถูก(สัมมาทิฏฐิ ) ชื่อว่า เจตสิกศีล
การไม่ก้าวล่วงเป็นศีล คือ เจตนาสมาทานศีล หรือที่ถือเอาด้วยดี ด้วยตั้งใจที่จะ
ขอรักษาศีล เช่น ไปต่อหน้าพระ และขอสมาทานจะรักษาศีล ขณะนั้นมีเจตนา
ที่จะประพฤติ รักษากาย วาจาที่เป็นไปด้วยดี ชื่อว่า เป็นศีล เพราะ มีความไม่ก้าวล่วง
ด้วยการสมาทานศีล ครับ จึงเป็นศีล
ความสำรวม หรือ สังวร เป็น ศีล ความสำรวม สังวรในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงการสำรวม
ภายนอกที่ทำสำรวม กิริยาสำรวม แต่ สำรวม สังวร หมายถึง การสำรวมด้วยจิตที่เป็น
กุศล มุ่งที่ จิต เป็นสำคัญ ซึ่งการสำรวม หรือ สังวรนั้นมี 5 ประการ คือ
ปาฏิโมกขสังวร คือ การประพฤติงดเว้นและปฏิบัติตามพระวินัยบัญญัติของพระภิกษุ
ชื่อว่าเป็น ศีล
สติสังวร คือ การมีสติระลึกลักษณะของสภาพธรรม ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ชื่อว่า
สติสังวร เป็นศีล
ญาณสังวร ปัญญาเกิด ละกิเลส ชื่อว่า สังวรด้วยปัญญาและการพิจารณาสิ่งที่ได้มาที่
เป็นปัจจัย มี อาหาร เป็นต้นของพระภิกษุ พิจารณาด้วยปัญญาแล้วจึงบริโภค ก็ชื่อว่า
ญาณสังวร เป็นศีลในขณะนั้นด้วยครับ คือ ปัจจยสันนิสิตตศีล
ขันติสังวร ความเป็นผู้อดทนต่อหนาวและร้อน เป็นต้น ชื่อว่า สำรวมด้วยขันติ
วิริยสังวร คือ ปรารภความเพียรไม่ให้อกุศลทีเกิดขึ้นแล้ว เจริญขึ้น เป็นต้น ชื่อว่าสำรวม
ด้วยวิริยะ
จากที่กล่าวมา จะเห็นนะครับว่า ศีล นั้น เป็นส่วนหนึ่งของวินัย คือ สังวร 5 ที่เป็น
ศีลก็เป็น วินัย และ สีลสังวร ก็เป็นส่วนหนึ่งของวินัย ด้วยเหตุผลที่ว่า วินัย หมายถึง
เครื่องกำจัดกิเลส เพราะฉะนั้น ศีล ก็เป็นธรรมส่วนหนึ่ง ที่กำจัดกิเลส วินัย จึงกว้าง
กว่า ศีล โดยนัยนี้ ครับ
วินัย ยังแบ่งเป็น สังวรวินัย ได้กล่าวไปแล้ว และยังแบ่งเป็น ปหานวินัย
ซึ่ง มี 5 อย่างดังนี้
ตทังคปหาน วิกขัมภนปหาน สมุจเฉทปหาน ปฏิปัสสัทธิปหาน และนิสสรณปหาน
ปหาน หมายถึง การสละ การละ ซึ่งก็มีหลากหลายนัยดังนี้ ครับ
ตทังคปหาน คือ การละองค์นั้นๆด้วยวิปัสสนาญาณ เช่น ขณะที่เกิดวิปัสสนาญาณ
ขั้นที่ 1 ก็ละ ความยึดถือว่าเป็นสัตว์ บุคคล ชั่วขณะนั้น ละ ความไม่รู้ กิเลสในชั่วขณะ
นั้น ครับ เป็นวินัยเพราะ กำจัดกิเลสในขณะนั้นชั่วขณะ
วิกขัมภนปหาน หมายถึง ฌานขั้นต่างๆขณะนั้น ละ กำจัด นิวรณ์ มีความติดข้องใน
ขณะนั้น เป็นต้น ครับ
สมุจเฉทปหาน การละกิเลสได้เด็ดขาด ด้วย มรรคทั้ง 4 ชื่อว่า สมุจเฉทปหาน
ปฏิปัสสัทธิปหาน คือ ขณะที่เป็นผลจิต เป็นการระงับกิเลสที่ละได้แล้ว
นิสสรณปหาน คือ พระนิพพาน เพราะ ละ สภาพธรรมที่เป็นเครื่องปรุงแต่ง คือ จิต
เจตสิก รูปไม่มีอีกเลยในพระนิพพาน ครับ
สรุปได้ว่า การละทั้งหมด การกำจัดทั้งหมด เป็นวินัย วินัยจึงกว้างขวาง ครอบคลุม
ทั้ง ศีล สมาธิ และปัญญา มรรค ผล นิพพาน ส่วนศีล แคบกว่า เป็นเพียงศีล และ
เป็นส่วนหนึ่งของวินัย เพราะ ศีล ก็เป็นเครื่องกำจัด ละกิเลสได้เช่นกัน แต่ก็ตาม
ระดับของศีล ครับ ผม
G+ ชาวพุทธ - สนทนาธรรมตามกาล
ฐิตา:
บูชาคนที่ควรบูชา
บุคคลใดกระทำสักการะบูชาแก่สิ่งที่ควรบูชา
มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บิดา มารดา
ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ และท่านผู้มีพระคุณที่ให้การอุปการแก่ตน
จัดเป็นมงคลอันประเสริฐ เป็นบ่อเกิดแห่งบุญ การบูชามี ๒ อย่างคือ
อามิสบูชา ได้แก่การให้วัตถุต่างๆ มีดอกไม้ธูปเทียนของหอม
และข้าวน้ำ ผ้านุ่ง ผ้าห่ม ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย ปัจจัยลาภทั้งหลาย
พร้อมเครื่องใช้ไม่สอย ที่จำเป็น เป็นต้น
ขุดสระบ่อ และทำถนน สร้างพุทธรูปสถูปเจดีย์เหล่านี้ เรียกว่า อามิสบูชา
ปฏิบัติบูชา ได้แก่
การปฏิบัติตามคำสั่งสอน
เชื่อถ้อยฟังคำ
ทำตามจนเห็นผลประจักษ์แจ้งแก่ตน
จนเชื่อใจ วางใจ
เบาใจแก่ผู้รับการบูชา พร้อมผู้บูชาเอง เหล่านี้เรียกว่า ปฏิบัติบูชา
บุคคลที่ควรบูชา มีดังนี้คือ
๑.พระพุทธเจ้า
๒.พระปัจเจกพระพุทธเจ้า และหมายถึงพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา
๓.พระมหากษัตริย์ผู้ตั้งอยู่ในทศพิศราชธรรม
๔.บิดามารดา
๕.ครูอาจารย์ ที่มีความรู้ดี มีความสามารถ และประพฤติดี
๖.อุปัชฌาย์ หรือผู้บังคับบัญชาที่มีความประพฤติดี ตั้งอยู่ในธรรม
http://www.thaimisc.com/freewebboard/php/vreply.php?user=dokgaew&topic=6614
G+ ชาตรี กองนอก
ฐิตา:
มีผู้กล่าวว่า "ปรมัตถธรรมย่อมอยู่เหนือกฎไตรลักษณ์" (ผู้กล่าวเป็นพระภิกษุในพระ
พุทธศาสนาเถรวาท)
ขอความกรุณาอธิบายว่า
1 ปรมัตถธรรม คืออะไร (เป็นไปได้ไหมว่า ท่านผู้กล่าวนั้นใช้คำว่า ปรมัตถธรรม ไป
ตามความเข้าใจของท่านเอง ?)
2 ปรมัตถธรรม (ไม่ว่าใครจะเข้าใจว่าคืออะไรก็ตาม) อยู่เหนือไตรลักษณ์ ได้หรือไม่
ด้วยเหตุผลอย่างไร
ขอขอบพระคุณล่วงหน้าครับ
****************************
..
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
1 ปรมัตถธรรม คืออะไร (เป็นไปได้ไหมว่า ท่านผู้กล่าวนั้นใช้คำว่า ปรมัตถธรรม ไปตาม
ความเข้าใจของท่านเอง ?)
ปรมัตถธรรม ปรม ( อย่างยิ่ง , ประเสริฐ ) + อตฺถ ( เนื้อความ ) + ธมฺม ( สภาพที่
ทรงไว้ ) ปรมัตถธรรม จึงหมายถึง ธรรมที่มีเนื้อความที่ประเสริฐอย่างยิ่ง หมายถึง สิ่งที่
มีอยู่จริง ได้แก่ จิต เจตสิก รูปและนิพพาน ปรมัตถธรรมเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ไม่
เปลี่ยนแปลงลักษณะ เป็นธรรมที่ไม่ใช่บัญญัติ เรื่องราว แต่เป็นสิ่งที่อยู่จริง โดยไม่จำเป็น
ต้องเรียกชื่อว่าอะไรเลยก็ตาม ก็มีอยู่จริง ทุกยุค ทุกสมัย นั่นก็คือ จิต เจตสิก รูป พระ
นิพพาน พระพุทธเจ้าทรงตรสัรู้ ความจริงที่ประเสริฐยิ่งด้วยปัญญาของพระองค์เองตาม
ความเป็นจริงครับ
..
..
2 ปรมัตถธรรม (ไม่ว่าใครจะเข้าใจว่าคืออะไรก็ตาม) อยู่เหนือไตรลักษณ์ ได้หรือไม่ด้วย
เหตุผลอย่างไร
ปรมัตถธรรม มี 4 อย่าง ไม่ใช่อย่างเดียว คือ จิต เจตสิก รูปและนิพพาน เพราะฉะนั้น
เราก็จะต้องแยกสภาพธรรมแต่ละอย่างว่าขึ้นอยู่กับกฎไตรลักษณ์หรือไม่
ไตรลักษณ์ คือ ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฎทั่วไปในสภาพธรรม ซึ่ง มีลักษณะ
3 อย่าง คือ อนิจจัง(ไม่เที่ยง) ทุกขัง(เป็นทุกข์) อนัตตา(ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน บังคับ
บัญชาไม่ได้)
ปรมัตถธรรมมี จิต เจตสิก รูป พระนิพพาน จิต เจตสิกและรูป 3 อย่างนี้ เป็นสภาพธรรม
ที่มีปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น จิต เจตสกิและรูป จึงเป็นสภาพธรรมที่ไม่
เที่ยง(อนิจจัง) เป้นทุกข์ ทนไม่ได้ และที่สำคัญที่สุด คือ เป็นอนัตตาด้วย คือ ไม่ใช่สัตว์
บุคคล เป็นแต่เพียงสภาพธรรม จิต ไม่ใชเรา เป็นแต่เพียงธรรม เจตสิกและรูปก็เช่นกัน
เป็นแต่เพียงสภาพธรรม จึงเป็นอนัตตา ดังนั้น จิต เจตสิกและรูปก็ไม่พ้นจากกฎไตรลักษณ์
คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา
ส่วนพระนิพพาน เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นปรมัตถธรรมเช่นกัน นิพพาน เป็นสภาพ
ธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง จึงไม่เกิดขึ้นและดับไปเลย เพราะฉะนั้น พระนิพพาน จึงเที่ยง
เป็นสุข แต่ที่สำคัญที่สุด แม้เที่ยง เป็นสุข ก็เป็นอนัตตา คือ เป็นแต่เพียงธรรม สูญ จาก
ความเป็นสัตว์ บุคคล เพราะพระนิพพานเป็นแต่เพียงสภาพธรรมเท่านั้น จึงเป็นอนัตตา
ดังนั้น ปรมัตถธรรมทั้ง 4 ประการ ไม่พ้นจากกฎไตรลักษณ์ คือ เป็นอนัตตา แต่ พระ
นิพพาน เป็นสภาพธรรม ที่พ้นจากความไม่เที่ยง และความเป็นทุกข์ แต่ก็ยังอยู่ในกฎ
ไตรลักษณ์ประการหนึ่ง คือ เป็นอนัตตาครับ ปรมัตถธรรมทั้ง 4 จึงไม่พ้นจากกฎ
ไตรลักษณ์เลย โดยเฉพาะความเป็นอนัตตาครับ ขออนุโมทนา
.....................................................................................
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
จริงที่สุด คือ ปรมัตถธรรม มี ๔ ประการ คือ จิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธาน
ในการรู้แจ้งอารมณ์) เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต) รูป (สภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร
เลย ไม่ใช่สภาพรู้) และ พระนิพพาน ทั้งหมดนั้น เป็นสภาพธรรมทีี่่มีจริง ไม่เปลี่ยน
แปลงลักษณะเป็นอย่างอื่น เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น
ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง สามารถพิสูจน์ได้ทุกขณะว่าเป็นสิ่งที่มีจริง ไม่ว่าจะได้เห็น
ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก ดีใจ เสียใจ ติดข้องยินดีพอใจ
หงุดหงิดโกรธขุ่นเคือง ไม่พอใจ เป็นต้น ล้วนเป็นธรรมทั้งหมด, ธรรม ไม่ได้หมายถึง
เพียงสภาพธรรมฝ่ายดีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่หมายรวมถึงสิ่งที่มีจริงทั้งหมด
ชีวิตประจำวันที่ดำเนินไปนั้นไม่พ้นไปจากธรรมเลย เมื่อไม่ได้ศึกษา ย่อมไม่สามารถ
จะรู้ได้ว่าเป็นธรรม เพราะแท้ที่จริงแล้ว ทุกขณะเป็นธรรม มีจิต(สภาพธรรมที่เป็นใหญ่
เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) เจตสิก(สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต) และ รูป เกิดขึ้น
เป็นไปอยู่ตลอดเวลา จิต เจตสิก รูปนั้น เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป
ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ที่ไม่เที่ยงนั้นเพราะเกิดแล้วดับไป สภาพธรรมที่เกิดแล้วดับไปนั้น
เป็นทุกข์ เป็นทุกข์เพราะเหตุว่าตั้งอยู่ไม่ได้ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา เมื่อ
ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ จึงเป็นอนัตตา คือ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่อยู่ใน
อำนาจบังคับบัญชาของใคร ลักษณะทั้ง ๓ ประการนี้ เป็นลักษณะที่ทั่วไปแก่สภาพ
ธรรมที่เป็นสังขารธรรมทั้งหมด แต่เมื่อกล่าวถึงอนัตตาแล้ว ไม่มีเว้นธรรมอะไรเลย
หมายรวมถึงพระนิพพานด้วย เพราะพระนิพพาน ก็เป็นอนัตตา ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า
ธรรมทั้งหลายทั้งปวง เป็นอนัตตา คือ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่
เพียงธรรมแต่ละอย่าง ๆ เท่านั้นจริง ๆ
ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด ยากที่จะเข้าใจ แต่ก็สามารถที่จะเข้าใจได้ การศึกษา
ธรรม เป็นการศึกษาถึงสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพื่อเข้าใจ
สภาพธรรมตามความเป็นจริง เนื่องจากคุ้นเคยกับความเป็นตัวตน คุ้นเคยกับความ
เป็นเรา พร้อมทั้งได้สะสมความไม่รู้มาอย่างเนิ่นนาน จึงหลงยึดถือสภาพธรรมที่กำลัง
ปรากฏว่าเป็นต้วตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเรา ดังนั้น ธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงนั้น
จึงควรที่จะศึกษา เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกตามความเป็นจริง ซึ่งจะเป็นไปเพื่อละ
คลายความไม่รู้ ละความเห็นผิดในสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้
ในที่สุด ครับ.
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุก ๆ ท่านครับ...
-http://www.dhammahome.com/front/webboard/show.php?id=20135
ฐิตา:
ประโยชน์ของการเข้าใจ...เรื่องปัจจัยต่างๆ
ข้อความบางตอนจากการถอดเทป การบรรยายธรรมโดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ณ ตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัยพ.ศ. ๒๕๒๕ โดย คุณสงวน สุจริตกุล
สำหรับประโยชน์ของการเข้าใจเรื่อง อนันตรูปนิสสยปัจจัย และ ปัจจัยอื่นๆทั้งหมด
ก็เพื่อที่จะไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดในสภาพธรรมและการปฏิบัติ คือ การอบรมเจริญปัญญา....
ถ้ามีการเข้าใจผิดในเรื่องการปฏิบัติ ก็ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้.เช่น ถ้าคิดว่า ปัญญา ไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามปกติ ตามความเป็นจริง ในขณะนี้ก็ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้....แล้วจะไม่เข้าใจด้วยว่าปัจจัยทั้งหลาย ที่พระผู้มีพระภาค ได้ทรงแสดงไว้แล้วนั้น เพื่อที่จะให้รู้ลักษณะที่เป็น อนัตตา จริงๆ...
แม้แต่ อนันตรูปนิสสยปัจจัย......ถ้าสติไม่เกิด ระลึกรู้สภาพธรรม ที่กำลังปรากฏขณะนี้จะไม่ทราบเลยว่า อนันตรูปนิสสยปัจจัย..........คืออะไร?
แต่ถ้าเป็นผู้มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจในขณะนี้จริงๆ
จะเห็นได้ว่า ทั้งๆที่เห็น..........ไม่นานเลยเพราะว่า อนันตรูปนิสสยปัจจัย ทำให้เกิดการได้ยินขึ้นและ ทั้งๆที่กำลังได้ยินนี้เอง.........ก็ไม่นานเลยเพระว่า อนันตรูปนิสสยปัจจัย...............................ทำให้เกิดการคิดนึก เรื่องต่างขึ้น.......
เพราะฉะนั้น ชีวิตตามปกติตามความเป็นจริง ของแต่ละคนสติสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางทวารต่างๆ..........ซึ่งปกติ..............มักจะหลงลืม.
แม้ว่าสภาพธรรมจะปรากฏทางตา....ชั่วขณะเล็กน้อยปรากฏทางหู..........ชั่วขณะเล็กน้อย .......ปรากฏทางใจ..........คิดนึกแต่ละคำ เพียงชั่วขณะเล็กน้อยก็ไม่เห็น ความเป็นอนัตตา ของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัยต่างๆ............ถ้าปราศจากปัจจัยต่างๆแล้ว สภาพธรรมแต่ละอย่าง จะปรากฏไม่ได้เลย.........
แต่เมื่อเป็น ผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน เมื่อไหร่จะเริ่มรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมที่เกิดปรากฏ ตามปกติ ตามความเป็นจริง ทีละเล็ก ทีละน้อย จนสามารถจะเข้าถึง สภาพที่เป็นอนัตตา.........
แม้เรื่องของ อนันตรูปนิสยปัจจัย และปัจจัยทั้งหลายที่ได้ฟัง และได้ศึกษามาแล้ว.........ก็จะเห็นได้ว่าสภาพธรรมแต่ละอย่างนั้น เป็นอนัตตาจริงๆ.
ถ้าปราศจากปัจจัย แม้เพียงปัจจัยหนึ่ง ปัจจัยใดซึ่งเป็นเหตุให้สภาพธรรมนั้น เกิดขึ้น..........สภาพธรรมนั้น ก็เกิดขึ้นไม่ได้. เช่น อนันตรูปนิสสยปัจจัยถ้าขาดปัจจัยนี้การได้ยิน ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้การคิดนึก ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้การเห็น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสต่างๆซึ่งเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ก็ย่อมจะเกิดไม่ได้.........
เพราะฉะนั้น การศึกษาทั้งหมด เพื่อที่จะเกื้อกูลให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามปกติ ตามความเป็นจริง
ท่านผู้ฟัง เคยนอนไม่หลับไหมคะ? บางท่านรู้สึกเป็นห่วงมาก กับการนอนไม่หลับแต่เพราะเหตุใด จึงนอนไม่หลับ? ถ้าไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย
การนอนไม่หลับ จะเกิดขึ้นไม่ได้ไม่ว่าอยากจะหลับ แล้วก็ไม่หลับก็เป็นเพราะเหตุปัจจัย
หรือว่า ไม่อยากจะหลับ แต่ก็หลับ เช่นขณะที่ฟังพระธรรม บางท่านอาจจะเผลอไปหลับไป ทั้งๆที่ไม่อยากจะหลับเลยแต่ถ้าปราศจากเหตุปัจจัย
การหลับในขณะนั้น ก็เกิดขึ้นไม่ได้แต่ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าสภาพธรรมทั้งหลาย ย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัยไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา.
>>การศึกษาเรื่องปัจจัยมีประโยชน์อย่างไร โดย เมตตา
ประโยชน์ของการเข้าใจ...เรื่องปัจจัยต่างๆ โดย พุทธรักษา...
วันที่ 26 ก.ย. 2551 หัวข้อหมายเลข 9991 dhammahome.com
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version