ริมระเบียงรับลมโชย > ดูหนัง ดูเรา ดูโลก ( Movie and Wisdom )

ฮอลลีวูด จ่อเตรียมรีเมค 13 เกมสยอง ของไทย เปิดกล้องต้นปีหน้า (2555)

<< < (2/2)

มดเอ๊กซ:


13 เกมสยอง เป็นภาพยนตร์วิพากษ์สังคมที่ดีมาก

อ่านไม่ผิดหรอกครับ ผมตั้งใจเขียนอย่างนี้จริงๆ และควรต่อท้ายด้วยว่า ‘และตั้งใจมากๆ ด้วย’
เพราะนอกจากแก่นเรื่องหลักที่ว่าด้วยมนุษย์ผู้ติดกับดักบริโภคนิยมและยอมทำตามกิเลสจนลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของตนไปสิ้นแล้ว ตามรายทาง หนังยังสอดแทรกปัญหาขั้นวิกฤติของสังคมไทยไว้หลายประการ ซึ่งล้วนได้รับการนำเสนอด้วยความตั้งใจและไม่ยอมลดราวาศอกแม้แต่น้อย ดังจะได้กล่าวต่อไปข้างหน้า13 เกมสยอง เล่าเรื่องเหตุการณ์สำคัญในชีวิตของ ภูชิต (กฤษดา สุโกศล หรือ น้อย วงพรู) ที่เกิดขึ้นในเวลาเพียง 1 วัน เขาเป็นเซลแมนของบริษัทเครื่องดนตรีชื่อดังแห่งหนึ่ง ซึ่ง ไม่ประสบความสำเร็จในอาชีพการงานเอาเสียเลย ยอดขายตกมาแล้วสามเดือน ไม่มีเงิน ถูกแฟนทิ้ง รถถูกยึด ไม่มีเวลากลับไปเยี่ยมบ้าน ฯลฯ ดังนั้น จึงดูเหมือนว่าชีวิตของเขากำลังโคจรเข้าใกล้หลุมดำอยู่ทุกขณะ ซึ่งพาหนะเดียวที่สามารถพาเขาหลุดจากวงโคจรมรณะนี้ได้ คือเงินเท่านั้น….
 
ช่วงแรกนี้ หนังสามารถสร้างความรู้สึกกดดันและปูเหตุผลสำหรับการกระทำของตัวละครได้ดีมาก คุณน้อย วงพรูนั้นเป็นศิลปินที่มีพลังเยอะอยู่แล้ว การรับบทหนักๆ เช่นนี้จึงไม่ถือว่าเป็นปัญหาสำหรับเขาแต่อย่างใด หนำซ้ำยังเล่นได้ดีเสียด้วย ว่ากันเฉพาะฉากที่เข้าไปเสนอขายเครื่องดนตรีให้อาจารย์ใหญ่เท่านั้น ทั้งสีหน้าท่าทาง จังหวะการพูดจาล้วนแต่บ่งบอกให้รู้ว่าเขานี่แหละคือคนจริงๆ ที่กำลังจะประสบหายนะในชีวิต
 
แน่นอนว่านอกจากฝีมือการแสดงแล้ว ยังต้องยกความดีให้กับบทที่เขียนโดยผู้กำกับมะเดี่ยว ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ซึ่งกำหนดสถานการณ์ต่างๆ ไว้ดักทางความรู้สึกของผู้ชมได้ลงตัวตรงจังหวะ การปูพื้นฐานตัวละครในช่วงแรกนี้จึงประสบความสำเร็จอย่างที่สุด และในเมื่อปูพื้นฐานตัวละครได้ดีเช่นนี้แล้ว การเฝ้าดูพฤติกรรมของภูชิตต่อไปตลอดทั้งเรื่อง จึงน่าอภิรมย์เป็นที่ยิ่ง

ทว่า ในทันทีที่ภูชิตสำนึกตัวว่ากำลังอยู่ในช่วงขาลงที่สุดของชีวิตนั้น จู่ๆ เสียงโทรศัพท์มือถือของเขาก็ดังขึ้น ดังขึ้นด้วยพร้อมความฉงนสงสัย ดังขึ้นพร้อมความไม่น่าไว้วางใจ และที่สำคัญ ดังขึ้นพร้อมความหวังใหม่ในชีวิตของเขา ต้นสายยื่นข้อเสนอที่แสนเย้ายวนใจให้ นั่นคือหากเขาเล่นยอมเล่นเกมตอบคำถาม 13 ข้อ เขามีสิทธิ์เป็นเจ้าของเงินรางวัลสูงถึง 100 ล้านบาท!!! โดยมีเงื่อนไขอยู่ว่าจะต้องทำตามทีมงานสั่งทุกประการ ไม่ว่าคำสั่งนั้นจะเป็นอะไรก็ตาม ผู้ชม-ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม-ลงว่าได้เห็นคุณน้อยเล่นได้น่าเชื่อมาตั้งแต่แรกแล้ว ก็คงไม่อาจคิดเป็นอื่นได้นอกจาก ‘ถ้าเป็นอั๊ว ก็จะยอมทำไม่ต่างกันละวะ’
 
ฉะนั้นแล้ว การเดินทางสู่หายนะในชีวิตที่แท้จริงของภูชิต จึงเริ่มต้นขึ้นทันทีที่เขาตอบตกลงเล่นเกมนั่นเอง คำถามแต่ละข้อ แม้จะมาพร้อมเงินรางวัลจำนวนมาก แต่ก็มีคำสั่งอันชวนคลื่นไส้สยดสยองมาด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งไม่ขอกล่าวมากไปกว่านี้ เพราะอาจทำให้ผู้อ่านที่ยังไม่ได้ชมเสียอรรถรสได้
 
ในห้วงเวลาดังกล่าวนี้ หนังยังฉลาดพอที่จะวางเงื่อนปมต่างๆ เกี่ยวกับภูชิตและเกมสยองนี้ ไว้อย่างแยบคายไม่ยัดเยียด ซึ่งช่วยส่งเสริมอารมณ์ในขณะนั้นและจะเป็นตัวเสริมสร้างความหนักแน่นให้แก่บทสรุปในช่วงท้าย
 
โดยส่วนตัวแล้ว ก่อนชมภาพยนตร์เรื่องนี้ คำถามที่ผมตั้งในใจไม่ใช่‘หนังจะจบยังไงนะ’ หากแต่เป็น‘หนังจะจบย่างไรให้สนุก’ ทั้งนี้เป็นเพราะภาพจากเรื่อง Saw (2003) และเรื่องอื่นที่มีเนื้อหาทำนองเดียวกัน ยังคงติดตาอยู่ไม่จาง และเป็นเพราะความสยองขวัญอันเกิดจากบทเฉลยของ รับน้องสยองขวัญ (2005) ยังทำให้เข็ดหลาบอยู่ไม่หาย (แน่นอนว่าผมเสียดสี) ฉะนั้น คำตอบของคำถามที่ว่า ‘หนังจะจบย่างไรให้สนุก’ จึงควรเป็นไปตามเงื่อนไขสองประการ คือ หนึ่ง จบให้ต่างจาก Saw หรือภาพยนตร์ต่างประเทศเรื่องอื่นที่มีเนื้อหาทำนองเดียวกัน และสอง จบให้ดีกว่าภาพยนตร์ไทยที่เฉลยแบบตีหัวเข้าบ้านเรื่องนั้น
 
ผมควรบอกเสียแต่ตอนนี้ว่า ผมไม่ได้หมายความว่า 13 เกมสยอง และต้นกำเนิดของมัน‘เลียนแบบ’ หรือ ‘ได้รับแรงบันดาลใจจาก’ Saw หรือภาพยนตร์ต่างประเทศเรื่องอื่นที่มีเนื้อหาทำนองเดียวกัน ซึ่งแม้จะเป็นอย่างนั้นก็ไม่แปลก เพราะจินตนาการของเราย่อมก่อเกิดจากสิ่งที่เรารับรู้อยู่ก่อนแล้วนั่นเอง ดังนั้น จึงไม่ใช่ประเด็นที่จะถกกัน หรือหากว่าเป็นประเด็น ก็ควรไปถกกรณี ‘Romeo and Juliet’ กับ ‘ขุนลู-นางอั้ว’
 
และเมื่อพิจารณาตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏบนจอแล้ว ถึงจะมีอนุภาค (particle) คล้ายกันหลายประการ แต่ 13 เกมสยอง ก็ต่างจาก Saw อย่างสิ้นเชิงในแง่ของแก่นเรื่อง เพราะในขณะที่ Saw ว่าด้วยการแข่งขันกับคนอื่นตามสัญชาตญาณเพื่อเอาชีวิตรอด แม้จะต้องฆ่าใครก็ช่าง ดังทฤษฎีคนแกร่งอยู่ต่อ (survival of the fittest) นั้น แต่ 13 เกมสยอง กลับว่าด้วยการแข่งกับตนเองเพื่อเอาชนะกิเลสและตั้งคำถามต่อผู้ชมว่า‘เราจะยอมลดคุณค่าความเป็นมนุษย์มากแค่ไหน เพียงเพื่อสนองกิเลสของตน’ ผู้ชนะในหนังสองเรื่องนี้จึงต่างกัน สำหรับ Saw ผู้ชนะคือคนที่ทำตามสัญชาตญาณแล้วฆ่าคนอื่นจนเอาชีวิตรอด แต่สำหรับ 13 เกมสยอง นั่นคือผู้แพ้

ปัญหาสังคมที่หนังพยายามสะท้อนและวิพากษ์อย่างเด่นชัดที่สุด (ซึ่งก็คือ‘แนวเรื่อง’ หรือ motif นั่นเอง) คือ ลัทธิบริโภคนิยม ดังเราจะเห็นได้อยู่บ่อยครั้งว่า สาเหตุของปัญหาที่รุมล้อมตัวภูชิตอยู่นั้น ล้วนเกิดจากลัทธิบริโภคนิยมทั้งสิ้น อาทิ แฟนทิ้งเพราะเขาไม่มีบ้าน รถ และเงินเก็บ หรือแม่ต้องโทรมารบกวนขอเงินเพราะน้องสาวเอาเงินค่าเทอมไปซื้อโทรศัพท์ เป็นต้น และหนังก็พิพากษาลัทธิที่ครอบงำชาวโลกอยู่นี้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ว่าเป็นเสมือนผีร้ายที่เมื่อได้เข้าสิงสู่ใครแล้ว เป็นต้องกระชากวิญญาณออกไปให้สูญสิ้นความเป็นคนเมื่อนั้น
 
ส่วนประเด็นปัญหาสังคมอื่นๆ ที่ผู้ชมได้เห็นตามรายทาง อันได้แก่ ขอทาน คนวิกลจริต การทอดทิ้งคนชราให้อยู่ลำพัง การใช้ความรุนแรงในครอบครัว ตลอดจนมอเตอร์ไซค์ซิ่งนั้น ล้วนได้รับการถ่ายทอดออกมาอย่างพอเหมาะพอควร กล่าวคือ ผู้ชมได้รับสารอย่างเต็มที่ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ขับเน้นมากจนทำให้หลงประเด็น อย่างไรเสีย ยังมีบางประเด็นที่หนังจงใจใช้อธิพจน์โวหาร (hyperbole) มากไปหน่อยจนพ้นเข้าไปในเขตความไม่น่าเชื่อเสียฉิบ
 
นอกจากจะวิพากษ์สังคมอย่างเอาเป็นเอาตายแล้ว หนังยังมีช่วงชะลอความเครียด ให้ผู้ชมได้ผ่อนคลายอารมณ์บ้าง ด้วยการปล่อยมุขขบกัดเสียดสีเป็นระยะๆ เริ่มตั้งแต่ฉากตบแมลงวันตายคาใบปิดอดีตนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่ง ซึ่งถ้าจะให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันหน่อย ขอเปลี่ยนเป็นอีกคนจะดีกว่า
น่าเสียดายที่ตัวละครบางตัว ซึ่งมีสีสันและบทบาทสำคัญในช่วงแรก และโผล่ออกมาบ่อยจนผู้ชมจำชื่อได้ ถูกทอดทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย (ไม่ได้หมายรวมถึง ตัวละครที่มีภูมิหลังตั้งแต่ 12 เกมสยาม อย่าง พตท.สุรชัย ที่รับบทโดยคุณศรันยู วงศ์กระจ่าง นะครับ) หรือเสียงบางเสียงที่ปล่อยออกมาให้เกิดความสงสัย (cognitive conflict) เป็นระยะๆ ก็ยังไม่ได้รับการเฉลยในหนังเรื่องนี้ แต่ก็เป็นที่เข้าใจได้และแอบหวังไว้ว่าในภาคต่อ (ซึ่งหลายคนเสนอให้ใช้ชื่อว่า 14 เกมสยิว) ตัวละครบางตัวและบรรดาเจ้าของเสียงเหล่านี้จะมีบทบาทมากขึ้นและได้รับการเฉลยความเป็นมาเป็นไปในที่สุด
 
คุณอิม อชิตะ สิกขมานา เล่นเรื่องนี้ได้ดีทีเดียว ถึงแม้ว่าบทตอง นักศึกษาฝึกงานที่สนิทกับภูชิต ที่เธอเล่นจะไม่มีบทบาทมากมายนักในเรื่องนี้ แต่ก็ฉายแววไว้ให้น่าเชื่อว่าในภาคต่อไปจะเป็นมีบทบาทสำคัญยิ่ง
 
หากพอจะมีอะไรให้จับผิดบ้าง ก็คงเป็นประเด็นปลีกย่อยที่ไม่ใช่สารัตถะของหนัง ยกตัวอย่างเช่น ทีมงานเกมสยองนี้ รู้ได้อย่างไรหรือมั่นใจได้ 100 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรว่า ผู้เล่นจะเลือกเส้นทางเล่นเกมเป็นเส้นตรงผ่านจุดต่างๆ  ที่ทีมงานจัดฉากไว้ โดยไม่หลงทางหรือเดินอ้อมแต่อย่างใด คำตอบคือ เป็นไปได้ไม่ง่ายนัก ดังจะเห็นได้ว่าบ่อยครั้งภูชิตประสบเหตุบังเอิญมากมายซึ่งทำให้เขวจากเส้นทาง (ต่อยกับนักเรียนอันธพาลจนตกรถเมล์) แต่กระนั้นทีมงานยังสามารถติดตามถ่ายทอดชีวิตเขาได้ (หรือว่าตั้งใจให้ตกรถตรงนั้น???) หรือแม้แต่ในฉากจบเองก็ยังสร้างข้อกังขาในใจผู้ชมว่า‘ทำไมตัวละครอีกตัวที่อยู่ตรงนั้น ไม่ชิงความเป็นหนึ่งเสียตั้งแต่แรก’

อีกประเด็นหนึ่ง ที่ขัดหู ขัดตา และกวนใจเล็กน้อย ก็คือ สัดส่วนเงินรางวัลที่เพิ่มขึ้นอย่างไร้ระบบ เช่น ข้อ 11 เงินรางวัล 40 ล้าน พอข้อ 12 เงินรางวัลกลับเพิ่มเพียง 10 ล้านรวมเป็น 50 ล้าน แต่พอข้อสุดท้าย เงินรางวัลก็ทบเท่าทวีคูณเป็น 100 ร้าน ซึ่งไม่สามารถหาเหตุผลมาอธิบายได้ว่าทำไมจึงต้องเพิ่มแบบไร้ระบบเช่นนั้น
 
ช่วงท้ายเรื่อง อาจทำให้ผู้ชมหน้าใหม่ที่ไม่คุ้นเคยกับภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาทำนองนี้ รู้สึกอึ้งก็จริง แต่ก็เป็นความอึ้งอันเกิดจากส่วนผสมหลายอย่างระคนอยู่ด้วยกัน ทั้งความประหลาดใจ ความระทึกขวัญ และที่สำคัญคือความไม่น่าเชื่อ (ว่าจะเป็นเช่นนั้นได้ในโลกจริง)
 
ยิ่งไปกว่านั้นแล้ว ในช่วงเดียวกันนี้ ยังปรากฏบทสนทนาทำนอง ‘จับยัดใส่ปาก’ มากจนรู้สึกแสลงหูอย่างไรพิกล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฉากที่แม่เข้าไปปลอบขวัญภูชิต หลังจากที่เขาลงมือทำอะไรบางอย่างไม่สำเร็จ เพราะประโยคที่เธอเปล่งออกมา หากหาอะไรมาเปรียบเทียบได้ ก็คงเป็นประโยคยอดนิยมที่ตำรวจจราจรชอบใช้หลังจากที่บอกให้เราหยุดรถนั่นเอง แต่จะทำอย่างไรได้ล่ะครับ ในเมื่อหนังเลือก (ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) ที่จะวิพากษ์สังคมแบบจริงใจตรงไปตรงมาตลอดทั้งเรื่องแล้วนี่
แล้วก็…เอ่อ… Congratulations ตกตัว s หรือเปล่าครับ
 
อำนวยการสร้าง-สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ/ควบคุมงานสร้าง-ปรัชญา ปิ่นแก้ว, สุภัญญา วงศ์สถาปัตย์/กำกับภาพยนตร์-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล/บทภาพยนตร์-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล/เรื่อง-เอกสิทธิ์ ไพยรัตน์ และวิบูลย์กิจ พับลิชชิ่ง กรุ๊ป/ดนตรีประกอบ-กิตติ เครือมณี/กำกับภาพ-จิตติเอื้อนรการกิจ/กำกับศิลป์-ธนาศักดิ์ ล่ำชัยประเสริฐ/ออกแบบเครื่องแต่งกาย-ปัญชลี ปิ่นทอง/ออกแบบงานสร้าง-ศิระ ตาลทอง/ลำดับภาพ-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล/ผู้แสดง-กฤษดา สุโกศล, อชิตะ สิกขมานา, ศรันยู วงศ์กระจ่าง, อเล็กซานเดอร์ ไซมอน เรนเดลล์, ณัฐพงษ์ อรุณเนตร

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารสตาร์พิคส์

มดเอ๊กซ:
13 เกมสยอง: สุดยอดแนวคิดแหวกแนวของคนเขียนการ์ตูน
 
ในรอบสองสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ บ้านเรามีหนังที่สร้างมาจากหนังสือการ์ตูนถึงสองเรื่องสองสัญชาติด้วยกัน เรื่องแรกที่เข้าโรงฉายไปได้ 1 สัปดาห์และคาดว่าโกยเงินรายได้ไปหลายล้านแล้ว ก็คือ Death Note ที่ถูกสร้างมาจากหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น ที่ดังมากถึงขนาดเมื่อวานผมไปเดินหาซื้อหนังสือการ์ตูน ร้านหนังสือยังบอกผมว่า ล็อตสองที่ทางสำนักพิมพ์ปล่อยออกมาขายกำลังจะหมด และอีกเรื่องที่กระแสมาแรงไม่แพ้กันก็คือ 13 เกมสยอง ที่ถูกสร้างมาจากการ์ตูนสั้นเรื่อง 13 QUIZ SHOW
 


13 เกมสยอง เป็นเรื่องราวของ ภูชิต (น้อยวงพรู) เซลล์แมนขายเครื่องดนตรีกำลังเดินทางมาถึงทางตันของชีวิตแล้วจริง ๆ เมื่อจุดจบในหน้าที่การงานกำลังจะถูกหยิบยื่นโดยเจ้านายของเขาโทษฐานที่ไม่สามารถทำยอดขายทะลุเป้าได้ หนำซ้ำคนรักก็ทิ้งไปมีคนใหม่ หนี้สินล้นตัวจากเงินกู้ในฐานะลูกที่ดีที่เข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ต้องรับผิดชอบส่งเสียน้องสาววัยเรียนและแม่ที่ต้องเลี้ยงดูเขาและน้องเพียงลำพังตั้งแต่เล็ก เริ่มออกดอกออกผลกลืนกินชีวิตเขาเข้าเต็มที แม้แต่รถยนต์ที่ขาดส่งไป 3 เดือนก็ยังถูกยึดไปต่อหน้าต่อตา แต่แล้วโอกาสสุดท้ายในชีวิตก็ถูกหยิบยื่นให้ตรงหน้าโดยที่เขาเองก็ไม่คาดคิด ในฐานะ “ผู้ถูกเลือก” เมื่อโทรศัพท์มือถือดังขึ้น เสียงลึกลับจากปลายสายดึงเขาเข้าสู่ “13 BELOVED” เกมท้าทายชีวิตที่มีโจทย์ 13 ข้อให้เขาค้นหาคำตอบและเล่นโดยมีผลตอบแทนที่ดึงดูดใจคือเมื่อใดก็ตามที่เขาสามารถผ่านโจทย์แต่ละข้อมูลค่าของเงินสะสมก็พร้อมที่จะทวีคูณขึ้นไปเรื่อย ๆจะถูกส่งเข้าบัญชีธนาคารที่เขาสามารถตรวจสอบได้ทันที และถ้าเขาสามารถทำได้ครบทั้ง13ข้อยอดเงินสะสมที่มีตัวเลขสูงถึง100 ล้านบาท จะเป็นของเขาทันที นี่คือผลตอบแทนในฐานะผู้พิชิตที่อุตสาห์ร่วมบากบั่นในฐานะผู้ร่วมสนุกในเกม



โดยมีเงื่อนไขที่ว่าเมื่อใดก็ตามที่เขาหยุดเล่นเงินสะสมทั้งหมดจะถูกยกเลิก หากบอกต่อให้คนอื่นรู้เกมถือว่าเป็นโมฆะ และหากพยายามติดต่อกลับหมายเลขดังกล่าวถือว่าเกมสิ้นสุด เพียงทว่าการเล่นเกมดังกล่าวของเขากลับปลุกอดีตที่หลับใหลให้มาบรรจบปัจจุบันขึ้นอีกครั้ง แน่นอนว่าพร้อมที่จะส่งผลต่ออนาคตที่เกิดจากการ“เลือก”และ“ตัดสินใจ”เดินบนเส้นทางนี้ของเขาเองถึงแม้ว่ามันจะเดิมพันด้วยชีวิตของเขาและคนรอบข้างก็ตาม
 
หนังทำออกมาในแนว Bad-Comedy หรือ ตลกร้าย โดยสื่อออกมาเพื่อซ้ำเติมให้คนดูอินกับการที่ตัวละครเอก “ภูชิต” ดูน่าสมเพชเวทนามากๆ ด้วยมุขตลกให้คนดูขำในความอาภัพอับโชคของเขาอยู่ตลอดเวลา เช่นในฉากที่เขาต้องกิน “อุจจาระ” หรือ “อึ” ในภัตตาคารหรูเพื่อแลกกับเงินรางวัลที่ค่อนข้างสูงในระดับหนึ่ง ทำให้เห็นว่าคนเราในเวลาที่หลังชนฝา ก็สามารถทำอะไรได้ทั้งนั้น ในตอนนี้ ผมเห็นคนในโรง ทั้งหัวเราะ ทั้งขยะแขยงในภาพที่หนังสื่อออกมา และหนังก็สื่อได้ดีซะด้วย ต้องชมผู้กำกับและคนตัดต่อภาพ ที่เปลี่ยนมุมกล้องเป็นมุมของคนที่กำลังจะกินอะไรสักอย่างจริงๆ เลยดูเหมือนช้อนที่ตัก “อึ” คำนั้น กำลังจะถูกส่งเข้าปากผู้ชมทุกคน หรือในตอนที่เขาต้องไปนั่งคุยกับคนบ้าที่พูดจาไม่รู้เรื่อง เพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งตัวช่วยในการเล่นเกมต่อไป ซึ่งก็เป็นอีกฉากที่ทั้งขำ ทั้งน่าสมเพช และสงสารในตัวละครตัวนี้ และก็ยังมีอีกหลายๆ ตอนที่หนังต้องการสื่อให้คนดูรู้สึกแบบนี้เพื่อจะปูทางไปสู่จุดพีคที่สุดของหนัง
 


แต่อย่าเพิ่งเข้าใจว่า หนังจะเป็นแบบนี้ไปตลอด เพราะมันไม่ใช่แค่นั้น อารมณ์ของหนังเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ อยู่ตลอดเวลา เพราะเกมแต่ละข้อที่ “ภูชิต” ถูกกำหนดให้ทำนั้น มันยากขึ้นๆ และไม่สามารถเดาออกได้เลยว่า เขาจะตัดสินใจทำมันต่อหรือไม่ ถึงแม้จะคิดไปก่อนแล้วว่า ยังไง หนังก็ต้องให้เขาเล่นจนถึงข้อสุดท้าย แต่ในช่วงเวลาแห่งการตัดสินใจของเขา ก็ทำให้คนดูคอยลุ้นไปกับเขาด้วย โดยเฉพาะข้อหลังๆ ที่หนังแสดงให้เห็นถึงทางเลือกระหว่าง การคงความเป็นมนุษย์ หรือการยอมรับความเป็นปีศาจกระหายเงิน ซึ่งผมว่า มันเป็นข้อคิดที่ดีทีเดียวของหนังเรื่องนี้ และมันก็ถือเป็นจุดแข็งที่สุดของหนัง ที่จะเอาอารมณ์ตรงนี้ของตัวละคร มาทำให้การตัดสินใจที่จะทำหรือไม่ทำในคำถามแต่ละข้อ
 
แต่หนังทุกเรื่องย่อมมีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน เรื่องนี้ก็เช่นกัน จุดอ่อนของเรื่องอยู่ที่ตัวละครอื่นๆ ที่มาประกอบในเรื่อง แต่ตัวละครเหล่านั้นแหละ ที่ถ้ามองในมุมกลับกัน มันควรจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เรื่องดำเนินไปในรูปแบบที่จะทำให้คนดูประหลาดใจและทึ่งในบทของหนังมากกว่านี้ อย่างเช่น พ่อของภูชิต ซึ่งบทในหนังเขียนให้เป็นคนที่ภูชิตต้องมีความหลังอันเลวร้ายกับพ่อ และจุดไคลแม็กซ์ของเรื่องคือทางเลือกระหว่างสายเลือดกับการตัดเยื่อใยความเป็นพ่อลูกเพื่อเงินรางวัล แต่หนังกลับทำให้ความสัมพันธ์ของตัวละครกับเนื้อเรื่องไม่มีความเกี่ยวข้องกันได้ถึงขั้นที่จะนำมาเป็นจุดจบของเรื่อง เพราะหนังไม่ได้พูดถึงความสัมพันธ์ของพ่อลูกคู่นี้เลย

 
จนมาถึงตอนใกล้จบเรื่อง ซึ่งผมคิดว่าน้ำหนักมันไม่พอที่จะเอามาเป็นจุดไคลแม็กซ์ และอีกตัวละครที่ทำให้หลายๆ คนที่อ่านหนังสือการ์ตูนต้องผิดหวังกับตอนจบของเรื่องนี้ก็คือ ตัวละครคุณยายปริศนา ที่โผล่ออกมาตอนต้นเรื่องและในโจทย์ข้อที่ 12 (ผมได้อ่านหนังสือการ์ตูนทีหลัง ถึงได้รู้เสียดายเหมือนกัน) คุณยายคนนี้แหละที่ควรจะเป็นจุดจบของเรื่องที่ทำให้หนังเรื่องนี้สมบูรณ์แบบ เพราะในตอนแรกของหนังที่แกโผล่ออกมา ก็มีคนที่เกี่ยวข้องกับแกต้องมาตายลงไป แต่หนังก็ทิ้งคุณยายให้คนดูลืม จนมาถึงข้อที่ 12 ยายแกก็โผล่มาอีก จนเหมือนกับว่า ยายคนนี้แหละคือผู้บงการทั้งหมด แต่ยายแกก็ถูกลืมอีกเป็นครั้งที่สอง และก็หายไปจากหนังเลย ไม่มีการพูดถึงอีก ทั้งๆที่ ถ้าเปลี่ยนจากพ่อของภูชิต มาเป็นยายตอนท้ายเรื่อง จะกลายเป็นตอนจบที่แสนจะโหดร้ายสำหรับอารมณ์คนดู แต่จะเป็นตอนจบที่น่าประทับใจมากกว่าในมุมมองของหนังหักมุมแบบนี้ หรืออาจจะเป็นเพราะต้องการเก็บยายเอาไว้เป็นจุดไคลแม็กซ์สุดท้ายของโปรเจค 14 ที่กำลังจะตามมาก็เป็นได้
 


ก่อนหน้านี้ ผมไม่ได้อ่านหนังสือการ์ตูนมาก่อน และไม่ทราบด้วยว่าเรื่องนี้ทำมาจากการ์ตูน เพราะผมไม่ค่อยชอบลายเส้นของการ์ตูนไทยสักเท่าไหร่ พอดูหนังจบ ผมยกนิ้วให้แนวความคิดของคนเขียนบท และยังชมกับเพื่อนที่ไปดูด้วยกันว่า คอนเซ็ปต์เจ๋งมาก คิดได้ไงเนี่ย! แต่เพื่อนผมกลับบอกว่า ถ้าผมได้อ่านการ์ตูน จะรู้สึกได้ว่า หนังไม่น่าเปลี่ยนบทเลย เพราะถ้าคงของเดิมไว้ทั้งหมด จะเป็นอะไรที่ perfect มากกว่า จนทำให้ผมต้องรีบไปตามหาซื้อหนังสือการ์ตูนที่มีเรื่องนี้รวมอยู่มาอ่าน และก็เห็นด้วยกับคำที่หลายๆคนบอก คือไม่ควรเปลี่ยนจุดจบของเรื่องเลย แต่ก็ต้องขอชมการปรับบทที่ไม่เปลี่ยนให้หนังเสีย เพราะที่ดูเท่านี้ก็รู้สึกถึงไอเดียที่สุดยอดในบทของเรื่องนี้แล้ว อีกอย่างผมคงต้องชมทีมงานผู้สร้างที่สร้างกระแสของเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี โดยการปล่อยหนังสั้นเรื่อง 12 ที่เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นหรือปฐมบทของ 13 ให้ผู้ชมได้ดู และ 12 ก็หาดูยากกว่า 13 ทำให้ความต้องการในการดูหนังเรื่อง 13 มีเพิ่มมากขึ้น และยังมีข่าวอีกว่าจะมีโปรเจค 14 ซึ่งเป็นภาคตต่อของ 13 อีก เหมือนการเล่นกับความอยากรู้อยากเห็นของคน และก็ได้ผล เพราะผมเห็นว่ามีกระแสตอบรับที่ดีมากจากปากต่อปาก ในเรื่อง 12 ผมได้ดูมาแล้ว แต่ผมจะไม่พูดถึง เพราะมันเป็นเพียงหนังสั้นแค่ครึ่งชั่วโมง ที่เล่าเรื่องราวให้มันเกี่ยวข้องกับ 13 แต่ผมกลับคิดว่า 12 นั้นดีกว่า อาจเป็นเพราะด้วยเวลาที่สั้น จึงทำให้หนังเข้มข้น และกระชับมากกว่า
 
โดยส่วนตัว ผมชอบหนังเรื่องนี้ ทั้งในแง่ของเนื้อเรื่อง และการกำกับที่ออกมา รวมไปถึงการแสดงของ น้อย วงพรู ที่ถ้าไม่ใช่เขาคนนี้ ผมก็ยังมองไม่ออกว่าจะเป็นใครที่จะมาเล่นบทของ “ภูชิต” ได้ เพราะคาแรคเตอร์แบบนี้ มีเพียงไม่กี่คนในหมู่นักแสดงไทย อาจจะมีอีกคนที่ผมนึกถึง ถ้าไม่ใช่ น้อย วงพรู ก็ต้องเป็น เรย์ แม็คโดนัลด์ ซึ่งถ้าไม่ใช่สองคนนี้ก็อาจจะไม่มีใครเหมาะกับบทนี้ ซึ่งรวมๆ แล้ว ผมให้เรื่องนี้ 4 ดาวเลย เอาง่ายๆนี่แหละ เพราะผมชอบ และรวมไปถึงข้อดีที่ผมกล่าวมาทั้งหมด แต่อย่างที่บอก ถ้าไม่เปลี่ยนเนื้อหา ผมยินดีให้ 5 ดาวพร้อมการคารวะจากผมไปเลย
 
http://movie.sanook.com/review/review_11903.php

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version