หนังยาวเรื่องที่ 7 ของเรียว กิตติกร ผู้กำกับเจ้าของหนังอย่าง โกลคลับ, พรางชมพู, อหิงสา จิ๊กโก๋มีกรรม
หนังเล่าเรื่องเช้าวันสงกรานต์ เมื่อคนขับกับกระเป๋ารถเมล์ที่ไม่ชอบหน้ากันต้องมาปฏิบัติงานด้วยกัน ระหว่างทาง ชายอ้วนขาเป๋คนหนึ่งขึ้นมาบนรถเมล์ ตั้งใจจะกลับบ้าน แต่ด้วยความงี่เง่าของคนขับที่ไม่ยอมจอดป่าย ทำให้เกิดเหตุจี้รถเมล์ขึ้นมา และต้องขับต่อไปไม่มีหยุด
ฟังดูเป็นหนังตลกเพี้ยนๆ แต่ลองพูดใหม่ว่า ประเทศของเราเหมือนรถเมล์คันหนึ่ง แล้วลองแทนค่าตัวละครต่างๆ ในหนังเข้าไป จะพบว่า เอ๊ะ นี่มันประเทศไทยในช่วงเวลาอันใกล้นี้นี่นา
ใครกันเป็นคนขับรถจอมกร่างในประเทศเรา (แต่ในหนังเขาไม่ถูกไล่ลง) ใครกันที่เป็นกระเป๋าปากเสีย คอยยุแยง และใครกันที่บอกว่า -มึงฟังกูสิ กูมีปืนนะ- ครับ สุดแท้แต่ท่านจะตีความกันเอาเองว่าใครเป็นใคร
และแน่นอน ผู้โดยสารที่เหลือก็คือประชาชนคนตาดำๆ นี่เอง มีตั้งแต่แม่ค้าปากตลาดที่ไม่ได้สนใจใครนอกจากตัวเอง คนที่โดนสำคัญผิดตลอดเวลา ผัวเมียชนชั้นกลางที่อ่อนไหวต่อสิ่งเร้า และนักวิชาการอีแอบที่พูดจาสุภาพ แต่คอยวิจารณ์คนอื่นเจ็บๆ แล้วหลบหลังเก้าอี้ รวมไปถึงคนที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรนอกจากปวดขี้เฉยๆ
แล้วจะมีอะไรแทนที่สังคมไทยได้ดีไปกว่าวันสงกรานต์อีกเล่า เพราะมันคือวันที่ทุกคนพร้อมใจกันไร้ระเบียบ ทุกอย่างถูกพักวางไปเพื่อความสนุกสนานแบบไม่คิดชีวิต แรงงานพลัดถิ่นเดินทางกลับบ้าน ทุกคนได้อภิสิทธิ์ในการ -สาด- ผู้อื่นโดยไม่ถือสา นี่มันสังคมไทย (ในทุกวัน) ชัดๆ
นอกจากการแทนที่ฮาๆ ของตัวละครหลัก หนังยังมีฉากน่าสนใจ เช่น ตำรวจในเรื่องที่ปฏิบัติงานเข้มแข็ง มีเพียงมอเตอร์ไซค์คันเดียว ส่วนรถกระบะที่น่าจะไล่ทัน ดันต้องไปไล่ควายเสียนี่!!!!
หากมองว่ามันเป็นหนังตลกโดยตัวมันเอง เมล์นรกฯ เป็นหนังตลกเสียดสีที่พูดถึงชีวิตคนเมืองได้แสบสันต์ เมื่อหนังแสดงให้เห็นความบ้าคลั่งของคนเมือง รวมไปถึงความบ้าคลั่งของเทศกาลสงกรานต์ ที่จริงจนเจ็บ
แต่ในฐานะหนังการเมือง นี่นับเป็นหนังที่ฉลาดและกล้าหาญทีเดียว เพราะสถานการณ์และทรรศนะทางการเมืองของผู้กำกับถูกนำมาซ่อนไว้อย่างแนบเนียนใต้เนื้อหนังตลก ซึ่งไม่บ่อยนักที่เราจะพบเจอในหนังไทย (ยิ่งเป็นสถานการณ์ในช่วงเวลาที่ไม่นานนัก ยิ่งหาได้ยากเข้าไปใหญ่)
อย่างไรก็ดี ผมเองไม่ค่อยเห็นด้วยกับทรรศนะทางการเมืองในช่วงท้ายของหนังนัก แต่บางทีหากมองว่า ช่วงท้ายของหนังที่ทุกปัญหาได้รับการคลี่คลายอย่างสงบงดงาม โดยแทบไม่มีใครเจ็บปวดนั้น เป็นเพียงการเลือกตอนจบเพื่อเอาใจคนดู และทำให้หนังจบอย่าสมบูรณ์เท่านั้น ก็เป็นไปได้ว่า ทรรศนะ นัยยะทั้งหมด จบลงเมื่อรถเข้าเทียบท่าในปั๊ม ที่การเล่นสงกรานต์บ้าคลั่งถึงขีดสุด (และหลังจากฉากนี้ เราจะไม่เจอการสาดน้ำอีกเลยจนจบเรื่อง )
แต่หากว่าทรรศนะนั้นดำเนินต่อไปจนจบ นั่นก็หมายความว่า ผู้กำกับเลือกที่จะบอกว่า คนที่เอาปืนจ่อผู้อื่นนั้นสามารถได้รับการให้อภัย คนที่ควรเจ็บก็เจ็บไปแล้ว ส่วนคนปลุกระดมก็ได้เรียนรู้บางสิ่งบางอย่าง และทุกคนก็มีชีวิตที่เป็นสุข นั่นเท่ากับเป็นการบอกกลายๆ ว่า เราจะผ่านพ้นปัญหานี้ไปได้อย่างสวยสดงดงาม และหากพูดกันเต็มที่ นั่นเป็นทรรศนะการเมืองแบบ -พาฝัน- มากๆ
แต่ในเมื่อทรรศนะการเมืองที่แตกต่างไม่ใช่ความผิด ในแง่ของภาพยนตร์ เมล์นรกหมวยยกล้อ เป็นหนังที่น่าสนใจ และน่าดีใจที่ในที่สุดประเทศไทยก็มีคนทำหนังที่แสดงจุดยืน วิพากษ์ เสียดสีการเมืองออกมาจนได้ (แม้ยังไม่สามารถทำออกมาได้ตรงๆ ก็ตาม)
หากสนใจนัยยะทางการเมืองในหนังไทย เราอาจดุหนังเรื่องนี้ร่วมกับ สยิว (พฤษภาทมิฬ), โคลิค ( 6 ตุลา), คน ผี ปีศาจ (การฆ่าตัดตอนในสมัยนายกฯคนก่อน) , คู่กรรม 2 และ สิบสี่ตุลา สงครามประชาชน (14 ตุลา) ซี่งเมื่อไล่เรียงรายชื่อแล้ว พบว่ามันทั้งน่าดีใจและเสียใจ
ดีใจที่เราสามารถแทรกประเด็นการเมืองลงในหนังแนวต่างๆ ได้เกือบทุกแนว แม้บางเรื่องจะมีหน้าที่เพียงน้ำจิ้ม แต่ก็ถือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ในขณะที่บางเรื่องเป็นโครงหลักใหญ่ที่ซ่อนไว้ได้อย่างแนบเนียน
และน่าเสียใจ ที่แม้เวลาจะล่วงเลยไป ประเทศที่ได้ชื่อว่าเสรีประชาธิปไตย ยังไม่เคยสามารถทำหนังการเมืองที่วิเคราะห์ความเป็นไปของเหตุการณ์จริงๆ ออกมาได้เลยสักเรื่อง (ไม่นับหนังที่ไม่ได้ฉายอย่าง ทองปาน และหนังที่ฉายกันอย่างแคบๆ อย่าง เคียด)
http://www.onopen.com/2007/02/1736maynarok trailer