คติธรรมของท่านพุทธทาส หมวดว่าด้วย วิถีแห่งการ
บรรเทาทุกข์ คติธรรม ของ ท่านพุทธทาส
หมวดว่าด้วย วิถีแห่งการบรรเทาทุกข์ ๑) ธรรมกถา ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมเป็นเครื่องประดับสติปัญญาส่งเสริมศรัทธาความเชื่อถือ และวิริยะความพรากเพียรของท่านทั้งหลาย ให้เจริญงอกงามก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนา อันเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในโลกฯ
(๒) พระธรรมเทศนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมเป็นของจำเป็นอยู่เสมอไม่ว่าเวลาไหน และไม่ว่าจัดขึ้นโดยใคร หรือแสดงโดยบุคคลใด เพราะธรรมเทศนาทั้งหลายย่อมเป็นอาหารแก่จิตใจ ทำให้ความเป็นมนุษย์ในภายในมีความเต็มเปี่ยมสมบูรณ์เหมือนต้นไม้ที่เต็มไปด้วยแก่น ฉะนั้นฯ
(๓) บัณฑิต ผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาได้มองความเป็นมนุษย์ ของคนบางคน แล้วพากันส่ายหน้าสั่นศีรษะหันหลังกลับ เพราะว่าความเป็นมนุษย์ของบุคคลนั้น มีความกลวงเป็นโพรงฯ
(๔) ความเป็นมนุษย์แต่ซึกกาย ส่วนภายในคือซีกใจ ปราศจากความเป็นมนุษย์ เพราะขาดอาหารทางใจนั้น ทำให้มีความเป็นมนุษย์แต่เพียงครึ่งเดียว หรือมีความเป็นมนุษย์ ที่กลวงเป็นโพรงฯ
(๕) ความสมบูรณ์ในทางวัตถุ ทำให้ร่างกายเจริญฉันใด ความสมบูรณ์ในทางธรรมก็ทำให้จิตใจเจริญฉันนั้นฯ
(๖) เมื่อเราให้อาหารทางวัตถุ เช่น ข้าว-น้ำ เป็นต้น แก่ร่างกายเป็นประจำอยู่ทุกวัน เราก็ควรให้อาหารทางใจ แก่ใจ ควบคู่กันไปด้วย ถ้ามิฉะนั้นแล้ว จะเกิดความไม่ยุติธรรมอย่างยิ่ง และเกิดผลคือ มีความเจริญแต่ทางกาย ส่วนใจนั้นขาดอาหาร ตีบลีบ ตายไปฯ
(๗) การฟังธรรมเทศนานับเป็นวิธีหนึ่ง ซึ่งเป็นการให้อาหารแก่จิตใจ อย่างสะดวกที่สุด แม้ว่าจะมีทางให้อาหารใจแก่จิตใจ โดยหลายวิธีด้วยกัน มีการสวดมนต์ ภาวนา รักษาศีล ให้ทาน เป็นต้นฯ
(๘) ใจยิ่งมากไปด้วยความสะอาด-สว่าง-สงบขึ้นเพียงใด ก็นับว่าเป็นความเจริญแก่จิตใจเพียงนั้น ใจที่สะอาด-สว่าง-สงบ นั้นแล เป็นความหมายอันแท้จริงของความเป็นมนุษย์ฯ
(๙) ท่านทั้งหลายอย่าได้มีความอิดหนาระอาใจ ในการที่จะต้องฟังธรรมเทศนา ไม่ว่าจะแสดงโดยใคร ที่ไหน และเวลาใด และแม้ว่าจะเป็นการซ้ำซากเพียงใดด้วยฯ
(๑๐) อาหารที่เราบริโภคประจำวันนั้น ซ้ำซาก คือไม่มีอะไรมากไปกว่า ข้าว ปลา เนื้อ ผัก ผลไม้ เราก็ยังกินกันอยู่ทุกวัน ไม่มีเบื่อ ถึงทีที่จะต้องให้อาหารทางใจอย่างซ้ำซากบ้าง ทำไมเราต้องเบื่อเล่าฯ
(๑๑) อาหารมีข้าวปลาเป็นต้น ที่เราบริโภคอย่างซ้ำซากทุก ๆ วัน แม้จะซ้ำซากอย่างไรมันก็ทำให้ร่างกายเจริญเติบโตได้ ทั้งที่ซ้ำ ๆ ซาก ๆ อาหารใจที่ต้องเป็นอย่างเดียวกัน คือ ทำให้ใจเจริญได้ทั้งที่เป็นการซ้ำ ๆ ซาก ๆ ฯ
(๑๒) อาหารที่บำรุงร่างกายให้เจริญได้นั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นอาหารที่มีรสประหลาดและเอร็ดอร่อย ขอให้เป็นแต่อาหารที่แท้จริง คือ ถูกต้องตามหลักแห่งอาหาร ก็แล้วกันฯ
(๑๓) ธรรมเทศนาที่เป็นอาหารใจ ก็เช่นเดียวกับอาหารกาย ไม่จำเป็นต้องแปลกประหลาดสนุกสนานฟังเพลิน ขอให้เป็นแต่เทศนาของพระพุทธเจ้าแล้ว แม้จะจืดชืดปานใด ก็ย่อมบำรุงใจให้เจริญ ได้ทั้งนั้น ขอแต่ให้ท่านทั้งหลายบริโภคและย่อยให้ได้ก็เป็นพอฯ
(๑๔) จงพยายามทำความเข้าใจ น้อมนำมาพิจารณาจนเห็นความเจริญแห่งธรรมนั้น ๆ เถิด ย่อมทำให้ใจของท่านเจริญงอกงามด้วยความสะอาด สว่าง และสงบเป็นแน่แท้ฯ
(๑๕) จงอย่าได้อิดหนาระอาใจ ในการที่จะต้องฟังธรรมเทศนา ซึ่งที่แท้เป็นการให้อาหารทางใจ ขอให้พยายามบริโภค ให้พยายามย่อยให้ได้ อาหารนั้นก็จะทำหน้าที่ของมันเองโดยไม่ต้องสงสัยฯ
(๑๖) ถ้าปราศจากการแก้ไข ในทางฝ่ายใจ ซึ่งเป็นประธานแห่งสิ่งทั้งหลายแล้ว การแก้ไขอย่างอื่น ย่อมทำไปไม่ได้ ไม่สามารถแก้ไขให้ลุล่วงไปได้ แม้ว่าจะมีความคิดและแผนการ ที่ดีเพียงใดก็ตาม
(๑๗) ปัญหายุ่งยากในการแก้ไขสิ่งต่าง ๆ นั้น เมื่อมองดูโดยทั่วไปแล้ว คล้ายกับเป็นปัญหาที่มีมากมายหลายปัญหา แต่ที่แท้นั้นมีเพียงปัญหาเดียว คือ การแก้ไขความเป็นมนุษย์ของแต่ละคนให้ดี ให้ถูกต้องเท่านั้นฯ
(๑๘) ปัญหาของโลกทั้งโลก ปัญหาของประเทศ ปัญหาของบ้านเมือง จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ครอบครัว จนกระทั่งปัญหาส่วนบุคคลเป็นคน ๆ ไป ย่อมรวมอยู่ที่สภาพความตกต่ำในทางฝ่ายจิตใจ ของคนแต่ละคนในโลกนั่นเองฯ
(๑๙) เมื่อแก้ไขปัญหาส่วนตัวสำเร็จ ย่อมเป็นการแก้ไขปัญหาของครอบครัวสำเร็จ ของหมู่บ้าน ของตำบล ของอำเภอ จังหวัด บ้านเมือง ประเทศชาติ ตลอดจนของโลกทั้งสิ้นได้สำเร็จ กล่าวคือ การที่ต่างคนต่างตั้งหน้าแก้ไขสภาพความตกต่ำในทางใจของตน ๆ ให้สูงขึ้นมาได้เท่านั้นฯ
(๒๐) เมื่อทุกคนมีใจสูงพอแล้ว ปัญหาหรือความทุกข์ยากต่าง ๆ ในโลกนี้จะสูญสิ้นไปในพริบตาเดียวกันนั้น ฉะนั้นความตกต่ำในใจของใครมีอยู่ ก็ขอให้คนนั้นแก้ของตนเองเถิด เสร็จแล้วจะเป็นการแก้ปัญหาของโลกทั้งหมด ขึ้นมาได้เองฯ
(๒๑) ปัญหาอันมากมาย ซึ่งเราดูแล้วท้อใจว่าจะแก้กันไม่ไหวนี้ ที่แท้มันเป็นปัญหาเพียงอันเดียว คือ ภาวะความตกต่ำในทางใจ เพราะใจขาดอาหาร ขอให้เราทุกคนช่วยกันแก้ปัญหาอันนี้เถิด จะเป็นการแก้ปัญหาของโลกทั้งหมด ขึ้นมาเองภายหลังฯ
(๒๒) จงช่วยกันแก้ไข ภาวะความตกต่ำในทางใจของตน ๆ เถิด แล้วท่านจะเป็นผู้ชนะในทุก ๆ สภานการณ์ของโลก
(๒๓) ในการที่เราจะร่วมมือกันแก้ไขสถานการณ์ของประเทศ หรือของโลกให้ดีขึ้นก็ตาม หรือแก้ไขตัวเราเองโดยเฉพาะก็ตาม เราต้องทราบสมุฎฐานอันแท้จริงของมันฯ
(๒๔) เมื่อถามขึ้นว่า ความทุกข์ยากในโลกเกิดจากอะไร ก็ตอบได้ว่า เกิดมาจากการที่คนในโลกไม่เป็นมนุษย์กันนั่นเอง เป็นกันอย่างมากแต่เพียงคน ไม่สูงขึ้นไปถึงเป็นมนุษย์ฯ
(๒๕) การเป็นคนกับการเป็นมนุษย์นั้น ต่างกันไกลลิบ การเป็นคน พอสักว่าได้เกิดมาเป็นคนได้แล้ว ส่วนการเป็นมนุษย์นั้น หมายเฉพาะผู้มีใจสูง ใจสูงชนิดที่น้ำ กล่าวคือความชั่วและความทุกข์ท่วมไม่ถึงฯ
(๒๖) คำว่ามนุษย์นี้ แยกศัพท์ออกได้ง่าย ๆ สองคำ คือ มน + อุษย รวมกันเป็นมนุษย์ มนแปลว่าใจ อุษย แปลว่าสูง คำว่ามนุษย์จึงแปลกันได้ง่าย ๆ ว่ามีใจสูงฯ
(๒๗) ส่วนคำว่า คน นั้น มีความหมายมาจากคำว่า ชน ซึ่งแปลได้ง่าย ๆ อีกว่า เกิดมา; เพราะฉะนั้นพอได้เกิดมา ก็ได้เป็นคนแล้วแน่นอน แต่จะเป็นมนุษย์หรือไม่นั้น อีกปัญหาหนึ่งต่างหาก คืออยู่ที่ว่าใจสูงหรือไม่สูงฯ
(๒๘) ถ้าใจสูงก็เป็นมนุษย์ได้ ถ้าใจไม่สูงก็เป็นมนุษย์ไม่ได้ อย่างมากจะเป็นได้ก็แต่เพียงคน ฉะนั้นการเป็นมนุษย์กับการเป็นคนจึงต่างกันเป็นคนละอย่าง เราจงเลิกแปลคำว่า มนุษย์ = คน กันเสียเถิด เอาไว้ให้ลูกเด็ก ๆ ในโรงเรียน เขาแปลมนุษย์ว่าคนกันแต่พวกเดียวฯ
(๒๙) สำหรับผู้ใหญ่ และทั้งอยู่ในสภาพที่เผชิญกันอยู่กับสถานการณ์ อันยุ่งยากของโลกนี้ ต้องเข้าใจความหมายของคำว่า "มนุษย์" ให้ถูกต้องจริง ๆ ความทุกข์ยากในโลกทุกอย่างและทุกยุค มันเกิดจากการที่คนในโลกไม่เป็นมนุษย์กันนั่นเองฯ
(๓๐) ที่ดินที่สูงหรือที่ดอน เราหมายถึงที่ที่น้ำท่วมไม่ถึง ใจสูงก็เป็นอย่างเดียวกัน คือ หมายถึงใจ ชนิดที่น้ำ กล่าวคือกิเลสหรือความชั่วท่วมขึ้นไปไม่ถึง หัวใจที่น้ำชนิดนี้ท่วมไม่ถึงนั้น ย่อมมีลักษณะ สะอาด สว่าง สงบฯ
(๓๑) ความสะอาด ความสว่าง และความสงบ ของใจนั่นเอง คือความสูงของใจ ใจที่สูงเช่นนี้ ท่านลองคิดดูให้ดี ๆ ว่า จะมีความทุกข์ เกิดขึ้นจากคน ๆ นี้ได้อย่างไร หรือมีปัญหาอะไร ที่คนซึ่งมีหัวใจสูงเช่นนี้จะแก้ไขไม่สำเร็จฯ
(๓๒) พระพุทธเจ้าเป็นยอดมนุษย์ ก็เพราะท่านมีความสะอาด สว่าง สงบของใจมากถึงที่สุดจริง ๆ นั่นเอง พระสงฆ์ สาวก ทั้งหลาย ก็คือผู้ที่มีใจสูงโดยนัยนั้นอย่างเดียวกัน ตามมากตามน้อย เป็นลดหลั่นกันลงมาฯ
(๓๓) กัลยาณปุถุชนนั้น ใจมีความสูงอยู่พอสมควร แก่การที่เรียกตัวเองว่ามนุษย์ ถ้าคนในโลกพากันเป็น กัลยาณชนให้ได้กันทุกคนเท่านั้น ความทุกข์ยากในโลกจะไม่เกิดขึ้นได้เลย และเราจะได้รับสิ่งที่ใฝ่ฝันหากันนัก คือ สิ่งที่เรียกกันว่า สันติภาพอันถาวรฯ
(๓๔) คนในสมัยนี้ ยิ่งไม่เป็นมนุษย์กันมากยิ่งขึ้น อย่าเข้าใจว่าคนในสมัยนี้มีการศึกษานานาชนิดเจริญแล้ว จะมีความเป็นมนุษย์สมบูรณ์ขึ้น เพราะการศึกษาชนิดนั้น ๆ มิได้มีความหมายว่าสามารถทำให้ใจมีความสะอาด สว่าง สงบฯ
(๓๕) เมื่อดำเนินการศึกษาชนิดที่ไม่อาจทำให้ใจสูงนั้น ยิ่งมากเพียงไร ก็มีแต่จะยิ่งทำใจให้สกปรกมืดมัวและเร่าร้อน มากขึ้นเพียงนั้น ขอให้คนในโลกแห่งสมัยนี้ อย่าหลงทะนงตัวว่า มีใจสูงเพราะเหตูที่มีการศึกษากว้างขวางนั้นเลยฯ
(๓๖) ขอให้วัดระดับจิตใจดูด้วยกฎเกณฑ์ อันแท้จริง คือ ความที่ใจสะอาด สว่าง และสงบเสียก่อน เพราะถ้าใจไม่เป็นเช่นเกณฑ์นี้แล้ว ทำอย่างไรเสีย น้ำคือกิเลสหรือความชั่วย่อมท่วมใจนั้นได้เป็นแน่นอนฯ
(๓๗) คนสมัยนี้ พากันเป็นมนุษย์น้อยลง ๆ หรือไม่เป็นมนุษย์กันมากยิ่งขึ้น ๆ นั้น เพราะใจต่ำลง ๆ ใจต่ำลง ๆ เพราะต่างคนต่างหันหลังให้ศาสนาของตน ๆ มากยิ่งขึ้น แล้วแต่คนจะถือศาสนาอะไร แล้วพากันหันหลังให้ศาสนาของตนมากยิ่งขึ้น ๆ ทั้งนั้นฯ
(๓๘) ที่พากันหันหลังให้ศาสนาของตน ๆ มากยิ่งขึ้นนั้น เพราะเหตุที่เห็นได้ง่าย ๆ ๒ อย่างคือ: ความถูกกระทบกระเทือนจากภัยต่าง ๆ มีภัยหลังสงครามเป็นต้น และเพราะในโลกมีสิ่งที่ยั่วยวน ให้คนพากันหันหลังให้ศาสนาของตนมากขึ้น ตามส่วนของการศึกษาที่ยิ่งเจริญไปในทางวัตถุนั่นเองฯ
(๓๙) การหันหลังให้ศาสนานั้นคือ การตามใจตัวเอง ก่อนหน้านี้ เคยตามพระทัย หรือตามใจพระศาสดาของตน ๆ แล้วแต่ว่าพระศาสดาได้ทางสั่งสอนไว้อย่างไร ก็พากันทำตามและอยู่ในกรอบศีลธรรมของศาสนานั้น ๆ ฯ
(๔๐) บัดนี้ คนพากันหันหลังให้พระศาสดา เมินเฉยต่อหลักพระศาสนา เพื่อให้ได้ตามใจในการหาความสุขทางเนื้อทางหนัง ยิ่งตามใจตัวมากขึ้นก็ยิ่งหันหลังให้ศาสนาของตนมากขึ้นเท่านั้น ยิ่งหันหลังให้ศาสนามากขึ้นเท่าไร ใจก็ยิ่งต่ำลง ๆ เท่านั้นฯ
(๔๑) การตามใจตัวเอง ทำให้ใจต่ำลง เพราะเหตุใด? เพราะเหตุว่าการตามใจตัวเองนั้น คือการตามใจกิเลส สิ่งที่เรียกว่ากิเลสนั้น คือ สิ่งที่ทำให้ใจสกปรก มืดมัวและเร่าร้อนฯ
(๔๒) ทุก ๆ ศาสนา เรียกกิเลสโดยบุคคลาธิฐานว่าผีปีศาจบ้าง พญามารบ้าง ซาตานบ้าง แล้วแต่จะเรียกตามภาษาแห่งศาสนานั้น ๆ แต่ความหมายก็ตรงกันหมด ฉะนั้นการตามใจตัวเอง เพราะเห็นแก่ความสุขทางเนื้อทางหนัง ก็คือการตามใจภูตผีปีศาจนั่นเองฯ
(๔๓) เมื่อละจากการตามใจพระศาสดา มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้น มาตามใจภูตผีปีศาจแล้ว จะไม่ให้ใจต่ำได้อย่างไร เหตุนี้แหละจึงกล้ากล่าวว่า การตามใจตัวเองนั้นทำให้ใจต่ำลงฯ
(๔๔) การบังคับตัวเองย่อมนำมาซึ่งความมีใจสูง อันเป็นความหมายของความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง เพราะเหตุว่าการบังคับตัวเองไม่ให้ตามใจตัวเองแต่ไปตามใจพระศาสดาของตน ๆ นั้น ทำให้มีใจสะอาด – สว่าง และสงบ ไม่ตกเป็นลูกสมุนของผีปีศาจพญามารหรือซาตานฯ
(๔๕) การบังคับตัวเองนี้คือ คำสอนของทุก ๆ ศาสนาในโลก และโดยเฉพาะพระพุทธศาสนานั้น ย่อมเป็นการสอนให้ทำการบังคับตัวเอง โดยสิ้นเชิง เราอาจกล่าวได้ว่า พระพุทธวจนะทั้งหมดในพระไตรปิฎกนั้น ทุก ๆ คำสอนให้บังคับตัวเองฯ
(๔๖) ศีล คือ บังคับตัวเองทางด้านกาย และวาจาโดยเด็ดขาด โดยไม่มีช่องทางที่จะตามใจภูตผีปีศาจเหลืออยู่เลยฯ
(๔๗) สมาธิ คือ การบังคับตัวเองในด้านจิตใจโดยเด็ดขาดโดยไม่มีช่องทางที่จะตามใจกิเลส หรือเปิดโอกาสให้กิเลสอีกเหมือนกันฯ
(๔๘) ปัญญา คือ การทำลายรากเง้าของกิเลสอันเป็นเหตุให้ตามใจตัวเองโดยสิ้นเชิง ไม่มีอะไรเหลืออยู่สำหรับจะงอกเงยเป็นการตามใจตัวเองได้อีกต่อไปฯ
(๔๙) ในพระไตรปิฎกทุก ๆ หน้า มีอะไรมากไปกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เล่า? เราจึงกล่าวได้ว่า พระพุทธศาสนานั้น คือ ศาสนาแห่งการบังคับตัวเองทั้งดุ้นทั้งอันฯ
(๕๐) การตามใจตัวเอง หรือตามใจกิเลสนั้น คือการละทิ้งศาสนาไปสวามิภักดิ์ต่อภูตผีปีศาจ ซึ่งทำหน้าที่ทรมานสัตว์โลก หรือถึงกับล้างผลาญโลกในบางคราวฯ