บทธรรมบรรยาย ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ1 วิเวกธรรมสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง
วิเวกธรรมแก่เมตตคูมาณพดังต่อไปนี้
อุปธิกิเลสมีประเภท 10 ประการ คือ 1 ตัณหา 2 ทิฏฐิ 3 กิเลส 4 กรรม 5 ทุจริตความประพฤตชั่วด้วย กาย วาจา และใจ 6 อาหาร 7 ปฏิฆะ 8 อุปาทินนกะ ธาตุสี่ 9 อายตนะหก 10 วิญญาณกายหก ทุกข์ทั้งหลายมีชาติทุกข์เป็นต้น ย่อมมี
อุปธิกิเลสเหล่านี้เป็น
เหตุ นิพพานเป็น
ปัจจัย เมื่อบุคคลมารู้ทั่วถึง รู้แจ้งประจักษ์ชัดด้วย
วิปัสสนาปัญญาว่า
สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์
ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา หรือมารู้ทั่วถึงว่า ยํ กิญจิ สมุทยธมมํ สพพนตํ นิโรธธมมํ
สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับเป็นธรรมดา ดังนี้แล้วเป็นผู้ตามเห็นซึ่งชาติว่าเป็นแดนเกิดแห่งวัฏฏทุกข์ และมาเห็นว่าอุปธิเป็นแดนเกิดแห่งชาติทุกข์เป็นต้นแล้ว ก็ไม่พึงทำอุปธิมีตัณหาเป็นต้น ให้เจริญขึ้นในสันดานเลย
เมื่อจะทรงแสดงธรรมเครื่องข้ามตัณหา จึงตรัสพระคาถาว่า ยํ กิญจิ สญชานาสิ อุทธํ อโธ ติโยญจาปิ มชเฌ เอเตสุ นนทิญจ ปนุชชวิญญาณํ ภเว น ติฏฐ ดูก่อนท่านทั้งหลาย ท่านจงรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่งในเบื้องบน เบื้องต่ำ และเบื้องขวาง สถานกลางแล้วจงบรรเทาเสีย จะละเสียซึ่งความเพลิดเพลินและความถือมั่นในสิ่งเหล่านั้น วิญญาณของท่านก็จะไม่ตั้งอยู่ในภพดังนี้คำว่าเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวางสถานกลางนั้น
ทรงแสดงไว้ 6 นัย คือ
นัยที่ 1 อนาคตเป็นเบื้องบน อดีตเป็นเบื้องต่ำ ปัจจุบันเป็นเบื้องขวางสถานกลาง
นัยที่ 2 เหล่าธรรมที่เป็นกุศล เป็นเบื้องบน เหล่าธรรมที่เป็นอกุศล เป็นเบื้องต่ำ เหล่าธรรมที่เป็นอัพยากฤตเป็นเบื้องขวางสถานกลาง
นัยที่ 3 เทวโลกเป็นเบื้องบน อบายโลก เป็นเบื้องต่ำ มนุสสโลกเป็นเบื้องขวางสถานกลาง
นัยที่ 4 สุขเวทนา เป็นเบื้องบน ทุกขเวทนา เป็นเบื้องต่ำ อุเบกขาเวทนาเป็นเบื้องขวางสถานกลาง
นัยที่ 5 อรูปธาตุเป็นเบื้องบน กามธาตุเป็นเบื้องต่ำ รูปธาตุเป็นเบื้องขวางสถานกลาง
นัยที่ 6 กำหนดแต่พื้นเท้าขึ้นมาเบื้องบน กำหนดแต่ปลายผมลงไปเป็นเบื้องต่ำ ส่วนท่ามกลางเป็นเบื้องขวางสถานกลาง เมื่อท่านมาสำคัญหมายรู้เบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวางสถานกลาง
ทั้ง 6 นัยนี้แล้ว แม้อย่างใดอย่างหนึ่ง
พึงบรรเทาเสียซึ่งนันทิ ความยินดี เพลิดเพลิน และ
อภินิเวส ความถือมั่นด้วยตัณหา และ
ทิฏฐิในเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวางสถานกลาง เสียให้สิ้นทุกประการ แล้ววิญญาณของท่านจะไม่ตั้งอยู่ในภพและปุณภพอีกเลย เมื่อบุคคลมารู้ชัดด้วยญาณจักษุในส่วนเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวางสถานกลาง ไม่ให้ตัณหาซ่านไปในภพน้อย ภพใหญ่ มีญาณหยั่งรู้ในอริยสัจจ์ 4 เป็นผู้ไม่มีกังวล คือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ และทุจจริตต่างๆ ละกังวลทั้งปวงเสียแล้ว กามภเว อสตตํ ก็เป็นผู้ไม่ข้องเกี่ยวพัวพันในวัตถุกาม และกิเลสกาม ในกามภพและปุณภพอีกเลย ท่านนั้นเป็นผู้ข้ามโอฆะ ห้วงลึกที่กดสัตว์ให้จมอยู่ในวัฏฏสงสารฯ
โอฆะนั้น 4 ประการคือ 1 กามโอฆะ 2 ภวโอฆะ 3 ทิฏฐิโอฆะ 4อวิชชาโอฆะ ติณโณ จ ปรํ ท่านนั้นย่อมข้ามห้วงทั้ง 4 ไปฟากโน้น คือ
พระนิพพานธรรม อขีเณ เป็นผู้ไม่มีตะปูคือกิเลส
เป็นเครื่องตรึงแล้ว
กิเลสทั้งหลายที่เป็น
ประธาน คือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ และกิเลสที่เป็น
บริวาร มี โกโธ อุปนาโห เป็นต้น จนถึง
อกุศลอภิสังขารซึ่งเป็นประหนึ่งตะปูเครื่องตรึงจิตให้แนบแน่นอยู่ ยากที่สัตว์จะฉุดจะถอนให้เคลื่อนให้หลุดได้ เมื่อบุคคลมาละเสียแล้ว ตัดขึ้นพร้อมแล้ว เผาเสียด้วยเพลิงคือญาณแล้ว
เป็นนรชนผู้รู้ผู้ดำเนินด้วยปัญญาอันเป็นเครื่องรู้แจ้งชัดเป็นเวทคู ผู้ถึงฝั่งแห่งวิทยาในพระศาสนานี้ ไม่มีความสงสัยใน ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค และปฎิจจสมุปบาทธรรม ปัจจยการ ย่อมบรรลุถึงวิเวกธรรม คือ
พระอมฤตนฤพานด้วยประการฉะนี้