อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > พระอริยบุคคล

เรื่องย่อในพระธรรมบท (อัตตวรรค)

<< < (2/2)

ฐิตา:

เรื่องพระเทวทัต

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภพระเทวทัต ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า “ยสฺส อจฺจนฺตทุสฺสีลฺยํ” เป็นต้น

วันหนึ่ง พระภิกษุทั้งหลาย ได้ตั้งหัวข้อกระทู้สนทนากันในธรรมสภาว่า พระเทวทัต เป็นผู้ทุศีล เลวทรามมาก ได้พยายามแสวงหาเกียรติยศชื่อเสียง และลาภสักการะ โดยการใช้พระเจ้าอชาตศัตรูเป็นเครื่องมือ ชักชวนให้พระเจ้าอชาตศัตรูสังหารชีวิตพระเจ้าพิมพิสารผู้พระราชบิดา และได้ร่วมมือกับพระเจ้าอชาตศัตรูจะสังหารพระศาสดาด้วยวิธีการต่างๆ พระศาสดา ภายหลังจากทรงสดับถึงเรื่องสนทนากันของภิกษุเหล่านั้นแล้ว ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย มิใช่เฉพาะในชาตินี้เท่านั้น ที่เทวทัตพยายามสังหารเรา แม้ในอดีตชาติ เทวทัตก็เคยพยายามสังหารเราโดยวิธีการต่างๆมาแล้วเหมือนกัน ” แล้วทรงนำชาดกต่างๆ มีกุรุงคชาดก เป็นต้นมาตรัสเล่า และตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ตัณหาที่เกิดจากเหตุทุศีล ย่อมโอบรัด หักราน นำบุคคลผู้ทุศีลไปสู่ภพภูมิต่างๆมีนรกเป็นต้น ดุจเถาย่านทรายรึงรัดต้นสาละฉะนั้น”

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
ยสฺส อจฺจนฺตทุสฺสีลฺยํ
มาลุวา สาลมิโวตฺถตํ
กโรติ โส ตถตฺตานํ
ยถา นํ อิจฉตี ทิโส ฯ

(อ่านว่า)
ยัดสะ อัดจันตะทุดสีละยัง
มาลุวา สาละมิโวดถะตัง
กะโรติ โส ตถัดตานัง
ยะถา นัง อิดฉะติ ทิโส.

(แปลว่า)
ความเป็นผู้ทุศีลล่วงส่วน
รวบรัด อัตภาพ ของบุคคลใด
ดุจเถาย่านทราย รัดรึงต้นสาละ ฉะนั้น
บุคคลนั้น ย่อมทำตนอย่างเดียวกับที่โจรหัวโจก
ปรารถนาทำให้ตนฉะนั้น.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น

ฐิตา:

เรื่องกระเสือกกระสนเพื่อจะทำลายสงฆ์

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภการกระเสือกกระสนเพื่อจะทำลายสงฆ์ ตรัสพระธรรมเทศฯนี้ว่า สกรานิ เป็นต้น

พระเทวทัตกระเสือกกระสนเพื่อจะทำลายสงฆ์ วันหนึ่ง เห็นท่านพระอานนท์ เที่ยวบิณฑบาตอยู่ บอกความประสงค์ของตนแล้ว พระเถระฟังข่าวนั้นแล้ว ไปสู่สำนักของพระศาสดา ได้ทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า เวลาเช้า ข้าพระองค์ครองสบงที่เวฬุวันแล้ว ถือบาตรจีวรเข้าไปสู่กรุงราชคฤห์ เพื่อบิณฑบาต พระเจ้าข้า พระ เทวทัตได้เห็นข้าพระองค์เที่ยวบิณฑบาตอยู่ในกรุงราชคฤห์แล้ว ตามเข้าไปหาข้าพระองค์ ได้กล่าวว่า ท่านอานนท์ จำเติมแต่วันนี้ ฉันจักทำอุโบสถและสังฆกรรมแยกจากพระผู้มีพระภาค แยกจากภิกษุสงฆ์ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค วันนี้ พระเทวทัตจักทำลายสงฆ์ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค วันนี้ พระเทวทัตจักทำลายสงฆ์ คือจักแยกทำอุโบสถกรรมและสังฆกรรม

เมื่อพระอานนท์ทราบทูลอย่างนั้นแล้ว พระศาสดาทรงเปล่งพระอุทานว่า
ความดีคนดีทำง่าย
ความดีคนชั่วทำยาก
ความชั่วคนชั่วทำง่าย
ความชั่วอริยบุคคลทำได้ยาก.

แล้ว ตรัสว่า อานนท์ ขึ้นชื่อว่ากรรมอันไม่เป็นประโยชน์แก่ตนทำได้ง่าย กรรมอันเป็นประโยชน์แก่ตนทำยากนักหนา แล้วตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
สุกรานิ อสาธูนิ
อตฺตโน อหิตานิ จ
ยํ เว หิตญฺจ สาธุญฺจ
ตํ เว ปรมทุกฺกรํ.

(อ่านว่า)
สุกะรานิ อะสาทูนิ
อัดตะโน อะหิตานิ จะ
ยัง เว หิตันจะ สาทุนจะ
ตัง เว ปะระมะทุกกะรัง.

(แปลว่า)
กรรมอันไม่ดี และไม่เป็นประโยชน์แก่ตน
คนทำง่าย กรรมใดแลเป็นประโยชน์แก่ตนและดี
กรรมนั้นแลทำยากยิ่ง.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก ได้บรรลุโลกุตรผล มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.

ฐิตา:

เรื่องพระกาลเถระ

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระกาลเถระ ตรัสพระธรรมเทศฯนี้ว่า “โย สาสนํ” เป็นต้น

ครั้งหนึ่ง หญิงสูงอายุคนหนึ่งในกรุงสาวัตถี รับอุปัฏฐากพระเถระชื่อว่ากาละเหมือนกับว่าเป็นบุตรชายของนางเอง อยู่มาวันหนึ่ง หญิงผู้นี้ได้เห็นพวกเพื่อนบ้านไปฟังธรรมในสำนักพระศาสดา กลับมาแล้วก็ได้กล่าวสรรเสริญพระศาสดาว่าทรงแสดงธรรมได้ไพเราะมาก หญิงนั้นได้บอกกับพระกาลเถระว่านางอยากไปฟังธรรมของพระศาสดาบ้าง พระเถระห้ามนางไม่ให้ไป ในวันต่อๆมานางก็ขอไปอีกและก็ถูกห้ามจากพระเถระอีกถึง 3 ครั้ง แต่นางก็ยังต้องการจะไป อยู่มาวันหนึ่ง นางแม้จะถูกห้ามปรามจากพระเถระก็ได้ตัดสินใจไป หลังจากที่ได้บอกกับบุตรสาวให้คอยดูแลพระเถระแล้ว นางก็ออกจากบ้านไปที่พระเชตวัน เมื่อพระกาลเถระมารับบิณฑบาตที่บ้านตามปกติและรู้ว่าหญิงเจ้าของบ้านออกจาก บ้านไปพระเชตวันเช่นนั้น ก็คิดว่า หญิงนั้นสิ้นศรัทธาในตัวท่านเสียแล้ว จึงได้รีบไปที่วัดพระเชตวัน เห็นนางนั่งฟังธรรมอยุ่ในสำนักของพระศาสดา ก็เข้าไปเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคมแล้ว กราบทูลว่า “พระเจ้าข้า หญิงคนนี้เขลา ไม่เข้าใจธรรมกถาอันละเอียด อย่าตรัสธรรมกถาอันละเอียดประกอบด้วยสภาวธรรมมีขันธ์เป็นต้น ตรัสแต่เพียงทานกถาหรือสีลกถาแก่นางก็พอ”

พระศาสดา ทรงทราบอัชฌาสัยของพระเถระแล้ว ตรัสว่า “เธอเป็นคนปัญหาโฉด อาศัยทิฏฐิอันชั่วช้า ห้ามปรามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เธอพยายามฆ่าตัวเอง”

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
ผลํ เว กทลึ หนฺติ
ผลํ เวฬํ ผลํ นฬํ
สกฺกาโร กาปุริสํ
คพฺโภ อสฺสตรึ ยถา ฯ

(อ่านว่า)
ผะลัง เว กะทะลิง หันติ
ผะลัง เวลัง ผะลัง นะลัง
สักกาโร กาปุริสัง
คับโพ อัสสะตะริง ยะถา ฯ

(แปลว่า)
ผลนั้นแลย่อมฆ่าต้นกล้วยเสีย
ผลนั้นแลย่อมฆ่าไม้ใผ่เสีย
ผลนั้นแลย่อมฆ่าไม้อ้อเสีย
ลูกในท้องย่อมฆ่าแม่ม้าอัสดรเสีย ฉันใด
สักการะก็ย่อมฆ่าบุรุษถ่อยเสีย ฉันนั้น.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง อุบาสิกาตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล เทศนาได้มีประโยชน์แก่บริษัทผู้มีประชุมกัน.

ฐิตา:

เรื่องอุบาสกชื่อจุลกาล

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภอุบาสกชื่อจุลกาล ตรัสพระธรรมเทศฯนี้ว่า “อตฺตนาว กตํ ปาปํ” เป็นต้น

ในวันอุโบสถวันหนึ่ง จุลกาลอุบาสก รักษาศีล 8 หรืออุโบสถศีล ได้เข้าไปค้างแรมในวัดพระเชตวัน และได้ฟังพระธรรมเทศนาตลอดคืน ในตอนเช้า ขณะที่อุบาสกผู้นี้กำลังวักน้ำในสระที่อยู่ไม่ไกลจากวัดพระเชตวันล้างหน้า อยู่นั้น มีพวกโจรที่ไปปล้นบ้านหลังหนึ่งหลบหนีมา และถูกเจ้าของบ้านไล่ติดตามมาอย่างกระชั้นชิดจึงโยนสิ่งของที่ปล้นมาไว้ใน ที่ไม่ไกลจากที่ที่อุบาสกผู้นี้ยืนล้างหน้าอยู่ เมื่อเจ้าของบ้านมาถึงที่จุดนั้นเข้าใจว่าอุบาสกผู้นี้เป็นโจรจึงเข้าไปจับ ตัวแล้วโบยด้วยแส้ พวกนางกุมภทาสี เดินมาตักน้ำที่สระแห่งนั้น ประสบเหตุนั้นเข้าพอดี จึงเข้าไปห้ามปรามโดยบอกว่าเขาไม่ใช่โจรและให้ปล่อยตัวเขาเสีย อุบาสกเมื่อถูกปล่อยตัวแล้ว ก็เข้าไปในวัดพระเชตวัน แล้วบอกแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ที่เขารอดชีวิตมาได้ในครั้งนี้ ก็เพราะความช่วยเหลือของนางกุมภทาสี ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้เข้ากราบทูลพระศาสดา และพระศาสดาได้ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย จุลกาลอุบาสก ได้ชีวิตเพราะอาศัยพวกนางกุมภทาสี และความที่ตนไม่ใช่ผู้ทำ ด้วยว่า ธรรมดาสัตว์เหล่านี้ ทำบาปกรรมด้วยตนแล้ว ย่อมเศร้าหมองด้วยตนเอง ในอบายมีนรกเป็นต้น ส่วนสัตว์ทั้งหลายทำกุศลแล้ว ไปสู่สุคติและนิพพาน ย่อมชื่อว่าบริสุทธิ์ได้ด้วยตนเอง”

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
อตฺตนา ว กตํ ปาปํ
อตฺตนา สงฺกิลิสฺสติ
อตฺตนา ว วิสุชฺฌติ
สุทฺธิ อสุทฺธิ ปจฺจตฺตํ
นาญฺโญ อญฺญํ วิโสธเย ฯ

(อ่านว่า)
อัดตนา วะ กะตัง ปาปัง
อัดตะนา สังกิลิดสะติ
อัดตะนา วะ วิสุดชะติ
สุดทิ อสุดทิ ปัดจัดตัง
นานโย อันยัง วิโสทะเย .

(แปลว่า)
บาปอันผู้ใดทำแล้วด้วยตนเอง
ผู้นั้นย่อมเศร้าหมองด้วยตนเอง
บาปอันผู้ใดไม่ทำด้วยตน
ผู้นั้นย่อมบริสุทธิ์ด้วยตนเอง
ความบริสุทธิ์ ไม่บริสุทธิ์
เป็นของเฉพาะตน
คนอื่นทำคนอื่นให้บริสุทธิ์ไม่ได้.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง จุลกาลตั้งอยู่แล้วในโสดาปัตติผล พระธรรมเทศนาได้มีประโยชน์แม้แก่บริษัทผู้ประชุมกัน.

ฐิตา:

เรื่องพระอัตตทัตถเถระ

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระอัตตทัตถเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า “อตฺตนาว กตํ ปาปํ” เป็นต้น

เมื่อพระศาสดาทรงประกาศว่า พระองค์จะปรินิพพานในอีกสี่เดือนข้างหน้า ภิกษุที่ยังเป็นปุถุชนเป็นจำนวนมาก มีความสลดหดหู่ ไม่ยอมทิ้งสำนักพระศาสดาไปไหน เที่ยวปรึกษาหารือกันว่า ควรจะทำอย่างไรกันดี แต่พระอัตตทัตถเถระ กลับไม่ไปยังสำนักของพระศาสดา แต่ทว่าได้ตกลงใจว่าจะบรรลุพระอรหัตตผลให้ได้ในระหว่างที่พระศาสดายังทรงพระชนม์อยู่นี้ จึงได้ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอย่างขะมักเขม้น ภิกษุอื่นๆ ไม่เข้าใจการกระทำของพระเถระ จึงนำเรื่องนี้เข้ากราบทูลพระศาสดา เมื่อพระศาสดาได้ทรงเรียกพระเถระมาเฝ้า ทรงสอบถามและทราบความจริงแล้ว ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดมีความสิเนหาในเรา ผู้นั้นควรเป็นดุจอัตตทัตถะ ด้วยว่าชนทั้งหลายบูชาอยู่ ด้วยวัตถุต่างๆ มีของหอมเป็นต้น ย่อมไม่ชื่อว่าบูชาเรา ส่วนผู้บูชาอยู่ด้วยการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ย่อมชื่อว่าบูชาเรา เพราะฉะนั้น แม้ภิกษุรูปอื่นก็พึงเป็นเช่นอัตตทัตถะ”

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
อตฺตทตฺถํ ปรตฺเถน
พหุนาปิ น หาปเย
อตฺตทตฺถมภิญฺญาย
สทตฺถปฺปสุโต สิยา ฯ

(อ่านว่า)
อัดตะทัดถัง ปะรัดเถนะ
พะหุนาปิ นะ หาปะเย
อัดตะทัดถะมะพินยายะ
สะทัดถับปะสุโต สิยา.

(แปลว่า)
บุคคลไม่พึงยังประโยชน์ของตน
ให้เสื่อมเสียเพราะประโยชน์ของคนอื่นแม้มาก
รู้จักประโยชน์ของตนแล้ว
พึงเป็นผู้ขวนขวายในประโยชน์ของตน.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง พระเถระนั้น ได้ตั้งอยู่ในพระอรหัตตผล เทศนาได้มีประโยชน์แม้แก่ภิกษุผู้มาประชุมกันทั้งหลาย.



นำมาแบ่งปันโดย :
one mind :http://agaligohome.com/index.php?topic=4634.0
Pics by : Google
ใต้ร่มธรรมดอทเน็ต * อกาลิโกโฮม
สุขใจดอทคอม
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version