ริมระเบียงรับลมโชย > คุยสบาย นานาสาระ

น้ำไม่ท่วมกรุงเทพแน่นอน

<< < (2/2)

ต๊ะติ้งโหน่ง:
นายกรัฐมนตรี ย้ำอีกครั้ง กทม. น้ำไม่ท่วมแน่นอน หวังป้องกันนวนครได้ เสริมคันดินสุวรรณภูมิอีก



น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า พื้นที่กรุงเทพมหานครจะไม่ถูกน้ำท่วมอย่างแน่นอน เพราะจากรายงานของกรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ระบุเช่นกันว่า พื้นที่กรุงเทพมหานคร จะปลอดภัย ส่วนพื้นที่รอบนอกกรุงเทพมหานครนั้น ต้องขอความร่วมมือจากประชาชนให้ช่วยทำแนวกั้นน้ำ

ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี หวังว่ านิคมอุตสาหกรรมนวนครจะไม่ถูกน้ำท่วม โดยจะให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง พยายามป้องกันพื้นที่ดังกล่าวอย่างอย่างเต็มที่ และรัฐบาลยังเร่งทำระบบระบายน้ำลงสู่ทะเล เช่น กรณีการใช้เรือดันน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่ทะเล ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้ ส่วนท่าอากาศยานสวรรณภูมินั้น ไม่ต้องเป็นห่วง อีกทั้งจะทำคันดินเพิ่มขึ้นอีกด้วย


Link : http://www.innnews.co.th/นายกฯย้ำกทม-น้ำไม่ท่วมหวังป้องนวนครได้--314870_01.html


ต๊ะติ้งโหน่ง:
ศปภ. แถลงยืนยัน พื้นที่กทม. ไม่เผชิญสถานการณ์น้ำท่วมรุนแรงเพราะเร่งระบายน้ำ 3 ทาง คาดน้ำหนุนต่ำกว่าระดับคันกั้นน้ำ

วันนี้ (14 ต.ค. 54) นายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน แถลงยืนยันว่า พื้นที่กรุงเทพมหานคร จะไม่เผชิญกับสถานการณ์น้ำท่วมรุนแรงอย่างแน่นอน เนื่องจากปริมาณน้ำเหนือที่จะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาจากนครสวรรค์ถึงชัยนาทจะมีปริมาณ 3,600 ลบ.เมตร ซึ่งน้อยกว่าที่คาดไว้ที่ 3,800 ลบ.เมตร ประกอบกับหลายเขื่อนได้เริ่มลดการระบายน้ำลงแล้ว

ดังนั้น จึงส่งผลให้ปริมาณน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่จะเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพฯ ในช่วงวันที่ 15-16 ต.ค.นี้ คาดว่าจะต่ำกว่าระดับคันกั้นน้ำที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) เตรียมรับมือไว้ คาดว่าปริมาณน้ำจะอยู่ที่ 2.3-2.4 เมตรจากระดับน้ำทะเล ขณะที่คันกั้นน้ำของ กทม.มีระดับความสูง 2.5 เมตร

อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวอีกว่า "น้ำจะมาถึง กทม.15-16 ต.ค.นี้ ที่ระดับ 2.3-2.4 เมตรเมื่อผ่าน กทม.ซึ่งจะไม่เกินนี้ ขณะที่คันกั้นน้ำของกทม.อยู่ที่ 2.5 เมตร เพราะฉะนั้น กทม.รอดแน่ ผมยืนยัน"

ด้านพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฎิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ยืนยันว่า กทม.จะไม่ถูกกระทบแน่นอน โดย ศปภ.ให้ความสำคัญกับทางกรุงเทพมหานครขั้นสูงสุดเนื่องจากเป็นเมืองหลวง จากการเอาน้ำลง 3 ทาง ได้แก่ ทางตะวันออก ทางเจ้าพระยา และทางตะวันตก

สำหรับแนวป้องกัน กทม.ปัจจุบันมี 3 แนว คือ หลัก 6 อ.เมือง ปทุมธานี บริเวณเมืองเอก ทางผบ.ทบ.และแม่ทัพภาค 1 ได้ลงพื้นที่ไปตรวจแนวคันกั้นน้ำวานนี้ มั่นใจว่าสามารถรองรับได้อย่างมีประสิทธิภาพ, คลองทวีวัฒนาเชื่อมนครปฐม ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จแล้ว และในวันนี้ได้ขยายฐาน เพิ่มความสูง คันกั้นน้ำบริเวณรังสิตตั้งแต่คลอง 1- คลอง 8 และทำเพิ่มอีกบริเวณคลองรพีพัฒน์แยกตะวันตก ตั้งแต่ประตูน้ำพระอินทร์ถึงคลองรพีพัฒน์ ระยะทาง 24 กม. คาดว่าใช้เวลา 2 วันแล้วเสร็จ แต่พื้นที่บริเวณรอบนอกกทม. และปริมณฑล ปทุมธานี นนทบุรี ฉะเชิงเทรา ถูกกระทบแน่นอน



http://www.tnnthailand.com/news/details.php?id=32475

ต๊ะติ้งโหน่ง:
ศปภ.ยืนยันน้ำไม่ท่วม กทม.
 
การประชุมศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย มีการทราบแนวทางการผลักดันน้ำลงสู่ทะเล ยันกรุงเทพมหานครจะไม่ถูกน้ำท่วม

 

การประชุมศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หรือ ศปภ.ในวันนี้(16 ต.ค. 54) มีการทราบแนวทางการผลักดันน้ำลงสู่ทะเล พร้อมยืนยันว่า กรุงเทพมหานครจะไม่ถูกน้ำท่วม เนื่องจากมวลน้ำก้อนใหญ่ที่สุดได้ไหลลงสู่ทะเลไปแล้ว แต่ก็ได้สั่งเปิดประตูระบายน้ำเชียงรากน้อย เพื่อระบายน้ำได้เร็วขึ้น

 

นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำล่าสุดมีทิศทางดีขึ้น เนื่องจากเขื่อนทางเหนือลดระดับการปล่อยน้ำลงไปมากแล้ว ประกอบกับมวลน้ำก้อนใหญ่ที่สุดจากนครสวรรค์ได้ผ่านไปแล้ว ส่วนระดับน้ำทั้งที่ สิงห์บุรี อ่างทอง และอยุธยา ก็ลดลงเรื่อยๆ ดังนั้น ปริมาณน้ำตั้งแต่นครสวรรค์ถึงกรุงเทพนับแต่นี้จะไม่สูงกว่านี้ และจะไม่ท่วมคันกั้นน้ำของกรุงเทพฯอย่างแน่นอน เพราะกรุงเทพฯมีคันกั้นน้ำหลายจุดหลายชั้น


ด้าน นายวิม รุ่งวัฒนะจินดา โฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หรือ ศปภ. กล่าวว่า ศปภ.ได้สั่งเปิดประตูระบายน้ำเชียงรากน้อย เพื่อระบายน้ำเข้าสู่จังหวัดปทุมธานีและจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งอาจมีน้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่บางส่วน แต่เมื่อบวกกับแรงผลักดันน้ำของเรือ จะทำให้น้ำไหลลงบางปะกงเร็วขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกกับข่าวลือว่าน้ำจะเข้าสู่ตอนบนของกรุงเทพฯ เพราะไม่เป็นความจริง เนื่องจาก ศปภ.มีมาตราการปิดประตูระบายน้ำ และมีถนนเป็นพนังกั้นน้ำอีกชั้นหนึ่งแล้ว ส่วนน้ำที่ล้นออกจากคันกั้นน้ำคลองเปรมประชากรนั้น ได้ประสานไปยัง กทม.ให้ระบายน้ำทั้งหมด คือน้ำเข้า 50 ล้านลูกบาศก์เมตร ก็ต้องระบายออก 50 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อไม่ให้น้ำท่วมเพิ่มเติม 



นอกจากนี้ พลตำรวจเอกพงศพัศ พงษ์เจริญ ในฐานะโฆษก ศปภ. ระบุว่า ศปภ.ได้สั่งการให้กองทัพไทยรับผิดชอบสถานการณ์น้ำที่นครสวรรค์ อยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี และนนทบุรี ส่วนจังหวัดที่เหลือให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ดูแล



แม้ว่ามวลน้ำก้อนใหญ่ได้ไหลลงทะเลไปแล้ว แต่ระดับน้ำจะยังทรงตัว เพราะน้ำที่ท่วมขังอยู่จะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาอย่างช้าๆ โดยเฉพาะที่นิคมอุตสาหกรรมไฮเทคและโรจนะ ประกอบกับน้ำทะเลจะหนุนอีกครั้งในช่วงปลายเดือนตุลาคม จึงขอร้องประชาชน อย่าทำลายคันกั้นน้ำ และขอให้เชื่อฟังคำแนะนำของผู้ว่าราชการอย่างเคร่งครัด

 

Produced by Voice TV

by VoiceNews

16 ตุลาคม 2554 เวลา 21:25 น.

http://news.voicetv.co.th/thailand/20816.html

ต๊ะติ้งโหน่ง:
ประชา ยังมั่นใจ กทม.ไม่ท่วม ย้ำ อย่าตระหนกไปก่อน
ข่าวทั่วไป หนังสือพิมพ์แนวหน้า -- อังคารที่ 18 ตุลาคม 2554 10:53:40 น.
พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ ที่ล่าสุดได้ท่วมนิคมอุตสาหกรรมนวนคร และหวั่นว่าจะลามเข้ามาใน กทม.ยืนยันว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯ ขณะนี้ยังไม่มี และมั่นใจว่าจะไม่มีน้ำท่วมใน กทม.แน่นอน เราอย่าเพิ่งไปคิด หรือตระหนกไปก่อน "ฝนยังไม่ตก อย่าเพิ่งกางร่ม" แต่อย่างไรก็ตาม หากเกิดไหลเข้ามาใน กทม.จริงๆ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็มีแผนเตรียมการไว้อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่า หากเกิดอะไรขึ้นมาใครเป็นผู้รับผิดชอบ โดยเฉพาะในเขตอุตสาหกรรม พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า ในทุกพื้นที่ ทุกจังหวัดจะเป็นผู้รับผิดชอบ

ทั้งนี้ พล.ต.อ.ประชา ยังกล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย ว่า ขณะนี้สิ่งที่จำเป็นสำหรับประชาชนที่ประสบอุทกภัย และมีความต้องการมากที่สุด คือ ไฟฉาย รวมถึงเทียนไข ไฟแช็ก ตลอดจนถุงขยะ ถุงดำ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน สบู่ และนมผงเด็ก
http://www.ryt9.com/s/nnd/1261194

ต๊ะติ้งโหน่ง:
มท.1 ยันน้ำไม่ท่วมกรุงเทพ ปภ.เผยจ่ายเงินช่วยน้ำท่วมแล้วแสนกว่าครัวเรือน ศอส.รายงานน้ำยังท่วม 26 จังหวัด เสียชีวิตทั้งสิ้น 112 ราย สูญหายอีก 2 ราย พร้อมเตือนระวังมรสุมเข้า 20-23 ก.ย.นี้...


เมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่กระทรวงมหาดไทย นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯว่า ภายหลังจากที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ไปลงเรือตรวจสภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ร่วมกับผู้ว่าฯ กทม. เมื่อวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา มีการหารือแผนงาน การตรวจสอบมวลน้ำไปจนถึงแผนเผชิญเหตุ และการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ทำให้มั่นใจว่าปัญหาน้ำท่วมจะไม่ส่งผลกระทบกับ กทม. ซึ่งเป็นศูนย์กลางของประเทศอย่างแน่นอน ขอให้ประชาชนอุ่นใจได้

ด้านนายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวถึงความคืบหน้าในการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยครัวเรือนละ 5,000 บาทว่า ได้จัดส่งข้อมูลให้ธนาคารออมสินแล้ว 107,122 ครัวเรือน เป็นเงิน 535,610,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 61.18 คงเหลือข้อมูลครัวเรือนที่ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ 67,966 ครัวเรือน เป็นเงิน 339,830,000 บาท ทั้งนี้สำหรับจังหวัดที่ได้จัดส่งข้อมูลให้ธนาคารออมสินเรียบร้อยแล้ว ขอให้รายงานรัฐมนตรีที่รับผิดชอบในพื้นที่ เพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยอย่างรวดเร็ว ส่วนจังหวัดที่ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูล ขอให้เร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อำเภอตรวจสอบข้อมูลให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อรวบรวมจัดส่งให้ธนาคารออมสินดำเนินการจ่ายเงินแก่ผู้ประสบภัยตามระยะเวลาที่กำหนด สำหรับผู้ประสบภัยต้องเตรียมบัตรประชาชนและลงลายมือชื่อรับเงินต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารออมสิน กรณีไม่สามารถมารับเงินได้ด้วยตนเอง ต้องมีหนังสือมอบฉันทะและบัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริงของผู้มอบและผู้รับมอบ

ด้านนายประทีป กีรติเรขา รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะประธานการประชุมศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) กล่าวว่า ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 26 จังหวัด มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 112 ราย สูญหาย 2 ราย ขณะที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ 3,935 ลบ.ม.ต่อวินาที เขื่อนเจ้าพระยาปริมาณน้ำไหลผ่าน 3,706 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่งผลให้มีน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณ 8 จังหวัดได้รับผลกระทบ ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี

ในส่วนของสถานการณ์น้ำในเขื่อนต่างๆ อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ โดยเฉพาะเขื่อนขนาดใหญ่ ได้แก่ เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำร้อยละ 88 ของความจุอ่าง เขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำ ร้อยละ 96 เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนมีปริมาณน้ำมากเกินความจุร้อยละ 102 และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำมากเกินความจุร้อยละ 109 ต้องปล่อยน้ำออกจากเขื่อนอย่างต่อเนื่องเพื่อเร่งระบายน้ำ ส่งผลให้พื้นที่ท้ายเขื่อนและชุมชนริมฝั่งแม่น้ำได้รับผลกระทบจากระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น จึงขอแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ดังกล่าว ให้ขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงและเสริมแนวกระสอบทรายกั้นน้ำ

ส่วนกรุงเทพมหานครพื้นที่ด้านตะวันออกนอกคันกั้นน้ำ บริเวณเขตมีนบุรี หนองจอก และเขตลาดกระบัง ยังมีน้ำท่วมในบางพื้นที่ ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

นายประทีป กล่าวว่า จะมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ในช่วงวันที่ 20 – 23 ก.ย.นี้ ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีฝนเพิ่มมากขึ้น ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ตอนบนของประเทศระมัดระวังอันตรายจากภาวะฝนตกหนักในระยะนี้ไว้ด้วย รวมถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตจังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี ยังต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในวันที่ 19-20 ก.ย.นี้ เนื่องจากระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ในวันที่ 23 ก.ย. ร่องมรสุมอาจเคลื่อนตัวผ่านและส่งผลกระทบต่อพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและจังหวัดโดยรอบอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ประกอบกับแหล่งน้ำของชลประทานในพื้นที่มีระดับเก็บกักสูงอยู่แล้ว จึงขอให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด โครงการชลประทานจังหวัด สถานีอุตุนิยมวิทยาจังหวัด ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อผู้ว่าราชการจังหวัดทุกวัน
http://oknews.exteen.com/20110919/entry-77

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version