ผู้เขียน หัวข้อ: แก้ว...อันประเสริฐ  (อ่าน 1142 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Uzumaki Naruto

  • เกล็ดเมล็ด
  • *
  • กระทู้: 33
  • พลังกัลยาณมิตร 17
  • ❤ ผมรักในหลวงนะฮ๊าฟ ❤
    • ดูรายละเอียด
แก้ว...อันประเสริฐ
« เมื่อ: ตุลาคม 30, 2011, 04:53:54 pm »


"เพล้ง!!!”... เสียงแก้วน้ำเนื้อดีพลัดตกจากมือหนูน้อยที่ถือมา เพื่อถวายพระ ตามคำสั่งของพ่อ
   
   “นี่ถ้าเป็นลูกผมทำละก็ แม่มันด่ากระเจิงเลย เขาพวกรักของมากกว่าลูก”
   
   “อย่างว่าล่ะ เด็กทำก็ถูกด่าว่าต่างๆนานา ตามแรงโกรธของผู้ด่า ถ้าเป็นผู้ใหญ่หรือตัวเองทำ ก็ว่าคนอื่นไม่รู้จักวางแก้วให้เป็นที่เป็นทาง มาขวางมือขวางเท้าจนแตก ดูมันไม่แน่นอนเลยนะ”
   
   “โยม.. แก้วน้ำเป็นเพียงวัตถุที่ทำหน้าที่ใส่น้ำเพื่อดื่มเพื่อใช้เท่านั้น แก้วน้ำแตกก็เป็นธรรมดาของแก้วน้ำ แก้วน้ำที่ทำมาจากแก้ว มีความแตกมาตั้งแต่เริ่มถูกสร้างเสร็จแล้ว มันไม่แตกวันนี้ พรุ่งนี้หรือวันต่อๆไป ก็ต้องแตก ถึงไม่มีใครทำแตก เมื่อเก่าคร่ำคร่า เจ้าของก็โยนทิ้งให้แตกสลายไปในที่สุด มันเป็นธรรมชาติของแก้วน้ำนะโยม”
   
   “นี่แสดงว่า ถ้าแก้วน้ำเป็นสิ่งที่มีชีวิต มันก็มีความแตกดับสลายตายจาก เป็นที่สุดเหมือนกันซิครับ”
   
   “ใช่แล้วโยม โยมเคยพิจารณาไหมว่าแก้วน้ำที่ใช้กันอยู่นั้น มีราคาคุณภาพที่แตกต่างกัน พวกแก้วพลาสติกนี่ก็ถูกที่สุด แก้วแสตนเลส แก้วไม้ แก้วน้ำใสๆ ธรรมดา ก็มีราคาแพงขึ้น แก้วเจียรนัยอย่างดีก็แพงที่สุด โยมเห็นถึงความแตกต่างไหม?”
   
   “ผมคิดว่ามันแพงตามมูลค่าวัสดุและขบวนการผลิตนะหลวงพ่อ แก้วเจียรนัยที่แพงกว่าเพื่อนก็เพราะมีขั้นตอนการผลิตที่มีคุณภาพและศิลปะมากกว่าเพื่อนนะครับ”
   
   “ชีวิตของพวกโยมล่ะ เป็นแก้วอย่างไหน ?”
   
   “พูดยากครับ บางทีก็เป็นแก้วพลาสติก บางทีก็เป็นแก้วเจียรนัย บางทีก็เป็นแก้วน้ำธรรมดา แล้วแต่โอกาสเวลาครับ คนอื่นล่ะว่าไง”
   
   “ผม/ดิฉัน ก็เหมือนกันละครับ/ค่ะ”
   
   “ทำไมชีวิตของโยมจึงเป็นแก้วหลากชนิดเช่นนี้ล่ะ ?”
   
   “พวกผมยังมีความอยากได้อยู่มากละครับ บ่อยครั้งที่ผมปล่อยอารมณ์ตนเองให้มีความอยากได้ ครั้นไม่สมหวัง ก็แสดงอาการโกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยง ตอนนี้ชีวิตของผมก็เป็นแก้วพลาสติกที่มีคุณค่าน้อยๆในสังคม บางครั้งก็มีความตั้งใจจะทำตนเป็นคนดีของสังคม ก็พยายามทำตนเป็นคนดี ซึ่งมันรู้สึกว่าทำยากเหมือนกันนะครับ ตอนนี้ก็เป็นเหมือนแก้วเจียรนัย บางครั้งผมก็รู้สึกว่าทำดีบ้างทำไม่ดีบ้าง ผมมันก็คนธรรมดานี่ครับ ตอนนี้ก็เป็นแก้วน้ำธรรมดานะครับ”
   
   “โยมรู้สึกว่าตนเป็นเหมือนแก้วแตกบ้างไหมในชีวิต?”
   
   “โอ.. บ่อยครั้งครับ ที่ผมมีชีวิตเหมือนแก้วน้ำที่แตก มันเกิดจากความไม่ดีในตัวของผมเองครับ ผมบอกแล้วว่าความอยากในบุคคล วัสดุสิ่งของ ของผม ทำให้ผมไม่ค่อยคิดถึงความรู้สึกคนอื่นๆ ที่อยู่รอบข้าง เมื่อผมได้ทำร้ายความรู้สึกของเขาด้วยเจตนาก็ดี ไม่มีเจตนาก็ดี จะเป็นทำร้ายด้วยกำลังหรือวาจา ความแตกร้าวในความคิดของผู้ที่ถูกผมทำร้ายก็เกิดขึ้น นี่เป็นชีวิตแก้วแตกของผมแม้จะรู้ว่าแก้วแตกแล้วยากที่จะประสานให้เหมือนเดิม นอกจากนำไปหลอมใหม่ ผมก็ลืมตัวอยู่เสมอครับ เพื่อนที่อยู่นี้ก็คงเหมือนกันนะครับ วันนี้จึงพากันมาหาหลวงพ่อที่ธรรมสถานหลังนี้”
   
   “ดิฉันก็เป็นเหมือนพี่คนนี้เจ้าค่ะ บ้านช่องที่อยู่นี้ เหมือนนรกเลย ทำให้ไม่อยากกลับบ้าน บางทีตื่นมาก็รีบออกจากบ้านโดยเร็ว ชีวิตของดิฉันก็เป็นแก้วแตกเจ้าค่ะ”
   
   “คงเหมือนกันหลายคนนะ เห็นหัวคิ้วขมวดเป็นโบว์เลย แก้วแตกก็ทิ้งไปเลย จะไปนั่งคิดทำไมล่ะ มันเป็นของเสียหายไปแล้ว เก็บไว้ก็ไม่เกิดประโยชน์ เป็นธรรมชาติของแก้วที่ต้องแตก โยมว่าไหม?”
   
   “หลวงพ่อพูดง่ายจริงนะครับ บริษัทส่งพวกเรามาหาหลวงพ่อก็เพราะความรู้สึกแก้วแตกนะครับ”
   
   “โยมทั้งหลายรู้ตัวว่าเป็นแก้วแตก ก็นับว่าเป็นการดี เพราะโยมแต่ละคนย่อมรู้ว่าอะไรเป็นสาเหตุแห่งแก้วแตกของชีวิต เอาล่ะตอนนี้ทุกคนนั่งให้สบายๆ นั่งท่าไหนสบาย ก็นั่งท่านั้น ทำตนให้มีอิสระในการนั่ง ทำตนให้สัมผัสกับความสุขในการนั่ง เมื่อคิดว่าสุขสบายที่พึงพอใจแล้ว ก็หลับตาลง นั่งคิดถึงเหตุการณ์แก้วแตกในชีวิตของตน ถ้าคิดไม่ออก ก็คิดถึงแก้วน้ำที่เจียรนัยอย่างดี ราคาแพงๆ ว่าถ้าแก้วใบนี้แตก เรารู้สึกอย่างไร? เมื่อรู้สึก แล้ว ก็คิดต่อไปว่า ทำอย่างไรแก้วใบนี้จะไม่แตก วิธีที่คิด นี้เราจะทำได้ไหม หลวงพ่อจะให้เวลาคิดไปก่อนนะ อย่าลืมตาเด็ดขาด ให้มีความคิดจดจ่อเรื่องแก้วแตกอย่างเดียว เริ่มเลย”
   
   .........
   
   “คงมีคำตอบในใจกันทุกคนแล้วนะ ต่อไปนี้ลืมเรื่องแก้วแตกที่คิดได้ไปให้หมด อย่าให้มีความคิดใดในหัว กำหนดความรู้สึกมาที่หู ฟังเสียงหลวงพ่ออย่างเดียว ฟังให้จบ แล้วค่อยคิดตามไป ถ้าเกิดความรู้สึกว่าเสียงหลวงพ่อหายไป ก็ช่างมัน ปล่อยมันไป ถ้ารู้สึกว่าง่วงนอน ก็หลับไปเลย ไม่เป็นไร เอ้า..ทำหัวให้ว่าง อย่าให้มีความคิดสักอย่างเลยนะ
   
   แก้วน้ำจะเป็นชนิดใดก็ตาม ราคาถูกแพงก็ตาม แก้วน้ำนั้นก็เป็นเพียงวัสดุสำหรับใช้สอยในชีวิต การคงอยู่ของแก้วน้ำ ก็ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของเจ้าของ ตราบใดที่เจ้าของมีความพึงพอใจอยู่ แก้วน้ำใบนั้นก็ยังมีคุณค่าอยู่ ความพึงพอใจในแก้วน้ำ เราเป็นคนกำหนด เราเป็นคนรู้คุณค่า แต่ชีวิตของเรา ใครเป็นผู้กำหนด? ใครเป็นผู้รู้คุณค่า?
   
   ถ้าคิดอย่างพุทธศาสนิกชน ก็ตอบว่า กรรมของเราเป็นผู้กำหนด เราเป็นผู้รู้คุณค่าของชีวิต กรรมคือการกระทำในสิ่งต่างๆ ที่เราเป็นคนกระทำ ก่อนทำกรรมเราอาจจะคิดหรือไม่คิดก็ตาม แต่เมื่อเราทำกรรมนั้นไปแล้ว เราต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น แม้ผลของกรรมอาจจะไม่ปรากฏในทันที แต่ผลของกรรมนั้นก็จะปรากฏในอนาคตที่ไม่มีใครรู้กำหนดเวลาที่จริงแท้ได้
   
   พึงพิจารณาดูคนที่ขโมยของชาวบ้าน ก่อนจะขโมยอาจจะคิดวางแผนไว้เป็นอย่างดี หรือไม่ได้มีความคิดจะขโมย แต่พอได้พบเห็นโอกาสจะขโมยของที่พึงใจ ก็ขโมย เมื่อเขาได้ขโมยสิ่งของนั้นแล้ว เขาก็ได้รับผลของการขโมยเป็นความสุขใจ แต่ผลของการขโมยยังไม่สิ้นสุด ทันทีที่เจ้าทรัพย์สามารถจับตัวเขาได้ เขาก็ต้องได้รับโทษ ตามกฎหมายต่อไป ซึ่งผลที่ไม่พึงใจนี้ก็ไม่อาจบอกได้ว่าจะทันทีหรือต้องใช้เวลานานเท่าใด แต่เป็นที่แน่นอนว่าเขาต้องได้รับผลที่ไม่พึงใจแน่นอน
   
   เมื่อเราได้ทราบว่ากรรมหรือการกระทำล้วนเกิดจากตัวเรา ทำไมเราไม่พัฒนาคุณค่าของตัวเราให้มีคุณค่าเพิ่มมากขึ้น ด้วยคุณธรรมที่บุรพชนยกย่อง อันได้แก่คำสอนในพระพุทธศาสนาที่แฝงเป็นคติธรรมในขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติไทย ด้วยอายุของคำสอนที่มีมานานกว่า ๒,๕๕๓ ปี เราอาจจะคิดไปว่าเป็นคำสอนที่คร่ำครึ ไม่ทันสมัย ผลที่ติดตามมาก็คือ การดูหมิ่นเหยียดหยามขนบ ธรรมเนียมประเพณีของชาติไทย นำให้เกิดความล่มสลายในสังคมไทยเป็นที่สุด สภาพแก้วแตกที่โยมทั้งหลายกำลังประสบอยู่ก็เป็นผลมาจากเหตุนี้เหมือนกัน
   
   ทุกชีวิตในโลกนี้ต้องประสบกับสภาพแก้วแตกทุกคน ลักษณะของแก้วที่ปรากฏในแต่ละบุคคลอาจเหมือนกันหรือต่างกัน คนที่มัวแต่หวนรำลึกถึงความพึงพอใจในสภาพของแก้วที่สมบูรณ์ ก็ต้องมีความทุกข์เพราะความพลัดพรากจากของรัก คนที่ไม่สนใจในแก้วที่แตก แต่มุ่งแสวงหาแก้วใบใหม่แทน ก็ต้องแสวงหาไปไม่มีที่สิ้นสุด คนที่รู้จักพิจารณาความเป็นแก้วตั้งแต่แก้วยังมีสภาพสมบูรณ์จนแก้วแตก และวิเคราะห์หาเหตุและผลของแก้วนั้นจนมีความเข้าใจถึงธรรมชาติของแก้ว ย่อมจะพบกับแนวทางในการดำเนินชีวิตที่ก่อสุขประโยชน์แก่ตนและสังคม เหมือนดังที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญมาแล้ว
   
   ในคราที่ทรงเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ โอรสแห่งพระเจ้า สุทโธทนะ และพระนางสิริมหามายา พระสวามีแห่งพระนางยโสธรา ความสมบูรณ์พูนสุขในสรรพสิ่งที่ปุถุชนปรารถนา พระองค์ทรงมีครบทุกประการ ชีวิตของเจ้าชาย สิทธัตถะเป็นเหมือนแก้วเจียรนัยที่งดงามและสูงค่า ที่ถูกตั้งประดับโชว์ความงดงามในสถานที่อันอลังการ แต่ความผกผันของชีวิตเจ้าชายสิทธัตถะได้เกิดขึ้นเมื่อพระองค์ทรงเห็นสภาพของคนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช ที่พระองค์ไม่เคยเห็นมาก่อนในชีวิต พระองค์ทรงตริตรองถึงสภาพของคนเหล่านั้น พร้อมกับย้อนมาพิจารณาพระองค์เอง ในที่สุดทรงพบว่าชีวิตของพระองค์ก็จักเป็นเช่นนั้น ไม่ต่างกันเลย พระองค์ทรงคิดต่อไปว่าทำอย่างไรจึงจะพ้นไปจากสภาพเช่นนี้ได้ ทรงเห็นว่าการออกบวชศึกษาปรัชญาในเรื่องนี้จากสำนักคณาจารย์ที่มีชื่อเสียง จักเป็นการช่วยพระองค์ได้ พระองค์เสด็จออกบรรพชาด้วยความอาจหาญ ไม่เสียพระทัยต่อสรรพสุขที่ทรงมี นี่จึงเป็นภาวการณ์แก้วแตกของพระพุทธองค์
   
   ภาวการณ์แก้วแตกแม้จะทำให้เกิดความรู้สึกในทางที่ไม่ดีได้มากมาย แต่ถ้าเรารู้จักคิดถึงสภาวะของท่านผู้ผ่านเหตุการณ์เช่นนั้นมาบ้าง เราก็สามารถสรรสร้างสิ่งที่ก่อประโยชน์จากภาวการณ์ที่สูญเสียได้ พึงศึกษาดูเถิดว่า ถ้าเจ้าชายสิทธัตถะไม่เกิดภาวการณ์แก้วแตก พุทธศาสนาก็คงไม่มีในโลกนี้ คุณประโยชน์อันมหาศาลที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงค้นพบ จนนำให้พระองค์เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็คือพระธรรมอันเป็นธรรมชาติปกติของโลก พระองค์ทรงเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า ธรรมชาติเหล่านี้ดำรงอยู่คู่กับโลกเสมอมา เพราะเหตุที่คนไม่เข้าใจในธรรมชาติ ของปกติโลก ชีวิตคนจึงหมุนเวียนไปตามกระแสโลกที่มีวิวัฒนาการไปตลอดเวลา ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องประสบ ไม่มีใครเอาชนะความแก่ ความเจ็บ ความตายได้ การรู้จักธรรมชาติของความแก่ ความเจ็บ ความตาย อย่างถ่องแท้ ย่อมนำให้รู้จักการดำเนินชีวิตที่เป็นนิรันดร์ สิ่งนี้ก็คือพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าตลอด ๔๕ พรรษา
   
   เพราะเหตุที่ทรงค้นพบพระธรรม นำให้พระองค์ปรารถนาจะสอนบุคคลอื่นให้มีความรู้ความเข้าใจในพระธรรมด้วย ปัญจวัคคีย์ผู้อุปัฏฐากพระองค์ ล้วนมีใจมุ่งหวังจะได้ผลแห่งการค้นคว้าของพระองค์ เป็นบุคคลกลุ่มแรกที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปหาเพื่อแสดงสิ่งที่ทรงค้นพบ เมื่อผ่านการสนทนาที่เต็มไปด้วยเหตุและผลของชีวิต ธัมมจักกัปวัตตนสูตรก็ได้ถูกพระพุทธองค์นำมาสั่งสอนปัญจวัคคีย์ นำผลให้อัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม รู้ว่าธรรมชาติของโลกย่อมมีความเกิดขึ้น เป็นเบื้องต้น และมีความตายเป็นเบื้องปลาย ท่านจึงขอบรรพชากับพระพุทธเจ้า เป็นพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ทรงประทานการบวชให้ พระอัญญาโกณฑัญญะจึงเป็นพระสงฆ์รูปแรกในโลก
   
   เราทั้งหลายเป็นแก้วที่แตกแล้วในความคิดของตนเอง ความรู้สึกนี้ทำให้เราเกิดความแปลกแยกแตกต่างกับคนอื่น รู้สึกว่าเราเป็นปัญหาของสังคมที่เราอาศัย นี่เป็นเรื่องปกติของคนที่ไม่มีที่พึ่งของจิตใจ ยามเกิดภัยอันตรายก็ย่อมมีความหวาดกลัวเป็นปกติ เหมือนดังคนที่ถือแก้วเจียรนัยด้วยความกลัวว่าแก้วจะหลุดมือ เพราะความเข้าใจในความรู้สึกเช่นนี้ บรรพชนไทยจึงได้สรรหาแก้วที่ทรงคุณค่ายิ่งในโลก มาเป็นที่พึ่งของบุตรหลาน ท่านพิจารณาดูไปในโลกแล้วพบว่า ไม่มีสิ่งใดจะประเสริฐ เลิศยิ่งเท่าพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์
   
   พุทธประวัติของพระพุทธเจ้าสามารถเป็นที่พึ่งให้บุคคลผู้ปรารถนาความสำเร็จในชีวิต สามารถนำไปเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต พระธรรมย่อมเป็นที่พึ่งที่ช่วยทำจิตใจให้เข้มแข็งในการดำเนินชีวิต พระสงฆ์ย่อม เป็นที่พึงได้ในยามที่ปรารถนาความสุขสำราญใจ
   
   พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ล้วนแต่ต้องอาศัยกาลเวลาในการบ่มเพาะให้เกิดขึ้นในโลก เหมือนดังดินที่แปรสภาพกลายเป็นเพชร ก็เพราะกาลเวลา เพชรแม้มีค่ามาก ก็ต้องการคนคอยระวังรักษา ไม่ใช่รักษาคน แต่พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นดุจแก้วที่มีแสงสว่างชี้นำการดำเนินชีวิตของบุคคล
   
   ดังนั้นด้วยความประเสริฐกว่าเช่นนี้ บรรพชนไทยจึงขนามนามพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าพระรัตนตรัย แก้วอันประเสริฐ ๓ ประการ รัฐบาลได้ประกาศ ให้วันที่ระลึกถึงพระรัตนตรัยหรือวันอาสาฬหบูช เป็นวันสำคัญแห่งชาติ เมื่อประมาณปีพ.ศ. ๒๔๙๘ เป็นต้นมา
   
   โยมส่วนมากไม่ระลึกถึงพระรัตนตรัย จึงทำให้ชีวิตเป็นดุจแก้วแตก ถ้ามาศึกษาในคุณพระรัตนตรัยแล้ว ก็จักเป็นผู้มีแก้วอันประเสริฐประจำตน
   
   พรรณนาธรรมมานี้ พอจะได้แนวทางบ้างไหมล่ะโยม”
   
   “ผมว่าจะหลับไปแล้วนะครับ แต่เมื่อได้ฟังไป..ฟังไป ก็พบว่าผมยังไม่มีแก้วอันประเสริฐในตนเอง จึงทำให้ผมเป็นแก้วแตกอยู่เสมอ คงจะต้องกลับไปทบทวนคำสอนของบรรพชนบ้างแล้วครับ”
   
   “ขณะนี้เวลาก็พอสมควรแก่กาลแล้ว ก็ขอให้ทุกคนจงกลับบ้านไป ทำบ้านของตนให้สว่างไสวด้วยแสงแห่งแก้วอันประเสริฐนี้ และลืมเลือนชีวิตที่มีสภาพดุจแก้วแตกเสีย แล้วตั้งต้นชีวิตไปสู่สิ่งที่ดีงาม ก็ขอยุติการสนทนา ธรรมแต่เพียงนี้ ขออนุโมทนาให้ทุกคนจงมีความสุขในธรรมเทอญ”
   
   (จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 116 กรกฎาคม 2553 โดย พระพจนารถ ปภาโส วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม)


 :02:
Bangkok Hotel คู่มือการเข้าพักโรงแรมในกรุงเทพแบบถึงกึ๋น
iPhone สาวกไอโฟนจัดเต็ม...เว้ยเฮ้ย