วิถีธรรม > แนวทางปฏิบัติธรรม
คำศัพท์ ปฏิจจสมุปบาท
ฐิตา:
คำศัพท์ ปฏิจจสมุปบาท ก
กรรม - การกระทำ หมายถึง การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา คือทำด้วยความจงใจหรือจงใจทำ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เช่น ขุดหลุมพรางดักคนหรือสัตว์ให้ตกลงไปตาย เป็นกรรม แต่ขุดบ่อน้ำไว้กินใช้ สัตว์ตกลงไปตายเอง ไม่เป็นกรรม (แต่ถ้ารู้อยู่ว่าบ่อน้ำที่ตนขุดไว้อยู่ในที่ซึ่งคนจะพลัดตกได้ง่าย แล้วปล่อยปละละเลย มีคนตกลงไปตาย ก็ไม่พ้นเป็นกรรม)
การกระทำที่ดีเรียกว่า “กรรมดี” ที่ชั่ว เรียกว่า “กรรมชั่ว”
กรรม ๒- กรรมจำแนกตามคุณภาพ หรือตามธรรมที่เป็นมูลเหตุ มี ๒ คือ
๑. อกุศลกรรม กรรม(การกระทำ)ที่เป็นอกุศล กรรมชั่ว คือเกิดจากอกุศลมูล
๒. กุศลกรรม กรรม(การกระทำ)ที่เป็นกุศล กรรมดี คือเกิดจากกุศลมูล
กรรม ๓ - กรรมจำแนกตามทวารคือทางที่ทำกรรม มี ๓ คือ
๑. กายกรรม การกระทำทางกาย
๒. วจีกรรม การกระทำทางวาจา
๓. มโนกรรม การกระทำทางใจ
กรรมฐาน - กัมมัฏฐาน - ที่ตั้งแห่งการงาน, อารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งการงานของใจ, อุบาย(วิธี)ทางใจ, วิธีฝึกอบรมจิต มี ๒ ประเภทคือ
๑. สมถกรรมฐาน อุบาย(วิธี)สงบใจ ๑ เพื่อเป็นบาทฐานหรือเครื่องเกื้อหนุนในการวิปัสสนาหรือวิปัสสนากรรมฐาน
๒. วิปัสสนากรรมฐาน อุบาย(วิธี)เรืองปัญญา ๑ เพื่อให้เกิดปัญญาในการดับทุกข์
กรรมฐาน ๔๐ - สิ่งที่ใช้เป็นอารมณ์ในการเจริญภาวนา, ที่ตั้งแห่งการทำงานของจิต, อุปกรณ์ในการฝึกอบรมจิต แบ่งออกเป็น กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อนุสสติ ๑๐ พรหมวิหาร ๔ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัตถาน ๑ อรูป ๔
กฐินทาน - การทอดกฐิน, การถวายผ้ากฐิน คือการที่คฤหัสถ์ผู้ศรัทธาหรือแม้ภิกษุสามเณร นำผ้าไปถวายแก่สงฆ์ผู้จำพรรษาแล้ว ณ วัดใดวัดหนึ่ง เพื่อทำเป็นผ้ากฐิน เรียกสามัญว่า ทอดกฐิน (นอกจากผ้ากฐินแล้วปัจจุบันนิยมมีของถวายอื่นๆ อีกด้วยจำนวนมาก เรียกว่า บริวารกฐิน)
กสิณ - วัตถุอันจูงใจ คือ จูงใจให้เข้าไปผูกอยู่ เป็นชื่อของกัมมัฏฐาน(กรรมฐาน)ที่ใช้วัตถุสำหรับเพ่ง เพื่อจูงจิตให้เป็นสมาธิ
กุปปธรรม - ผู้มีธรรมที่ยังกำเริบได้ หมายถึง ผู้ที่ได้สมาบัติแล้วแต่เสื่อมได้, อกุปปธรรม ผู้มีธรรมที่ไม่กำเริบ คือ ผู้ที่เมื่อได้สมาบัติแล้ว สมาบัตินั้นจะไม่เสื่อมไปเลยได้แก่พระอริยบุคคลทั้งหมด
กุปปวิโมกข์ - ความหลุดพ้นจากกิเลสที่ยังกำเริบได้ (วิโมกข์ = ความหลุดพ้นจากกิเลส)
กาม - ความใคร่, ความอยาก, ความปรารถนา, สิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่, กามมี ๒ คือ ๑.กิเลสกาม กิเลสที่ทำให้ใคร่(เกิดแต่จิตและอาสวะกิเลส)เป็นเหตุ ๒.วัตถุกาม วัตถุอันน่าใคร่ ได้แก่กามคุณ ๕
กามคุณ - ส่วนหรือสิ่งที่น่าปรารถนาน่าใคร่ มี ๕ อย่าง คือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ (สัมผัสทางกาย) ที่น่าใคร่ น่าพอใจ
กามตัณหา - ความทะยานอยากในกามหรือทางโลกๆ คือใน รูป,รส,กลิ่น,เสียง,สัมผัส ทั้ง ๕
กามฉันทะ - ความพอใจรักใคร่ในอารมณ์ที่ชอบใจมีรูปเป็นต้น, ความพอใจในกามคุณทั้ง ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (ข้อ ๑ ในนิวรณ์ ๕)
กามราคะ - ความกำหนัดด้วยอำนาจกิเลสกาม, ความใคร่กาม (ข้อ ๔ ในสังโยชน์ ๑๐, ข้อ ๑ ในอนุสัย ๗)
กามภพ - ที่เกิดของผู้ที่ยังเกี่ยวข้องอยู่ในกาม, โลกเป็นที่อยู่อาศัยของผู้เสพกาม ได้แก่ อบายภูมิ ๔ มนุษยโลก และสวรรค์ ๖ ชั้น ตั้งแต่ชั้นจาตุมหาราชิกา ถึงชั้นปรนิมมิตสวัตดี รวมเป็น ๑๑ ชั้น (ข้อ ๑ ในภพ ๓)
กามาวจร - ซึ่งท่องเที่ยวไปในกามภพ, ซึ่งเกี่ยวข้องอยู่กับกาม
กายทวาร - ทวารคือกาย, กายเป็นฐานในการทำกรรมทางกาย
กายสังขาร - ๑. ปัจจัยปรุงแต่งกาย ได้แก่ลมหายใจเข้า หายใจออก ๒. สภาพที่ปรุงแต่งการกระทำทางกาย ได้แก่ กายสัญเจตนา หรือความจงใจทางกาย ซึ่งทำให้เกิดกายกรรม
กายสัมผัส - สัมผัสทางกาย, อาการที่กาย๑ โผฏฐัพพะ๑ และ กายวิญญาณ๑ ทั้ง ๓ ประจวบกัน
กายานุปัสสนา - สติพิจารณากายเป็นอารมณ์(ที่ยึดเหนี่ยว,ที่กำหนด)ว่า กายนี้ก็สักว่ากาย ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา เป็นสติปัฏฐานข้อหนึ่ง ดู สติปัฏฐาน
กามุปาทาน - ความยึดมั่นถือมั่นในกามหรือทางโลก อันคือกามคุณ ๕ ในรูป เสียงกลิ่น รส สัมผัส ฯ. ไปยึดถือว่าเป็นเราหรือของเรา จนเป็นเหตุให้เกิดริษยา หรือหวงแหน ลุ่มหลง เข้าใจผิด ทําผิด, เป็นหนึ่งใน อุปาทาน ๔
กาลามสูตร - เกสปุตตสูตร - พระสูตรหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตัดสอนชาวกาลามะในแคว้นโกศล ไม่ให้เชื่อถืองมงาย ไร้เหตุผล(อธิโมกข์) ตามหลัก ๑๐ ข้อ อันมีอย่าปลงใจเชื่อในสิ่งใดโดย ๑.ด้วยการฟังตามกันมา ๒.ด้วยการนับถือสืบๆกันมา ๓.ด้วยการเล่าลือ ๔.ด้วยการอ้างตําราหรือคําภีร์ ๕.ด้วยตรรก ๖.ด้วยการอนุมาน ๗.ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล ๘.เพราะการเข้ากันได้กับทฤษฎีของตน ๙.เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าเชื่อถือ ๑๐.เพราะนับถือว่าสมณะ(รวมถึงพระองค์เองด้วย)นี้เป็นครูเรา ต่อเมื่อพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า ธรรมเหล่านั้นเป็นอกุศล เป็นกุศล มีโทษ ไม่มีโทษ เป็นต้นแล้วด้วยตนเอง จึงควรละหรือถือปฏิบัติตามนั้น
กิจจญาณ - ปรีชากำหนดรู้ กิจที่ควรทำในอริยสัจจ์ ๔ แต่ละอย่าง คือรู้ว่า ทุกข์-ควรกำหนดรู้, สมุทัย-ควรละ, นิโรธ--ควรทำให้แจ้ง, มรรค-ควรเจริญคือควรปฏิบัติ
กิจในอริยสัจจ์ - ข้อที่ต้องทำในอริยสัจจ์ ๔ แต่ละอย่าง คือ ปริญญา การกำหนดรู้ เป็นกิจในทุกข์, ปหานะ การละ เป็นกิจในสมุทัย, สัจฉิกิริยา การทำให้แจ้ง หรือการบรรลุ เป็นกิจในนิโรธ, ภาวนา การเจริญ คือปฏิบัติบำเพ็ญ เป็นกิจในมรรค
กิเลส - สิ่งที่ทําให้จิตขุ่นมัว เศร้าหมอง และทําให้รับคุณธรรมได้ยาก
- สิ่งที่ทำใจให้เศร้าหมอง, ความชั่วที่แฝงอยู่ในความรู้สึกนึกคิด ทำให้จิตใจขุ่นมัวไม่บริสุทธิ์
กิเลสกาม - กิเลสเป็นเหตุใคร่, กิเลสที่ทำให้อยาก, เจตสิกอันเศร้าหมอง ชักให้ใคร่ ให้รัก ให้อยากได้ ได้แก่ราคะ โลภะ อิจฉา (อยากได้) เป็นต้น
กุศล - บุญ, ความดี, ฉลาด, สิ่งที่ดี, กรรมดี, แผ้วถาง ให้ราบเตียนไป
กุศลมูล -รากเหง้าของกุศล, ต้นเหตุของกุศล, ต้นเหตุของความดีมี ๓ อย่าง คือ
๑. อโลภะ ไม่โลภ (จาคะ- การสละ, การให้ปัน, การเสียสละ)
๒. อโทสะ ไม่คิดประทุษร้าย (เมตตา)
๓. อโมหะ ไม่หลง (ปัญญา)
อกุศลมูล รากเหง้าของอกุศล, ต้นเหตุของอกุศล, ต้นเหตุของความชั่ว มี ๓ อย่าง คือ โลภะ โทสะ โมหะ
กุศลธรรม - ธรรมที่เป็นกุศล, ธรรมฝ่ายกุศล, ธรรมที่ดี, ธรรมฝ่ายดี
กำหนัด - ความใคร่,ความอยากในกามคุณ
ฐิตา:
ข
ขณิกสมาธิ - สมาธิชั่วขณะ, สมาธิขั้นต้นพอสำหรับใช้ในการเล่าเรียนทำการงานให้ได้ผลดี ให้จิตใจสงบสบาย, และใช้เริ่มปฏิบัติวิปัสสนาได้
ขณิกาปีติ-ความอิ่มใจชั่วขณะ เมื่อเกิดขึ้นทำให้รู้สึกเสียวแปลบๆ เป็นขณะๆ เหมือนฟ้าแลบ (ปีติ ๕ ข้อ ๒)
ขันธ์ - กอง, พวก, หมวด, หมู่, ลำตัว; หมวดหนึ่ง ๆ ของรูปธรรมและนามธรรมทั้งหมดที่แบ่งออกเป็นห้ากอง คือ รูปขันธ์ กองรูป, เวทนาขันธ์ กองเวทนา, สัญญาขันธ์ กองสัญญา, สังขารขันธ์ กองสังขาร, วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ เรียกรวมว่า เบญจขันธ์ (ขันธ์ ๕)
ขันธ์๕ - เบญจขันธ์ องค์ประกอบทั้ง๕ที่ทางพุทธศาสน์ถือว่า เป็นปัจจัยของมีชีวิต อันมี รูปขันธ์, เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, สังขารขันธ์, วิญญาณขันธ์
ขีณาสพ - ผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว, ผู้หมดกิเลส, พระอรหันต์
ขุททกาปีติ - ปีติเล็กน้อย, ความอิ่มใจอย่างน้อย เมื่อเกิดขึ้นทำให้ขนชันน้ำตาไหล (ข้อ ๑ ในปีติ ๕)
ค
ครุกรรม - กรรมหนักทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล ในฝ่ายกุศลได้แก่ฌานสมาบัติ ในฝ่ายอกุศลได้แก่อนันตริยกรรม กรรมนี้ให้ผลก่อนกรรมอื่นเหมือนคนอยู่บนที่สูงเอาวัตถุต่าง ๆ ทิ้งลงมาอย่างไหนหนักที่สุด อย่างนั้นถึงพื้นก่อน
ความคิดนึก - ความคิด-ความนึก-จิตสังขาร-มโนสังขาร เป็นสังขารขันธ์(ขันธ์๕)เป็นสิ่งที่ต้องมี,ต้องเป็นโดยปกติธรรมชาติ ไม่เป็นโทษ และจำเป็นยิ่งในการดำเนินชีวิตหรือขันธ์ ๕
คิดนึกปรุงแต่ง - คิดปรุงแต่ง - จิตปรุงแต่ง - จิตฟุ้งซ่าน - จิตฟุ้งซ่านไปภายนอก - หรือคิดนึกฟุ้งซ่าน - คิดนึกเรื่อยเปื่อย - คิดวนเวียนปรุงแต่ง - จิตส่งออกไปภายนอก = ล้วนมีความหมายเป็นนัยเดียวกัน เป็นการกล่าวถึงจิตที่ไปทำหน้าที่อันไม่ควร จึงเป็นทุกข์ จึงเน้นหมายถึงไปคิดนึกอันเป็นเหตุปัจจัยทําให้เกิดกิเลสตัณหา - เพราะคิดนึกปรุงแต่งแต่ละครั้งแต่ละทีย่อมเกิดการผัสสะ อันย่อมต้องเกิดเวทนาต่างๆขึ้นด้วย ทุกครั้งทุกทีไปในทุกๆความคิดปรุงแต่ง อันอาจเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหาจากความคิดนึกปรุงแต่งที่มีเกิดขึ้นอย่างหลากหลายได้, และความคิดหรือนึกปรุงแต่งถึงอดีตและอนาคต อันมักเจือด้วยกิเลสอันทําให้ขุ่นมัว, หรือเจือด้วยตัณหาความอยาก,ไม่อยาก อันจักก่อตัณหาต่อความรู้สึกที่เกิดขึ้นใหม่นั้น(เวทนา)ได้ง่ายเช่นกัน, แต่ถ้าเป็นการคิดในหน้าที่ หรือการงานเช่นการทำงาน, คิดพิจารณาธรรม ฯ. ก็ไม่ได้จัดว่าเป็นคิดปรุงแต่ง แต่ก็ต้องควบคุมระวังสติให้ดีเพราะย่อมต้องเกิดเวทนาขึ้นเช่นกัน
หลักการปฏิบัติโดยทั่วไป ไม่ใช่ให้หยุดคิด แต่ให้เห็นความคิดชนิดคิดปรุงแต่งหรืออาการของจิตที่ฟุ้งซ่านฟุ่มเฟือย หรือเห็นเวทนาที่เกิดขึ้น แล้วอุเบกขาคือหยุดการคิดปรุงแต่งนั้นๆเท่านั้นเอง
ส่วนความคิดนึก(ไม่ปรุงแต่ง)ในขันธ์ ๕ ที่ใช้ในชีวิตเช่นการงาน โดยไม่มีกิเลส,ตัณหา เป็นสิ่งจําเป็นที่ควรจะมีอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นเพียงความคิดนึกในสังขารขันธ์ของขันธ์ ๕ อันเป็นปกติ เป็นประโยชน์ และจําเป็นในการดํารงชีวิต แยกแยะพิจารณาให้เข้าใจชัดเจน
การคิดพิจารณาในธรรมก็ไม่ใช่ความคิดนึกปรุงแต่ง เป็นธรรมะวิจยะความคิดนึกที่ควรปฏิบัติและควรทําให้เจริญยิ่งขึ้นไป
มีต่อค่ะ : http://nkgen.com/ex3.htm#a
ฐิตา:
ฆ
ฆนะ - กลุ่ม, ก้อน, แท่ง, ความเป็นมวลรวม เป็นธรรมหรือสิ่งที่ปิดบังไม่ให้เห็นความเป็นอนัตตา ความไม่มีตัวตน หรือไม่ใช่ตัวใช่ตน
ฆราวาส - การอยู่ครองเรือน, ชีวิตชาวบ้าน; ในภาษาไทย มักใช้หมายถึง คฤหัสถ์ คือผู้ครองเรือน, ชาวบ้าน
ฆราวาสธรรม - หลักธรรมสำหรับการครองเรือน, ธรรมของผู้ครองเรือน มี ๔ อย่างคือ ๑. สัจจะ ความจริง เช่น ซื่อสัตย์ต่อกัน ๒. ทมะ ความฝึกฝนปรับปรุงตน เช่น รู้จักข่มใจ ควบคุมอารมณ์ บังคับตนเองปรับตัวเข้ากับการงานและสิ่งแวดล้อมให้ได้ดี ๓. ขันติ ความอดทน ๔. จาคะ ความเสียสละเผื่อแผ่ แบ่งปัน มีน้ำใจ
ฆานวิญญาณ - ความรู้ที่เกิดขึ้นเพราะกลิ่นกระทบจมูก, กลิ่นกระทบจมูก เกิดความรู้ขึ้น, ความรู้กลิ่น
ฆานสัมผัส - อาการที่ จมูก กลิ่น และฆานวิญญาณประจวบกัน
ฆานสัมผัสสชาเวทนา - เวทนาที่เกิดขึ้นเพราะฆานสัมผัส, ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเพราะการที่จมูก กลิ่น และฆานวิญญาณประจวบกัน
ง
งมงาย - ไม่รู้เท่า, ไม่เข้าใจ, เซ่อเซอะ, หลงเชื่อโดยไม่มีเหตุผล หรือโดยไม่ยอมรับฟังผู้อื่น
จ
จงกรม - เดินไปมาโดยมีสติกำกับ (บางท่านใช้ไปเป็นอารมณ์คือสิ่งที่จิตกำหนดเพื่อทำสมาธิแต่อย่างเดียวโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นถ้าเป็นการกระทำไปโดยไม่รู้ตัวว่า ตนกระทำสติที่ประกอบด้วยสมาธิหรือสมาธิแต่อย่างเดียวก็เป็นการไม่ถูกต้อง)
จตุธาตุววัตถาน - การกำหนดธาตุ ๔
คือ พิจารณาร่างกายนี้ แยกแยะออกไปมองเห็นแต่ส่วนประกอบต่างๆ ที่จัดเข้าไปในธาตุ ๔ คือ ปฐวี อาโป เตโช วาโย ทำให้รู้ภาวะความเป็นจริงของร่างกาย ว่าเป็นแต่เพียงธาตุ ๔ ประชุมกันเข้าเท่านั้น จึงไม่เป็นตัวสัตว์บุคคลที่แท้จริง เพราะตัวตนสัตว์บุคคลที่เห็นหรือผัสสะนั้นเป็นเพียงกลุ่มหรือก้อนของเหตุที่มาเป็นปัจจัยประชุมกัน
จริต - ความประพฤติ, พื้นนิสัย หรือพื้นเพแห่งจิตของคนทั้งหลายที่หนักไปด้านใดด้านหนึ่ง แตกต่างกันไปคือ ๑.ราคจริต ผู้มีราคะเป็นความประพฤติปกติ (หนักไปทางรักสวยรักงาม มักติดใจ) ๒.โทสจริต ผู้มีโทสะเป็นความประพฤติปกติ (หนักไปทางใจร้อนขี้หงุดหงิด) ๓.โมหจริต ผู้มีโมหะเป็นความประพฤติปกติ (หนักไปทางเหงาซึมงมงาย) ๔.สัทธาจริต ผู้มีศรัทธาเป็นความประพฤติปกติ (หนักไปทางน้อมใจเชื่อ) ๕.พุทธิจริต ผู้มีความรู้เป็นความประพฤติ ปกติ (หนักไปทางคิดพิจารณา) ๖.วิตกจริต ผู้มีวิตกเป็นความประพฤติปกติ (หนักไปทางคิดจับจดฟุ้งซ่าน)
จักขุวิญญาณ - จักษุวิญญาณ - ความรู้ที่เกิดขึ้นเพราะรูปกระทบตา, รูปกระทบตา เกิดความรู้ขึ้น, การเห็น
จักขุสัมผัส - อาการที่ ตา รูป และจักขุวิญญาณประจวบกัน
จักขุสัมผัสสชาเวทนา - เวทนาที่เกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัส, ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเพราะการที่ ตา รูป และจักขุวิญญาณประจวบกัน
จาตุรงคสันนิบาต - การประชุมพร้อมด้วยองค์ ๔ คือ ๑. วันนั้นดวงจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ (เพ็ญเดือนสาม ๒. พระสงฆ์ ๑๒๕๐ รูปมาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ๓. พระสงฆ์เหล่านั้นทั้งหมดล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา ๖ ๔. พระสงฆ์เหล่านั้นทั้งหมดล้วนเป็นเอหิภิกขุ ดู มาฆบูชา
จิต - ธรรมชาติที่รู้อารมณ์ (สภาวธรรมของชีวิตที่รับรู้อารมณ์ เช่น สภาพหรือสภาวะของชีวิตในการรับรู้ใน รูป เสียง กลิ่น ฯ.), สภาพที่นึกคิด, ความคิด, ใจ
ตามหลักฝ่ายอภิธรรม จำแนกจิตเป็น ๘๙ (หรือพิสดารเป็น ๑๒๑)
แบ่ง โดยชาติ เป็น อกุศลจิต ๑๒ กุศลจิต ๒๑ (พิสดารเป็น ๓๗) วิปากจิต ๓๖ (๕๒) และกิริยาจิต ๒๐;
แบ่ง โดยภูมิ เป็น กามาวจรจิต ๕๔ รูปาวจรจิต ๑๕ อรูปาวจรจิต ๑๒ และโลกุตตรจิต ๘ (พิสดารเป็น ๔๐)
จิตตะ - เอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้นไม่วางธุระ, ความคิดฝักใฝ่ไม่ปล่อยใจฟุ้งซ่านเลื่อนลอย (ข้อ ๓ ในอิทธิบาท ๔)
จิตสังขาร - จิตตสังขาร - มโนสังขาร - สังขารขันธ์ในขันธ์๕ อันคือ ความคิด ความนึก การกระทำทางใจต่างๆ หรือมีความหมายได้ดังนี้
- 1. ปัจจัยปรุงแต่งจิต ได้แก่สัญญาและเวทนา
- 2. สภาพที่ปรุงแต่งการกระทำทางใจ ได้แก่ มโนสังขาร เจตนาที่ก่อให้เกิดมโนกรรม ดู สังขาร
ฐิตา:
จิตตานุปัสสนา - สติพิจารณาเห็นอาการของจิต(เจตสิก)หรือจิตตสังขาร, หรือสติพิจารณาใจหรือระลึกรู้เท่าทันใจที่เศร้าหมองหรือผ่องแผ้วเป็นอารมณ์ว่า ใจนี้ก็สักว่าใจ ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตน เรา เขา, กำหนดรู้จิตตามสภาพที่เป็นอยู่ในขณะนั้นๆ, ดังเช่น จิตมี ราคะ โทสะ โมหะ ก็รู้ว่าจิตมี ราคะ โทสะ โมหะ, จิตปราศจาก ราคะ โทสะ โมหะ ก็รู้ว่าจิตปราศจาก ราคะ โทสะ โมหะ ฯลฯ.(ข้อ ๓ ในสติปัฏฐาน ๔)
จิตส่งใน - อาการการกระทำทางจิต ที่เกิดจากการติดเพลิน(นันทิ)ไปในผลของความสุข สงบ สบาย อันเกิดขึ้นทั้งต่อทางกายและจิต อันมักเป็นผลมาจากการปฏิบัติฌาน,สมาธิ มักเพราะขาดการเจริญวิปัสสนาหรือด้วยความไม่รู้(อวิชชา) จึงเกิดอาการคอยแอบจ้อง, แอบเสพ, แอบพยายามทำให้ทรง, ทำให้เป็นอยู่ในอาการขององค์ฌาน เช่นในปีติ ความสงบ ความสุข ความแช่นิ่ง ซึ่งเป็นไปในอาการทั้งโดยรู้ตัว และไม่รู้ตัวก็ตามที, อาการที่จิตแช่นิ่ง อยู่ภายในจิตหรือกายตน ; อ่านรายละเอียดทั้งหมดได้ใน จิตส่งใน ในหัวข้อ เกี่ยวเนื่องกับฌานสมาธิ เป็นการปฏิบัติผิดที่เกิดกับนักปฏิบัติมากเป็นที่สุด และมักเข้าใจผิดกันไปว่าจิตส่งในไปแช่นิ่งหรือเสพรสอร่อยในกายหรือจิต เป็นการปฏิบัติจิตเห็นกายหรือกายานุปัสสนาหรือจิตตานุปัสสนาอันดีงามในสติปัฏฐาน ๔ แต่ไม่ใช่ดังนั้นเลย!!!
จูฬปันถกะ - พระมหาสาวกองค์หนึ่งในอสีติมหาสาวก เป็นบุตรของธิดาเศรษฐีกรุงราชคฤห์ และเป็นน้องชายของมหาปันถกะ ออกบวชในพระพุทธศาสนา ปรากฏว่ามีปัญญาทึบอย่างยิ่ง พี่ชายมอบคาถาเพียง ๑ คาถาให้ท่องตลอดเวลา ๔ เดือน ก็ท่องไม่ได้ จึงถูกพี่ชายขับไล่ เสียใจคิดจะสึก พอดีพบพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสปลอบแล้วประทานผ้าขาวบริสุทธิ์ให้ไปลูบคลำพร้อมทั้งบริกรรมสั้นๆ ว่า “รโชหรณํ ๆ ๆ” ผ้านั้นหมองเพราะมือคลำอยู่เสมอ ทำให้ท่านมองเห็นไตรลักษณ์และได้สำเร็จพระอรหัต ท่านมีความชำนาญ แคล่วคล่อง ในอภิญญา ๖ ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในบรรดาผู้ฉลาดในเจโตวิวัฏฏ์; ชื่อท่านเรียกง่าย ๆ ว่าจูฬบันถก, บางแห่งเขียนเป็นจุลลบันถก
เจดีย์ - ที่เคารพนับถือ, บุคคล สถานที่หรือวัตถุที่ควรเคารพบูชา, เจดีย์เกี่ยวกับพระพุทธเจ้ามี ๔ อย่างคือ ๑. ธาตุเจดีย์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ๒. บริโภคเจดีย์ คือสิ่งหรือสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเคยทรงใช้สอย ๓. ธรรมเจดีย์ บรรจุพระธรรม คือพุทธพจน์ ๔. อุทเทสิกเจดีย์ คือพระพุทธรูป; ในทางศิลปกรรมไทยหมายถึงสิ่งที่ก่อเป็นยอดแหลมเป็นที่บรรจุสิ่งที่เคารพนับถือเช่น พระธาตุและอัฐิบรรพบุรุษ เป็นต้น
เจตนา - ความตั้งใจ, ความมุ่งใจหมายจะทำ, เจตน์จำนง, ความจำนง, ความจงใจ, เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง เป็นตัวนำในการคิดปรุงแต่ง หรือเป็นประธานในสังขารขันธ์ และเป็นตัวการในการทำกรรม(ทั้งทางกาย วาจา ใจ) หรือกล่าวได้ว่าเป็นตัวกรรมทีเดียว ดังพุทธพจน์ว่า “เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ” แปลว่า เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม
เจตภูต - สภาพเป็นผู้คิดอ่าน, ตามที่เข้าใจกันโดยทั่วไป หมายถึงดวงวิญญาณหรือดวงชีพอันเที่ยงแท้ที่สิงอยู่ในตัวคน กล่าวกันว่า ออกจากร่างได้ในเวลานอนหลับ และเป็นตัวไปเกิดใหม่เมื่อกายนี้แตกทำลาย เป็นคำที่ไทยเราใช้เรียกแทนคำว่าอาตมันหรืออัตตาของลัทธิพราหมณ์ และเป็นความเชื่อนอกพระพุทธศาสนา
เจโตวิมุตติ - ความหลุดพ้นแห่งจิต, การหลุดพ้นจากกิเลสด้วยอำนาจการฝึกจิตหรือด้วยกำลังสมาธิ (แต่ถึงอย่างไรก็ตามต้องเกิดปัญญาวิมุตติ จึงจักทำให้เป็นเจโตวิมุตติที่ไม่กำเริบ คือ ไม่กลับกลายได้อีกต่อ) เช่น สมาบัติ ๘ เป็นเจโตวิมุตติ อันละเอียดประณีต (สันตเจโตวิมุตติ)
เจริญวิปัสสนา, ปฏิบัติวิปัสสนา, บำเพ็ญวิปัสสนา - การฝึกอบรมปัญญา เช่น โดยพิจารณาสังขาร คือ รูปธรรมและนามธรรมทั้งหมดแยกออกเป็นขันธ์ๆ กำหนดด้วยไตรลักษณ์ว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา, อบรมปัญญาโดยพิจารณาปฏิจจสมุปบาท, ขันธ์ ๕ ฯลฯ.
เจตสิก ๕๒ - อาการและคุณสมบัติต่างๆของจิต หรือก็คือกลุ่มอาการของจิต ท่านได้แบ่งออกเป็น ๕๒ ชนิด อันนอกจากเวทนาและสัญญาแล้วต่างก็ล้วนจัดเป็นสังขารขันธ์ชนิดจิตตสังขาร(มโนสังขาร)อีกด้วย, เจตสิก๕๒ ได้แก่ ๑.ผัสสะ - ความกระทบอารมณ์ ๒.เวทนา - ความเสวยอารมณ์ ๓.สัญญา - ความหมายรู้อารมณ์ ๔.เจตนา - ความจงใจต่ออารมณ์ ๕.เอกัคคตา - ความมีอารมณ์เป็นหนึ่งเดียว ๖.ชีวิตินทรีย์ - อินทรีย์คือชีวิต,สภาวะที่เป็นใหญ่ในการรักษานามธรรมทั้งปวง ๗.มนสิการ - ความกระทำอารมณ์ไว้ในใจ,ใส่ใจ ๘.วิตก - ความตรึกอารมณ์ ๙.วิจาร - ความตรองหรือพิจารณาอารมณ์ ๑๐.อธิโมกข์ - ความปลงใจหรือปักใจในอารมณ์ ๑๑.วิริยะ - ความเพียร ๑๒.ปีติ - ความปลาบปลื้มในอารมณ์,ความอิ่มใจ ๑๓.ฉันทะ - ความพอใจในอารมณ์ ๑๔.โมหะ - ความหลง ๑๕.อหิริกะ - ความไม่ละอายต่อบาป ๑๖.อโนตตัปปะ - ความไม่สะดุ้งกลัวต่อบาป ๑๗.อุทธัจจะ - ความฟุ้งซ่าน ๑๘.โลภะ - ความอยากได้อารมณ์ ๑๙.ทิฎฐิ - ความเห็นผิด ๒๐.มานะ - ความถือตัว ๒๑.โทสะ - ความคิดประทุษร้าย ๒๒.อิสสา - ความริษยา ๒๓.มัจฉริยะ - ความตระหนี่ ๒๔.กุกกุจจะ - ความเดือดร้อนใจ ๒๕.ถีนะ - ความหดหู่ ๒๖.มิทธะ - ความง่วงเหงา
๒๗.วิจิกิจฉา - ความคลางแคลงสงสัย ๒๘.สัทธา(ศรัทธา) - ความเชื่อ ๒๙.สติ - ความระลึกได้,ความสำนึกพร้อมอยู่ ๓๐.หิริ - ความละอายต่อบาป ๓๑.โอตตัปปะ - ความสะดุ้งกลัวต่อบาป ๓๒.อโลภะ - ความไม่อยากได้อารมณ์ ๓๓.อโหสิ - อโทสะ - ความไม่คิดประทุษร้าย ๓๔.ตัตรมัชฌัตตตาหรืออุเบกขา - ความเป็นกลางในอารมณ์นั้นๆ ๓๕.กายปัสสัทธิ - ความสงบแห่งกองเจตสิก ๓๖.จิตตปัสสัทธิ - ความสงบแห่งจิต ๓๗.กายลหุตา - ความเบากองเจตสิก ๓๘.จิตตลหุตา - ความเบาแห่งจิต ๓๙.กายมุทุตา - ความอ่อนหรือนุ่มนวลแห่งกายหรือกองเจตสิก ๔๐.จิตตมุทุตา - ความอ่อนหรือนุ่มนวลแห่งจิต ๔๑.กายกัมมัญญตา - ความควรแก่การใช้งานแห่งกายหรือกองแห่งเจตสิก ๔๒.จิตตกัมมัญญตา - ความควรแก่การใช้งานแห่งจิต ๔๓.กายปาคุญญตา - ความคล่องแคล่วแห่งกองเจตสิก ๔๔.จิตตปาคุญญตา - ความคล่องแคล่วแห่งจิต ๔๕.กายุชุกตา - ความซื่อตรงแห่งกองเจตสิก ๔๖.จิตตุชุกตา - ความซื่อตรงแห่งจิต ๔๗.สัมมาวาจา - เจรจาชอบ ๔๘.สัมมากัมมันตะ - กระทำชอบ ๔๙.สัมมาอาชีวะ - เลี้ยงชีพชอบ ๕๐.กรุณา - ความสงสารสัตว์ผู้ถึงทุกข์ ๕๑.มุทิตา - ความยินดีต่อสัตว์ผู้ได้สุข ๕๒.ปัญญินทรีย์หรืออโมหะ - ความรู้เข้าใจ,ไม่หลง. ทั้ง๕๒นี้ ยกเว้นเพียงเวทนาและสัญญาแล้ว ที่เหลือทั้ง๕๐ ล้วนจัดเป็นสังขารขันธ์ชนิดมโนสังขารหรือจิตตสังขารด้วย
ฐิตา:
ช
ชาติ - การเกิด, ชนิด, พวก, เหล่า, ปวงชนแห่งประเทศเดียวกัน, การเกิดของสังขาร(สิ่งปรุงแต่งทั้งปวง) จึงครอบคลุมการเกิดขึ้นของสังขารทั้งปวงไม่ใช่ชีวิตหรือร่างกายแต่อย่างเดียว, ในปฏิจจสมุปบาท ชาติ จึงหมายถึงการเกิดขึ้นของสังขารทุกข์ อันเป็นสังขารอย่างหนึ่ง (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมของ ชาติ )
ชรา - ความแก่ ความทรุดโทรม ความเสื่อม, ความเปลี่ยนแปลง ความแปรปรวน, การแปรปรวนการเปลี่ยนแปลงของสังขาร(สิ่งปรุงแต่ง) จึงครอบคลุมสังขารทั้งปวง, ในปฏิจจสมุปบาท ชรา จึงหมายถึง ความแปรปรวนหรือวนเวียนอยู่ในทุกข์หรือกองทุกข์ กล่าวคือฟุ้งซ่านปรุงแต่งไม่หยุดหย่อนในสังขารนั่นเอง โดยไม่รู้ตัว
มรณะ - ความตาย ความดับไป ความเสื่อมจนถึงที่สุด, การดับไปในสังขาร(สิ่งปรุงแต่ง) จึงครอบคลุมสังขารทั้งปวง, ในปฏิจจสมุปบาท มรณะ จึงหมายถึงการดับไปของสังขารทุกข์ที่เกิดขึ้นมานั้นๆ
ชิวหา - ลิ้น
ชิวหาวิญญาณ - ความรู้ที่เกิดขึ้นเพราะรสกระทบลิ้น, รสกระทบลิ้นเกิดความรู้ขึ้น, การรู้รส
ชิวหาสัมผัส - อาการที่ลิ้น รส และ ชิวหาวิญญาณประจวบกัน
ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา - เวทนาที่เกิดขึ้นเพราะชิวหาสัมผัส, ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเพราะการที่ ลิ้น รส และชิวหาวิญญาณประจวบกัน
ฌ
ฌาน - การเพ่งอารมณ์จนใจแน่วแน่ จนเกิดองค์ฌานต่างๆ, ภาวะจิตสงบประณีต ซึ่งมีสมาธิเป็นองค์ธรรมหลัก อีกทั้งประกอบด้วยองค์ฌานที่สำคัญอีก ๖ ;
ฌาน ๔ คือ ๑. ปฐมฌาน ประกอบด้วยมีองค์ ๕ คือ องค์ฌานทั้ง ๕ มี วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ๒. ทุติยฌาน มีองค์ ๓ (ปีติ สุข เอกัคคตา) ๓. ตติยฌาน มีองค์ ๒ (สุข เอกัคคตา) ๔. จตุตถฌาน มีองค์ ๒ (อุเบกขา เอกัคคตา) ; องค์ฌาน หรือองค์ประกอบสำคัญของฌาน มี ๖
วิตก ความคิด ความดำริ การตรึงจิตไว้กับอารมณ์
วิจาร ความตรอง, การพิจารณาอารมณ์, การปั้นอารมณ์, การฟั้นอารมณ์, การเคล้าอารมณ์ให้เข้าเป็นเนื้อเดียวหรือกลมกลืนไปกับจิตหรือสติ
ปีติ ความซาบซ่าน, ความอิ่มเอิบ, ความดื่มด่ำในใจ อันยังผลให้ทั้งกายและใจ
สุข ความสบาย, ความสำราญ (อาการผ่อนคลายกว่าปีติ)
อุเบกขา ความสงบ ความมีใจเป็นกลาง ความวางเฉยต่อสังขารสิ่งปรุงแต่งต่างๆ
เอกัคคตา ความมีอารมณ์เป็นหนึ่งเดียว คือ ความมีจิตแน่วแน่เป็นเอกหรือเป็นสำคัญ
(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในบท ฌาน,สมาธิ)
ฌาน ๕ - ก็เหมือนอย่าง ฌาน ๔ นั่นเอง แต่ตามแบบอภิธรรม ท่านซอยละเอียดออกไป โดยเพิ่มข้อ ๒ แทรกเข้ามา คือ ๑. ปฐมฌาน มีองค์ ๕ (วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา) ๒. ทุติยฌาน มีองค์ ๔ (วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา) ข้อ ๓. ๔. ๕. ตรงกับข้อ ๒. ๓. ๔. ในฌาน ๔ ตามลำดับ
ญ
ญาณ - ความรู้, ปรีชาหยั่งรู้, ปรีชากําหนดรู้หรือความเข้าใจตามความเป็นจริงของธรรม(ธรรมชาติ) หรือก็คือ ปัญญาที่เข้าใจอย่างถูกต้องแจ่มแจ้งแท้จริง ตามธรรมหรือธรรมชาติ
ญาณ ๓ หมวดหนึ่ง ได้แก่
๑. อตีตังสญาณ ญาณในส่วนอดีต
๒. อนาคตังสญาณ ญาณในส่วนอนาคต
๓. ปัจจุปปันนังสญาณ ญาณในส่วนปัจจุบัน;
อีกหมวดหนึ่ง ได้แก่
๑. สัจจญาณ หยั่งรู้อริยสัจแต่ละอย่าง
๒. กิจจญาณ หยั่งรู้กิจในอริยสัจ
๓. กตญาณ หยั่งรู้กิจอันได้ทำแล้วในอริยสัจ;
ญาณ ๑๖ - ญาณที่เกิดแก่ผู้บำเพ็ญวิปัสสนาโดยลำดับตั้งแต่ต้นจนถึงจุดหมายคือมรรคผลนิพพาน ๑๖ อย่างคือ
๑.นามรูปปริจเฉทญาณ ญาณกำหนดแยกนามรูป ๒.(นามรูป) ปัจจัยปริคคหญาณ ญาณกำหนดจับปัจจัยแห่งนามรูป ๓.สัมมสนญาณ ญาณพิจารณานามรูปโดยไตรลักษณ์ ๔. - ๑๒. (ตรงกับวิปัสสนาญาณ ๙) ๑๓.โคตรภูญาณ ญาณครอบโคตรคือหัวต่อที่ข้ามพ้นภาวะปุถุชนเป็นอริยบุคคลระดับใดระดับหนึ่ง ๑๔.มัคคญาณ ญาณในอริยมรรค ๑๕.ผลญาณ ญาณในอริยผล ๑๖.ปัจจเวกขณญาณ ญาณที่พิจารณาทบทวน; ญาณ ๑๖ นี้เรียกเลียนคำบาลีว่า โสฬสญาณ หรือเรียกกึ่งไทยว่า ญาณโสฬส; ดู วิปัสสนาญาณ ๙
ญาณทัสสนวิสุทธิ - ความหมดจดแห่งญาณทัศนะ ได้แก่ญาณในอริยมรรค ๔
ต
ตทังควิมุตติ - “พ้นได้ด้วยองค์นั้น” หมายความว่า พ้นจากกิเลสด้วยอาศัยธรรมตรงกันข้ามที่เป็นคู่ปรับกัน เช่น เกิดเมตตา จึงหายโกรธ, เกิดสังเวช จึงหายกำหนัด เป็นต้น เป็นการหลุดพ้นชั่วคราว และเป็นโลกิยวิมุตติ
ตทังคปหาน - “การละด้วยองค์นั้น”, การละกิเลสด้วยองค์ธรรมที่จำเพาะกันนั้น คือละกิเลสด้วยองค์ธรรมจำเพาะที่เป็นคู่ปรับกัน แปลง่ายๆ ว่า “การละกิเลสด้วยธรรมที่เป็นคู่ปรับ” เช่น ละโกรธด้วยเมตตา (แปลกันมาว่า “การละกิเลสได้ชั่วคราว”) และเป็นโลกิยวิมุตติ
ตทังคนิพพาน - "นิพพานด้วยองค์นั้น”, นิพพานด้วยองค์ธรรมจำเพาะ เช่น มองเห็นขันธ์ ๕ โดยไตรลักษณ์แล้วหายทุกข์ร้อน ใจสงบสบายมีความสุขอยู่ตลอดชั่วคราวนั้นๆ กล่าวคือ เห็นเข้าใจธรรมใดได้อย่างแจ่มแจ้ง(ธรรมสามัคคคี) ทำให้ใจสงบสบายมีความสุขอยู่ตลอดคราวหนึ่งๆ, นิพพานเฉพาะกรณี เช่นตทังควิมุตติ
ตติยฌาน - ฌานที่ ๓ มีองค์ ๒ ละปีติเสียได้ คงอยู่แต่สุข กับ เอกัคคตา
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
Go to full version