ผู้เขียน หัวข้อ: คุรุวิพากษ์คุรุ: ท่านโพธิธรรม (ปฐมบท)  (อ่าน 1670 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด




คุรุวิพากษ์คุรุ: ท่านโพธิธรรม (ปฐมบท)

ในการปฏิวัติการตื่นรู้ของมวลมนุษยชาติอันยาวนานนั้น ไม่เคยมีพุทธะท่านไหนพิลึกพิลั่นเช่นท่านโพธิธรรมอีกแล้ว หาได้ยากมาก ท่านแปลกประหลาด ไม่เหมือนใคร จอร์จ เกอร์จิยา (George Gurdjieff) อาจละม้ายคล้ายท่านอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ใกล้เคียงมากนักและละม้ายเพียงบางด้านเท่านั้น ไม่ใช่ทุกด้าน

มีพุทธะมากมายบนโลกนี้ ทว่าท่านโพธิธรรมนั้นโดดเด่นดุจยอดเขาเอเวอเรสต์ เพราะทั้งการเป็นอยู่ การใช้ชีวิต และการเผยแสดงถึงสัจจะของท่านนั้น ไม่มีใครเทียบเคียงได้ กระทั่งครูของท่าน คือพระพุทธเจ้า ก็ยังไม่อาจเปรียบกับท่านโพธิธรรม ต่อให้เป็นพระพุทธเจ้าก็ยังพบว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเข้าใจชายผู้นี้

ท่านโพธิธรรมผู้นี้เดินทางจากอินเดียไปยังจีนเพื่อเผยแผ่คำสอนของครูของท่าน แม้ว่าท่านกับครูของท่านจะเกิดห่างกันถึง 1,000 ปี แต่สำหรับท่านโพธิธรรมและคนอย่างท่านแล้ว ไม่มีเวลา ไม่มีช่องว่าง สำหรับท่านโพธิธรรม พระพุทธเจ้านั้นร่วมสมัยเสมอ โดยผิวเผินแล้ว มีช่องว่างหนึ่งพันปีระหว่างพระพุทธเจ้ากับท่านโพธิธรรม ทว่ากลับไม่มีช่องว่างแม้สักเสี้ยวในความจริง ในสัจธรรม โดยภายนอกพระพุทธเจ้าปรินิพพานไป 1,000 ปีแล้ว เมื่อท่านโพธิธรรมปรากฏขึ้น แต่โดยแก่น ท่านอยู่ร่วมกับพระพุทธเจ้า ท่านสั่งสอนแก่นธรรมของพระพุทธเจ้า แน่นอน ท่านมีรูปแบบของตัวท่านเอง แม้แต่พระพุทธเจ้าเองก็น่าจะทรงประหลาดใจ

พระพุทธเจ้าทรงเป็นบุรุษที่เปี่ยมวัฒนธรรม ทรงปรีชาญาณและสง่างาม ท่านโพธิธรรมกลับเป็นตรงกันข้าม ท่านมิใช่มนุษย์หากแต่เป็นสิงห์ ท่านมิได้พูด หากแต่คำรามก้อง ท่านมิได้มีความสูงส่งสง่างามเยี่ยงพระพุทธเจ้า ท่านหยาบกร้าน ดิบเถื่อน ปราศจากการขัดถู นี่คือความงามของท่าน พระพุทธเจ้ามีความงามที่ให้ความรู้สึกเป็นหญิง เจียระไนประณีต บอบบาง แต่ท่านโพธิธรรมมีความงามของท่านเอง เฉกเช่นก้อนหิน แข็งแกร่ง เป็นชาย ไม่อาจทำลายได้ เปี่ยมพลังยิ่งใหญ่

พระพุทธเจ้าก็ทรงแผ่รังสีพลังเช่นกัน ทว่าพลังของท่านเงียบอย่างยิ่ง เหมือนเสียงกระซิบ เหมือนสายลมเย็นชื่น แต่ท่านโพธิธรรมเป็นพายุ กระโชก และแปลบปลาบด้วยสายฟ้า พระพุทธเจ้ามาทรงมาถึงหน้าประตูบ้านของคุณโดยไร้สุ้มเสียง ท่านไม่แม้แต่จะเคาะประตู คุณจะไม่ได้ยินเสียงฝีพระบาทของท่าน แต่เมื่อท่านโพธิธรรมมา ท่านจะเขย่าบ้านของคุณให้โยกคลอนไปจนถึงรากฐาน

พระพุทธเจ้าจะไม่ปลุกคุณหากคุณกำลังนอนหลับอยู่ แต่ท่านโพธิธรรมนั้น ท่านจะปลุกคุณขึ้นแม้จากหลุมศพ! ท่านหมัดหนัก ท่านเป็นประดุจค้อน ในการแสดงออกแล้ว ท่านเป็นด้านตรงกันข้ามกับพระพุทธเจ้า ทว่าสิ่งที่ท่านสอนกลับเป็นหนึ่งเดียวกัน ท่านโค้งคำนับเคารพพระพุทธเจ้าในฐานะครู ท่านไม่เคยกล่าวว่า “นี่คือคำสอนของเรา” ท่านเพียงแต่กล่าวว่า “นี่คือคำสอนของพระพุทธเจ้า ผู้ตื่นรู้ในยุคก่อน ข้าพเจ้าเป็นเพียงผู้ส่งสาส์น ไม่มีอะไรเป็นของข้าพเจ้า เพราะข้าพเจ้าไม่ใช่เจ้าของ ข้าพเจ้าเป็นเพียงไผ่กลวงที่ถูกเลือกโดยพุทธะ เพื่อเป็นขลุ่ยให้ท่านเหล่านั้นเปล่งเสียง เป็นพวกท่านที่ร้องเพลง ข้าพเจ้าเป็นเพียงสื่อกลางให้เสียงเหล่านั้นผ่านเท่านั้น
 ❞
― โอโซ (OSHO), เขียน
โตมร ศุขปรีชา, แปล
___________________
ที่มา: คุรุวิพากษ์คุรุ, บทที่ 1 ท่านโพธิธรรม ผู้นำพุทธศาสนาจากอินเดียสู่จีน
เครดิต: อาจารย์ Raymon Yang (Mark Won)
>>> F/B Sathid Tongrak

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: คุรุวิพากษ์คุรุ: ท่านโพธิธรรม (มัชฌิมบท)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กันยายน 19, 2013, 08:42:25 pm »



คุรุวิพากษ์คุรุ: ท่านโพธิธรรม (มัชฌิมบท)

ท่านโพธิธรรมถือกำเนิดเมื่อ 14 ศตวรรษก่อน ในฐานะของกษัตริย์ผู้หนึ่งในอินเดียทางตอนใต้ มีแคว้นใหญ่ คือแคว้นปัลลวะ (บางแห่งกล่าวว่าเป็นแคว้นคันธาระ) ท่านเป็นโอรสองค์ที่สามของพระบิดา แต่หยั่งรู้แทบทุกสิ่ง ท่านเป็นคนที่เฉลียวฉลาดมาก ท่านประกาศสละอาณาจักรทางโลก ท่านไม่ได้ต่อต้านโลก แต่ท่านไม่พร้อมจะสิ้นเปลืองเวลาไปกับกิจวัตรต่าง ๆ ในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ทั้งหมดที่ท่านสนใจก็คือการได้รู้จักธรรมชาติของตัวตนของท่าน เนื่องจากไม่รูจักมัน เราก็จะได้แต่รามือรอความตาย...

...ท่านโพธิธรรมปฏิเสธอาณาจักรด้วยการกล่าวกับพระบิดาว่า “หากพระองค์ไม่อาจป้องกันข้าไว้จากความตายแล้วไซร้ ก็โปรดอย่าห้ามข้าเลย ปล่อยให้ข้าไปค้นหาสิ่งที่อยู่เหนือความตายเถิด”

ยุคนั้นเป็นยุคที่สวยงาม โดยเฉพาะในโลกตะวันออก พระบิดาทรงครุ่นคิดอยู่พักหนึ่ง แล้วตรัสว่า “ข้าจะไม่ห้ามเจ้า เพราะข้าห้ามความตายของเจ้าไม่ได้ เจ้าจงไปแสวงหาพร้อมคำอวยพรของข้าเถิด แม้เป็นเรื่องเศร้าสำหรับข้า แต่นั่นก็เป็นปัญหาของข้า เป็นความยึดติดของข้าเอง ข้าหวังว่าเจ้าจะเป็นผู้สืบทอด เป็นมหาราชาแห่งแคว้นปัลลวะอันยิ่งใหญ่ แต่เจ้าได้เลือกบางสิ่งที่สูงส่งกว่านั้น ข้าเป็นบิดาของเจ้า แล้วข้าจะห้ามเจ้าไปเพื่ออะไรกันเล่า ทั้งเจ้ายังได้กล่าวถึงปัญหาที่ข้าไม่เคยคาดคิดถึงด้วยวิธีการอันเรียบง่ายด้วย เจ้ากล่าวว่า ‘หากพระองค์ป้องกันข้าจากความตายได้ ข้าก็จะไม่ออกไปจากวัง หากแต่พระองค์ป้องกันข้าจากความตายไม่ได้ ก็จงอย่าทรงหวงห้ามข้าไว้เลย’ ” คุณจะเห็นได้ถึงความชาญฉลาดอันใหญ่หลวงของท่านโพธิธรรม

เรื่องที่สองที่ข้าพเจ้าอยากให้ท่านระลึกถึงก็คือ แม้จะเป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้า แต่บางครั้งท่านโพธิธรรมก็แสดงให้เห็นว่าท่านคิดไกลไปกว่าพระพุทธเจ้าเองด้วยซ้ำ ตัวอย่างเช่น พระพุทธเจ้าทรงหวั่นเกรงที่จะรับผู้หญิงเข้ามาบวช ทว่าท่านโพธิธรรมนั้นบวชโดยมีอุปัชฌาย์เป็นสตรีที่บรรลุธรรมแล้ว ชื่อของท่านคือปรัชญาตารา (บางแห่งกล่าวว่าเป็นผู้ชาย) ผู้คนคงจะลืมชื่อของท่านไปแล้ว แต่เพราะท่านโพธิธรรม นามนี้จึงยังดำรงอยู่ ทว่าก็เพียงนามเท่านั้น เราไม่มีอะไรเกี่ยวกับท่านอีก เป็นท่านผู้นี้เองที่สั่งให้ท่านโพธิธรรมเดินทางไปเมืองจีน พุทธศาสนาไปถึงเมืองจีนกอนหน้าท่านโพธิธรรม 600 ปีแล้ว ถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นที่ไหนเมื่อใดมาก่อน เพราะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น จับใจชาวจีนทั้งหมดได้ แทบจะในทันที

สถานการณ์ในตอนนั้นคือ เมืองจีนตกอยู่ใต้อิทธิพลของขงจื๊อ และกำลังเบื่อหน่าย เนื่องจากขงจื๊อเป็นเพียงนักจริยธรรมที่เคร่งครัด เขาไม่ได้ศึกษาสิ่งอื่นนอกจากความลับภายนอกของชีวิต ที่จริงแล้ว เขาปฏิเสธว่ามีอะไรอยู่ภายในด้วยซ้ำ สรรพสิ่งคือสิ่งภายนอก ต้องชำระ ขัดเกลา กล่อมเกลา ทำให้งดงามที่สุดเท่าที่จะทำได้

แม้ยังมีคนอย่างเล่าจื่อ จวงจื่อ เลียะจื่อ ซึ่งอยู่ร่วมสมัยกับขงจื๊อ แต่ท่านเหล่านั้นเป็นเพียงผู้บรรลุธรรม ไม่ใช่อาจารย์ ท่านไม่อาจสร้างแนวคิดขึ้นแข่งกับขงจื๊อได้ โดยเฉพาะในหัวใจชาวจีน ดังนั้นจึงเกิดสุญญากาศขึ้น ไม่มีใครมีชีวิตอยู่ได้โดยไร้วิญญาณ ทว่าเมื่อคุณเริ่มคิดว่าไม่มีวิญญาณ ชีวิตก็เริ่มสูญเสียความหมายทั้งหมดไป วิญญาณคือมโนทัศน์รวบนอดที่สุดของเรา หากไร้วิญญาณ เราก็ถูกตัดขาดจากการดำรงอยู่และชีวิตนิรันดร์ เหมือนกิ่งก้านของต้นไม้ที่รอวันตาย เพราะได้สูญเสียแหล่งอาหารอันอุดม ตวามคิดว่าไม่มีวิญญาณอยู่ภายในตัวเรา ไม่มีจิตสำนึก ก็ได้ตัดเราออกจากการดำรงอยู่ คนคนหนึ่งจะเริ่มหดลง และรู้สึกอึดอัด

แต่ขงจื๊อเป็นนักใช้เหตุผลชั้นเลิศ ผู้บรรลุเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็น เล่าจื่อ จวงจื่อ เลียะจื่อ รู้ว่าสิ่งที่ขงจื๊อทำนั้นผิด ทว่าพวกเขาไม่ใช่อาจารย์ พวกท่านจึงอยู่เฉพาะในอารามโดนมีสานุศิษย์ไม่กี่คน

― โอโซ (OSHO), เขียน
โตมร ศุขปรีชา, แปล
___________________
ที่มา: คุรุวิพากษ์คุรุ, บทที่ 1 ท่านโพธิธรรม ผู้นำพุทธศาสนาจากอินเดียสู่จีน
เครดิต: อาจารย์ Raymon Yang (Mark Won)


วิดีโอ: ฉากในภาพยนต์ช่วงที่ขงจื๊อได้สนธนากับเล่าจื่อ จากเรื่อง Confucius (2010)
ขงจื้อ

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: คุรุวิพากษ์คุรุ: ท่านโพธิธรรม (ปัจฉิมบท)
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: กันยายน 19, 2013, 09:01:23 pm »



คุรุวิพากษ์คุรุ: ท่านโพธิธรรม (ปัจฉิมบท)

เมื่อพุทธศาสนามาถึงจีน ก็เข้าสู่วิญญาณทุกดวงของผู้คนในทันที...ราวกับพวกเขากระหายกันมานานหลายร้อยปี พุทธศาสนามาถึงราวกับเมฆฝน ดับความกระหายอย่างแรงกล้าจนเกิดบางสิ่งที่ไม่อาจคาดคิดขึ้น...

...การเปลี่ยนศาสนาที่เกิดขึ้นในจีน เป็นการเปลี่ยนศาสนาที่แท้จริงเพียงครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ทั้งมวลของมนุษยชาติ พุทธศาสนาเพียงแต่อธิบายตัวเอง แล้วผู้คนก็เข้าใจความงามของสารส์นได้ พวกเขาหิวกระหาย รอคอยสิ่งนี้ ทั่วทั้งประเทศ ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ได้กลายมาเป็นพุทธ เมื่อท่านโพธิธรรมถึงที่นั่นอีก 600 ปีถัดมา มีวัดวาอารามของพุทธถึง 30,000 แห่ง และมีพระสงฆ์ 2 ล้านรูปในจีน พระสงฆ์ 2 ล้านรูปไม่ใช่จำนวนน้อย ๆ แต่ก็ถือเป็นร้อยละ 5 ของประชากรทั้งหมดในจีน

ปรัชญาตารา อาจารย์ของท่านโพธิธรรม บอกให้ท่านเดินทางไปจีนเนื่องจากผู้ที่ล่วงหน้าไปก่อนได้สร้างผลสั่นสะเทือนยิ่งใหญ่เอาไว้ แม้ว่าไม่มีใครในท่านเหล่านั้นบรรลุธรรมเลยก็ตาม ท่านเหล่านั้นเป็นผู้รู้ที่ยิ่งใหญ่ และบัดนี้ จีนกำลังต้องการพระสมณโคดมอีกองค์หนึ่ง พื้นฐานนั้นวางไว้เรียบร้อยแล้ว

ท่านโพธิธรรมเป็นผู้บรรลุธรรมคนแรกที่ไปถึงเมืองจีน ประเด็นที่ข้าพอยากพูดให้ชัดคือ ขณะที่พระพุทธเจ้าทรงกริ่งเกรงการบวชให้สตรีเข้ามาร่วมในสังฆะ ท่านโพธิธรรมกลับกล้าหาญมากพอที่จะให้สตรีเป็นผู้บวชให้ท่าน เพื่อเข้าสู่หนทางแห่งพุทธะ มีผู้บรรลุธรรมท่านอื่นอีก แต่ท่านกลับเลือกสตรีเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง และจุดประสงค์นั้นก็คือเพื่อแสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงก็บรรลุธรรมได้เช่นกัน นามของท่านโพธิธรรมโดดเด่นที่สุดในบรรดาผู้บรรลุธรรมชาวพุทธทั้งหมด เป็นรองก็เพียงแต่พระพุทธเจ้าเท่านั้น

มีตำนานมากมายกล่าวถึงท่าน ทุกเรื่องล้วนมีความสำคัญตำนานหนึ่งเล่าว่า เมื่อท่านไปถึงจีน ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางสามปี จักพรรดิวู๋แห่งจีนมาต้อนรับท่าน ชื่อเสียงของท่านขจรขจายมาถึงก่อน จักพรรดิวู๋ได้สร้างงานเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าไว้มากมาย มีการใช้ผู้รู้นับพันคนมาแปลพระสูตรจากบาลีไปเป็นจีน และองค์จักรพรรดิทรงอุปถัมภ์การแปลที่ยิ่งใหญ่นี้ทั้งหมด พระองค์ได้สร้างโบสถ์วิหารหลายพันแห่ง และทรงถวายภัตตาหารเจให้แก่พระสงฆ์หลายพันรูป ทรงถวายโภคทรัพย์ทั้งหมดแด่พระพุทธเจ้า จึงเป็นเรื่องปกติ ที่พระสงฆ์ที่มาถึงจีนก่อนหน้าท่านโพธิธรรมจะกล่าวกับพระองค์ว่า ทรงทำบุญมากมาย และจะได้ไปเกิดเป็นเทพเจ้าในสรวงสวรรค์

ดังนั้น คำถามแรกที่พระองค์ตรัสถามท่านโพธิธรรมจึงได้แก่ “ข้าพเจ้าได้สร้างโบสถ์วิหารหลายแห่ง เลี้ยงดูผู้รู้นับพัน ๆ คน ข้าพเจ้าเปิดมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งขึ้นเพื่อให้ศึกษาเรื่องพระพุทธเจ้า แล้วข้าพเจ้าจะได้รับสิ่งใดเป็นการตอบแทน”

พระองค์ทรงประหม่าเล็กน้อยที่ได้พบกับท่านโพธิธรรมเพราะไม่คิดว่าท่านจะมีรูปลักษณ์เช่นนี้ ท่านดูป่าเถื่อน มีดวงตาขนาดใหญ่ ทว่ามีหัวใจที่อ่อนโยนราวกับดอกบัวอยู่ในนั้น ใบหน้าของท่านดูน่ากลัวมากเท่าที่คุณจะคิดออก...

จักรพรรดิวู๋ตรัสถามด้วยความเกรงขาม และท่านโพธิธรรมก็ตอบ
“ไม่มี ไม่มีรางวัล ตรงกันข้าม ท่านจงเตรียมพร้อมจะตกนรกขุมที่เจ็ดเถิด”

จักรพรรดิตรัส “แต่ข้าไม่ได้ทำผิดอะไร ทำไมถึงต้องตกนรก ข้าทำทุกสิ่งตามคำสอนที่บอกให้ทำแล้วนี่”
ท่านโพธิธรรมพูดว่า “หากท่านไม่เริ่มฟังเสียงของตัวท่านเอง ก็ไม่มีใครช่วยท่านได้ ไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์หรือไม่ ท่านยังไม่ได้ยินเสียงภายในของท่าน หากท่านได้ยิน ท่านจะไม่มีวันถามคำถามโง่ ๆ เช่นนี้”

“บนเส้นทางแห่งพุทธะ ไม่มีรางวัลอะไร เพราะความปรารถนาในรางวัลนั่นเองมาจากจิตใจที่ละโมบ คำสอนของพระพุทธเจ้าก็คือให้ละวาง ถ้าหากท่านทำสิ่งที่เรียกว่าการทำบุญเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโบสถ์วิหาร หรือถวายภัตตาหารพระโดยยังมีความต้องการอยู่ในใจ ท่านก็กำลังเตรียมตัวไปนรก หากท่านทำสิ่งเหล่านี้ด้วยความชื่นชมยินดี แบ่งปันความชื่นชมของท่านให้กับจักรวรรดิทั้งหมด โดยไม่มีความปรารถนาในรางวัลใด ๆ แม้เพียงเสี้ยวเดียว การกระทำนั้นก็ได้รางวัลในตัวของมันเองแล้ว หากเป็นอย่างอื่น ก็นับว่าท่านทำผิดพลาด”

― โอโซ (OSHO), เขียน
โตมร ศุขปรีชา, แปล
___________________
ที่มา: คุรุวิพากษ์คุรุ, บทที่ 1 ท่านโพธิธรรม ผู้นำพุทธศาสนาจากอินเดียสู่จีน
เครดิต: อาจารย์ Raymon Yang (Mark Won)
รูปภาพ: Bhagwan Shree Rajneesh (OSHO)
>>> F/B Sathid Tongrak