คลังธรรมปัญญา > หนังสือธรรมะ

ธรรมประทีป ๙ :จิตคือธาตุรู้ โดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์

<< < (2/2)

ฐิตา:

จิตเกี่ยวข้องกับกฎแห่งกรรม
ด้วยเหตุที่ จิตไม่เคยดับตายหายสูญไปไหนนี้เอง พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทรงบัญญัติ กฎแห่งกรรม ลงที่จิต ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง ถ้าหากจิตเกิดดับจริง กฎแห่งกรรมที่ทรงบัญญัติไว้ก็ย่อมผิดหมด หรือถ้าขืนอธิบายว่า กรรมตั้งอยู่กับอะไรก็ได้และสามารถถ่ายทอดกรรมจากจิตดวงหนึ่ง ซึ่งดับไปแล้วไปให้จิตอีกดวงหนึ่ง รับกรรมแทนกันเป็นทอดๆไป ย่อมเป็นสิ่งที่ขาดเหตุผลไม่ควรเชื่อถืออย่างยิ่ง

มีพระบาลีในพระธรรมบท รับรองอยู่ดังนี้คือ “มโน ปุพพํ คมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมยา มนสา เจ ปทุฏฺเฐน ภาสติ วา กโรติ วา ตโตนํ ทุกฺขมนฺเวติ จกฺกํ ว วหโต ปทํ” แปลว่า “ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จได้ด้วยใจ ผู้ที่กล่าววาจาหรือ กระทำการสิ่งใดด้วยใจคิดร้าย กรรมย่อมตามผู้นั้นไป เหมือนดังล้อที่หมุนตามรอยเท้าโคที่ลากเกวียนไป ฉะนั้น”

ทั้งนี้แสดงว่า บรรดาสรรพสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้ ล้วนแล้วแต่มี จิต เป็นประธานสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้น นั่นคือ บรรดาการกระทำที่เกิดขึ้นทุกอย่างนั้น ก็เพราะ จิต เป็นผู้สั่งให้ลงมือกระทำ ทั้งทางกายและวาจาทั้งสิ้น เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ผู้ที่รับผลของกรรมนั้น ก็คือ จิตดวงนั้น นั่นเอง.
※ ธรรมประทีป ๙ ธรรมะภาคปฏิบัติ โดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์ หน้า ๙

จิตเป็นหลัก เป็นประธานของธรรมฝ่ายโลกียะทั้งปวง
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงพิจารณาอย่างสุขุมถ่องแท้เห็นชัดเจนแล้วว่า จิตเป็นสภาพธรรมที่ทรงไว้ซึ่งความรู้ตลอดทุกกาลสมัย และเวียนว่ายอยู่ในสังสารจักรอย่างไม่รู้จักจบสิ้น จึงทรงเชิดเอา จิตเป็นหลัก เป็นประธานของบรรดาธรรมะที่มีอยู่ในโลก

ดังพระบาลีในพระธรรมบทว่าไว้ดังนี้ “จิตฺเตน นิยติโลโก, จิตฺเตน ปริกสฺสติ จิตฺตสฺส เอก ธมฺมสฺส สพฺเพว วสมนฺวคู” แปลว่า “โลกย่อมหมุนไปตามจิต ธรรมทั้งปวงย่อมขึ้นแก่ธรรมอันเดียว คือ จิต เท่านั้น”

ทั้งนี้ย่อมแสดงว่า จิตเป็นหลักเป็นประธานของธรรมทั้งปวง (ธรรมทั้งหลาย) จิตจึงไม่มีการดับตายหายสูญตามโลก (อารมณ์) ไปด้วย

สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน ธรรมทั้งปวง คือ อารมณ์ที่เข้ามากระทบจิต ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีอะไรเป็นแก่นสารมั่นคงเลย.
※ ธรรมประทีป ๙ ธรรมะภาคปฏิบัติ โดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์ หน้า ๑๐

จิตเดิมประภัสสรผ่องใส
จิตเมื่อยังไม่ได้ผสมหรือกระทบกับอารมณ์ ย่อมมีสภาพประภัสสรผ่องใส แต่เมื่อมีอารมณ์มาผสมหรือกระทบเข้า ก็กลายเป็นจิตผสมกับอารมณ์ไป ทำให้ถูกปรุงแต่ง และเกิดความยินดียินร้ายขึ้น จนเสียสภาพประภัสสรผ่องใสที่มีอยู่เดิมไปหมดสิ้น

มีพระบาลีรับรอง ดังนี้ “ปภสฺสรมิทํ ภิกฺขเว จิตฺตํ, ตญฺจโข อาคนฺตุเกหิ อุปกิเลเสหิ อุปกิลิฏฺฐํ” แปลว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตนี้มีสภาพประภัสสรผ่องใส แต่ที่เศร้าหมองไปนั้น เพราะมีอุปกิเลสเป็นแขกจรเข้ามาในภายหลัง”

ทั้งนี้หมายความว่า เมื่อยังไม่มีอารมณ์เป็นแขกจรเข้ามานั้น จิตมีสภาพประภัสสร ผ่องใส สงบ ไม่วุ่นวายเลย แต่ถ้ามีแขกจรเข้ามาแล้ว ก็ปรุงแต่งครอบงำให้จิตหวั่นไหว เศร้าหมองเสียคุณภาพที่มีอยู่เดิมไป

อาการปรุงแต่งหวั่นไหวนี้ แสดงออกมาในรูปของความยินดีบ้าง ยินร้ายบ้าง สลับกันไปมา ตลอดเวลาที่มีอารมณ์จรเข้ามากระทบ (คือ อาการของจิตเกิดขึ้นที่จิต และดับไปจากจิต) แล้วก็กลับคืนสู่สภาพประภัสสรผ่องใสอีกชั่วระยะเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะมีอารมณ์ชนิดอื่นจรเข้ามา ปรุงแต่งในลำดับต่อไปอีกเสมอ

สภาพที่จิตแสดงออกหลังจากกระทบอารมณ์แล้วนี้ เมื่อดำเนินไปบ่อยๆครั้ง และเป็นระยะเวลานาน สั่งสมกันมากๆเข้า ก็ย่อมกลายเป็น นิสัย-อุปนิสัย จนเกิดความเคยชิน ทำให้เกิดเป็น อนุสัย นอนเนื่องติดอยู่ที่จิต ตามชนิดของอารมณ์ที่เข้ามากระทบ

ทำให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นต่ออารมณ์นั้นๆ มากขึ้นโดยลำดับ เพราะเข้าใจผิดว่า อารมณ์เป็นสิ่งเที่ยงแท้ถาวร จึงปรารถนาจะครอบครองไว้ถ้าถูกใจ หรือผลักไสออกไปเสียให้พ้นถ้าไม่ถูกใจ ทั้งนี้เนื่องจากความโง่เขลาเพราะไม่รู้จักสภาพประภัสสรผ่องใสของตนที่มีอยู่เดิม.
※ ธรรมประทีป ๙ ธรรมะภาคปฏิบัติ โดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์ หน้า ๑๑-๑๒

ฐิตา:

จิตประภัสสร กับ จิตบริสุทธิ์
คำว่า สภาพประภัสสรผ่องใส นี้ ได้เป็นจุดที่นักศึกษาธรรมะนำมาสนทนาถกเถียงโต้แย้งกันมากว่า ถ้าสภาพเดิมของจิตบริสุทธิ์จริงแล้ว ก็ต้องเป็นจิตพระอรหันต์ จึงย่อมไม่มาเกิดอีกต่อไป

ความจริงแล้ว สภาพประภัสสร หมายถึง ความผ่องใสเลื่อมพราย ที่มีอยู่เป็นพื้นฐานของจิต ที่เรียกว่า ภวังคจิต นั่นเอง สภาพประภัสสรนี้จะปรากฏที่จิต หลังจากที่รับรู้อารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเสร็จแล้ว กับก่อนที่จะเปลี่ยนไปรับรู้อารมณ์อีกอย่างหนึ่งต่อไป ดังนั้น จึงเป็นเวลาที่สั้นมาก ถ้าจิตไม่มีสมาธิจริงๆแล้ว จะไม่เห็นจิตประภัสสรของตนเอง

ส่วนคำว่า จิตบริสุทธิ์ หมายถึง ความผ่องใสของจิต ชั้นพุทโธ ธัมโม สังโฆ เพราะได้รับการศึกษาอบรมและปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ มาสมบูรณ์ดีแล้ว จนรู้จักอารมณ์ทั้งหลายดีว่าเป็นทุกข์ ไม่มีแก่นสาร จึงสิ้นเยื่อใยที่จะยึดถือไว้อีกต่อไป

จิตประภัสสร กับ จิตบริสุทธิ์ มีสภาพธรรมเหมือนกัน แต่แตกต่างกันโดยภาวะ คือ
จิตประภัสสรไม่มีสติควบคุมอยู่ ดังนั้น จึงถูกอารมณ์เข้ามาครอบงำปรุงแต่งตลอดเวลา

แต่ จิตบริสุทธิ์ นั้น มีสติตื่นควบคุมอยู่อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย จนสามารถดำรงตนอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยอารมณ์ได้ โดยไม่เสียคุณภาพอันบริสุทธิ์ผ่องใสดังสามัญชนอีกต่อไป ดุจใบบัวที่อยู่รวมกับน้ำได้ โดยตนเองไม่เปียกน้ำ ฉะนั้น.
※ ธรรมประทีป ๗ ธรรมะภาคปฏิบัติ โดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์ หน้า ๘๕-๘๖

จิตกลับกลอก ไม่ใช่หมายว่าจิตเกิดดับ
มีพระบาลีใน จิตฺตวคฺค แห่งพระธรรมบท แสดงไว้ดังนี้ “ผนฺทนํ จปลํ จิตฺตํ ทุรกฺขํ ทุนฺนิวารยํ อุชุง กโรติ เมธาวี อุสุกาโร ว เตชนํ” แปลว่า “ผู้มีปัญญา ย่อมทำจิตที่ดิ้นรนกลับกลอก รักษายาก ห้ามยาก ให้ตรงได้ เหมือนช่างศรดัดลูกศรให้ตรงได้ ฉะนั้น”

ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงทรงสั่งสอนให้ใช้ ฌาน (ความเพ่ง) แก้ความกลับกลอกของจิต ตามมรรค ๘
ทั้งนี้แสดงว่า จิตเป็นสภาพธรรมที่ดิ้นรน กลับกลอก ว่องไว ปราดเปรียว ในขณะที่กำลังท่องเที่ยวอยู่ในโลกนี้ แต่สามารถฝึกฝนอบรมให้สงบได้โดยใช้สติเพ่งอยู่อย่างต่อเนื่อง.
※ ธรรมประทีป ๙ ธรรมะภาคปฏิบัติ โดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์ หน้า ๑๒

จิตกับอารมณ์
จิตคือธาตุรู้ ทรงไว้ซึ่งความรู้ตลอดทุกกาลสมัย ส่วน อารมณ์ ประกอบด้วยธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ผสมกัน หรืออาศัยธาตุทั้ง ๔ เป็นแดนเกิด เช่น รูป เสียง กลิ่น รส กายสัมผัส เป็นต้น

       อารมณ์ เป็นสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ ไม่สามารถรู้อะไรได้เลย แต่ จิต รับรู้ เมื่อกระทบกับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เกิดจักขุวิญญาณ,โสตวิญญาณ,ฆานวิญญาณ,ชิวหาวิญญาณ, กายวิญญาณ และมโนวิญญาณขึ้น
       เมื่อจิตกับอารมณ์กระทบกัน ก็ย่อมส่งผลให้จิตเกิดความฟุ้งซ่าน หวั่นไหว เกิดความนึกคิด ความยินดี-ยินร้าย และทำให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นตามมาด้วย

      ถ้าอุปมา จิต เหมือน น้ำ ในมหาสมุทรแล้ว อารมณ์ ก็ย่อมต้องอุปมาเหมือน ลม พายุที่พัดมากระทบผิวน้ำในมหาสมุทร ซึ่งทำให้เกิดเป็นลูกคลื่นน้อยใหญ่กลิ้งตัวตามกำลังลมพายุที่พัดนั้นด้วย
      ลูกคลื่นลูกหนึ่งเกิดขึ้น แล้วก็ทยอยตัวดับตามๆกันไป ทั่วท้องมหาสมุทรตลอดเวลาที่ลมพายุพัดอยู่ ถ้าลมพายุหยุดพัดเสียเมื่อไหร่ ลูกคลื่นทั้งหลายที่กล่าวมาข้างต้น ก็ย่อมลดขนาดเล็กลงๆ ตามลำดับเมื่อนั้นด้วย จนกระทั่งเหลือแต่ผิวน้ำที่เป็นเส้นระดับราบเรียบในที่สุด

   ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่า สภาพเดิมที่แท้จริงของ น้ำ ในท้องมหาสมุทรนั้น สงบ ราบเรียบ ไม่ปั่นป่วนวุ่นวาย แต่ที่เกิดมีคลื่นน้อยใหญ่วุ่นวายนั้น เป็นสภาพที่เกิดขึ้นภายหลัง เพราะมีลมพายุพัดมากระทบผิวน้ำ
   ซึ่งเป็นเช่นเดียวกับ จิต ที่มีสภาพเดิมอันสงบราบเรียบ แต่ที่ได้วุ่นวาย กระสับกระส่ายไปมาในภายหลังเพราะมีอารมณ์เข้ามากระทบ ฉะนั้น

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เราสามารถสรุปกล่าวให้เป็นสัจธรรมได้ว่า
มีน้ำ โดยไม่มีลูกคลื่น เลย  —> ย่อมได้
แต่จะมีลูกคลื่น โดยไม่มีน้ำ นั้น —> ย่อมไม่ได้
หรือมีจิต โดยไม่มีอาการหวั่นไหวจากอารมณ์เลย —> ก็ย่อมได้
แต่จะมีอาการหวั่นไหวจากอารมณ์ โดยไม่มีจิต นั้น —> ย่อมไม่ได้ เป็นธรรมดา

ดังนั้น น้ำ กับ ลูกคลื่น จึงแยกออกจากกันได้ และ จิต กับ อารมณ์ จึงแยกออกจากกันได้ จิตไม่ต้องพึ่งพาอาศัยอารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้นโดยปรมัตถ์ เช่น วิมุตติจิต (จิตหลุดพ้น).
※ ธรรมประทีป ๙ ธรรมะภาคปฏิบัติ โดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์ หน้า ๑๓-๑๔
.

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version