ผู้เขียน หัวข้อ: ราชรถสู่พระนิพพาน (Sayadaw U Pandita)  (อ่าน 7579 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: องค์แปดแห่งอริยมรรค (Sayadaw U Pandita)
« ตอบกลับ #20 เมื่อ: เมษายน 26, 2012, 03:47:33 pm »


 

   มรรคมีองค์แปดเป็นหนทางเดียวเท่านั้นที่จะนำไปสู่พระนิพพาน ความเข้าใจนี้มีความลุ่มลึกมาก และจะเกิดขึ้นได้ด้วยการปฏิบัติเท่านั้น เมื่อมีความเข้าใจดังนี้ พระโสดาบันหรือผู้ถึงกระแสพระนิพพานย่อมละทิ้งความยึดมั่นหรือความเชื่อในอานุภาพของวิธีปฏิบัติอื่น ๆ ซึ่งมิได้ประกอบด้วยองค์แปดแห่งอริยมรรค

   อรรถกถาได้กล่าวไว้ด้วยว่า ยังมีกิเลสอีกสองชนิดที่ถูกประหารไปด้วย ได้แก่ อิสฺสา หรือ ความริษยา ไม่ต้องการเห็นผู้อื่นเป็นสุข หรือประสบความสำเร็จ และ มจฺฉริย หรือความตระหนี่ ซึ่งเป็นความไม่พึงพอใจที่เห็นคนอื่น ๆ เป็นสุขเสมอตน โดยส่วนตัวแล้ว อาตมาไม่เห็นด้วยกับอรรถกถาเหล่านี้ สภาวจิตดังกล่าวทั้งสองนี้ จัดอยู่ในหมวดของโทสะ คือความโกรธ หรือความรังเกียจผลักไส มีคำกล่าวขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระสูตรว่า พระโสดาบันประหารกิเลสที่มิได้เกี่ยวข้องกับโทสะเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการเป็นพระโสดาบันได้ปิดประตูสู่อบายภูมิแล้ว ความอิจฉาและความตระหนี่ย่อมไม่มีกำลังมากพอที่จะทำให้พระโสดาบันไปเกิดใหม่ในอบายภูมิได้

   มีอรรถาธิบายที่น่าสนใจในวิสุทธิมรรค ซึ่งมิได้เป็นส่วนหนึ่งของพระไตรปิฎก แต่ก็เป็นที่เคารพอย่างสูงกล่าวไว้โดยอ้างอิงความในพระไตรปิฎกว่า พระโสดาบันอาจถูกครอบงำโดยความโลภ ความโลภ และความหลง และยังอาจประกอบด้วยทิฏฐิและมานะได้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอริยมรรคญาณได้ประหารกิเลสซึ่งนำพาไปสู่อบายภูมิแล้ว เราอาจพอสรุปได้ว่า พระโสดาบันเป็นผู้ปราศจากกิเลสที่รุนแรงเพียงพอที่จะทำให้ไปเกิดในภพภูมิที่ตกต่ำดังกล่าว


   นอกจากนี้ วิสุทธิมรรคยังได้ชี้ว่า พระโสดาบันสามารถทำมหาสมุทรอันกว้างใหญ่แห่งสังสารวัฏให้เหือดแห้งลงได้ ตราบใดที่บุคคลยังไม่บรรลุธรรมในขั้นแรก ก็ยังจะต้องท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏอันไม่มีจุดเริ่มต้นอย่างไม่รู้จบ ขอบเขตแห่งสังสารวัฏนั้นกว้างใหญ่นัก เราต้องเวียนว่ายตายเกิดครั้งแล้วครั้งเล่า แต่พระโสดาบันจะเกิดอีกไม่เกินเจ็ดชาติเท่านั้นก็จะบรรลุอรหัตตผล เราจึงพอจะกล่าวได้ว่า มหาสมุทรแห่งสังสารวัฏได้เหือดแห้งลงแล้ว

   อกุศลกรรมจะเกิดขึ้นได้ด้วยอำนาจของอวิชชาและตัณหาเท่านั้น เมื่ออวิชชาและตัณหาเหือดแห้งไปในระดับหนึ่ง โอกาสที่จะเกิดอกุศลวิบากหมายถึงการไปเกิดในอบายภูมิก็ย่อมลดลงไปด้วย เมื่อถูกจู่โจมอย่างไร้ความปรานีจากกิเลสอันได้แก่ มิจฉาทิฏฐิเกี่ยวกับอัตตาตัวตน หรือความลังเลสงสัยเกี่ยวกับมรรคมีองค์แปดและกฎแห่งกรรม เราไม่อาจทราบได้เลยว่าบุคคลจะประกอบกรรมชั่วได้มากสักเพียงใด สิ่งเลวร้ายที่เขาจะกระทำย่อมนำเขาไปสู่อบายอย่างไม่ต้องสงสัย เมื่อปราศจากกิเลสเหล่านี้ พระโสดาบันจะไม่ก่อกรรมชั่วซึ่งจะนำไปสู่อบายภูมิอีกต่อไป ยิ่งไปกว่านั้น กรรมเก่าในอดีตของพระโสดาบันบุคคลซึ่งอาจนำไปสู่อบาย ก็จะเป็นอโหสิกรรมทันทีที่บรรลุอริยมรรคญาณ พระโสดาบันจึงไม่ต้องหวาดกลัวความทุกข์อันรุนแรงเช่นนี้อีกเลย



-http://agaligohome.fix.gs/index.php?topic=757.30
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 10, 2012, 01:03:09 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: พุทธบุตรที่แท้จริง (Sayadaw U Pandita)
« ตอบกลับ #21 เมื่อ: พฤษภาคม 07, 2012, 01:06:01 pm »


  อริยทรัพย์
   คุณประโยชน์อีกประการหนึ่งของการเข้าสู่กระแสพระนิพพาน คือ การได้อริยสมบัติเจ็ดประการ อริยบุคคลคือ ผู้ที่หมดจดจากความชั่ว เป็นบุคคลผู้ประเสริฐ เป็นผู้บรรลุธรรมขั้นใดขั้นหนึ่งในการบรรลุธรรมสี่ระดับ อริยทรัพย์ดังกล่าวได้แก่ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ พาหุสัจจะ จาคะ และปัญญา

   อริยสมบัติประการแรก คือ ศรัทธา ได้แก่ความเชื่อมั่นที่ยั่งยืนและไม่หวั่นไหวในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นความเชื่อมั่นที่ไม่หวั่นไหว เพราะเกิดจากประสบการณ์และการประจักษ์แจ้งของตนเองโดยตรง อริยบุคคลไม่อาจถูกลวงล่อ หรือถูกติดสินบนให้ละทิ้งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ได้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการอันละมุนละม่อม การใช้เล่ห์เพทุบาย หรือการข่มขู่ใด ๆ อริยบุคคลจะไม่มีวันยินยอมเพิกถอนความเชื่อมั่นนี้ได้เลย

   อริยสมบัติประการที่สอง คือ ศีล ได้แก่ ความบริสุทธิ์ของความประพฤติ ในที่นี้หมายถึง ศีลห้า กล่าวกันว่า พระโสดาบันจะไม่สามารถจงใจทำให้ศีลขาด และไม่สามารถคิดหรือกระทำอกุศลกรรมที่จะนำไปเกิดในอบายภูมิได้ พระโสดาบันจะรอดพ้นจากกายทุจริตทั้งสาม จะเป็นผู้เว้นจากการประกอบวจีทุจริต หรือการเลี้ยงชีวิตมิชอบ อีกทั้งยังไม่มีความเพียรในการปฏิบัติธรรมในวิถีทางที่ผิดอีกด้วย

   อริยสมบัติประการที่สามและสี่ คือ หิริและโอตตัปปะ เราได้กล่าวถึงไปแล้ว ผู้ถึงกระแสพระนิพพานจะประกอบด้วยคุณธรรมทั้งสองอย่างแรงกล้า และจะไม่สามารถกระทำชั่วได้

   อริยสมบัติประการที่ห้า คือ พาหุสัจจะ (ความเป็นผู้ได้เรียนรู้มาก) หมายถึง ความรู้หลักการเจริญกรรมฐาน และความเข้าใจที่เกิดจากการปฏิบัติ พระโสดาบันนับว่าเป็นผู้รู้แจ้งวิธีดำเนินบนอริยมรรคมีองค์แปดสู่พระนิพพานอย่างแท้จริง

   อริยสมบัติประการที่หก คือ จาคะ มักจะแปลกันว่า การบริจาคทาน แท้จริงแล้วหมายถึง การละ พระโสดาบันได้ละกิเลสทั้งหลายที่จะนำไปสู่อบายภูมิ นอกจากนี้ พระโสดาบันยังให้ทานโดยไม่ตระหนี่ ทานของท่านนั้นเป็นความโอบอ้อมอารีอย่างแท้จริงและต่อเนื่องอยู่เสมอ

   อริยสมบัติประการสุดท้าย คือ ปัญญา หมายถึงวิปัสสนาญาณและปัญญา การเจริญกรรมฐานของพระโสดาบันจะปราศจากการกำหนดสติ และการเจริญสมาธิที่ผิด ๆ พระโสดาบันจะเป็นอิสระจากกิเลสที่รุนแรง ซึ่งอาจจะพลุ่งพล่านออกมาทางกาย วาจา หรือใจ และปราศจากความกลัวการเกิดในอบายภูมิ

      สันติสุขส่วนบุคคลนั้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างสูงสุด สันติสุขนี้จะเกิดได้เนื่องจากเป็นอิสระจากความกลัว หากบุคคลจำนวนมากสามารถมีสันติสุขเช่นนั้น หากคนทั้งหลายสามารถมีสันติสุขภายในใจจริง ๆ เราคงพอจินตนาการได้ว่า จะมีผลดีต่อสันติสุขภายในจิตใจเท่านั้น

  พุทธบุตรที่แท้จริง
   ประโยชน์อีกประการหนึ่งของการเข้าถึงกระแสพระนิพพาน คือ ผู้ปฏิบัติจะกลายเป็นพุทธบุตรที่แท้จริง คนจำนวนมากอาจมีความศรัทธาทุ่มเทอย่างยิ่ง และสักการบูชาพระรัตนตรัยเป็นประจำทุกวัน แต่เมื่อสถานการณ์ต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไป ย่อมเป็นไปได้เสมอที่บุคคลอาจละทิ้งศรัทธา ในชาตินี้เราอาจเป็นบุคคลที่น่าเคารพบูชา และมีจิตใจสูงส่ง แต่ในชาติใหม่เราอาจกลายเป็นคนเลวทราม ไม่มีสิ่งใดจะรับประกันได้เลย จนกว่าเราจะได้บรรลุธรรมขั้นแรก และได้เป็นพุทธบุตรอย่างแท้จริง

   คำภาษาบาลีที่ใช้ในวิสุทธิมรรค คือ โอรสปุตฺต ซึ่งหมายถึง ลูกผู้เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขที่แท้จริง คำว่า ปุตฺต มักจะแปลว่า ลูกชาย แต่ความจริงเป็นคำที่มีความหมายทั่วไปถึงผู้เป็นลูก ซึ่งหมายถึงลูกหญิงด้วย

   วิสุทธิมรรค ยังได้กล่าวด้วยว่า การเข้าถึงกระแสพระนิพพานนั้นมีคุณประโยชน์อีกนานัปการ อันที่จริงนับไม่ถ้วน พระโสดาบันนั้นจะมีความเชื่อมั่นศรัทธาในพระธรรมอย่างไม่มีข้อแม้ มีความสนใจธรรมะอันลึกซึ้งที่ผู้อื่นเข้าใจได้ยาก เมื่อพระโสดาบันได้ฟังพระธรรมเทศนาที่แสดงไว้ดี ก็จะเปี่ยมด้วยปีติสุข

   และเนื่องจากได้เข้าถึงกระแสพระนิพพานแล้ว หัวใจของพระโสดาบันแนบแน่นจึงอยู่กับพระธรรม ในการปฏิบัติหน้าที่การงานในทางโลก พระโสดาบันจะเป็นเหมือนดังแม่วัวที่กินหญ้า (ปฏิบัติหน้าที่ทางโลก) พลางเฝ้าดูลูกวัว (เฝ้าดูจิต) ไปด้วย แม้ว่าจิตใจของพระโสดาบันนั้นจะน้อมไปสู่ธรรมะอยู่โดยปกติ พระโสดาบันก็จะไม่ปฏิเสธความรับผิดชอบทางโลก นอกจากนี้ พระโสดาบันยังสามารถรวมจิตเป็นสมาธิได้ง่ายมาก หากมีความเพียรในการเจริญภาวนาอย่างเหมาะสม เพื่อเดินทางต่อไปตามอริยมรรค

   พาหนะที่ไม่มีวันพังทลายสำหรับทุกคน

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 01, 2016, 10:38:30 am โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ความสำเร็จในการเจริญภาวนา (Sayadaw U Pandita)
« ตอบกลับ #22 เมื่อ: พฤษภาคม 07, 2012, 03:14:27 pm »

   พระพุทธองค์ทรงสรุปไว้อย่างชัดแจ้งว่า ความสำเร็จในการเจริญภาวนานั้น มิได้แบ่งแยกด้วยเพศแต่ประการใด ไม่ว่าหญิงหรือชาย สามารถมั่นใจได้ว่าราชรถนี้สามารถนำไปสู่พระนิพพานได้อย่างแน่นอน ราชรถนี้เคยมีอยู่ในอดีต และยังมีอยู่ในปัจจุบันสำหรับทุก ๆ คน

   ในยุคสมัยใหม่ เรามีพาหนะมากมายหลายประเภทที่ใช้ในการเดินทาง มีสิ่งประดิษฐ์ที่ใช้ในการเดินทาง มีสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นในวงการเดินทางขนส่งอยู่เสมอ มนุษย์สามารถเดินทางบนบก ทางทะเล หรือในอากาศ คนธรรมดา ๆ สามารถเดินทางรอบโลกได้โดยไม่ยากนัก มนุษย์ได้เดินทางขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์มาแล้ว ยานอวกาศมากมายเดินทางไปสู่ดวงดาวอื่น และไกลออกไปกว่านั้นอีก

   แต่ไม่ว่ายานอวกาศเหล่านี้จะไปได้ไกลสักเพียงไร ก็คงไม่อาจช่วยให้เราไปถึงพระนิพพานได้ หากมียานพาหนะใดที่ไปถึงพระนิพพานได้ อาตมาก็อยากจะมีไว้สักลำ อย่างไรก็ตาม อาตมายังไม่เคยได้ยินโฆษณา หรือว่ามีใครรับประกันว่ามียานวิเศษที่จะนำบุคคลไปสู่ความสันติอันสมบูรณ์ของพระนิพพานได้

   ไม่ว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะมีความก้าวหน้าสักเพียงไร ก็ยังไม่อาจรับประกันได้ว่า ยานพาหนะที่ประณีตเลิศล้ำที่สุดจะปราศจากอุบัติเหตุโดยสิ้นเชิง อุบัติเหตุที่ทำให้ถึงแก่ชีวิตเกิดขึ้นทั้งบนบก ในทะเล ในอากาศ และในอวกาศ คนจำนวนมากเสียชีวิตด้วยเหตุนี้ อาตมามิได้หมายความว่า การเกิดอุบัติเหตุทำให้ยานพาหนะต่าง ๆ ไร้ประโยชน์ แต่หมายเพียงว่า เราไม่อาจรับประกันความปลอดภัยของยานพาหนะเหล่านี้ได้ ยานพาหนะประเภทเดียวกันที่มีประกันภัยร้อยเปอร์เซ็นต์มีเพียงอริยมรรคมีองค์แปดเท่านั้น


   รถยนต์สมัยใหม่มีมาตรฐานสมรรถนะ และความปลอดภัยสูงมาก หากท่านร่ำรวย ท่านสามารถซื้อรถยนต์ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวก รวดเร็ว และหรูหราที่สุด ซึ่งจะพาท่านเดินทางไปในที่ต่าง ๆ เมื่อใดก็ได้ หากท่านไม่ร่ำรวย ท่านอาจขอกู้ยืมเงินเพื่อมาซื้อรถ หรือเช่ารถเก๋ง หรือรถสปอร์ตสักคันไว้เป็นเวลาสั้น ๆ หรือไม่ก็นั่งรถโดยสารสาธารณะ แม้กระทั่งหากท่านยากจน ท่านก็อาจยืนข้างถนน และโบกรถเพื่อขอร่วมทางโดยสารไปกับรถคันอื่น

   อย่างไรก็ตาม ไม่เป็นที่รับรองว่าการเดินทางนั้นจะราบรื่น แม้ว่ารถนั้นจะเป็นรถของเราเอง เราต้องนำรถไปเติมน้ำมัน ดูแลบำรุงรักษา ซ่อมแซมเวลาที่รถเสียหาย มีภาระต่าง ๆ มากมาย และยานพาหนะทุกชนิดก็ต้องถูกลากไปทิ้งที่กองขยะรถเก่าไม่วันใดก็วันหนึ่ง ยิ่งเราใช้งานมากเพียงใด รถของเราก็ใกล้วันถูกทิ้งเข้าไปมากเพียงนั้น


  ดังนั้น จึงเป็นการดีกว่า ถ้าเราจะสร้างยานพาหนะไปสู่พระนิพพานด้วยวิธีการที่ล้ำเลิศและมีมาตรฐานที่สูงส่งเช่นกัน เพราะยานพาหนะนี้จะไม่มีวันเสื่อมสลาย จะเป็นการดีสักเพียงไร หากคนทั่วไปสามารถครอบครองยานพาหนะนี้ได้โดยง่าย หากใครก็ได้สามารถเป็นเจ้าของยานพาหนะสู่พระนิพพาน ลองคิดดูว่า โลกจะมีสันติสุขสักเพียงใด ยานพาหนะนี้นำไปสู่สิ่งที่ประมาณค่ามิได้ พระนิพพานไม่สามารถซื้อหาหรือเช่ามาได้ ไม่ว่าท่านจะร่ำรวยสักเพียงใดก็ตาม ท่านต้องออกแรงทำความเพียรเพื่อให้ได้มา พระนิพพานนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อท่านก็ต่อเมื่อท่านได้เป็นเจ้าของพระนิพพานเองเท่านั้น

   ในโลกนี้ ยานพาหนะส่วนใหญ่ล้วนสร้างไว้เสร็จเรียบร้อยมาจากโรงงาน แต่ยานพาหนะสู่พระนิพพานนั้นต้องสร้างด้วยตนเอง เป็นอุปกรณ์ที่ต้องต่อเติมเอง เบื้องต้นผู้ปฏิบัติต้องมีศรัทธา พระนิพพานนั้นเป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติบรรลุได้ และต้องมีศรัทธาต่อหนทางที่จะนำไปสู่พระนิพพาน นอกจากนี้ ผู้ปฏิบัติต้องมีแรงบันดาลใจอันได้แก่ความปรารถนาอย่างจริงใจ และมุ่งมั่นที่จะเดินทางไปสู่จุดหมาย แต่แรงบันดาลใจเพียงอย่างเดียวจะพาผู้ปฏิบัติไปไม่ได้ไกล นอกเสียจากผู้ปฏิบัติจะลงมือปฏิบัติจริง ๆ ผู้ปฏิบัติต้องลงทุนลงแรง ใช้ความพยายามพากเพียรเจริญสติอย่างไม่ย่อมท้อ ยืนหยัดภาวนาทุก ๆ ขณะเพื่อให้สมาธิเกิดขึ้น และปัญญาเจริญงอกงามและแก่กล้าโดยสมบูรณ์

   หากอริยมรรคสามารถประกอบได้สำเร็จรูปเหมือนรถยนต์ที่มาจากสายการผลิตที่โรงงาน ก็คงจะดีไม่น้อย ทว่ามันมิได้เป็นเช่นนั้น ผู้ปฏิบัติที่น่าสงสารอย่างเรา ๆ จึงต้องลงมือสร้างยานนี้เอง เราต้องติดเครื่องมืออาวุธให้ตัวเราเองด้วยศรัทธาและความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะไปให้ถึงเป้าหมาย เราต้องตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติในทุกสถานการณ์ ฝ่าฟันความยากลำบาก ความเหนื่อยล้า ความเบื่อหน่าย และความตึงเครียดจากการดิ้นรนที่จะประกอบยานของเราขึ้นมาเอง เมื่อประกอบเสร็จแล้ว เราต้องทุ่มเทความเพียรเพื่อให้ล้อของยานนี้หมุนไป พยายามดำรงเกราะกำบังแห่งสติไว้ให้มั่นคง ตั้งมั่นอยู่ในหิริและโอตตัปปะ อันเป็นเสมือนพนักพิงที่จะให้เราอิงอาศัยได้ ฝึกสัมมาทิฏฐิอันเป็นสารถีของเราให้ขับเคลื่อนไปตามทางที่ถูกต้อง ในที่สุด หลังจากที่ผ่านญาณลำดับต่าง ๆ ครบถ้วนแล้ว เราก็จะได้ครอบครองราชรถแห่งโสดาปัตติมรรค เมื่อราชรถดังกล่าวเป็นของเราแล้ว เราจะสามารถดำเนินสู่พระนิพพานได้อย่างสะดวกและง่ายดายเป็นอย่างยิ่ง


   เมื่อราชรถแห่งการเข้าสู่กระแสพระนิพพานได้บรรลุเป้าหมายแล้ว ก็จะไม่มีวันเสื่อมค่าหรือมีสมรรถภาพลดลง ซึ่งแตกต่างจากยานพาหนะอื่น ๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้ เราไม่ต้องหยอดน้ำมันเครื่อง ซ่อมแซม หรือเปลี่ยนแปลงชิ้นส่วน ยิ่งใช้ก็ยิ่งแข็งแรงและมีความประณีตยอดเยี่ยมมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นยานพาหนะที่ปลอดอุบัติเหตุอย่างสิ้นเชิง เมื่อเราเดินทางบนยานพาหนะนี้ รับประกันได้ว่าจะมีความปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 01, 2016, 10:30:31 am โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ปิดประตูอบาย (Sayadaw U Pandita)
« ตอบกลับ #23 เมื่อ: พฤษภาคม 07, 2012, 05:03:49 pm »



   ตราบเท่าที่เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้ เราจะยังต้องเผชิญกับความขึ้นลง และความผันผวนของชีวิตนานัปการ บางครั้งอะไร ๆ ก็ดำเนินไปอย่างราบรื่นด้วยดี แต่บางครั้งกลับต้องประสบกับความผิดหวัง ความท้อถอย ความทุกข์และโทมนัสต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้ครอบครองยานพาหนะสู่พระนิพพานแล้ว จะสามารถขับเคลื่อนผ่านเวลาแห่งความทุกข์ยากไปได้อย่างราบรื่น และไม่เสียสมดุลจนเกินไปในยามที่มีความสุข ประตูสู่อบายได้ปิดตายลงแล้ว และบุคคลผู้นั้นสามารถดำเนินไปสู่พระนิพพานอันเป็นที่ที่ปลอดจากทุกข์ภัยทั้งปวงได้ตลอดเวลา

   เป็นไปไม่ได้ที่จะกล่าวสรรเสริญความเลิศล้ำของราชรถสู่พระนิพพานได้ทั้งหมด แต่ขอให้แน่ใจได้ว่า หากผู้ปฏิบัติสามารถสร้างและครอบครองยานนี้ได้โดยบริบูรณ์ จะได้พบกับความเต็มเปี่ยมที่แท้จริงของชีวิต

   ไม่พึงคิดยอมพ่ายแพ้เป็นอันขาด
ขอเพียงทุ่มเทกำลังและความเพียรทั้งหมดที่มี พยายามประกอบ และมียานพาหนะนี้ไว้ในครอบครองให้จงได้

   ปิดประตูอบาย   
   เมื่อประมาณกว่า ๒๕๒๕ ปีมาแล้ว พระพุทธองค์ได้ประกาศให้โลกได้รู้จักราชรถสู่พระนิพพาน อันเป็นราชรถแห่งพระธรรมเป็นครั้งแรก ในคราวที่ทรงแสดงปฐมเทศนา “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” หลังจากที่ได้ตรัสรู้

   ก่อนที่พระพุทธองค์จะเสด็จมาอุบัติขึ้นในโลก สัตว์โลกทั้งหลายตกอยู่
ในความมืดมิดแห่งอวิชชา ไม่รู้จักอริยมรรคมีองค์แปด ผู้ปลีกตัวจากโลก อนาคาริก นักพรต นักปราชญ์ทั้งหลายล้วนมีความคิดเห็น คาดคะเน และตั้งทฤษฎีเกี่ยวกับสัจธรรมของตนเองไปต่าง ๆ นานา


   ในเวลานั้น เช่นเดียวกับในขณะนี้ บางคนเชื่อว่าพระนิพพานคือความสุขทางผัสสะทั้งหลาย จึงพยายามบำรุงบำเรอตนเองด้วยกามสุข บางพวกมองพฤติกรรมดังกล่าวด้วยความดูหมิ่นเหยียดหยาม และต่อต้านด้วยการทรมานหรือทำร้ายตนเอง พวกเขาละทิ้งความยินดีและความสุขสบายทางร่างกาย โดยมองว่านี้คือความเพียรอันประเสริฐ โดยรวมแล้ว สัตว์โลกมีชีวิตอยู่ในความหลง ไม่มีหนทางเข้าถึงสัจธรรม ทำให้ความเชื่อและการกระทำเป็นไปตามยถากรรม ต่างคนต่างมีความคิดเห็นของตัวเอง และด้วยความคิดเห็นเช่นนั้น ก็ทำอะไรไปต่าง ๆ กันมากมาย

   พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธการบำเรอตนเองด้วยกามสุข หรือการทำร้ายเบียดเบียนตนเอง วิถีทางของพระองค์ตั้งอยู่ระหว่างทางอันสุดโต่งทั้งสอง เมื่อทางประกาศอริยมรรคมีองค์แปดต่อเวไนยสัตว์ ศรัทธาที่แท้จริงอันมีรากฐานอยู่บนสัจธรรมแห่งชีวิต ศรัทธาตั้งมั่นอยู่บนความเป็นจริง มิใช่เพียงแนวความคิด

   ศรัทธามีพลานุภาพยิ่งใหญ่ต่อจิตสำนึกของแต่ละบุคคล ศรัทธาจึงเป็นหนึ่งในอินทรีย์ทั้งห้า เมื่อมีศรัทธา วิริยะก็จะเกิดขึ้นได้ ศรัทธากระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจในการเจริญภาวนา และเป็นบาทฐานของธรรมะอื่น ๆ ทั้งหมด เช่น สมาธิ และปัญญา เมื่อพระพุทธองค์ทรงประกาศอริยมรรคมีองค์แปด พระองค์ทรงจุดประกายให้อินทรีย์ทั้งห้าเจริญขึ้นในหมู่ชน ความเข้าใจในสัจธรรมก็เริ่มปรากฏขึ้นในหัวใจของชาวโลก ทำให้สามารถเข้าถึงอิสรภาพและสันติสุขอันแท้จริง


   อาตมาขอให้ศรัทธาในการปฏิบัติของทุกท่านจงเป็นศรัทธาที่จริงใจ และลึกซึ้ง และเป็นรากฐานให้ทุกท่านบรรลุความพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง

                                                                    พระกัมมัฏฐานาจริยะ อูบัณฑิตาภิวังสะ




คุณสินีรัตน์ ศรีประทุม พิมพ์ต้นฉบับ
นำมาแบ่งปันโดย : miracle of love
:http://bhaddanta.blogspot.com/2006/01/blog-post_24.html
-http://agaligohome.fix.gs/index.php?topic=757.30



Pics by : Google
ใต้ร่มธรรมดอทเน็ต * สุขใจดอทคอม
อกาลิโกโฮม.. บ้าน ที่แท้จริง...

กุศลผลบุญใดที่พึงบังเกิดจากธรรมทานนี้ ขอจงเป็นบุญเป็นปัจจัย
แด่ท่านผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในธรรมทานเหล่านี้ ทุกๆท่าน
รวมทั้งท่านเจ้าของภาพ ทุกๆภาพ เรียนขออนุญาตใช้ภาพ

ไว้ ณ ที่นี้... นะคะ
อนุโมทนาสาธุ.. ที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 29, 2012, 12:01:04 am โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มัคคสังยุตต์ ๑.อวิชาวรรค พราหมณสูตร
« ตอบกลับ #24 เมื่อ: มกราคม 01, 2016, 09:27:17 am »

 
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑
สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค

พราหมณสูตร
อริยมรรคเรียกชื่อได้ ๓ อย่าง
[๑๒] สาวัตถีนิทาน. ครั้งนั้น เวลาเช้า ท่านพระอานนท์นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวร
เข้าไปบิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี ได้เห็นชาณุสโสณีพราหมณ์ออกจากพระนครสาวัตถี ด้วยรถ
เทียมด้วยม้าขาวล้วน ได้ยินว่า ม้าที่เทียมเป็นม้าขาว เครื่องประดับขาว ตัวรถขาว ประทุนรถ
ขาว เชือกขาว ด้ามประตักขาว ร่มขาว ผ้าโพกขาว ผ้านุ่งขาว รองเท้าขาว พัดวาลวิชนีที่
ด้ามพัดก็ขาว ชนเห็นท่านผู้นี้แล้ว พูดอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ยานประเสริฐหนอ รูป
ของยานประเสริฐหนอ ดังนี้.

[๑๓] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เที่ยวบิณฑบาตในพระนครสาวัตถีแล้ว เวลาปัจฉาภัต
กลับจากบิณฑบาต เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ
ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทาน
พระวโรกาส เวลาเช้า ข้าพระองค์นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี
ข้าพระองค์เห็นชาณุสโสณีพราหมณ์ออกจากพระนครสาวัตถี ด้วยรถม้าขาวล้วน ได้ยินว่า ม้าที่
เทียมเป็นม้าขาว เครื่องประดับขาว ตัวรถขาว ประทุนรถขาว เชือกขาว ด้ามประตักขาว ร่มขาว
ผ้าโพกขาว ผ้านุ่งขาว รองเท้าขาว พัดวาลวิชนีที่ด้ามก็ขาว ชนเห็นท่านผู้นี้แล้ว พูดอย่างนี้ว่า
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ยานประเสริฐหนอ รูปของยานประเสริฐหนอ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
พระองค์อาจทรงบัญญัติยานอันประเสริฐในธรรมวินัยนี้ได้ไหมหนอ?

[๑๔] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ อาจบัญญัติได้ คำว่ายานอันประเสริฐ
เป็นชื่อของอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ นี้เอง
เรียกกันว่า พรหมยานบ้าง ธรรมยานบ้าง รถ
พิชัยสงคราม
อันยอดเยี่ยมบ้าง.
[๑๕] ดูกรอานนท์ สัมมาทิฏฐิบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว มีการกำจัดราคะ
เป็นที่สุด มีการกำจัดโทสะเป็นที่สุด มีการกำจัดโมหะเป็นที่สุด.
[๑๖] ดูกรอานนท์ สัมมาสังกัปปะที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว มีการกำจัด
ราคะเป็นที่สุด มีการกำจัดโทสะเป็นที่สุด มีการกำจัดโมหะเป็นที่สุด.
[๑๗] ดูกรอานนท์ สัมมาวาจาที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว มีการกำจัด
ราคะเป็นที่สุด มีการกำจัดโทสะเป็นที่สุด มีการกำจัดโมหะเป็นที่สุด.

[๑๘] ดูกรอานนท์ สัมมากัมมันตะที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว มีการกำจัด
ราคะเป็นที่สุด มีการกำจัดโทสะเป็นที่สุด มีการกำจัดโมหะเป็นที่สุด.
[๑๙] ดูกรอานนท์ สัมมาอาชีวะที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว มีการกำจัด
ราคะเป็นที่สุด มีการกำจัดโทสะเป็นที่สุด มีการกำจัดโมหะเป็นที่สุด.
[๒๐] ดูกรอานนท์ สัมมาวายามะที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว มีการกำจัด
ราคะเป็นที่สุด มีการกำจัดโทสะเป็นที่สุด มีการกำจัดโมหะเป็นที่สุด.
[๒๑] ดูกรอานนท์ สัมมาสติที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว มีการกำจัดราคะ
เป็นที่สุด มีการกำจัดโทสะเป็นที่สุด มีการกำจัดโมหะเป็นที่สุด.

[๒๒] ดูกรอานนท์ สัมมาสมาธิที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว มีการกำจัด
ราคะเป็นที่สุด มีการกำจัดโทสะเป็นที่สุด มีการกำจัดโมหะเป็นที่สุด.
[๒๓] ดูกรอานนท์ ข้อว่า ยานอันประเสริฐ เป็นชื่อของอริยมรรคประกอบด้วย
องค์ ๘ นี้เอง เรียกกันว่า พรหมยานบ้าง ธรรมยานบ้าง รถพิชัยสงครามอันยอดเยี่ยมบ้าง
นั้น
พึงทราบโดยปริยายนี้แล.


พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถา
ประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๒๔] อริยมรรคญาณนั้นมีธรรม คือ ศรัทธากับปัญญาเป็นเอก มีศรัทธา
เป็นทูบ มีหิริเป็นงอน มีใจเป็นเชือกชัก มีสติเป็นสารถีผู้ควบคุม
รถนี้มีศีลเป็นเครื่องประดับ มีญาณเป็นเพลา มีความเพียรเป็นล้อ
มีอุเบกขากับสมาธิเป็นทูบ ความไม่อยากได้เป็นประทุน กุลบุตร
ใดมีความไม่พยาบาท ความไม่เบียดเบียน และวิเวกเป็นอาวุธ
มีความอดทนเป็นเกราะหนัง กุลบุตรนั้นย่อมเป็นไปเพื่อความเกษม
จากโยคะ พรหมยานอันยอดเยี่ยมนี้ เกิดแล้วในตนของบุคคล
เหล่าใด บุคคลเหล่านั้นเป็นนักปราชญ์ ย่อมออกไปจากโลกโดย
ความแน่ใจว่า มีชัยชนะโดยแท้.

จบ สูตรที่ ๔

เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ บรรทัดที่ ๗๔ - ๑๒๔. หน้าที่ ๔ - ๖.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=19&A=74&Z=124&pagebreak=0
ฟังพระสูตรนี้ได้ที่ :-
http://www.84000.org/tipitaka/listen/?b=19&item=12
ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=19&i=12


Google+ชาตรี กองนอก
Shared publicly 1.1.2529 - 4:25 AM