คลังธรรมปัญญา > หนังสือธรรมะ

ราชรถสู่พระนิพพาน (Sayadaw U Pandita)

<< < (2/5) > >>

ฐิตา:


                   

   อริยมรรคมีองค์แปด
   อกุศลย่อมไม่อยู่ในอริยมรรคมีองค์แปด โดยย่อมรรคมีองค์แปดก็คือ ศีล สมาธิ และปัญญา อันนำมาซึ่งความบริบูรณ์และความถูกตรงในชีวิตมนุษย์ทุก ๆ ด้าน

   อริยมรรคมีองค์แปดหมวดศีล
   สัมมาวาจา หรือวาจาชอบ คำว่าสัมมาวาจาหากแปลตรง ๆ ก็คือวาจาที่ถูกถ้วนหรือสมบูรณ์ หมายถึงคำพูดที่ตรงต่อความเป็นจริง นอกจากนี้ยังสร้างความสามัคคีให้เกิดในหมู่ชน มีเมตตา น่าฟัง อ่อนหวาน ไม่ประทุษร้าย และเป็นประโยชน์ การมีสัมมาวาจาทำให้ล่วงพ้นจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมทางวาจาสี่ประการดังได้กล่าวแล้ว
   สัมมากัมมันตะ หรือการกระทำชอบ การกระทำที่ถูกต้องย่อมประกอบด้วยความยับยั้งชั่งใจ บุคคลพึงเว้นจากความประพฤติที่เป็นอกุศลกรรมทางกายสามประการ ได้แก่ การฆ่า การลักขโมย และการประพฤติผิดในกาม
   ประการสุดท้าย สัมมาอาชีวะ คือ การเลี้ยงชีพชอบ กล่าวคือ ดำรงชีวิตด้วยความถูกต้องเหมาะควรและปราศจากมลทิน ไม่ประกอบมิจฉาอาชีพ
   การขจัดอกุศลกรรมสามประการนี้ ทำให้บุคคลสามารถควบคุมกิเลสอย่างหยาบเอาไว้ได้ กิเลสเป็นศัตรูของเรา ซึ่งบุคคลควรจะระลึกรู้และพิจารณาอยู่เนือง ๆ หากปราศจากศัตรู บุคคลก็ปราศจากอันตราย


   อริยมรรคมีองค์แปดหมวดสมาธิ
   จิตที่ตั้งมั่นหรือสมาธิเป็นหมวดที่สองของอริยมรรคมีองค์แปด ประกอบด้วยธรรมสามประการ คือ ความเพียรชอบ สติชอบ และสมาธิชอบ
   หัวข้อนี้น่าจะเป็นที่คุ้น หากท่านเคยปฏิบัติกรรมฐานมาก่อน เมื่อผู้ปฏิบัติพยายามตั้งความระลึกรู้ไว้ที่ท้อง (พองยุบ) นี้คือความเพียรชอบซึ่งมีพลังอำนาจในการผลักให้กิเลสห่างไกลออกไป เมื่อผู้ปฏิบัติมีความเพียรชอบ สติก็จะเข้มแข็งขึ้น และสามารถเฝ้าดูอารมณ์ต่าง ๆ ได้ และสตินี้ก็จะทำหน้าที่ตามรักษา กล่าวคือ ความเพียรผลักไสกิเลสให้ห่างไกลออกไป และสติจะทำหน้าที่ปิดประตูไม่ให้กิเลสกลับเข้ามาอีก คราวนี้จิตจะสามารถรวมตัวตั้งมั่นได้ สติจะตามรู้อารมณ์ทุกขณะโดยสำรวม ไม่ฟุ้งซ่าน สงบนิ่ง นี้คือสัมมาสมาธิ
   หากองค์ธรรมทั้งสามปรากฏอยู่ ก็กล่าวได้ว่า มรรคมีองค์แปดหมวดสมาธิเจริญขึ้น ณ จุดนี้ ความด่างพร้อยทางจิต (กิเลส) และอกุศลจิตจะถูกกำจัดให้อยู่ห่างไกล หมวดสมาธินี้ทำหน้าที่ต่อสู้กับอกุศลจิตโดยตรง


   อริยมรรคมีองค์แปดหมวดปัญญา
   ในทุกขณะ จิตจะมีความบริสุทธิ์และสงบด้วยความพยายามของผู้ปฏิบัติเอง สมมติว่าแต่ละนาทีผู้ปฏิบัติมีจิตที่ปราศจากอกุศล ๖๐ ครั้ง ในสองนาที ก็จะมีจิตที่บริสุทธิ์ ๑๒๐ ครั้ง ลองคิดดูว่าในหนึ่งชั่วโมงหรือจนถึงหนึ่งวัน ผู้ปฏิบัติสามารถสร้างวินาทีแห่งสันติสุขได้มากเพียงไร ทุก ๆ วินาทีมีค่าทั้งสิ้น
   ในแต่ละขณะเช่นนี้ ผู้ปฏิบัติจะเห็นจิตหยั่งลงสู่เป้าหมายคืออารมณ์กรรมฐาน นี้คือการตั้งเป้าหมายไว้ชอบ (สัมมาสังกัปปะ) เป็นหนึ่งในหมวดปัญญาของอริยมรรคมีองค์แปด เมื่อจิตเล็งถูกเป้าหมายอย่างแม่นยำ ย่อมจะมองเห็นอารมณ์อย่างชัดเจน ก็จะเกิดปัญญาที่มองเห็นอารมณ์อย่างชัดเจน และเป็นการประจักษ์รู้สภาวธรรมตามความเป็นจริงซึ่งเป็นอีกองค์หนึ่งของอริยมรรค กล่าวคือความเห็นชอบ (สัมมาทิฏฐิ)

   หากจิตตกลงสู่อารมณ์เป้าหมายอย่างแม่นยำ ปัญญาก็จะเกิดขึ้น รับรู้เงื่อนไขตามหลักของเหตุและผลที่เชื่อมโยงระหว่างสภาวธรรมทางกายและทางจิต เมื่อจิตสัมผัสกับความไม่เที่ยง จิตก็จะรู้จักอนิจจังตามความเป็นจริง ดังนั้น เป้าหมายที่ตั้งไว้ชอบและความเป็นชอบจึงสัมพันธ์กันอยู่
   ความเห็นชอบที่เกิดจากการตั้งเป้าหมายชอบมีพลังอำนาจในการถอนรากของจิตที่เป็นอกุศล รากลึกของจิตที่เป็นอกุศลนี้ หมายถึงอนุสัยกิเลสที่ซ่อนเร้นอยู่อย่างมิดชิด ซึ่งจะสามารถขุดรากถอนโคนได้ด้วยปัญญาเท่านั้น สภาวธรรมนี้เป็นสิ่งที่พิเศษมาก จะเกิดขึ้นขณะเดียวด้วยวิธีปฏิบัติที่เป็นของจริง กระทำได้จริง ๆ และมิใช่เกิดจากจินตนาการ


ฐิตา:

                       

   บางทีผู้ปฏิบัติอาจเข้าใจได้มากขึ้นแล้วว่า เหตุใดพระพุทธองค์จึงตรัสว่า หนทางนี้เป็นทางสายตรง อกุศลทางกาย วาจา และใจ จะสามารถเอาชนะได้ด้วยการฝึกฝนไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ และปัญญาในอริยมรรคมีองค์แปด เมื่อเดินตรงตามเส้นทางนี้ ผู้ปฏิบัติจะสามารถก้าวข้ามอกุศล และรอดพ้นจากภยันอันตรายต่าง ๆ

   นิพพานและอริยมรรคในฐานะสถานที่ที่ปลอดจากภัย
   พระพุทธองค์ได้ทรงรับรองกับเทพบุตรผู้เคยเป็นภิกษุว่า หนทางเส้นนี้จะนำไปสู่สถานที่ที่ปลอดจากภัย คำว่า “สถานที่ที่ปลอดจากภัย” นี้ มีการอธิบายเพิ่มเติมอย่างละเอียดในอรรถกถาของพระสูตรนี้ ความจริงคำนี้หมายถึงพระนิพพานที่ซึ่งปราศจากภยันตรายหรือความน่ากลัวใด ๆ เหลืออยู่ สามารถเอาชนะความแก่และความตายได้โดยเด็ดขาดหมดทุกข์สิ้นเชิงนั่นเอง ผู้ใดที่ได้บรรลุพระนิพพานจะได้รับการปกป้อง จึงได้ชื่อว่า “ผู้ปราศจากความกลัว” กล่าวคือ เป็นผู้ที่ปราศจากอันตราย
   การจะเข้าถึงสถานที่ที่ปลอดจากภัยคือพระนิพพานนี้ ผู้ปฏิบัติต้องเดินไปทางโลกียมรรคของอริยมรรคก่อน คำว่า โลกีย์ ในที่นี้หมายถึงสิ่งที่ไม่ได้อยู่เหนือโลก มีแต่ทางสายนี้เท่านั้นที่นำไปสู่พระนิพพาน นิพพานเป็นจุดหมายปลายทางของหนทางเส้นนี้

   เราได้กล่าวถึงไตรสิกขาของหนทางเส้นนี้แล้วว่า คือ ศีล สมาธิ และปัญญา เมื่อบุคคลมีศีลบริสุทธิ์ก็จะปราศจากความสำนึกผิด และคำตำหนิของบัณฑิต ปลอดภัยจากการลงโทษทางกฎหมายและการเกิดในอบาย เมื่อบรรลุความบริสุทธิ์ในหมวดสมาธิ ผู้ปฏิบัติจะรอดพ้นจากภัยอันตรายของกิเลสระดับกลาง กล่าวคือ จิตที่ไหลไปสู่อกุศลและความบีบคั้นอยู่ภายใน ปัญญาญาณซึ่งเกิดจากการเจริญสติและสมาธิมีพลานุภาพทำลายอนุสัยกิเลส ดังนั้น แม้จะยังไม่ถึงพระนิพพานที่ปลอดจากภัยอย่างแท้จริง ผู้ปฏิบัติก็จะได้รับการปกป้องรักษาจากสิ่งที่น่าสะพรึงกลัวในระหว่างที่ดำเนินอยู่บนทางแห่งอริยมรรค ดังนั้น อริยมรรคนี้เองก็เป็นสถานที่ที่ปลอดจากภัยด้วยเช่นกัน

   กิเลส กรรม และผลของกรรม : วงจรอุบาทว์ของสังสารวัฏ
   กิเลสเป็นสาเหตุของภยันตรายต่าง ๆ ในโลก อวิชชา ตัณหา และอุปาทานล้วนเป็นกิเลส เมื่อมีอวิชชา ทั้งยังถูกผลักดันด้วยตัณหา บุคคลประกอบกรรมแล้วก็ต้องรับผลของกรรมนั้น เพราะกรรมที่ทำในอดีตภพใดภพหนึ่ง เราจึงกลับมาเกิดในโลกนี้อีกในอัตภาพที่เป็นร่างกายและจิตใจนี้ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ชีวิตของเราในปัจจุบันชาติเป็นผลมาจากเหตุในอดีต ในทางกลับกัน ร่างกายและจิตใจนี้กลายเป็นที่เกาะกุมของตัณหาและอุปาทาน ตัณหาและอุปาทานนี้เองเป็นเหตุที่ทำให้เราก่อกรรมและทำให้ต้องเกิดใหม่อีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อเพิ่มพูนตัณหาและอุปาทานในกายและจิต กิเลส กรรม และผลของกรรมจึงเป็นองค์ประกอบสามอย่างของวงจรอุบาทว์ในสังสารวัฏอันหาจุดเริ่มต้นไม่ได้ และหากปราศจากการเจริญวิปัสสนากรรมฐานก็ไม่อาจหาจุดสิ้นสุดได้เช่นกัน

   หากปราศจากอวิชชาความหลงแล้ว วัฏจักรนี้ก็ไม่อาจตั้งอยู่ได้ ในเบื้องต้นเราเป็นทุกข์จากอวิชชาคือความไม่รู้ ความมืดบอดล้วน ๆ ยิ่งไปกว่านั้น อวิชชาคือความไม่รู้จากความหลง ซึ่งหากเราไม่ปฏิบัติให้ลึกซึ้ง ก็ไม่อาจประจักษ์ถึงลักษณะที่แท้ของความเป็นจริง นั่นคือ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ไม่อาจเห็นลักษณะของการเปลี่ยนแปลงทางกายและจิตอันเป็นสภาวธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปทุก ๆ ขณะได้อย่างชัดเจน ไม่อาจเห็นทุกข์อันมหันต์ที่เราต้องเผชิญอยู่จากการบีบคั้นของการเกิดขึ้นและดับไป มองไม่เห็นว่ากระบวนการเหล่านี้ปราศจากผู้ควบคุม ไม่มีใครอยู่เบื้องหลัง ไม่มีใครเลย หากเข้าใจลักษณะทั้งสามของรูปนามนี้อย่างลึกซึ้ง ตัณหาและอุปาทานก็มิอาจเกิดขึ้นได้

   ดังนั้น เพราะความหลง เราจึงปรุงแต่งความจริงเข้าใจผิดว่ารูปและนามเป็นสิ่งคงทนถาวรและไม่เปลี่ยนแปลง เราพึงพอใจกับการเป็นเจ้าของร่างกายและจิตใจนี้ และเข้าใจไปว่ามีตัวตนถาวรคือ “ฉัน” ทำหน้าที่กำกับควบคุมร่างกายจิตใจนี้
   ความไม่รู้สองประเภทนี้เองที่ก่อให้เกิดตัณหาและอุปาทานก็เป็นเพียงตัณหาหรือความอยากที่พอกพูนหนาขึ้นเท่านั้นเอง ด้วยความปรารถนาสิ่งน่าพอใจทางรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ เราจึงไขว่คว้าหาสิ่งใหม่ ๆ ร่ำไป เมื่อได้สิ่งที่ปรารถนาเราก็จะกอดมันไว้แน่นและไม่ยอมปล่อยมันไป เหล่านี้ก่อให้เกิดกรรมซึ่งเป็นสิ่งร้อยรัดผูกมัดเราไว้กับวัฏจักรของการเกิดใหม่

   ตัดสังสารวัฏ
   แน่นอนว่ากรรมมีหลายอย่าง อกุศลกรรมนำมาซึ่งผลอันไม่น่าปรารถนา และทำให้บุคคลต้องวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ เมื่อเริ่มเดินบนหาทางแห่งอริยมรรค ผู้ปฏิบัติไม่พึงวิตกกับผลของอกุศลกรรมที่เคยทำไว้ในอดีต เพราะผู้ปฏิบัติหลีกเลี่ยงการกระทำที่เป็นอกุศลอยู่แล้ว ศีลย่อมคุ้มครองผู้ปฏิบัติจากทุกข์ภัยในอนาคต กุศลกรรมนำมาซึ่งความสุข ถึงแม้ว่าในขณะเดียวกันจะผลักดันเราไปสู่การเกิดใหม่ แต่ในระหว่างการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ไม่มีการประกอบกรรมที่จะนำไปสู่การเกิดใหม่ การเฝ้าดูอารมณ์ที่เกิดขึ้นและดับไปเป็นกุศลกรรม ทั้งยังเป็นการตัดภพชาติในสังสารวัฏอีกด้วย ในความหมายที่แท้จริง วิปัสสนากรรมฐานไม่ก่อให้เกิดผลกรรม ที่เรียกในภาษาบาลีว่า วิบาก กล่าวคือ การกำหนดที่แม่นยำจะป้องกันมิให้ตัณหาเกิดขึ้น รวมถึงการป้องกันสิ่งอื่น ๆ ที่เป็นผลพวงของการเวียนว่ายตายเกิด อันได้แก่ กรรม ชาติ ชรา และมรณะ

   ทุก ๆ ขณะการเจริญวิปัสสนา สามารถตัดวงจรอุบาทว์ของสังสารวัฏ คือ กิเลส กรรม และผลของกรรมลงได้อย่างสิ้นเชิง เมื่อความเพียร สติ และสมาธิที่มั่นคงเกิดขึ้น การกำหนดอารมณ์อย่างแม่นยำจะช่วยให้สัมปชัญญะแทงตลอดเข้าไปถึงลักษณะที่แท้จริงของชีวิต ผู้ปฏิบัติจะมองเห็นสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง แสงสว่างแห่งปัญญาจะขับไล่ความมืดบอดของอวิชชาออกไป เมื่อปราศจากอวิชชาแล้ว ตัณหาจะเกิดขึ้นได้อย่างไร หากผู้ปฏิบัติประจักษ์แจ้งใน อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ตัณหาไม่อาจเกิดขึ้นได้ และอุปาทานก็ไม่อาจเกิดตามมา ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า อวิชชาทำให้เกิดอุปาทาน แต่เมื่อมีวิชชาก็จะปราศจากอุปาทาน เมื่อไม่มีอุปาทานก็ไม่ก่อกรรม และก็ไม่ต้องรับผลของกรรม

ฐิตา:



   อวิชชาทำให้เกิดตัณหาและอุปาทานในการยึดมั่นทั้งต่อชีวิตและต่อความเห็นผิดเกี่ยวกับตัวตน การดำเนินตามทางแห่งอริยมรรคช่วยให้ผู้ปฏิบัติสามารถทำลายเหตุของอวิชชา เมื่อไม่มีเหตุเหล่านี้ แม้เพียงชั่วขณะเดียว จิตก็จะเป็นอิสระ สังสารวัฏจะขาดลง นี่คือสถานที่ที่ปลอดจากภัยที่พระพุทธองค์ตรัสถึง เมื่อเป็นอิสระจากอวิชชา ภยันตรายจากกิเลส และผลกรรมอันน่ากลัวที่จะพึงก่อให้เกิดทุกข์ในอนาคต ผู้ปฏิบัติก็จะสามารถพบกับความปลอดภัย และความมั่นคงตราบเท่าที่ยังดำรงสติอยู่

   บางทีผู้ปฏิบัติอาจรู้สึกว่ากายและจิตของตนนี้น่ากลัวมากเสียจนอยากจะกำจัดมันไป หากเป็นเช่นนี้ การฆ่าตัวตายก็ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น หากต้องการความหลุดพ้นจริง ๆ ผู้ปฏิบัติพึงดำเนินชีวิตอย่างฉลาด กล่าวกันว่า ต่อเมื่อบุคคลเฝ้าสังเกตผลเท่านั้น เหตุจึงถูกทำลายลงได้ การทำลายนี้มิใช่การลงมือทำลายล้างจริง ๆ แต่เป็นการสิ้นสุดของพลัง ปัญญาทำหน้าที่ทำลายเหตุของรูปและนามอันจะพึงเกิดในอนาคต เมื่อจิตรวมลงด้วยสัมมาสติ สัมมาสมาธิ และสัมมาทิฏฐิ กล่าวคือ เฝ้าดูอารมณ์ที่เกิดขึ้นทางอายตนะทั้งหกทุก ๆ ขณะในเวลาเช่นนี้ กิเลสจะไม่สามารถบุกรุกเข้ามาหรือเกิดขึ้นได้ เมื่อกิเลสอันเป็นตัวก่อให้เกิดกรรมและการเกิดใหม่เกิดขึ้นไม่ได้แล้ว ผู้ปฏิบัติก็จะสามารถตัดภพตัดชาติในสังสารวัฏได้
   เมื่อได้เดินตามหาทางแห่งอริยมรรค ผ่านวิปัสสนาญาณขั้นต่าง ๆ ผู้ปฏิบัติก็จะบรรลุถึงพระนิพพาน อันเป็นที่ซึ่งปราศจากอันตรายได้ในที่สุด การเข้าถึงพระนิพพานมีสี่ระดับ ในแต่ละขั้นกิเลสแต่ละอย่างจะถูกทำลายไปอย่างถาวร เมื่อบรรลุพระนิพพานในระดับสุดท้าย คือ อรหัตตผล จิตจะบริสุทธิ์ปราศจากกิเลสโดยสิ้นเชิง

                       

   ผู้ถึงกระแส : ประสบการณ์พระนิพพานครั้งที่หนึ่ง
   เมื่อบรรลุพระนิพพานครั้งแรก ในขณะที่ที่ผู้ปฏิบัติเข้าถึงโสดาปัตติมรรค สังสารวัฏ (กิเลส กรรม วิบาก) อันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์จะถูกทำลาย บุคคลผู้นั้นจะไม่ไปเกิดในภูมิของดิรัจฉาน เปรต หรือนรก เพราะกิเลสที่จะนำไปสู่ภพภูมิเหล่านี้ได้ถูกทำลายไป บุคคลผู้นั้นจะไม่ประกอบกรรมที่จะนำไปสู่การเกิดในสภาวะเช่นนั้นอีก และผลกรรมแต่อดีตที่จะนำไปสู่ภพภูมิเหล่านี้ก็จะกลายเป็นอโหสิกรรมไปโดยปริยาย

   ในการบรรลุธรรมในระดับที่สูงขึ้น กิเลสจะถูกทำลายมากขึ้น ๆ จนในที่สุดเมื่อบรรลุอรหัตตผล กิเลสจะถูกทำลายไปโดยสิ้นเชิง รวมถึงกรรมและผลของกรรม พระอรหันต์จะไม่ถูกรบกวนด้วยกิเลสเหล่านี้อีก และเมื่อท่านดับขันธ์ก็จะเข้าสู่สถานที่อันปลอดภัย คือพระนิพพาน ไม่กลับมาเวียนว่ายในสังสารวัฏอีกต่อไป
   ผู้ปฏิบัติอาจมีกำลังใจที่ได้รู้ว่า แม้ในการบรรลุธรรมขั้นต่ำสุด ผู้ปฏิบัติจะรอดพ้นจากการบำเพ็ญเพียรทางจิตที่ผิดทาง หรือหนทางอันเป็นอกุศลทุกชนิด ดังกล่าวไว้ใน “วิสุทธิมรรค” ที่พระพุทธโฆษาจารย์ได้เขียนไว้ในพุทธศตวรรษที่สิบ นอกจากนี้ผู้ปฏิบัติจะยังได้รับอานิสงส์ที่ทำให้พ้นจากความรู้สึกลงโทษตนเอง จากการตำหนิของบัณฑิต จากอันตรายในการถูกลงโทษ และจากการตกลงไปอยู่ในสภาวะที่เป็นทุกข์

     ราชรถที่สงัดเงียบ
   ปุถุชนที่ยังมิได้ถึงกระแสแห่งพระนิพพาน เปรียบได้กับนักเดินทางที่เริ่มท่องเที่ยวไปบนหนทางที่เต็มไปด้วยภยันตราย มีอันตรายนานัปการที่รอคอยผู้ที่ประสงค์จะข้ามทะเลทราย ป่าดงดิบ หรือป่าโปร่งอยู่ บุคคลผู้นั้นจะต้องเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือให้พร้อม ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นคือพาหนะที่ดีและมีคุณภาพ พระพุทธองค์ประทานทางเลือกที่ล้ำเลิศแก่เทพบุตร พระองค์ตรัสว่า “เธอจงเดินทางไปในราชรถที่สงัดเงียบ”
   เราคงพอจะเดาได้ว่า เทพบุตรองค์นั้นคงจะเห็นว่า การเดินทางที่สงบเป็นสิ่งที่ควรยินดี หลังจากที่ต้องเผชิญกับเสียงอึกทึกของนักดนตรีบนสวรรค์ แต่ความจริงยังมีความหมายอื่นอีก ณ ที่นี้

   พาหนะส่วนใหญ่มีเสียงดัง เกวียนและรถม้าโบราณที่ใช้ในสมัยพุทธกาลมีเสียงดังมาก โดยเฉพาะหากไม่ได้หยอดน้ำมันหรือสร้างมาไม่ดี หรือเวลาบรรทุกผู้โดยสารจำนวนมาก แม้แต่รถยนต์และรถบรรทุกสมัยใหม่ก็ยังมีเสียงอึกทึก แต่ราชรถที่พระพุทธองค์ประทานให้นี้ มิใช่ราชรถธรรมดา แต่เป็นพาหนะที่บรรจงสร้างมาอย่างดีเสียจนสงัดเงียบเวลาขับเคลื่อนไป ไม่ว่าจะมีสรรพสัตว์จำนวนล้านหรือพันล้านขับอยู่ก็ตาม ราชรถนี้สามารถนำสรรพสัตว์ทั้งหลายข้ามมหาสมุทร ข้ามทะเลทราย ผ่านป่าอันรกชัฏแห่งสังสารวัฏได้ นี่คือราชรถแห่งการเจริญวิปัสสนา หรือราชรถแห่งอริยมรรคมีองค์แปด

   เมื่อพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ มีสรรพสัตว์นับล้านทั้งมนุษย์และเทวดา บรรลุธรรมโดยการฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์เท่านั้น เหล่าสัตว์นับพันนับแสนหรือนับล้านอาจฟังพระธรรมเพียงครั้งเดียวก็สามารถก้าวข้ามสังสารวัฏไปในราชรถพร้อม ๆ กันได้
   ราชรถอาจไม่มีเสียง แต่ผู้โดยสารมักจะแซ่ซ้องกันโดยมาก โดยเฉพาะผู้ที่ไปถึงฝั่งอันปลอดจากภัยแล้ว คือพระนิพพาน อริยบุคคลเหล่านี้ย่อมกล่าวสรรเสริญและแสดงความปีติยินดีอย่างยิ่งยวด “ราชรถนี้ช่างวิเศษเสียนี่กระไร เราได้โดยสารแล้วและได้รับอานิสงส์จริง ๆ ราชรถนี้นำเรามาถึงพระนิพพาน”


ฐิตา:



Exhibition : Metaphor of Truth by Ploeng Wattasan
-http://www.rama9art.org/artisan/2010/april/metaphor/works3.html
   ท่านเหล่านั้นคือพระอริยบุคคล อันได้แก่ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ ผู้ซึ่งได้บรรลุธรรมทั้งสี่ระดับ ท่านเหล่านี้ต่างแซ่ซ้องสรรเสริญราชรถนี้เป็นอเนกปริยาย “จิตใจของเราเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เปี่ยมไปด้วยศรัทธา ความแจ่มใสกระจ่างชัด และความเบิกบาน มีปัญญารู้ชัดในสภาวธรรมทั้งหลาย จิตใจของเราเข้มแข็งและมั่นคง สามารถเผชิญกับความผันผวนของชีวิตได้อย่างแยบยล”

   พระอริยบุคคลผู้ที่เข้าถึงฌานระดับต่าง ๆ ก็จะแซ่ซ้องสรรเสริญราชรถนี้เช่นกัน เช่นเดียวกับพระสกิทาคามีและพระอรหันต์ ผู้ที่ได้เข้าผลสมาบัติ ซึ่งเป็นสภาวะแห่งการดับไปของจิต เจตสิก และสภาวธรรมที่เกี่ยวกับจิตทั้งหมด เมื่อออกจากสภาวะเช่นนี้แล้ว ท่านก็จะเปี่ยมไปด้วยความสงบสุขและชื่นชมยินดีในราชรถนี้ยิ่งนัก
   ปกติเมื่อมีคนตาย ญาติมิตรจะโศกเศร้าเสียใจและร้องไห้ มีทั้งความอาดูร โหยไห้ ตรอมใจที่ได้เห็นคนผู้เป็นที่รักจากโลกนี้ไป แต่สำหรับพระอรหันต์ผู้ชำระกิเลสหมดจดแล้ว ความตายเป็นสิ่งที่ควรเฝ้ารอคอย ท่านอาจกล่าวว่า “ในที่สุดก้อนทุกข์นี้จะได้ถูกทิ้งไปเสียที นี่เป็นชาติสุดท้ายแล้ว เรามีแต่ความสุขในพระนิพพาน ไม่ต้องเผชิญกับทุกข์อีกแล้ว”

   สภาวธรรมอันสูงส่งของพระอรหันต์อาจเป็นสิ่งที่เกินกว่าความสามารถของผู้ปฏิบัติจะเข้าใจได้ แต่ผู้ปฏิบัติอาจพอเข้าใจได้ว่า พระอรหันต์รู้สึกอย่างไร โดยดูจากการปฏิบัติของตนเอง ในขณะที่สามารถเอาชนะนิวรณ์คือความปรารถนากามสุข ความอาฆาตพยาบาท ความง่วงเหงาหาวนอน ความฟุ้งซ่าน และความสงสัย และเมื่อผู้ปฏิบัติสามารถประจักษ์ชัดในลักษณะที่แท้จริงของอารมณ์ต่าง ๆ เห็นความแตกต่างระหว่างรูปกับนาม หรือเห็นการเกิดดับของสิ่งต่าง ๆ เป็นขณะ ๆ ภาวะที่เห็นการเกิดดับของสิ่งต่าง ๆ เป็นขณะ ๆ ภาวะที่เห็นการเกิดดับนี้ ก่อให้เกิดความรู้สึกที่เป็นอิสระและปลาบปลื้มยิ่งนัก ปีติและความแจ่มชัดของจิตคือผลของการปฏิบัติธรรม
   พระพุทธองค์ตรัสว่า “สำหรับบุคคลที่ออกบำเพ็ญเพียรภาวนาจนได้บรรลุฌาน จะมีปีติผุดขึ้นภายในเป็นความสุขที่เหนือกว่าความสุขใด ๆ ที่อาจแสวงหาได้ในโลกมนุษย์ หรือแม้บนสวรรค์”
   ฌานในที่นี้อาจหมายถึงการเจริญสมาธิที่ตั้งมั่น หรือการเจริญขณิกสมาธิอย่างต่อเนื่องลึกซึ้งในระหว่างการเจริญวิปัสสนาก็ได้ ดังที่ได้กล่าวแล้ว สมาธิประเภทที่สองนี้มีชื่อเรียกว่า วิปัสสนาฌาน

   รสชาติที่ไม่อาจเทียบได้
   ผู้ปฏิบัติที่สามารถเจริญสติได้อย่างต่อเนื่อง จะได้รับปีติสุขอย่างสูงในการปฏิบัติ นี่คือพระธรรมรสที่อาจไม่เคยลิ้มลองมาก่อน ไม่มีรสใดเปรียบได้ ครั้งแรกที่ได้ลิ้มรส ผู้ปฏิบัติจะเปี่ยมด้วยความอัศจรรย์ใจ “พระธรรมนี้ช่างประเสริฐล้ำเลิศจริง ๆ ไม่น่าเชื่อเลยว่าเราจะสงบ ปีติ และสุขได้มากเท่านี้” ผู้ปฏิบัติจะเปี่ยมด้วยความศรัทธาและความเชื่อมั่น พร้อมทั้งความพึงพอใจและความสมหวัง จิตเริ่มคิดอยากจะแบ่งปันประสบการณ์นี้ให้แก่ผู้อื่น บางคนอาจถึงกับเริ่มวางแผนการรณรงค์เพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา นี่คือเสียงที่เกิดขึ้นในจิต เป็นเสียงที่แซ่ซ้องสรรเสริญคุณของราชรถที่สงบเงียบ

   กระนั้นยังมีอีกเสียงหนึ่งที่อาจไม่กระตือรือร้นเท่า เป็นเสียงกรีดร้องของผู้ปฏิบัติที่โดยสารราชรถที่ขาดความสง่างามหรือความสุข โยคีเหล่านั้นอาจโหนอยู่บนราชรถได้ แต่ก็แทบเกาะไม่อยู่ นี่คือผู้ปฏิบัติที่ขาดความเพียรในการเจริญวิปัสสนา ความเพียรต่ำย่อมให้ผลน้อย ผู้ปฏิบัติที่ย่อหย่อนเกียจคร้านจะไม่มีวันได้รับรสของพระธรรม พวกเขาอาจได้รับทราบความสำเร็จของผู้อื่น พวกเขาอาจเห็นผู้อื่นนั่งนิ่งตัวตรงดูประหนึ่งว่ามีความสุขกับสมาธิอันล้ำลึกและปัญญาญาณ ขณะที่ตนเองถูกจู่โจมด้วยสิ่งก่อกวนและนิวรณ์ต่าง ๆ ความสงสัยจะคืบคลานเข้ามาในใจ เกิดความสงสัยในวิปัสสนาจารย์ ในวิธีปฏิบัติ และในราชรถเอง “นี่เป็นพาหนะที่ใช้ไม่ได้เลย มันคงไม่พาฉันไปถึงไหนแน่ หนทางก็ขรุขระและมีเสียงดังหนวกหู”
   บางทีเราอาจได้ยินเสียงโอดครวญอย่างหมดหวังมาจากทางราชรถอีกเสียงหนึ่ง เป็นเสียงของผู้ปฏิบัติที่มีศรัทธาในการปฏิบัติและกำลังพยายามอย่างหนัก แต่ด้วยเหตุผลบางอย่าง เขาเหล่านั้นยังไม่ก้าวหน้ามากเท่าที่หวัง พวกเขาเริ่มสูญเสียความเชื่อมั่น เริ่มสงสัยว่าตนเองจะบรรลุจุดมุ่งหมายหรือไม่

   ยิ่งหลงทางเท่าไร ยิ่งได้ข้าวมากเท่านั้น
   ในประเทศสหภาพพม่ามีคำกล่าวที่จะให้กำลังใจแก่คนเหล่านี้คือ “ยิ่งอนาคาริกหลงทางมากเท่าไร ก็จะได้ข้าวมากขึ้นเท่านั้น” อนาคาริก หมายถึง ผู้สละโลกประเภทหนึ่งในประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา ท่านเหล่านี้ถือศีล ๘ หรือศีล ๑๐ ครองผ้าขาวและโกนศีรษะ เมื่อละทิ้งทางโลกแล้ว เหล่าอนาคาริกอาศัยอยู่ในวัด ดูแลวัดและให้ความช่วยเหลือพระสงฆ์ในด้านต่าง ๆ หนึ่งในหน้าที่นั้นคือการเข้าไปในเมืองทุก ๆ สองหรือสามวันเพื่อขอรับบริจาค ในพม่าสิ่งของบริจาคส่วนใหญ่มักจะเป็นข้าวสาร อาหารแห้ง เหล่าอนาคาริกจะเดินไปตามถนน แบกคานไม้ไผ่มีกระจาดแขวนอยู่ที่ปลายทั้งสองข้าง

   บางครั้งพวกอนาคาริกอาจไม่คุ้นกับหนทางในหมู่บ้าน และเมื่อถึงเวลาต้องกลับวัดก็หาหนทางไม่พบ ผู้สละโลกที่น่าสงสารนี้เดินเข้าไปเจอซอยตัน พอเดินวกกลับมาตามทางแคบ ๆ ก็หลงติดอยู่ในถนนข้างหลัง แต่ขณะเดียวกันพวกชาวบ้านคิดว่านี่เป็นการเดินเพื่อขอรับของบริจาคตามปรกติ จึงบริจาคข้าวสารอย่างต่อเนื่อง ครั้งพบทางกลับ อนาคาริกก็มีข้าวสารอาหารแห้งที่รับบริจาคมากองใหญ่
   สำหรับนักปฏิบัติที่เดินหลงทางและเดินอ้อมเป็นครั้งคราวก็อาจคิดปลอบใจตนเองว่า เราก็จะได้ธรรมะกองใหญ่ในที่สุด


นิทรรศการ อุปมาแห่งสัทธรรม (Metaphor of Truth)
โดย อ.เพลิง วัตสาร
มีต่อค่ะ

ฐิตา:



ล้อทั้งสองของราชรถ คือ ความเพียรทางกายและทางจิต
   ดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า ราชรถคันนี้มีสองล้อ ในอดีตกาลเกวียนถูกสร้างขึ้นอย่างนี้ ดังนั้นการอุปมานี้จึงเป็นที่ถึงใจสำหรับคนในสมัยนั้น พระพุทธองค์ทรงอธิบายว่าล้อข้างหนึ่งเป็นความเพียรทางกายและอีกข้างหนึ่ง ได้แก่ความเพียรทางจิต
   การเจริญวิปัสสนากรรมฐานก็คล้ายกับการประกอบการอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งความเพียรเป็นสิ่งสำคัญ บุคคลต้องทำงานอย่างหนักและขยันขันแข็งจึงจะประสบความสำเร็จ หากพากเพียรโดยไม่ท้อถอยก็สามารถกลายเป็นวีรบุรุษหรือวีรสตรีผู้กล้าหาญได้ ความเพียรพยายามอย่างกล้าหาญเป็นสิ่งที่จำเป็นในการเจริญกรรมฐาน

   ความเพียรทางกายเป็นความเพียรในการดำรงร่างกายให้อยู่ในอาการนั่ง ยืน เดิน นอน ส่วนความเพียรทางจิตเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เป็นพลังที่ผู้ปฏิบัติทุ่มเทในการรักษาสติและสมาธิเพื่อขับกิเลสออกไปให้ห่างไกล
   ล้อทั้งสองของความเพียรร่วมกันพยุงราชรถแห่งการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ในการเดินจงกรม ผู้ปฏิบัติก็ต้องยกเท้าขึ้นย่างออกไปข้างหน้า แล้วเหยียบเท้าลงกับพื้น การทำอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่ารวมกันเป็นอาการเดิน เมื่อผู้ปฏิบัติเดินจงกรม ความเพียรทางกายก่อให้เกิดอาการเคลื่อนไหว ในขณะที่ความเพียรทางจิตกระตุ้นให้สติกำหนดรู้ความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย ความเพียรทางกายช่วยให้จิตตื่นตัวและมีพลัง

   ผู้ปฏิบัติไม่อาจมองข้ามไปว่า ความเพียรเป็นองค์ประกอบพื้นฐาน ราชรถที่พระพุทธองค์ตรัสไว้เหมือนกับเกวียนในทางโลกที่ทั้งสองจะต้องติดแน่นกับตัวรถ ในทางธรรม การขับเคลื่อนราชรถนี้ไปตามหนทางแห่งอริยมรรคนี้ จะต้องประกอบด้วยความเพียรทางกายและทางจิตอยู่เสมอ ผู้ปฏิบัติคงไปไม่ถึงไหน หากไม่พยายามสร้างความเพียรทางกายในการนั่งกรรมฐาน หรือไม่พยายามตามรู้อารมณ์ให้ถูกต้อง ต่อเนื่อง และแม่นยำ ตราบใดที่ล้อทั้งสองแห่งความเพียรนี้ยังคงหมุนอยู่ ราชรถก็จะยังคงแล่นตรงไปข้างหน้า
   เพียงการรักษาอิริยาบถต่าง ๆ เอาไว้ ก็ต้องใช้ความพยายามอย่างสูงอยู่แล้ว หากผู้ปฏิบัตินั่งอยู่ก็ต้องใช้ความพยายามไม่ให้ล้มคว่ำลงมา ในเวลาเดินก็ต้องก้าวขาออกไป ผู้ปฏิบัติต้องพยายามรักษาสมดุลระหว่างอิริยาบถใหญ่ ๆ ทั้งสี่ เพื่อรักษาสมดุลของความเพียรและสภาพพลานามัยที่สมบูรณ์ โดยเฉพาะระหว่างการอบรมกรรมฐาน ต้องให้เวลากับการนั่งและการเดินที่เพียงพอ และลดหลั่นลงไปสำหรับการยืน ส่วนการนอน เวลานอนก็ควรที่จะจำกัด

                 
จินตภาพแห่งศรัทธา (Images of Faith)                   
   หากรักษาอิริยาบถไม่เหมาะสม ผลคือความเกียจคร้านก็จะเกิดขึ้นในระหว่างนั่งกรรมฐาน ผู้ปฏิบัติอาจพยายามหาที่พิง ผู้ปฏิบัติอาจสรุปเอาเองว่าการเดินทำให้เหนื่อยเกินไป หรือการทำงานอดิเรกสบาย ๆ อาจดีกว่าการเจริญกรรมฐาน เดาได้เลยว่าความคิดเหล่านั้นอาตมาไม่แนะนำ
   ทำนองเดียวกันกับความเพียรทางจิต ความย่อหย่อนในการภาวนามิใช่สิ่งที่ดี ผู้ปฏิบัติต้องเตรียมตัวตั้งแต่ต้นว่า การเจริญความเพียรทางจิตอย่างไม่ย่อท้อและต่อเนื่องเป็นสิ่งจำเป็น บอกตนเองว่าเราจะไม่ยอมให้มีช่องว่างในการกำหนดสติ แต่จะให้ต่อเนื่องให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทัศนคติแบบนี้เป็นสิ่งมีประโยชน์มาก เนื่องจากช่วยให้ผู้ปฏิบัติมีโอกาสบรรลุเป้าหมายได้จริง ๆ

   ผู้ปฏิบัติบางคนไม่ชอบการเดินจงกรม เห็นว่าเป็นการเหนื่อยและเสียเวลาเปล่า แต่ก็เดินเพราะอาจารย์บอกให้เดิน เนื่องจากการเดินจงกรมต้องใช้ความเพียรทั้งสองด้านพร้อม ๆ กัน การเดินจงกรมจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นในการผลักดันวงล้อของความเพียรให้หมุนไปข้างหน้า หากกำหนดการเดินดี ๆ ผู้ปฏิบัติก็อาจบรรลุถึงเป้าหมายได้โดยสะดวกง่ายดาย
   ความเพียรทางจิตที่ปรากฏอยู่อย่างต่อเนื่องทุก ๆ ขณะ ทำให้กิเลสไม่สามารถคุกคามจิตได้ กิเลสจะถูกผลักไสและปฏิเสธ

   ผู้ปฏิบัติบางคนมีความเพียรไม่สม่ำเสมอ แต่ทำเป็นช่วง ๆ การปฏิบัติเช่นนี้ทำให้ยากที่จะไปสู่เป้าหมายได้ พลังความเพียรที่สั่งสมขึ้นในการเจริญสติอีก ก็ต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่ เมื่อพยายามแล้วหยุด พยายามแล้วหยุดอยู่อย่างนี้ ผู้ปฏิบัติย่อมไม่อาจรวบรวมพลังที่ทำให้เกิดความก้าวหน้าขึ้นได้
   บางทีผู้ปฏิบัติอาจต้องสำรวจใจตนเองอย่างซื่อตรงว่า เรากำลังมีสติอยู่จริง ๆ หรือเปล่า เรากำลังพยายามที่จะสร้างความเพียรในการเจริญวิปัสสนากรรมฐานอย่างต่อเนื่อง และไม่ย่อท้อทุก ๆ ขณะตลอดเวลาที่ตื่นอย่างจริงจัง และจริงใจหรือเปล่า

   ประโยชน์ของความเพียรอย่างอาจหาญ
   ผู้ปฏิบัติที่ทำให้วงล้อแห่งความเพียรทางจิตเคลื่อนที่ไปอยู่เสมอนั้น กล่าวได้ว่าเป็นผู้ประกอบด้วยความเพียรกล้า พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญบุคคลเหล่านี้ และตรัสว่า “ผู้ที่ประกอบด้วยความเพียรอย่างอาจหาญจะมีชีวิตที่เป็นสุข” เพราะเหตุใด ก็เพราะความเพียรกล้าย่อมสยบกิเลสลงได้ก่อให้เกิดสภาวะทางจิตที่สงบเย็น น่าพอใจ ปราศจากความโลภ ความคิดที่โหดร้าย ความคิดทำลาย ซึ่งล้วนสร้างความเจ็บปวด
   ความดีงามของความเพียรอย่างอาจหาญนี้หาที่สุดมิได้ พระพุทธองค์ตรัสว่า “การมีชีวิตอยู่เพียงวันเดียวด้วยความเพียรที่อาจหาญ ยังดีกว่าอยู่ถึงร้อยปีโดยปราศจากความเพียร” อาตมาหวังว่าผู้ปฏิบัติคงจะได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องของความเพียรนี้เพียงพอที่จะทำให้หันมาหมุนวงล้อแห่งความเพียรได้


นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version