ผู้เขียน หัวข้อ: บทธรรมบรรยายที่ ๒๓ ของ พระอาจารย์มั่น :วิธีเจริญกรรมฐานภาวนา  (อ่าน 2453 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


บทธรรมบรรยายที่ ๒๓
ของ
พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ

๒๓ วิธีเจริญกรรมฐานภาวนา
จะแสดงวิธีเจริญกรรมฐานภาวนา เพื่อโยคาวจรกุลบุตรได้ศึกษาและปฏิบัติสืบไป โยคาวจรผู้ใดจะเจริญกรรมฐานภาวนา พึงตรวจดูจริตของตนให้รู้ชัด ว่า ตนเป็นคนมีจริตอย่างใดแน่นอนก่อนแล้วพึงเลือกเจริญกรรมฐานอันเป็นที่สบายแก่จริตนั้นๆ ดังได้แสดงไว้แล้วนั้นเถิด

อนึ่ง พึงทราบคำกำหนดความดังต่อไปนี้ไว้เป็นเบื้องต้นก่อน คือบริกรรมนิมิต หมายเอาอารมณ์ของกรรมฐานที่นำมากำหนดพิจารณา อุคคหนิมิต หมายเอาอารมณ์ของกรรมฐานอันปรากฏขึ้นในมโนทวาร ขณะที่กำลังทำการเจริญภาวนาอยู่อย่างชัดแจ้ง คล้ายเห็นด้วยตาเนื้อ ปฏิภาคนิมิต หมายเอาอารมณ์ของกรรมฐานอันปรากฏแจ่มแจ้งแก่ใจของผู้เจริญภาวนายิ่งขึ้นกว่าอุคคหนิมิต และพึงทราบลำดับแห่งภาวนาดังนี้ บริกรรมภาวนา หมายการเจริญกรรมฐานในระยะแรกเริ่มใช้สติประคองใจกำหนดพิจารณาในอารมณ์ กรรมฐานอันใดอันหนึ่ง อุปจารภาวนา หมายการเจริญกรรมฐานในขณะเมื่ออุคคหนิมิตเกิดปรากฏในมโนทวาร อัปปนาภาวนา หมายการเจริญภาวนาในขณะเมื่อปฏิภาคนิมิตปรากฏ จิตเป็นสมาธิแนบเนียน มีองค์ฌาณปรากฏขึ้นครบบริบูรณ์

บริกรรมภาวนาได้ทั่วไปในกรรมฐานทั้งปวง อุปจารภาวนาได้ในกรรมฐาน 10 ประการ คือ อนุสสติ 8 ตั้งแต่พุทธานุสสติ ถึงมรณัสสติ กับอาหาเรปฏิกูลสัญญาและจตุธาตุววัตถาน เพราะเป็นกรรมฐานสุขุมละเอียดยิ่งนัก ส่วนอัปปนาภาวนานั่นได้ในกรรมฐาน 30 คือ กสิณ 10 อสุภะ 10 อานาปานสติ 1 กายคตาสติ 1 พรหมวิหาร 4 และอรูปกรรมฐาน 4
กรรมฐาน 11 คืออสุภะ 10 กับกายคตาสติ 1 ให้สำเร็จแต่เพียง รูปาวจร ปฐมฌาณ พรหมวิหาร 3 คือ เมตตา กรุณา มุทิตา ให้สำเร็จรูปาวจรฌาณทั้ง 4 ประการ อุเบกขาพรหมวิหาร ให้สำเร็จแต่บัญจมรูปาวจรฌาณอย่างเดียว อรูปกรรมฐาน 4 ให้สำเร็จแต่อรูปาวจรฌาณอย่างเดียวฯ

( 1 ) วิธีเจริญปฐวีกสิณ กุลบุตรผู้มีศรัทธาปรารถนาจะเจริญกรรมฐานภาวนา อันชื่อว่าปฐวีกสิณ พึงตัดปลิโพธกังวลห่วงใยน้อยใหญ่เสียให้สิ้นแล้ว ไปยังที่เงียบสงัด เพ่งพิจารณาดินที่ตนตกแต่งเป็นดวงกสิณเป็นอารมณ์ หรือจะเพ่งพิจารณาดินที่แผ่นดินหหรือที่ลานข้าวเป็นต้นเป็นอารมณ์ก็ได้ เมื่อจะพิจารณาดินที่มิได้ตกแต่งไว้เป็นดวงกสิณนั้น พึงกำหนดให้มีที่สุดโดยกลมเท่าตะแกรง กว้างคืบ 4 นิ้ว เป็นอย่างใหญ่หรือเล็กกว่ากำหนดนี้ แล้วพึงบริกรรมภาวนาว่าปฐวีๆ ดินๆ ดังนี้ร่ำไป ถ้ามีวาสนาบารมีเคยได้สั่งอบรมมาแต่ชาติก่อนๆ แล้ว ก็อาจได้สำเร็จฌาณ ถ้าหากวาสนาบารมีมิได้ ก็ยากที่จะสำเร็จฌาณด้วยการเพ่งแผ่นดินอย่างว่านี้ จำจะต้องทำเป็นดวงกสิณ

เมื่อจะทำ พึงหาดินสีแดงดังแสงพระอาทิตย์แรกอุทัย มาทำ อย่าทำในที่คนสัญจรไปมาพลุกพล่าน พึงทำในที่สงัดเป็นที่ลับที่กำบัง ดวงกสิณนั้นจะทำตั้งไว้กะที่ทีเดียว หรือจะทำชนิดยกไปได้ก็ตาม ดินที่ทำดวงกสิณนั้น พึงชำระให้หมดจด ทำเป็นวงกลม กว้างคืบ 4 นิ้ว ขัดให้ราบเสมอดังหน้ากลอง พึงปัดกวาดที่นั้นให้เตียนสะอาด ปราศจากหยากเยื่อเฟื้อฝอยแล้วพึงชำระกายให้หมดเหงื่อไคล เมื่อจะนั่งภาวนา พึงนั่งบนตั่งที่มีเท้าสูง คืบ 4 นิ้ว นั่งห่างดวงกสิณออกไปประมาณ 2 ศอกคืบ พึงนั่งขัดสมาธิเท้าขวาทับเท้าซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ตั้งกายให้ตรงผินหน้าไปทางดวงกสิณ แล้วพึงพิจารณาโทษกามคุณต่าง ๆ และตั้งจิตไว้ให้ดีในฌาณธรรมอันเป็นอุบายที่จะยกตนออกจากกามคุณ และจะล่วงพ้นกองทุกข์ทั้งปวง แล้วพึงระลึกถึงพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ยังปรีดาปราโมทย์ให้เกิดขึ้น แล้วพึงทำจิตให้เคารพรักใคร่ในพิธีทางปฏิบัติให้มั่นใจว่าปฏิบัติดังนี้ ได้ชื่อว่าเนกขัมมปฏิบัติ พระอริยเจ้าทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น จะได้ละเว้นหามิได้ ล้วนแต่ปฏิบัติดังนี้ทุกๆ พระองค์

ครั้นแล้วพึงจิตว่า เราจะได้เสวยสุขอันเกิดแต่วิเวกด้วยปฏิบัติอันนี้โดยแท้ ยังความอุตสาหะให้เกิดขึ้นแล้วจึงลืมจักษุขึ้นดูดวงกสิณเมื่อลืมจักษุขึ้นนั้น อย่าลืมขึ้นให้กว้างนัก จะลำบากจักษุ อนึ่งมณฑลกสิณจะปรากฏแจ้งเกินไป ครั้นลืมลืมจักษุขึ้นน้อยนักมณฑลกสิณก็จะปรากฏแจ้ง จิตที่จะถือเอากสิณนิมิตเป็นอารมณ์นั้น ก็จะย่อหย่อนท้อถอยเกียจคร้านไป เหตุฉะนี้จึงพึงลืมจักษุขนาดส่องเงาหน้าในกระจก อนึ่ง เมื่อแลดูดวงกสิณนั้นอย่าพิจารณาสี พึงกำหนดว่าสิ่งนี้เป็นดินเท่านั้น แต่สีดินนั้นจะละเสียก็มิได้ เพราะว่าสีดินกับดวงกสิณเนื่องกันอยู่ ดูดวงกสิณก็เป็นอันดูสีอยู่ด้วย เหตุฉะนี้ พึงรวมดวงกสิณกับสีเข้าด้วยกัน และดูดวงกสิณกับสีนั้นให้พร้อมกัน กำหนดว่า สิ่งนี้เป็นดิน แล้วจึงบริกรรมภาวนาว่า ปฐวีๆ ดินๆ ดังนี้ร่ำไป ร้อยครั้งพันครั้งเมื่อกระทำบริกรรมภาวนาว่าปฐวี ๆ อยู่นั้นอย่าลืมจักษุเป็นนิตย์ พึงลืมจักษุดูอยู่หน่อยหนึ่งแล้วหลับลงเสีย หลับลงสักหน่อย แล้วพึงลืมขึ้นดูอีก

พึงปฏิบัติโดยทำนองนี้ไปจนกว่าจะได้อุคคหนิมิต ก็กสิณนิมิตอันเป็นอารมณ์ที่ตั้งแห่งจิต ในขณะที่ทำการบริกรรมว่าปฐวีนั้น ชื่อว่าบริกรรมภาวนา เมื่อตั้งจิตในกสิณนิมิต กระทำบริกรรมว่าปฐวีๆ นั้น ถ้ากสิณนิมิตมาปรากฏในมโนทวารหลับจักษุลงกสิณนิมิตก็ปรากฏอยู่ในมโนทวารดังลืมจักษุแล้วกาลใด ชื่อว่าได้อุคคหนิมิต ณ กาลนั้น เมื่อได้อุคคหนิมิตแล้ว พึงตั้งจิตอยู่ในอุคคหนิมิตนั้น กำหนดให้ยิ่งวิเศษขึ้นไป เมื่อปฏิบัติอยู่ดังนี้ ก็จะข่มนิวรณธรรมโดยลำดับๆ กิเลสก็จะสงบระงับจากสันดาน สมาธิก็จะแก่กล้าเป็นอุปจารสมาธิ ปฏิภาคนิมิตก็จะปรากฏขึ้น อุคคหนิมิตกับปฏิภาคนิมิต มีลักษณะต่างกัน คืออุคคหนิมิตยังประกอบด้วยกสิณโทษ คือยังปรากฏเป็นสีดินอยู่อย่างนั้น ส่วนปฏิภาคนิมิตปรากฏบริสุทธิ์งดงามดังแว่นกระจก ที่บุคคลถอดออกจากฝักจากถุงฉะนั้น

จำเดิมแต่ปฏิภาคนิมิตเกิดขึ้นแล้ว นิวรณ์ทั้งสิ้นก็ระงับไป จิตก็ตั้งมั่นเป็นอุปจารสมาธิ สำเร็จเป็นกามาพจรสมาธิภาวนา เมื่อได้อุปจารสมาธิแล้ว ถ้าพากเพียรพยายามต่อขึ้นไปไม่หยุดหย่อน ก็จะได้สำเร็จอัปปนาสมาธิซึ่งเป็นรูปาวจรฌาณ และเมื่อกระทำเพียรจนบรรลุถึงอัปนาฌาณ เกิดขึ้นในสันดานแล้ว ก็พึงกำหนดไว้ว่า 1 เราประพฤติอิริยาบถอย่างนี้ๆ 2 อยู่ในเสนาสนะอย่างนี้ๆ 3 โภชนาหารอันเป็นที่สบายอย่างนี้ๆ จึงได้สำเร็จฌาณ การที่ให้กำหนดไว้นี้ เผื่อว่าฌาณเสื่อมไปก็จะได้เจริญสืบต่อไปใหม่โดยวิธีเก่า ฌาณที่เสื่อมไปนั้น ก็จะเกิดขึ้นได้โดยง่ายในสันดานอีก ครั้นเมื่อได้สำเร็จปฐมฌาณแล้วพึงปฏิบัติในปฐมฌาณนั้นให้ชำนาญคล่องแคล่วด้วยดีก่อนแล้วจึงเจริญทุติยฌาณสืบต่อขึ้นไป
ก็ปฐมฌาณที่ชำนาญคล่องแคล่วด้วยดี ต้องประกอบด้วยวสีทั้ง 5 คือ

มีต่อค่ะ

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด

( 1 ) อาวัชชนวสี ชำนาญคล่องแคล่วในการนึก ถ้าปรารถนาจะนึกถึงองค์ฌาณที่ตนได้ ก็นึกได้เร็วพลัน มิได้เนิ่นช้า มิต้องรอนานถึงชวนจิตที่ 4-5 ตกลง ยังภวังค์จิต 2-3 ขณะถึงองค์ฌาณที่ตนได้
(2) สมาปัชชนวสี คือชำนาญคล่องแคล่วในการที่จะเข้าฌาณอาจเข้าฌาณได้ในลำดับอาวัชชนจิต อันพิจารณาซึ่งอารมณ์คือปฏิภาคนิมิตมิได้เนิ่นช้า
(3) อธิษฐานวสี คือชำนาญในอันดำรงรักษาฌาณจิตไว้มิให้ตกภวังค์ ตั้งฌาณจิตไว้ได้ตามกำหนด ปรารถนาจะตั้งไว้นานเท่าใดก็ตั้งไว้ได้นานเท่านั้น
(4) วุฎฐานวสี คือชำนาญคล่องแคล่วในการออกฌาณ กำหนดไว้ว่าเวลานั้นๆ จะออกก็ออกได้ตามกำหนดไม่คลาดเวลาที่กำหนดไว้
(5) ปัจจเวกขณวสี คือชำนาญคล่องแคล่วในการพิจารณาองค์ฌาณที่ตนได้อย่างรวดเร็ว มิได้เนิ่นช้า ถ้าไม่ชำนาญไนปฐมฌาณแล้วอย่าพึงเจริญทุติยฌาณก่อน ต่อเมื่อชำนิชำนาญคล่องแคล่วในปฐมฌาณด้วยวสีทั้ง 5 ดังกล่าวแล้ว จึงควรเจริญทุติยฌาณสืบต่อขึ้นไป เมื่อชำนาญในทุติยฌาณจึงเจริญตติยฌาณ จตุตถฌาณ และปัญจมฌาณขึ้นไปตามลำดับ

องค์ของฌาณเป็นดังนี้ ปฐมฌาณมีองค์ 5 คือวิตก ความตรึกคิดมีลักษณะยกจิตขึ้นสู่อารมณ์เป็นองค์ที่ 1 วิจารณ์ ความพิจารณามีลักษณะไตร่ตรองอารมณ์เป็นองค์ที่ 2 ปิติ เจตสิกธรรมที่ยังกายและจิตใจให้อิ่มเต็มมีประเภท 5 คือ

(1) ขุททกาปิติ กายและจิตอิ่มจนขนพองชูชันทำให้น้ำตาไหล
(2) ขณิกาปิติ กายและจิตอิ่มมีแสงสว่างดังฟ้าแลบปรากฎในจักษุทวาร
(3) โอกกนติกาปิติ กายและจิตอิ่ม ปรากฏดั่งคลื่นและละลอกทำให้ไหวให้สั่น
(4) อุพเพงคาปิติ กายและจิตอิ่มและกายเบาเลื่อนลอยไปได้
(5) ผรณาปิติ กายและจิตอิ่ม เย็นสบายซาบซ่านทั่วสรรพางค์กาย

ปิติทั้ง 5 นี้อันใดอันหนึ่งเป็นองค์ที่ 3 สุขอันเป็นไปในกายและจิต เป็นองค์ที่ 4 และเอกัคคตา ความที่จิตมีอารมณ์เดียวไม่ฟุ้งซ่านไปมา จัดเป็นองค์ครบ 5

ฌาณที่พร้อมด้วยองค์ 5 นี้ชื่อว่าปฐมฌาณฯ ทุตยฌาณ มีองค์ 3 คือปิติ สุข เอกัคคตา ตติฌาณมีองค์ 2 คือสุข เอกัคคตา จตุตถฌาณมีองค์ 2 คือเอกัคคตา อุเบกขา นี้จัดโดยฌาณจุกกนัย ถ้าจัดโดยฌาณปัญจกนัยเป็นดังนี้ ปฐมฌาณมีองค์ 5 คือ วิตก วิจาร สุข เอกัคคตา ทุตติฌาณ มีองค์ 4 คือ วิจาร ปิติ สุข เอกัคคตา ตติยฌาณมีองค์ 3 คือปิติ สุข เอกัคคตา จตุตถฌาณมีองค์ 2 คือ สุข เอกัคคตา ปัญจมฌาณมีองค์ 2 คือ เอกัคคตาอุเบกขา
กุลบุตรผู้เจริญกสิณนี้อาจได้สำเร็จฌาณสมาบัติโดยจตุกกนัย หรือปัญจกนัยดังกล่าวมานี้

(2) วิธีเจริญอาโปกสิณ โยคาวจรกุลบุตรผู้มีศรัทธาปรารถนาจะเจริญอาโปกสิณ ถ้าเป็นผู้มีวาสนาสั่งสมอาโปกสิณมาแต่ชาติก่อนๆ แล้ว ถึงจะมิได้ตกแต่งกสิณเลยเพียงแต่เพ่งดูน้ำในที่ใดที่หนึ่งเช่นในสระในบ่อ ก็อาจสำเร็จอุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิตโดยง่าย ถ้ากุลบุตรอันหาวาสนาในอาโปกสิณมิได้ พึงเจริญอาโปกสิณในปัจจุบันชาตินี้ ก็พึงทำเอาอาโปกสิณด้วยน้ำที่ใสบริสุทธ์เอาน้ำใส่ภาชนะ เช่นบาตรหรือขันให้เต็มเพียงขอบปากยกไปตั้งไว้ในที่กำบัง ตั้งม้าสี่เหลี่ยมสูงคืบ 4 นิ้ว กระทำพิธีทั้งปวงโดยทำนองที่กล่าวไว้ในวิธีเจริญปฐวีกสิณนั้นเถิด คำบริกรรมภาวนาในอาโปกสิณว่า อาโป ๆ น้ำ ๆ พึงบริกรรมดังนี้ร่ำไปร้อยครั้งพันครั้ง จนกว่าจะได้สำเร็จอุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิต และอัปปนาฌาณ โดยลำดับ ก็อุคคหนิมิตในอาโปกสิณนี้ปรากฏดุจไหว ๆ กระเพื่อม ๆ อยู่ ถ้าน้ำนั้นประกอบด้วยกสิณโทษคือเจือปนด้วยเปลือกตมหรือฟอง ก็จะปรากฏในอุคคหนิมิตด้วย ส่วนปฏิภาคนิมิต ปรากฏปราศจากกสิณโทษ เป็นดุจกาบขั้วตาลแก้วมณีที่จะประดิษฐานในอากาศ มิฉะนั้นดุจมณฑลแว่นแก้วมณี เมื่อปฏิภาคนิมิตเกิดแล้วโยคาวจรกุลบุตรทำปฏิภาคนิมิตให้เป็นอารมณ์ บริกรรมไปว่า อาโป ๆ น้ำ ๆ ดังนี้ จะได้ถึงจตตุถฌาณหรือปัญจมฌาณตามลำดับ

(3) วิธีเจริญเตโชกสิณ โยคาวจรกุลบุตรผู้มีวาสนาบารมี เคยเจริญเตโชกสินมาแล้วในชาติก่อน เพียงแต่เพ่งเปลวไฟในที่ใดที่หนึ่ง บริกรรมภาวนาว่า เตโชๆ ไฟ ๆ ดังนี้ ก็อาจได้สำเร็จอุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิตโดยง่าย ถ้าผู้ไม่เคยบำเพ็ญมาแต่ชาติก่อน ปรารถนาจะเจริญเตโชกสิณ พึงหาไม้แก่นที่สนดีมาตากไว้ให้แห้ง บั่นออกไว้เป็นท่อนๆ แล้วนำไปใต้ต้นไม้ หรือที่ใดที่หนึ่งซึ่งเป็นที่สมควร แล้วกองฟืนเป็นกองๆ ดังจะอบบาตร จุดไฟเข้าให้รุ่งเรือง แล้วเอาเสื่อลำแพน หรือแผ่นหนังหรือแผ่นผ้า มาเจาะเป็นช่องกลมกว้างประมาณคืบ 4 นิ้ว แล้วเอาขึงไว้ตรงหน้า นั่งตามพิธีที่กล่าวไว้ในปฐวีกสิณแล้วตั้งจิตกำหนดว่า อันนี้เป็นเตโชธาตุ แล้วจึงบริกรรมว่า เตโชๆ ไฟๆ ดังนี้ร่ำไปจนกว่าจะได้สำเร็จอุคคหนิมิต และปฏิภาคนิมิต โดยลำดับไป
อุคคหนิมิตในเตโชกสิณนี้ ปรากฏดุจเปลวเพลิวลุกไหม้ไหว ๆ อยู่เสมอ ถ้ามิได้ทำดวงกสิณพิจารณาไฟในเตาเป็นต้น เมื่ออุคคหนิมิตเกิดขึ้น กสิณโทษก็จะปรากฏด้วย ส่วนปฏิภาคนิมิตปรากฏมิได้หวั่นไหว จะปรากฏดุจท่อนผ้ากำพลแดงอันประดิษฐานอยู่บนอากาศ หรือเหมือนกาบขั้วตาลทองคำฉะนั้น เมื่อปฏิภาคนิมิตปรากฏแล้ว โยคาวจรก็จะได้สำเร็จฌาณตามลำดับจนถึงจตุตถฌาณ ปัญจมฌาณ

(4) วิธีเจริญวาโยกสิณ ให้เพ่งลมที่พัดอันปรากฏอยู่ที่ยอดอ้อย ยอดไผ่ ยอดไม้ หรือปลายผมที่ถูกลมพัดไหวอยู่อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วพึงตั้งสติไว้ว่า ลมพัดต้องในที่นี้ หรือลมพัดเข้ามาในช่องหน้าต่าง หรือช่องฝา ถูกต้องกายในที่ใดก็พึงตั้งสติไว้ในที่นั้น แล้วพึงบริกรรมว่า วาโยๆ ลมๆ ดังนี้ร่ำไป จนกว่าจะสำเร็จอุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิต อุคคหนิมิตในวาโยกสิณนี้ จะปรากฏไหว ๆ เหมือนไอแห่งข้าวปายาส อันบุคคลปลงลงจากเตาใหม่ๆ ปฏิภาคนิมิตจะปรากฏอยู่เป็นอันดีมิได้หวั่นไหว เมื่ออุคคหนิมิตเกิดแล้ว โยคาวจรกุลบุตรก็จะได้สำเร็จฌาณโดยลำดับ

(5) วิธีเจริญนีลกสิณ โยคาวจรกุลบุตรผู้มีศรัทธาปรารถนาจะเจริญนีลกสิณพึงพิจารณานิมิตสีเขียวเป็นอารมณ์ ถ้าเป็นผู้มีวาสนาบารมีเคยได้เจริญนีลกสิณมาแต่ชาติก่อนๆ แล้ว เพียงแต่เพ่งดูดอกไม้สีเขียวหรือผ้าเขียวเป็นต้น ก็อาจได้อุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิต ส่วนผู้พึ่งจะเจริญนีลกสิณในชาติปัจจุบันนี้ พึงทำดวงกสิณก่อน พึงเอาดอกไม้อย่างใดอย่างหนึ่งที่มีสีเขียวล้วนอย่างเดียว มาลำดับลงในผอบ หรือฝากล่องให้เสมอขอบปาก อย่าให้เกสรแลก้านปรากฏ ให้แลเห็นแต่กลีบสีเขียวอย่างเดียว หรือจะเอาผ้าเขียวขึงที่ปากผอบหรือฝากล่องทำให้เสมอดังหน้ากลองก็ได้ หรือจะเอาของที่เขียวเช่นคราม เป็นต้น มาทำเป็นดวงกสิณเหมือนอย่างปฐวีกสิณก็ได้
เมื่อทำดวงกสิณเสร็จแล้วพึงปฏิบัติพิธีโดยทำนองที่กล่าวไว้ในปฐวีกสิณนั้นเถิด พึงบริกรรมภาวนาว่านีลํๆ เขียวๆ ดังนี้ร่ำไป จนกว่าอุคคหนิมิต และปฏิภาคนิมิตจะเกิดขึ้น อุคคหนิมิตในนีลกสิณนี้มีกสิณโทษอันปรากฏ ถ้ากสิณนั้นกระทำด้วยดอกไม้ก็เห็นเกสร-ก้าน และระหว่างกลีบปรากฏส่วนปฏิภาคนิมิตจะปรากฏดุจกาบขั้วตาลแก้วมณีตั้งอยู่ในอากาศ เมื่อปฏิภาคนิมิตเกิดแล้ว อุปจารฌาณและอัปปนาฌาณก็จะเกิดดังกล่าวแล้วในปฐมกสิณ

(6-7-8) วิธีเจริญปีตกสิณโลหิตกสิณ-โอทาตกสิณ วิธีเจริญกสิณทั้ง 3 นี้ เหมือนกับ นีลกสิณทุกอย่าง ปีตกสิณเพ่งสีเหลือง บริกรรมว่าปีตกํๆ เหลืองๆ โลหิตกสิณเพ่งสีแดง บริกรรมว่า โลหิตํๆ แดงๆ โอทาตกสิณ เพ่งสีขาว บริกรรมว่า โอทาตํๆ ขาวๆ ดังนี้ร่ำไป จนกว่าจะเกิดอุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิต ลักษณะอุคคหนิมิต และปฏิภาคนิมิตก็เหมือนในนีลกสิณ ต่างกันแต่สีอย่างเดียวเท่านั้น

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด

(9) วิธีเจริญอาโลกกสิณ โยคาวจรกุลบุตรผู้เจริญอาโลกกสิณนี้ ถ้าเป็นผู้มีวาสนาบารมี เคยได้เจริญมาแต่ชาติก่อนๆ แล้วเพียงแต่เพ่งดูแสงพระจันทร์หรือแสงพระอาทิตย์ หรือช่องหน้าต่างเป็นต้นที่ปรากฏเป็นวงกลมอยู่ที่ฝาหรือที่พื้นนั้นๆ ก็อาจสำเร็จอุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิตโดยง่าย ส่วนโยคาวจรที่พึงจะเจริญกสิณในชาติปัจจุบันนี้ เมื่อจะเจริญต้องทำดวงกสิณก่อน พึงหาหม้อมาเจาะให้เป็นช่องกลมประมาณคืบ 4 นิ้ว เอาประทีปตามไว้ข้างใน ปิดปากหม้อเสียให้ดี ผินช่องหม้อไปทางฝา แสงสว่างที่ออกทางช่องหม้อก็จะปรากฏเป็นวงกลมอยู่ที่ฝา พึงนั่งพิจารณาตามวิธีที่กล่าวไว้ในปฐวีกสิณ บริกรรมว่า อาโลโกๆ แสงสว่างๆ ดังนี้ร่ำไป จนกว่าจะได้สำเร็จอุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิต อุคคหนิมิตในอาโลกกสิณนี้ ปรากฏดุจวงกลมอันปรากฏที่ฝานั่นแล ส่วนปฏิภาคนิมิตปรากฏผ่องใสเป็นแท่งทึบ ดังดวงแห่งแสงสว่างฉะนั้น

(10) วิธีเจริญอากาศกสิณ โยคาวจรกุลบุตรผู้ปรารถนาจะเจริญอากาศกสิณนี้ ถ้าเป็นผู้มีวาสนาบารมี เคยสั่งสมมาแล้วแต่ชาติก่อน เพียงแต่เพ่งดูช่องฝา ช่องดาน หรือช่องหน้าต่างเป็นต้น ก็อาจสำเร็จอุคคหนิมิต และปฏิภาคนิมิตโดยง่าย ถ้าไม่มีวาสนาบารมีในกสิณ ข้อนี้มาก่อนต้องทำดวงกสิณก่อน เมื่อจะทำดวงกสิณ พึงเจาะฝาเจาะแผ่นหนังหรือเสื่อลำแพนให้เป็นวงกว้างคืบ 4 นิ้ว ปฏิบัติการทั้งปวง โดยทำนองที่กล่าวไว้ในปฐวีกสิณบริกรรมว่า อากาโสๆ อากาศๆ ดังนี้ร่ำไปจนกว่าจะเกิดอุคคหนิมิต และปรากฏรูปวงกลมอากาศ แต่มีที่สุดฝาเป็นต้นเจือปนอยู่บ้าง ส่วนปฏิภาคนิมิต ปรากฏเป็นวงกลมอากาศเท่ากับวงกสิณเด่นอยู่ และสามารถแผ่ออกให้ใหญ่ได้ตามต้องการ

(11) วิธีเจริญอุทธุมาตกะอสุภกรรมฐาน โยคาวจรกุลบุตร ผู้มีศรัทธาปรารถนาจะเจริญกรรมฐานนี้ พึงไปสู่ที่พิจารณาอุทธุมาตกะอสุภนิมิตอย่าไปใต้ลม พึงไปเหนือลม ถ้าทางข้างเหนือลมมีรั้วและหนามกั้นอยู่ หรือมีโคลนตมเป็นต้น ก็พึงเอาผ้าหรือมือปิดจมูกไป เมื่อไปถึงแล้วอย่าเพ่อและดูอสุภนิมิตก่อน พึงกำหนดทิศก่อน ยืนอยู่ในทิศใดเห็นซากอสุภะไม่ถนัด น้ำจิตไม่ควรแก่ภาวนากรรม พึงเว้นทิศนั้นเสีย อย่ายืนทิศนั้น พึงไปยืนในทิศที่เห็นซากอสุภะถนัด น้ำจิตก็ควรแก่กรรมฐาน อนึ่งอย่ายืนในที่ใต้ลม กลิ่นอสุภะจะเบียดเบียน อย่ายืนข้างเหนือลมหม่อมนุษย์ที่สิงอยู่ในซากอสุภะจะโกรธเคือง พึงหลีกเลี่ยงเสียสักหน่อย อนึ่งอย่าใกล้นักไกลนัก ยืนไกลนักซากอสุภะไม่ปรากฏแจ้ง ยืนใกล้นักจะไม่สบายเพราะกลิ่นอสุภะและปฏิกูลด้วยซากศพ ยืนชิดเท้านัก ชิดศีรษะนักจะไม่เห็นซากอสุภะหมดทั้งกาย พึงยืนในที่ท่ามกลางตัวอสุภะในที่ที่สบาย

เมื่อยืนอยู่ดังนี้ ถ้าก้อนศิลาจอมปลวกต้นไม้ หรือกอหญ้าเป็นต้น ปรากฏแก่จักษุ จะเล็กใหญ่ ขาวดำ ยาวสั้น สูงต่ำอย่างใด ก็พึงกำหนดรู้อย่างนั้นๆ แล้วต่อไปพึงกำหนดอุทธุมาตกะอสุภะนี้ โดยอาการ 6 อย่าง คือ สี เภท สัณฐาน ทิศ ที่ตั้งอยู่ในปฐมวัย มัชฌิมวัย ปัจฉิมวัย กำหนดสัณฐานอสุภะนี้ เป็นร่างกายของคนดำ คนขาวเป็นต้น กำหนดเภทนั้น คือกำหนดว่าซากอสุภะนี้เป็นร่างกายของคนที่ตั้งอยู่ในปฐมวัย มัชฌิมวัย ปัจฉิมวัย กำหนดสัณฐานนั้นคือ กำหนดว่า นี่เป็นสัณฐานศีรษะ-ท้อง-สะเอว-เป็นต้น กำหนดทิศนั้นคือ กำหนดว่า ในซากอสุภะนี้มีทิศ 2 คือ ทิศเบื้องต่ำ-เบื้องบน ท่ามกลางกายตั้งแต่นาภีลงมาเป็นทิศเบื้องต่ำ ตั้งแต่นาภีขึ้นไปเป็นทิศเบื้องบนกำหนดที่ตั้งนั้น คือกำหนดว่ามืออยู่ข้างนี้ เท้าอยู่ข้างนี้ ศีรษะอยู่ข้างนี้ ท่ามกลางกายอยู่ที่นี้ กำหนดปริเฉทนั้นคือกำหนดว่า ซากอสุภะนี้มีกำหนดในเบื้องต่ำด้วยพื้นเท้า มีกำหนดในเบื้องบนคือปลายผม

มีกำหนดในเบื้องขวางด้วยหนังเต็มไปด้วยเครื่องเน่า 31 ส่วน โยคาวจรพึงกำหนดพิจารณาอุทธุมาตกะ อสุภนิมิตนี้ ได้เฉพาะแต่ซากอสุภะ อันเป็นเพศเดียวกับตน คือถ้าเป็นชาย ก็พึงพิจารณาเพศชายอย่างเดียว
เมื่อพิจารณาอุทธุมาตกอสุภะนั้น จะนั่งหรือยืนก็ได้ แล้วพึงพิจารณาให้เห็นอานิสงส์ในอสุภกรรมฐานพึงสำคัญประหนึ่งดวงแก้ว ตั้งไว้ซึ่งความเคารพรักใคร่ยิ่งนัก ผูกจิตไว้ในอารมณ์คืออสุภะนั้นไว้ให้มั่นด้วยคิดว่าอาตมาจะได้พ้นชาติ ชรา มรณทุกข์ด้วยวิธีปฏิบัติดังนี้แล้ว พึงลืมจักษุขึ้นแลดูอสุภะ ถือเอาเป็นนิมิต
แล้วเจริญบริกรรมภาวนาไปว่า อุทธุมาตกํ ปฏิกูลํ ซากศพพองขึ้น เป็นของน่าเกลียดดังนี้ร่ำไป ร้อยครั้ง พันครั้ง ลืมจักษุดูแล้วพึงหลับ-จักษุพิจารณา ทำอยู่ดังนี้เรื่อยไป จนเมื่อหลับจักษุดู ก็เห็นอสุภะเหมือนเมื่อลืมจักษุดูเมื่อใด ชื่อว่าได้อุคคหนิมิตในกาลเมื่อนั้น ครั้นได้อุคคหนิมิตแล้ว ถ้าไม่ละความเพียรพยายามก็จะได้ปฏิภาคนิมิต อุคคหนิมิตปรากฏเห็นเป็นของพึงเกลียดพึงกลัว และแปลกประหลาดยิ่งนัก ปฏิภาคนิมิตปรากฏดุจบุรุษมีกายอันอ้วนพี กินอาหารอิ่มแล้วนอนอยู่ฉะนั้น เมื่อได้ปฏิภาคนิมิตแล้ว นิวรณธรรมทั้ง 5 มีกามฉันทะเป็นต้น ก็ปราศจากสันดานสำเร็จอุปจารฌาณ และอัปปนาฌาณ และความชำนาญแคล่วคล่องในฌาณโดยลำดับไปฯ

(12) วิธีเจริญวินีลกอสุภกรรมฐาน วินีลกอสุภะนั้นคือซากศพกำลังพองเขียว วิธีปฏิบัติทั้งปวงเหมือนในอุทธุมาตกอสุภะ แปลกแต่คำบริกรรมว่า วินีลกํ ปฏิกูลํ อสุภะขึ้นพองเขียวน่าเกลียดดังนี้ อุคคหนิมิตในอสุภะนี้ปรากฏมีสีต่างๆ แปลกกัน ปฏิภาคนิมิตปรากฏเป็นสีแดง ขาว เขียว เจือกัน

(13) วิธีเจริญวิบุพพกอสุภกรรมฐาน วิบุพพกอสุภะนี้ คือซากศพมีน้ำหนองไหล วิธีปฏิบัติเหมือนในอุทธุมาตกอสุภะทุกประการ แปลกแต่คำบริกรรมว่า วิปุพพกํ ปฏิกูลํ ซากศพมีน้ำหนองไหลน่าเกลียดดังนี้เท่านั้น อุคคหนิมิตในอสุภะนี้ปรากฏเหมือนมีน้ำหนอง น้ำเหลืองไหลอยู่มิขาด ส่วนปฏิภาคนิมิตนั้น ปรากฏเหมือนดั่งร่างอสุภะสงบนิ่งอยู่มิได้หวั่นไหว

(14) วิธีเจริญวิฉิททกอสุภกรรมฐาน วิฉิททกอสุภะนี้ ได้แก่ซากศพที่ถุกตัดออกเป็นท่อนๆ ทั้งอยู่ในที่มีสนามรบหรือป่าช้าเป็นต้น วิธีปฏิบัติทั้งปวงเหมือนในอุทธุมาตกอสุภะ แปลกแต่คำบริกรรมว่า วิฉิททกํ ปฏิกูลํ ซากศพขาดเป็นท่อนๆ น่าเกลียดดังนี้เท่านั้น อุคคหนิมิตปรากฏเป็นซากอสุภะขาดเป็นท่อนๆ ส่วนปฏิภาคนิมิตปรากฏเหมือนมีอวัยวะครบบริบูรณ์ มิเป็นช่องขาดเหมือนอย่างอุคคหนิมิต

(15) วิธีเจริญวิขายิตกอสุภกรรมฐาน ให้โยคาวจรพิจารณาซากศพอันสัตว์ มีแร้ง กา และสุนัขเป็นต้น กัดกินแล้วอวัยวะขาดไปต่างๆ บริกรรมว่า วิขายิตกํ ปฏิกูลํ ซากศพที่สัตว์กัดกินอวัยวะต่างๆ เป็นของน่าเกลียด ดังนี้ร่ำไปกว่าจะได้สำเร็จอุคคหนิมิต และปฏิภาคนิมิต ก็อุคคหนิมิตในอสุภะนี้ ปรากฏเหมือนซากอสุภะ อันสัตว์กัดกินกลิ้งอยู่ในที่นั้นๆ ปฏิภาคนิมิตปรากฏบริบูรณ์สิ้นทั้งกาย จะปรากฏเหมือนที่สัตว์กัดกินนั้นมิได้

(16) วิธีเจริญวิขิตตกอสุภกรรมฐาน ให้โยคาวจร พึงนำมาเองหรือให้ผู้อื่นนำมาซึ่งซากอสุภะที่ตกเรี่ยรายอยู่ในที่ต่างๆ แล้วมากองไว้ในที่เดียวกัน แล้วกำหนดพิจารณา บริกรรมว่า วิขิตตกํ ปฏิกูลํ ซากศพอันซัดไปในที่ต่างๆ เป็นของน่าเกลียดดังนี้ร่ำไป จนกว่าจะได้อุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิต อุคคหนิมิตในอสุภะนี้ ปรากฏเป็นช่องๆ เป็นระยะๆ เหมือนร่างอสุภะนั้นเอง ปฏิภาคนิมิตปรากฏเหมือนกายบริบูรณ์จะมีช่องมีระยะหามิได้ฯ

(17) วิธีเจริญหตวิขิตตอสุภกรรมฐาน ให้โยคาวจรพึงนำเอามาหรือให้ผู้อื่นนำเอามา ซึ่งซากอสุภะที่คนเป็นข้าศึก สับฟันกันเป็นท่อน ท่อนใหญ่ทิ้งไว้ในที่ต่างๆ ลำดับเข้าให้ห่างกันประมาณนิ้วมือหนึ่ง แล้วกำหนดพิจารณาบริกรรมว่า หตวิขิตตกํ ปฏิกูลํ ซากศพขาดเป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่ เป็นของน่าเกลียดดังนี้ร่ำไป กว่าจะได้อุคคหนิมิต และปฏิภาคนิมิต อุคคหนิมิตในอสุภะนี้ ปรากฏดุจรอยปากแผลอันบุคคลประหาร ปฏิภาคนิมิตปรากฏดังเต็มบริบูรณ์ทั้งกาย มิได้เป็นช่องเป็นระยะฯ

(18) วิธีเจริญโลหิตกอสุภกรรมฐาน ให้โยคาวจรพิจารณาซากศพที่คนประหารสับฟันในอวัยวะ มีมือแล เท้าเป็นต้น มีโลหิตไหลออกอยู่และทิ้งไว้ในที่ทั้งหลายมีสนามรบเป็นต้น หรือพิจารณาอสุภะที่มีโลหิตไหลออกจากแผล มีแผลฝีเป็นต้นก็ได้ บริกรรมว่า โลหิตกํ ปฏิกูลํ อสุภะนี้โลหิตไหลเปรอะเปื้อนเป็นของน่าเกลียดดังนี้ร่ำไป กว่าจะได้อุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิต อุคคหนิมิตในอสุภะนี้ ปรากฏดุจจะผ้าแดงอันต้องลมแล้วแลไหวๆ อยู่ ปฏิภาคนิมิตปรากฏเป็นอันดีจะได้ไหวหามิได้

(19) วิธีเจริญปุฬุวกอสุภกรรมฐาน ให้โยคาวจรพิจารณาซากศพของมนุษย์หรือสัตว์ มีสุนัขเป็นต้น ที่มีหนอนคลานคร่ำอยู่ บริกรรมว่า ปุฬุวกํ ปฏิกูลํ อสุภะที่หนอนคลานคร่ำอยู่ เป็นของน่าเกลียดดังนี้ร่ำไป กว่าจะได้อุคคหนิมิต แลปฏิภาคนิมิต อุคคหนิมิตในอสุภะนี้ ปรากฏมีอาการหวั่นไหว ดั่งหมู่หนอนอันสัญจรคลานอยู่ ปฏิภาคนิมิตปรากฏมีอาการอันสงบเป็นอันดีดุจกองข้าวสาลีอันขาวฉะนั้นฯ

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด

(20) วิธีเจริญอัฏฐิกอสุภกรรมฐาน ให้โยคาวจรพิจารณาซึ่งซากศพที่เหลือแต่กระดูกอย่างเดียว จะพิจารณาร่างกระดูกที่ติดกันอยู่ทั้งหมดยังไม่เคลื่อนหลุดไปจากกันเลยก็ได้ จะพิจารณาร่างกระดูกที่เคลื่อนหลุดไปจากกันแล้วโดยมากยังติดกันอยู่บ้างก็ได้ จะพิจารณาท่อนกระดูกอันเดียวก็ได้ ตามแต่จะเลือกพิจารณา แล้วพึงบริกรรมว่า อฏฐิกํ ปฏิกูลํ กระดูกเป็นของน่าเกลียดดังนี้ร่ำไป กว่าจะสำเร็จอุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิต ถ้าโยคาวจรพิจารณาแต่ท่อนกระดูกอันเดียว อุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิตปรากฏเป็นอย่างเดียวกัน ถ้าโยคาวจรพิจารณากระดูกที่ยังติดกันอยู่ทั้งสิ้น อุคคหนิมิตปรากฏปรากฏเป็นช่องๆ เป็นระยะๆ ปฏิภาคนิมิตปรากฏเป็นร่างกายอสุภะบริบูรณ์สิ้นทั้งนั้นฯ

(21-30) วิธีเจริญอนุสสติ 10 ประการ คือ พุทธานุสสติ ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า ธมมานุสสติ ระลึกถึงคุณพระธรรม สงฆานุสสติ ระลึกถึงคุณพระสงฆ์ สีลานุสสติ ระลึกถึงคุณศีล จาคานุสสติ ระลึกถึงคุณทาน เทวตานุสสติ ระลึกถึงคุณเทวดา อุปสมานุสสติ ระลึกถึงคุณพระนิพพาน มรณสสติ ระลึกถึงความตาย กายคตาสติ ระลึกไปในกายของตน อานาปานสติ ระลึกถึงลมหายใจเข้าออก

ในอนุสสติ 10 ประการนี้ จะอธิบายพิสดารเฉพาะอานาปานสติดังต่อไปนี้
โยคาวจรกุลบุตรผู้เจริญอานาปานสติกรรมฐานพึงเข้าไปอาศัยอยู่ในป่า หรือโคนไม้ หรืออยู่ในเรือนโรงศาลากุฏิวิหารอันว่างเปล่า เป็นที่เงียบสงัดแห่งใดแห่งหนึ่งอันสมควรแก่ภาวนานุโยคแล้ว พึงนั่งคู้บัลลังค์ขัดสมาธิเท้าขวาทับเท้าซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ตั้งกายให้ตรงดำรงสติไว้ให้มั่น คอยกำหนดรู้ลมหายใจเข้าและลมหายใจออก อย่าให้ลืมหลง เมื่อหายใจเข้าก็พึงกำหนดรู้ว่าหายใจเข้า เมื่อหายใจออกก็พึงกำหนดรู้ว่าหายใจออก เมื่อหายใจเข้าออกยาวหรือสั้น ก็พึงกำหนดรู้ประจักษ์ชัดทุกๆ ครั้งไปอย่าลืมหลง อนึ่งท่านสอนให้กำหนดนับด้วย เมื่อลมหายใจเข้าและออกอันใดปรากฏแจ้ง ก็ให้นึกนับว่าหนึ่ง ๆ รอบที่สองนับว่าสองๆ ไปจนถึงห้าๆ เป็นปัญจกะ แล้วตั้งต้นหนึ่งๆ ไปใหม่ไปจนถึงหกๆ เป็นฉักกะ แล้วนับตั้งต้นใหม่ไปถึงเจ็ดๆ เป็นสัตตกะ แล้วนับตั้งต้นใหม่ไปจนถึงแปดๆ เป็นอัฏฐกะ แล้วนับตั้งแต่ต้นใหม่ไปจนถึงเก้าๆ เป็นนวกะ แล้วนับตั้งต้นใหม่ไปจนถึงสิบๆ เป็นทสกะแล้วกลับนับตั้งต้นใหม่ตั้งแต่ปัญจกะหมวด 5 ไปถึงทสกะหมวด 10 โดยนัยนี้เรื่อยไป

เมื่อกำหนดนับลมที่เดินโดยคลองนาสิกด้วยประการดังนี้ ลมหายใจเข้าออกก็จะปรากฏแก่โยคาวจรกุลบุตรชัดและเร็วเข้าทุกที อย่าพึงเอาสติตามลมเข้าออกนั้นเลย พึงคอยกำหนดนับให้เร็วตามลมเข้าออกนั้นว่า 1. 2. 3. 4. 5. /1. 2. 3. 4. 5. 6. / 1. 2. 3. 4. 5. 6. 7. /1. 2. 3. 4. 5. 6. 7. 8. / 1. 2. 3. 4. 5. 6. 7. 8. 9. / 1. 2. 3. 4. 5. 6. 7. 8. 9. 10. / พึงนับตามลมหายใจเข้าออกดังนี้ร่ำไป จิตก็จะเป็นเอกัคคตาถึงซึ่งความเป็นหนึ่ง มีอารมณ์เดียวด้วยกำลังอันนับลมนั้นเทียว บางองค์ก็เจริญแต่มนสิการกรรมฐานนี้ด้วยสามารถถอนนับลมนั้น ลมอัสสาสะ-ปัสสาสะ ก็ดับไปโดยลำดับๆ กระวนกระวายก็ระงับลง จิตก็เบาขึ้น แล้วกายก็เบาขึ้นด้วยดุจถึงซึ่งอาการอันลอยไปในอากาศ เมื่อลมอัสสาสะ-ปัสสาสะหยาบดับลงแล้ว จิตของโยคาวจรนั้นก็มีแต่นิมิตคิลมอัสสาสะ-ปัสสาสะสุขุมละเอียดเป็นอารมณ์ เมื่อพยายามต่อไปลมสุขุมก็ดับลง เกิดลมสุขุมละเอียดยิ่งขึ้นประหนึ่งหายไปหมดโดยลำดับๆ ครั้นปรากฏเป็นเช่นนั้นอย่าพึงตกใจและลุกหนีไป

เพราะจะทำให้กรรมฐานเสื่อมไป พึงทำความเข้าใจไว้ว่า ลมหายใจไม่มีแก่คนตาย คนดำน้ำ คนเข้าฌาณ คนอยู่ในครรภ์มารดาดังนี้แล พึงเตือนตนเองว่าบัดนี้เราก็มิได้ตายลมละเอียดเข้าต่างหาก แล้วพึงคอยกำหนดลมในที่ๆ มันเคยกระทบเช่นปลายจมูกไว้ ลมก็มาปรากฏดังเดิม เมื่อทำความกำหนดไปโดยนัยนี้ มิช้าอุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิตก็จะปรากฏโดยลำดับไป อุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิต ในอนาปานสติกรรมฐานนี้ย่อมปรากฏแก่โยคาวจรต่างๆ กัน บางองค์ปรากฏดังปุยนุ่นบ้างปุยสำลีบ้าง บางองค์ปรากฏเป็นวงช่องรัศมีบ้าง ดวงแก้วมณีแก้วมุกดาบ้าง บางองค์ปรากฏมีสัมผัสหยาบ คือเป็นดังเมล็ดในฝ้ายบ้าง ดังเสี้ยนสะเก็ดไม้แก่นบ้าง บางองค์ปรากฏดังด้ายสายสังวาลย์บ้าง เปลวควันบ้าง บางองค์ปรากฏดังใยแมลงมุมอันขึงอยู่บ้าง แผ่นเมฆและดอกบัวหลวง และจักรรถบ้าง บางทีปรากฏดังดวงพระจันทร์พระอาทิตย์ก็มี การที่ปรากฏนิมิตต่างๆ กันนั้นเป็นด้วยปัญญาของโยคาวจรต่างกัน

อนึ่งธรรม 3 ประการ คือ ลมเข้า 1 ลมออก 1 นิมิต1 จะได้เป็นอารมณ์ของจิตอันเดียวกันหามิได้ลมเข้าก็เป็นอารมณ์ของจิตอันหนึ่ง ลมออกก็เป็นอารมณ์ของจิตอันหนึ่ง นิมิตก็เป็นอารมณ์ของจิตอันหนึ่ง เมื่อรู้ธรรม 3 ประการนี้แจ้งชัดแล้วจึงจะสำเร็จอุปจารฌาณและอัปปนาฌาณ เมื่อไม่รู้ธรรม 3 ประการก็ย่อมไม่สำเร็จ อานาปานสติกรรมฐานนี้เป็นไปเพื่อตัดเสียซึ่งวิตกต่างๆ เป็นอย่างดีด้วยประการฉะนี้ฯ

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด

(31-40) ส่วนกรรมฐานอีก 6 ประการคือ อัปปมัญญาพรหมวิหาร 4 อาหาเรปฏิกูลสัญญา 1 จตุธาตุวัตถาน 1 จะไม่อธิบาย จะได้อธิบายแต่อรูปกรรมฐาน 4 ดังต่อไปนี้
โยคาวจรกุลบุตรผู้เจริญอรูปกรรมฐานที่หนึ่งพึงกสิณทั้ง 9 มีปฐวีกสิณเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่งเว้นอากาศกสิณเสีย เมื่อสำเร็จรูปาวจรฌาณอันเป็นที่สุดแล้วเจริญอรูปาวจรฌาณในอรูปกรรมฐานต่อไป พึงเพิกกสิณนั้นเสีย คืออย่ากำหนดนึกหมายเอากสิณนิมิตเป็นอารมณ์ พึงตั้งจิตเพ่งนึกพิจารณาอากาศที่ดวงกสิณเกาะหรือเพิกแล้วเหลืออยู่แต่อากาศ ที่ดวงกสิณเกาะหรือเพิกแล้วเหลืออยู่แต่อากาศเปล่าเป็นอารมณ์ พิจารณาไปๆ จนอากาศเปล่าเท่าวงกสิณปรากฏในมโนทวารในกาลใด ในกาลนั้นให้โยคาวจรพิจารณาอากาศอันเป็นอารมณ์ บริกรรมว่า อนนโต อากาโส อากาศไม่มีที่สิ้นสุดดังนี้ร่ำไป เมื่อบริกรรมนึกอยู่ดังนี้เนืองๆ จิตก็สงบระงับตั้งมั่นเป็นอุปจารสมาธิไปจนถึงอัปปนาสมาธิโดยลำดับ สำเร็จเป็นอรูปฌาณที่ 1 ชื่อว่า อากาสานัญจายตนฌาณ เมื่อจะเจริญอรูปกรรมฐานที่ 2 ต่อไป พึงละอากาศนิมิตที่เป็นอารมณ์ของอรูปฌาณที่แรกนั้นเสีย พึงกำหนดจิตที่ยึดหน่วงเอาอากาศเป็นอารมณ์นั้นมาเป็นอารมณ์ต่อไป บริกรรมว่า อนนตํ วิญญาณํ วิญญาณไม่มีที่สุดดังนี้ร่ำไป จนกว่าจะได้สำเร็จอรูปฌาณที่ 2 ชื่อว่า วิญญาณัญจายตนฌาณ

เมื่อจะเจริญอรูปฌาณที่ 3 ต่อไป พึงละอรูปวิญญาณทีแรกที่เป็นอารมณ์ของอรูปฌาณที่ 2 นั้นเสีย มายึดหน่วงเอาความที่ไม่มีของอรูปฌาณทีแรก คือกำหนดว่าอรูปวิญญาณแรกนี้ไม่มีในที่ใด ดังนี้เป็นอารมณ์แล้วบริกรรมว่า นตถิกิญจิๆ อรูปวิญญาณทีแรกนี้มิได้มีมิได้เหลือติดอยู่ในอากาศดังนี้ เนืองๆ ไปก็จะได้สำเร็จอรูปฌาณที่ 3 ชื่อว่า อากิญจัญญายตนฌาณ

เมื่อจะเจริญอรูปกรรมฐานที่ 4 ต่อไป พึงปล่อยวางอารมณ์ของอรูปฌาณที่ 3 คือ ที่สำคัญมั่นว่าอรูปฌาณทีแรกไม่มีดังนี้เสีย พึงกำหนดเอาแต่ความละเอียดปราณีตของอรูปฌาณที่ 3 เป็นอารมณ์ทำบริกรรมว่า สนตเมตํ ปณีตเมตํ อรูปฌาณที่ 3 นี้ละเอียดนักประณีตนัก จะว่ามีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ ดังนี้เนืองๆ ไป ก็จะได้สำเร็จอรูปฌาณที่ 4 ชื่อว่า เนวสัญญานาสัญญายตนฌาณ

จะอธิบายฌาณและสมาบัติต่อไป ฌาณนั้นว่าโดยประเภทเป็น 2 อย่างคือ รูปฌาณและอรูปฌาณอย่างละ 4 ฌาน เป็นฌาณ 8 ประการ ฌาณทั้ง 8 นี้ เป็นเหตุให้เกิดสมาบัติ 8 ประการ บางแห่งท่านก็กล่าวว่า ผลสมาบัติ ต่อได้ฌาณมีวสี ชำนาญดีแล้ว จึงทำให้สมาบัติบริบูรณ์ขึ้นด้วยดีได้ เพราะเหตุนี้สมาบัติจึงเป็นผลของฌาณ ก็สมาบัติ 8 ประการนี้ ในภายนอกพระพุทธศาสนาก็มี แต่ไม่เป็นไปเพื่อดับกิเลส ทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ได้แต่เป็นไปเพื่อทิฏฐธรรมสุขวิหารและเป็นไปเพื่อเกิดในพรหมโลกเท่านั้น เหมือนสมาบัติของอาฬารดาบส และอุทุกดาบสฉนั้น ส่วนสมาบัติพระพุทธศาสนานี้ ย่อมเป็นไปเพื่อรำงับดับกิเลส ทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานได้ ว่าโดยประเภทเป็น 2 อย่าง คือ ผลสมาบัติและนิโรธสมาบัติ ผลสมาบัตินั้นย่อมสาธารณะทั่วไปแก่พระอริยเจ้าสองจำพวกคือ พระอนาคามีกับพระอรหันต์ที่ได้สมาบัติ 8 เท่านั้น

อนึ่งฌาณและสมาบัตินี้ ถ้าว่าโดยอรรถก็เป็นอันเดียวกัน ต่างกันแต่พยัญชนะเท่านั้น เพราะฌาณนั้นเป็นที่ถึงด้วยดีของฌานลาภีบุคคล จริงอยู่ในอรรถกถาท่านกล่าวไว้ว่า ฌานลาภีบุคคล ถึงด้วยดีซึ่งสมาบัติ คือฌาณเป็นที่ถึงด้วยดี มีปฐมฌาณเป็นต้นดังนี้ อนึ่ง ในพระบาลีแสดง อนุบุพพวิหารสมาบัติ 9 ไว้ คือปฐม ทุติย ตติย จตุตถฌาณ อากาสานัญจายตน วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาณ และสัญญาเวทยิตนิโรธ เป็นสมาบัติที่อยู่ตามลำดับของฌาณลาภีบุคคลดังนี้ อนึ่งท่านแสดง อนุบุพพนิโรธสมบัติ 9 ไว้ว่า ฌาณลาภีบุคคลเมื่อถึงด้วยปฐมฌาณ วิตก วิจารณ์ดับไป เมื่อถึงด้วยดีซึ่งตติยฌาณ ปิติดับไป เมื่อถึงด้วยดี ซึ่งจตุตถฌาณ ลมอัสสาสะปัสสาสะดับไป เมื่อถึงด้วยดีซึ่งอากาสานัญจายตนฌาณ รูปสัญญาดับไป เมื่อถึงด้วยดีซึ่งวิญญาณัญจายตนฌาณ สัญญาในอากาสานัญจายตนฌาณดับไป เมื่อถึงด้วยดีซึ่งอากิญจัญญายตนฌาณ สัญญาในวิญญานัญจายตนฌาณดับไป เมื่อถึงด้วยดีซึ่งเนวสัญญานาสัญญยตนฌาณสัญญาในอากิญจัญญายตนฌาณดับไป เมื่อถึงด้วยดีซึ่งสัญญาเวทยิตนิโรธ สัญญาและเวทนาดับไป ธรรม 9 อย่างนี้ชื่อ อนุบุพพนิโรธสมาบัติ สมาบัติเป็นที่ดับหมดแห่งธรรมอันเป็นปัจจนึกแก่ตนตามลำดับฉะนี้ คำในอรรถกถาและบาลีทั้ง 2 นี้ส่องความให้ชัดว่า ฌาณและสมาบัติ สมาบัติเป็นผล วิเศษแปลกกันแต่เท่านี้

บุคคลใดปฏิบัติชอบแล้ว บุคคลนั้นย่อมพิจารณาความเป็นไปแห่งสังขารทั้งหลาย ย่อมเห็นความเกิด ความแก่ ความเจ็บไข้ และความตายในสังขารทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมไม่เห็นความสุข ความยินดีน้อยหนึ่งในสังขารทั้งหลายเหล่านั้น ไม่เห็นซึ่งอะไรๆ ในเบื้องต้น ท่ามกลาง หรือที่สุดในสังขารทั้งหลายเหล่านั้น ซึ่งจะเข้าถึงความเป็นของไม่ควรถือเอา อุปมาเหมือนบุรุษไม่เห็นซึ่งที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ในเบื้องต้น ท่ามกลาง หรือที่สุด ในก้อนเหล็กแดงอันร้อนอยู่ตลอดวัน ที่เข้าถึงความเป็นของควรจับถือสักแห่งเดียวฉันใด บุคคลพิจารณาเห็นความเกิด ความแก่ ความเจ็บไข้ และความตายในสังขารทั้งหลายนั้น ย่อมไม่เห็นความสุข ความยินดีในสังขารเหล่านั้นแม้น้อยหนึ่งฉันนั้น

เมื่อบุคคลพิจารณาเห็นว่าเป็นของร้อนพร้อม ร้อนมาแต่ต้นตลอดโดยรอบ มีทุกข์มากมีคับแค้นมาก ถ้าใครมาเห็นได้ซึ่งความไม่เป็นไปแห่งสังขารทั้งหลายไซร้ ธรรมชาตินี้คือธรรมชาติเป็นที่ระงับแห่งสังขารทั้งปวง ธรรมชาติเป็นที่สลัดคืนแห่งอุปธิทั้งปวง ธรรมชาติเป็นที่สิ้นแห่งตัณหา ธรรมชาติเป็นที่ปราศจากเครื่องย้อม ธรรมชาติเป็นที่ระงับความกระหาย ธรรมชาติเป็นที่ดับทุกข์ ธรรมชาตินั้นเป็นที่สงบ เป็นของปราณีตดังนี้ ฐานที่ตั้งแห่งธรรมอันอุดมนี้คือ ศีล บุคคลตั้งมั่นในศีลแล้ว เมื่อกระทำในใจโดยชอบแล้ว จะอยู่ในที่ใดๆ ก็ตามปฏิบัติชอบแล้ว ย่อมทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานด้วยประการฉะนี้

เมื่อโยคาวจรตั้งธรรม 6 กอง มีขันธ์ 5 เป็นต้น มีปฏิจจสมุปบาทเป็นที่สุดได้เป็นพื้น คือพิจารณาให้รู้จักลักษณะแห่งธรรม 6 กอง ยึดหน่วงเอาธรรม 6 กองไว้เป็นอารมณ์ได้แล้ว ลำดับนั้นจึงเอาศีลวิสุทธิและจิตตวิสุทธิมาเป็นรากฐาน ศีลวิสุทธินั้นได้แก่ปาฏิโมกขสังวรศีล จิตตวิสุทธินั้นได้แก่อัฏฐสมาบัติ 8 ประการ เมื่อตั้งศีลวิสุทธิ และจิตตวิสุทธิเป็นรากฐานแล้ว ลำดับนั้นโยคาวจรพึงเจริญวิสุทธิทั้ง 5 สืบต่อไปโดยลำดับๆ เอาทิฏฐิวิสุทธิและกังขาวิตรณวิสุทธิเป็นเท้าซ้ายเท้าขวา เอามัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ และปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิเป็นมือซ้ายมือขวา เอาญาณทัสสนวิสุทธิเป็นศีรษะเถิด จึงจะอาจสามารถยกตนออกจากวัฏฏสงสารได้

ทิฏฐิวิสุทธินั่นคือปัญญาอันพิจารณาซึ่งนามและรูปโดยสามัญลักษณะ มีสภาวะเป็นปริณามธรรมมิได้เที่ยงแท้ มีปกติแปรผันเป็นต้น เป็นปัญญาเครื่องชำระตนให้บริสุทธิ์จากความเห็นผิดต่างๆ โยคาวจรเจ้าผู้ปรารถนาจะยังทิฏฐิวิสุทธิให้บริบูรณ์ พึงเข้าสู่ฌาณสมาบัติตามจิตประสงค์ ยกเว้นเสียแต่เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ เพราะละเอียดเกินไป ปัญญาของโยคาวจรจะพิจารณาได้โดยยาก พึงเข้าแต่เพียงรูปฌาณ 4 อรูปฌาณ 3 ประการนั้นเถิด เมื่อออกจากฌาณสมาบัติอันใดอันหนึ่งแล้ว พึงพิจารณาองค์ฌาณ มีวิตกวิจารณ์เป็นต้น แล้วเจตสิกธรรมอันสัมปยุตต์ด้วยองค์ฌาณนั้นให้แจ้งชัดโดยลักษณะ กิจ ปัจจุปัฏฐานและอาสันนการณ์ แล้วพึงกำหนดกฏหมายว่า องค์ฌาณและธรรมอันสัมปยุตต์ด้วยองค์ฌาณนี้ล้วนแต่เป็นนามธรรม เพราะเป็นสิ่งที่น้อมไปสู่อารมณ์สิ้นด้วยกัน แล้วพึงกำหนดพิจารณาที่อยู่ของนามธรรม จนเห็นแจ้งว่า หทัยวัตถุ เป็นที่อยู่แห่งนามธรรม

อุปมาเหมือนบุรุษเห็นอสรพิษภายในเรือน เมื่อติดตามสกัดดูก็รู้ว่าอสรพิษอยู่ที่นี่ๆ ฉันใด โยคาวจรผู้แสวงหาที่อยู่แห่งนามธรรมฉันนั้น ครั้นแล้วพึงพิจารณารูปธรรมสืบต่อไป จนเห็นแจ้งว่า หทัยวัตถุนั้นอาศัยซึ่งภูตรูปทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ แม้อุปาทานรูปอื่นๆ ก็อาศัยภูตรูปสิ้นด้วยกัน รูปธรรมนี้ย่อมเป็นสิ่งฉิบหายด้วยอันตรายต่างๆ มีหนาวร้อนเป็นต้น เมื่อโยคาวจรมาพิจารณารู้แจ้งซึ่งนามและรูปฉะนี้แล้ว พึงพิจารณาธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ให้เห็นแจ้งด้วยปัญญาโดยสังเขปหรือพิสดารก็ได้ ตามแต่ปัญญาของโยคาวจรจะพึงหยั่งรู้หยั่งเห็น ครั้นพิจารณาธาตุแจ่มแจ้งแล้ว พึงพิจารณาอาการ 32 ในร่างกาย มีเกสา โลมา เป็นต้น จนถึงมัตถลุงคังเป็นที่สุด ให้เห็นชัดด้วยปัญญา โดย วณโณ สี คนโธ กลิ่น รโส รส โอช ความซึมซาบ สณฐาโน สัณฐาน สั้นยาวใหญ่น้อย แล้วพึงประมวลรูปธรรมทั้งปวงมาพิจารณาในทีเดียวกันว่า รูปธรรมทั้งปวงล้วนมีลักษณะฉิบหายเหมือนกัน จะมั่น จะคง จะเที่ยง จะแท้ สักสิ่งหนึ่งก็มิได้มี เมื่อโยคาวจรเจ้าพิจารณาเห็นกองรูปดังนี้แล้ว อรูปธรรมทั้ง 2 คือจิต เจตสิก ก็ปรากฏแจ้งแก่พระโยคาวจรด้วยอำนาจทวาร คือ จักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย ใจ เพราะว่าจิตและเจตสิกนี้มีทวารทั้ง 6 เป็นที่อาศัย เมื่อพิจารณาทวารทั้ง 6 แจ้งประจักษ์แล้ว ก็รู้จักจิตและเจตสิกอันอาศัยทวารทั้ง 6 นั้นแน่แท้ จิตที่อาศัยทวารทั้ง 6 นั้นจัดเป็นโลกีย์ 81 คือทวิปัญจวิญญาณ 10 มโนธาตุ 3 มโนวิญญาณธาตุ 68 และเจตสิกที่เกิดพร้อมกับโลกียจิต 81 คือผัสโส เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิต อินทรีย์ มนสิการ ทั้ง 7 นี้เป็นเจตสิกที่สาธารณะทั่วไปในจิตทั้งปวง การกล่าวดังนี้มิได้แปลกกันเพราะจิตทั้งปวงนั้น ถ้ามีเจตสิกอันทั่วไปแก่จิตทั้งปวงเกิดพร้อมย่อมมีเพียง 7 ประการเท่านี้

เมื่อโยคาวจรบุคคลมาพิจารณา นามและรูปอันกล่าวโดยสรุปคือ ขันธ์ 5 แจ้งชัดด้วยปัญญาญาณตามความเป็นจริงแล้ว ย่อมถอนความเห็นผิด และตัดความสงสัยในธรรมเสียได้ ย่อมรู้จักทางผิดหรือถูกความดำเนินและไม่ควรดำเนิน แจ่มแจ้งแก่ใจย่อมสามารถถอนอาลัยในโลกทั้งสามเสียได้ ไม่ใยดีติดอยู่ในโลกไหนๆ จิตใจของโยคาวจรย่อมหลุดพ้นจากอาสวกิเลส เป็นสมุจเฉทประหารได้โดยแน่นอนด้วยประการฉะนี้แล

(มีต่อค่ะ)

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด

24 วินัยกรรม
1.อุโบสถกรรม เป็นวินัยกรรมอย่างหนึ่งที่ทรงบัญญัติให้ภิกษุทำทุกกึ่งเดือน จะละเว้นมิได้ โดยประสงค์ให้ชำระตนให้บริสุทธิ์ไม่ให้มีอาบัติโทษติดตัวประการหนึ่ง เพื่อให้รู้จักพระวินัยส่วนสำคัญที่ทรงบัญญัติไว้ จะได้ประพฤติตนถูกต้องดีประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่ง เพื่อความสามัคคีแห่งสงฆ์ ทรงกำหนดองค์แห่งความพร้อมพรั่งของอุโบสถไว้ 4 ประการ คือ ดิถีที่ 14-15 หรือวันสามัคคีวันใดวันหนึ่งเป็นองค์ที่ 1 ภิกษุครบจำนวนควรทำสังฆอุโบสถ หรือคระอุโบสถได้ นั่งชุมนุมไม่ละหัตถบาสกันในสีมาเดียวกันเป็นองค์ที่ 2 อาบัติที่เป็นสภาค คือ มีวัตถุเสมอกัน ไม่มีแก่สงฆ์เป็นองค์ที่ 3 และวัชชนียบุคคล 21 ไม่มีหัตถบาสเป็นองค์ที่ 4 อุโบสถพร้อมพรั่งด้วยองค์ 4 ประการนี้ จึงควรทำอุโบสถกรรม ควรกล่าวว่า ปตตกลบ ได้ฯ ในบรรดาวัชชนียบุคคล 21 นั้น เมื่อคนอันสงฆ์ยกวัตร์ 3 จำพวกอยู่ในหัตถบาส สงฆ์ทำอุโบสถต้องอาบัติปาจิตตีย์ คนนอกนั้นอยู่ในหัตถบาส สงฆ์ทำอุโบสถต้องทุกกฏฯ

ก่อนจะทำอุโบสถ พึงทำบุพพกิจบุพพกรณ์ก่อน ถ้าภิกษุหนุ่มไม่เป็นไข้ให้ภิกษุหนุ่มทำ หรือมีสามเณรหรือคนวัด ก็ให้สามเณรหรือคนวัดทำก็ได้
ภิกษุใดรู้อุโบสถ 9 อุโบสถกรรม 4 ปาฏิโมกข์ 2 ปาฏิโมกขุเทศ 9 หรือ 5 ภิกษุนั้นชื่อว่า ผู้ฉลาด ควรสวดปาฏิโมกข์ได้.
ภิกษุอยู่องค์เดียว พึงทำบุพพกิจบุพพกรณ์ไว้รอภิกษุอื่นจนหมดเวลา เห็นไม่มาแล้วพึงอธิษฐานว่า อชช เม อุโปสโถ ปณณรโส ถ้าเป็นวัน 14 ค่ำก็เปลี่ยน ปณณรโส เป็น จาตุททโส
ภิกษุอยู่ 2 รูป พึงทำกิจทั้งปวงไว้รอภิกษุอื่นอีก เมื่อหมดเวลาแล้วไม่มีภิกษุอื่นมา พึงแสดงอาบัติแล้วบอกบริสุทธิ์แก่กันและกันว่า ปริสุทโธ อหั อาวุโส ปริสุทโธติ มํ ธาเรหิ ผู้อ่อนพรรษากว่าพึงว่า ปริสุทโธ อหํ ภนเต ปริสุทโธติ นั ธาเรถ.
ภิกษุอยู่ด้วยกัน 3 รูป พึงทำบุพพกิจบุพพกรณ์ไว้รอภิกษุอื่น เห็นว่าไม่มีมาแน่แล้ว พึงประชุมกัน ภิกษุผู้ฉลาดรูปหนึ่งพึงตั้งคณะญัติว่า สุณนตุ เม ภนเต อายส มนตา อชชุโปสโถ ปณณรโส ยทายสมนตานํ ปตตกลลํ มยํ อญญํมญญํ ปาริสุทธิ อุโปสถํ กเรยยาม แล้วพึงบอกบริสุทธิ์ซึ่งกันและกัน คำบอกบริสุทธิ์เหมือนกล่าวแล้วข้างบนนั้นพึงใช้เฉพาะบทหลัง เปลี่ยนแต่คำ ภนเต เป็น อาวุโส ตามสมควรแก่ความเป็นผู้แก่อ่อนเท่านั้น
ภิกษุตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป พึงสวดปาฏิโมกข์ เมื่อไม่มีอันตรายพึงสวดจนจบ ถ้ามีอันตรายอย่างใดอย่างหนึ่ง พึงสวดย่อได้ อุเทศที่ยังไม่ได้สวด พึงประกาศด้วยสุตบท.

อันตรายแห่งอุโบสถอันเป็นเหตุให้สวดปาฏิโมกข์ย่อได้ มี 10 อย่างคือ 1. ราชนตราโย พระราชาเสด็จมา 2. โจรนตราโย โจรมาปล้น 3.อคคยนตราโย ไฟไหม้ 4. อุทกนตราโย น้ำท่วม 5. มนุส สนตราโย มนุษย์มามาก 6. อมนุสสนตราโย ผีเข้าภิกษุ 7. พาลนตราโย สัตว์ร้ายมา 8. สิรึสปนตราโย งูเลื้อยมาในที่ชุมนุม 9. ชีวิตนตราโย อันตรายแห่งชีวิต 10. พหมจรยนตราโย อันตรายแห่งพรหมจรรย์ เมื่ออันตราย10 อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งมีมา ถึงสวดปาฏิโมกข์ย่อตั้งแต่อุเทศที่ 2 เป็นต้นไป อันตรายมีมาในเวลากำลังสวดอุเทศใดค้างอยู่พึงประกาศด้วยสุตบท แต่อุเทศนั้นไป นิททานุเทศสวด ยังไม่จบอย่าพึงประกาศด้วยสุตบท ไม่มีอันตรายพึงสวดโดยพิสดารจนจบ

อุทเทศแห่งปาฏิโมกข์ 9 คือ นิทานุเทศ 1 ปาราชิกุทเทศ 1 สังฆาทิเสสสุทเทศ 1 อนิยตุทเทศ 1 นิสสัคคียุทเทศ 1 ปาจิจจิยุทเทศ 1 ปาฏิเทศนียุทเทศ 1 เสขิยุทเทศ 1 สมถุทเทศ 1 ปาฏิโมกขุทเทศ 5 นั้นรวมตั้งแต่ อนิยต ถึงเสขิยวัตร เข้ากันเรียกว่า วิตถาการุทเทศ จึงมีอุเทศเพียง 5 ประการ อุดทศนี้สำหรับกำหนดในการสวดย่อในเมื่อมีอันตราย ที่นิยมใช้กันอยู่กำหนดด้วยอุเทศ 9 ประการ สะดวกในการใช้ประกาศด้วยสุตบท.
สุตบทนั้น คือ ประกาศว่า อุเทศนอกจากที่ สุตา ดข อายสมนเตหิ จตตาดร ปาราชิกา ธมมา ฯลฯ สุตา โข อายสมนเตหิ สตตาธิกรณสมถา ธมมา เอตุตกนตสส ภควโต สุตตาคตํ สุตตปริยาปนนํ อนวฑฒมาสํ อุทเทสํ อาคจฉติ ตตถ สพเพเหว สมคเคหิ สมโมทนาเนหิ สิกขิตพพํ.

2.ปวารณากรรม เป็นวินัยกรรมอย่างหนึ่ง ทรงบัญญัติให้ทำในวันสิ้นสุดแห่งการจำพรรษา ด้วยจุดประสงค์คล้ายอุโบสถกรรม และทรงอนุญาตให้ทำแทนอุโบสถในวันนั้นด้วยบุพพกิจ บุพพกรณ์ลักษณะ 4 และวันประชุมทำปวารณากรรม ก็เหมือนอุโบสถกรรมทุกประการ.
ภิกษุหนึ่งรูปพึงอธิษฐานว่า อชช เม ปาวรณาปณณรสี อธิฏฐามิ ภิกษุ 2 รูป พึงปวารณากันและกันทีเดียว ไม่ต้องตั้งญัตติ ภิกษุ 3-4 รูป พึงตั้งคณะญัตติว่า สุณนตุ เม ภนเต อายสมนโต อชชปวารณา ปณณรสี ยทา ยสมนตานํ ปตตกลลํ มยํ อญญมญญํ ปวาเรยยาม แล้วพึงปวารณากันและกัน ถ้ามีภิกษุตั้งแต่ 5 รูปขึ้นไป พึงทำสังฆปวารณา ตั้งญัตติว่า สุณาตุ เม ภนเต สงโฆ อชช ปวารณา ปณณรสี ยทิ สงฆสส ปตตกลลํ สงโฆ ปวารยย แล้วพึงปวารณาตนต่อสงฆ์ที่ละรูปตามลำดับพรรษา ถ้าระบุประการให้เปลี่ยนตอนท้ายเป็นดังนี้ ถ้าปวารณา 3 หน พึงว่า เตวาจิกํ ปวาเรยย ถ้าปวารณา 2 หน พึงว่า เทววสจิกํ ปวาเรยย ถ้าปวารณาหนเดียว พึงว่า สมานวสสิกํ ปวาเรยย
คำปวารณาต่อสงฆ์ว่า สงฆม ภนเต ปวาเรมิ ทิฏเฐน วา สุเตน วา ปริสงกาย วา วทนตุ มํ อายสมน โต อนุกมปํ อุปาทาย ปสสนโต ปฏิกกริสสามิ ภิกษุอ่อนกว่าพึงเปลี่ยน อาวุโส เป็น ภนเต
คำปวารณาตนต่อคณะว่า อหํ อาวุโส อายสมนเต ปวารามิ ฯลฯ วทนตุ มํ อายสมนโต อนุกมปํ อุปาทาย ปสสนโต ปฏิกกริสสามิ ภิกษุผู้อ่อนกว่าพึงเปลี่ยน อาวุโส เป็น ภนเต ถ้า 2 รูปจึงเปลี่ยน อายสมนเต เป็น อายสมนตํ เปลี่ยน อายสมนโต เป็น อายสมา

3. จีวรกรรม ไตรจีวร คือผ้าสังฆาฏิ 1 ผ้าอุตตราสงฆ์ 1 ผ้าอันตรวาสก 1 ต้องตัดเย็บทำให้ถูกตามลักษณะให้ได้ประมาณ และย้อมสีให้ได้สี ทำพินทุกัปปะ แล้วจึงอธิษฐาน จะไม่ตัดไม่ควร เพราะทรงห้ามไว้ว่า อย่าทรงผ้าที่ไม่ได้ตัด ภิกษุใดทรง ภิกษุนั้นต้องอาบัติทุกกฏ.
วิธีตัดผ้านั้น ทรงวางแบบไว้ในคัมภีร์ขันธกะ จะแสดงแบบจีวร 5 ขัณฑ์ เป็นตัวอย่าง ขัณฑ์หนึ่งๆ แบ่งออกเป็น 2 ท่อนๆ ยาวเรียกว่า มณฑล ท่อนสั้นเรียกว่าอัฑฒมณฑล แผ่นผ้าเล็กยาวตามมณฑล ขัณฑ์กลางเรียกว่า วิวัฏฏะ แผ่นผ้าเล็กสั้นตามอัฑฒมณฑล ขัณฑ์กลางเรียกว่า อนุวิวัฏฏะ แผ่นเล็กในระหว่างมณฑลกับอัฑฒมณฑลเรียกว่า อัฑฒกุสิ แผ่นเล็กยาวตามมณฑลเรียก กุสิ อัฑฒมณฑลที่ถูกคือในเวลาห่มเรียกว่า คเวยยกะ อัฑฒมณฑลที่ถูกแข้งในเวลาห่มเรียกว่า ชังเฆยยกะ อัฑฒมณฑลที่ถูกมือในเวลาห่มเรียกว่า พาหันตะ แผ่นผ้าทาบริมโดยรอบเรียกว่า อนุวาต ทรงอนุญาตให้มีลูกดุม รังดุมติดที่มุมชายล่างกันผ้าเลิกและที่ผูกคอกันผ้าหลุด.

ประมาณกว้างยาวตามขนาดของผู้ใช้ แต่ต้องไม่เท่าหรือเกินสุคตจีวร สุคตจีวรนั้นกว้าง 6 คืบ ยาว 9 คืบ โดยคืบพระสุคต ถ้าตัดผ้าขัณฑ์ 5 ขัณฑ์ หนึ่งๆ กว้าง 24 นิ้ว ขัณฑ์ 7 ขัณฑ์ละ 17 นิ้ว 1 กระเบียด ขัณฑ์ 9 ขัณฑ์ละ13 นิ้ว 2 กระเบียด ขัณฑ์11 ขัณฑ์ละ11นิ้ว อนุวาต6 นิ้ว เมื่อประกอบกันเข้าแล้ว เป็นจีวรกว้าง 3 ศอก 1 คืบ ยาว 5 ศอก 2 กระเบียด โดยวัฑฒกีประมาณคือ นิ้ว คืบ ศอก ช่างไม้ เป็นประมาณที่พอดี พึงตัดจีวรตามแบบนี้.
สุคตประมาณนั้นคือ 5 กระเบียดครึ่ง เป็น 1 นิ้วพระสุคต 12 นิ้วเป็น 1 คืบ 2 คืบ เป็น 1 ศอก เมื่อเทียบกับวัฑฒกีประมาณเป็นดังนี้ 16 นิ้ว 1 กระเบียด ช่างไม้เป็น 1 คืบพระสุคต จีวรที่ตัดตามแบบข้างบนนี้จึงเล็กกว่าสุคตจีวร
ในผ้า 3 ผืนนี้ ทรงอนุญาตให้ทำผ้าสังฆาฏิ 2 ชั้น อุตตราสงค์ 1 ชั้น อันตรวาสก 1 ชั้น สำหรับผู้ใหม่ ถ้าเป็นผ้าเก่า ทรงอนุญาต ผ้าสังฆาฏิ 3 ชั้น 4 ชั้น ผ้าอุตตราสงค์ 2 ชั้น ผ้าอันตรวาสก 2 ชั้น ถ้าเป็นผ้าบังสกุลทรงอนุญาตให้ทำได้ตามต้องการ จะกี่ชั้นก็ได้ แล้วแต่จะพึงอุตสาหะ

:http://www.84000.org/supatipanno/dham3.html
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ