ผู้เขียน หัวข้อ: สัง. วิ. ธา. ปุ. กะ. ยะ. ปะ. (หัวใจพระอภิธรรม)  (อ่าน 8348 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด

                   

สัง. วิ. ธา. ปุ. กะ. ยะ. ปะ. (หัวใจพระอภิธรรม)
พระอภิธรรมปิฎก มีอยู่ทั้งสิ้น ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แบ่งออกเป็น ๗ คัมภีร์
เรียกโดยย่อว่า สัง. วิ. ธา. ปุ. กะ. ยะ. ปะ. (หัวใจพระอภิธรรม) ได้แก่

๑. คัมภีร์ธัมมสังคณี
          ว่าด้วยธรรมะที่ประมวลไว้เป็นหมวดเป็นกลุ่ม เรียกว่า กัณฑ์ มีทั้งหมด ๔ กัณฑ์ คือ
 ๑) จิตตวิภัตติกัณฑ์    แสดงการจำแนกจิตและเจตสิก เป็นต้น
 ๒) รูปวิภัตติกัณฑ์    แสดงการจำแนกรูป เป็นต้น
 ๓) นิกเขปราสิกัณฑ์    แสดงคำอ้างอิงว่า พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนั้นอย่างนี้
 ๔) อัตถุทธารกัณฑ์    แสดงการจำแนกเนื้อความตามแม่บทของ ปรมัตถธรรม

๒. คัมภีร์วิภังค์
          ว่าด้วยการจำแนกมาติกาในคัมภีร์ธัมมสังคณี ทั้งติกมาติกา ๒๒ หมวด และทุกมาติกา ๑๐๐ หมวด โดยแบ่งเป็น ๑๘ วิภังค์ เช่น ขันธวิภังค์ จำแนกขันธ์, ๒ อายตนวิภังค์ จำแนกอายตนะ, ธาตุวิภังค์ จำแนกธาตุ, สัจจวิภังค์ จำแนกสัจจะ, อินทริยวิภังค์ จำแนกอินทรีย์, ปฏิจจสมุปบาทวิภังค์ จำแนกปฏิจจสมุปบาท, สติปัฏฐานวิภังค์ จำแนกสติปัฏฐาน เป็นต้น

๓. คัมภีร์ธาตุกถา
          ว่าด้วยคำอธิบายเรื่องขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ และธาตุ ๑๘ โดยนำมาติกาของคัมภีร์นี้จำนวน ๑๐๕ บท และมาติกาจาก คัมภีร์ธัมมสังคณีจำนวน ๒๖๖ บท (ติกมาติกา ๖๖ บท ใน ๒๒ หมวด และทุกมาติกา ๒๐๐ บท ใน ๑๐๐ หมวด) มาแสดงด้วยนัยต่างๆ (จำนวน ๑๔ นัย) เพื่อหาคำตอบว่าสภาวธรรมบทนั้นๆ สงเคราะห์เข้าได้กับ ขันธ์เท่าไร เข้าได้กับอายตนะเท่าไร และเข้าได้กับธาตุเท่าไร เข้าไม่ได้ กับขันธ์เท่าไร เข้าไม่ได้กับอายตนะเท่าไร และเข้าไม่ได้กับธาตุเท่าไร

๔. คัมภีร์ปุคคลบัญญัติ
          ว่าด้วยการบัญญัติ (การประกาศ แสดง หรือชี้แจง) ในเรื่อง ๖ เรื่อง คือ (๑) ขันธบัญญัติ การบัญญัติเรื่องขันธ์ (๒) อายตน บัญญัติ การบัญญัติเรื่องอายตนะ (๓) ธาตุบัญญัติ การบัญญัติเรื่องธาตุ (๔) สัจจบัญญัติ การบัญญัติเรื่องสัจจะ (๕) อินทริยบัญญัติ การบัญญัติ เรื่องอินทรีย์ (๖) ปุคคลบัญญัติ การบัญญัติเรื่องบุคคล
 
๕. คัมภีร์ถาวัตถุ
          ว่าด้วยการโต้วาทะเพื่อชี้แจงแสดงเหตุผลให้เห็นว่าวาทกถา (ความเห็น) ของฝ่ายปรวาที (พวกภิกษุในนิกายที่แตกไปจาก เถรวาท ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช) จำนวน ๒๒๖ กถา ล้วนผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากพระพุทธพจน์ดั้งเดิมที่ภิกษุฝ่ายเถรวาทยึดถือ ปฏิบัติอยู่ วิธีการโต้วาทะใช้หลักตรรกศาสตร์ที่น่าสนใจมาก นับเป็น พุทธตรรกศาสตร์ที่สมบูรณ์แบบที่สุด ซึ่งมีในคัมภีร์นี้เท่านั้น

๖. คัมภีร์มก
          ว่าด้วยการปุจฉา-วิสัชนา สภาวธรรม ๑๐ หมวด ด้วย วิธีการยมก คือการถาม-ตอบ เป็นคู่ๆ ซึ่งเป็นวิธีการเฉพาะ ของคัมภีร์ยมก สภาวธรรม ๑๐ หมวด ได้แก่ (๑) หมวดมูล (สภาวธรรมที่เป็น เหตุ) (๒) หมวดขันธ์ (๓) หมวดอายตนะ (๔) หมวดธาตุ (๕) หมวด สัจจะ (๖) หมวดสังขาร (๗) หมวดอนุสัย (๘) หมวดจิต (๙) หมวด สภาวธรรมในกุสลติกะ เรียกสั้นๆ ว่า หมวดธรรม (๑๐) หมวดอินทรีย์ สภาวธรรม ๑๐ หมวดนี้ทำให้แบ่งเนื้อหา ของคัมภีร์ยมกออกเป็น ๑๐ ยมก เรียกชื่อตามหมวดสภาวธรรม ที่เป็นเนื้อหา คือ (๑) มูลยมก (๒) ขันธยมก (๓) อายตนยมก (๔) ธาตุยมก (๕) สัจจยมก (๖) สังขาร ยมก (๗) อนุสยยมก (๘) จิตตยมก (๙) ธัมมยมก (๑๐) อินทริยยมก

๗. คัมภีร์ปัฏฐาน
          ว่าด้วยการจำแนกสภาวธรรมแม่บท หรือ มาติกา ทั้ง ๒๖๖ บท (๑๒๒ หมวด) ในคัมภีร์ธัมมสังคณี โดยอำนาจปัจจัย๒๔ ประการ ๓ มี เหตุปัจจัย เป็นต้น เพื่อให้เห็นว่าสภาวธรรมทั้งหลาย ปรากฏเกิดขึ้น ตามเหตุ ตามปัจจัยทั้งสิ้น มิได้เกิดจากการบงการของ ผู้ใด แต่เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ ที่เรียกว่า จิตตนิยาม กรรมนิยาม และธรรมนิยาม
         
          สรุปแล้ว พระอภิธรรมก็คือ ธรรมะหมวดที่ ๓ ในพระไตรปิฎกที่สอนให้รู้จักธรรมชาติอันแท้จริงที่มีอยู่ในตัวเราและสัตว์ทั้งหลาย อันได้แก่จิต เจตสิก รูป และรู้จักพระนิพพานซึ่งเป็นจุดหมาย อันสูงสุดในพระพุทธศาสนา
          ธรรมชาติทั้ง ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพานนี้รวมเรียกว่า ปรมัตถธรรม
หากแปลตามศัพท์ คำว่า อภิธัมม หรือ อภิธรรม แปลว่า ธรรมอันประเสริฐ, ธรรมอันยิ่ง, ธรรมที่อยู่แท้จริงปราศจากสมมุติ
          เนื้อความในพระอภิธรรมเกือบทั้งหมด จะกล่าวถึงปรมัตถธรรมล้วน ๆ โดยไม่มี บัญญัติธรรม (สมมุติโวหาร) เข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นจึงอยากให้ทำความเข้าใจไว้ในเบื้องต้นก่อนว่า ปรมัตถธรรมและบัญญัติธรรม นั้นต่างกันอย่างไร

[บางส่วนจาก.. พระอภิธรรมคืออะไร]



: http://www.buddhism-online.org/ContentSect01A.htm
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ