เร่ง!แผนรับมือไทยผจญภัยพิบัติ
มหันตภัยธรรมชาติที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงและเกิดขึ้นถี่ในหลายประเทศทั่วโลก เลี่ยงไม่ได้ที่จะเชื่อมโยงมาถึงเมืองไทย โดยเฉพาะคำถามที่ว่าในภาพรวมเราจะมีความเสี่ยงกับภัยประเภทไหน... กี่มากน้อย
ในรอบ 60 ปีที่ผ่านมานี้ จำนวนและความถี่ของภัยพิบัติที่เกิดขึ้นบนโลกได้เพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยมี เฉลี่ยปีละ 50-60 ครั้ง...ปัจจุบันมีความถี่มากขึ้นปีละ 400 ครั้ง
ลดช่องว่างเวลาในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา...ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นเฉพาะในทวีปเอเชีย มีจำนวนความถี่มากถึง 63% ของจำนวนภัยที่เกิดขึ้นทั่วโลก
หมายถึงว่า...ในทวีปเอเชียมีพื้นที่เสี่ยงภัยมากกว่าในทวีปอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นรอยเลื่อนที่ผ่านจีน พม่า อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และแถบเอเชียกลาง หรือไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ชายฝั่งที่ยาวไกล...สามเหลี่ยมปากแม่น้ำต่างๆ และเชิงเขา ซึ่งล้วนเป็นพื้นที่ที่อ่อนไหว ได้รับผลกระทบต่อลมฟ้าอากาศที่แปรปรวนได้ง่ายๆ
แม้ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในเอเชียจะมีมากกว่าครึ่ง แต่ที่น่าสนใจ ปริมาณผู้เสียชีวิตกลับมีจำนวนมากถึง 80% ของจำนวนผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติทั่วโลก
ช่วงสิบปีที่ผ่านมา มีคนเสียชีวิตถึง 900,000 คน จากเหตุการณ์ต่างๆ อาทิ สึนามิ 2547 อินโดนีเซีย 220,000 คน, ไซโคลนนากิสในพม่า 138,000 คน, แผ่นดินไหว 2551 ในจีน 87,000 คน, แผ่นดินไหวในปากีสถาน 2548... 73,000 คน, แผ่นดินไหวในอิหร่าน 2546...26,000 คน
น้ำท่วมอินเดีย 2552...992 คน, ไต้ฝุ่นมรกตไต้หวัน 2552...630 คน, ๆไต้ฝุ่นพาม่า ฟิลิปปินส์ 539คน, ไต้ฝุ่นออนคอยในฟิลิปินส์ 501 คน, พายุรุนแรงในบังกลาเทศ 2534...130,000 คน
ดร.พิจิตต รัตตกุล ผู้อำนวยการบริหาร ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย ADPC บอกว่า สาเหตุที่คนตายในเอเชียมากเป็นเพราะขีดความสามารถในการเตรียมความพร้อมในการรับมือภัยพิบัติ และการบริหารจัดการภัยพิบัติด้อยกว่า
นั่นหมายถึง...ภูมิคุ้มกันของประเทศตะวันตก มีมากกว่าประเทศในแถบเอเชีย
มีหลักฐานที่เปรียบเทียบกันว่า ภัยพิบัติที่เกิดจากพายุรุนแรง มีความเร็วของลมเท่าๆกัน...กรณีไต้ฝุ่นสิดในบังกลาเทศที่มีคนตายนับหมื่น และไซโคลนคาทีน่า ที่มีคนตายเรือนร้อยในประเทศอเมริกา
ปัญหาที่ชาวเอเชียจะต้องขบคิดและตีโจทย์ให้แตกมีว่า "จะทำอย่างไร ให้ประเทศในแถบเอเชียมีภูมิคุ้มกันต่อภัยพิบัติเพิ่มขึ้น เพื่อความเสียหายและความเสี่ยงจะได้ลดน้อยลง"
ถ้าจัดอันดับความถี่ของภัยพิบัติประเภทต่างๆที่เกิดขึ้นในเอเชียจะพบว่า อันดับ 1...ที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดคือ "น้ำท่วม" ไล่เรียงลงมา ได้แก่ ภัยจากพายุรุนแรง...แผ่นดินไหวมีความถี่ที่เกิดขึ้นเป็นอันดับที่สาม โรคระบาด, ดินถล่ม, ความแห้งแล้ง, อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงรุนแรง และสุดท้ายคือภัยจากภูเขาไฟ
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า แผ่นดินไหวแม้จะเกิดขึ้นถี่เป็นอันดับที่ 3 แต่ก็ทำให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง เพราะกว่าร้อยละ 50 ของผู้เสียชีวิต...มาจากเหตุแผ่นดินไหว
ทิศเหนือของไทย แม้ห่างไกลจากรอยเลื่อนใหญ่ๆ ก็ยังจะต้องระมัดระวังแรงกระทบจากรอยเลื่อนใหญ่ในพม่า...รวมถึงรอยเลื่อนเล็กๆที่มีอยู่ในประเทศ
หันมาดูความเสี่ยงจากพายุรุนแรงในระดับต้นๆ ได้แก่ ริมฝั่งทะเลของจีนด้านตะวันออก, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม, ฮ่องกง, มาเก๊า, ไต้หวัน, บังกลาเทศ, สามเหลี่ยมแม่น้ำอิรวะดีในประเทศพม่า, สุราษฎร์ธานี, ชุมพร, ประจวบคีรีขันธ์ ในไทย และปากีสถาน
"ประเทศไทย"... พอจะสรุปบทเรียนจากในอดีตได้ว่า ความเสี่ยงของภัยที่จะเกิดขึ้นบ่อยๆ อันดับแรกๆ ยังคงเป็นน้ำท่วม, ตามมาด้วยพายุรุนแรงของพื้นที่ ภาคใต้ตอนบน และภาคตะวันออก ส่วนภัยที่ต้องระวังผลกระทบอย่างมากในปัจจุบันคือ...
ภัยจาก... "แผ่นดินไหว" และ "สึนามิ"
ปัจจุบันปรากฏการณ์แผ่นดินไหวบริเวณใกล้ๆบ้านเรามีเพิ่มมากขึ้นอย่างผิดสังเกตุ การสร้างภูมิคุ้มกันของประเทศจึงต้องเพิ่มระดับความเข้ม เพื่อลดความเสียหาย
ที่ควรอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณา...ประเด็นแรก คือ "ผังเมือง" จะต้องจัดใหม่ในเขตพื้นที่ของความเสี่ยงสูง เช่น ชายฝั่งทะเล...เชิงเขา...ที่ราบลุ่มของหลายลุ่มน้ำ ที่จะต้องย้ายโรงเรียน โรงพยาบาล หรือบ้านเรือนออกไปเสียแต่เนิ่นๆ
ประเด็นถัดมา...ระบบเตือนภัยจากภัยพิบัติทุกชนิด ที่ต้องเป็นระบบเตือนภัยที่แม่นยำ และที่สำคัญสามารถถ่ายทอดไปจนถึงชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ...เข้าใจง่าย เช่น สัญญาณเสียงทุกระบบ หรือแม้แต่การใช้ระฆังวัด, เคาะเกราะไม้ไผ่
ประเด็นที่สาม...การออกแบบการก่อสร้างอาคาร ถนนหนทาง ระบบสาธารณูปโภคต่างๆขึ้นมาใหม่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงภัย ให้เป็นสิ่งก่อสร้างที่มีความทนทานและได้รับผลกระทบน้อย รวมถึงเส้นทางอพยพ
ประการสุดท้าย การเร่งสร้างบุคลากรที่มีความเข้าใจให้ไปเผยแพร่ความสำคัญ วิธีการจัดการภัยพิบัติทั้งก่อน ระหว่าง และหลังเหตุการณ์อย่างพอเพียง พร้อมที่จะรับมือ เพื่อให้ทุกตารางนิ้วของพื้นที่เสี่ยงภัย มีศักยภาพช่วยเหลือตัวเองได้
ประเด็นนี้...เป็นข่ายงานที่ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย ADPC ดำเนินการมาต่อเนื่องตลอด 25 ปีที่ผ่านมา...อย่างกรณีศึกษารอยเลื่อนแผ่นดินไหวในพม่า จะส่งผลทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้แค่ไหน
ต่อเนื่องไปถึงว่า เมืองใด พื้นที่ใด ที่มีความเสี่ยงสูง แล้วจะเจาะข้อมูลละเอียดว่าในเมืองนั้น อาคาร สาธารณูปโภค มีกี่ประเภท อยู่ตรงไหน ชั้นดินที่อยู่ใต้เมืองจะมีการขยายแรงแผ่นดินไหวอย่างไร ซึ่งแต่ละที่ไม่เท่ากัน ซึ่งผลสุดท้าย เราจะได้แผนที่เสี่ยงภัย
และ...นอกจากให้ความรู้ ADPC ยังมี "Situation Room" เป็นห้องที่เฝ้ามองภัยพิบัติทั่วโลก ซึ่งจะเน้นในแถบเอเชีย และภาคพื้นแปซิฟิก
ดร.พิจิตต บอกอีกว่า การเรียนรู้จากเหตุการณ์สึนามิปลายปี 2547 เรารู้แล้วว่าความเสี่ยงภัยเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเรียนรู้ และต้องรู้จักมันก่อนที่เหตุการณ์จริงจะเกิดซึ่งนักวิทยาศาสตร์ หรือหลายภาคส่วนต้องศึกษา ไม่ควรรอให้เกิดแล้วจึงมาศึกษา
ส่วนรัฐเองก็ต้องเอาผลการศึกษาความเสี่ยงมาจัดทำเป็นแผนและหลักสูตร เพื่อเตรียมความพร้อมชุมชนว่าตรงไหน พื้นที่ไหนมีความเสี่ยงมาก เสี่ยงน้อย และต้องผลักดันความเจริญต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ให้เกิดในพื้นที่ที่จะก่อให้เกิดภัยให้น้อยที่สุด
"ไม่ใช่รู้ว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เสี่ยงภัย แล้วยัดเยียดความเจริญเข้าไป ส่วนประชาชนเองก็ควรตระหนักในความเสี่ยง และต้องรู้ว่าพื้นที่ใดเป็นพื้นที่เสี่ยงภัย พร้อมที่จะปฏิบัติตัวให้ถูกต้องถ้ามีอะไรเกิดขึ้น"
ทิศทางใหม่... "เราต้องไม่ตกใจ ไม่นอนใจ แต่ต้องปฏิบัติการทันที"
เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศญี่ปุ่น เราอาจคิดว่าประเทศญี่ปุ่นไม่มีความเตรียมพร้อมจึงเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ซึ่งจริงๆแล้วตรงกันข้าม...ประเทศญี่ปุ่นมีการเตรียมความพร้อมมากที่สุดในโลก เพราะเขาอยู่กับเหตุการณ์แผ่นดินไหวมานาน
หลายคนอาจลืมไปว่า...แผ่นดินไหวเกิดขึ้น 9.0 ริกเตอร์ ซึ่งใหญ่มากเมื่อเทียบกับที่เฮติ ที่เกิดขึ้นเพียง 7.0 ริกเตอร์ ซึ่งที่เฮติบ้านเมืองพังยับเยิน
ระดับความแรง 9.0 ริกเตอร์ กับ 7.0 ริกเตอร์...มีการปล่อยพลังงานมากกว่ากันถึง 1,000 เท่า ขณะเดียวกันมาเทียบความเสียหายที่ญี่ปุ่นส่วนใหญ่เกิดจากคลื่นสึนามิชายฝั่ง ซึ่งเขามีเวลาเตือนภัยเพียง 3 นาทีครึ่งเท่านั้น
ย้อนมองชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกภาคใต้ไทยมีความเสี่ยงต่อสึนามิสูงสุดเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ ปัจจุบันเตรียมการณ์ได้ในระดับหนึ่งแล้ว ทั้งระบบเตือนภัย ให้ความรู้ ฝึกซ้อม...ประชาชน เทียบกับประเทศอื่นๆ ถือว่าเรามีการเตรียมพร้อมมากกว่าเยอะ
แต่มากกว่านี้...ที่เราควรทำได้ ดร.พิจิตต มองว่า...รัฐเองควรที่จะมีการเตรียมความพร้อมทุกช่วงที่จะสามารถมีทีมกู้ภัยที่เตรียมพร้อมในการให้การช่วยเหลือไปยังพื้นที่ที่เกิดเหตุและประสบภัย ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติขั้นรุนแรง ให้ทุกนาที...นั้นมีค่า
"ไม่ใช่คนนั้นทำนั่น คนนี้ทำนี่ แต่ต้องวางหลักการหากเกิดความรุนแรง หน่วยงานใดควรทำอะไร ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยก็ต้องมีความรู้ ว่าต้องทำอะไรก่อนหลัง"
ยุทธศาสตร์ในอนาคต ADPC จะขยายขอบเขตช่วยเหลือด้านภัยพิบัติ ด้วยการใช้ประโยชน์จากภาพถ่ายดาวเทียม เพื่อศึกษาว่าจุดใดมีความเสียหายมาก และเป็นจุดที่ต้องการความช่วยเหลือด่วนมากกว่าจุดอื่นๆ
ภารกิจที่ว่านี้ ไม่ใช่แค่การรักษาชีวิตในยามพิบัติภัย หากแต่เป็นการป้องกันความเสียหายทางเศรษฐกิจ หรือป้องกันภาวะความเสียหายของพื้นที่เพาะปลูก อันจะนำมาสู่ความยากเข็ญ...ในภาวะอาหารโลกขาดแคลน.
http://www.thairath.co.th/column/pol/page1scoop/158377