ธรรมะเพื่อการละวางอัตตาตัวตน ชุดที่ 1บรรยายโดย อาจารย์สุดใจ ชื่นสำนวนการปล่อยวางธรรมะ ในขั้นปล่อยวาง ก็คือ
การเห็นการเกิดขึ้นของอารมณ์ตามธรรมชาติ
เห็นการปรุงแต่งไปตามกลไกของธรรมชาติ และไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวบังคับบัญชาธรรมชาตินั้นๆ
อารมณ์ ที่มันเกิดขึ้นตามกลไกของธรรมชาตินั้น มันก็เกิดซ้ำๆเช่นนี้มานานแล้ว
และขณะนี้ก็ยังคงเกิดอยู่ และก็จะยังเกิดขึ้นไปอีกในอนาคตต่อๆไปเบื่อ บ้างไหม? กับอารมณ์ที่รุ่มร้อน วิตกกังวล หดหู่ หม่นหมอง มึนซึม ที่มันเกิดขึ้นกับเราซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า มานานเหลือเกินแล้ว
ทำให้จิตเราหวั่นไหวขึ้นลงไปกับอารมณ์เหล่านี้ไม่เคยหยุดนิ่ง ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ ยิ่งอยากสงบ ก็ยิ่งฟุ้งซ่าน ยิ่งอยากเลิกกังวล ก็ยิ่งคิดยิ่งกังวลไม่เคยหยุด อารมณ์ก็ยิ่งร้อนรุ่มทุรนทุราย จะหาความสงบไม่ได้เลยในภาวะนั้นๆ
เพราะเราห้ามมันไม่ได้ เราสั่งมันไม่ได้ มันไม่อยู่ในบังคับบัญชาของใคร แต่เรารู้จักมันได้ เราเรียนรู้มันและเข้าใจมันตามที่มันเป็นนั่นแหละ ที่จะทำให้เราปล่อยวางมันได้ เพราะว่าเราอยู่ใกล้กับมันมานานเหลือเกิน และตอนนี้มันก็ยังอยู่กับเรา ถ้าคิดว่า ยังต้องอยู่กับมันไปอีกไม่รู้จะนานเท่าไรนั้น ถ้าต้องขึ้นลง วิ่งตามมันไปเรื่อยๆ แค่คิดก็เหนื่อยเหลือเกิน
เรามาลองปล่อยวางอารมณ์เหล่านั้นกันดูบ้าง ดังที่หลวงพ่อชา สุภัทโท (พระโพธิญาณเถร)
ท่านได้อุปมาอุปไมยไว้ว่า
อารมณ์ทั้งหลายเหมือนกับงูเห่าที่มีพิษร้าย
ถ้าไม่มีอะไรขวาง มันก็เลื้อยไปตามธรรมชาติของมัน แม้พิษมันจะมีอยู่
มันก็ไม่แสดงออกมา ไม่ได้ทำอันตรายเรา เพราะเราไม่ได้เข้าไปใกล้มัน
เพราะ อารมณ์ มันก็ต้องเกิดอย่างนั้นอยู่แล้ว ตามเหตุปัจจัย เราแค่ยืนดูอยู่ห่างๆ แม้มันจะยังเกิดขึ้นอยู่ แต่มันก็ทำอะไรเราไม่ได้ เหมือนแม่น้ำที่กำลังเชี่ยวกราก ถ้าเรายืนดูอยู่บนฝั่ง เราก็จะเห็นน้ำนั้นมันก็ไหลเชี่ยวไปเรื่อยๆ ปะทะกับสิ่งต่างๆ แล้วพัดพาสิ่งนั้นๆไปด้วย เมื่อเรายืนดูเราก็เห็น แต่ถ้าเผลอลงไปในน้ำนั้น แม้จะว่ายน้ำเป็นก็ยังคงต้องเปียกปอน เหน็ดเหนื่อยในการว่ายเข้าหาฝั่งอยู่ดี ถ้า เรายังไม่รู้เท่าทันธรรมชาติของอารมณ์ ก็จะเข้าไปพยายามที่จะดับมัน ไม่ให้มันร้อนรน เศร้าหมอง และถ้าพยายามแล้วมันไม่ดับ ก็จะมีตัวเราเป็นผู้ทุกข์ตามอารมณ์นั้นๆ แต่ถ้ารู้ และเข้าใจในอารมณ์นั้นๆ ว่ามันก็เกิดเช่นนั้นเอง ไม่เข้าไปห้าม ไม่เข้าไปขวาง ไม่เข้าไปดับมัน มันก็ทำอะไรเราไม่ได้ ตัวเราผู้ทุกข์ก็ไม่มี แม้มันกำลังแสดงอารมณ์หดหู่ เศร้าหมอง วิตกกังวล ก็ดูความหดหู่เศร้าหมองวิตกกังวลนั้นตามที่มันกำลังเกิดขึ้นอยู่แต่ มิใช่ว่า เข้าใจแล้วอารมณ์หดหู่ เศร้าหมอง วิตกกังวล จะหายไปนะคะ มันไม่หายไปหรอกในขณะนั้น เพราะแม้เราเข้าใจกลไกการปรุงแต่งของมันแล้วก็ตาม แต่เพราะมันเกี่ยวเนื่องกันหลายส่วน แต่ละส่วนมันก็ทำงานตามกลไกของมัน เมื่อคิดกังวลแล้ว มันก็ต้องมีอารมณ์หดหู่เศร้าหมองวิตกกังวลตามสารเคมีนั้น แม้เราจะรู้จะเข้าใจ แต่ก็ยังมีละอองของภาวะอารมณ์ขณะนั้นมาครอบคลุมอยู่ดี จึงได้แต่มองเห็นภาวะอารมณ์ขณะนั้นๆ แต่ไม่ได้เป็นความทุกข์นั่นเอง
เหมือน เรารู้สึกร้อนๆหนาวๆคล้ายจะเป็นไข้ แต่ยังไม่ได้เป็น ก็กินยาแก้ไข้หวัด แล้วทำงานต่อ แต่ยานั้นมีผลทำให้เกิดอาการง่วงนอน เพราะฤทธิ์ของยามีอาการง่วงนอนร่วมอยู่ด้วย ดังนั้น แม้เราจะไม่อยากนอน อยากทำงาน แต่เมื่อกินยาเข้าไปแล้ว สารเคมีออกฤทธิ์แล้ว ก็ทำให้เราง่วงนอน อยากนอน และต้องหลับในที่สุด แม้จะอยากหรือไม่อยากก็ต้องหลับอยู่ดีเพราะสารเคมีทำงานตรงไปตรงมา
คน ที่ต้องผ่าตัด เมื่อเขาให้ดมยาสลบ แม้จะฝืนอย่างไรก็ต้องสลบอยู่ดี
ร่างกายไม่สามารถต้านทานต่อสารเคมีที่มาทำปฏิกิริยากับกลไกในร่างกายได้
ดัง นั้น ถ้าเราศึกษาให้ดี ดูให้ดี เรานำวิทยาศาสตร์ที่วิเคราะห์วิจัยแล้ว มาประยุกต์ใช้เพื่อเรียนรู้ร่างกายของเรา ขันธ์ห้าของเรา อารมณ์ของเราที่เกิดขึ้นในแต่ละขณะ แต่ละนาทีแล้ว ก็จะเห็นกลไกที่ ทำไม? ธรรมะจึงบอกว่า ทุกอย่างเป็นธรรมชาติ ทุกอย่างไม่ใช่ตัวตน ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัย เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เมื่อคิดเสียใจ อารมณ์ก็หดหู่ เศร้าหมอง มันรองรับกันตรงไปตรงมาตามเหตุตามปัจจัยอย่างนี้ เป็นเรื่องธรรมดา
ถ้า เป็นแค่ผู้ดู ที่ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับภาวะอารมณ์ในขณะนั้น ความหดหู่เศร้าหมอง ความเบื่อหน่าย ความห่อเหี่ยวใจ ที่เราคิดว่าเป็นความทุกข์ หรือแม้แต่ความพออกพอใจ ที่เราคิดว่าเป็นความสุขนั้น เมื่อดูก็จะเห็นว่ามันเป็นเพียงภาวะอารมณ์ลักษณะหนึ่ง กำลังดำเนินกลไกอยู่ในขันธ์ 5 ขณะนี้เท่านั้น และเมื่อเห็นมันจริงๆ อารมณ์เหล่านี้ก็ทำอันตรายเราไม่ได้เช่นกัน แม้มันจะยังคงแสดงอาการหดหู่เศร้าหมองเช่นนั้นอยู่ก็ตาม
อย่างที่
หลวงพ่อชา สุภัทโท ท่านได้อุปมาอุปไมยไว้ว่า
งูเห่า ก็เป็นไปตามเรื่องของงูเห่า มันก็อยู่อย่างนั้น
ถ้าหากเป็นคนที่ฉลาดแล้ว ก็จะปล่อยหมด
สิ่งที่ดีก็ปล่อยมันไป สิ่งที่ชั่วก็ปล่อยมันไป
สิ่งที่ชอบใจก็ปล่อยมันไป
เหมือนอย่างเราปล่อยงูเห่าที่มีพิษร้ายนั้น
ปล่อยให้มันเลื้อยของมันไป
มันก็เลื้อยไปทั้งที่มีพิษอยู่ในตัวมันนั่นเองธรรมะ ก็คือธรรมชาติ การมองเห็นความเป็นธรรมชาติของขันธ์ห้า
เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในการที่จะปล่อยวาง
ไม่ยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ห้า ก็เพราะเข้าใจในกลไกของมันนั่นเอง
ดัง ที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ ในกระบวนการขันธ์ห้านั้น ก็เป็นธรรมชาติเช่นเดียวกัน
แต่มีมุมมองที่กว้างขึ้นอีกในรูปแบบวิทยาศาสตร์ผสมผสานกันไปด้วย
จึงเป็นในรูปแบบของวิทยาศาสตร์ทางจิต ที่สามารถเข้าใจได้เป็นรูปธรรม
คือมีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์เข้ามาสนับสนุนกลไกของขันธ์ห้าที่ได้กล่าวไว้ นั่นเอง
บางครั้ง การมองเห็นธรรมชาติตามความเป็นจริงนั้น ก็สามารถทำให้เราเข้าใจ
ถึงกลไกของธรรมชาติ และไม่อยากที่จะไปบังคับบัญชาให้ธรรมชาติเป็นไปอย่างที่เราต้องการ
ธรรมชาติย่อมปรุงแต่งให้แต่ละบุคคล เป็นไปตามแต่ละเหตุปัจจัยนั้นๆที่เขาได้สะสมมา
ไม่ได้มีใครจะอยากเป็นหรือไม่อยากเป็นเช่นนั้น
.........................
........... ฯลฯ
อ่านธรรมะบรรยายทั้ง ๓ ชุด -http://dhamma-human.blogspot.com/2011/05/1.htmlอนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ