คลังธรรมปัญญา > หนังสือธรรมะ

พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์ โดย รอง ศจ.แสง จันทร์งาม

<< < (4/4)

ฐิตา:




ตอน ๑๔ไม่ใช่อรหันต์เสมอไป
ปัญหา ผู้ที่รู้เห็นปฏิจจสมุปบาทอย่างแจ่มแจ้งทั้งสายทุกข์ ทั้งสายดับทุกข์ อย่างละเอียดถี่ถ้วน จะจัดว่าเป็นพระขีณาสพได้หรือยัง ?

พระนารทะตอบ "ท่านผู้มีอายุ ข้อว่าภพดับเป็นนิพพาน ผมเห็นดีแล้วด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง แต่ว่าผมไม่ใช่พระอรหันตขีณาสพ ท่านผู้มีอายุเปรียบเหมือนบ่อน้ำในหาทางกันดาร ที่บ่อนั้นไม่มีเชือก โพงจะตักน้ำก็ไม่มี ลำดับนั้นบุรุษถูกความร้อนแผดเผา เหน็ดเหนื่อย หิวกระหายเดินมาเขามองดูบ่อน้ำนั้นก็รู้ว่ามีน้ำ แต่จะสัมผัสด้วยกายไม่ได้ ฉันใด ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ข้อว่าภพดับเป็นนิพพาน ผมเห็นดีแล้วด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง แต่ว่าผมไม่ใช่พระอรหันตขีณาสพ ฉันนั้นเหมือนกัน"
โกสัมพีสูตร


ดาราศาสตร์ในพุทธศาสนา
ปัญหา พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงทรรศนะเกี่ยวกับโลกและจักรวาลไว้อย่างไรบ้าง ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนอานนท์ จักรวาลหนึ่งมีกำหนดเท่ากับโอกาส (ช่องว่าง) ที่พระจันทร์และพระอาทิตย์โคจรทั่วทิศสว่างไสวรุ่งโรจน์ โลกมีอยู่พันจักรวาล ก่อนในโลกพันจักรวาลนั้นมีพระจันทร์พันดวง มีพระอาทิตย์พันดวง มีขุนเขาสินเนรุพันหนึ่ง มีชมพูทวีปพันหนึ่ง มีอมรโคยานทวีปพันหนึ่ง มีอุตตรกุรุทวีปพันหนึ่ง มีปุพพวิเทหทวีปพันหนึ่ง มีมหาสมุทร ๔ พัน มีท้าวมหาราช ๔ พัน มีเทวโลกชั้นจาตุมหาราชิกาพันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นดาวดึงส์พันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นยามาพันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นดุสิตพันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นนิมมานรดีพันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นปรนิมมิตวสวัสดีพันหนึ่ง มีพรหมโลกพันหนึ่ง ดูก่อนอานนท์ นี้เรียกว่าโลกธาตุอย่างเล็กมีพันจักรวาล

โลกคูณโดยส่วนพันแห่งโลกธาตุอย่างเล็ก ซึ่งมีพันจักรวาลนั้น นี้เรียกว่าโลกธาตุอย่างกลาง มีล้านจักรวาลโลกคูณโดยส่วนพันแห่งโลกธาตุอย่างกลางนั้น นี้เรียกว่าโลกธาตุอย่างใหญ่ ประมาณแสนโกฏิจักรวาล
"ดูก่อนอานนท์ ตถาคต เมื่อมุ่งหมาย พึงทำโลกธาตุอย่างใหญ่ ประมาณแสนโกฏิจักรวาล ให้รู้แจ้งได้ด้วยเสียง หรือทำให้รู้แจ้งได้เท่าที่มุ่งหมาย...ฯ"
จูฬนีสูตร


วิธีเข้าถึงแก่นพระพุทธศาสนา
ปัญหา ได้ทราบว่าวิมุติคือความหลุดพ้นจากอาสวะกิเลสทั้งปวง เป็นแก่นของพระพุทธศาสนา เราจะปฏิบัติธรรมอะไรโดยลำดับ จึงจะบรรลุถึงวิมุตินั้นสมประสงค์ ?

พุทธดำรัสตอบ ..."โพชฌงค์ ๗ ประการแล อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมยังวิชชาแลวิมุติให้บริบูรณ์
"...สติปัฏฐาน ๔ แล อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ประการให้บริบูรณ์ "...สุจริต ๓ ประการแล อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์
"...อินทรีย์สังวรแลอันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมยังสุจริต ๓ ประการให้บริบูรณ์..."
กุณฺฑลิยสูตร


ฆราวาสก็มีหวังได้ลิ้มรสนิพพาน
ปัญหา เท่าที่ได้ฟังมานั้นการที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานรู้สึกว่าเป็นกิจที่ทำได้ยากมาก จะต้องสละโลกออกบวช ไปอยู่ในป่าบำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญา อย่างเคร่งครัดซึ่งน้อยคนจะกระทำได้ สำหรับฆราวาสที่ยังต้องอยู่ครองเรือนมีหน้าที่ในการเลี้ยงครอบครัว จะปฏิบัติอย่างไรจึงจะมีโอกาสได้ลิ้มรสแห่งนิพพานสุขบ้าง ?

พุทธดำรัสตอบ "...สาวกของพระอริยเจ้าในศาสนานี้ย่อมพิจารณาเห็นว่า เราปรารถนาชีวิตไม่คิดอยากตาย ปรารถนาแต่ความสุขความสบายเกลียดหน่ายต่อความทุกข์ บุคคลผู้ใดจะพึงปลงเราเสียจากชีวิต ข้อนั้นจะไม่พึงเป็นที่รักใคร่ชอบใจของเราเลย ก็แล ถ้าเราจะพึงปลงผู้อื่นเสียจากชีวิต ถึงข้อนั้นก็จะไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของผู้นั้น ธรรมอันใดที่ไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของเรา ธรรมอันนั้นก็ไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของคนอื่น... พิจารณาเห็นอย่างนี้แล้ว ตนก็เว้นเสียจากปาณาติบาต แลชักชวนผู้อื่นให้เว้นเสียจากปาณาติบาต แลกล่าวพรรณาคุณของการเว้นจากปาณาติบาต...

"บุคคลใดจะพึงถือเอาสิ่งของที่เราไม่ให้ซึ่งนับว่าเป็นขโมย ข้อนั้นก็ไม่พึงเป็นที่รักใคร่ชอบใจของเราเลย ก็แล เราจะถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ให้ ถึงข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของผู้อื่น... พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ตนก็เว้นเสียจากอทินนาทานและชักชวนผู้อื่นให้เว้นเสียจากอทินนาทาน และกล่าวพรรณาคุณของการเว้นจากการอทินนาทาน...

"บุคคลใดจะประพฤติละเมิดในภรรยาของเรา ข้อนั้นไม่พึงเป็นที่รักใคร่ชอบใจของเราเลย ก็แลเราจะพึงประพฤติละเมิดในภรรยาของผู้อื่น ถึงข้อนั้นก็ไม่พึงเป็นที่รักใคร่ชอบใจของผู้อื่น... พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ตนก็เว้นเสียจากกาเมสุมิจฉาจารแลชักชวนผู้อื่นให้เว้นเสียจากกาเมสุมิจฉาจาร แลพรรณาคุณของการเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร...

"บุคคลใดจะพึงทำลายประโยชน์ของเราเสียด้วยการพูดปด ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของเราเลย ก็แลเราจะพึงทำลายประโยชน์ของผู้อื่นเสียด้วยการพูดปด ถึงข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของผู้อื่น... พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ตนก็เว้นเสียจากการพูดปดแลชักชวนผู้อื่นให้เว้นเสียจากการพูดปด แลกล่าวพรรณาคุณของการเว้นจากการพูดปด...

"บุคคลใดจะพึงทำให้เราแตกจากมิตรด้วยการกล่าวส่อเสียด ข้อนั้นก็ไม่พึงเป็นที่รักใคร่ชอบใจของเราเลยก็แลเราจะพึงทำผู้อื่นให้แตกจากมิตรด้วยการกล่าวส่อเสียด ถึงข้อนั้นก็จะไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของผู้อื่น... พิจารณาเห็นอย่างนี้แล้ว ตนก็เว้นเสียจากการกล่าวส่อเสียด แลชักชวนผู้อื่นให้เว้นจากการกล่าวส่อเสียด และกล่าวพรรณาคุณของการเว้นจากการกล่าวส่อเสียด

"บุคคลใดจะพึงร้องเรียกเราด้วยคำหยาบ ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของเราเลย ก็แลเราจะพึงเรียกคนอื่นด้วยคำหยาบเล่า ถึงข้อนั้นก็จะไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของผู้อื่น... พิจารณาเห็นอย่างนี้แล้วตนก็เว้นเสียจากการกล่าววาจาหยาบ และชักชวนผู้อื่นให้เว้นจากการกล่าววาจาหยาบ และกล่าวพรรณาคุณของการเว้นจากการกล่าววาจาหยาบ...

"บุคคลใดจะพึงร้องเรียกเราด้วยการกล่าววาจาปราศจากประโยชน์ข้อนั้นก็จะไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของเราเลย ก็แลจะพึงร้องเรียกผู้อื่นด้วยการกล่าววาจาปราศจากประโยชน์ ข้อนั้นก็จะไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของผู้อื่น... พิจารณาเห็นอย่างนี้แล้ว ตนก็เว้นเสียจากการกล่าววาจาปราศจากประโยชน์ แลชักชวนผู้อื่นให้เว้นจากการกล่าววาจาปราศจากประโยชน์แลพรรณาคุณของการเว้นจากการกล่าววาจาปราศจากประโยชน์

"สาวกของพระอริยเจ้านั้น
ประกอบด้วยความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าไม่หวั่นไหว...
ประกอบด้วยความเลื่อมใสมั่นในพระธรรมไม่หวั่นไหว...
ประกอบด้วยความเลื่อมใสมั่นในพระสงฆ์ ไม่หวั่นไหว...

ประกอบด้วยศีลทั้งหลายอันพระอริยเจ้ารักใคร่ไม่ให้ขาด ไม่ให้เป็นท่อน ไม่ให้ด่างพร้อย เป็นไทย (ไม่เป็นทาสแห่งตัณหา) อันผู้รู้สรรเสริญ อันตัณหาแลทิฐิไม่ครอบงำ ได้เป็นไปเพื่อสมาธิ

"เมื่อใดสาวกของพระอริยเจ้า ประกอบด้วยสัทธรรมความชอบเหล่านี้แล้ว...ก็พึงพยากรณ์ได้ด้วยตนเองว่า 'เรามีนรกสิ้นแล้ว เรามีกำเนิดเดียรัจฉานเปรตวิสัย อบาย ทุคติ วินิบาตสิ้นแล้ว เราเป็นผู้ถึงต้นกระแสแห่งพระนิพพานแล้ว ไม่มีทางที่จะตกไปในอบายทั้งสี่อย่างแน่นอน เป็นผู้เที่ยงต่อพระนิพพาน เป็นผู้มีอันจะได้ตรัสรู้ในเบื้องหน้า"ดังนี้
เวฬุทวารสูตร


คุณค่าของสมถะและวิปัสสนา
ปัญหา การเจริญสมถวิปัสสนา มีประโยชน์อย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๒ อย่างเป็นไปในส่วนแห่งวิชชา ธรรม ๒ อย่างเป็นไฉน คือ สมถะ ๑ วิปัสสนา ๑
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมถะที่ภิกษุเจริญแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมอบรมจิต จิตที่อบรมแล้วย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมละราคะได้ วิปัสสนาที่อบรมแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมอบรมปัญญา ปัญญาที่อบรมแล้วย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมละอวิชชาได้
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตที่เศร้าหมองด้วยราคะย่อมไม่หลุดพ้น หรือปัญญาที่เศร้าหมองด้วยอวิชชา ย่อมไม่เจริญด้วยประการฉะนี้แล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะสำรอกราคะได้ จึงชื่อว่าเจโตวิมุติ เพราะสำรอกอวิชชาได้ จึงชื่อว่าปัญญาวิมุติ ฯ"
พาลวรรคปฐมปัณณาสก์


ธาตุ ๔เปลี่ยนสภาพได้
ปัญหา ในทางวิทยาศาสตร์ คำว่า ธาตุ (Element) หมายถึงปรมาณูซึ่งมีจำนวนอิเล็ตรอนและโปรตอนจำกัด เช่น ธาตุไฮโดรเจนมีอิเล็กตรอนและโปรตอนอย่างละหนึ่ง ถ้าเราเปลี่ยนให้มันมีอิเล็กตรอน ๒ และ โปรตอน ๒ มันจะกลายเป็น ธาตุฮีเลียม (Helium) ไป ไม่ใช่ไฮโดรเจน ฉะนั้นธาตุในทางวิทยาศาสตร์อาจจะเปลี่ยนเป็นธาตุอื่น ๆ ได้ ธาตุในทางพระพุทธศาสนาเปลี่ยนได้หรือไม่ ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนอานนท์ มหาภูต ๔ (หมายถึงธาตุใหญ่ทั้ง ๔) คือ ปฐวีธาตุ (ธาตุดิน)อาโปธาตุ(ธาตุน้ำ)เตโชธาตุ(ธาตุไฟ)วาโยธาตุ(ธาตุลม) พึงเป็นอย่างอื่นได้ แต่พระอริยสาวกผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอย่างมั่นคงไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า... ในพระธรรม... ในพระสงฆ์ ไม่พึงเป็นอย่างอื่นไปได้เลย..."
สมาทปกสูตร


คนฟังธรรม ๓ประเภท
ปัญหา คนที่ไปฟังเทศน์ ฟังธรรมอยู่ตามวัดเป็นประจำนั้น มีกี่ประเภท อะไรบ้าง ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก... คือ บุคคลมีปัญญาคว่ำ ๑ บุคคลมีปัญญาเช่นกับตัก ๑ บุคคลมีปัญญากว้างขวาง ๑
"...บุคคลมีปัญญาคว่ำเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ หมั่นไปวัดเพื่อฟังธรรมในสำนักของภิกษุเสมอ ภิกษุย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิงแก่เขา เขานั่งบนอาสนะนั้นจำเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด ของกถานั้นไม่ได้ เปรียบเหมือนหม้อคว่ำ ถึงจะเอาน้ำรดลงที่หม้อนั้นย่อมราดไปหาขังอยู่ไม่... นี้เรียกว่าบุคคลมีปัญญาคว่ำ

"...ก็บุคคลที่มีปัญญาเหมือนกับตักเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ หมั่นไปวัดเพื่อฟังธรรมในสำนักของภิกษุเสมอ ภิกษุย่อมแสดงธรรม... แก่เขาเขานั่งบนอาสนะนั้น จำเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด ของกถานั้นได้ ครั้นลุกจากอาสนะนั้นแล้ว ก็จำเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด ของกถานั้นไม่ได้ เปรียบเหมือนบนตักของบุรุษมีของเคี้ยวนานาชนิด คือ งา ข้าวสาร ขนมต้ม พุทรา เกลื่อนกลาด เขาลุกจากอาสนะนั้น พึ่งทำเรี่ยราดเพราะเผลอสติ... ที่เรียกว่าบุคคลมีปัญญาเหมือนตัก
"...ก็บุคคลมีปัญญากว้างขวางเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ หมั่นไปวัดเพื่อฟังธรรมในสำนักของภิกษุเสมอ ภิกษุย่อมแสดงธรรม... แก่เขา เขานั่งบนอาสนะนั้น จำเบื้องต้น ท่ามกลางที่สุดของกถานั้นได้ แม้ลุกจากอาสนะนั้นแล้ว ก็จำเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด ของกถานั้นได้ เปรียบเหมือนหม้อหงาย เอาน้ำเทใส่ไปในหม้อนั้น ย่อมขังอยู่ หาไหลไปไม่... นี้เรียกว่าบุคคลมีปัญญากว้างขวาง..."
อวกุชชิตาสูตร


โลกก็มีคุณเหมือนกัน
ปัญหา มีบางคนกล่าวว่า พระพุทธศาสนามองโลกในแง่ร้าย ประณามโลก สอนให้หนีจากโลกดังนี้ เป็นความจริงหรือไม่เพียงใด โลกมีส่วนดีอยู่บ้างหรือไม่ ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อก่อนตรัสรู้เราเป็นพระโพธิสัตว์ได้คิดว่า ในโลกนี้อะไรหนอเป็นคุณ อะไรหนอเป็นโทษ อะไรหนอเป็นอุบายเครื่องออกไป... เรานั้นได้คิดว่า สุขโสมนัสอาศัยสภาพใดเกิดขึ้นในโลก สภาพนี้เป็นคุณในโลก โลกไม่เที่ยงเป็นทุกข์ หรือความแปรปรวนเป็นธรรมดานี้เป็นโทษในโลก การปราบปรามฉันทราคะ การละฉันทะราคะในโลกได้เด็ดขาด นี้เป็นอุบายเครื่องออกไปในโลก
  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่รู้ยิ่ง ซึ่งคุณของโลกโดยเป็นคุณ ซึ่งโทษของโลกโดยความเป็นโทษ และซึ่งอุบายเป็นเครื่องออกไปของโลก โดยความเป็นอุบายเครื่องออกไปตามความจริงเพียงใด เราก็ยังไม่ปฏิญาณตนว่า เป็นผู้ตรัสรู้ ซึ่งอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดา และมนุษย์เพียงนั้น...ฯ
ปุพพสูตร


ฐิตา:




ตอน ๑๕
คุณของโลก
ปัญหา มีคนกล่าวว่า พุทธศาสนาเป็นลัทธินิยม มองโลกแต่ในแง่ร้าย มองเห็นแต่ความทุกข์ความโศกของโลก มีความจริงเพียงใด ?

   พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าคุณในโลกนี้จักไม่มีไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็ไม่พึงกำหนัดยินดีในโลก แต่เพราะคุณในโลกมีอยู่ฉะนั้นสัตว์ทั้งหลายจึงกำหนัดยินดีในโลก
   "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าโทษในโลกนี้ไม่มีไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็ไม่พึงเบื่อหน่ายในโลก แต่เพราะโทษในโลกมีอยู่ ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายจึงเบื่อหน่ายในโลก"
อัสสาทสูตร


เหตุให้เกิดภพ
ปัญหา อะไรเป็นเหตุให้สัตว์เกิดในภพทั้ง ๓ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ ?

   พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนอานนท์ เมื่อกรรมที่อำนวยผลให้กามธาตุ... ในรูปธาตุ.. ในอรูปธาตุจักไม่มีแล้วกามภพ... รูปภพ... อรูปภพ พึงปรากฏบ้างหรือหนอ (เมื่อพระอานนท์ทูลตอบว่า ไม่พึงปรากฏเลย ได้ตรัสต่อไปว่า) ดูก่อนอานนท์ เหตุนี้แล กรรมจึงชื่อว่าเป็นไร่นา วิญญาณชื่อว่าเป็นพืช ตัณหาชื่อว่าเป็นยางเหนียว วิญญาณ... เจตนา... ความปรารถนาประดิษฐานแล้ว เพราะธาตุอย่างเลว... อย่างกลาง... อย่างประณีตของสัตว์พวกที่มีอวิชชาเป็นเครื่องสกัดกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกใจ ด้วยประการฉะนี้ จึงมีการเกิดใหม่ในภพต่อไปอีก"
นวสูตร


วัฏสงสารที่ไม่มีเบื้องต้นเบื้องปลาย
ปัญหา เราอาจจะทราบได้ไหมว่า เราเริ่มเกิดขึ้นในวัฏสงสารเมื่อใดและจะสิ้นสุดลงเมื่อใด

   พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหมือนอย่างว่า บุรุษตัดทอนหญ้าไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ ในชมพูทวีปนี้ แล้วจึงรวมกันไว้ครั้นแล้ว พึงกระทำให้เป็นมัดมัดละ ๔ นิ้ว วางไว้ สมมติว่านี้เป็นมารดาของเรา นี้เป็นมารดาของมารดาของเราโดยลำดับ มารดาของมารดาแห่งบุรุษนั้น ไม่พึงสิ้นสุด ส่วนว่าหญ้า กิ่งไม้ ใบไม้ในชมพูทวีปนี้ พึงถึงการหมดสิ้นไปข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าสงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ พวกเธอได้เสวยทุกข์ ความเผ็ดร้อน ความพินาศ ได้เพิ่มพูนปฐพี ที่เป็นป่าช้าตลอดกาลนาน ฉะนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เหตุเพียงเท่านี้พอทีเดียว เพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง พอเพื่อจะคลายกำหนัด พอเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้"
ติณกัฏฐสูตร


ผู้เสียสละนั้นดีแล้วหรือ ?
ปัญหา คนบางคนชอบสละเวลาของตนทำประโยชน์แก่ผู้อื่นอย่างเดียว เพิกเฉยละเลยประโยชน์ของตน ชาวโลกสรรเสริญว่าเป็นคนเสียสละเห็นแก่ส่วนรวมควรได้รับการยกย่อง พระพุทธองค์ทรงยกย่องคนประเภทนี้อย่างไรหรือไม่ ?

   พุทธดำรัสตอบ "...ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก คือบุคคลผู้ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน และไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น๑ ผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน๑ ผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น๑
ผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตนด้วย เพื่อประโยชน์ผู้อื่นด้วย ๑ ...
บรรดาบุคคล ๔ จำพวกนี้ บุคคลผู้ปฏิบัติทั้งเพื่อประโยชน์ตน ทั้งเพื่อประโยชน์ผู้อื่น เป็นผู้เลิศ เป็นผู้วิเศษ เป็นประธาน อุดม และเป็นผู้ประเสริฐ..."
ฉลาวาตสูตร


วิธีตอบคำถาม
ปัญหา ถ้ามีคนมาถามปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งแก่เรา เราควรจะพิจารณาตอบอย่างไรบ้าง ?

   พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วิธีตอบปัญหามีอยู่ ๔ ประการ ๔ ประการนั้นคืออะไรบ้าง คือ
ปัญหาที่พึงตอบทันที ๑ ปัญหาที่พึงแยกตอบบางประเด็น ๑ ปัญหาที่พึงย้อนถามก่อนแล้วจึงตอบ ๑ ปัญหาที่ควรงดไว้ (ไม่ตอบ) ๑
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วิธีตอบปัญหามี ๔ อย่างนี้แล...
ปัญหาสูตร


รู้มาก ๆ เพียงพอหรือยัง ?
ปัญหา ความเป็นพหูสูตร คือได้เรียนรู้มาก พระพุทธองค์ทรงยกย่องว่าเป็นมงคลประการหนึ่ง แต่ถ้าเราเป็นพหูสูตอย่างเดียวจะเพียงพอหรือไม่ ? มีอะไรที่จะต้องเรียนรู้อีก ?

   พุทธดำรัสตอบ "...บุคคลบางคนในโลกนี้เล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ ไวยากรณ์ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ เขาไม่รู้ทั่วถึงตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ทางปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ บุคคลนี้เป็นดุจวลาหก (เมฆ) คำราม แต่ไม่ให้ฝนตก...
   "...การก้าวการถอยการเหลียวการแลการคู้การเหยียด การทรงสังฆาฏิ บาตรและจีวรของบุคคลบางคนในโลกนี้ ล้วนน่าเลื่อมใส แต่เขาไม่ทราบชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ทางปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ บุคคล (นี้)เป็นดุจห้วงน้ำตื้นเงาลึก... เป็นดุจหม้อเปล่าที่เขาปิดไว้... เป็นดุจมะม่วงดิบผิวสุก... เป็นดุจหนูขุดรูแต่ไม่อยู่..."
วลาหกสูตรที่ ๖


ควรศึกษาค้นคว้าอวกาศหรือไม่?
ปัญหา ในห้วงอากาศอันหาที่สุดมิได้นี้ จะมีที่แห่งใดแห่งหนึ่งหรือไม่ ซึ่งสัตว์ทั้งหลายไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ ซึ่งเราควรไปถึง ควรรู้ ควรเห็น เพื่อความดับทุกข์ ?

   พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนผู้มีอายุ สัตว์ย่อมไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติในที่ใด เราไม่ประกาศว่าที่นั่นเป็นที่สุดแห่งโลกที่ควรรู้ที่ควรเห็นที่ควรไปถึงได้ด้วยการเดินทางอีกทั้งเราก็ไม่ประกาศว่า จักมีการกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ โดยไม่ไปถึงที่สุดแห่งโลก
   "ผู้มีอายุ... เราย่อมบัญญัติโลก เหตุเกิดแห่งโลก ความดับแห่งโลก และทางปฏิบัติที่นำไปสู่ความดับแห่งโลก ลงที่ร่างกายอันมีความยาวประมาณหนึ่ง มีสัญญาและมีใจครองนี้เท่านั้น..."
โรหิตตัสสูตรที่ ๑


ศาสนาอื่นมีพระอริยบุคคลหรือไม่ ?
ปัญหา พระอริยบุคคลที่ได้บรรลุมรรคผล เช่น พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอานาคามีและพระอรหันต์มีอยู่ในศาสนาอื่นหรือไม่ ? หรือว่ามีเฉพาะในพระพุทธศาสนา ?

   พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลายสมณะมีในธรรมวินัยนี้เท่านั้น สมณะที่ ๑...สมณะที่ ๒...สมณะที่ ๓... สมณะที่ ๔... มีในธรรมวินัยนี้ที่ลัทธิอื่นว่างจากสมณะทั้ง ๔ เธอทั้งหลายจงบันลือสีหนาท (ประกาศ) โดยชอบอย่างนี้เถิด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะเป็นไฉน ?
"ภิกษุในธรรมวินัยนี้เพราะสิ้นสังโยชน์ ๓ (สักกายทิฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาา) เป็นพระโสดาบันมีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงจะตรัสรู้ในเบื้องหน้า นี้สมณะที่ ๑

   "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะที่ ๒ เป็นไฉนภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะสิ้นสังโยชน์ ๓และเพราะราคะ โทสะ โมหะ เบาบางลง เป็นพระสกทาคามี มาสู่โลกนี้คราวเดียวเท่านั้น แล้วกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ นี้สมณะที่ ๒
   "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะที่ ๓ เป็นไฉนภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป เป็นอุปปาติกะ (เป็นพระอนาคามี) จักปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา นี้สมณะที่ ๓

   "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณะที่ ๔ เป็นไฉนภิกษุในธรรมวินัยนี้ กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน...นี้สมณะที่ ๔
   "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณะที่ ๑... ที่ ๒... ที่ ๓... ที่ ๔... มีในธรรมวินัยนี้ ลัทธิอื่นว่างจากสมณะทั้ง ๔ เธอทั้งหลายจงบันลือสีหนาทโดยชอบอย่างนี้เถิด"
กรรมวรรค


โทษของความโกรธ
ปัญหา ความโกรธมีโทษอย่างไรบ้าง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงแนะนำให้ระงับและกำจัดเสีย ?

   พุทธดำรัสตอบ "...คนผู้โกรธถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้วแม้จะอาบน้ำ ไล้ทาตัดผมโกนหนวดนุ่งผ้าขาวสะอาดแล้วก็ตาม... ย่อมเป็นผู้มีผิวพรรณทราม...
   "...คนผู้โกรธถูกความโกรธครอบงำย่ำแล้ว แม้จะนอนบนบัลลังก์อันลาดด้วยผ้าขนสัตว์ลาดด้วยผ้าขาวเนื้ออ่อนลาดด้วยเครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชะมด มีผ้าดาดเพดาน มีหมอนหนุนศีรษะและหนุนเท้าแดงทั้งสองข้างก็ตาม.. ย่อมนอนเป็นทุกข์...

   "...คนผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้วแม้จะถือเอาสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ก็สำคัญว่าเราถือเอาสิ่งเป็นประโยชน์ แม้จะถือเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์ ก็สำคัญว่าเราถือเอาสิ่งไม่เป็นประโยชน์ ธรรมเหล่านี้อันคนผู้โกรธ... ถือเอาแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหายมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาล

   "...คนผู้โกรธถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้วแม้จะมีโภคะที่ตนหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียรสั่งสมได้ด้วยกำลังแขนอาบเหงื่อต่างน้ำ เป็นของชอบธรรม ได้มาโดยธรรม พระราชาย่อมริบโภคะของคนขี้โกรธเข้าพระคลังหลวง...
   "...คนผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้วแม้จะได้ยศมาเพราะความไม่ประมาท ก็เสื่อมจากยศนั้นได้...

   "...คนผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้วแม้เขาจะมีมิตร อมาตย์ ญาติสายโลหิต เหล่านั้นก็เว้นเขาเสียห่างไกล...
   "...คนผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว ย่อมประพฤติทุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ครั้นแล้วเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึง อบาย ทุคติ วินิบาตนรก..."
โกธนาสูตร


วิธีแก้ความอาฆาต ๑
ปัญหา ถ้าเกิดความอาฆาตขึ้นในจิตใจเรา ทำให้เราคิดมุ่งร้ายหมายแก้แค้นต่อบุคคลบางคน ซึ่งได้ล่วงเกินเราก่อน ควรจะแก้ไขอย่างไร ?

   พุทธดำรัสตอบ "...ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความอาฆาตพึงเกิดขึ้นในบุคคใด พึงเจริญเมตตาในบุคคลนั้น ๑ ความอาฆาตพึงเกิดขึ้นในบุคคลใดพึงเจริญกรุณาในบุคคลนั้น ๑ ความอาฆาตพึงเกิดขึ้นในบุคคลใดพึงเจริญอุเบกขาในบุคคลนั้น ๑ ความอาฆาตพึงเกิดขึ้นในบุคคลใดพึงถึงการไม่นึกไม่ใฝ่ใจในบุคคลคนนั้น ๑ ความอาฆาตพึงเกิดขึ้นในบุคคลใดพึงถึงความเป็นผู้มีกรรมเป็นของของตน

   ให้มั่นในบุคคลนั้นว่า ท่านผู้นี้เป็นผู้มีกรรมเป็นของของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง จักทำกรรมใดไว้ดีก็ตามชั่วก็ตาม จักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้นดังนี้ ๑... พึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นด้วยประการฉะนี้"
อาฆาตวินัยสูตรที่ ๑


เหตุให้อายุสั้น
ปัญหา ในจูฬกัมมวิภังคสูตร พระพุทธองค์ตรัสว่า คนเกิดมามีอายุสั้น เพราะในชาติก่อนเป็นผู้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตสำหรับในชาติปัจจุบันนี้เล่า มีปฏิปทาใดบ้างที่เป็นเหตุให้บุคคลมีอายุสั้น หรือตายเร็ว ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม (เหล่า) นี้เป็นเหตุให้อายุสั้น... คือ บุคคลไม่เป็นผู้ทำความสบายแก่ตนเอง ๑ ไม่รู้จักประมาณในสิ่งที่สบาย ๑ บริโภคสิ่งที่ย่อยยาก ๑เป็นผู้เที่ยวไปในกาลไม่สมควร ๑ไม่ประพฤติเพียงดังพรหม ๑... เป็นคนทุศีล ๑ มีมิตรเลวทราม ๑ "
อนายุสสสูตรที่ ๑ - ๒


พวกเดียวกันคบกัน
ปัญหา ตามปกติคนที่มีอะไรคล้ายกันย่อมคบหาสมาคมกัน ใช่หรือไม่ ? พระผู้มีพระภาคตรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างไร ?

   พุทธดำรัสตอบ "...ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกัน โดยธาตุทีเดียว คือสัตว์จำพวกที่ไม่มีศรัทธา ย่อมคบค้ากัน... กับสัตว์จำพวกที่ไม่มีศรัทธา สัตว์จำพวกที่ไม่หิริ ย่อมคบค้ากัน... กับสัตว์จำพวกไม่มีหิริ สัตว์จำพวกที่ไม่มีโอตตัปปะ ย่อมคบค้ากัน... กับสัตว์จำพวกที่ไม่มีโอตตัปปะ สัตว์จำพวกที่มีสุตะน้อย ย่อมคบค้ากัน... กับสัตว์จำพวกที่มีสุตะน้อย สัตว์จำพวกเกียจคร้านย่อมคบค้ากัน... กับสัตว์จำพวกเกียจคร้าน สัตว์จำพวกมีสติหลงลืม ย่อมคบค้ากัน... กับสัตว์จำพวกมีสติหลงลืม สัตว์จำพวกมีปัญญาทราม ย่อมคบค้ากัน... กับสัตว์จำพวกมีปัญญาทราม แม้ในอดีตกาล... แม้ในปัจจุบันกาล..."
อสัทธมูลกสูตรที่ ๑


กรรมเก่าทั้งนั้นหรือ
ปัญหา ตามหลักกรรมในทางพระพุทธศาสนานั้นเราจะถือว่า ความสุขก็ดี ความทุกข์ก็ดีที่เราได้รับอยู่ในบัดนี้เป็นผลของกรรมเก่าที่เราได้ทำไว้แล้วในชาติก่อน ดังนี้ได้หรือไม่ ?

   พุทธดำรัสตอบ ..."เวทนาอันบุคคลเสวยในโลกนี้บางเหล่าเกิดขึ้นมีดี เป็นสมุฏฐานก็มี...บางเหล่าเกิดขึ้นมีเสมหะเป็นสมุฏฐานก็มี บางเหล่าเกิดขึ้นมีลมเป็นสมุฏฐานก็มี มีส่วนต่าง ๆ เหล่านั้นรวมกันเป็นสมุฏฐานก็มี เกิดแต่ความแปรแห่งฤดูก็มี เกิดแต่การบริหารร่างกายไม่สม่ำเสมอก็มี เกิดแต่ความพยายาม (ของตน) ก็มี เกิดแต่วิบากแห่งกรรมก็มี... ข้อนี้อันเจ้าตัวเองก็รู้เช่นนั้น อันโลกก็สมมติว่าเป็นจริง สมณพราหมณ์ทั้งหลายเหล่าใด มักกล่าวและมีความเห็นในข้อนั้นอย่างนี้ว่า 'บุคคล... เสวยเวทนาทั้งปวง (สุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์) เพราะเหตุแห่งกรรมที่ตนทำแล้วในก่อน' เขาย่อมเพิกเฉยข้อที่ตนเองก็รู้ดี ย่อมเพิกเฉยต่อข้อที่โลกสมมติว่าเป็นจริง เพราะฉะนั้นเรากล่าวว่า การกล่าวแลความเห็นอย่างนี้ของสมณพราหมณ์เหล่านั้น เป็นการกล่าวผิดแลเห็นผิด" ดังนี้
สิวกสูตร


พุทธโอวาทสำหรับคนใกล้ตาย
ปัญหา พระพุทธเจ้าทรงประทานโอวาทแก่คนป่วยใกล้ต่อความตายไว้อย่างไรบ้าง ?

   พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนทีฆาวุ ท่านพึงศึกษาอย่างนี้ว่าเราจักมีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า... ในพระธรรม... ในพระสงฆ์ จักประกอบด้วยศีลอันเป็นที่รักของพระอริยเจ้า... ท่านตั้งอยู่ในธรรมอันเป็นองค์ประกอบแห่งพระโสดาบัน ๔ เหล่านี้แล้ว พึงเจริญธรรมอันเป็นส่วนแห่งวิชชา ๖ ประการให้ยิ่งขึ้นไป... คือ...ท่านจงพิจารณาเห็นสังขารทั้งปวงว่าเป็นของไม่เที่ยง มีความหมายรู้ในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเป็นทุกข์ มีความหมายรู้ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นอนัตตา มีความหมายรู้ในการละ... ในการคลายความกำหนัดยินดี... ในความดับทุกข์ ดูก่อนทีฆาวุ ท่านพึงศึกษาอย่างนี้แหละ..."
ทีฆาวุสูตร


วิธีละสังโยชน์เบื้องสูง
ปัญหา ทำอย่างไรจึงจะละสังโยชน์เบื้องสูงทั้ง ๕ ได้ ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้รอบ เพื่อความสิ้นไป เพื่อละสังโยชน์ อันเป็นส่วนเบื้องสูง ๕ เหล่านี้แล..."
คังคาทิเปยยาลแห่งสติปัฏฐานสังยุตต์ที่ ๖

จบบริบูรณ์
ด้วยจิตกราบบูชา
จากคุณ : mayrin [ 18 ม.ค. 2545 ]



เรียนขออนุญาต ท่านผู้คัดลอก นำมาแบ่งปันค่ะ...
:http://www.dharma-gateway.com/buddha/buddha-misc/bd-misc-07-01.htm
sookjai.com * tairomdham.net
* Agaligo Home บ้านที่แท้จริง อกาลิโก โฮม
กุศลผลบุญใดที่พึงบังเกิดจากธรรมทานเหล่านี้ ขอจงเป็นบุญเป็นปัจจัย
แด่ท่านผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในธรรมทานเหล่านี้ ทุกๆท่าน
รวมทั้งท่านเจ้าของภาพ ทุกๆภาพ เรียนขออนุญาตใช้ภาพ
ไว้ ณ ที่นี้... นะคะ
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ

ฐิตา:

http://youtu.be/0Mm9doCvvE8 ศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม
webmasterlannatoast Uploaded on Sep 23, 2010

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version