ผู้เขียน หัวข้อ: ความตาย วาทะโดยหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ  (อ่าน 2828 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



ความตาย วาทะโดยหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ

"ความตายเป็นเรื่องที่แน่นอนที่สุดของมนุษย์" ไม่มีใครปฏิเสธคำกล่าวนี้
"กมฺมุนา วตฺตติ โลโก - โลกหมุนไป ตามกฏของกรรม" เรื่องของโลกเป็นเช่นใด เรื่องของชีวิตก็เป็นเช่นกัน

แม้ว่า ความตายเป็นสิ่งสามัญที่ไม่อาจหลีกพ้นได้
เช่นเดียวกับหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ หรือ พระพรหมมังคลาจารย์
ที่ดับขันธ์จากเราไปแล้ว
ท่านมีทัศนะต่อความตายในการเทศนาธรรมตามวาระต่างๆหลายต่อหลายครั้ง
"ผู้จัดการปริทรรศน์"นำมาถ่ายทอดเพื่อเป็นอนุสติและรำลึก
ต่อการจากไปของพระที่แท้ของแผ่นดิน

       ******

 ความตายมันเป็นเรื่องธรรมดา ที่จะเกิดมีแก่ทุกชีวิต
อันนี้คนเราไม่ค่อยได้คิด เรื่องความตายไม่ค่อยคิด เพราะคนเราไม่ค่อยคิด
เพราะคนเรามีความต้องการที่จะอยู่มาก ทุกคนเหมือนต้องการที่จะอยู่ทั้งนั้น
ไม่มีใครอยากตาย แต่ว่าก็ไม่ได้ว่าไม่ให้อยู่ อยู่ไปตามเรื่อง

แต่เราจะต้องคิดไว้บ้างว่าเราจะอยู่ค้ำฟ้าไม่ได้ ชีวิต เป็นของไม่เที่ยง
มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา วันหนึ่งมันต้องถึงจุดจบเป็นธรรมดา
อันนี้เป็นเรื่องที่ควรจะได้คิด ปกติคนเราไม่ค่อยจะได้คิดถึงเรื่องนี้
เพราะไม่ได้คิดถึงเรื่อง ความตาย นี้แหละ
จึงทำให้คนเกิดความประมาทมัวเมาในทรัพย์สมบัติ

มัวเมาในความเป็นใหญ่ในอำนาจวาสนา ในเรื่องอะไรต่างๆ
อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตทั้งนั้น แล้วเกิดความวุ่นวายขึ้นในภายหลัง
เพราะไม่ได้นึกถึงเรื่องเกี่ยวกับความตายไว้บ้าง ถ้าหากว่าได้เอาความตาย
ที่เราได้เป็นข่าวมาเป็นเครื่องเตือนใจเราว่า
แกเองนี่แหละสุดท้ายชีวิตมันก็จบลงกันที่ตรงนี้ แม้จะมีอำนาจสักเท่าใด
ยิ่งใหญ่สักเท่าใด ใครๆ เขาก็จะเคารพบูชาสักเท่าใด

ก็ต้องถึงจุดจบคือถึงแก่ความตาย เป็นเรื่องที่หนีไม่พ้น
เมื่อเราคิดอย่างนั้นเราก็ควรจะถามตัวเราเอง
พิจารณาถึงสังขารร่างกายของเราเอง ว่ามันก็จะต้องเป็นอย่างนั้น

เป็นเรื่องธรรมดา เพราะว่าความตายกับความเกิดนั้น
เป็นของคู่กัน มาด้วยกันไปด้วยกันอยู่ตลอดเวลา
แล้ววันหนึ่งมันจะปรากฏแก่ตาของเราเอง ว่ามันเป็นอย่างนั้น
การนึกคิดในเรื่องความตายนี้ ไม่ใช่เรื่องเสียหาย
ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เรียกว่าอัปมงคลอะไร แต่เป็นเรื่องเป็นมงคล
เป็นเหตุให้คนมีความก้าวหน้าในชีวิต ในการงานด้วยประการต่างๆ

เพราะเราได้นึกถึงเรื่องความตายไว้บ้าง คนที่นึกถึงความตายนั้น
จะเป็นคนที่ขยันขันแข็งเอางานเอาการ เพราะรู้ว่าชีวิตนี้มันน้อย มันสั้น
เราควรจะรีบทำให้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุด เท่าที่จะมากได้ ถ้านึกถูกต้อง
แต่บางคนมานึกถึงความตายไม่ถูกเป้าหมาย คือพอไปเห็นคนอื่นตาย
หรือใครตายแล้วใจอ่อนไป กลัวต่อความตาย มืออ่อนตีนอ่อน แล้วก็นึกว่า
จะทำไปทำไปทำไม ตายแล้วก็เอาไปไม่ได้ ไปนึกอย่างนั้น อันนี้ไม่ถูกเรื่อง
ไม่ตรงตามจุดหมายของพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าสอนให้คิดถึงความตายนั้น ก็เพื่อให้รู้ว่าเราจะต้องตาย
เราหนีจากความตายไปไม่พ้น และเมื่อรู้ว่าเราจะต้องตาย
หนีจากความตายไปไม่พ้นแล้ว เราควรจะได้ใช้ชีวิตเท่าที่เหลืออยู่นี้
ให้เป็นประโยชน์ ด้วยการประกอบหน้าที่ที่เราจะต้องกระทำ

ทุกคนมีหน้าที่ด้วยกันทั้งนั้น ใครมีหน้าที่อันใด
จงทำหน้าที่อันนั้นให้สมบูรณ์ให้เรียบร้อย ไม่ให้ขาดตกบกพร่อง
อย่างนั้นจึงจะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตแก่ครอบครัว ตลอดถึงประเทศชาติบ้านเมือง
เพราะฉะนั้นการนึกถึงความตาย คือให้นึกว่าเราจะต้องตาย
เมื่อนึกว่าจะตายแล้วเราก็ไม่ประมาท
รีบเร่งกระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิต เช่นในเรื่องการงาน ในด้านวัตถุ
ที่เราพูดในภาษาธรรมะว่า ในด้านคดีโลก คดีโลกหมายความว่าในด้านวัตถุ

เช่นการแสวงหาทรัพย์สินเงินทอง ประกอบการงานไปตามหน้าที่
เราก็ทำไปตามเรื่องตามหน้าที่ที่เราจะกระทำได้
แล้วก็ทำด้วยความตั้งอกตั้งใจ ทำให้เรียบร้อยทำให้ดีที่สุด
เพราะเรานึกว่าชีวิตไม่แน่ไม่เที่ยง เราอาจจะดับลงไปเมื่อใดก็ได้

       ******

ไม่มีสิ่งใดที่จักเกิดขึ้นและเป็นอยู่โดยมิได้อาศัยกรรม
ต้องมีกฏนี้เข้าไปแทรก แซงอยู่เสมอ และที่ทุกอย่างดำเนินไปได้เป็นปกติ
ก็เพราะยังมีกรรมของมันอยู่ ถ้าหากหมดกรรมลงเมื่อใดแล้วก็แตกสลาย
แต่การสลายตัวของสิ่งหนึ่ง ทำให้เกิดสิ่งอื่นต่อไปอีก

เช่นต้นไม้ต้นหนึ่งตายก็กลายเป็นไม้ท่อน คนเราเอาไม้ท่อนไปทำรถ ทำเรือน
ทำอะไรหลายอย่าง ถ้าวัตถุที่ถูกทำนั้นตายคือผุต่อไปอีก
ก็กลายเป็นปุ๋ยก่อให้เกิดเป็นอาหารแก่หญ้าแก่ต้นไม้ต่อไป วัตถุทั้งปวงในโลก
จึงมิได้หายไปจากโลก มันหมุนเวียนเป็นสังสารวัฏฏ์วนไปมาอยู่เสมอ
เป็นเรื่องไม่จบ แต่เป็นวงกลมที่ไม่มีการตั้งต้นและไม่มีที่สุด
เป็นแต่อาศัยเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปๆ แล้วก็เกิดขึ้นอีก เป็นวงเวียนตลอดสาย
จึงเรียกว่า เป็นไปตามอำนาจของกรรม

       ******

ทีนี้มนุษย์ เรานี่มักจะฝืนธรรมชาติ
ไม่คล้อยตามธรรมชาติในเรื่องธรรมชาติที่มันแน่นอนที่สุดที่จะต้องเป็น
เราก็ไปคิดว่า ขอให้ท่านมีชีวิตอยู่โลกนานๆ
แม้จะแก่ชราเท่าใดก็ไม่อยากให้ท่านจากไป ให้อยู่ได้เห็นหน้ากัน
แล้วก็รู้สึกว่าอุ่นอกอุ่นใจ มีความสบายใจ นี่คือความคิดธรรมดาสามัญทั่วไป
ในมนุษย์เราทั้งหลายเราไม่เคยคิดในแง่ความจริงในสิ่งนั้น
 
คือไม่ได้คิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา ที่ท่านจะไม่อยู่กับเราตลอดไป
วันหนึ่งท่านก็จะจากเราไป เพราะสังขารร่างกายนี่มันเปลี่ยนแปลง ชรา ชำรุดทรุดโทรม
ร่างกายของมนุษย์นี่เปลี่ยนแปลงทุกลมหายใจเข้าออก
หายใจเข้าก็เปลี่ยนหายใจออกก็เปลี่ยน เปลี่ยนไปสู่ความแตกดับทั้งนั้น
ไม่มีร่างกายของคนใดที่จะคงทนถาวร อยู่ได้ตลอดกาลนาน

มีความเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ แล้วผลที่สุดแตกดับไป นั่นเป็นเรื่องของธรรมชาติ
แม้ไม่มีโรคภัยเข้ามาเบียดเบียน มันก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามเรื่องอย่างนั้น
แล้วก็ต้องแตกดับไปตามเรื่องอย่างนั้น แต่ว่ามันไม่ได้เป็นเพียงเท่านั้น กฏธรรมชาติมันมีอยู่แล้ว
คือการไหลเวียนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่ว่ายังมีโรคภัยไข้เจ็บ
เข้ามาเบียดเบียนร่างกายอยู่ตลอดเวลา พระพุทธเจ้าว่า โรคนิทฺธํ ร่างกายนี้ เป็นเรือนโรค

เป็นที่อาศัยของโรคนานาชนิด ซึ่งมองด้วยตาเปล่าไม่เห็นมันเป็นตัวจุลินทรีย์ตัวเล็กๆ
ลอยฟ่องอยู่ในอากาศ หายใจเข้าไปทางจมูกบ้าง ติดเข้าไปกับอาหารบ้าง
มาเกาะที่ร่างกายของเราแล้ว มันเจาะใชชอนเข้าไปในร่างกายไปยึดเอาร่างกายของเรา
เป็นที่อยู่อาศัย ร่างกายของมนุษย์นี่เป็นเรือนของโรคแท้ๆ

       ******

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ความตาย วาทะโดยหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: เมษายน 04, 2012, 12:51:42 pm »



ทำไม คนเราจึงเสียดายคนที่ตายไป ไม่ใช่เสียดายเรื่องคนตาย
แต่ว่าเราเสียดาย ความงามความดีนั่นเอง เพราะว่าคนนั้นเป็นผู้มีความดี
เรารักความดีเราเสียดายความดี เราอยากจะให้ความดีอยู่ต่อไป
แต่ถ้าเรามานึกถึงว่าความดีนั้นไม่ได้ตาย ตายแต่คนที่ใช้ความดี
เมื่อคนนั้นตายไปความดีก็ไม่ได้ตาย เราจะไปเสียใจอะไร

เพราะร่างกายนี้เป็นของประสม เป็นของปรุงแต่ง ที่พระท่านเรียกว่า "สังขาร"
เราสวดมนต์ตอนท้ายว่า สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา สังขารคือร่างกายจิตใจ รูปธรรม
นามธรรมทั้งหมดทั้งสิ้น มันไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วดับไปเป็นธรรมดา
เราว่ากันบ่อยๆ อย่าเพียงแต่ว่าเฉยๆ
ต้องเอามาคิดนึกตรึกเตือนจิตสะกิดใจไว้บ่อยๆ เพื่อให้เกิดปัญญา

แล้วเมื่อมีอะไรเกิดขึ้นในชีวิตของเรา เราจะได้ปลงตกได้ว่า
เรื่องธรรมดาเกิดขึ้นแล้วแก่เรา เราหนีจากสิ่งนี้ไปไม่พ้น
จะไปนั่งกลุ้มอกกลุ้มใจเรื่องอะไร เศร้าโศรกเสียใจทำไม
ควรจะคิดทำอะไรๆที่เป็นประโยชน์ต่อไป เช่นคุณพ่อคุณแม่เราถึงแก่กรรมไป
เราก็คิดว่าควรจะทำอะไรเป็นเครื่องสนองบุญคุณของท่านทั้งสองนั้น
อันจะเป็นประโยชน์เป็นความสุขต่อไป หรือว่าเราควรจะรับสิ่งใดของท่านไว้

******

คนเราที่เกิดมาแล้วต้องจากกันทั้งนั้น ต้องตายทั้งนั้น เมื่อก่อนนี้
เรามีพ่อแม่ มีคุณปู่ คุณตา คุณย่า คุณยาย
เดี๋ยวนี้ปู่เราไปไหนแล้ว ทวดเราไปไหนแล้ว ย่าเราไปไหน ยายเราไปไหน
ถ้าคิดดู อ้อ ท่านไปแล้ว ไปก่อนแล้ว ปู่ทวดไปก่อน แล้วปู่ตาไป ย่ายายไป
พ่อแม่เราก็ไป สามีเราก็ไป ภรรยาเราก็ไปกันโดยลำดับ คนอื่นเขาไปกันแล้ว
วันหนึ่งเราก็ต้องไป แต่เวลานี้ยังไม่ไป
เพราะร่างกายมันยังมีปัจจัยเครื่องปรุงเครื่องแต่งอยู่ ยังพออยู่ในโลกมนุษย์ไปได้

******

คนเราเวลาเกิดไม่ได้เอาอะไรมา เวลาไปก็ไม่ได้เอาอะไรไป
สิ่งทั้งหลายที่เราได้ใช้ได้กินอยู่ในชีวิตประจำวันนี้
ถือว่าเป็นของยืมมาทั้งนั้น ยืมมาชั่วคราว ยืมแล้วต้องส่งคืนเอาไปไม่ได้
พอเราจะไปก็ส่งคืนเขา ทรัพย์สมบัติก็ส่งคืนธรรมชาติ
ร่างกายก็ส่งคืนธรรมชาติ ไม่มีอะไรที่เรียกว่าเป็นเนื้อแท้ เรานึกอย่างนั้น
ใจก็ไม่ยึดมากเกินไป มีทรัพย์สมบัติก็ใช้ไปตามหน้าที่

บำรุงศาสนา บำรุงสาธารณกุศล อะไรพอจะช่วยได้ก็ช่วยไปตามเรื่อง
ใช้สมบัติให้เป็นประโยชน์แก่ตัวแก่ท่านตามสมควรแก่ฐานะ
พอถึงบทที่เราจะจากไป เราก็อย่าไปอาลัยอาวรณ์ ว่าเออ เสียดายสิ่งนั้น
เสียดายสิ่งนี้ ไม่เข้าเรื่องเป็นทุกข์เปล่าๆ

ความพลัดพรากจากของชอบใจเป็นทุกข์ เพราะว่าเราไม่ได้พิจารณา
แต่ถ้าเราได้พิจารณาแก้ไขไว้ ความทุกข์ในเรื่องนั้นก็จะไม่เกิดมีขึ้น
อันนี้เป็นการปฏิบัติชอบอันหนึ่ง

******

การตายในขณะเป็นอยู่ เป็นการตายที่ร้ายแรงกว่า การตายของคนตายจริงๆ
เพราะคนตายจริงๆ ไม่ให้โทษแก่ใคร แต่คนตายยังเป็นอยู่
เพราะขาดคุณความดีนั้น เป็นภัยต่อสังคมมาก จึงเป็นตายที่น่ากลัวโดยแท้
ชีวิตที่ต้องการอยู่อย่างคนเป็น จึงต้องมีธรรมะประจำใจ

******

ความตายทางกายไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ว่าความตายทางใจเป็นเรื่องสำคัญ
คนที่มีความตายทางกายมันก็จบฉากกันไปตอนหนึ่ง แล้วก็เอาไปเผาที่ป่าช้า
ส่วนคนที่ตายทางจิตนั้น มันไม่อย่างนั้น แต่ยังมีชีวิตอยู่เดินได้พูดได้
ยังก่อกรรมทำเข็ญให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน แก่บุคคลได้อยู่
เพราะฉะนั้น คนที่ตายทางจิต จึงเป็นภัยอย่างใหญ่หลวงแก่มนุษย์ทั่วๆไป
เราจึงควรกลัวสิ่งที่เรียกว่าทำให้เราตายใน ทางจิตใจ

ไม่ต้องกลัวสิ่งที่ทำให้เราตายในทางร่างกาย
ความกลัวในสิ่งที่ทำให้เราตายทางจิตใจนั้น ก็ไม่ใช่กลัวอะไรอื่นไกล
แต่กลัวความคิดชั่ว ที่มันเกิดขึ้นในจิตใจของเราเอง มันทำลายตัวเรา
มันส่งเราไปสู่ที่ทุกข์ที่ยาก ทำให้เกิดปัญหาแก่ชีวิตด้วยประการต่างๆ
จึงควรจะสนใจในการที่จะไม่ให้จิตใจของคนตายไปจากคุณงามความดี
แต่ควรจะได้ส่งเสริมสนับสนุนให้จิตใจของตน ให้มีคุณธรรมประจำจิตใจอยู่ตลอดเวลา
อันคนเราที่จะมีหลักธรรมประจำจิตใจอยู่เสมอนั้น  ก็ต้องมีความภักดี
ต่อสิ่งที่เป็นหลักทางใจ จึงเป็นหัวใจสำคัญในการปฏิบัติธรรมะในทางพระศาสนา

******

คนเราเวลาตายไปก็หมดเรื่องตอนหนึ่งของชีวิต ตายไปแล้วอะไรๆ
ก็ทิ้งไว้ในโลกต่อไป เพราะเราทำเพื่อให้แผ่นดินนี้ไม่ใช่เพื่อจะเอาไป
ทรัพย์สินเงินทองไม่มีใครเอาไปได้ รู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์แก่คนทั้งหลาย
ที่อยู่ข้างหลังก็ได้ประโยชน์แก่คนข้างหลังต่อไป ไม่ใช่ทำเพื่อเรา
ถ้าทำเพื่อเราก็คิดผิด แต่เราทำเพื่อส่วนรวมเพื่อชาติบ้านเมือง

ที่มา  ผู้จัดการปริทรรศน์
-http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=gooddee&month=03-2012&date=10&group=1&gblog=44
อนุโมทนาสาธุ ที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ