คนที่มีความสุขเฉยๆมันไม่รู้หรอก เหมือนกับหมูนั้นแหละ อยู่ในคอกนั้นแหละ มันไม่ฉลาดอะไรหรอก เขาเอาอาหารทุ่มเข้าไปเรื่อย กินเข้าไปจนอ้วนเลย ไม่รู้เรื่องว่าเขาเลี้ยงเราด้วยอะไร ไม่รู้จัก ขอแต่ให้มากินให้เราอ้วนๆ นั่นก็แล้วกัน นอนสบายนะ มันไม่นึกถึงว่า อีกหลายวันเดี๋ยวรถกระบะเขาจะมาบรรทุกเข้าไปในเมือง มันไม่เคยคิดเช่นนั้น
อย่างไก่เหมือนกัน เราเลี้ยงมันไว้ ตอนเช้าก็เอาข้าวให้กิน ตอนเย็นเอาข้าวให้กิน มันรัก เมื่อเจ้าของเรียกมันมา มันก็มาเป็นกลุ่ม มันรักเจ้าของ เขาก็เอาข้าวเปลือกข้าวสารโปรยให้กิน มันก็สบาย อีกเดือนหนึ่งหรือสิบห้าวันก็จับตัวมันยกขึ้นดู ไก่มันก็นึกว่าเจ้าของนี่รักเรา ความเป็นจริงมันคิดไปคนละอย่าง ไอ้คนชั่งนี้มันได้กี่กิโลแล้วยกดูก่อน ไก่ตัวนี้มันกี่กิโลแล้วจะได้กี่บาทแล้ว นี่เจ้าของไก่นึกอย่างนี้ ไก่ไม่รู้เรื่องก็นึกว่าเขารักเรา เขายกนะ ไม่รู้เรื่อง เขาโปรยข้าวเปลือกข้าวสารให้กินก็กินไปเรื่อย จนมันโตมาได้หลายกิโลแล้วพอสมควร เขาบรรทุกเอาไปบ้านเจ๊กโน่น ก็ยังแย่งอาหารการกินกันไป บางตัวก็ยังขันสบาย ไม่รู้เรื่องอะไร ไปถึงบ้านเจ๊กเขาถอนขนคอออก ยังนึกว่าเขาทำความสะอาดให้เราอยู่อีก เพราะว่าไม่รู้เรื่องอะไร อันนี้คนมันไม่รู้จัก มันอาศัยบุญอยู่ อาศัยความสุข เขาให้กินมากมันก็สุขมาก ให้กินดีแล้วมันก็สุขดี มันไม่นึกถึงนี่คือคนไม่มีปัญญา
คนทำบุญก็เหมือนกันก็ต้องมีปัญญา ถ้าไม่มีปัญญา มันก็เหมือนกับไก่กับหมูเท่านั้นแหละ เห็นว่าความสุขที่เขาให้กินดีนอนดีก็สุขอยู่นั่นแล้ว แต่วันหลังไม่เป็นเช่นนั้นนะ เขาจะเชือดคอเอาเนื้อไปกินก็ได้ หมูมันก็มีบุญอย่างนี้ ไก่มันก็ไม่รู้จักบุญอย่างนั้นคือความสุข
มนุษย์เราทั้งหลายพ้นมาจากนั้นแล้ว ว่าสิ่งที่ไม่ดีไม่งามมันก็มีความสุขเหมือนกัน โกงได้มาก็มีความสุข ปล้นมาก็มีความสุข แต่ว่ามันเอาของเขามา มันไม่ถูกต้องมันไม่เป็นสัมมาอาชีวะ อันนั้นก็ไม่มีฉะนั้น การกระทำบุญ ให้นึกถึงว่าบุญกุศล บุญกุศลนี้ต้องเป็นคู่เคียงกันไป นี่เป็นปราชญ์ บุญนี้ก็เหมือนกันกับเนื้อ กุศลก็เหมือนกันกับเกลือ ถ้ามีแต่เนื้อเปล่าๆก็เน่าหมดเท่านั้นแหละ ถ้ามีเกลือเข้ามาขยำเข้าเนื้อนั้นก็ไม่เน่า ฉันใดก็ฉันนั้น
การกระทำความดีทั้งหลายนี้ก็เหมือนกันฉันนั้น จะต้องมีปัญญา ดีอย่างเดียวก็ไม่ได้ ดีไม่มีปัญญา ดีนั้นก็ให้มีโทษ
ดีมีปัญญา ดีนั้นปราศจากโทษ ดีที่ไม่มีปัญญานั้นเป็นดีนอกพุทธศาสนา ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้าของเรา ดีเช่นนั้นตัวเราก็เลยว่าดี เหมือนยาพิษที่มันดีๆ เหมือนบุรุษที่โฆษณาขายยาพิษ ไอ้ยาพิษของข้านี่ดี ให้สุนัขกินก็ตาย ให้มนุษย์กินก็ตาย ให้ไก่กินก็ตาย ให้สัตว์ทั้งหลายกินตายทั้งนั้นเถอะ เชิญมาซื้อยาของฉัน ยาดี ถ้าหากว่ามันดีอย่างนั้นจริงไหมก็ให้คนขายยากินเสีย ยาพิษน่ะ ถ้ามันดีให้เจ้าของขายยากินจะกินไหม ไม่กินแล้ว เพราะกลัวว่ามันจะตาย
ดีนั้นดีนอกพระพุทธศาสนา ดีอันนั้นดีมีโทษ ดีสกปรก ดีไม่สะอาด ดีไม่สงบ ดีในทางพุทธศาสนานี้ดีปราศจากโทษ การกระทำบุญในพุทธศาสนานี้ก็เหมือนกันฉันนั้น ทำบุญต้องประกอบไปด้วยปัญญา ปัญญานี้เมื่อเราจะทำอะไรทุกสิ่งทุกอย่างนั้นเป็นต้น จะต้องประกอบไปด้วยปัญญา ที่เรียกว่าเป็นบุญเป็นกุศลอันนี้
ฉะนั้น อันนี้ ถ้ายังไม่มีในวันนี้ ก็พยายามให้มีขึ้น ความโง่ทั้งหลายที่คิดไม่ถึงในใจของเรานั้นก็เขี่ยมันออกไป บุคคลเราเกิดมาควรรับทุกสิ่งทุกอย่าง คำสอนของคน คำพูดของคนทุกอย่างควรรับรอง ควรฟัง มันจะถูกต้องเราก็ต้องฟัง มันจะผิดเราก็ต้องฟัง ฟังไป เพื่ออะไร เพื่อประดับความรู้ เมื่อวันนี้มันผิดเราก็เอาไปปฏิบัติ ปฏิบัติอย่างไร คือละมันทิ้งเสีย เมื่อมันถูกเราก็นำไปปฏิบัติ ปฏิบัติเพื่อความเพียรเกิดขึ้นมาเสีย เหมือนกันกับเราเห็นของสกปรก นี้ของสกปรกเราต้องรู้ สกปรกมันอยู่ตรงไหนที่สะอาดก็อยู่ตรงนั้น ความผิดอยู่ตรงไหนความถูกก็อยู่ตรงนั้นฉะนั้น พวกเราทั้งหลายเมื่อมีชีวิตอยู่แล้ว ก็ผ่านอยู่เรื่อยๆ ทุกวันทุกเวลา บาปบุญคุณโทษมันเปลี่ยนอยู่ทุกวัน เราก็เห็นอยู่เช่นนี้ ชีวิตที่มันผ่านมานั้นกับชีวิตที่ต่อไปนี้มันก็เหมือนกัน
มันจะแปลกกันเสียว่าเราเปลี่ยนจิตใจ มีความรู้ความเห็นขึ้นมา ฉะนั้น อาตมาจึงให้พากันฟัง พากันพิจารณา อันใดที่มันสกปรกอันนั้นเราก็เช็ดออก เขี่ยมันออกเสีย ทางกายก็ดี ทางวาจาก็ดี ทางจิตใจก็ดี อันใดที่มันสะอาดแล้วก็เพิ่มพูนให้มันสะอาด ให้มันสะสวยงดงาม
ถ้าเราทั้งหลายในหมู่มนุษย์ทั้งปวงนี้ ถ้าเราทั้งหลายมาลงสู่ธรรมะเช่นนี้แล้ว อาตมาว่าบ้านเมืองเรานี้จะสงบเหลือเกิน สงบมาก เพราะคนปราศจากธรรมะไม่สนใจในธรรมะ ธรรมะนี้เป็นของมีคุณค่าเหลือเกิน ถ้าเราเข้าใจแล้วทำอะไรไม่ได้ ทำความชั่วไม่ได้ ทำได้แต่สิ่งที่มันดีเท่านั้น ทุกวันนี้คนมีธรรมะเยอะไป อ่านธรรมะ พูดธรรมะมาก แต่คนปฏิบัติไม่ค่อยมี เช่นไปพูดบ่อยๆ อาตมาก็เคยได้ยินบ่อยๆ ว่าอย่าเห็นแก่ตัวกัน แต่ว่าข้างในมันก็ยังเห็นแก่ตัวอยู่เสมอ เมื่อความเห็นแก่ตัวเช่นนี้มีอยู่ พูดธรรมะออกไปไม่เป็นประโยชน์ พูดความดีออกไปไม่เป็นประโยชน์
เฉพาะอย่างยิ่งก็อย่างอาตมานี่แหละ เป็นครูเป็นอาจารย์ของคน หรือญาติโยมทั้งหลาย
นั้นเป็นต้น เป็นเจ้าเป็นนาย เป็นแบบที่ดีของมนุษย์ทั้งหลายเช่นนั้น
อันนี้ควรพินิจควรพิจารณาสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ให้มันเกิดขึ้นมา อันใดที่มันดี ทำดีไปแล้วพูดดีไปแล้ว ทำดีอันนั้นมีอำนาจ มีอำนาจมากเหลือเกิน แต่ว่าช้าไปหน่อยหนึ่งไม่ทันใจของเรา มันทางละเอียดคนไม่ค่อยเห็นการประพฤติปฏิบัติธรรมะนี้ ถ้าหากว่าเราพูดให้มันดีฟังให้มันดีแล้ว จะได้เห็นว่าการกระทำบุญการกระทำความดีนี้ เมื่อนึกว่าจะทำมันก็ได้แล้ว การกระทำความชั่วก็เหมือนกัน นึกว่าจะทำมันก็หาทางแล้ว เดือดร้อนขึ้นมาแล้ว ได้มาแล้ว
ฉะนั้น การทำความดีก็ได้ดี การทำความ ชั่วก็ได้ชั่ว คำนี้ยังมีเหตุผล ยังมีคุณค่าอยู่กับบุคคลที่มีปัญญา ถ้าหากว่าคนไม่มีปัญญาแล้ว คำที่ว่าทำดีก็ได้ดี ทำชั่วก็ได้ชั่ว ไม่เกิดประโยชน์เลยทุกวันนี้ เพราะเราเห็นว่าคนทำชั่วได้ดีเยอะ คนทำดีได้ชั่วก็มาก อย่างนี้ก็เพ่งไปถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นพุทธศาสนาไม่แน่นอน ไม่จริง ผมทำดีมาเหลือเกินไม่เคยได้ดีเลย ทำงานมาหลายปีเงินเดือนไม่ค่อยจะขึ้นหรอก นี่เขาเพิ่งมาเมื่อวานซืนนี้ เงินเดือนเขาวิ่งออกหน้า ช่างเจ็บใจเหลือเกิน
อย่าเพิ่งไปทวงมันเลย เราทำการงานอะไรเล่า ก็ให้มันดีในการงานของเรา มันชั่วในการงานของเรา ทำที่การงานของเรานั่น ทำไปเถอะ มันมีแค่นี้ก็เอาแค่นี้ไปก่อนอย่าไปทวงมัน ถ้าทวงแล้วมันน้อยใจเลย คนอื่นมาทีหลังเราวิ่งออกหน้าเราทีเดียวนะ เราอยู่นี่นมนานแล้วเหลือเกิน
เราคิดอาภัพใจไม่สบาย เมื่อไปทวงมันทุกทีทุกข์ขึ้นทุกที เมื่อไปทวงมันทุกทีไม่ดีขึ้นทุกที เกิดไม่ดีขึ้นในใจของเจ้าของแล้ว เกิดคิดอาภัพอับจนไปเช่นนั้น อันนี้ก็ให้ทำไปก่อน ทุกสิ่งทุกอย่างเมื่อถึงคราวถึงเวลามัน มันจึงจะมาได้เพราะการกระทำ เงินเดือนไม่ดีทำการงานนี้ให้มันดีขึ้นมาเถอะ
มันจะดีขึ้นที่ตรงนี้ มันไม่เคยอยู่ที่ขอร้องเอา มันดีที่การกระทำนี้ การกระทำดีนี้แหละมันจะให้ดี ไม่ใช่ที่อื่น ทำมันดีทำไปเถิด ทำมันช้าเถิด ไม่มีใครให้เงินเดือนขึ้นเราก็ได้ความดีของเรา มันไม่เสียหายอะไรหรอก ทำอันนี้มันก็ดี ดีอยู่เรื่อยๆไป
อย่างน้อยที่สุดก็เป็นคนรวย รวยความอดทน รวยความสงบระงับ รวยความดี รวยสิ่งในที่พวกทั้งหลายเรียกว่าบุญนั้น อันนี้ควรเอาไปพินิจพิจารณาฉะนั้น ถึง
วันตรุษสงกรานต์เช่นนี้ ควรถ่ายเทมัน ควรมองดูอดีตที่เราดำเนินงานการมาแล้ว มันเป็นอย่างไร มีอะไรบ้างไหม ที่เราทำมานั่นมันผิดไหมมันถูกไหม มีอะไรแก้ไขไหม ที่เราจะทำต่อไปข้างหน้านี้ การงานเราจะทำอย่างไร มันจะถูกไหม มันจะผิดไหม อะไรเป็นต้น ให้พินิจให้พิจารณา เมื่ออาการกระทำผิดเมื่อทำไปแล้วมันแก้ไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าความผิดเล็กๆน้อยๆ เมื่อข้ามมันไปแล้วก็อย่าให้มันเลย
ความดีน้อยๆ อย่าเข้าใจว่ามันจะไม่ให้ผล มันจะต้องให้ผลเมื่อใดเมื่อหนึ่งจนได้ ความดีกับความชั่วอันนี้ นี่มันเป็นเช่นนี้ ความดีน้อย อย่าเพิ่งว่ามันไม่ดี ความชั่วน้อยอย่าเพิ่งว่ามันไม่ให้โทษเรา อย่าไปเข้าใจเช่นนั้น ของที่มันใหญ่มันโตมานี้มันเกิดจากของเล็กๆน้อยๆ
อย่างชีวิตของเราอายุของเราเพิ่มมาได้ห้าสิบหกสิบนี่ มันต้องนับมาตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ตั้งแต่หนึ่งวันหนึ่งนาทีหนึ่งวินาที มาตลอดกาลนั้น มันโตขึ้นมาเพราะความเล็ก อันนี้ก็เหมือนกันฉันนั้น ผู้มีปัญญาแล้วเมื่อการงานหรือหน้าที่ของเจ้าของนั้นไม่มีโทษแล้ว เกิดสบาย ความดีทำแล้ว
กรรมที่ไม่ดีทำแล้วเดือดร้อนภายหลัง การงานอะไรทำแล้วเดือดร้อนในภายหลังกรรมนั้นไม่ดี กรรมอะไรที่เราทำด้วยกายแล้ว ด้วยวาจาแล้ว ด้วยใจแล้ว ภายหลังไม่เดือดร้อนกรรมนั้นดี อันนี้จริงหรือไม่ก็ดูเอาเถิด ถ้าทำอะไรไม่ค่อยดีแล้วมันก็เดือดร้อนภายหลัง
ฉะนั้น จึงให้มองถึงธรรมะ ธรรมะมันอยู่ที่ตัวของเรา ถ้าอยู่ที่ตัวของเรา เราพิจารณาธรรมะ เรารู้จักดีชั่วทั้งหลาย ฉะนั้นการกระทำความชั่วการกระทำความดี อย่าไปมองคนอื่นเลย จะทำความชั่วไปมองๆคนอื่นเขาเสีย เมื่อคนอื่นไม่มีแล้วเราก็กระทำ อย่าไปคิดอย่างนั้น ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น กลัวนายจะเห็น กลัวคนอื่นจะรู้ เราก็หลบๆไปทำคนเดียวเสียดีกว่า
นี่คนโง่ก็ต้องเป็นอย่างนี้ นึกว่าจะไปทำคนเดียวก็นึกว่าคนไม่เห็น แต่ทำนั่นใครไปทำ คนหรือใครไม่รู้ เราก็เป็นคน ไม่รู้เรื่อง อันนั้นมันดูถูกตัวเจ้าของเสียแล้ว
เราไปทำอยู่ที่ไหนก็เราทำ เราทำอยู่ที่ไหนคนก็เห็น คนก็คือเราไม่ใช่คนอื่น ถ้าเราเห็นเช่นนี้แล้วไปทำที่ไหนก็ไม่ได้ฉะนั้น เมื่อเราทำอะไรๆแล้ว ถ้า
ถูกต้องตามธรรมะแล้วมันสบาย จะนอนก็สบาย ยืนก็สบาย เดินก็สบาย ความสบายเช่นนี้ มันจะมีเงินล้านเงินโกฏิก็ช่างมันเถิด มีแล้วมันเดือดร้อนนั้นไม่เกิดประโยชน์อันใด บางทีบ้านหลังใหญ่โตก็จริงแต่มันเดือดร้อน อะไรทุกสิ่งทุกอย่างวุ่นวาย ก็ไม่ได้เรื่องเหมือนกัน ไม่เกิดประโยชน์เลย เราทำงานทุกวันนี้ พอมีพอกินพอใช้พอสมควรแล้วนะ อันนี้ก็สามีภรรยามีความเห็นถูกต้องกันแล้วกลมเกลียวกันแล้ว อยู่นั้นก็พอสบายแล้ว แต่ความคิดของคนมันย่อมเป็นอย่างนี้นะ ถ้าจนแล้วอยากรวย ถ้ารวยแล้วอยากจนอีก ไปทำเหตุให้มันจนไปอีก ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ล่ะ
ครั้งแรกมันจนก็หาเงินหาทองก็รวยขึ้นมา เมื่อรวยขึ้นมาก็ลืม มีบ้านหลังนี้ก็อยากมีบ้านหลังนั้นอีก มีรถคันนี้ก็อยากมีรถคันนั้นอีก มีเมียคนนี้ก็อยากมีเมียคนนั้นอีก
นี่แสวงหาทุกข์มาอีกแล้ว วุ่นอีก อันนี้เรียกว่าคนลืมตัวของเจ้าของ ไม่ใช่อย่างนั้น
เราสันตุฏฐี ความยินดีในของที่มีอยู่นั่นแหละ เป็นคาถาเศรษฐีที่พระพุทธเจ้าของเราสอนไว้
ฉะนั้น วันนี้ที่ให้โอวาทแก่ญาติโยมทั้งหลาย ซึ่งเป็นผู้มีเกียรติทั้งหลาย มานั่งฟังโอวาทวันนี้ ถ้าหากวันใดที่มันผิดพลาดไม่สมเจตนาหมายของพวกท่านทั้งหลายนั้น ก็จงให้อภัย เลือกเอาแต่สิ่งที่มันดีนั้นไปประพฤติปฏิบัติ
ธรรมะอันนี้เป็นธรรมะง่ายๆ เป็นธรรมะไม่ยาก ฟังง่ายๆ แต่ว่าปฏิบัติยากสักหน่อยหนึ่ง แต่ว่าถ้าหากใครเห็นโทษมันอย่างจริงจังแล้วก็ปฏิบัติง่าย และทิ้งมันทันที มันเป็นเช่นนั้น เหมือนกันกับคนไม่เห็นความจริงแล้ว ไม่เห็นความจริงนั้นไม่ยอม ทิ้ง เหมือนบุรุษเขาไปสุ่มปลา เมื่อสุ่มเข้าไปแล้วล่ะ เอามือล้วงลงไปคลำดู ไปจับสัตว์ตัว หนึ่งคล้ายงูคล้ายปลาไหล นี่สงสัยแล้ว ไปจับมันไว้ก็กลัวว่ามันจะกัด กลัวมันจะเป็นงู จะทิ้งมันก็กลัวมันจะเป็นปลาไหล
สองอย่างก็เลยทั้งกลัวทั้งเอา ก็ไปจับมันขึ้นมา เมื่อมันพ้นน้ำขึ้นมาแล้วเห็นแต่คอมันลายๆ เป็นงู ไม่มีใครบอก นี่มันง่ายที่สุดถ้ามันเป็นอันตราย เพราะงูนี่มันกัดคน ถ้าเห็นว่าเป็นงูชัดเจนแล้ววางทันทีเลย ไม่มีใครบอกหรอก ตัวเราก็บอกเราไม่ทัน มันบอกเมื่อไหร่ก็ไม่รู้จักของมัน
ถ้าเห็นเป็นบาปเป็นอกุศลทั้งหลายแล้วจิตเห็นแล้วก็วางทันที อันนี้ง่าย อะไรทุกสิ่งทุกอย่างเมื่อเราเห็นโทษมันแล้ว เราก็ปฏิบัติได้ฉันนั้น อันใดเรายังไม่เห็นโทษมันนั้น ครึ่งๆ กลางๆ อยู่นั้นก็เห็นยากหน่อย จะต้องพิจารณา จะต้องภาวนา
อันนี้เป็นเหตุผลในวันนี้สำหรับในวันตรุษสงกรานต์ ที่พวกท่านทั้งหลายมารับโอวาทวันนี้ ผลที่สุดนี้ขอมอบธรรมะโอวาทคำสั่งสอนเหล่านี้ ให้พวกท่านทั้งหลาย
ไปพินิจไปพิจารณา อันใดมันสมควรแก่ตน ท่านทั้งหลายแล้วก็นำมาประพฤติปฏิบัติให้สมควร เหมาะกับกาลกับเวลาของเจ้าของผลที่สุดนี้ด้วยอำนาจแห่งคุณพระศรีรัตนตรัยอันนี้ ขอพวกท่านทั้งหลายจงพากันอยู่เย็นเป็นสุขประสบธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราตลอดกาลนานเทอญ
.....................................................
ยํ กิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมนฺติ
สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งหมดมีดับเป็นธรรมดา
-http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=23&t=30335