เกษียณลั้นลา
-http://money.sanook.com/178386/%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%93%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%A5%E0%B8%B2/-
คุณเคยมีความคิดแบบนี้กับการวางแผนเกษียณหรือไม่??
สาเหตุสำคัญที่ต้องวางแผนเกษียณก็เพราะเราต้องการใช้ชีวิตในช่วงก่อนและหลังเกษียณให้ใกล้เคียงกันมากที่สุด ลองนึกภาพว่าช่วงวัยทำงานคุณมีเงินใช้จ่ายอย่างสุขสบายเพราะมีรายได้จากการทำงานทำให้คุณมีบ้าน มีรถยนต์และท่องเที่ยวเมืองนอกเป็นบางครั้ง โดยตลอดช่วงของการทำงานคุณไม่ค่อยสนใจการวางแผนการใช้เงินสักเท่าไหร่ เพราะคิดว่าหาเงินมาเหนื่อยแล้วควรใช้ให้สมกับความเหนื่อยสักหน่อย ทำให้มีเงินเหลือเก็บไว้ไม่มาก เหตุการณ์นี้จะเป็นอย่างไรต่อไปเมื่อชีวิตหลังเกษียณที่ไม่ได้ทำงานและต้องอยู่ด้วยเงินเก็บเพียงอย่างเดียว
• เหตุการณ์ที่ 1 ถ้าใช้เงินเก็บหมดก่อนที่จะเสียชีวิตจะหาเงินตรงไหนมาใช้ดำรงชีพต่อไป
• เหตุการณ์ที่ 2 ถ้ามีอาการเจ็บป่วยเพราะโรคชราจะนำเงินที่ไหนมารักษา
• เหตุการณ์ที่ 3 ถ้าเป็นโรคที่ต้องมีการรักษาอย่างต่อเนื่องจะนำเงินที่ไหนมาจุนเจือครอบครัว
ถ้าช่วงก่อนเกษียณมีเงินใช้อย่างสุขสบาย แต่ชีวิตหลังเกษียณเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ข้างต้นแล้ว ชีวิตหลังเกษียณก็ไม่น่าจะสุขสงบตามใจคิดสักเท่าไหร่ แล้วอาจจะคิดว่า "ถ้ารู้ว่าแก่ตัวมาแล้วเป็นแบบนี้ รู้งี้รีบเก็บเงินตั้งแต่วัยรุ่นดีกว่า" อย่าให้เราต้องพูดแบบนี้ในช่วงเวลาที่สายเกินไป แน่นอนว่าไม่มีใครรู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่เราสามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ดังนั้น ควรสร้างอนาคตตั้งแต่ปัจจุบัน แม้ว่าอาจจะเตรียมไม่ครบในทุกๆด้าน แต่ควรวางแผนเพื่อให้เกิดข้อผิดพลาดน้อยที่สุดในอนาคต
วิธีหนึ่งที่ใช้ในการวางแผนเพื่อการเกษียณนั้นจะเป็นจำนวนเงินที่เราคาดว่าจะใช้หลังเกษียณว่าเราต้องการใช้เดือนละเท่าไหร่ เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าในปัจจุบันควรเก็บเดือนละเท่าไหร่ ดังนั้น ถ้าเราอยากมีเงินใช้หลังเกษียณมากๆก็ควรเริ่มเก็บตั้งแต่เนิ่นๆเพราะเราจะได้เริ่มเก็บจากเงินก้อนไม่ใหญ่มากและถ้าแผนของเราผิดพลาดจะได้มีเวลาที่ยาวนานพอเพื่อปรับปรุงแผนให้เสียหายน้อยที่สุด
ตัวอย่าง ตารางจำนวนเงินที่เราต้องการใช้หลังเกษียณ
หมายเหตุ คิดโดยใช้อัตราเงินเฟ้อ 3%
อธิบายตาราง
• สมมติว่ามีช่วงเวลานับจากวันเกษียณอีก 35 ปี(ตั้งแต่อายุ 60 - 95 ปี) ถ้าเราต้องการใช้เงินหลังเกษียณเดือนละ 10,000 บาท เราควรมีเงินออมให้เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในช่วงเวลานั้นทั้งหมด 2,598,413.68 บาท
• สมมติว่ามีช่วงเวลานับจากวันเกษียณอีก 25 ปี(ตั้งแต่อายุ 60 - 85 ปี) ถ้าเราต้องการใช้เงินหลังเกษียณเดือนละ 10,000 บาท ดังนั้นเราควรมีเงินออมให้เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในช่วงเวลานั้นทั้งหมด 2,108,764.53 บาท
• สมมติว่ามีช่วงเวลานับจากวันเกษียณอีก 15 ปี (ตั้งแต่อายุ 60 - 75 ปี) ถ้าเราต้องการใช้เงินหลังเกษียณเดือนละ 10,000 บาท ดังนั้นเราควรมีเงินออมให้เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในช่วงเวลานั้นทั้งหมด 1,448,054.71 บาท
อายุคาดการณ์หลังจากอายุ 60 ปีนั้นขึ้นอยู่กับสุขภาพของแต่ละบุคคล ปัจจุบันความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์จะทำให้คนอายุยืนขึ้น สิ่งสำคัญที่ต้องเตรียมไว้คือ ค่าใช้จ่ายที่เพียงพอหลังเกษียณ ผู้เขียนมีย่าที่ชรามาก ต้องนอนพักอยู่บนเตียงตลอดเวลา โชคดีที่ย่ามีลูกเยอะก็ทำให้มีคนดูแลในช่วงเวลานี้ แต่ถ้ามองไปในอีกหลายปีข้างหน้าเป็นช่วงที่คนไทยเป็นโสดมากขึ้น ครอบครัวที่แต่งงานก็มีลูกน้อยลง บางครอบครัวมีเพียง 1-2 คน แต่ละคนต้องดิ้นรนหาเลี้ยงครอบครัวของตนก็ไม่มีเวลาดูแลญาติผู้ใหญ่ แล้วตอนนั้นใครกันที่จะมาดูแลคนชราเหล่านี้ จุดนี้แหละทำให้เกิดเป็นธุรกิจใหม่ซึ่งเป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับการดูแลคนแก่ตามบ้านมากขึ้น ถ้าตอนนั้นเราจำเป็นต้องจ้างคนมาดูแลจึงจำเป็นต้องเตรียมค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไว้ด้วย
ในครั้งต่อไปเรามาติดตามกันว่าการลงทุนอะไรบ้างที่จะทำให้เงินของเรามีเพียงพอที่จะใช้ในช่วงวัยเกษียณ
ผู้เขียน : อภินิหารเงินออม
สนับสนุนข้อมูลโดย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย