ริมระเบียงรับลมโชย > รับสายลมเย็นหน้าระเบียง
รวบรวมเรื่อง "เงิน" กับ "ทอง"
sithiphong:
เกษียณลั้นลา
-http://money.sanook.com/178386/%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%93%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%A5%E0%B8%B2/-
คุณเคยมีความคิดแบบนี้กับการวางแผนเกษียณหรือไม่??
สาเหตุสำคัญที่ต้องวางแผนเกษียณก็เพราะเราต้องการใช้ชีวิตในช่วงก่อนและหลังเกษียณให้ใกล้เคียงกันมากที่สุด ลองนึกภาพว่าช่วงวัยทำงานคุณมีเงินใช้จ่ายอย่างสุขสบายเพราะมีรายได้จากการทำงานทำให้คุณมีบ้าน มีรถยนต์และท่องเที่ยวเมืองนอกเป็นบางครั้ง โดยตลอดช่วงของการทำงานคุณไม่ค่อยสนใจการวางแผนการใช้เงินสักเท่าไหร่ เพราะคิดว่าหาเงินมาเหนื่อยแล้วควรใช้ให้สมกับความเหนื่อยสักหน่อย ทำให้มีเงินเหลือเก็บไว้ไม่มาก เหตุการณ์นี้จะเป็นอย่างไรต่อไปเมื่อชีวิตหลังเกษียณที่ไม่ได้ทำงานและต้องอยู่ด้วยเงินเก็บเพียงอย่างเดียว
• เหตุการณ์ที่ 1 ถ้าใช้เงินเก็บหมดก่อนที่จะเสียชีวิตจะหาเงินตรงไหนมาใช้ดำรงชีพต่อไป
• เหตุการณ์ที่ 2 ถ้ามีอาการเจ็บป่วยเพราะโรคชราจะนำเงินที่ไหนมารักษา
• เหตุการณ์ที่ 3 ถ้าเป็นโรคที่ต้องมีการรักษาอย่างต่อเนื่องจะนำเงินที่ไหนมาจุนเจือครอบครัว
ถ้าช่วงก่อนเกษียณมีเงินใช้อย่างสุขสบาย แต่ชีวิตหลังเกษียณเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ข้างต้นแล้ว ชีวิตหลังเกษียณก็ไม่น่าจะสุขสงบตามใจคิดสักเท่าไหร่ แล้วอาจจะคิดว่า "ถ้ารู้ว่าแก่ตัวมาแล้วเป็นแบบนี้ รู้งี้รีบเก็บเงินตั้งแต่วัยรุ่นดีกว่า" อย่าให้เราต้องพูดแบบนี้ในช่วงเวลาที่สายเกินไป แน่นอนว่าไม่มีใครรู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่เราสามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ดังนั้น ควรสร้างอนาคตตั้งแต่ปัจจุบัน แม้ว่าอาจจะเตรียมไม่ครบในทุกๆด้าน แต่ควรวางแผนเพื่อให้เกิดข้อผิดพลาดน้อยที่สุดในอนาคต
วิธีหนึ่งที่ใช้ในการวางแผนเพื่อการเกษียณนั้นจะเป็นจำนวนเงินที่เราคาดว่าจะใช้หลังเกษียณว่าเราต้องการใช้เดือนละเท่าไหร่ เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าในปัจจุบันควรเก็บเดือนละเท่าไหร่ ดังนั้น ถ้าเราอยากมีเงินใช้หลังเกษียณมากๆก็ควรเริ่มเก็บตั้งแต่เนิ่นๆเพราะเราจะได้เริ่มเก็บจากเงินก้อนไม่ใหญ่มากและถ้าแผนของเราผิดพลาดจะได้มีเวลาที่ยาวนานพอเพื่อปรับปรุงแผนให้เสียหายน้อยที่สุด
ตัวอย่าง ตารางจำนวนเงินที่เราต้องการใช้หลังเกษียณ
หมายเหตุ คิดโดยใช้อัตราเงินเฟ้อ 3%
อธิบายตาราง
• สมมติว่ามีช่วงเวลานับจากวันเกษียณอีก 35 ปี(ตั้งแต่อายุ 60 - 95 ปี) ถ้าเราต้องการใช้เงินหลังเกษียณเดือนละ 10,000 บาท เราควรมีเงินออมให้เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในช่วงเวลานั้นทั้งหมด 2,598,413.68 บาท
• สมมติว่ามีช่วงเวลานับจากวันเกษียณอีก 25 ปี(ตั้งแต่อายุ 60 - 85 ปี) ถ้าเราต้องการใช้เงินหลังเกษียณเดือนละ 10,000 บาท ดังนั้นเราควรมีเงินออมให้เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในช่วงเวลานั้นทั้งหมด 2,108,764.53 บาท
• สมมติว่ามีช่วงเวลานับจากวันเกษียณอีก 15 ปี (ตั้งแต่อายุ 60 - 75 ปี) ถ้าเราต้องการใช้เงินหลังเกษียณเดือนละ 10,000 บาท ดังนั้นเราควรมีเงินออมให้เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในช่วงเวลานั้นทั้งหมด 1,448,054.71 บาท
อายุคาดการณ์หลังจากอายุ 60 ปีนั้นขึ้นอยู่กับสุขภาพของแต่ละบุคคล ปัจจุบันความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์จะทำให้คนอายุยืนขึ้น สิ่งสำคัญที่ต้องเตรียมไว้คือ ค่าใช้จ่ายที่เพียงพอหลังเกษียณ ผู้เขียนมีย่าที่ชรามาก ต้องนอนพักอยู่บนเตียงตลอดเวลา โชคดีที่ย่ามีลูกเยอะก็ทำให้มีคนดูแลในช่วงเวลานี้ แต่ถ้ามองไปในอีกหลายปีข้างหน้าเป็นช่วงที่คนไทยเป็นโสดมากขึ้น ครอบครัวที่แต่งงานก็มีลูกน้อยลง บางครอบครัวมีเพียง 1-2 คน แต่ละคนต้องดิ้นรนหาเลี้ยงครอบครัวของตนก็ไม่มีเวลาดูแลญาติผู้ใหญ่ แล้วตอนนั้นใครกันที่จะมาดูแลคนชราเหล่านี้ จุดนี้แหละทำให้เกิดเป็นธุรกิจใหม่ซึ่งเป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับการดูแลคนแก่ตามบ้านมากขึ้น ถ้าตอนนั้นเราจำเป็นต้องจ้างคนมาดูแลจึงจำเป็นต้องเตรียมค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไว้ด้วย
ในครั้งต่อไปเรามาติดตามกันว่าการลงทุนอะไรบ้างที่จะทำให้เงินของเรามีเพียงพอที่จะใช้ในช่วงวัยเกษียณ
ผู้เขียน : อภินิหารเงินออม
สนับสนุนข้อมูลโดย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
sithiphong:
Notebook, Smartphone ซื้อเงินสด/รูดเต็มหรือจ่ายบัตรผ่อนอย่างไหนดีกว่ากัน
-http://hitech.sanook.com/1388638/notebook-smartphone-%E0%B8%8B%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%87%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%94-%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B9%87%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%88%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%9C%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%B5/-
Notebook, Smartphone ซื้อเงินสด/รูดเต็มหรือจ่ายบัตรผ่อนอย่างไหนดีกว่ากัน
ปัจจุบันคงต้องยอมรับว่าการเลือกจ่ายผ่านบัตรเครดิตนั้น ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะว่ามีความสะดวกสบายในการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อ Notebook, Smartphone หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีราคาหลักหมื่นบาทขึ้นไป ด้วยความที่ว่าเราไม่จำเป็นต้องพกเงินสดเยอะๆ ไปซื้อ ในสุ่มเสี่ยงสูญหายหรือโดนลักขโมย แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องบอกว่าการใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานเงินสดหรือบัตรเครดิตก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันออกไป ซึ่งในบทความนี้เราจะมาเรียนรู้กันนะครับ
สำหรับคนที่ชอบพกเงินสดเป็นจำนวนมากหรือไม่มีบัตรเครดิต ในส่วนของการซื้อ Notebook, Smartphone รวมไปถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ก็จะเป็นการนำเงินสดจำนวนมากไปซื้อ ซึ่งแน่นอนว่าจะการนำมาจากการกดตู้ ATM หรือ เบิกผ่านธนาคารที่เราใช้บริการอยู่ โดยข้อดีข้อเสียสามารถแบ่งออกเป็นได้ดังต่อไปนี้
ข้อดีของการใช้เงินสด
มีอำนาจต่อรองราคาได้เพิ่มขึ้น ทำให้เราสามารถต่อรองราคาจากราคาเต็มที่ร้านตั้งเอาไว้ได้
สามารถต่อรองขอเพิ่มเติมของแถม หรือของสมนาคุณอื่นๆ ได้
ข้อเสียของการใช้เงินสด
ต้องเสียเงินก้อนออกไป แทนที่จะเอาไปหมุนหรือลงทุนอื่นๆ
ข้อดีของการใช้บัตรรูดเต็มหรือผ่อน
ไม่ต้องพกเงินสดจำนวนมากๆ ไว้กับตัวเอง ป้องกันการสูญหายหรือถูกขโมย
ผ่อน 0% (กี่เดือนก็ว่ากันไป) ตามโปรโมชั่นที่กำหนดได้
ได้แต้มคะแนน (Point) สามารถนำไปแลกของรางวัลหรือตั๋วเครื่องบินได้
ไม่ทำให้เราจ่ายเงินก้อนโต ฉะนั้นส่วนที่เหลือสามารถนำมาหมุนหรือลงทุนได้
บางบัตรได้ Cash Back 3% หรือ 5% แล้วแต่บัตรหรือโปรโมชั่น
ข้อเสียของการใช้บัตรผ่อน
โอกาสต่อรองราคาค่อนข้างน้อย หรือถ้าลดราคาก็ลดได้ไม่เท่าเงินสด/รูดเต็ม
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ กับการเลือกใช้จ่ายว่าจะเป็นเงินสดหรือบัตร ที่จริงๆ แล้วก็มีข้อเด่นข้อด้อยแตกต่างกันออกไปนะครับ ทางที่ดีที่สุดคือใช้ให้เหมาะสมกับความต้องการของเรา หวังว่าบทความนี้จะเป็นตัวช่วยในการซื้อ Notebook, Smartphone หรือของอื่นๆ ได้ไม่มากก็น้อย
sithiphong:
ไม่ตกเป็นเหยื่อการโฆษณา รู้ให้ลึกกับการทำ “ประกันชีวิต”
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 15 เมษายน 2557 01:06 น.
-http://www.manager.co.th/iBizchannel/viewNews.aspx?NewsID=9570000041107-
เคยไหมที่ทำประกันเพราะเกรงใจ และเคยหรือไม่ทำประกันชีวิตแต่ไม่รู้ว่ากรมธรรม์คุ้มครองอะไรบ้าง ...วันนี้ทีมงาน “ASTVผู้จัดการ” จะพาไปรู้จักประกันชีวิต และไม่ลืมที่จะบอกถึงเทคนิคดีๆ ในการทำประกันอีกด้วย....
โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ.นิยามว่า“การประกันชีวิต” เป็นวิธีการที่บุคคลกลุ่มหนึ่งร่วมกันเฉลี่ยภัยอันเนื่องจากการตาย การสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ และการสูญเสียรายได้ในยามชรา โดยที่เมื่อบุคคลใดต้องประสบกับภัยเหล่านั้นก็ได้รับเงินเฉลี่ยช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ตนเองและครอบครัว โดยบริษัทประกันชีวิตจะทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการนำเงินก้อนดังกล่าวไปจ่ายให้แก่ผู้ได้รับภัย
โดยการประกันชีวิตแยกออกได้เป็น 3 ประเภท คือ
1. ประเภทสามัญ เป็นการประกันชีวิตที่มีจำนวนเงินเอาประกันภัยค่อนข้างสูง ตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป เหมาะสำหรับผู้ที่มีรายได้ปานกลางขึ้นไป ในการพิจารณารับประกันชีวิตอาจจะมีการตรวจสุขภาพหรือไม่ตรวจสุขภาพ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของบริษัท และมีการชำระเบี้ยประกันภัยเป็นรายปี, ราย 6 เดือน, ราย 3 เดือน หรือรายเดือน
2. ประเภทอุตสาหกรรม เป็นการประกันชีวิตที่มีจำนวนเงินเอาประกันภัยต่ำ โดยทั่วไปตั้งแต่ 10,000-30,000 บาท เหมาะสำหรับผู้ที่มีรายได้ปานกลางถึงรายได้ต่ำ การชำระเบี้ยประกันภัยจะชำระเป็นรายเดือน และไม่มีการตรวจสุขภาพ ฉะนั้นจึงมีระยะเวลารอคอย คือ ถ้าผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตด้วยโรคภัยไข้เจ็บตามธรรมชาติ บริษัทจะไม่จ่ายจำนวนเงินเอาประกันภัยให้ แต่จะคืนเบี้ยประกันภัยที่ผู้เอาประกันภัยได้ชำระมาแล้วทั้งหมด
3. ประเภทกลุ่ม เป็นการประกันชีวิตที่กรมธรรม์หนึ่งจะมีผู้เอาประกันชีวิตร่วมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ส่วนมากจะเป็นกลุ่มของพนักงานบริษัท ในการพิจารณารับประกันอาจจะมีการตรวจสุขภาพหรือไม่ตรวจก็ได้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของบริษัท การประกันชีวิตกลุ่มนี้อัตราเบี้ยประกันชีวิตจะต่ำกว่าประเภทสามัญและประเภทอุตสาหกรรม
สำหรับรูปแบบของการประกันชีวิตที่เป็นแบบพื้นฐานนั้นมี 4 แบบ คือ
1. แบบตลอดชีพ เป็นการประกันชีวิตที่ให้ความคุ้มครองตลอดชีพ ถ้าผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตเมื่อใดในขณะที่กรมธรรม์มีผลบังคับ บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายจำนวนเงินเอาประกันภัยให้แก่ผู้รับประโยชน์ วัตถุประสงค์เบื้องต้นของการประกันภัยแบบนี้เพื่อจัดหาเงินทุนสำหรับจุนเจือบุคคลที่อยู่ในความอุปการะเมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต หรือเพื่อเป็นเงินทุนสำหรับการเจ็บป่วยครั้งสุดท้ายและค่าทำศพ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ตกเป็นภาระของคนอื่น
2. แบบสะสมทรัพย์เป็นการประกันชีวิตที่บริษัทจะจ่ายจำนวนเงินเอาประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยเมื่อมีชีวิตอยู่ครบกำหนดสัญญา หรือจ่ายเงินเอาประกันภัยให้แก่ผู้รับประโยชน์เมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตลงภายในระยะเวลาประกันภัย การประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์เป็นส่วนผสมของการคุ้มครองชีวิตและการออมทรัพย์ ส่วนของการออมทรัพย์ คือส่วนที่ผู้เอาประกันภัยได้รับคืนเมื่อสัญญาครบกำหนด
3. แบบชั่วระยะเวลาเป็นการประกันชีวิตที่บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินให้แก่ผู้รับประโยชน์เมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตในระยะเวลาประกันภัย วัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองการเสียชีวิตก่อนวัยอันสมควร การประกันชีวิตแบบนี้ไม่มีส่วนของการออมทรัพย์ เบี้ยประกันภัยจึงต่ำกว่าแบบอื่นๆ และไม่มีเงินเหลือคืนให้หากผู้เอาประกันภัยอยู่จนครบกำหนดสัญญา
4. แบบเงินได้ประจำ เป็นการประกันชีวิตที่บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินจำนวนหนึ่งเท่ากันอย่างสม่ำเสมอให้แก่ผู้เอาประกันภัยทุกเดือน นับแต่ผู้เอาประกันภัยเกษียณอายุ หรือมีอายุครบ 55 ปี หรือ 60 ปีเป็นต้นไป แล้วแต่เงื่อนไขในกรมธรรม์ที่กำหนดไว้ สำหรับระยะเวลาการจ่ายเงินได้ประจำนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้เอาประกันชีวิตที่จะเลือกซื้อ
ทั้งนี้ รูปแบบของกรมธรรม์จะมีหลายรูปแบบและตั้งชื่อเป็นนามเฉพาะของแต่ละบริษัท ทุกรูปแบบพร้อมอัตราเบี้ยประกันภัยจะต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนประกันชีวิต (อธิบดีกรมการประกันภัย) ก่อนจะนำเสนอขายแก่ประชาชน แต่โดยหลักวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นกรมธรรม์รูปแบบใดหรือชื่ออะไรก็ตาม จะอยู่ภายใต้แบบของการประกันชีวิตรวม 4 แบบ คือ
1. แบบชั่วระยะเวลา ให้ความคุ้มครองในช่วงระยะเวลาหนึ่งที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ โดยบริษัทจะจ่ายเงินตามจำนวนเงินเอาประกันภัยให้ผู้รับประโยชน์ ถ้าผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้นั้น
2. แบบตลอดชีพ บริษัทจะจ่ายเงินตามจำนวนเงินเอาประกันภัยให้ผู้รับประโยชน์ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต ไม่ว่าจะเสียชีวิตเมื่อใดก็ตาม
ทั้งแบบ 1 และแบบ 2 เป็นการจ่ายเงินให้แก่ผู้รับประโยชน์ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตแล้วเท่านั้น
3. แบบสะสมทรัพย์ บริษัทจะจ่ายเงินตามจำนวนที่เอาประกันภัยไว้ให้แก่ผู้รับประโยชน์ถ้าผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ หรือจ่ายเงินเอาประกันชีวิตให้แก่ผู้เอาประกันภัยในกรณีที่มีชีวิตอยู่รอดพ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้
4. แบบเงินได้ประจำ บริษัทจะจ่ายเงินได้ประจำ หรือเงินบำนาญให้แก่ผู้เอาประกันภัย โดยเริ่มจ่ายตั้งแต่วันที่ผู้เอาประกันภัยไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติเนื่องจากความชรา ไปจนถึงวันที่กำหนดไว้ (อาจเป็นชั่วระยะเวลาหนึ่ง หรือตลอดอายุก็ได้)
แบบ 3 ส่วนท้าย และแบบ 4 เป็นการจ่ายเงินโดยมีเงื่อนไขว่าผู้เอาประกันภัยต้องมีชีวิตรอดอยู่จนพ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้
สำหรับเทคนิคการทำประกันชีวิตให้คุ้มค่าและให้ตรงกับวัตถุประสงค์ของการทำประกันชีวิตได้แก่
1.ทำความเข้าใจ เรียนรู้ และศึกษาประกันชีวิตมีหลากหลายประเภท และหลากหลายความคุ้มครอง ผู้ที่ต้องการทำประกันควรศึกษาข้อมูลให้ดี โดยเฉพาะเรื่องของผลประโยชน์และเบี้ยประกันที่ต้องจ่าย นอกจากนี้เราไม่ควรมองข้ามเรื่องการเปรียบเทียบกรมธรรม์ประเภทเดียวกันแต่คนละบริษัท แน่นอนว่ากรมธรรม์เหมือนกันแต่อาจจะแตกต่างกันในเรื่องของค่าใช้จ่าย
2ไม่ควรมองข้ามการตรวจสุขภาพการทำประกันชีวิตโดยเฉพาะประกันสุขภาพนั้น การตรวจสุขภาพเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะโรคบางชนิดนั้นจะไม่ได้รับความคุ้มครองจากประกัน และเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาเกี่ยวกับการเคลมประกันในอนาคต
3.ซื้อประกันให้ครอบคลุมหนี้ที่มีการทำประกันชีวิตที่ดีควรที่จะรู้ความเสี่ยงและภาระที่เรามีทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นภาระในการผ่อนรถ ผ่อนบ้าน หรือค่าเล่าเรียนบุตร รวมถึงการประเมินสวัสดิการที่เราได้รับ และเมื่อคำนวณทั้งหมดแล้วก็จะได้ตัวเลขหรือจำนวนเงินที่ควรจะมีหากเราเกิดเสียชีวิตขึ้นมา ซึ่งการทำประกันก็ควรจะครอบคลุมหนี้ที่เรามีเพื่อไม่เป็นภาระให้แก่คนที่อยู่ข้างหลัง
4. รายได้เพิ่มควรเพิ่มทุนประกันแน่นอนว่าหากรายได้เพิ่มเราก็ควรที่จะเพิ่มทุนประกัน ซึ่งในทุนประกันที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจจะไม่พอในอนาคต
5. จ่ายเบี้ยพอดี ไม่เป็นภาระอย่าลืมว่าการทำประกันส่วนใหญ่เป็นภาระระยะยาว การจ่ายเงินที่ยาวๆ นั้นอาจจะมีความเสี่ยงที่เราไม่อาจรับรู้ได้ในอนาคต ซึ่ง ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ตลาดทุน หรือ TSI แนะนำว่า เบี้ยประกันชีวิตต่อปีไม่ควรเกิน 10% ของรายได้ต่อปี
ขอบคุณข้อมูลจาก คปภ.
และ TSI
sithiphong:
เทคนิคผ่อนบ้านให้หมดเร็ว ทำอย่างไรมาดูกัน
-http://home.kapook.com/view86423.html-
เกริ่นนำโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณข้อมูลจาก คุณจักรพงษ์ เมษพันธุ์, เฟซบุ๊ก Money Coach
ผ่อนบ้านอย่างไรให้หมดเร็ว คำถามสำคัญที่คนซื้อบ้านอยากรู้ การผ่อนบ้านให้หมดเร็ว ๆ คงเป็นเป้าหมายหลักของคนที่จรดปากกาเซ็นสัญญาซื้อบ้านเป็นของตัวเอง เพราะนั่นหมายความว่าคุณกำลังเป็นหนี้ก้อนโต ที่มีระยะเวลาในการผ่อนนับสิบปี
ซึ่งถ้าคุณมีความพร้อมและตั้งใจที่จะผ่อนบ้านให้หนี้หมดลงอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องรอนาน 20-30 ปีตามสัญญากู้ซื้อบ้าน ก็สามารถผ่อนบ้านให้หมดเร็วได้เหมือนกัน และในวันนี้กระปุกดอทคอมก็ขอนำเอาบทความดี ๆ จาก เฟซบุ๊ก Money Coach มาฝากให้ได้ทำความเข้าใจ แล้วคุณจะรู้ว่าการผ่อนบ้านให้หมดเร็วก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมเหมือนกันจ้า
ผ่อนบ้านยังไง … ให้หมดเร็ว ๆ โดย คุณจักรพงษ์ เมษพันธุ์
ดิฉันซื้อบ้านราคา 3 ล้านบาท เมื่อสองปีที่แล้ว ปัจจุบันส่งบ้านเดือนละ 18,000 บาท อยากจะส่งให้หมดเร็ว ๆ จะได้เสียดอกเบี้ยน้อย ๆ ต้องทำยังไง
แหม…ถามกันแบบนี้ ถ้าทะลึ่งตอบตรง ๆ ว่า "ก็รีบปิดรีบโปะ จะได้หมดเร็วหมดไว" คงจะโกรธกันน่าดู
แต่จะว่าไปนั่นก็เป็นวิธีการเดียวครับที่จะทำให้หนี้บ้านหมดได้เร็วได้ไวสมดังใจ ก็คิดเอาง่าย ๆ คุณยืมเงินเพื่อนสักคนมา 3 ล้าน ถามว่าวิธีการทำให้หนี้ที่ค้างเพื่อนไว้หมดไวที่สุดต้องทำยังไง
ไม่มีคำตอบอื่นครับ นอกจากรีบเอาเงินไปคืนเขาให้หมดโดยเร็วที่สุด
แต่ก็ใช่ว่าจะรีบโปะรีบเทโดยไม่มีแผนเลย เพราะการเร่งเอาเงินก้อนไปชำระหนี้บ้าน อาจส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงิน (ไม่พอใช้) รวมถึงแผนการเงินอื่น ๆ ในชีวิตคุณได้ ดังนั้นจะโปะ จะปิด มันก็ต้องมีหลักการกันสักนิดนึง
จากโจทย์ที่ให้มา บ้านราคา 3,000,000 บาท ส่งเดือนละ 18,000 บาท ผมคาดว่าคุณคงทำสัญญากู้ยืมยาว 30 ปี ที่อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยราว 6 เปอร์เซ็นต์
สำหรับแนวทางผ่อนชำระเพิ่มเพื่อให้หนี้หมดเร็วนั้น สามารถทำได้ 2 ทางด้วยกัน คือ ชำระเพิ่มเป็นจำนวนเท่า ๆ กันทุกเดือน หรือชำระเป็นเงินก้อนใหญ่คราวละมาก ๆ
เรามาดูที่แนวทางแรกกันก่อน
1. ผ่อนชำระเพิ่ม เป็นจำนวนเท่า ๆ กันในแต่ละเดือน
จากข้อมูลที่ส่งมา ปัจจุบันคุณส่งบ้านเดือนละ 18,000 บาท สมมติคุณวางแผนที่จะส่งเพิ่มอีกเดือน ละ 10% หรือ 1,800 บาท (ถ้ากลัวจำลำบากเพิ่มเป็น 2,000 บาท ก็ได้ครับไม่ผิดกติกา) รวมแล้วเดือน ๆ หนึ่งคุณส่งบ้านเดือนละ 19,800 บาท
ในกรณีนี้บ้านของคุณจะผ่อนชำระหมดภายในระยะเวลา 22 ปี กับอีก 10 เดือน โดยประมาณ ซึ่งหมดเร็วขึ้น 7 ปีเศษแหนะ แถมยังลดดอกเบี้ยลงได้ร่วม ๆ 1 ล้านบาทครับ
ทั้งนี้ถ้าอยากเร็วขึ้น ก็อาจปรับส่วนเพิ่มให้มากขึ้นอีกก็ได้ครับ ถ้าไหว
2. ผ่อนชำระเพิ่มอีก 1 เดือน
วิธีคิดในแนวทางที่สองก็คือ 1 ปี เราส่งบ้าน 13 เดือน แทนที่จะเป็น 12 เดือนครับ ซึ่งอาจจะใช้ช่วงโบนัสออก หรือเมื่อไหร่ก็ตามที่ได้เงินก้อน จะโปะเวลาไหน ช่วงใดของปีก็ได้ ได้ผลไม่ต่างกันครับ
สมมติคุณส่งค่าบ้านเพิ่มเป็น 2 เดือน ในเดือนธันวาคมของทุกปี (เดือนอื่นส่งปกติ) พูดง่าย ๆ เดือนอื่นส่งเดือนละ 18,000 บาท แต่เดือนธันวาคมส่ง 36,000 บาท ซะเลย
ในกรณีบ้านของคุณจะผ่อนชำระหมดภายในระยะเวลา 23 ปี กับอีก 10 เดือน เร็วขึ้นร่วม 7 ปี เหมือนกัน และลดดอกเบี้ยลงได้ร่วม ๆ 8 แสนกว่าบาท
ทำไม ? วิธีแรก ถึงหมดเร็วกว่า และลดดอกเบี้ยได้มากกว่า
ไม่มีอะไรมากครับ เพราะวิธีแรกนั้น เราตัดต้นไปทุกเดือน แม้จะนิดหน่อยแค่ 1,800 บาทก็ตาม เมื่อต้นลดลงทุกเดือน เวลาก็สั้นลง ดอกเบี้ยก็ลดลงตามไปด้วยเท่านั้นเอง
ทีนี้หากใครอยากผ่อนบ้านหมดเร็วกว่าในตัวอย่างที่ผมนำเสนอ ก็สามารถปรับแผนการผ่อนชำระของคุณได้ครับ ก็อย่างที่บอก ยิ่งโปะเยอะก็ยิ่งหมดเร็ว
หัวใจสำคัญของวิธีการข้างต้นก็คือ กรุณาบอกธนาคารด้วยว่า เงินที่คุณนำฝากเข้าไปเพิ่มนั้น เพื่อต้องการตัดเงินต้นที่เป็นหนี้บ้านอยู่ อย่าไปนำฝากเข้าไปในบัญชีออมทรัพย์ เฉย ๆ เพราะถ้าไม่บอกธนาคาร เขาก็จะตัดยอด 18,000 บาทเหมือนเดิมนะครับ ต้องบอกด้วยว่าจะตัดหนี้ด้วยยอด 19,800 บาท (กรณีรายเดือน) และ 36,000 บาท (กรณีรายปี) มิฉะนั้น จะไม่เกิดผลลัพธ์ในแบบที่ต้องการนะครับ
อย่างไรก็ดี อย่าเร่งการผ่อนชำระมากเสียจนแผนการเงินในชีวิตประจำวันเสียหายนะครับ
สำหรับท่านที่ห่วงเรื่องดอกเบี้ย ไม่อยากเสียดอกเบี้ยเยอะ
อีกแนวทางหนึ่งที่พอจะทำได้เหมือนกัน ก็คือ การรีไฟแนนซ์บ้าน ก็เหมือนการทำสัญญากู้ยืมเงินกันใหม่ โดยเราสามารถทำสัญญาใหม่ได้ หลังจากผ่อนชำระเกิน 3 ปีไปแล้ว (อันนี้ต้องดูเงื่อนไขจดจำนองของแต่ละธนาคารอีกที)
ถ้าปัจจุบันบ้านที่เราผ่อนอยู่นั้นมีอัตราดอกเบี้ยที่สูง ท่านก็อาจพิจารณาขอรีไฟแนนซ์บ้านกับธนาคารเดิม หรือธนาคารใหม่ (กดดันธนาคารเดิมที่ใช้อยู่ 555) เพื่ออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่ต่ำกว่า
บางท่านอาจบอกว่า วิธีการนี้จะทำให้ระยะเวลาผ่อนชำระยาวออกไปอีก อันนี้ต้องบอกว่าไม่จริงนะครับ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับเราจะตกลงกับธนาคาร สัญญาบนโลกนี้เขียนอย่างไรก็ได้ครับ ตราบใดที่สองฝั่งคู่สัญญายอมรับและไม่ผิดกฎหมาย
สำคัญ คือ การร่นเวลาผ่อนชำระในสัญญาใหม่จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินของเรานะครับ ถ้าไม่ติดปัญหาตรงนี้ ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
ในมุมมองของผม บ้านนั้นถ้าผ่อนหมดเป็นของเราเร็ว ๆ ได้ก็ดีครับ แต่ถ้าการเพิ่มยอดส่ง ทำให้เป็นภาระเพิ่ม การรักษากติกาผ่อนชำระตามเงื่อนไขไปก่อน ก็เป็นเรื่องที่ไม่เสียหายจนเกินไปนัก
สิ่งสำคัญ คือ คุณทำบ้านของคุณ ให้เป็น "บ้าน" จริง ๆ หรือเปล่า หรือเป็นแค่ที่พักเอาแรง เพื่อพรุ่งนี้จะได้ตื่นไปวิ่งไล่ตามหาเงินอีกครั้ง
"HOME กับ HOUSE มันต่างกันมากนะครับ"
sithiphong:
เลือกใช้บัตรเครดิตอย่างชาญฉลาด
-http://www.bot.or.th/Thai/FinancialLiteracy/creditcard/Pages/Creditchoice.aspx-
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีข้อกำหนดให้ผู้ออกบัตร เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย
ค่าปรับ ค่าธรรมเนียม และค่าบริการอื่น ๆ โดยให้ปิดประกาศไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงานทุกแห่ง รวมทั้งให้ระบุ
ในเอกสารชี้ชวน ใบสมัคร และสัญญา
ดังนั้น ก่อนเลือกใช้บริการผู้บริโภคควรศึกษาค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ผู้ออกบัตรแต่ละแห่งเรียกเก็บจากลูกค้ารวมถึง
ภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย ท่านสามารถเปรียบเทียบค่าธรรมเนียมเบื้องต้นได้จาก อัตราค่าธรรมเนียมเปรียบเทียบ
โดย ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการใช้บริการบัตรเครดิต ที่ประมวลจากอัตราค่าธรรมเนียมเปรียบเทียบใน
เว็บไซต์ของ ธปท. สรุปได้ ดังนี้
- ค่าธรรมเนียมแรกเข้า 0 - 15,000 บาท ขึ้นกับชนิดของบัตรเครดิต
- ค่าธรรมเนียมรายปี 0 - 30,000 บาท ขึ้นกับชนิดของบัตรเครดิต
- ค่าธรรมเนียมในการชำระเงินผ่านช่องทางต่าง ๆ 0 – 50 บาทต่อครั้ง
- อัตราดอกเบี้ย (ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้ออกบัตรเรียกเก็บดอกเบี้ย เบี้ยปรับ และค่าบริการ
ต่าง ๆ รวมกันเกินร้อยละ 20 ต่อปีไม่ได้)
- ค่าธรรมเนียมการเบิกถอนเงินสดผ่านบัตรเครดิต (ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้ออกบัตรเรียกเก็บ
ค่าธรรมเนียมเกินร้อยละ 3 ของจำนวนเงินสดที่เบิกถอนไม่ได้)
- ค่าติดตามทวงถามหนี้ 0 - 384 บาทต่องวด
- ค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงินในการใช้บัตรเครดิตในต่างประเทศ ร้อยละ 2 - 2.5 ของอัตราแลก
เปลี่ยนอ้างอิง
ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายข้างต้นอาจเปลี่ยนแปลงได้ จึงควรตรวจสอบรายละเอียดรายการต่าง ๆ เพื่อความมั่นใจ
นอกจากนี้ ควรเปรียบเทียบสิทธิประโยชน์และความสะดวกอื่น ๆ ที่สำคัญ ดังนี้
- รอบระยะเวลาบัญชี
- ระยะเวลาการชำระคืนโดยปลอดดอกเบี้ย
- จำนวนร้านค้าที่รับบัตร
- ความสะดวกในการชำระเงิน
- เงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่ผู้ถือบัตรจะได้รับ
- บริการเสริม และโปรโมชั่นต่าง ๆ
- พันธมิตรทางธุรกิจของผู้ออกบัตร
รู้ไหมว่า
- ค่าธรรมเนียมแรกเข้า และค่าธรรมเนียมรายปี คุณสามารถต่อรองกับผู้ออกบัตร เพื่อขอยกเว้น
การเรียกเก็บได้
- สิทธิประโยชน์ที่คุณจะได้รับจากบัตรเครดิตชนิดต่าง ๆ เช่น บัตรพลาตินัม (Platinum) คุณควรนำมา
เปรียบเทียบกับเงื่อนไขและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการใช้บัตรด้วย เนื่องจากค่าธรรมเนียมรายปีจะสูงกว่า
บัตรธรรมดา
-http://www.bot.or.th/Thai/FinancialLiteracy/creditcard/Pages/Creditchoice.aspx-
-http://www2.bot.or.th/feerate/internal.aspx?PageNo=7-
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version